G. Greene's "The Human Factor"

ได้ข้อสรุปเศร้าๆ นิดหนึ่งว่า ไม่ว่าเราจะอ่านนิยายของกรีนสักกี่เล่ม (และแทบทุกเล่ม คุณภาพระดับดีถึงดีเลิศ) สุดท้ายคงยากที่กรีนจะขึ้นแท่นนักเขียนในดวงใจ นิยายของกรีน กล่าวโดยรวมแล้วก็คือ "glorified spy novel" หรือ "เจม บอนด์ที่เขียนดีๆ " นั่นเอง ต่อให้อ่านสนุกแค่ไหน แต่เราจะรู้สึกเสมอถึงระยะห่างระหว่างตัวเราและนิยายประเภทนี้ (ง่ายๆ นี่เป็นนิยายแบบที่เราไม่เคยคิดจะเขียนเอง)

The Human Factor เปิดมาอย่างสนุก เหตุเกิดในหน่วยงานหนึ่งของ MI6 (หน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ ที่เจม บอนด์สังกัดอยู่นั่นเอง) ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ มีข่าวสารรั่วออกมา ดังนั้นจึงพยายามสาวกันยกใหญ่ว่ารั่วออกมาจากใครกันแน่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเมื่อสืบพบแล้ว จะหาหลักฐานยังไง ถ้าหาได้ควรทำไงต่อ หรือถ้าหาไม่ได้ จะมีวิธี "จัดการ" ยังไงบ้าง

ชื่อนิยาย "ปัจจัยความเป็นมนุษย์" หมายถึงต่อให้เป็นหน่วยงานที่วางแผนรับมือกับทุกสถานการณ์ดีแค่ไหน สุดท้ายไอ้ปัจจัยความเป็นมนุษย์นี่แหละ ที่ไม่มีใครหยั่งรู้ คาดการณ์ได้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า เหมือนกรีนพยายามกัดเอียน เฟลมมิ่งหน่อยๆ โดยบอกกลายๆ ว่า "นี่ นี่ต่างหาก โลกสืบราชการลับน่ะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ผู้ชายสวมชุดสูทเท่ห์ๆ เดินทางไปนอนกับผู้หญิงทั่วโลกหรอก และสเปคเตอร์ โบลเฟลน่ะ มีอยู่จริงที่ไหน โลกแห่งความจริง มันแบ่งขาวและดำชัดเจนไม่ได้ขนาดนั้นหรอก" (ใน The Human Factor มีการกล่าวอ้างถึงเจม บอนด์บ่อยๆ โดยตัวละครบ่นซ้ำไปซ้ำมาว่า "ทำไมชีวิตจริงมันไม่หมือนนิยายเลยวะ")

The Human Factor เป็นนิยายที่เราจัดลำดับความชอบลำบาก ทั้งเรื่องสนุก ตื่นเต้นมาตลอด จนมาช่วงท้ายที่เหมือนอยู่ๆ กรีนก็หมดไฟไปงั้น เอาตอนจบแบบขอไปทีมาให้คนอ่าน ก็เลยอดเสียดายที่อุตส่าห์ปูมาตั้งแต่ต้นไม่ได้ (นึกถึง The Sacred and Profane Love Machine ของไอริช เมอดอกที่เราก็ชอบมากๆ ตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่สุดท้ายอยู่ๆ ก็เหมือนคนเขียนขี้เกียจเขียนต่อ จบเอาดื้อๆ )

นิยายเรื่องนี้มีอะไรตลกอย่างหนึ่ง สายลับพยายามใช้อัลฟาทอกซินแทนยาพิษฆ่าคนตาย สมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบสารก่อมะเร็งตัวนี้ กรีนก็เลยคงเข้าใจผิดว่ามันจะออกฤทธิ์เฉียบพลัน ถ้าอัลฟาทอกซินฆ่าคนได้จริงแบบในนิยาย คนชอบกินถั่วลิสงคงเดี้ยงหมดโลกไปนานแล้ว

สุดท้ายก็ไม่ได้สมจริงสมจังขนาดนั้นเนอะ กรีน เนอะ (ฮา)

รักชวนหัวอวอร์ด -Laugh d'or (ครึ่งหลัง)

เลอขิ่นมาแล้ววววว...นี่คือการประกาศสี่เล่มสุดท้ายของรางวัลรักชวนหัวอวอร์ดครั้งที่หนึ่ง ขอบคุณฮะที่ติดตามมาตลอด (รักชวนหัวฝากขออภัยที่ทิ้งช่วงนานเหลือเกิน) ขอให้ทุกคนอ่านหนังสือกันเยอะๆ นะฮะ ขอตัวไปรบทัพจับศึกต่อแล้ว ชะแว้บ! (กระโดดเข้าซากปรักหักพังและกองเพลิงที่อยู่ด้านหลัง)

5. เข้าถึงธรรม (จาก เกาะที่มีมนุษย์ล้อมรอบ โดย ขวัญยืน ลูกจันทร์) "เป็นอีกเรื่องที่เขียนถึงยากมาก เพราะอย่างที่สื่อในชื่อเรื่อง มันว่าด้วยการ "เข้าถึงธรรม" และภาวะแห่งเซนที่ถ้าไม่สัมผัสด้วยตัวเอง ก็ยากที่จะบอกเล่าให้ผู้อื่นเข้าใจ นี่คือตัวอย่างความมหัศจรรย์ของการใช้ภาษาและการเล่าเรื่องที่ผิวเผินแล้วแสนจะธรรมดา แต่เมื่อประกอบกันเข้าโดยพิสดาร สามารถส่งผู้อ่าน "เข้าถึงธรรม" ไปพร้อมกับตัวละครได้

เข้าถึงธรรม ว่าด้วยเจ้าอาวาสท่านหนึ่ง ซึ่งพยายามช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยากและมาพึ่งพิง ไปพร้อมๆ กับการรำลึกถึง "คุณ งาม และ ความดี" ขององค์พระศาสดา (สังเกตการเว้นวรรคที่ผิดธรรมดา) ผู้เขียนตั้งคำถามว่าที่สุดแล้วอะไรกันแน่ช่วยส่งเราไปนิพพาน มันคือการชังจูงอย่างอ่อนโยนด้วยกรรมดี อย่างที่มักเข้าใจกัน หรืออาจเป็นการเตะโด่งด้วยบางสิ่งที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้"

6. กระทำอัญชลี (จาก เส้นผมบังจักรวาล โดย เอื้อ อัญชลี) "กระทำอัญชลี จับตามองเด็กหญิงผู้ไม่มีความสามารถใดโดดเด่นเลย นอกจากรู้จักไหว้คน และเด็กชายผู้เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา แต่ไหว้ใครไม่เป็น ที่สุดของปลายทาง ชีวิตใครกันแน่น่าอิจฉากว่ากัน เอื้อ อัญชลีไม่มีคำตอบง่ายๆ ให้กับคำถามนี้ ในทางตรงกันข้าม ไม่กี่ย่อหน้าปิดท้ายกลายเป็นสงครามแห่งสัญญะ การถล่มกันชนิดหมัดต่อหมัดระหว่างทั้งสองฝ่าย กะอีแค่ข้อสรุปง่ายๆ และเป็นกลางอย่าง "คนที่รู้จักไหว้จะประสบความสำเร็จกว่า แต่คนที่หยิ่งทระนงจะมีชีวิตที่ภาคภูมิกว่า" เอื้อ อัญชลียังไม่ยอมให้คนอ่านสรุปได้เลย เพียงแค่ "อิริยาบถ"​ เล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างตัวละครกระทำออกมาในตอนท้าย พลิกบทเรียนโดยสิ้นเชิง กระทำอัญชลี เป็นเรื่องสั้นที่ตีความได้สนุก และสามารถตีกลับไปกลับมาได้อย่างไม่รู้จบด้วย"

7. เงาแห่งฝน (จาก นิมิตต์วิกาล โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์) "เล่มนี้มีเรื่องสั้นอยู่มากมายให้เราเลือกหยิบมาชอบที่สุด และเหมือนตัวผู้เขียนเอง ก็อาจไม่ได้มองว่าเรื่องนี้โดดเด่นเท่าเรื่องอื่น แต่แปลกมากว่าที่สุดแล้ว เรื่องสั้นจาก นิมิตต์วิกาล ที่ขโมยหัวใจเราไปได้กลับเป็น เงาแห่งฝน ตัวเรื่องแสนธรรมดา ว่าด้วยการพบปะวิญญาณวีรชนที่ยังเหลือห่วงอยู่ในโลก เอาเข้าจริง เรื่องทำนองนี้แทบจะกลายเป็น genre หนึ่งในงานวรรณกรรมไทยเลยยังได้

ความพิเศษอยู่ที่ฉาก เหตุการณ์ที่แสนคุ้นเคย (ในทางวรรณกรรม) เมื่อไปเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน กลับสร้างมิติแปลกใหม่ ผู้เขียนตั้งคำถามว่าหรือบางทีจิตวิญญาณแห่งความเป็นเราไม่ได้สถิตย์อยู่ในท้องถิ่นอย่างที่ปราชญ์หลายคนตีฆ้องร้องป่าว แต่อยู่ในภูมิภาค อยู่ในความไร้พรมแดน ที่สุดแล้วโลกาภิวัฒน์ใช่หรือไม่ ที่จะช่วยพาเรากลับสู่ความเป็นไทย หลังจากถูกตบแต่ง บิดเบือนด้วยเส้นพรมแดนลวงๆ แห่งรัฐชาติมาพักใหญ่แล้ว"

8. กลิ่น (จาก ชีวิตปกติ โดย จารี จัทราภา) "ชอบที่สุดสองเรื่องในเล่มคือ กลิ่น และ สามเหลี่ยมด้านไม่เท่า ตัดใจเลือกเรื่องนี้เพราะมันมีชั้นเชิงทางวรรณกรรมกว่า (ใครที่ชอบเรื่องแนว "ขยี้" ขอบอกว่า สามเหลี่ยมด้านไม่เท่า นี่ ไม่ผิดหวังแน่ๆ ) เป็นเรื่องสั้นประหยัดนิยม (minimalism) ที่ใหม่มากในบ้านเรา ไม่ค่อยเห็นคนไทยเขียน และที่เขียนออกมาได้ดีขนาดนี้ ผู้เขียนอาจเป็นคนแรกเลยก็ได้

เรื่องสั้นแบบนี้คือถึงเล่าเรื่องย่อไปก็ไม่ค่อยมีความหมาย เอาเป็นว่านี่คือจุดจบของอะไรบางอย่าง ของความสัมพันธ์ ความรู้สึก หรือชีวิต หรือบางทีอาจไม่ใช่เรื่องของอะไรเลยก็ได้ นอกจากสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตอนท้าย"

รักชวนหัวอวอร์ด -Laugh d'or (ครึ่งแรก)


ยูกิโกะคร่าาาา.....มาโปรเมต Sex and Zen ฉบับสามมิติ และขอนำเข้าสู่ช่วงสองของรักชวนหัวอวอร์ดเลย ในสายหลักจะมีเรื่องสั้นทั้งหมด 8 เรื่อง วันนี้ยูกิโกะจะขอนำเสนอสี่เรื่องก่อนนะคะ ขอให้สนุกคร่าาา....อย่าลืมไปดูหนังด้วยนะคะ

1. ลูกเลี้ยง (จาก จอมดาบทะเลบ้า โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์)"ตรงข้ามกับ เพราะมันไม่มีกระดูก นี่เป็นเรื่องที่ถูกบรรจุไว้ในสาย Un Certain Regard ก่อนจะย้ายมาสายหลัก หนึ่งในหกสิบเรื่องสั้นกำลังภายในของฟ้า พูลวรลักษณ์ ว่าด้วยจอมยุทธที่ต้องการช่วยเหลือเด็กผู้ถูกพิษร้าย ดั้งด้นเดินทางไปหาหมอเทวดา ปะทะเอียเท้าน้อยสุดยอดวิชาตัวเบา และลงเอยที่จุดเริ่มต้นการผจญภัยระหว่างจอมยุทธและเด็กหญิง

ทีแรกคิดว่าชอบเรื่องนี้เพราะเราเป็นแฟนนิยายกำลังภายใน แต่เอาเข้าจริง จุดเด่นสุดไม่ใช่อยู่ตรงความเป็นนิยายกำลังภายใน แต่เป็นการพลิกแพลงของผู้เขียน นำขนบนิยายบู๊ มาแปรเป็นปฐมนิยาย กระตุ้นจินตนาการผู้อ่านให้นึกถึงมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ที่จะตามมา คล้ายๆ กับที่คาลวิโนใช้ If on a Winter Night a Traveller ทำให้คนอ่านรู้สึกตื่นเต้นกับจุดเริ่มต้นอันไร้ที่สิ้นสุด"

2. ข้อความต่างด้าว (จาก ข้อความต่างด้าว โดย บุญชิต ฟักมี)"ชอบเรื่องสั้นที่เล่นกับความ "ไม่รู้" วรรณกรรมโดยทั่วไปคือศิลปะของการคายความรู้ให้กับคนอ่าน ดำเนินเรื่องด้วยการบอกทีละเปลาะๆ ข้อมูลที่คนอ่านไม่รู้ แต่คนเขียนรู้ แต่มีงานบางประเภทที่ใช้ความไม่รู้เป็นศูนย์กลางของเรื่อง และให้เหตุการณ์ทุกอย่างวนเวียนอยู่กับความไม่รู้ตรงนี้

ข้อความต่างด้าว ว่าด้วยเจ้าบ้านชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ติดอกติดใจกับปริศนาในเศษกระดาษที่อดีตลูกบ้านทิ้งไว้ ก่อนหายตัวไปปริศนา เขาจึงดั้งด้นออกตามมาคนไทยที่จะสามารถแปลข้อความในกระดาษแผ่นนั้นได้ (ฉากเมืองฝรั่งเศส และตัวเรื่องชวนให้นึกถึงเรื่องสั้นแปลของมนันยาเรื่องหนึ่ง -- ซึ่งก็เข้าใจว่าแปลมาจากฝรั่งเศสเหมือนกัน -- ที่เล่นกับความไม่รู้ได้อย่างเฉียบคม) นอกจากนี้ บุญชิตยังแทรกประเด็นชนชั้นและความอยุติธรรมลงไปในเรื่องสั้นได้อย่างลงตัว"

3. รอยบาดที่ลึกกว่า (จาก ไปยาลใหญ่ในปัจฉิมดำริ โดย ผาดพาสิกรณ์)" "น่ารักดี" คือคำอุทานของเราหลังจากอ่านเสร็จ เพราะเรื่องแบบนี้น่ารักจริงๆ บทเรียนเล็กๆ น้อยๆ ของการใช้รถใช้ถนนของผู้คนในเมืองหลวง โยงกลับเข้าไปหาบาปกรรม อันเป็นแนวคิดพื้นฐานสุดของพุทธศาสนาแบบไทยๆ แต่ปิดจบแบบหวานๆ ด้วยน้ำใจ พลอตเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ (ออกจะเก่ามากๆ ​ เลยด้วยซ้ำ) แต่ผู้เขียนมีลูกล่อลูกชนทางภาษาอันเหลือเฟือ ช่วยให้พลอตเก่าๆ อ่านเพลิดเพลินขึ้นมาได้

ไม่รู้จะวิเคราะห์ยังไงเหมือนกัน เพราะเรื่องลักษณะนี้ น่ารักและดีโดยตัวมันเอง เมื่อเหยาะลูกเล่นคนเขียนลงไปสักเล็กน้อย ก็จะกลายเป็นอาหารจานเด็ดขึ้นมาได้"

4. ซับตาเมา (จาก กระดูกแห่งความลวง โดย เรวัตร์ พันธ์พิพัตน์)"ถ้าถามว่าชอบทั้งเล่มไหม ตอบทันทีเลยว่าชอบอีกเล่มหนึ่งของเรวัตร์มากกว่า แต่ถ้าพูดถึงเป็นเรื่องๆ ไป ซับตาเมา น่าจะโดดเด่นสุด เรื่องของแม่ม่ายสาวและลูกติดที่คืบคลานเข้ามาในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง เปิดร้านยาดองเหล้า ขายเนื้องู และในที่สุดก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของตัณหาราคะประจำหมู่บ้าน

ฟังเรื่องย่อแล้วสยองพิลึก แต่เอาเข้าจริงนิทานแม่ม่ายลูกติดแบบนี้ เขียนกันมาแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว และบางเวอร์ชั่นก็ออกมาน่ารักกุ๊กกิ๊กเชียว ที่นึกได้ตอนนี้ก็ Chocolat ที่จูเลียต บิโนชเล่นเป็นคนขายขนม (และก็มีลูกสาวเป็นลูกติดคนหนึ่งเหมือนกันเสียด้วยสิ) แต่ลงเอยเธอก็ถูกมองโดยคนในหมู่บ้าน (โดยเฉพาะนักเทศน์ที่เป็นตัวแทนฝั่งอนุรักษนิยม) ว่าเป็นตัวแทนแห่งตัณหาอยู่ดี

Snak ของเรวัตร์หมองหม่นกว่า เพราะมันเกี่ยวพันกับวิถีชนบท ทุนนิยม และคำสาปแช่ง แต่ส่วนตัว เรามองเห็นความน่ารักที่ถูกฉาบทับไว้"

รักชวนหัวอวอร์ด - Un Certain Regard


ชัก ชัก ชัก ชัก ชัก ชัก ชัก...ยินดีต้อนรับสู่งานประกาศรางวัลรักชวนหัวอวอร์ดครั้งที่หนึ่งค่ะ!

ใบเฟิร์นเองค่ะ เป็นพิธีกรในคืนนี้ รางวัลรักชวนหัวอวอร์ดครั้งที่หนึ่ง มอบให้แก่ "เรื่องสั้น" จากทั้ง 70 เล่มที่รักชวนหัวอ่านจบในช่วงสองเดือนนี้ค่ะ ขอย้ำอีกครั้งนะคะ รางวัลนี้มอบให้ "เรื่องสั้น" ไม่ได้มอบให้หนังสือ ดังนั้นจึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการคาดเดาผลซีไรต์ รักชวนหัวฝากบอกมาด้วยว่า มีอยู่อีกสองสามเล่มที่ชอบเหมือนกัน แต่เนื่องจากไม่ได้มีเรื่องสั้นโดดเด่นเป็นเรื่องๆ ก็เลยอาจไม่ได้ถูกพูดถึงในงานคืนนี้ ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะคะ

รางวัลนี้จะแบ่งเป็นสองสายนะคะ คือสายหลัก และสาย Un Certain Regard โดย Un Certain Regard แจกให้สามเรื่องสั้น ที่อาจไม่สมบูรณ์นักในทางวรรณกรรม แต่มีแง่มุมอื่นน่าสนใจ ก่อนอื่น เชิญพบกับสามเรื่องสั้นที่คว้ารางวัลในสาย Un Certain Regard ดังนี้ค่ะ

1. รักสามเส้า เราสามคน (จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งฉัน โดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล) "เป็นเรื่องสั้นที่นำเสนอความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสามสี่ปีนี้ได้ดีที่สุด คนเขียน "จริงใจ" กับเหตุการณ์และผู้อ่าน มากพอที่จะอธิบายต้นกำเนิดของมวลชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา (การที่จักรพันธุ์เลือกจะอธิบายคนเสื้อแดงก่อน แล้วค่อยย้อนกลับไปหาคนเสื้อเหลือง ซึ่งขัดกับลำดับเวลาจริง เราเองก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าเป็นความผิดพลาดหรือความเก๋ไก๋กันแน่) เป็นท่าทีที่แตกต่างจากนักเขียนหลายคน ที่ถ้าไม่พยายามบิดเบือนโยนเข้าหาชุดคำอธิบายแบบไสยศาสตร์งมงาย ("การเมืองคือความชั่วร้าย...ความชั่วร้ายมาสิงใจคนไทย") ก็ทำตัวอยู่เหนือปัญหา มองลงมาอย่างดูถูกดูแคลนคนที่สนใจการเมือง

จุดเด่นอีกประการของเรื่องนี้คือการผูกความสัมพันธ์ตัวละคร ที่ "cult" ระดับน้องๆ พจน์ อานนท์ พระเอกเป็นนักข่าวเสื้อแดง ที่ถูกผู้ชายเสื้อเหลือง แย่งแฟนสาวผู้เป็นซาหริ่ม ทั้งสองคนนั้นพบกันในงาน Big Cleaning Days! อะไรมันจะ "จงใจ" บีบคั้นกันขนาดนี้ นี่คือความ "จงใจ" และความ "จริงใจ" ที่รวมกันอยู่ได้ในเรื่องสั้นเดียวอย่างกลมกล่อม"

2. ที่สงบ (จาก รางวัลจากป่า โดย ณัฐวัฒน์ อุทธังกร) "กว่าจะเกิด "ที่สงบ" ขึ้นมาให้คนกลุ่มหนึ่ง ใครจะไปรู้บ้างว่า มันเบียดเบียน "ที่สงบ" ของใครต่อใครอีกหลายคนแค่ไหน ณัฐวัฒน์เขียนเรื่องนี้ โดยสวมหมวกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ไม่ใช่นักเขียน ที่สงบ (และเรื่องสั้นอื่นๆ ในเล่ม) จึงปราศความซึนทางวรรณกรรม ผู้เขียนเล่าเรื่องราวอย่างที่ป่าไม้คนหนึ่งเห็นมา และเป็นเช่นนั้นจริงๆ

นอกจากป่าไม้จะต้องต่อกรกับพวกลักลอบทำลายป่า ฆ่าสัตว์ อันเป็นหน้าที่ตามปรกติแล้ว ยังต้องจัดสรรกำลังบางส่วนมาช่วยอารักขาเหล่าพระธุดงค์ที่ไปปักกลด บำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่ว่าสังคมไทยจะมองกิจกรรมเช่นนี้ด้วยสายตาอย่างไร แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มันคงสร้างความลำบากและย้อนแย้งไม่ใช่น้อยๆ ผู้เขียนจึง "ตอบแทน" (ถ้าจะเรียกว่าสนอง fantasy ลึกๆ ของตัวเองก็คงพอได้) ด้วยฉากที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์เรื่องสั้นไทย ฉากพระถูกช้างถีบ!"

3. เพราะมันไม่มีกระดูก (จาก การลุกไหม้ของหินไฟดำ โดย ชัยกร หาญไฟฟ้า) "ว่าด้วยเรื่องของนักเขียนคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเขียนหนังสือโดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมา เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ "มือล่ารางวัลรองชนะเลิศ" แต่ก่อนจะกระทำการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ เขาต้องพยายามฟันฝ่าโจทย์ข้อหนึ่งที่ตั้งไว้กับตัวเอง

ลังเลอยู่เหมือนกันว่า เรื่องสั้นนี้ควรจับเข้าสายหลักดีหรือเปล่า พูดถึงคุณค่าทางวรรณกรรมของมันแล้ว สอบผ่านอย่างแน่นอน แต่สาเหตุที่เราจับมันมาอยู่ Un Certain Regard เพราะจุดเด่นที่สุดของเรื่องนี้คือการทลายกำแพงที่สี่ ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างไม่ลำเอียง และสุดท้ายกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์นี้ ก็นำไปสู่เรื่องสั้นที่ดีที่่สุดของชัยกร หาญไฟฟ้า ตอบโจทย์ที่ตัวเองตั้งไว้ได้อย่างสวยงาม แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้จะสนุกเป็นพิเศษเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยผลงานและชีวิตนักเขียนของผู้เขียนมาก่อนเท่านั้นหรือเปล่า"

รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (51~...)

51. สุนทรียะของผู้เขียนไม่ค่อยเหมาะกับเรื่องสั้นเท่าไหร่ บทสนทนาเยอะ ตัวละครเยอะดี แต่ในพื้นที่จำกัด กลับไม่สามารถหลงเหลืออะไรให้คนอ่านจดจำได้เลยสักอย่าง ในทางกลับกัน ถ้าเทคนิคแบบนี้ถูกปรับมาใช้กับนิยาย น่าจะกลายเป็นผลงานที่น่าจับตามองเล่มหนึ่งเลย คนเขียนมีศักยภาพ แต่น่าจะลองเอาศักยภาพของตัวเองไปปรับใช้กับงานด้านอื่น...

52. ...ซึ่งตรงข้ามกับเล่มนี้ เรื่องโปรยปกดีมาก แต่เรื่องอื่นๆ เหมือนพยายามผลิตซ้ำความสำเร็จของตัวเอง รูปแบบของคนเขียนค่อนข้างแคบและชัดเจน เลยไม่สามารถปรับเป็นเรื่องสั้นที่หลากหลาย สุดท้ายทั้งเล่มจึงออกมาซ้ำซาก คนเขียนต้องพยายามเพิ่มศักยภาพ ด้วยการทะลวงออกจากความเคยชิน และผลิตผลงานในรูปแบบใหม่ๆ ดูบ้าง

53. อ่านรวมเรื่องสั้นมาห้าสิบกว่าเล่มแล้ว สังเกตว่าเรามักนิยมชมชอบหนังสือที่เขียนโดย "นัก(อยาก)เขียน" มากกว่านักเขียน คนที่ไม่มีจริตจะก้านทางวรรณกรรม ไม่ได้อยากสร้างสรรค์ผลงาน เพียงแค่ต้องการถ่ายทอดชีวิต อาชีพการงานของตัวเอง เล่มนี้เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะคนเขียนใส่หมวกสองใบ ใบหนึ่งคือหมวกนักเขียน ซึ่งพูดตามตรงเลยว่าฝีมือยังไม่เข้าขั้น แต่เมื่อถอดหมวกใบนั้นออก แม้ผลงานที่ได้จะยังขาดคุณค่าทางศิลปะ แต่มันกลับมีคุณค่าความเป็นมนุษย์บางอย่าง

54. อีกเล่มที่ถูกจริตเรามากๆ ชอบทัศนคติของผู้เขียน ตัวละครดูเป็นมนุษย์เต็มๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกอันเว้าแหว่ง และสิ่งเดียวที่พวกเราทำได้คือค้นหาต่อไปเรื่อยๆ อ่อนน้อมถ่อมตนในการดำรงชีวิต (ที่สุดความอ่อนน้อมอาจจะสำคัญยิ่งกว่าสติปัญญาหรือความห้าวหาญ) และขาดไม่ได้คือหัดตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา สไตล์เรื่องกึ่งแฟนตาซี กึ่งสัญญะ ทำออกมาได้อย่างลงตัวในความมั่วซั่ว ถ้าจะติดขัดหน่อยคือสองสามเรื่องที่ฉุดค่าเฉลี่ยคุณภาพของทั้งเล่มให้ต่ำลงไปบ้าง

55. ก่อนจะถอดหมวกนักวิจารณ์ ขอพรมยาหอมว่า ในฐานะงานวรรณกรรม หนังสือเล่มนี้สอบผ่าน เรื่องโปรยปกดีทีเดียว อ่านสนุกในวิวาทะที่ไม่พยายามยัดเยียดถูกผิด ดีเลวจนเกินงาม...แต่พอเอาหมวกนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาสวมแทน เรารับความคิดระหว่างบรรทัดในเล่มไม่ได้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมืองทั่วโลกต่างร่วมมือกันเพื่อหาหนทางนำพลังงานทดแทนมาใช้แก้ปัญญาภาวะโลกร้อน คุณเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะต้องการบอกอะไรคนอ่านกันแน่ หา!!!

56. ในแง่หนึ่ง เราให้คะแนนพิศวาสผู้เขียน ในฐานะที่สร้างสรรค์สุนทรียะใหม่ๆ ไม่ซ้ำรอยเรื่องสั้นในรูปแบบเดิม แต่ในอีกทางหนึ่ง เราคงต้องหักคะแนนพิศวาสตรงนี้ออก โทษฐานที่สุนทรียะตัวนี้ให้กำเนิดเรื่องสั้นที่อ่านแล้วเหมือนดูละครช่องเจ็ด "รูปแบบ" ดีแต่ "เนื้อหา" อ่อนไปอย่างน่าเสียดาย บางเรื่อง ก็เห็นได้ชัดว่า ถูลู่ถูกังเร่งเขียนออกมา

57. นับว่ารวมเรื่องสั้นเพื่อชีวิตเล่มนี้ ประสบความสำเร็จล้นหลาม ถ้าเป้าหมายของคนเขียนคือ ต้องการให้ผู้อ่านสมเพชแกนสมน้ำหน้า (ไม่ใช่สงสาร) ความลำบาก ย่อยยับอัปราชัยในชะตาชีวิตของตัวละครแล้ว

58. ส่วนตัวแล้ว เราไม่ได้ชื่นชมเล่มนี้เท่าไหร่ แต่อยากปรบมือให้คนเขียนที่สามารถเขียนหนังสือได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพียงแค่ตั้งคำถาม แทนที่จะครอบงำคนอ่านด้วยอคติส่วนตัว ก็ทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เลอค่ากว่าวรรณกรรมอีกนับร้อยที่ไหลบ่าท่วมทับร้านหนังสือแล้ว กระนั้น คนเขียนเหมือนจะเร่งมือมากไปหน่อย งานหลายชิ้นเลยไม่ค่อยลงตัว กลายเป็นจุดอ่อนอย่างน่าเสียดาย

59. เป็นเล่มที่ตั้งความหวังไว้สูงมาก ก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะผิดหวัง เรายังชอบมันอยู่ แต่ถ้าคนเขียนเรียกมันว่า "นิยาย" นี่จะเป็นนิยายที่เลอเลิศมากๆ ความเบาบางของเส้นเรื่องที่เรียงร้อยแต่ละบทเข้าหากันช่างมีเสน่ห์ แต่เพราะมันเป็น "รวมเรื่องสั้น" มันจึงหลีกเลี่ยงที่จะถูกตัดสินแต่ละเรื่อง แต่ละบทไปไม่ได้ แม้จะไม่มีเรื่องไหนสอบตก แต่อาการสอบผ่านแบบคาบเส้นในบางเรื่อง บวกกับไม่มีเรื่องไหนที่ผ่านฉลุยจริงๆ ทำให้มันเสียคะแนนในฐานะ "รวมเรื่องสั้น" ไป

C. V. Wedgwood's "The Thirty Years War"


จำไม่ได้แล้วจริงๆ ทำไมจู่ๆ ถึงสนใจสงครามสามสิบปี คุ้นๆ ว่ามาจากปาฐกถาของอาจารย์ธงชัย ในงานครบรอบ 70 ปีอาจารย์ชาญวิทย์ แต่ก็จำไม่ได้อีกนั่นแหละว่าอาจารย์พูดถึงสงครามสามสิบปีขึ้นมาทำไม มันเกี่ยวอะไรกับเมืองไทย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เอาเถอะ ยังไงก็ซื้อหนังสือสุดคลาสสิคเล่มนี้มา และอ่านจบไปครึ่งเล่มแล้ว ช่วงแรกของสงครามสามสิบปี เป็นช่วงสงครามกลางเมืองในเยอรมัน สมัยที่ยังเป็น "อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ" อยู่ เยอรมันในสมัยนั้นแปลกดี คือไม่ได้เป็นประเทศเดี่ยวๆ แบบอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน แต่มีลักษณะความเป็นแว่นแคว้นสูงมาก ตัวจักรพรรดิ หรือผู้นำแห่งอาณาจักรโรมันก็มาจากการ "เลือกตั้ง" โดยผู้ปกครองของแต่ละแคว้น

สงครามกลางเมืองในอาณาจักรโรมันคือสงครามศาสนาระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกและนิกายโปรแตสแตนท์ แต่เอาเข้าจริง ความแตกต่างทางศาสนาก็ดูจะเป็นแค่ข้ออ้าง การแย่งชิงอำนาจระหว่างแว่นแคว้นมากกว่า จุดหนึ่งที่เวดจ์วูดย้ำอยู่เสมอคือ สงครามเกิดจากผู้นำบ้าอำนาจ ได้พอๆ กับผู้นำที่ขาดอำนาจและไร้ความสามารถ ถ้าเทียบกับสงครามใหญ่ครั้งอื่นๆ ในยุโรป ที่มักเริ่มต้น หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้นำเพียงไม่กี่คน สงครามสามสิบปีน่าจะเป็นสงครามแห่งสุญญากาศของอำนาจ สงครามที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครที่เข้มแข็งพอจะคานอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของขุนพลคนอื่นๆ (เท่าที่อ่านมา 12 ปีแล้ว คงมีแต่คาดินัลริชเชลูแห่งฝรั่งเศสคนเดียวที่เป็น "เซเลป" ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ในครึ่งแรกของสงครามนี้)

"ตัวละคร" ที่เราชอบสุดในครึ่งแรกของสงครามคือแอเนส วอน มานแฟลด์ ไม่ได้เป็นผู้นำแคว้น แต่เป็นนายพล มานแฟลด์ไม่ได้ขึ้นตรงกับใครเสียทีเดียว เหมือนๆ จะเป็นทหารรับจ้างที่คอยรับใช้ผู้นำฝ่ายโปรแตสแตนท์เป็นหลัก ชีวิตคนแบบนี้มีสีสัน กองทหารรับจ้างเหมือนกับเป็นปรสิตที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความอ่อนแอของประเทศชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งฝ่ายที่ต้องการกำชัยชนะจะขาดไม่ได้ คนแบบมานแฟลด์ไม่จำเป็นต้องอาศัยชาติกำเนิดอันสูงศักดิ์ อาศัยวิธีรบไปเรื่อยๆ เพื่อไต่เต้า (ใครเคยอ่าน Berserk น่าจะอารมณ์คล้ายๆ กรีฟิสและกองพันเหยี่ยวนั่นแหละ) ทหารรับจ้างไม่เหมือนทหารประจำการที่พอหมดสงครามแล้วจะไล่ให้กลับไปทำนาได้ การชุบเลี้ยงคนแบบนี้เอาไว้จึงสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมโหฬาร (มาคิอาเวลลีถึงได้สอนได้สั่ง ให้หลีกเลี่ยงการใช้ทหารมืออาชีพแบบนี้)

ปัจจุบันแม้จะไม่ค่อยมีอาชีพแบบนี้แล้ว แต่ประเทศหรือผู้นำคนใด คิดหวังพึ่งพิงกองทหารเพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของตำแหน่งตัวเอง ก็จงดูความพ่ายแพ้ของนิกายโปรแตสแตนท์ใน (ครึ่งแรกของ) สงครามสามสิบปีเป็นตัวอย่างซะ

R. Carver's "Elephant"


สงสัยว่าถ้านักเขียนรู้ตัวว่าหนังสือเล่มถัดไป อาจจะเป็นเล่มสุดท้ายแล้วในชีวิต มันจะมีประเด็นอะไรหรือเปล่าให้เขาต้องพยายามเปลี่ยนแนวทางการเขียนของตัวเอง หรือ "เพราะว่า" มันเป็นเล่มสุดท้ายนั่นแหละ ถึงต้องเขียนในรูปแบบที่ตัวเองไม่เคยเขียนมาก่อน

Elephant เป็นรวมเรื่องสั้นลำดับที่ห้า และลำดับสุดท้ายของคาร์เวอร์ เจ้าคุณปู่แห่งลัทธิประหยัดนิยม (minimalism) ในวรรณกรรม เป็นเล่มที่ผิดแผกจากแนวทางปรกติของเขาที่สุด จะเรียกมันว่าประหยัดนิยมยังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะทั้งเล่มมีแค่เจ็ดเรื่องค่อนข้างยาว อย่างเรื่องหนึ่งก็ย้อนยุค แถมผ่าไปเกิดในรัสเซีย เล่นกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เลย ซึ่งไม่ใช่อะไรแบบที่คาร์เวอร์เคยทำมาก่อนแน่ๆ

เราชอบเล่มนี้น้อยกว่าเล่มอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน ความที่มันอ่อนแอกว่าเพื่อน ก็เลยเปิดให้เราเห็นสายสนกลในของเครื่องจักรที่เรียกว่า "เรื่องสั้นของคาร์เวอร์" การ "เขียน" ความหมายระหว่างบรรทัด การประดิษฐ์ตอนจบที่มั่นใจได้ว่า ผู้อ่านจะต้องจดจำฝังแน่น สิ่งเหล่านี้เผยให้เห็นในเรื่องที่ฟุ่มเฟือยประวัติตัวละคร (แบบที่คาร์เวอร์ไม่เคยเขียนมาก่อน) เช่น Boxes หรือ Whoever was using this bed ลูกเล่นแบบโพสโมเดิร์นกับโครงสร้างบทสนทนาใน Intimacy (ซึ่งย้อนให้เราระลึกไปถึง Fat งานชิ้นเอกชิ้นแรกๆ )

แต่แปลกที่เรื่องที่เราชอบที่สุดในเล่ม กลับไม่ใช่เรื่องในสไตล์คาร์เวอร์เลย Blackbird Pie อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดติดอันดับเลยก็ได้ พูดถึงสามี ผู้เป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ พยายามปฏิเสธตัวเอง ว่าลายมือในจดหมายภรรยาที่เขียนมาสารภาพว่าทนต่อไปไม่ไหว้แล้ว และกำลังจะเก็บข้าวเก็บของหนีออกจากบ้านนั้น ไม่ใช่ลายมือที่แท้จริงของภรรยา การพูดถึงประวัติศาสตร์ เป็นแนวทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คาร์เวอร์เขียนมาตลอดชีวิต รวมไปถึงตอนจบแบบหวานเศร้า (ตรงข้ามกับตอนจบแห้งๆ แฝงความเจ็บปวด) แต่ทั้งหมดนี้ คาร์เวอร์ก็เขียนมันออกมาได้อย่างงดงาม