G. Greene's "The Quiet American"


ประโยคหนึ่งที่เราชอบมากจาก The Quiet American คือ
Sooner or later...one has to take side. If one is to remain human.

ชวนให้นึกถึงอีกคำพูดคลาสสิก
If you don't stand for something, you'll fall for anything.

มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เลือกข้าง การตระหนักรู้ในทางเลือกของตน มีคุณค่ายิ่งกว่าการปฏิเสธที่จะไม่เลือกทางใดเลย

หยิบ The Quiet American ขึ้นมาอ่านแบบลังเลนิดหน่อย เราชอบหนังปี 2002 ของฟิลิป นอยซ์มาก กลัวว่าถ้าไม่ใช่หนังสือเทียบไม่ติด ก็จะดีเกินไปจนเราชอบหนังน้อยลง อ่านจบแล้วก็โล่งอก เพราะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าทั้งหนังและหนังสือดีกันคนละแบบ ต้องชื่นชมฟิลิป นอยซ์ที่เลือกเฉพาะบางแง่มุมของหนังสือมาตีความ (ชวนให้นึกถึง ไอ้ฟัก ที่ผู้กำกับเลือกนำเสนอเรื่องราวซึ่งคุ้นเคยกันดีออกมาในอีกรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน)

The Quiet American ฉบับภาพยนตร์โรแมนติกแบบเศร้าๆ ความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างฟาวเลอร์ ไพล์ (ชาวอเมริกันผู้เงียบขรึม) และฟุง (นวลอนงค์ในรูปถ่ายข้างบน) ถูกขับให้เด่นชัดกว่าในนิยาย ฟาวเลอร์ที่รับบทโดยไมเคิล เคนดูแก่ชรามากๆ จำไม่ได้แล้วว่าบทพูดนี้มีในหนังหรือเปล่า แต่ที่ประทับใจเราสุดๆ คือ ขณะที่ไพล์ตำหนิฟาวเลอร์ว่าต้องการเก็บฟุงเอาไว้ปรนเปรอความสุขส่วนตัว โดยไม่เคยคิดเชิดชู ตบแต่งหญิงสาวให้สมน้ำสมเนื้อ ฟาวเลอร์สวนกลับว่า รอให้ไพล์แก่ชราเท่าตัวเขาก่อน แล้วจะรู้ว่าความรักที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว เกิดจากความปรารถนาไม่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเดียวดายมันลึกล้ำสักเพียงใด

ฉบับหนังสือจะเน้นไปที่ประเด็นการเมืองมากกว่าในหนัง ฟาวเลอร์คือตัวแทนของสหราชอาณาจักร ไพล์คือตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายแรกแก่ชรา ผ่านบทเรียนชีวิตมามากมาย ถ้าเลือกได้ ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามใดๆ ส่วนฝ่ายหลังเป็นชาติเจ้าอาณานิคมน้องใหม่ เพิ่งประกาศความเป็นเจ้าโลกในสงครามโลกครั้งที่สอง และเชื่อว่าตัวเองจะไม่ทำความผิดแบบเดียวกับรุ่นพี่ คนอเมริกาปฏิบัติการล่าอาณานิคมภายใต้สโลแกนแผยแพร่ประชาธิปไตยไปยังประเทศโลกที่สาม เพราะหนังสือเน้นไปที่ฟาวเลอร์และไพล์ ฟุงเลยเหมือนเป็นแค่ตัวประกอบ ฟาวเลอร์ในหนังสือเองก็ดูไม่แก่ชราเท่าไมเคิล เคนด้วย เคนดูเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา แต่ฟาวเลอร์ในหนังสือช่างเจ๊าะแจ๊ะเจรจา

ที่สำคัญกรีนวาดภาพไพล์ออกมาเป็นตัวร้ายกว่าในหนัง (นอยซ์ฉลาดมากที่เลือกแบรนดอน เฟรเซอร์มารับบทไพล์ ช่วยให้ตัวละครตัวนี้มีเสน่ห์แปลกๆ และไม่ดูร้ายเกินไปนัก) ความร้ายกาจของไพล์เป็นความร้ายกาจอันเกิดจากความบริสุทธิ์ การที่เรามีความปรารถนาดี และไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายคนอื่น ไม่ใช่ข้อแก้ต่างให้กับการกระทำนั้น กรีนเหมือนจะ "ให้อภัย" กับการตัดสินใจของฟาวเลอร์มากกว่านอยซ์ ด้วยเหตุนี้เอง ขณะที่หนังสือจบแบบสุขสันต์ ภาพพี่สาวฟุงมองฟาวเลอร์เต้นรำอยู่กับน้องสาวอย่างคับแค้นในตอนจบของภาพยนตร์ดูแสนเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

G. Martinez's "The Oxford Murders"


ตั้งแต่อุมแบโต เอโคเขียน The Name of the Rose หนังสือเล่มนั้นก็กลายเป็นความใฝ่ฝันบางอย่างของนักเขียน เพราะมันเป็นนิยายที่ทั้งอ่านสนุกและชวนขบคิด ถ้าพูดให้เจาะจงลงไป นี่คือความใฝ่ฝันของนักเขียน "นิยายนักสืบ" หากจะกล่าวว่านิยายนักสืบทุกเล่มที่พยายามถีบตัวเองให้พ้นจากการอ่านเพื่อความบันเทิงล้วนๆ หนีไม่พ้นจะลอกโมเดลบางอย่างมาจาก The Name of the Rose คงไม่เกินความจริงนัก (และนี่คือสาเหตุที่ทำไมนิยายนักสืบย้อนยุคถึงเป็น genre ย่อยที่ฮิตมากๆ )

ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว และส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า The Critique of Criminal Reason เป็นนิยายนักสืบที่ให้เอมมานูเอล คานท์เป็นพระเอกและ "โคตรห่วย" ขณะที่ The Interpretation of Murder ที่มีฟรอยด์เป็นตัวเอก สนุกและเข้าท่ากว่าที่คิด

The Oxford Murders น่าจะเป็นความสำเร็จสูงสุดแล้วของนิยายที่พยายามมาทางนี้ ประการหนึ่งอาจเพราะมันไม่ได้พยายามลอกแบบ The Name of the Rose ชัดเจนเกินไปนัก เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในยุคปัจจุบัน ใช้นักคณิตศาสตร์แทนนักปรัชญา อันที่จริง The Oxford Murders ใกล้เคียงกับ Crime and Punishment มากกว่า ใช้แนวคิดเรื่องการฆาตกรรมเชิงนามธรรมเป็นจุดศูนย์กลางของนิยาย ถ้าใช้การตีความของเอโคว่านิยายนักสืบทุกเล่มคือนิยายสัญศาสตร์ สัญญะของฆาตกรรมในเรื่องนี้ก็คือความว่างเปล่าหรือศูนย์ ดังนั้นจึงเหมาะมากที่นักคณิตศาสตร์จะเป็นตัวเอก จุดเด่นสุดของ The Oxford Murders คือการที่องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างนำไปสู่ธีมหลัก และผนวกเป็นเนื้อเดียวได้อย่างงดงามและลงตัว

แต่ประเด็นที่เรายังถกเถียงกับตัวเองอยู่ว่าคือจุดเด่นหรือจุดด้อยของหนังสือกันแน่ คือมาติเนซ "อาจจะ" พยายามถีบตัวเองออกจากโมเดลนิยายนักสืบย้อนยุคมากเกินไป จนมันกลายเป็นนิยายที่ต่อต้านประวัติศาสตร์ พออ่านจบ เราลองเอารายละเอียดต่างๆ ในหนังสือมาถามครูเกิ้ลดู จึงพบว่ามาติเนซแม่งยกเมฆมาทั้งดุ้นเลยนี่หว่า! แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ข้อเสียทีเดียว และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของเรื่อง มาติเนซก็เก็บได้อย่างแม่นยำไม่มีตกหล่น แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่หรือเปล่าสาเหตุที่ทำไมหนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยดังเลย

ปล. อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยว แต่ครูเกิ้ลกระซิบบอกเรามาว่า หนังสือเล่่มนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังด้วยนะ อ้าว! ดาราดังระดับเอลิจา วูด และวิลเลียม เฮิร์ตเล่นด้วยนะ อ้าว! แล้วทำไมเราไม่รู้จักเลย ลองไปเช็คที่เวปมะเขือเน่าปรากฏว่าถูกนักวิจารณ์ด่าฉิบหาย ก็แปลกดี แต่จะว่าไปหนังสือแบบนี้ถ้าไม่ใช่ผู้กำกับเก่งจริงๆ ไม่น่าจะขับจุดเด่นออกมาให้เห็นได้ (ภาพยนตร์ The Name of the Rose ที่ณอน คอนเนอรีเล่น ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเหมือนกัน)

F. Jameson's "The Political Unconscious"


เจมสันแบ่งประเภทการศึกษา genre วรรณกรรมออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือการวิเคราะห์ผลงานใน genre นั้นๆ เพื่อหากลไกร่วมกันของทุกชิ้นงาน เป้าหมายของการศึกษาในลักษณะนี้คือบ่งชี้ว่าอะไรทำให้ผลงานชิ้นหนึ่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เรื่องขำขันของฟรอยด์) ตรงข้ามกับแนวทางแรก และเป็นแนวทางที่เจมสันยึดใน The Political Unconscious คือการสมมติว่ามีหนังสืออุดมคติประจำ genre ซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบได้ว่าแต่ละเล่มที่ผู้คนเขียนขึ้นมาจริงๆ แตกต่าง เหมือน ด้อยกว่า หรือดีกว่าหนังสือในอุดมคติสักแค่ไหน (ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เรื่องขำขันของเบิร์กสัน)

ขณะที่ในปัจจุบัน หลายคนรู้สึกว่า genre วรรณกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ (“ศิลปะที่แท้จริงย่อมไร้พรมแดน!”) เราจะได้อะไรจากการศึกษา genre บ้าง

ในการเขียนหนังสือสักเล่ม คนเขียนย่อมจะต้องมี "อุดมคติ" ที่อยากสื่อไปถึงคนอ่าน ซึ่งอุดมคติพวกนั้น อ่านเอาเรื่องได้จาก "เนื้อหา" หรือสิ่งที่คนเขียน "ตั้งใจ" และ "รู้สำนึก" ผลิตขึ้นมา แต่สิ่งที่เจมสันสนใจ ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น เป็นอุดมคติของ "จิตใต้สำนึก" เขาอธิบายว่า นอกจากผู้เขียนจะตั้งอุดมคติขึ้นมาในการสร้างสรรค์ผลงาน เขาจะสมมติโลกขึ้นมาด้วยใบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ผลงานวรรณกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกสมมตินี้เท่านั้น ในท้ายที่สุด อุดมคติของจิตรู้สำนึก (ซึ่งผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอด) อาจจะเป็นคนละอย่างหรือสวนทางกับอุดมคติของจิตไร้สำนึกเลยก็ได้

เราพบเห็นได้บ่อยๆ ในวรรณกรรมเพื่อชีวิต ถึงโดยผิวเผิน (โดยเนื้อหา) งานเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเชิดชูคนยากคนจน แสดงให้เห็นความลำบากยากแค้นของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ผู้ที่จะผลผลิตงานลักษณะนี้ขึ้นมาได้ ต้องตั้งตัวเองอยู่บนความดูหมิ่นดูแคลนคนยากคนจนก่อน ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่สามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ตั้งแต่แรก (การมองว่าชีวิตของคนรากหญ้าเป็นชีวิตที่ไม่พึงปรารถนา ก็ถือเป็นการดูหมิ่นโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน)

เจมสันบอกว่า มีแต่การวิเคราะห์วรรณกรรมผ่าน genre เท่านั้น เปรียบเทียบว่าหนังสือเล่มหนึ่งเหมือนหรือต่างอย่างไรกับหนังสือในอุดมคติ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจจิตใต้สำนึกของผู้เขียนได้ (จริงๆ แล้วมีอีกวิธีหนึ่งก็การใช้สี่เหลี่ยมสัญศาสตร์เกรมาส แบบอาจารย์นพพร ประชากุล) การวิเคราะห์ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะมันหมายถึงการวิเคราะห์นักเขียน ทั้งในฐานะที่เป็นผู้เสพไปพร้อมๆ กับผู้ผลิตผลงาน (เพราะถ้าเขาไม่ใช่นักอ่าน จิตใต้สำนึกของเขาก็จะไม่รู้ว่า genre ของหนังสือเล่มที่เขาต้องการจะเขียนนั้นเป็นอย่างไร)

ย้อนกลับมาวรรณกรรมเพื่อชีวิต คนที่เขียนงานตามขนบทุกประการ หนึ่ง สอง สาม สี่ ตัวเอกเป็นชาวนา โง่ ใสซื่อ ส่วนตัวโกงคือนายทุน มหาเศรษฐี (เราเชื่อว่า) สำหรับเจมสัน คนพวกนี้จริงๆ แล้วไม่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย (เพราะขนาดงานศิลปะของตัวเองก็รับสืบทอดของเก่าเขามาทั้งดุ้น) ลึกๆ พวกเขาพอใจให้เส้นแบ่งระหว่างชนชั้นดำเนินต่อไป รากหญ้าก็โง่ จน เจ็บ และนายทุนก็ฉลาดแกมโกงไปเรื่อยๆ

สามสี่ปีก่อน มีรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งคือ หมู่บ้านแอโรบิก ของอาจารย์ทัศนาวดี หลายคนดูจะไม่ค่อยชอบเล่มนี้ แต่นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่เรานิยมเอามากๆ ถ้าใช้การวิเคราะห์ genre นี่คือเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ปราศจากตัวร้าย มีแต่ชาวบ้านผู้ทุกข์เข็ญ (หรือเปล่า?) หากเป็นความทุกข์แบบขำๆ ที่เกิดจากชาวบ้านกระทำกันเอง ไม่ว่าอาจารย์ทัศนาวดีตั้งใจจะสื่อสารอุดมคติเช่นใดก็ตาม โลกของอาจารย์น่าจะเป็นโลกที่ชนบทเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ตัดขาดจากส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองหรือนายทุนเข้ามารุกราน แต่ชาวบ้านชาวช่องก็สามารถรุกรานกันเองได้แล้ว (หากเป็นการรุกรานแบบเบาะๆ ที่เป็นธรรมชาติการพัฒนามากกว่าเนื้อร้ายในสังคม)

หรืออีกนัยหนึ่งคือการกำเนิดของชนชั้นกลางระดับล่างนั่นเอง

G. Lukacs's "History and Class Consciousness"


ในเดือนมิถุนายนปี 1919 ลูคักส์ต้องไปบรรยายพิเศษเปิดสถาบันวิจัยวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในกรุงบูดาเปส เนื้อหาการบรรยายในครั้งนั้นถูกดัดแปลงมาเป็นหนึ่งในบทความที่รวมอยู่ใน History and Class Consciousness เฉพาะบทนี้บทเดียวอาจจะเป็นบทความสั้นๆ ที่เหมาะสุดสำหรับใครที่ต้องการเข้าใจมาร์กซิสแบบ "หมัดเดียวจอด" (ว่ากันโดยรวม แม้หนังสือเล่มนี้จะรวบรวมบทความจากต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งหมดสอดประสานเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างลงตัว)

ตั้งแต่ปี 1919 หลังการปฏิวัติในรัสเซียแค่ไม่กี่ปี จวบจนปัจจุบัน หลายสิ่งเกิดขึ้น สงครามโลกครั้งที่สองเอย ความโหดเหี้ยมของสตาลินเอย และที่สำคัญสุด (จากมุมมองของลูคักส์) คงจะเป็นการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการสิ้นสุดของสงครามเย็น ถ้าพูดกันจริงๆ หลายความคิดในเล่มนี้ก็คงจะล้าสมัย และ "ผิด" ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีคุณค่าเลย ในทางตรงกันข้าม จวบจบปัจจุบันการศึกษาสังคมผ่านวิธีคิดแบบมาร์กซ์อาจเป็นสายทฤษฎีทางสังคมที่เข้มแข็งที่สุดเลยก็ว่าได้

ศูนย์กลางของ History and Class Consciousness คือสิ่งที่ลูคักส์เรียกว่า "Reification” หรือ "การทำให้เป็นรูปธรรม" พอแปลไทยแล้วไม่ค่อยได้ความหมายเท่าไหร่ แต่ลูคักส์หมายถึงว่า เมื่อมนุษย์อาศัยอยู่ในสังคมทุนนิยม หรือสังคมที่มีกรรมวิธีผลิตและกระจายสินค้าแบบทุนนิยม ธรรมชาติของความเป็นทุนนิยมจะแผ่ซ่านไปยังทุกแง่มุมของชีวิต และในท้ายที่สุดคุณก็จะมองโลกแบบทุนนิยม มองไม่เห็นความผิดปกติของระบบ หรือถ้ามองเห็น ก็จะบอกตัวเองว่า "นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ"

ลูคักส์เปรียบเทียบได้ดี เขาบอกจักรวาลวิทยาแบบฮินดูจะแบ่งโลกออกเป็นสองส่วน คือส่วนของมนุษย์ที่เราสามารถทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล และส่วนของเทพเจ้า ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อมนุษย์เรา แต่เราไม่อาจทำความเข้าใจเหตุผลของเทพเจ้าได้ ดังนั้นเราจึงยอมรับอะไรก็แล้วแต่ที่เทพเจ้าส่งมาให้เราว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ จักรวาลวิทยาของทุนนิยมมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์และใครต่อใครจะยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าทุนนิยมนี่แหละตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว แต่มันก็เป็นความสมเหตุสมผลที่ไม่แตะต้องโลกของเทพเจ้าเลย

ลูคักส์ ในฐานะที่เป็นนักปรัชญามาร์กซิส เชื่อว่าการปฏิวัติมวลชน ในแง่หนึ่งก็คือการสลายม่านบังตาหรือรูปธรรมตรงนี้ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 1) ชนชั้นกรรมาชีพได้รับ “Class Consciousness” (แปลว่าความตระหนักรู้ทางชนชั้นก็คงได้มั้ง) เมื่อถึงตอนนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น แต่ชนชั้นกลางผู้ได้รับประโยชน์จากทุนนิยม ก็จะตาสว่าง ตระหนักถึงข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย 2) วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์เป็นกลวิธีเดียวในการสลายม่านบังตาตรงนั้น วิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ถูกปะปนด้วยอคติของทุนนิยม วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นวิธีคิดแบบแบ่งแยกระหว่างวัตถุที่ต้องการศึกษาและผู้ศึกษา วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์คือการผนวกสองสิ่งนี้ (เท่าที่เราพยายามจับใจความลูคักส์ หมายถึงการศึกษาสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่อาจแยกออกจากกันได้) 3) ขณะเดียวกันลูคักส์ไม่ได้ปฏิเสธว่า บางที "ความรุนแรง" อาจจำเป็นในการปฏิวัติมวลชนก็ได้

อย่างที่บอกแต่แรก เราไม่ได้เห็นด้วยกับลูคักส์ไปทั้งหมด ประการแรก แนวคิดแบบ Reification นั้น น่าจะเป็นต้นกำเนิดของญาณวิทยาแบบเลนิน หรือ การปฏิเสธตรรกะทุกประการของบุคคลผู้หนึ่ง ถ้าบุคคลผู้นั้นเกิดในสังคมทุนนิยมหรือฝักใฝ่ในลัทธิทุนนิยม ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรออกมาก็ตาม ทุกอย่างก็จะแทรกด้วยอคติทางชนชั้น คำพูดที่จะได้ยินบ่อยๆ คือ "เพราะเธอเกิดมาเป็นนายทุน/เศรษฐี/ลูกนักธุรกิจ เธอก็เลยเชื่อแบบนั้น" (หนังสืออย่าง Darkness at Noon ของโคเอสท์เลอร์ หรือ The Joke ของกุนเดระก็คือการสำรวจความพินาศของตรรกะในลักษณะนี้)

ประการหลังคือ ไม่บอกก็รู้ว่าแปดสิบปีผ่านไป สุดท้ายการปฏิวัติมวลชนหรือการตระหนักรู้ทางชนชั้นของเหล่ากรรมาชีพก็ไม่เคยเกิดขึ้น การที่อเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้าง "สังคมของชนชั้นกลาง" ก็คือบทพิสูจน์ความล้มเหลวทางทฤษฎีของหนังสือเล่มนี้แล้ว (นั่นคือเหตุผลที่เราชอบ The Historical Novel ซึ่งลูคักส์เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองทศวรรษให้หลังมากกว่า)

แต่มีประเด็นหนึ่งที่เราว่าน่าขบคิดมากๆ เกี่ยวกับ "การทำให้เป็นรูปธรรม" ลูคักส์ให้ตัวอย่างว่า วิธีคิดแบบทุนนิยมที่ปรากฏในแวดวงอื่นนอกเหนือจากทางเศรษฐศาสตร์คือในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมแบบสมัยใหม่ (และเป็นสากล) เกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบทุนนิยม สิ่งสำคัญของทุนนิยมคือสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน "คำนวณ" ต้นทุนกำไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบศาลที่บริสุทธิ์ ปราศจากการแทรกแซง และคาดเดาได้เท่านั้น (ลูคักส์จริงๆ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความบริสุทธิ์ของศาลในระบอบทุนนิยม แท้ที่จริงก็เป็นผลิตผลอย่างหนึ่งของกระบวนการ Reification ไม่ใช่หมายถึงศาลทุนนิยมไม่ยุติธรรม แต่มันมีความยุติธรรมแบบอื่นที่นอกเหนือจากความยุติธรรมที่เราคุ้นเคยกันอยู่)

ถ้ามองย้อนกลับมาเมืองไทย ในสภาพสองมาตรฐานแบบนี้ น่าคิดว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยมจริงหรือเปล่า ถ้าเชื่อตามลูคักส์ หากสังคมไทยเป็นทุนนิยม เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีตุลาการภิวัฒน์ นั่นก็หมายถึงว่าสังคมไทยไม่ใช่ทุนนิยม เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจแบบไหนที่เรากำลังใช้อยู่ คำตอบคือ "ทุนนิยมผสมอุปถัมภ์" จึงชวนให้คิดต่อไปว่า ไอ้ระบบเศรษฐกิจแบบ "อุปถัมภ์" มันจะกลายเป็นรูปธรรมในโครงสร้างส่วนบนอื่นๆ ของสังคมแบบทุนนิยมได้หรือเปล่า แน่นอนว่าเป็นไปได้ ความ "ยุติธรรม" ที่ใช้กฏหมายแบบหนึ่งกับ "คนดี" และกฎหมายอีกแบบหนึ่งกับ "คนเลว" น่าจะสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบอุปภัมภ์ที่สุด

ถ้ามองสังคมไทยในมุมกว้าง เราจะพบว่ากระบวนการ Reification ของทุนนิยมกัดกินสังคมเราน้อยมากๆ (เป็นต้นเหตุที่เรามักจะได้ยินคำพูดประมาณว่า เรารับมาแต่อะไรที่แย่ๆ ของฝรั่ง แต่ไม่เคยรับของดีๆ มาเลย) ถ้าจะมีอะไรที่มันกำลังกลายเป็นรูปธรรม (หรือเป็นอยู่แล้วแต่ขุดไม่ออก) น่าจะเป็นแนวคิดแบบอุปถัมภ์มากกว่า

เพื่อนเราคนหนึ่งเคยเขียนเอาไว้ในบลอคดีมากๆ ว่า

และด้วยแนวคิดระบบอุปถัมภ์เช่นนี้ ทำให้คนไทยไม่ค่อยเชื่อในเรื่อง “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เพราะเราเชื่อกันลึกๆว่าโลกนี้มันมีของฟรี (สิวะ) เพียงแต่ต้อง “ขอ” ให้ถูกคน


เมื่อเรายอมรับแล้วว่า สังคมไทยในปัจจุบันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมอุปภัมภ์ เราก็ต้องยอมรับต่อไปว่า ที่มันยากจนข้นแค้น (?) แบบทุกวันนี้ มันเกิดมาจากส่วนผสมของสองระบบนี้ ความเป็นไปได้สองอย่างก็คือ 1) ถ้าเราสลัดระบบอุปถัมภ์ออกไป บ้านเมืองเราจะเจริญยิ่งกว่านี้อีก และ 2) ยากจนแค่นี้ก็ดีถมแล้ว เป็นระบบอุปถัมภ์ต่างหากที่ค้ำชูสังคมเราอยู่

ใครที่อ่านรักชวนหัวบ่อยๆ คงรู้ว่ารักชวนหัวเชื่อในคำตอบข้อไหน อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถสรุปได้จาก History and Class Consciousness ลูคักส์ ผู้เขียน เองก็ไม่ได้ชื่นชอบระบบทุนนิยม อันที่จริงประเด็นของหนังสือเล่มนี้คือทำอย่างไรสังคมจึงจะก้าวพ้นทุนนิยมไปได้ต่างหาก แต่ก้าวพ้นไปแล้ว สิ่งที่รออยู่คือระบบอุปถัมภ์หรือเปล่า อันนี้ไม่มีใครตอบได้ (จุดอ่อนของลัทธิมาร์กซิส ในความคิดเรา คือ เหมือนจะพูดถึงการก้าวข้าม มากกว่าบอกว่าก้าวข้ามไปแล้วจะต้องเจอกับอะไร)

แต่คำถามหนึ่งที่เราอยากให้ขบคิดกันต่อว่า ไอ้ที่พูดกันว่าการคอรัปชั่นเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย อย่าลืมว่า การคอรัปชั่นไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะระดับนักการเมืองเท่านั้น แต่ความหมายแบบกว้างรวมไปถึง "กิจกรรมทางวัฒนธรรม" อย่างการถูกตำรวจจับ แล้วเลือกที่จะยัดสินบน แทนที่จะยอมถูกยึดใบสั่งด้วย

คำถามคือ "คอรัปชั่นเป็นรูปธรรมของอะไร ทุนนิยมหรือว่าอุปถัมภ์กันแน่"

L. Brisson's "How Philosophers Saved Myths"


The power of reason paradoxically lies in its ability to recognize its own limits, but the transgression of these limits nonetheless leads straight to irrationalism.


ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับอักษรเขียน และการจดบันทึก ผู้คนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยในตำนาน ที่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ และที่ตัวเองเล่าให้ลูกหลานฟัง ว่ามันเชื่อถือได้แค่ไหน เพลโต นอกจากจะรังเกียจศิลปะแทบทุกชนิดแล้ว ยังต้องการกำจัดตำนานทิ้งให้เหลือเพียงปรัชญาและประวัติศาสตร์ แต่ตำนานก็ยังไม่หายไปไหน ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน How Philosophers Saved Myths คือความพยายามของบริสสัน ในการอธิบายว่านักปรัชญาโบราณ มีส่วนช่วยประคับประคองตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร

ก่อนอื่นเข้าใจว่านี่น่าจะเป็นหนังสืองานวิทยานิพนธ์ของตาบริสสันอะไรนี่ เพราะขอบเขตของหนังสือแคบมาก จนเอาเข้าจริง ไม่น่าจะตอบคำถามอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ คำตอบของบริสสันคือ เมื่อนักปรัชญารุ่นหลังจากเพลโตมองตำนานว่าเป็นอุปมาอุปมัย ที่ช่วยชี้ทางให้เห็นความจริง ซึ่งซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า ตำนานก็เลยสามารถสืบทอดมาได้ ในฐานะเรื่องหลอกๆ ที่อัดแน่นไปด้วยอุปอุปมา (ในทีนี้ก็มี "น้ำพริก กะปิ" เหยาะลงไปเพิ่มรสชาติด้วย เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่ามีแต่ผู้ถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ "ลัทธิลับ" เท่านั้นที่จะถอดรหัสตำนานได้ แสดงว่าตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชแล้วที่คนเราชอบอ่าน The Da Vinci Code) หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์นักปรัชญากรีกเป็นหลัก แต่ช่วยท้ายๆ มีแตะตำนานศาสนาคริสต์ และยุคกลาง จวบเรอเนซองค์

จริงๆ หัวข้อว่า อะไรคือบทบาทของตำนานในโลกปัจจุบัน ในยุคแห่งวิทยาศาสตร์น่าสนใจมาก และเราเชื่อว่ามันน่าจะมีคำตอบที่หลักแหลมและครอบคลุมกว่านี้

ปล. เราชอบคำพูดที่ยกมาตอนต้นนี้มาก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาในหนังสือเท่าไหร่ แต่เราเห็นด้วยสุดๆ ขั้นตอนแรกของการคิดอย่างมีเหตุมีผล คือการจำกัดวิธีคิดแบบมีเหตุมีผล ศาสตร์ (หรือสิ่งที่อยากเป็นศาสตร์) ถ้าไม่เริ่มต้นตีกรอบ ขีดข้อจำกัดของตัวเอง ก็อย่าได้ใช้ตรา "มีเหตุมีผล" ให้เสื่อมเสียเลยจะดีกว่า

เพราะศาสตร์ใดที่ก้าวข้ามเส้นแดน เมื่อนั้นมันก็กลายเป็นความงมงายไปโดยพลัน

F. Jameson's "The Hegel Variations"


(หมายเหตุ: เวลามีน้อย ประกอบกับไม่ค่อยประทับใจเล่มนี้เท่าไหร่ ขอเขียนย่อๆ ละกัน)

"punchline" ของ The Hegel Variations คือการที่เจมสันส่งทอดแนวคิดเรื่อง "ทาส/นาย" จาก Phenomenology of Spirit เขาวิเคราะห์ขั้วตรงข้ามระหว่างบทเสนอและบทแย้งของ "ไตรภาวะ" ในระบบปรัชญาของเฮเกลว่าคือขั้วตรงข้ามระหว่าง "ภายใน" และ "ภายนอก" เราสามารถรู้ได้ว่าอะไรคือ "ภายใน" (หมายถึงสิ่งที่เราเห็น จับต้อง สัมผัสได้) ส่วน "ภายนอก" คือของอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของเรา ความวิเศษของแนวคิดนี้คือ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือภายนอก ถ้าหากว่าบางส่วนของภายในไม่ได้ไปอยู่ข้างนอกนั้นแล้วตั้งแต่แรก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราปิดประตู ปิดหน้าต่าง ขังตัวเองอยู่ในห้อง เรารู้ว่าห้องนี้คือภายใน และอะไรที่อยู่เลยกำแพงออกไปคือภายนอก หากถ้าตั้งแต่เกิดมา เราไม่เคยออกไปข้างนอกเลย เราจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าภายนอกคืออะไร (ในการ์ตูน Cobra ฉากที่เราชอบที่สุดคือโลกต่างมิติที่ทั้งโลกนี้ไม่มีอะไรเลย มีแต่ห้องห้องเดียว และผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในห้องนั้น) ด้วยเหตุนี้ ขั้วตรงข้ามระหว่างภายในและภายนอก (ซึ่งบรรจุบางส่วนของภายในไว้) จึงเอื้อต่อการผสมผสานจนเกิดเป็นบทสังเคราะห์

จากจุดนี้ เจมสันส่งต่อไปยังบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกฎหมายว่า กฎหมายที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่สังคมใช้บังคับปัจเจก แต่เป็นสิ่งที่ปัจเจกสร้างขึ้นมา (หรือรู้สึกว่าตัวเองสร้างขึ้นมา) เพื่อใช้บังคับตัวเอง จุดนี้นำไปสู่เรื่อง "ความสำนึกผิด" ซึ่งเกิดจากการที่ปัจเจกเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมาย พฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายก็คือพฤติกรรมที่ขัดต่อความรู้สึกของตัวเอง ในโลกทุนนิยม “สังคม” ถูกสร้างขึ้นมาจากแรงงานที่ถูกทำให้เป็นอื่น (alienated) ดังนั้นมนุษย์จึงรู้สึกแปลกแยกกับกฎหมายอันเป็นผลิตผลทางสังคม "จุดจบของประวัติศาสตร์" จึงเป็นโลกที่ "ภายใน" และ "ภายนอก" ผสานกัน ผู้คนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมายที่ควบคุมชีวิตพวกเขา