R. Williams's "Marxism and Literature" *


สงสัยบ้างอะไรบ้างว่าตกลงไอ้ทฤษฎีวรรณกรรมแบบมาร์กซิสนี่มันคือการเอาทฤษฎีสังคมของมาร์กไปอธิบายวรรณกรรม หรือคือการเอาวรรณกรรมไปอธิบายทฤษฎีสังคมของมาร์ก หรือถ้าจะสงสัยให้เหนือๆ หน่อย ก็ต้องสงสัยว่า แล้วไอ้สองอย่างนี้มันแตกต่างกันหรือเปล่า

ถ้าให้สรุป Marxism and Literature ภายในประโยคเดียว ก็จะสรุปว่านี่คือความพยายามของวิลเลียมส์ในการคืน "วัตถุนิยม" เข้าไปใน "วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์" คำวิพากษ์วิจารณ์ของวิลเลียมส์ที่มีต่อนักมาร์กซิสในยุคเดียวกันคือ ทฤษฎีของพวกเขาเหล่านั้น "วัตถุนิยมไม่พอ" แต่ถ้าให้วิลเลียมเจาะจงว่า ต้องแบบไหนถึงจะเป็นวัตถุนิยมอย่างแท้จริง คำตอบของเขาคือต้องเป็นทฤษฎีที่ตระหนักถึงความสำคัญของ "จิตสำนึก" (ซึ่งกลับฟังเป็น "อุดมคติ" เข้าไปอีก ไม่ใช่ว่าทฤษฎีของมาร์กคือการฉีกตัวเองออกจากอุดมคติแบบเยอรมัน แบบเฮเกลหรอกหรือ) สำหรับวิลเลียมส์ สิ่งที่เป็นวัตถุนิยมคือ "กระบวนการผลิต" วัตถุ ซึ่งกระบวนการผลิตนั้นแยกจากจิตสำนึกไม่ได้

ตัวอย่างของโครงสร้างส่วนบนนั้นชัดเจนมาก และเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ วิลเลียมส์บอกว่า หลายคนมักเข้าใจผิดว่าโครงสร้างส่วนบนคือสิ่งที่สืบทอดกันมาในหมู่ชนชั้นปกครอง เป็นกระบวนการที่ผลิตความเชื่อและอุดมคติซึ่งครอบงำสังคมอีกทอดหนึ่ง เหมือนกับเสื้อที่ตกทอดจากรุ่นปู่ มาสู่รุ่นพ่อ และลงไปถึงรู่นลูก และรุ่นหลาน วิลเลียมส์ปฏิเสธการมองโครงสร้างส่วนบนเป็นวัตถุรูปธรรมขนาดนั้น สำหรับเขา โครงสร้างส่วนบนคือ "จิตสำนึก" ที่ถ่ายทอดมากกว่า และกระบวนการสร้างอุดมคติ ไม่ใช่ "เครื่องมือ" ของชนชั้นปกครอง แต่เป็นการผลิตซ้ำของทุกหน่วยในสังคม โดยอ้างอิงจิตสำนึกที่ได้รับการสืบทอดมาดังกล่าว อุปมาอุปมัยคือ ไม่ใช่เสื้อหรอกที่ถ่ายทอดมา แต่เป็นโครงสร้างของร่างกายต่างหาก ดังนั้นเมื่อรุ่นลูกไปตัดเสื้อตัวใหม่ ก็จะออกมาคล้ายๆ เดิมเพราะมีรูปร่างแบบเดียวกัน

สิ่งที่เราชอบในแนวคิดของวิลเลียมส์คือมันเปิดโอกาสให้มีอุดมคติที่ขัดแย้งกับความเชื่อหลักของชนชั้นปกครองได้ และความเข้มแข็งที่แท้จริงของกระบวนการสร้างอุดมคติไม่ได้วัดกันที่ชนชั้นปกครองสามารถปกปิดหรือถอนรากถอนโคนอุดมคติดัังกล่าว แต่อยู่ที่ชนชั้นปกครองสามารถผนวกอุดมคติที่ขัดแย้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคิดที่พวกเขาต้องการใช้ครอบงำสังคมได้สักแค่ไหน เมืองไทยคือตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ของกระบวนการตรงนี้ การต่อสู้ของนักศึกษาในช่วงปี 2516 ถึง 2519 กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกฝ่ายสามารถนำมาหยิบใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้

ถามว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับวรรณกรรม วิลเลียมส์วิเคราะห์ได้อย่างน่าขบคิดว่า การเกิดขึ้นของ genre หรือขนบวรรณกรรม ก็เป็นกระบวนการที่คล้ายๆ กับการเกิดขึ้นของโครงสร้างส่วนบน คือนักเขียนแต่ละคนที่ตั้งใจจะเขียนเรื่อง เช่น เขย่าขวัญ ก็จะ "ประทับ" จิตสำนึกหรือกระบวนการคิดแบบนิยายเขย่าขวัญขึ้นมาก่อน จากนั้นค่อยผลิตผลงานซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างจากนิยายเขย่าขวัญที่มีมาอยู่แล้ว กระทั่งว่านิยายที่จงใจเขียนขึ้นมาเพื่อยั่วล้อหรือต่อต้านขนบนิยายเขย่าขวัญ นักเขียนก็ยังต้องอาศัยการประทับจิตสำนึกดังกล่าว และในท้ายที่สุด นิยายเหล่านั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบสร้างขนบขึ้นมาด้วย (เหมือนกับว่า ไปๆ มาๆ Scream ก็คือตัวอย่างของภาพยนตร์เขย่าขวัญที่กลั่นกรองและตกผลึกความเป็นภาพยนตร์เขย่าขวัญได้ชัดเจนที่สุด)

R. Musil's "The Man wihtout Qualities"


(หมายเหตุ: The Man without Qualities เป็นมหากาพย์สามภาคเขียนไม่จบของโรแบร์ต มูซิล บลอคนี้ต่อเนื่องมาจากการอ่านเฉพาะภาคหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจ แต่ทำไมไม่รู้ ไอ้เล่มที่เราซื้อมา มันมีเฉพาะภาคแรก แล้วก็ไม่ยอมเขียนบอกบนหน้าปกเสียด้วยสิ)

ผู้ที่ต้องการตามล่าหาความจริง เขาจะเป็นนักวิชาการ ผู้ที่ต้องการเล่นสนุกกับอัตถวิสัย (subjectivity) ของตัวเอง เขาจะกลายเป็นนักเขียน


แล้วคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ละ เขาจะกลายเป็นอะไร อูลริช ตัวเอกของ The Man without Qualities จัดอยู่ในคนจำพวกนี้ แน่นอนเช่นเดียวกับมูซิล รวมไปถึงมิลาน กุนเดระด้วย ถ้าจำไม่ผิด เราได้ยินชื่อนิยายเล่มนี้เป็นครั้งแรกจากบทความของกุนเดระนั่นเอง ซึ่งก็ไม่แปลกที่กุนเดระจะชอบนิยายเล่มนี้ ทั้งกุนเดระและมูซิลจัดว่าเป็นคนประเภทเดียวกันคือนักเขียนบทความ (essayist) The Man without Qualities เหมือนกับรวมบทความขนาดมหึหาที่เอาความคิดหลากหลายกระแสมาตบโต้ตีกัน

หน้าปกหลังปกนิยายมีการเปรียบเทียบระหว่างพรูสต์และมูซิล (ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมกับพรูสต์เท่าไหร่) สำหรับเรา ถ้า In Search of Lost Time เอามาใช้อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบนิยายฝรั่งเศส The Man without Qualities ก็เอามาใช้อธิบายได้เช่นกันว่าทำไมเราถึงชอบนิยายเยอรมัน และพวกตระกูลยุโรปตะวันออก (มูซิลจริงๆ แล้วเป็นคนออสเตรียเชื้อสายเชค) นิยายแห่งความคิด (the novel of idea) ที่ไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง ไม่ต้องมีตัวละคร และที่สำคัญต้องไม่มีฉากเยิ่นเย้อนี่แหละเขาทางเรานัก

(ประเด็นนี้น่าถกเถียงดีเหมือนกัน การที่เราชอบนิยายโต้งๆ แต่เบื่อหน่ายนิยายที่พยายามพูดอะไรอ้อมๆ สื่อสารผ่านการบรรยายฉาก เหตุการณ์ และตัวละคร แสดงให้เห็นถึงความตื้นเขินในรสนิยมการอ่านของเราหรือเปล่า อาจจะก็ได้ แต่เราก็สงสัยยิ่งนัก บางความคิดที่ออกมาจากปลายปากกาของมูซิล ถ้าให้พรูสต์ ฟลาวแบร์ตมาช่วยกันคิด "เหตุการณ์" ใส่เข้าไป มันจะต้องอาศัยนิยายกี่บท กี่เล่ม ที่สำคัญคือการกระแทกกันของปรัชญา โดยตัวมันเอง ก็เป็น "เหตุการณ์" อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถตีความลึกลงไปได้อีกขั้น)

กลับมาที่นิยายแห่งความคิด มูซิลเขียนไว้ใน The Man without Qualities ตอนหนึ่งว่า ความเลิศไม่เลิศของไอเดียหนึ่งๆ ดูได้จากว่า ถ้าเราไม่รู้สึกว่าอีกไอเดียที่ตรงกันข้ามกับไอเดียนั้นโดยสิ้นเชิงมันก็จริงเหมือนกัน ก็แสดงว่าไอเดียแรกนั้นยังไม่เลิศเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้หลากหลายความคิดใน The Man without Qualities ถึงได้ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด บางทีก็เหมือนมูซิลโปรวิทยาศาสตร์ และเย้ยหยันคนที่ใช้หัวใจและสัญชาติญาณ แต่บางบทก็เหมือนมูซิลแย้งตัวเองในเรื่องเดิมเสียอย่างนั้น

แต่ถ้าจะมีความคิดหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดเล่่ม และน่าจะถือเป็นธีมหลักของนิยายได้ก็คือการคร่ำครวญหายุคแห่งวีรบุรุษ โลกสมัยใหม่ (เมื่อร้อยปีที่แล้ว!) เป็นโลกที่ไม่อาจสร้างสรรค์วีรบุรุษตามความคิดของนิทเช่ได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากทุกการกระทำของปัจเจกไม่ได้มีความหมายด้วยตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและการให้ความหมายของคนอื่นรอบข้าง เกอเธอร์และบีโธเฟนอาจจะเป็นประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ด้วยตัวของพวกเขา แต่ถ้าไม่มีรางวัลโนเบล เราจะมีกุนเธอร์ กลาสหรือเปล่า ถ้าไม่มีแฟนๆ เราจะมีไมเคิล แจคสันได้ไหม

เราสนุกสนานกับการอ่าน The Man without Qualities มากพอควร (ทั้งๆ ที่มันเขียนไม่จบ และหลายฉากก็ค่อนข้างน่าเบื่อ) มันมีนัยยะแสบๆ คันๆ เกี่ยวกับการเมืองและการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมถึงลัทธิชาตินิยม เป็นนิยายที่เหมาะกับการอ่านในบรรยากาศบ้านเมืองเราขณะนี้ไม่น้อย

J. Haldeman's "Old Twentieth"


เอารูปเป็ดมาให้ดู เพราะนี่คือสิ่งที่ได้จากการอ่าน Old Twentieth นิยายวิทยาศาสตร์ว่าด้วยมนุษย์โลกอนาคตที่มีสภาพกึ่งอมตะ และคอมพิวเตอร์เจ้าปัญญาซึ่งสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับการตายของมนุษย์ ก็เลยลองฆ่าทิ้งทีละคน หลังจากศพแรกปรากฏในหนังสือ พระเอกของเราทำอะไรต่อ บรูเวอร์ซึ่งนอกจากจะเป็นนักวิศวกรคอมพิวเตอร์ ยังมีงานอดิเรกคืออาชีพพ่อครัว เขาออกไปล่าเป็ดเพื่อเอามาปรุงเมนูใหม่ โลกอนาคตนี้ไฮเทคมากๆ ชนิดที่ถ้าส่งตัวอย่างเนื้อเป็ดให้คอมพิวเตอร์ มันจะสามารถวิเคราะห์โครงสร้างโปรตีนและไขมัน สร้างเนื้อเป็ดจำลองในกล่องสี่เหลี่ยมส่งมาให้พ่อครัวได้ทันที (แต่ไม่ยักมีข้อมูลเกี่ยวกับเป็ดให้มาตั้งแต่แรก)

โอเค fascinating มากๆ แล้วไอ้ศพนั่นล่ะ จะทำยังไงกับมัน

เราว่า หนังสือเล่มหนึ่งล้มเหลวแล้ว ถ้าอ่านไปเกินครึ่งเล่มแล้วยังรู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยกว่าเรื่องย่อบนปกหลังอีก

ไม่ใช่ว่าไม่น่าสนใจ บรูเวอร์ตั้งคำถามชวนคิดว่าถ้านักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างยาที่ทำให้มนุษย์อยู่ในสภาพกึ่งอมตะ ร่ายกายซ่อมแซมตัวเองอัตโนมัติ (“กึ่ง" เพราะตายได้เหมือนกันถ้าตายหนักเกินไป เช่น ถูกมัดแล้วจับเผาทั้งร่างอะไรแบบนี้) จะเกิดอะไรขึ้น บรูเวอร์เล่าประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ n ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการแย่งชิงยาอมตะตัวนี้ และจบลงด้วยสุดยอดโรคระบาดที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั้งโลกยกเว้นคนที่กินยาอมตะเข้าไปแล้ว fascinating fascinating แล้วไงต่อ หลายศตวรรษผ่านไป พระเอกของเรื่องรอดชีวิตจากสงคราม (และเป็นอมตะ) กลายเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่ควบคุม "เครื่องย้อนเวลา" ซึ่งไม่ได้ย้อนจริงๆ แต่เป็นเครื่อง virtual reality ที่ช่วยให้คนในโลกอนาคตย้อนกลับไปสัมผัสประสบการณ์ในอดีต และ "ตาย" ในอดีตเพื่อจะได้เข้าใจความหมายของคำว่าชีวิต fascinating fascinating แล้วไงต่อ แล้วก็มี AI ที่คิด ตัดสินใจได้เอง เริ่มสนใจความหมายของคำว่ามนุษย์ ต่อๆ แล้วก็มีดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ห่างไปหลายพันปีและมีสภาพเหมือนโลกทุกอย่าง พระเอกและลูกเรือแปดร้อยคนจึงเดินทางไปสำรวจดาวดังกล่าว พร้อมกับเครื่องย้อนเวลา

fascinating fascinating แล้วทำไมกรูต้องมานั่งอ่านพวกมันวิ่งไล่เป็ดกันด้วย

Old Twentieth คือตัวอย่างว่าหนังสือไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาด้วยไอเดีย การเขียน การเล่าเรื่อง การใช้ภาษามีหลักการบางอย่าง ถ้าไม่เข้าใจสิ่งนั้น ต่อให้ความคิด fascinating แค่ไหน หนังสือสั้นๆ กว่าจะอ่านจนจบเล่มได้ก็ทรมานอย่างน่าเหลือเชื่อ

S. Weil's "Gravity and Grace"


Gravity and Grace เป็นหนังสือเล่มที่สองของไวล์ที่เราอ่าน สารภาพว่าไม่ค่อยชอบเล่่มแรกเท่าไหร่ ถ้าไม่บังเอิญอ่านมาจากไหนสักแห่งว่าไอริช เมอดอกชื่นชมเธอมากๆ คงไม่คิดจะอ่านเล่มนี้ด้วยซ้ำ Gravity and Grace ค่อนข้างเป็นหนังสือที่อ่านยากสำหรับเรา โดยตัวมันเองแล้ว เหมือนจะเป็นการรวบรวม สุภาษิต วาทะเจ๋งๆ ความคิดที่แตกกระจาย มากกว่าจะเอาความคิดเหล่านั้นมาสังเคราะห์เป็นปรัชญาเป็นชิ้นเป็นอัน คล้ายๆ กับ Minima Moralia ของอดอร์โน และผลงานหลายชิ้นของนิทเช่ ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องแต่ง นี่คืองานเขียนเชิงปรัชญาที่อิง "บทกวี" ขณะที่บทความที่อิง "เรื่องสั้น" หรือ "นิยาย"

แต่ก็ต้องนับว่าไม่ผิดหวังเท่าไหร่กับ Gravity and Grace ไวล์พูดถึงพระเจ้า ศรัทธา และศาสนาคริสต์ แต่แนวคิดของเธอกลับคล้ายคลึงพุทธศาสนาได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเพราะช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นยุคที่ปรัชญาตะวันออกเริ่มแพร่หลายในซีกโลกตะวันตก แต่ถ้าเทียบกับนักเขียนตะวันออกนิยมคนอื่นๆ อย่างเฮสเส เราว่าไวล์เข้าใจศาสนาพุทธลึกซึ้งกว่า

หัวใจของ Gravity and Grace คือมนุษย์ต้องไม่ปฏิเสธความเจ็บปวด ต้องไม่พยายามหลีกเลี่ยงด้วย เพราะมีแต่การอดทนกับความเจ็บปวด หรือทนทุกข์กับความว่างเปล่า (void) เท่านั้น ที่จะสอนให้เราเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องวิ่งเข้าหาความเจ็บปวด ไวล์บอกว่าเราต้องใช้ชีวิตให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่ว่าเมื่อเราเจ็บขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นคือ "ความเจ็บปวดบริสุทธิ์" ที่จะช่วยให้เราสัมผัสพระเจ้า

อีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการทำความดีที่น่าขบคิดมากๆ คือ ความดีสูงสุดเกิดจากความจำเป็น มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทำความดีได้ ส่วนมนุษย์เป็นแค่แขนขา เครื่องมือของพระองค์ (ตรงนี้นึกถึงสปีชของบรูซ วิลลิสในหนังเรื่อง Die Hard ภาคล่าสุดที่บอกว่าถ้ามีคนอื่นมาทำหน้าที่นี้แทนจอห์น แมคเคลน แมคเคลนไม่มาเสี่ยงอันตรายแบบนี้หรอก) ไวล์เชื่อว่าคนที่ไม่รู้สึก "เขิน" เวลาทำความดี แปลว่ายังไม่ได้ทำความดีอย่างแท้จริง

แต่ส่วนที่เราชอบที่สุดในหนังสือ คือตอนที่ไวล์พูดถึงความเลว เธอบอกว่า ความเลวที่จินตนาการขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสนุกสนาน ขณะที่ความดีในจินตนาการกลับเป็นของน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริง ความเลวต่างหากที่น่าเบื่อหน่าย แต่ความดีคือสุดยอดของความงาม ดังนั้นศิลปะที่เกิดจากการแต่งแต้มจินตนาการ ถ้าไม่น่าเบื่อ ก็ต้องผิดศีลธรรมเข้าไว้ แต่ถ้าจะไปให้ไกลกว่านั้น ถ้าศิลปะจะหลุดจากโลกสมมติ เข้าสู่โลกแห่งความจริง และรักษาคุณค่าความงาม ศิลปะนั้นจะต้องถูกศีลธรรม ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่ชาบูๆ

U. Eco's "The Search for the Perfect Language"


อาจารย์ฟิสิกส์ตอนม. ปลาย เคยบอกนักเรียนว่า สังเกตไหม เลข 1 อารบิกถึงเลข 9 ถูกออกแบบมาให้แต่ละเลขมีมุมเท่าจำนวนค่าของมันพอดี เช่น เลข 1 ถ้าเขียนบางแบบ จะมีมุมหนึ่งมุม เลข 2 มีสองมุม เลข 3 มีสามมุม และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าไม่จริงหรอก แค่ 5 แค่ 9 ก็ผิดแล้ว ที่สำคัญทฤษฎีนี้จะเป็นจริงได้ ก็ด้วยวิธีเขียนเลขบางลายมือเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ค่อยจะเป็นสากลเท่าไหร่ (เช่น เขียนเลข 2 ให้คล้ายตัว z หรือเขียน 3 ให้คล้ายซิกมา)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่อาจารย์เราพูด แสดงให้เห็นถึงความฝันลึกๆ อย่างหนึ่งซึ่งสืบทอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นั่นคือการค้นหา "ภาษาสมบูรณ์" (perfect language) ภาษาที่เรียกทุกสิ่งทุกอย่างด้วย "ชื่อที่แท้จริง" ของมัน เป็นภาษาสากลซึ่งตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

The Search for the Perfect Language ว่าด้วยประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสมบูรณ์นี้ คำเตือนอย่างหนึ่งคือหนังสือเล่มนี้เป็น Narrative History ซึ่งเหมือนจะเป็นคลังข้อมูลมากกว่าจะมีการวิเคราะห์อะไรลึกซึ้ง ถ้าเกิดใครไม่ได้สนใจประเด็นนี้จริงๆ อ่านข้ามๆ เอาน่าจะถูกจริตกว่า

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสมบูรณ์เป็นประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว ขนาดในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและความจำเป็นเอื้อให้เกิดภาษาสากลขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็พร้อมยอมให้อังกฤษกลายเป็นภาษาสากลโดยดุษฎี ขนาดเอสเปอรันโต ภาษาสากลที่มีคนรู้จักและเป็นชิ้นเป็นอันมากที่สุด ซึ่งเกิดมาได้ศตวรรษกว่าๆ แล้ว ก็ยังแพร่กระจายไปไม่ถึงไหน

ภาษาสมบูรณ์แบ่งออกเป็นสองยุค ยุคแรกคือยุคศาสนา นักวิชาการพยายามค้นหาภาษาของอาดัมก่อนหอคอยบาเบลถล่ม นักปรัชญาในยุคนั้นเชื่อว่าภาษาสมบูรณ์เกิดขึ้นมาได้จากการย้อนศรภาษาที่แต่ละเผ่าพันธุ์ใช้ ไปยังภาษาบริสุทธิ์ (บางคนถึงกับเชื่อว่า ภาษาจีนคือภาษาบริสุทธิ์ เนื่องจากชาวจีนไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วยกับการสร้างหอคอยบาเบล)

ในยุคที่สอง หลังยุคการรู้แจ้ง นักวิชาการยอมรับแล้วว่าภาษาบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าไม่ถึง ความพยายามคิดค้นภาษาสมบูรณ์จึงออกมาในรูปแบบของภาษาใหม่ที่ไม่เหมือนภาษาไหนๆ เลย แต่อาศัยไวยากรณ์ที่ลดความกำกวม คลุมเครือลงไปให้มากที่สุด ก็จะได้ภาษาที่มีคุณสมบัติเป็นภาษาสากล ใครๆ ก็สามารถเรียนได้โดยง่าย (ระบบเลขอารบิกแบบที่อาจารย์เราเชื่อ การออกแบบตัวอักษรที่ตอบสนองตรรกะก็คือตัวอย่างหนึ่งของภาษาสมบูรณ์)

เอสเปอรันโตก็คือผลผลิตดังกล่าว แต่ปัญหาก็คือภาษาจำพวกนี้เป็นระบบสัญญะ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แทนสัญญะอีกทอดหนึ่ง (“หมา" ในเอสเปอรันโตไม่ได้หมายถึงสัตว์สี่เท้า เห่าฮ่งๆ แต่หมายถึงคำว่า "dog” ในภาษาอังกฤษ) ด้วยเหตุนี้ เอสเปอรันโต (ซึ่งถูกคิดค้นโดยชาวยุโรป) เมื่อเอามาใช้นอกประเทศยุโรป ก็ไม่สามารถสื่อความหมายได้ดีเท่าที่ควร จึงไม่เป็นที่นิยม

แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ของความล้มเหลว แต่ก็ใช่ว่าการค้นหาภาษาสมบูรณ์จะไม่มีความหมายเสียทีเดียว การใคร่ครวญถึงภาษาบริสุทธิ์ของอาดัม ช่วยให้นักปรัชญาศาสนาในยุคนั้นเข้าใจและตั้งคำถามเชิงเทววิทยา การคิดค้นภาษาสมบูรณ์ นำไปสู่การจัดแบ่งสกุลสัตว์และสิ่งมีชีวิตของไลบ์นิซ เหมือนกับที่เอโคเคยกล่าวในหนังสือเล่มก่อนหน้านั้น บางทีความล้มเหลวหรือความผิดพลาด ก็อาจก่อคุณได้โดยไม่ตั้งใจเหมือนกัน

คืนที่ดอกโบตั๋นบาน (r.o.d.)


นี่คือรวมบทวิจารณ์ห้าเรื่องสั้นที่ส่งมาหาเราในโครงการ r.o.d. เอาเรื่องนี้มาเป็นชื่อเรื่องเพราะเป็นเรื่องที่เราชอบที่สุด และในแง่หนึ่ง มันเป็นเรื่องที่แสดงจุดแข็งสุดของผู้เขียนเองด้วย แค่ชื่อเรื่อง คืนที่ดอกโบตั๋นบาน ก็น่าสนใจแล้วในความคลุมเครือ ตัวเรื่องว่าด้วยความไ่ม่แน่นอนของชีวิต ที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ตอนจบมีลูกหยอกลูกล้อกับคนดูว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เมียปลัดเกี่ยวข้องกันแค่ไหนกับ "อุบัติเหตุ" ที่เกิดขึ้น

ข้อติหลักข้อเดียวเลยของเรื่องนี้ คือฉากที่เมียปลัดยอมรับกับนายหน้าค้าประกันว่าตัวเองปลอมลายเซ็นต์ ออกจะดูงี่เง่าผิดวิสัยตัวละคร (หรือมนุษย์มนา) ไปหน่อย ทำให้ความคลุมเครือในตอนจบลดลงไป

อีกเรื่องที่เราชอบคือ เจ้าหมู คนเขียนสามารถเล่าถึงความไม่มีอะไร จับเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของชีวิต ที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย มาใส่รายละเอียดอย่างน่าติดตาม

ชอบอันดับสามคือ ในวันที่ฟ้าเปียก สนุกดี แต่ก็เริ่มแสดงให้เห็นปัญหาข้อใหญ่ของผู้เขียน นั่นก็คือการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องหมายถึง การเลือกนำเสนอ ว่าแต่ละฉากควรนำเสนอยังไง ผ่านมุมมองตัวละครใด การจับจังหวะว่าฉากไหนสำคัญ ฉากไหนไม่สำคัญ และควรจะสั้นยาวแค่ไหน ความผิดพลาดเช่นการที่อยู่ๆ มีตัวละครอย่าง "บักวี" โผล่ออกมาในเรื่องสั้น (ซึ่งสมควรประหยัดฉากและตัวละครที่สุด) นอกจากนี้ ประโยคสุดท้ายจะเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค อยู่ที่ความวุ่นวายในบ้านของตัวเอก ซึ่งก็ยังใส่มาไม่พอ

ความล้มเหลวของการเล่าเรื่องแสดงออกอย่างชัดเจนสุดผ่าน เด็กหญิงชบา ไข่ต้ม ขนมผิง ตอนความลับของพี่บอย รายละเอียดมากมายใส่มาอย่างไม่บรรยะบรรยัง (ทำไมบีต้องเป็นโรคปากแหว่ง) มุมมองของเรื่องเล่าที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาโดยไม่จำเป็น สุดท้ายแล้ว ถ้าจะบอกว่าประเด็นของเรื่องสั้นคือบอย "สูญเสียความใสซื่อ" ก็ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้นว่าตัวละครตัวนี้เคยซื่อมาก่อน และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ "บีผีบ้า" ก็ไม่น่าจะถึงขนาดนำไปสู่ตอนจบของเรื่องสั้นได้

ดูจากชื่อเรื่องที่มีคำว่า "ตอน" เลยไม่แน่ใจว่าผู้เขียนตั้งใจให้เป็นนิยายหรือเปล่า วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้อาจจะเหมาะกับนิยายที่มีตัวละครเยอะๆ และเปลี่ยนมุมมองได้เรื่อยๆ มากกว่าเรื่องสั้น

ความตายของจิตรกร เป็นเรื่องสั้นที่เราเฉยๆ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันไปตรงกับ genre หนึ่งซึ่งฮิตมากในเมืองไทย คือ "เรื่องสั้นที่พระเอกเป็นศิลปิน" พูดถึงความฟุ้งซ่านของคนทำงานศิลปะ ส่วนตัวเราไม่ชอบเรื่องที่ส่งสาส์นประมาณนี้ การเทิดทูนความเป็นศิลปินว่ามีอารมณ์ซับซ้อนลึกซึ้ง คนธรรมดาเข้าไม่ถึง น่าสนใจว่าเรื่องสั้นทำนองนี้ปรากฏเยอะมากในสังคมไทย และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะสะท้อน ตอบสนองรสนิยมคนเขียน มากกว่ารสนิยมคนอ่าน

อ่านจบทั้งห้าเรื่องสั้น สรุปได้ว่าผู้เขียนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ชัดเจนมาก น่าจับตามองต่อไปผู้เขียนจะรับมือกับคุณสมบัติของตัวเองตรงนี้อย่างไร