รู้ทันสันดาน Tense (เฑียร ธรรมดา)


มาแล้วๆ หนังสือสุดโปรดเล่มแรกของปี 2553 ไม่ใช่วรรณกรรม ข้อเขียน สารคดี หรือบทความสิ่งแวดล้อมอะไรทั้งสิ้น หากเป็นหนังสือคู่มือภาษาอังกฤษสอนเรื่องการใช้คำกิริยา หรือ รู้ทันสันดาน Tense โดยคุณเฑียร ธรรมดา เท่าที่อ่านในประวัติ นอกจากผู้เขียนจะรู้สี่ห้าภาษาแล้ว ยังเคยท่องยุโรปและทำงานเป็นไกด์มาสิบกว่าปี ความสุดยอดของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เฉพาะคำอธิบายเป็นตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังมีรูปการ์ตูนน่ารักๆ ฝีมือคุณภัทริดา ประสานทองมาประกอบแทบจะทุกหน้าตั้งแต่ปกแรกยันปกหลัง (ต้องขอติตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าคุณภัทริดาทำงานหนักมากๆ น่าจะขึ้นเครดิตบนปกทั้งคุณเฑียรและคุณภัทริดาเลย)

เรื่อง Tense นั้นยากจริงๆ ไม่กลิ้งกลอก ขนาดอยู่เมืองนอกมาสิบกว่าปีอย่างเรา ปัจจุบันก็ยังเทนซ์ (ตึงเครียด) ทุกครั้งที่ต้องใช้ Tense ความยากอย่างหนึ่งก็มาจากการศึกษาไทยที่เน้นการตอบคำถามแบบตัวเลือก ซึ่งจะมีตัวเลือกที่ถูกต้องตัวใดตัวหนึ่งเสมอ และตัวเลือกอื่นๆ ต้องผิดหมด เราก็เลยเน้นการหา Keyword หรือคำบอกใบ้ในประโยค ที่ถ้าปรากฎขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าประโยคนั้นต้องใช้กริยารูปไหน แต่ปัญหาก็คือในชีวิตจริง ประโยคฝรั่งมีคำบอกใบ้ทุกประโยคเสียที่ไหน สุดท้ายก็ต้องอ่านเอาเองจากบริบท บางประโยคก็สามารถใช้รูปกริยามากกว่าหนึ่งตัว จุดที่เราคิดว่าดีมากๆ ในหนังสือของคุณเฑียรและคุณภัทริดาก็คือการสอนให้เลือกรูปกริยาด้วยความเข้าใจและรู้ความหมาย มากกว่าการมองหาคำบอกใบ้

ถ้าจะมีข้อติหลักๆ ก็คือ คุณเฑียรน่าจะให้ความสำคัญกับความหมายของคำกริยามากกว่านี้ เช่นกริยาบางคำไม่สามารถใช้กับ Tense บางตัวได้ ซึ่งก็มีพูดถึงนิดหน่อยอย่าง Jackie Chan’s kicking Bruce Lee. ถ้าใช้แบบนี้ก็แปลว่าไม่ได้เตะทีเดียวแต่เตะซ้ำๆ ๆ ๆ ถึงใช้รูป Continuous Tense ได้ เรารู้สึกว่ามีตัวอย่างแบบนี้อีกเยอะ และน่าสนใจ อย่างสองประโยคที่ยกมาตอนท้าย I forgot my buffalo. และ I have forgotten my buffalo. นั้นความหมายค่อนข้างต่างกันทีเดียว (อันแรกเป็นความจริงเฉยๆ ว่า “ผมลืมควาย (ไว้ที่สนามหลวง)” แต่อีกอันหนึ่งคือ “ต่ายห่! กูเพิ่งนึกออกว่ากูลืมควาย”) แล้วก็อีกนิดคือ Shall กับ Will นั้น ความหมายคนละความหมายกันเลย แม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยมีใครใช้ Shall แล้วก็ตาม

ถึงอย่างไรก็อยากยืนยันว่า รู้ทันสันดาน Tense เป็นหนังสือที่น่ารักมากๆ ถ้าอยากเข้าใจภาษาอังกฤษต้องหามาอ่าน ถ้าเข้าใจดีอยู่แล้ว ไม่เสียหายเลยที่จะมีหนังสือแบบนี้เอาไว้ประดับบ้าน เพื่อทบทวนวิชา

ว้าว! คุณเฑียรเขียนคู่มือภาษาเยอรมันไว้ด้วยสิ ต้องไปหามาอ่านแล้ว

T. Mann's "Royal Highness"


เคยเขียนถึงโธมัส มานน์ว่า การอ่านนิยายของเขาก็เหมือนเดินชมสวนบนพื้นหินที่ปูไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง นิยายของมานน์ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ในส่วนของเนื้อเรื่องก็มักไม่ค่อยมีข้อขัดแย้ง หรือถึงมีก็โผล่มาแบบแวบๆ ในตอนท้าย แล้วก็สะสางหรือไม่ก็ปิดจ๊อบ จบชีวิตตัวเอกไปพร้อมกับนิยาย ถ้าจะอ่านเอาเนื้อเรื่อง มันจะเป็นหนังสือที่น่าเบื่อมากๆ ความสนุกจึงมักจะอยู่ตรงวาทกรรม ข้อถกเถียงระหว่างตัวละคร หรือภูมิปัญญาที่แทรกแซมเข้ามา อย่างเป็นสัญญะบ้าง หรือโต้งๆ ตรงๆ เลย

Royal Highness คือตัวอย่างอันดีของคุณสมบัติที่เรายกมา โดยผิวเผินแล้วมันเป็นนิยายสุดแสนจะน่าเบื่อ พระเอกเป็นเจ้าชาย ส่วนนางเอกเป็นลูกสาวอภิมหาเศรษฐี ทั้งคู่จีบกันโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ไม่มีคู่แข่งความรัก ไม่มีความเป็นศัตรูระหว่างสองตระกูล นอกจากความพิการที่แขนซ้าย องค์ชายคลาวส์ ไฮนริชไม่มีข้อเสียอะไรชัดเจน เขาเป็นผู้มากลากดี นิสัยพอใช้ แถมประชาชนก็รักใคร่ทั้งพระเอกและนางเอก มิหนำซ้ำ มานน์ยังเพิ่มโมทีฟแบบเทพนิยายลงไปด้วยการปูเรื่องให้มีคำทำนายของหญิงชาวยิบซี และความเชื่อเรื่องพุ่มกุหลาบในสวนกลางปราสาท

แต่อาจจะเพราะท้องเรื่องที่น้ำเน่าขนาดนี้ก็ได้ เลยทำให้องค์ประกอบซึ่งขัดแย้งกับความเป็นเทพนิยายโดดเด่นขึ้นมา จากมุมมองของคนสมัยใหม่ Royal Highness เป็นนิยายที่พิสดารทีเดียว ความขัดแย้งหลักถูกสะสางได้ด้วยการที่คลาวส์ ไฮนริชตระหนักว่าชีวิตสมรสของเขาจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเศรษฐกิจของชาติ พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า Royal Highness เป็นนิยายโรแมนติกเล่มเดียวที่ส่งเสริมให้คนเราแต่งงานกันเพื่อเหตุผลด้านเงินๆ ทองๆ

มานน์ตีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่นเรื่องของประสบการณ์ พระเอก นางเอกต่างเป็นเด็กใสซื่อที่แทบไม่รู้จักความยากลำบากใดๆ ทั้งสองจึงถูกดึงดูด และยกย่องผู้คนที่ผ่านมรสุมชีวิต แต่ขณะเดียวกัน มานน์ก็ตั้งคำถามว่าประสบการณ์เป็นสิ่งจำเป็นแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นมาร์ตินี กวีที่พูดถึงความสวยงามของชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการใช้ชีวิตไปด้วย หรือจุดจบของตัวละครอูแบร์ไบน์ราวกับจะตอกย้ำว่าคนที่ผ่านความเจ็บปวด อย่างมากก็แค่กลายเป็นคนอมทุกข์ ไม่จำเป็นว่าจะต้องฉลาดรู้เท่าทันโลก

มานน์เขียน Royal Highness ในปี 1909 สมัยที่เยอรมันยังปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ นักวิจารณ์หลายคนมองว่า คลาวส์ ไฮนริชคือตัวอย่างกษัตริย์ในอุดมคติตามแบบของมานน์ ตอบยากเหมือนกันว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างไปแล้ว มานน์จะรู้สึกอย่างไร Royal Highness เหมือนจะเป็นนิยายที่วิจารณ์ระบอบกษัตริย์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีน้ำเสียงแบบโหยหาอดีตอันเรียบง่ายที่ไพร่และเจ้าต่างรู้หน้าที่และขีดจำกัดของตัวเอง

เราถือว่าตัวเองค่อนข้างเพลิดเพลินกับนิยายน่าเบื่อเล่มนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่ผลงานที่มีใครเอามาพูดถึงบ่อยๆ แต่ก็แสดงให้เราเห็นตัวตนบางแง่มุมของคนเขียนได้เป็นอย่างดี

รู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ย้อนหลัง


ระยะนี้ข่าวลือเรื่องรัฐประหารหนาหูดีเหลือเกิน วันก่อนไปทำธุระที่อยุธยามา ระหว่างทางเห็นรถถังออกมาขับซ้อม ยังคุยเล่นกับคุณอาที่ไปด้วยกันเลยว่าดีถนนเส้นนี้เป็นขาออกเมือง เกิดเป็นขาเข้า คงได้เฮกันยกใหญ่

มาคุยอะไรเบาๆ แก้เครียดเกี่ยวกับรัฐประหารกันดีกว่า มีคนใกล้ตัวเรา อย่างน้อยสามคนแล้ว ที่ภายหลังรัฐประหารปี 49 ออกมาพูดทำนองว่า "รู้ก่อนล่วงหน้า" โดยคนเหล่านี้มักเกี่ยวข้อง หรือมีญาติพี่น้องอยู่ในแวดวงทหาร เพื่อนเราคนหนึ่งถึงกับพูดเลยว่า "ญาติของเขา" ทำงานอยู่ในค่ายฝึกกองร้อยที่ส่งรถถังมาตะลอนๆ ทั่วกรุงเทพ และญาติผู้นี้บอกว่าก่อนเกิดรัฐประหาร สังเกตว่ามีการขยับเขยื้อน ฝึกซ้อมรถถังอย่างผิดสังเกต

ก็เลยสงสัยใจขึ้นมาว่า ขนาดคนเดินถนนอย่างเรายัง "มีศักยภาพ" ที่จะรู้ก่อนล่วงหน้าเลย แล้วทำไมรัฐบาลคุณทักษิณในตอนนั้นไม่รู้ หรือรู้แล้วทำหอกหักอะไรไม่ได้เลยหรือ

ชะรอย "สัญญาณของรัฐประหาร" ก็คงคล้ายๆ กับคำทำนายของนอสตราดามุสคือ ก่อนเกิดเหตุไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นอะไร แต่พอหลังเกิดเหตุเท่านั้น เอาหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สาม สี่ ห้า หก ได้ทันที เอาเข้าจริงๆ ย้อนกลับไปปลายปี 49 ช่วงที่เกิดรัฐประหารใหม่ๆ ก็ไม่เห็นมีใครออกมาอวดอ้างสรรพคุณสักคนว่า "รู้อยู่แล้ว" เห็นแปลกใจกันถ้วนหน้าทุกนามา ไอ้ที่ "รู้ล่วงหน้า" น่ะ เพิ่งมารู้ล่วงหน้าในปี 50 ต่างหาก (คือรู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วปีหนึ่ง)

ดังนั้นถ้าถามเราว่า ณ บัดนาวที่ใครๆ จดๆ จ้องๆ ว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า เราจะทำนายว่า "คงไม่มั้ง" รัฐประหารน่าจะเป็นบางอย่างที่คนเดาไม่ออก มานิ่งๆ เหนือๆ แบบผีพุ่งใต้ อีกประการหนึ่งก็คือ โดยเงื่อนไขในปัจจุบันยังมีผู้ได้ผลประโยชน์น้อยเกินไป เสื้อแดงไม่ต้องพูดถึง ส่วนประชาธิปัตย์ที่กว่าจะได้อำนาจมาก็แสนยากเข็ญ คงเซ็งจริตอยู่ไม่น้อยที่โดนพวกเดียวกันมาหักหลังกันเองแบบนี้ เรื่องของเรื่องจะกลายเป็นว่ามีแต่ทหารและคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะได้ผลประโยชน์

เอาล่ะ รักชวนหัวจะหน้าแตกหรือเปล่า ลองมานับวันกันดู!

บทเรียนจากคนเหล็ก


หากจะมีสักวันที่เรายอมรับว่า การเมืองเหลืองแดงเป็นปรากฏการณ์ถาวรในบ้านเรา เราควรปรับตัวเช่นไรให้ทั้งสองสีกลายเป็นกลุ่มการเมืองเพื่อสาธารณะประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ถึงจะมีไฟจราจรเหลืองแดง แต่ก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะต้องติดแหง๊กไปไหนไม่ได้ ยกตัวอย่างอเมริกา อเมริกาจริงๆ แล้วก็มีสองสีเหมือนกันคือแดง (รีพับลิกัน) และน้ำเงิน (เดโมแครต) แต่ละรัฐก็มีสีประจำของตัวเอง เช่น รัฐชายฝั่งมักเป็นรัฐสีน้ำเงิน เลือกตั้งกี่ทีๆ ตัวแทนจากเดโมแครตก็คว้าพุงปลาไปกินหมด ส่วนรัฐภายในประเทศเป็นรัฐสีแดง

แคลิฟอร์เนียนั้นถือเป็นรัฐสีน้ำเงิน แต่ความพิเศษของแคลิฟอร์เนียคือแปดปีที่ผ่านมา ผู้ว่าการรัฐคือนายคนเหล็ก อาโนลด์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากรีพับลิกัน (คล้ายๆ กับที่บิล คลินตันเป็นผู้ว่ารัฐอาคันซอร์ ทั้งที่รัฐนั้นเป็นรัฐสีแดง) สาเหตุก็เพราะชาวบ้านชาวช่องเขารู้กันว่าอาโนลด์เป็นรีพับลิกันก็แค่ในนามเท่านั้น นโยบายสำคัญๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมหรือพลังงานของคนเหล็กใกล้เคียงกับเดโมแครตมากกว่า

กลุ่มสีของอเมริกานั้นไม่ได้เป็นปึกแผ่นชัดแจ้งเหมือนกับของคนไทย ชนิดที่ว่า หยิบคนใส่เสื้อแดงมาคนหนึ่งก็เดาได้เลยว่าหมอนี่อ่านประชาไท เชียร์ทักษิณ เกลียดอภิสิทธิ์ ต่อต้านอำมาตย์ ไม่นิยมเจ้า และอะไรอีกก็ว่ากันไป ซึ่งเอาจริง มนุษย์เรามันซับซ้อนกว่านั้นมาก กว่าเราจะตัดสินใจหยิบเสื้อสีไหนมาใส่ ก็ต้องต่อสู้กับความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในตัวเองเสียมากมาย ในอนาคต เราจึงอยากเสนอให้มีกลุ่มสีอื่นๆ ที่กระจัดกระจายออกไปจากกลุ่มสีหลัก เช่น “เสื้อเหลืองรักทักษิณ” “เสื้อแดงเชียร์ป๋าเปรม” “เสื้อเหลืองอยากคืนสันติภาพสู่เขาพระวิหาร” หรือ “เสื้อแดงปล่อยให้เขายึดทรัพย์มันไปเถอะ” (ฟังดูคล้ายๆ “Jew for Jesus” ไหม)

ที่ผ่านมาต้องชื่นชมกลุ่มเสื้อเหลืองกับบทบาทกรณีต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าโดยรายละเอียดขององค์กรแล้ว ที่พันธมิตรฯ ภาคตะวันออกลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้จนสำเร็จได้นี่รับแรงสนับสนุนมาจากส่วนกลางสักแค่ไหน (เพราะไม่ค่อยเห็นตัวเป้งๆ ในผู้จัดการออกมาอวดอ้างผลงานนี้เท่าไหร่ กลับเป็นประชาไทเสียอีกที่รับลูก เล่นข่าวมาบตาพุดอยู่เนืองๆ ) กรณีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างว่า ไม่จำเป็นที่คนเสื้อเหลืองทุกคนต้องหมกมุ่นอยู่กับการเอาคุณทักษิณกลับมาติดคุก หรือปกป้องพระเจ้าอยู่หัว อาจจะมีคนเสื้อเหลืองบางกลุ่มที่รู้สึกว่าโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งปล่อยมลพิษทำลายสภาวะแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากกว่า พวกเขาจึงอาศัยเส้นสายในกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น

เราจะได้ยินคำพูดทำนองนี้บ่อยๆ ว่า จะตัดสินกลุ่มการเมืองภาคประชาชนต้องไม่ดูที่ตัวผู้นำ แต่ต้องดูว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมมาด้วยเจตนาเช่นไร มันอาจจะจริงในต่างประเทศหรือในภาคทฤษฎี แต่ที่ผ่านมาในเมืองไทย การเข้าร่วมกับสีใดสีหนึ่ง ก็คือการปิดตาข้างเดียวมองข้ามข้อเสียของผู้นำ พลังมวลชนของเราจึงถูกผลักดันไปใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ เช่น ไม่ว่าคุณจะเข้าร่วมกับสีแดงด้วยความคิดเช่นไร คุณคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชื่อและตัวตนของคุณมีส่วนช่วยให้คุณทักษิณล้างบาปในคดียึดทรัพย์ มิหนำซ้ำการเข้าร่วมกลุ่มก็คือการเสพสื่อ เสพไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจากไม่ค่อยเห็นด้วยกับบางนโยบายของผู้นำ ก็เปลี่ยนมาเห็นดีเห็นงาม เหมือนกับชนชั้นกลางมีการศึกษาในกรุงเทพแต่พอใส่เสื้อเหลืองก็มองเห็นประวัติศาสตร์เขาพระวิหารที่บิดเบือนกันหมด

ขณะนี้เรามีคำพูดยอดฮิตว่า “ไม่เล่นกีฬาสี” หมายถึงไม่ฝักใฝ่สีใดสีหนึ่ง และถึงแม้ว่าจากโพลตรวจสอบ คนไทยมีแค่สิบเปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้นที่ยอมรับว่าตัวเองมีสี ในอนาคตข้างหน้าการเมืองเหลืองแดงอาจจะยิ่งปฏิเสธได้ยากในสังคม (ผมไม่เชื่อว่าอีกเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าไม่เล่นกีฬาสีจะไม่แอบเชียร์สีไหนเลย) แม้แต่การเมืองสายหลักก็คงวนเวียนอยู่กับการเมืองภาคประชาชนด้วย นี่ไม่ใช่ความเป็นจริงที่น่ากลัวหรือน่ารังเกียจเสมอไป และการแยกย่อยสีหลักไม่ใช่การทำให้แต่ละสีนั้นอ่อนแรงลง แต่เป็นการใช้ความหลากหลายเพื่อความเข้มแข็งของทั้งกลุ่มการเมืองเองและประเทศชาติต่างหาก

A. Moravia's "The Conformist"


ผิดหวังจังเลยกับ The Conformist คงเพราะเราชอบรวมเรื่องสั้นอีโรติกของโมราเวียมากๆ แถมหัวข้อนิยายเรื่องนี้ก็ดูน่าสนใจใช่เล่น ตัวเอกเป็นชาวอิตาลียุคมุโสลินี เพราะเหตุการณ์เลวร้ายสมัยเด็กๆ ทำให้ความปรารถนาสูงสุดของมาเซลโลคือความเป็นปกติธรรมดา โมราเวียพยายามตีแผ่โฉมหน้าอันแท้จริงของขบวนการฟาสซิสต์ ว่ามาจากความปรารถนาที่จะผนวกตัวเองเข้าไปอยู่ในฝูงชน และใช้ข้ออ้างนั้นในการทำร้ายคนอื่น มีการแทรกประเด็นเรื่องเพศเข้ามาเป็นระยะ มาเซลโลมีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ชัดเจน ถึงเจ้าตัวจะยืนยันว่าเขาชอบผู้หญิง และไม่ได้เป็นเกย์ แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย เช่น ลักษณะภายนอกที่ทำให้ใครๆ เข้าใจผิด ตั้งแต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยเด็กๆ จนถึงผู้เฒ่าที่พยายามซื้อหาบริการทางเพศจากมาเซลโล

จริงๆ การโยงฟาสซิสต์เข้าหาประเด็นเรื่องเพศเป็นกลวิธีวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาก ชาวอิตาลีขึ้นชื่อว่าแมนที่สุดแล้วในหมู่ชาวยุโรปทั้งหลาย แมนจนถึงขั้นน่าขบขันเลยในบางที และการที่ฟาสซิสต์มันเริ่มต้นมาจากอิตาลี ส่วนหนึ่งก็เพราะความแมนตรงนี้ อาจอธิบายได้ว่า ความเป็นชายแท้จริงก็คือความปรารถนาการยอมรับจากเพื่อนฝูง หรือเป็นเช่นผู้ชายธรรมดาคนอื่นนั่นเอง (การพยายามหนีจากความผิดปกติของมาเซลโล จึงตีความได้ว่าเป็นทั้งการหนีจากบาปในอดีตและเพศที่สามของตัวเอง)

แต่ไม่รู้ทำไม ไอ้หัวข้อน่าสนใจๆ เหล่านี้พอมาอยู่รวมกันในนิยายเล่มเดียวกลับกระจัดกระจายไม่เป็นสาระบบ การวิเคราะห์ฟาสซิสต์ของโมราเวียดูขาดความลึกซึ้งยังไงชอบกล สรุปคือฟาสซิสต์เป็นแค่ปรากฏการณ์พวกมากลากไปเท่านั้นเนี่ยนะ ดูตื้นๆ ขัดเขิน เนื่องจากโมราเวียมุ่งประเด็นไปที่มาเซลโลคนเดียว และไอ้หมอนี่มันเหมือนคนปกติเสียที่ไหน นิยายเรื่องนี้จึงล้มเหลวในการสร้างข้อสรุปทางสังคม

แถมประเด็นเรื่องเพศก็ออกมาก้ำๆ กึ่งๆ สไตล์การเขียนของโมราเวียคือใช้เหตุการณ์ปกติธรรมดา แต่ผู้เขียนเจาะลึกเข้าไปในจิตวิทยาของตัวละคร ทำให้คนอ่านได้เห็นแง่มุมอันลึกซึ้ง อารมณ์ความรู้สึกของคนเรามักจะออกมาเป็นเหรียญ คือพร้อมกันสองด้าน ไม่ดีใจหรือเสียใจอย่างสุดโต่ง แต่เพราะเหตุการณ์มันธรรมดาไปหรืออย่างไร นิยายที่อุตส่าห์อ่านมาตั้งนานก็เลยจบลงอย่างไม่มีไคลแมกซ์ จบลงอย่างงงๆ ว่าสุดท้ายอะไรที่ต้องเกิดมันก็เกิดง่ายๆ อย่างนี้เองน่ะเหรอ (กลวิธีแบบนี้อาจจะเหมาะกับเรื่องสั้นมากกว่า)

เรื่องของเรื่องคือมาเซลโลเป็นตัวเอกที่พิสดารเกินไป คนส่วนใหญ่เขาไขว่คว้าหาความแตกต่าง แต่ไอ้หมอนี่อยากเหมือนมนุษย์คนอื่น (นี่เป็นการกลับวาทกรรมของท่านกฤษณามูรติที่ว่า "มนุษย์คนทุกคิดว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เราจึงเหมือนกันหมด") ไอ้คนประเภทนี้มันมีอยู่มากมายในโลกขนาดพอจะรวมตัวกันเป็นขบวนการฟาสซิสต์ที่เขย่าศตวรรษที่ 20 เลยหรือเปล่า

ไม่รู้ ไม่ชอบ ขี้เกียจคิด เอาเป็นว่านี่คือสุดยอดนิยายแห่งความผิดหวังก็แล้วกัน

ให้กำลังใจท่านนายกอภิสิทธิ์


เนื่องในโอกาสวันเด็ก (ไม่เกี่ยว) เลยอยากให้กำลังใจท่านนายกเสียหน่อย คุณอภิสิทธิ์ดูจะได้รับแรงกดดันทีเดียว กรณีลอตเตอรีและหวยออนไลน์ เท่าที่อ่านๆ และติดตามกระแส ยังไม่ค่อยเห็นใครออกมาสนับสนุนเลย แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรก็ตาม เราคนหนึ่งละที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับคุณอภิสิทธิ์ในเรื่องนี้

ต้องบอกก่อนว่าสักอาทิตย์ที่แล้ว ช่วงที่ประเด็นนี้ยังเป็นแค่ หวยออนไลน์ vs. หวยใต้ดิน เรายังไม่เห็นด้วยกับท่านนายกเท่าไหร่ จนมาวันสองวันก่อน เมื่อนายกอภิสิทธิ์ประกาศกร้าวว่า ที่ตั้งใจจะเลิกไม่ใช่แค่หวยออนไลน์เท่านั้น แต่รวมไปถึงหวยใต้ดิน และเผลอๆ ยาวต่อไปถึงลอตเตอรีด้วย ก็ไม่รู้ว่าเป็นแค่การคุยโวเรียกคะแนนการเมืองหรือไม่ แต่ถ้าคุณอภิสิทธิ์ตั้งใจเช่นนั้นจริงๆ เราขอปรบมือชื่นชม

สังคมไทยนั้นแปลก (หรือไม่ก็เป็นเราเองที่ประหลาด) เรื่องอะไรที่มันสีเทาๆ เช่นปราสาทเขาวิหาร ทุนนิยม เราก็มักจะเอาสีดำไปป้าย ทำให้มันเป็นผิด เป็นถูกขึ้นมา แต่ทีเรื่องที่เป็นสีดำ ตั้งแต่ดำคล้ำไปจนถึงดำสนิท เรากลับพยายามบอกว่ามันเป็นสีเทา ที่ดำสนิทอย่างรัฐประหาร หรือบุหรี่ (เคยเขียนถึงนิยายน่าเศร้าที่สนับสนุนให้คนสูบบุหรี่แต่ต่อต้านทุนนิยมไปแล้ว) จนถึงดำคล้ำหน่อย พวกสุรายาเมา และตั้งแต่ขึ้นปี 2553 มานี้ประเด็นสีดำคล้ำอย่างลอตเตอรีก็ดูเหมือนจะถูกทาให้เป็นสีเทาไปด้วย

เรายังไม่เคยอ่านเหตุผล หรือคำแก้ตัวเข้าท่าๆ เลยว่า นอกจากผลประโยชน์ด้านเงินคงคลัง ลอตเตอรีมันมีผลดีอย่างไรกับประชาชน อย่างมากก็พูดกันแค่ว่าลอตเตอรีคือความหวังของคนจนๆ ที่จะยกระดับฐานะตัวเองขึ้นมา แต่ก็ชัดเจนอีกเช่นกันว่านั่นคือความหวังลมๆ แล้งๆ สักหยิบมือที่ร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยลอตเตอรี แต่สักกี่หมื่นพันที่สิ้นเนื้อประดาตัว ยังไม่นับอีกว่า การพนันขันต่อคือที่มาของความเชื่อไสยศาสตร์งมงาย และเป็นการบิดเบือนบทบาทหน้าที่ของภิกษุสงฆ์ (จากที่ควรประกอบธรรมกิจ หรือพัฒนาชุมชน ก็กลายเป็นว่าพระอาจารย์ที่ดีต้องใบ้หวยแม่นด้วย) ฉะนั้น ต่อให้เป็นการทำลายความหวัง (ลมๆ แล้งๆ ) ต่อให้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายอื่นใดมาช่วยยกระดับฐานะ หวยทั้งบนดินและใต้ดินก็คือสิ่งผิด สิ่งที่สมควรจะถูกยกเลิกอยู่นั่นเอง

เราเป็นคนชอบมองอะไรเป็นสีเทาก็จริง แต่นานๆ ที (ขอย้ำว่านานๆ ที) โลกเราก็มีอะไรสีขาว สีดำอยู่เหมือนกัน เช่นนี้แล้ว เราจะเมินเฉยมันไปก็คงน่าเสียดาย ของสีขาว (เช่นหนังสือ) ก็ควรสนับสนุนอย่างเต็มที่ ของสีดำ (เช่นลอตเตอรี) ก็สมควรยกเลิกหรือควบคุมเสีย ส่วนไอ้ที่มันสีเทาของมันอยู่ดีๆ ไม่ต้องไปพยายามทาดำทาขาวมันก็ได้นะ จริงไหม

E. Hemingway's "The Sun also Rises"


ผิวเผินแล้วใน The Sun also Rises แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากชาวอเมริกันสี่ห้าคนที่อาศัยอยู่ในปารีส ไปพักผ่อนตากอากาศในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศสเปน และเข้าร่วมมหกรรมสู้วัวท้องถิ่น ทั้งห้าคนได้แก่เบรตต์ แอชลี ไมค์ คู่หมั้นของหญิงสาว เจค ผู้เล่าเรื่อง โคห์น หนุ่มชาวยิว อดีตนักมวยผู้หลงรักเบรตต์ และบิล พวกเขาดื่มกิน ตกปลา ระหว่างตกปลา ก็ดื่มกินไปด้วย เข้าชมพิธีสู้วัว เสร็จแล้วก็ดื่มกินกันอีกรอบก่อนนอน และเมื่อตื่นขึ้นมา ก็รับประทานอาหารเช้าไป ดื่มอะไรไปพลาง

ก็ไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ สงสัยด้วยว่าเรารู้จักและเคยใกล้ชิดผู้หญิงอย่างเบรตต์ แอชลีกระมัง ถึงได้อินนักกับ The Sun also Rises เบรตต์เป็นผู้หญิงที่เกลียดไม่ได้แต่ก็รักไม่ลง ขนาดอายุ 34 แล้ว ยังดึดดูดชายหนุ่มให้มารักเธอได้ถึงสี่คน นอกจากโคห์น และไมค์ ก็ยังมีเจค และโรเมโร หนุ่มสู้วัวดาวรุ่ง เฮมมิงเวย์ไม่ต้องเสียเวลาบรรยายเลยว่า เบรตต์เป็นผู้หญิงที่สวยสักแค่ไหน เรานึกภาพออกทันที เจ้าชู้ก็แสนเจ้าชู้ แต่ก็โรแมนติก สามารถทำให้ผู้ชายหลงใหล คิดว่าตัวเองเป็นทั้งหมดทั้งปวงในโลกของเธอ ไม่ชอบอยู่คนเดียว บอกรักใครได้ง่ายๆ แต่บทจะทิ้งอีกฝ่ายขึ้นมา ก็ทำเหมือนเขาเป็นอากาศธาตุ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเจ็บปวดสักแค่ไหน ก็เกลียดเธอไม่ลง

แต่ที่เหมือนจริงยิ่งกว่าก็คือเหล่าหนุ่มๆ ที่รายล้อมเบรตต์ ไม่ว่าจะเป็นโคห์น ผู้หลงรักเธอจนบ้าคลั่ง ทำร้ายทั้งตัวเองและผู้คนรอบข้าง หรือไมค์ ที่ต้องคอยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับพฤติกรรมสำส่อนของคู่หมั้น ได้แต่เอาเหล้ากรอกปากตัวเองให้เมาไปวันๆ เพื่อหนีความจริง ส่วนเจค นอกจากจะเป็นผู้สังเกตการณ์แล้ว ยังเป็นเพื่อนสนิทที่เบรตต์พึ่งพิงได้ยามเธอไม่เหลือใคร แต่ก็เป็นคนแรกที่จะถูกหญิงสาวทอดทิ้งเช่นกัน

เจคเล่าว่า เขาเป็น “รักแท้” คนแรกและคนเดียวของเบรตต์ ด้วยอุบัติเหตุจากสงคราม เจคจึงกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพทางเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่หยุดลง แต่ถึงเจคและเบรตต์จะได้เป็นคนรักกันจริงๆ ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าผู้หญิงอย่างเบรตต์จะหยุดอยู่ที่เจคได้หรือเปล่า จุดเด่นของ The Sun also Rises คือวิธีการเล่าเรื่องแบบมุมมองกล้องถ่ายหนัง ซึ่งผู้เขียนพยายามตัดขาดตัวเองออกจากเหตุการณ์ในนิยายให้มากที่สุด ผู้อ่านจึงได้แต่รับรู้เหตุการณ์แห้งๆ ตรงหน้า โดยนานๆ ทีเฮมมิงเวย์ถึงจะปรากฎตัวมาอธิบายเบื้องลึกเบื้องหลัง แรงจูงใจของตัวละคร จึงเปิดโอกาสให้เราสงสัยว่า ที่เจคบอกตัวเองคือ “รักแท้” ของเบรตต์ เป็นคำปลอบใจจอมปลอมหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน มุมมองแห้งๆ แบบนี้ก็ช่วยให้ตอนจบและความสัมพันธ์ระหว่างเบรตต์และโรเมโรคลุมเครืออย่างน่าสนใจ ใครกันแน่เป็นฝ่ายทิ้งใคร ใครกันแน่ที่เสียน้ำตา เฮมมิงเวย์เล่าเรื่องราวความรักสลับกับมหกรรมการสู้วัว มีผู้บาดเจ็บและล้มตาย ทั้งที่เป็นวัว และที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะในเกมความรัก หรือในสนามรบ โลกนี้คงมีแต่ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่ยืดหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องหลั่งเลือดและน้ำตา

...เกลียดไม่ได้ แต่ก็รักไม่ลง...อ่านแล้ว มันก็เจ็บดีเนอะ...

ค่ามอเตอร์ไซด์


เมื่อเช้าเกิดเหตุการณ์ซึ่งกระทบจิตใจเราพอสมควร อยากเอามาเล่าให้ฟังเป็นอุธาหรณ์

เรานั่งมอเตอร์ไซค์จากหน้าปากซอยบ้านไปร้านกาแฟที่ทานเป็นประจำในราคา 20 บาท สองชั่วโมงผ่านไป ตอนจะกลับบ้านปรากฎว่าวินมอเตอร์ไซค์เล็กๆ ตรงร้านกาแฟว่างเปล่า ระหว่างที่กำลังงงๆ อยู่ว่าจะเอายังไงดี เหลือบไปเห็นพี่มอเตอร์ไซค์จอดส่งผู้โดยสาร ธรรมดาแล้วมอเตอร์ไซค์จะไม่ค่อยรับผู้โดยสารนอกวิน แต่ไม่มีทางเลือกอื่น เราก็เลยเสี่ยงโบกมือเรียกเขา ซึ่งเขาก็จอดรับแต่โดยดี พอขับมาถึงปากซอยบ้านเรา เราก็ยื่นเงินให้เขาไป 20 บาท แต่พี่มอเตอร์ไซค์บอกว่าค่าโดยสาร 30 บาทครับ

เป็นเรื่องแล้วไง ตอนนั้นในกระเป๋าเราไม่มีเศษเงินเหลือเลย เราบอกว่าธรรมดานั่งมาแค่ 20 บาทเอง เขาก็ยังยืนยันว่าค่าโดยสาร 30 บาท พอเราเปิดกระเป๋าให้เขาดูว่าเราไม่มีเงินแล้ว ซ้ำยังชี้ไปที่วินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย บอกว่าเมื่อเช้านั่งจากวินนี้ก็แค่ 20 บาทเอง เขาก็ยังยืนกรานว่ามันต้องราคา 30 บาท สุดท้ายเขาก็พูดทำนองว่า ทีหลังจำไว้แล้วกันว่าจากตรงนั้นมาตรงนี้ราคา 30 บาท

อารามเราได้ยินอย่างนั้นก็ของขึ้นได้เหมือนกัน ก็เรานั่งของเราทุกวันแค่ 20 บาทนี่หว่า เราก็เลยทำตาแข็งๆ ทำเสียงดุๆ แล้วบอกเขาไปว่า “มันราคา 20 บาทครับ” แล้วก็เดินออกมาด้วยความโมโห

เหตุการณ์จริงๆ จบแค่นั้น แต่พอผ่านไปไม่กี่วินาทีก็เริ่มสำนึกผิดได้ ถ้าจากมุมมองของเขาแล้ว มอเตอร์ไซค์ไม่เหมือนแท็กซี คือธรรมดาจะจอดรับผู้โดยสารนอกวินตามใจชอบไม่ได้ พอส่งใครเสร็จ ก็ต้องขับกลับไปที่วินของตัวเอง ท่าทางพี่มอเตอร์ไซค์คนนั้นจะขับมาจากสุดถนนอีกด้านหนึ่ง ถ้าจะให้ขับกลับไปโดยไม่ได้รับผู้โดยสารเลย ก็ถือว่าเปลืองน้ำมันกว่าปรกติ ดังนั้นก็พอเข้าใจได้เหมือนกันทำไมเขาถึงต้องเก็บแพงกว่ามอเตอร์ไซค์จากปากซอยบ้านเรา คิดอย่างนี้แล้วก็รู้สึกละอายที่ไปทำเสียงดุๆ ใส่เขา (ก็ยังดีที่อุตส่าห์ใส่คำว่า “ครับ” ลงไปด้วย)

แต่ถ้ามองในทางกลับกัน เราถามตัวเอง ชีวิตนี้เกิดมา มีเหตุการณ์ตั้งไม่รู้เท่าไหร่ที่เรารู้สึกว่าตัวเองโดนเอารัดเอาเปรียบ แล้วเราก็ปล่อยอีกฝ่ายให้ลอยนวลโดยไม่ทำอะไรเลย ถ้าเกิดเราขอโทษขอโพยเขา หรือว่าในกระเป๋ามีเศษ 10 บาทแล้วยื่นส่งให้เขาไปจริงๆ เราจะไม่มานึกเจ็บใจตัวเองภายหลังหรืออย่างไร (มิหนำซ้ำ เขาจะมารู้ราคาเส้นทางนี้ดีเท่าเราได้อย่างไร ในเมื่อเรานั่งของเราทุกวัน เราก็ย่อมมีสิทธิที่จะยืนยันราคาของเราเอง)

สรุปคือไม่ว่าเราจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เรื่องนี้ก็คงจบลงที่ความหงุดหงิดของทั้งสองฝ่าย ทันทีที่ความรู้สึก “โกรธ” มันผุดขึ้นมาในใจเราแล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็คงลงเอยที่ความหมองหม่นของใจเรานี่เอง พระท่านถึงได้สอนว่าคนเราต้องรักษาความบริสุทธิ์กันตั้งแต่มโนกรรม ไม่ใช่จะระวังแต่กายกรรมเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้อยากขอโทษพี่มอเตอร์ไซค์ ผมก็ยังคงยืนยันน่ะแหละว่าค่าโดยสารมันแค่ 20 บาทเท่านั้น แต่มันเป็นความโชคร้ายของผมและพี่เองที่ต้องมาติดในสถานการณ์ที่ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกเช่นนี้ พี่อุตส่าห์มีน้ำใจจอดรถรับผมนอกวิน ก็ขอบคุณครับ หวังว่าพี่คงไม่อารมณ์เสียจนพลั้งเผลอเกิดอุบัติเหตุขึ้นมานะ อย่างไรก็อโหสิให้ด้วยแล้วกัน

W. B. Booth's "The Rhetoric of Fiction"


ถ้าใครติดตามบทวิเคราะห์วรรณกรรม จะได้ยินประโยคทำนองนี้บ่อยมาก “XXXXX คือนักหลังสมัยใหม่คนแรกสุด” โดย XXXXX นี่ไม่ใช่เจม จอยซ์ เวอจิเนีย วูลฟ์ แซมมัวเอล แบคเคต หรือนักเขียนโด่งดังที่ไหน แต่มักจะเป็นนักเขียนจากศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน (ล่าสุดใน The New Yorker ฉบับสักเดือนพฤศจิกายนก็มีพูดว่า “มอนเตจคือนักหลังสมัยใหม่คนแรกสุด”) ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันมีสาเหตุอยู่ ซึ่งบูธวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดใน The Rhetoric of Fiction

ตั้งแต่ยุคฟลอเบิร์ด และเฮนรี เจมส์เป็นต้นมา เกิดกระแสใหม่ในแวดวงวรรณกรรม ที่มองวรรณกรรมว่าเป็นวัตถุในธรรมชาติชิ้นหนึ่ง เกิดขึ้นมาเองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เขียน ดังนั้นหน้าที่สำคัญสุดของผู้เขียนก็คือละลายตัวเองหายออกไปจากหน้ากระดาษ แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากวิชาวิทยาศาสตร์ที่พยายามศึกษาธรรมชาติโดยให้ผู้สังเกตแตะต้องสิ่งที่ถูกสังเกตน้อยที่สุด ธรรมชาตินิยมในวรรณกรรมเฟื้องฟูอย่างมากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นยุคที่ยุโรปเต็มไปด้วยสงครามและความยุ่งเหยิง มนุษย์คนหนึ่งไม่อาจรู้ดีรู้ชั่วได้อีกต่อไป หน้าที่ของนักเขียนจึงเหลือเพียงนำเสนอความจริงในธรรมชาติ โดยให้ผู้อ่านไปตัดสินถูกผิดกันเอาเอง (ลักษณะเช่นนี้จะตรงข้ามอย่างมากกับวรรณกรรมคลาสสิคยุคก่อนศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนของฮาร์ดดี ออสติน บรองเต หรือดิกเคน คนอ่านมักได้ยินเสียงผู้เขียนมาประณามหรือชื่นชมการกระทำของตัวละครอยู่เสมอ ถ้าย้อนกลับไปศตวรรษที่ 18 อาการปะปนตรงนี้จะยิ่งแล้วใหญ่ ถึงขนาดว่าบางทีแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ งานเขียนชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องแต่งหรือบทความแสดงทัศนคติ)

เป้าหมายหลักของ The Rhetoric of Fiction คือการตอบโต้คนอย่างซาร์ต หรือสาวกฟลอเบิร์ตและเจมส์ ที่ปฏิเสธการแสดงทัศนคติของผู้เขียน บูธเชื่อว่า แม้แต่ในนิยายของจอยซ์ ฟลอเบิร์ต คาฟคา หรือเจมส์เอง คนอ่านก็สามารถแตะต้องตัวตนผู้เขียนได้ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

The Rhetoric of Fiction ตีพิมพ์ช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งก่อนที่หลังสมัยใหม่จะเป็นที่แพร่หลาย ก็ต้องชื่นชมบูธว่าเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานแห่งยุคสมัย เพราะจุดเด่นหนึ่งของวรรณกรรมรุ่นนี้ก็คือผู้เขียนอย่างกุนเดระหรือรัชดีทลายกำแพงที่สี่ลง ผสานตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องแต่ง มีทั้งการวิเคราะห์ วิจักษ์ วิจารณ์ หรือกระทั่งพากษ์เสียงให้กับนิยายตัวเอง กระนั้นก็ตามบูธไม่ลืมเตือนว่าการทลายกำแพงที่สี่นั้นไม่ใช่ของง่าย กระทั่งในศตวรรษที่ 18 นิยายที่พยายามเลียนแบบ Tom Jones, Tristam Shandy หรือ Don Quixote แล้วออกมา “เสร่อเป็ด” ก็มีอยู่ไม่น้อย

ถ้าเสียงของผู้เขียนเป็นสิ่งที่ตัดไม่ขาดในนิยาย ก็หมายความว่านิยายทุกเรื่องสามารถอ่านเอาบทเรียนหรือข้อคิดได้ จากตรงนี้ เราจะเห็นความลักลั่นอันน่าใคร่ครวญในสังคมไทย เรามักคุ้นเคยกับผู้ใหญ่หัวอนุรักษนิยมที่ออกมาเซนเซอร์วรรณกรรม ภาพยนต์โทษฐานนำเสนอสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ส่วนใหญ่ ความไม่เหมาะสมตรงนั้นมาจากการที่ผู้โวยวาย “อ่านผิด” เองเสียมากกว่า (เช่น คนที่หาว่าเลิฟซีนระหว่างไอ้ฟักและสมทรงผิดศีลธรรม หรือการกระทำของตัวเอกเรื่อง ร่างพระร่วง ขัดต่อคำสอนของพุทธศาสนา ทั้งที่เป้าหมายของอาจารย์เทพสิริคือการนำเสนอการก้าวพ้นอคติของตัวเอก หรือที่เด็ดมากๆ คือคนที่ไม่ “เก็ต” การเอาสีดำขาวมาทาช้าง จระเข้ เพื่อล้อเลียนกระแสแพนด้าฟีเวอร์)

ล่าสุดได้อ่านกระทู้ มีคนออกมาตอบโต้กับคนที่ปฏิเสธนิยายของแดนอรัญ แสงทองโดยกล่าวหาว่าฝ่ายนั้น “กระแดะ รับไม่ได้กับสภาพความจริงในสังคม” ซึ่งเราว่าหลงทิศกันทั้งคู่แล้วละ เราเชื่อว่านิยายของแดนอรัญไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อโฆษณาหรือชักชวนผู้อ่านให้เลียนแบบตัวละคร ฝ่ายที่ปฏิเสธจึงอ่านผิดเพราะไม่เข้าใจความย้อนแย้งของสานส์ ส่วนฝ่ายที่ออกมาตอบโต้ก็อ่านผิดอีกเช่นกัน เพราะต่อให้สังคมมีพฤติกรรมดังกล่าว เป้าหมายของนิยาย (จากที่เราอ่านสัมภาษณ์ผู้เขียน) น่าจะเป็นการพยายามลดทอนความจริงตรงนั้นลงต่างหาก

เมื่อมีความรุนแรง (การเซนเซอร์) ก็ย่อมมีความรุนแรงจากศิลปินตอบโต้กลับมา ระยะหลังก็เลยมีผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ล่อเป้า” ผลงานเหล่านี้ไม่ได้นำเสนอสานส์ที่ผิลศีลธรรมด้วยความย้อนแย้ง แต่จงใจชื่นชมการกระทำดังกล่าว (หรืออย่างน้อยก็อ้างว่าทำไมจะนำเสนอไม่ได้ ในเมื่อมันคือความเป็นจริงในสังคม) ซึ่งก็เลยยิ่งเข้าทางฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าไปใหญ่ ณ วันนี้เรายังไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อให้เป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนกระทำผิดศีลธรรม ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นงานศิลปะอันด้อยคุณค่า เพียงแต่ความลักลั่นตรงนี้น่าใคร่ครวญสำหรับทั้งฝ่ายศิลปินและฝ่ายผู้มีอำนาจเอง

กรูกันออกมา (ปริทรรศ หุตางกูร)


ประเดิมศักราชใหม่ด้วยมหกรรมโพสโมเดิร์นไม่ลืมหูลืมตาของคุณปริทรรศ นิยายอย่าง กรูกันออกมา นี้โดยผิวเผินเหมือนจะเขียนง๊ายง่าย เพราะมันไม่มีจริตความขึงขังทางวรรณกรรม และในช่วงหนึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็หันมาเขียนแนวนี้กันตรึม แต่เอาเข้าจริงแล้วมันสลับซับซ้อนกว่าที่คิด และตราบจนปัจจุบัน ยังหาใครที่สร้างสมดุลระหว่างความเละเทะและความลงตัวอย่างคุณปริทรรศยากเต็มทน

ท่ามกลางความบ้าบอคอแตก จับแพะชนแกะแบบหลังสมัยใหม่ กรูกันออกมา เป็นนิยายที่มีโครงเรื่องแข็งเกร็ง ว่าด้วยการจัดประกวดของบริษัทภาพยนตร์แห่งหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญการถ่ายทำภาพยนตร์น้ำเน่าจักรๆ วงศ์ๆ “เดอะไพเรตอะวอร์ดส์” ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเฟ้นหาพลอตเรื่องแนวใหม่มาล้มล้างคำปรามาศของนักวิจารณ์ที่ว่าบริษัทนี้ดีแต่ทำอะไรซ้ำซากขายของเก่ากินแบบอนุรักษนิยม โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายห้าคน และตลอดนิยายทั้งเล่มคือการที่ทั้งห้าผลัดกันมาเล่าความคิดของตัวเองให้กรรมการสามคน (และผู้อ่าน) ฟัง

โครงเรื่องที่แข็งเกร็ง (จนอาจจะเรียกได้ว่าซ้ำซาก) เช่นนี้ ถ้าเป็นแนวอื่นอาจจะน่าเบื่อ แต่สำหรับนิยายโพสโมเดิร์นกลับกลายเป็นข้อดีไป เนื่องจากคนอ่านพอคาดเดาได้ว่าแต่ละบทจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง (เช่นตอนท้ายจะมีการลงคะแนนเสียงของกรรมการทั้งสาม และดอกเตอร์ยาพิษก็ต้องทะเลาะกับหม่อมแม่เพราะความเห็นไม่ลงรอยกัน) จึงเปิดโอกาสให้ผู้เขียนเพี้ยนสุดโต่ง โดยไม่ต้องกังวลว่าคนอ่านจะเริ่มเบื่อกับการคาดเดาเรื่องไม่ได้ เพราะในนิยายที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ แทนที่ยิ่งอ่านจะยิ่งสนุก กลับกลายเป็นว่าการคาดเดาไม่ได้ก็คือการเดาเรื่องได้อย่างหนึ่ง

แปลกที่เราชอบตัวละครหม่อมแม่ คงด้วยเห็นใจตัวละครประเภทนี้ เพราะมันช่างถูกจริตนักเขียนไทยให้หยิบจับมาเป็นผู้ร้ายอยู่ร่ำไป และที่สำคัญในจำนวนโปรเจคทั้งห้า เราถูกใจ ราชิกายอดรัก ที่สุด ด้วยโครงเรื่องที่เหมือนดาษดื่นแต่แฝงไว้ซึ่งความกล้าหาญทางศีลธรรม กลับเป็นดอกเตอร์ยาพิษผู้ต่อต้านโปรเจคนี้ และงานซ้ายอินโนเซนต์ตกขอบอย่าง ซือนามิมันนี่ ต่างหากที่น่ารำคาญในสายตาเรา

อ่านใจคุณปริทรรศไม่ออกจริงๆ ว่าแอบใส่เสียงตัวเองผ่านตัวละครตัวไหนบ้างหรือเปล่า โดยผิวเผิน ราชิกายอดรัก และฤกษ์เพชรเจ้าของผลงานก็ดูจะเข้าทาง เป็นมนุษย์หุ่นฟางให้ผู้เขียนหยิบยกมาตีตกเล่น แต่อีกทางหนึ่งคุณปริทรรศก็ให้จำนวนหน้ากระดาษกับ ราชิกายอดรัก มากมายเกินกว่าเรื่องอื่น เสียจนถ้าจะบอกว่านี่คือมนุษย์หุ่นฟางล้วนๆ ก็ยากจะเชื่ออยู่

แต่อย่างว่า นิยายที่คนอ่านคาดเดาเสียงของผู้แต่งไม่ได้นี่แหละที่เป็นโพสโมเดิร์นอย่างแท้จริง