E. Hemingway's "The First Forty-Nine Stories"
ไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่จะเขียนเกี่ยวกับหนังสือรวมเรื่องสั้นสักเล่ม โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นหนาปึกอันประกอบไปด้วยสี่สิบเก้าเรื่องสั้นสมชื่อ โดยเฉพาะถ้าเรื่องสั้นเหล่านั้นมาจากปลายปากกาของป๋าเฮมมิงเวย์ ตำนานนักเขียนชาวอเมริกา
ถ้าให้พยายามจับไต๋ป๋าจริงๆ เราจะบอกว่าเรื่องสั้นป๋าแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเน้นการบรรยายความ ธีมที่ป๋าชอบมากได้แก่ชีวิตคือการต่อสู้ และการต่อสู้ในที่นี้ถูกสื่อผ่านกีฬา เกม หรือการละเล่นเสี่ยงอันตราย ยกตัวอย่างเช่น Fifty Grand สะท้อนชีวิตนักมวย A Pursuited Race นักขี่จักรยาน Big Two-Hearted Rive การตกปลา และ The Undefeated นักสู้วัวกระทิง หลายเรื่องสั้นของป๋ามีฉากหลังเป็นมาดริด และเกี่ยวข้องกับกีฬาสู้วัว อีกเรื่องที่ดังสุดๆ คือ The Capitol of the World
จากเรื่องสั้นเหล่านี้ เราได้เห็นการต่อสู้ของชีวิตในรูปแบบต่างๆ ประเภทดันทุรังข้าไม่เคยแพ้ การต่อสู้ด้วยเล่ห์เหลี่ยม หรือผู้ที่ถูกบังคับให้ลงสังเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกธีมที่สื่อผ่านเรื่องลักษณะนี้คือความเปราะบางของชีวิต มนุษย์ทุกคนล้วนถูกความตายไล่ติดตามตัว โดยไม่รู้เมื่อไหร่มันจะไล่ทันเรา
งานสไตล์นี้ของป๋าอ่านแล้วนึกถึงอาจารย์มนัส เนื้อความหนักแน่น สัมผัสได้ถึงความกรำแดดกรำชีวิตของผู้เขียน เฮมมิงเวย์ และอาจารย์มนัส ล้วนเป็นนักเขียนที่สร้างผลงานโดยวางพื้นฐานมาจากประสบการณ์ตรง สมัยหนุ่มๆ ป๋าเคยต่อยมวย เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ประสบการณ์ในแอฟริกาของเฮมมิงเวย์ก่อกำเนิดเป็นสองสุดยอดเรื่องสั้นคือ The Short Happy Life of Francis Macomber และ The Snows of Kilimanjaro เฮมิงเวย์เคยแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ว่าสงครามนี่แหละที่ปั้นคนธรรมดาให้เป็นนักเขียนชั้นเลิศรายแล้วรายเล่า เรื่องสั้นของป๋าจึงคุกรุ่นไปด้วยความเป็นเฮมมิงเวย์ชนิดที่แยกกันไม่ออก
เรื่องสั้นประเภทที่สองอาศัยบทสนทนาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ลักษณะเด่นคือการพูดคุยของตัวละครที่อ่านเร็วๆ ผ่านๆ เหมือนไร้สาระ แต่จู่ๆ ป๋าจะปล่อยหมัดเด็ดเข้าใส่คนอ่าน ในรูปประโยคชวนอึ้ง ที่ชัดเจนมากคือ A Canary for One แนะนำว่าใครที่คิดจะหยิบ The First Forty-Nine Stories ขึ้นมาอ่านจริงๆ อยากให้เริ่มจากเรื่องนี้ จะได้เข้าใจแนวทางของผู้เขียน ประเด็นซึ่งป๋าชอบใช้กับเรื่องสไตล์นี้คือความขัดแย้งระหว่างคู่สามี ภรรยา เป็นสงครามประเภทคลื่นใต้น้ำ ที่คนอ่านรู้สึกได้ถึงความตึงเครียด แต่ไม่สามารถชี้ชัดเจาะจงได้ว่าอะไรคือต้นตอของมัน Cat in the Rain และ Hills Like White Eleplant เป็นอีกตัวอย่างที่ดี (เข้าใจว่า Raymond Carver คงได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องสไตล์นี้) เรื่องเล่าด้วยบทสนทนาซึ่งโด่งดังสุดของป๋าคือ The Killer สามหน้าแรกตึงเครียดชวนให้นึกถึงฉากเปิดตัวสองฆาตกรโรคจิตในภาพยนตร์เรื่อง Funny Game ของฮาเนเก้
The Killer ยังเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นชุดนิค อดัม ซึ่งเป็นชื่อตัวละครที่ปรากฏตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องสั้นของเฮมมิงเวย์ ช่วงแรกๆ มีความต่อเนื่องจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่อง เริ่มตั้งแต่สมัยนิคเป็นเด็ก พ่อซึ่งเป็นหมอพานิคไปช่วยทำคลอดอินเดียแดง (The Indian Camp) เมื่อโตขึ้นนิคพบรักกับอินเดียแดงสาว (Ten Indians) เข้าร่วมในสงคราม (Now I Lay Me, In Another Country) ส่วนใหญ่พูดถึงอิทธิพลคนรอบข้าง ที่มีต่อการเติบโตของชายหนุ่ม และความสับสนของวัยรุ่น
คาลวิโนเคยบอกว่า การอ่านหนังสือคลาสสิคล้วนแล้วแต่เป็นการอ่านซ้ำ กระทั่งเล่มที่เราไม่เคยหยิบจับมาก่อน เพราะหนังสือคลาสสิคคือต้นกำเนิดความคิดของหนังสือเล่มอื่นๆ ซึ่งตามมาในภายหลัง The First Forty-Nine Stories ก็เป็นหนังสือที่ว่า ถึงแม้ไม่เคยอ่านมาก่อน แต่เรารู้สึกประหนึ่งคุ้นเคยกับตัวละครเป็นอย่างดี นี่เอง ความยิ่งใหญ่ในฐานะตำนานของป๋าเฮมมิงเวย์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Out of all the ones that you mentioned here, I think I've only read "The Killers" and "Hills like White Elephant." (Did you know, by the way, that a "white elephant" is something useless/of little value?) I think overall Hemingway's writing is too matter-of-fact and devoid of feelings for me. I prefer stories that evoke a lot of emotions. It's been a long time since I read these, but I remember liking "The Bread" by Wolfgang Borchert and "Death in the Woods" by Sherwood Anderson a lot. If you ever get a chance to read these, please let me know how you like them.
Post a Comment