I. Murdoch's "The Philosopher's Pupil"
รู้สึกดีใจอย่างไรก็ไม่รู้ที่ได้อ่าน The Philosopher's Pupil แน่นอนว่าส่วนหนึ่งจะได้จบๆ ไปเสียทีกับนิยาย 26 เล่มของไอริช เมอดอช (เรากล้าท้าเลยว่าเราเป็นคนไทยคนแรกที่อ่านนิยายของเมอดอชครบทุกเล่ม) แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะนี่เป็นนิยายที่ห่วยมาก เราอ่านนิยายห่วยๆ ของเมอดอชมาก็ไม่น้อย ให้นับจริงๆ อาจจะสักสี่ ถึงห้าเล่มได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วความห่วยของนิยายเหล่านั้นเกิดจากการที่เดมเล่นอะไรแผลงๆ ทดลองอะไรแปลกๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เรียกแบบวิชาการหน่อยๆ ว่าความห่วยแบบ Active (คือห่วยเพราะทำอะไรบางอย่าง) The Philosopher's Pupil น่าสนใจตรงมันห่วยแบบ Passive คือเดมที่เขียนหนังสืออย่างที่แกเขียนมายี่สิบกว่าเล่มนั่นแหละ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง มันก็สามารถออกมาห่วยได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงถือว่าการมานั่งวิเคราะห์ The Philosopher's Pupil จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรามากๆ
The Philosopher's Pupil ก็ยังคงเป็นนิยายตัวละครเยอะตามสูตร แต่เห็นเลยว่าขณะที่เรื่องอื่นๆ เมอดอชจับตัวละครมาผสมผสานกัน แล้วเกิดปฏิกิริยาปุ้งป้าง ใน The Philosopher's Pupil เห็นแต่ฟองฟู่ๆ ซ่าๆ ไม่เกิดแมวอะไรขึ้นมาเลยสักอย่าง ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความผิดให้โรซานอฟไปเต็มๆ โรซานอฟคือนักปรัชญาในชื่อนิยาย เป็นตัวละครที่เมอดอชมากๆ ฉลาดกว่าคนอื่น มีนิสัยเพี้ยนๆ และเป็นศูนย์กลางที่ขับเรื่องให้เดินไปไหนต่อไหน แต่เทียบกับตัวละครประเภทนี้ในนิยายเล่มอื่นแล้ว โรซานอฟจืดมากๆ ไม่ได้มีเสน่ห์ หรืออำนาจดึงดูดตัวละคร และความสนใจผู้อ่านขนาดนั้น
ลูกศิษย์ในชื่อนิยายคือจอร์จ เปิดเรื่องมาจอร์จพยายามฆ่าเมียตัวเองด้วยการขับรถพุ่งออกนอกสะพาน แต่ไปๆ มาๆ อุบัติเหตุนี้ไม่ได้เดิน หรือขับเรื่องไปในทิศทางใด นอกจากให้คนอ่านรู้ว่าจอร์จดึงดูดสายตา และคำนินทาจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในเอนนิงตัน เรื่องมาเริ่มเอาจริงๆ ตอนที่โรซานอฟ ซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นชาวเอนนิงตัน กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี พร้อมทั้งนำหลานสาวมาด้วยอีกคน และตามสไตล์เมอดอชตัวละครตกหลุมรัก รังเกียจ วางแผน และหักหลังซึ่งกันและกัน
นอกจาดโรซานอฟ จอร์จเป็นตัวละครที่น่าผิดหวังอีกตัว ตัวละครนิสัยน่ารังเกียจ และมีอดีตแบบนี้ ก็เป็นปรกติอยู่แล้วในนิยายของเมอดอช เดมพยายามบิวด์ว่าโรซานอฟ และจอร์จมีอดีตบางอย่างร่วมกัน จนทำให้ทุกวันนี้จอร์จผู้ไม่เคยสนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร พยายามเข้าหาโรซานอฟ ซึ่งแสดงท่าทีรังเกียจอดีตลูกศิษย์คนนี้อย่างออกนอกหน้า และผิดธรรมชาติ แต่เนื่องจากเมอดอชไม่ยอมหงายไพ่ เผยอดีตตรงนี้ออกมาเสียที สักพักคนอ่านก็หมดความสนใจแล้ว
และนี่ก็นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง แม้ว่าโดยทั่วไปนิยายของเมอดอชจะตัวละครเยอะ และตัวเอกก็เยอะ (คือเล่าเรื่องจากหลายมุมมอง) แต่ใน The Philosopher's Pupil นี้ ผู้เขียนเลือกมุมมองในการเล่าผิดมากๆ วนสับเปลี่ยนไปมาระหว่างจอร์จ และไบรอัน กับทอม พี่น้องอีกสองคน รวมไปถึงภรรยาของไบรอัน แม่ของสามพี่น้อง โรซานอฟ หลานสาวของโรซานอฟ เบอร์นาร์ด ผู้เป็นนักบวชประจำเมือง และตัวประกอบรายย่อยอีกสองสามตัว การที่มีมุมมองมากเกินไป และไม่อาจสร้างความเป็นหนึ่งเดียวขึ้นมาได้ ทำให้ The Philosopher's Pupil เป็นนิยายที่หลงทิศ สะเปะสะปะ
สักวันหนึ่งเมื่อเราเริ่มอ่านนิยายของเมอดอชเป็นรอบที่สอง เราคงหวนนึกถึง The Philosopher's Pupil บ่อยๆ ครั้ง นี่จะกลายเป็นมาตรฐานให้เราเปรียบเทียบว่า อะไรที่เมอดอชทำถูกในนิยายเล่มอื่น และทำผิดในนิยายเล่มนี้ บางครั้งเราก็เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวได้มากเสียยิ่งกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment