M. Heidegger's "Being and Time" (ครึ่งแรก)

สำนวนฝรั่ง "พบตัวเอง" (found myself/himself/herself/itself) เป็นที่รู้จักดีในหมู่แวดวงนักแปลและบรรณาธิการ เพราะเป็นสำนวนเนียนๆ ที่ปลอมแปลงตัวเองเข้ามาอยู่ในงานแปลได้ง่ายมาก ถ้าอ่านเจอเมื่อไหร่ เป็นต้องตัดออกโดยพลันเพราะถือเป็นสำนวนฝรั่งในภาษาไทย ไม่ดี ไม่เอา กระนั้นก็ตาม เรากลับชอบสำนวนนี้เอามากๆ และก็ยังคิดด้วยว่าความเนียนของมันเกิดจากสำนวนนี้อธิบายบางอย่างที่โคตรจะจริงเลย และการที่ภาษาไทยไม่มีสำนวนนี้ตั้งแต่แรก it's so much worse for our language และการปฏิเสธที่จะใช้มันในตอนนี้ ก็ยิ่งแสดงถึงอาการหัวรั้น

"พบตัวเอง" ในความหมายตรงไปตรงมา เช่น "สุดาตื่นขึ้นมาและพบตัวเองอยู่ในถ้ำ..." สุดาไม่ได้คุ้นชินกับถ้ำนั้น เธออาจสะดุดหินลื่นตกลงมา หรือถูกโจรร้ายจับมาขังไว้ "พบตัวเอง" แสดงถึงอาการแปลกแยกระหว่างตัวประธานและสถานการณ์ สำนวนนี้สามารถนำมาใช้อย่างหลักแหลมขึ้นได้ เช่น "สุดาพบว่าตัวเองไม่อาจหักห้ามอาการหัวใจเต้น" ในความหมายคล้ายๆ กัน อาการหัวใจเต้นเป็นบางอย่างที่ประธานสุดา ไม่คุ้นชิน "พบตัวเอง" จึงบ่งบอกถึงความแปลกแยกได้ทั้งสิ่งแวดล้อมภายนอก และลักษณะอาการทางร่างกาย รวมถึงความรู้สึกที่อยู่ภายใน

"พบตัวเอง" เป็นแก่นแท้ตัวตนของมนุษย์ ไฮเดกเกอร์กล่าวว่า Dasein/Being/ตัวตน คือสภาวะที่ถูก "เหวี่ยง" เข้ามาอยู่กลางสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา จู่ๆ เราก็พบตัวเองอยู่ในป่า มีรอยผื่นขึ้นตามหน้าแข้ง รู้สึกกลัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จู่ๆ เราก็พบตัวเองนอนเปลือยกายอยู่ข้างใครบางคนที่เราไม่รู้จัก แม้แต่ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ก็ "พบตัวเอง" อยู่ตลอดเวลา (เอาเข้าจริง แนวคิดนี้พุทธมากๆ เพราะมันหมายถึงความไม่เที่ยงของขันธ์นั่นเอง) ตัวตนจึงจำเป็นต้อง "เข้าใจ" สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

มนุษย์ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ร่างกายอันจับต้องได้ มองเห็นด้วยตา แต่เป็น "ตัวตนแห่งความเข้าใจ" นั้น เช่นเดียวกัน "โลก" ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอก ไฮเดกเกอร์เปรียบเปรยโลกว่าคือสิ่งที่สะท้อน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวตน เป็นดวงตาอันปราศจากใบหน้า ตัวตนไม่สามารถเผชิญหน้ากับ โลก/ตัวตน ได้ จึงหนีออกจากตัวเอง (ไฮเดกเกอร์ใช้คำว่า "ตก" อธิบายการหนีของตัวตน ส่วนหนึ่งคงเพราะแกต้องการโยงไปหาศาสนาคริสต์ ที่กล่าวว่ามนุษย์คือลูกหลานของอดัมและอีฟที่ "ตก" ลงมาจากสวรรค์) การหนีก็คือเราสร้างความเป็นปัจเจกชนให้กับตัวเองขึ้นมา เราหนีด้วยการสมมติโลกแห่งสัญญะขึ้นมา และอาศัยอยู่ในนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมองเห็นโลกและตัวตนที่แท้จริง

(ไฮเดกเกอร์เอาแง่มุมทางสังคมมาจับคำอธิบายนี้ โดยบอกว่า การ "ตก" ก็คือการยอมรับคุณค่าซึ่งสังคมกำหนดขึ้น แทนที่จะกำหนดคุณค่าสิ่งต่างตามสภาพความเป็นจริง แต่จุดนี้ก็เหมือนจะย้อนแย้งในตัวเอง เพราะไม่ใช่การหนีหรอกหรือ ที่ทำให้เรากลายเป็นปัจเจกชนขึ้นมาตั้งแต่แรก)

ดังนั้น truth/ความจริง จึงไม่ใช่แค่การจับผิดจับถูก ความจริงคือสภาพที่เรา "พบตัวเอง" ความจริงไม่ได้เป็นจริง หรือเป็นเท็จ ความจริง "แค่เป็น" เท่านั้น

อธิบายสั้นๆ แบบนี้แล้วฟังดูยาก แต่จริง Being and Time ถือว่าอ่านง่ายมากเมื่อเทียบกับปรัชญาเยอรมันหนักๆ เล่มอื่น ถ้าไฮเดกเกอร์ยังมีชีีวิตอยู่ รับรองว่าต้องทำ powerpoint presentation เก่งมากแน่ๆ เพราะโครงสร้างหนังสือแน่นเปรี๊ยะ หัวหางชัดเจน หัวข้อย่อยอธิบายโครงสร้างของข้อถกเถียงและเหตุผลสนับสนุนได้อย่างสวยงาม