I. Kant's "Critique of Pure Reason" (part I)


Tabula Rasa นอกจากจะใช่วีดีโอเกมแล้ว ยังเป็นแนวคิดทางปรัชญา แปลด้วยสำนวนไทยก็คงประมาณ "เด็กคือผ้าขาว" หมายถึงคนเราเมื่อเกิดมาแล้วไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย เราเรียนรู้ รับประสบการณ์อะไรลงไป ก็จะพัฒนารูปแบบความคิดเราให้เป็นไปตามประสบการณ์นั้นๆ

เอมมานูเอล คานท์ตั้งใจถกเถียงกับ Tabula Rasa เขาบอกว่าในโลกนี้มีความคิดบางอย่างที่ต่อให้ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ตรง เราก็มีอยู่ในหัวได้ เช่น แนวคิดเรื่องเทศะและกาละ (space and time) โดยเฉพาะเรื่องกาละ หรือเรื่องเวลา คานท์พูดเลยว่าเราไม่สามารถรับรู้มันจากประสบการณ์ตรงได้ มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความเข้าใจเรื่องเวลา (หรืออย่างน้อยก็มีศักยภาพในการพัฒนาความเข้าใจตรงนี้โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์)

ซึ่งถ้าแค่นี้ก็ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่คานท์ยังไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง นอกจากเทศะและกาละ ยังมีความรู้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ ความรู้เหล่านั้นต่างหากที่เป็นฐานให้มนุษย์เราสามารถเข้าใจประสบการณ์ได้ อธิบายให้ละเอียดขึ้นคือ ไม่ว่าเราจะรับรู้สรรพสิ่งอะไรเข้าไปก็ตาม สรรพสิ่งนั้นจะมีคุณสมบัติมากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ (ต่อให้เป็นหน่วยมูลฐานที่เล็กที่สุดอย่าง จุด ก็ยังต้องรู้ว่าระยะห่างตามแนวแกน x แกน y และแกน z ของจุดนั้นเป็นเท่าไหร่) เมื่อเรารับรู้คุณสมบัติเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีทางเลือกอีกนับร้อยในการผสานข้อมูลเหล่านั้นเป็นภาพตัวแทนของสรรพสิ่งในหัว (ถ้าเราไม่รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสามแกนคาทีเชียน ตัวเลขพิกัดจุดสามตัวนั้นก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย)

ความสามารถในการร้อยเรียงข้อมูล เอามาสร้างเป็นภาพในหัวนั่นเอง คือพื้นฐานของประสบการณ์ ถ้าเราปราศจากความสามารถในการร้อยเรียงข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลอันซับซ้อน ประสบการณ์ก็จะไม่มีความหมายอะไร ในทางกลับกัน เราสามารถเอาความรู้ในหัวมาผสมผสานพลิกแพลงเป็นอะไรก็ได้ แต่ถ้าผลลัพท์นั้นไม่สัมพันธ์กับสิ่งซึ่งอยู่ในโลกแห่งความจริง มันก็จะเป็นความรู้แบบหัวมังกุท้ายมังกร

วิธีโกหกที่แนบเนียนสุดของนักการเมืองและนักข่าวคือการปิดบังความจริง พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง โดยละเลยไม่พูดเรื่องที่เขาไม่อยากพูด แต่มีวิธีโกหกอีกวิธีซึ่งได้ผลอย่างน่ามหัศจรรย์เช่นเดียวกัน คือการพลิกศรเวลา ประธานาธิบดีบุชเคยใช้เทคนิคนี้เพื่อแสดงว่าการบุกเข้าอิรักเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง โดยยกข้อมูลมาเปรียบเทียบว่า ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะอเมริกาส่งกองทัพเข้าอ่าวเปอร์เชีย แต่กลายเป็นว่า ข้อมูลเชิงปริมาณตัวนั้นวัดก่อนที่จะเกิดสงครามอ่าวอีก ดังนั้นการเปิดสงครามไม่ได้มีผลกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปฏิบัติการก่อการร้าย

ฟังดูเป็นการโกหกง่ายๆ และท่าทางชาวอเมริกันจะโง่เง่าอย่างน่าเหลือเชื่อที่จับเท็จแค่นี้ไม่ได้ แต่ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว เวลาไม่มีอยู่จริงในโลกภายนอก เวลาคือการที่แต่ละบุคคลเอาเหตุและผลมาร้อยเรียงในหัว ถ้าเขาเชื่อว่าเหตุอะไรนำไปสู่ผลอะไร เขาก็จะเชื่อว่าสิ่งนั้นเกิดก่อน วิธีโกหกแบบนี้จึงได้ผลชะงัดนัก เพราะคนที่อยากเชื่อ อยากมองว่าเหตุการณ์ดำเนินไปในรูปแบบไหน ก็พร้อมจะทำสิ่งซึ่งไอนสไตน์บอกว่าเป็นไปไม่ได้ คือการย้อนเวลา เอาผลมากลายเป็นเหตุ

ระวังให้จงหนัก อย่าตกเป็นเหยื่อการย้อนศรเวลาโดยไม่รู้ตัว

G. Greene's "A Burnt-Our Case"


สงสัยว่าเกรแฮม กรีนน์ "ซีเรียส" กับนิยาย A Burnt-Out Case แค่ไหน เรื่องราวเกิดในสถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคเรื้อนกลางทวีปแอฟริกา อยู่ดีๆ ก็มีคนแปลกหน้ามาขอพักอาศัย แลกกับแรงงานจิ๊บจ้อย กลับกลายเป็นว่าชายแปลกหน้าคนนั้นคือสถาปนิกระดับโลก ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการออกแบบโบสถ์ และเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ศาสนิกชน

เควียรี่ก็เหมือนพระเอกส่วนใหญ่ของกรีนน์ เขาประสบภาวะวิกฤติศรัทธา จู่ๆ ก็สูญเสียความเชื่อมั่นในพระเจ้า พร้อมๆ กับตระหนักว่า จริงๆ แล้วฝีมือของตัวเองอาจไม่ได้ดีเลิศอะไรเลย กรีนน์พยายามเปรียบเทียบชีวิตของเควียรี่ว่าไม่ต่างอะไรจากผู้ป่วยโรคเรื้อน ต้องมาพักรักษาตัวเองอยู่ไกลหูไกลตาผู้คน สมัยนั้นยังไม่มียา โรคเรื้อนมีอาการร้ายแรง ผู้ป่วยอาจสูญเสียนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือแขนขาได้ง่ายๆ อาการเจ็บป่วยทางใจของเควียรี่สร้างบาดแผลบางอย่างที่ร้ายแรงเทียบได้กับความพิการ ชื่อนิยาย "burnt-out case" หมายถึงอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงจนหมอทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้เชื้อโรคกัดกินร่างกายผู้ป่วย จนถ้าไม่ตายไปเลย ก็หายเอง ในที่นี้ กรีนน์หมายถึงทั้งเควียรี่ และผู้ป่วยโรคเรื้อน ที่มีอาการโรคเท้าช้างแทรกซ้อน จนอัณฑะพองบวม ต้องใช้สองมือแบกลูกอัณฑะเวลาเดินไปไหนมาไหน

ขอถามกรีนน์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง "SRSLY?"

เราจะสามารถเอามหาเศรษฐีคนขาวผู้โด่งดังระดับโลก และเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า มาเปรียบเทียบกับคนผิวดำผู้ยากจน ไม่มีอันจะกิน ต้องสละบางส่วนของร่างกายตัวเองเพื่อรักษาชีวิต ได้สักกี่น้ำ อุปมาอุปมัยอาจเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรมที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ไม่ทรงประสิทธิภาพขนาดนั้น นึกถึงคำค่อนขอดของซาร์ตว่าชนชั้นกลาง ชอบเขียนนิยาย โดยสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา โลกที่ปัญหาของพวกเขาเอง (เช่น วิกฤติศรัทธา) เป็นเรื่องใหญ่คับฟ้า ไม่แพ้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน

แปลว่านิยายทุกเล่มต้องพูดถึงแต่ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดหรือเปล่า ไม่ถึงขนาดนั้น แต่พอจับสองสิ่งมาเปรียบเทียบกัน มันอดคิดไม่ได้จริงๆ (กรีนน์เองนั่นแหละ ที่ "ท้า" ให้คนอ่านไปคิดต่อ) สนุกไหมกับ A Burnt-Out Case ตอบว่าอ่านเพลินดี แต่นี่คงเป็นนิยายเรื่องแรกของกรีนน์ที่นอกจากเราจะไม่ชอบแล้ว อาจจะใช้คำว่า "เกลียด" ได้เลย

D. Fisher's "The War Magician"


ทั้งที่เป็นคนชอบประวัติศาสตร์ แต่ genre หนึ่งซึ่งรักชวนหัวแสนจะไม่เคลิบเคลิ้มคือ "เรื่องเล่าประวัติศาสตร์" (historical narrative) หนังสือประเภทนี้คล้ายกับสารคดี เกิดจากการค้นคว้าอย่างหนักหน่วงของนักประวัติศาสตร์ ประกอบสร้างเหตุการณ์ในอดีตจากหลักฐานความจริงที่ไปขุดคุ้ยมา เรื่องเล่าประวัติศาสตร์จะมีสภาวะกึ่งนิยายกึ่งสารคดี วิธีการเล่าเรื่องเหมือนจะเป็นสารคดี แต่การนำเสนอมุ่งสร้างภาพลักษณ์แบบนิยายมากกว่าแค่การให้ข้อมูล

ข้อเสียของหนังสือประเภทนี้คือ อาจเป็นด้วยว่า กว่าจะค้นข้อมูลแต่ละตัวมาเหนื่อยแสนเหนื่อย รากเลือดแสนรากเลือด ผู้เขียนก็เลยมีแนวโน้มที่จะบรรจุทุกอย่างลงไป หนังสือเรื่องเล่าประวัติศาสตร์มักมีขนาดยาว ตั้งแต่ถือจับอยู่ในมือมา ไม่เคยเห็นเล่มไหนเลยที่ต่ำกว่าสามร้อยหน้า กว่าจะอ่านจบ เรามักรู้สึกว่า "หัวข้อสนุกดี แต่หนังสือไม่สนุกเท่าไหร่"

ชีวิตของแจสเปอร์ มาสเคลินน่าติดตามมากๆ สงสัยทำไมไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่เคยมีใครเอามาสร้างเป็นหนัง เขาเป็นนักมายากลชาวอังกฤษ ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นหัวหน้าหน่วยพรางตา บทบาทของมาสเคลินคือการเปลี่ยนรถบรรทุกให้กลายเป็นรถถัง เพื่อหลอกให้นาซีคิดว่าอังกฤษมีกองทัพที่ใหญ่กว่าความเป็นจริง และในบางโอกาส เปลี่ยนรถถังเป็นรถบรรทุก เพื่อหลอกให้คิดว่ากองทัพเล็กกว่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการปกป้องชัยภูมิสำคัญ เช่น ซ่อนเมืองท่าจากฝูงบินทิ้งระเบิด หรือซ่อนคลองสุเอซทั้งคลอง นอกจากนี้เขายังมีส่วนร่วมออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับสายลับอีกด้วย

แต่ที่น่าจดจำที่สุด กลับเป็นเรื่องราวก่อนมาสเคลินมาอยู่หน่วยพรางตา สมัยที่เขายังเป็นแค่พลทหารธรรมดา ผู้บัญชาการสั่งให้เขาไปเจรจากับพระราชาแห่งเมืองหนึ่งในประเทศอียิปต์ โดยพระราชาคนนี้มีชื่อเสียงขจรไกลในฐานะผู้ใช้เวทมนต์ ฉากที่ตระการตาเอามากๆ (และสมควรถูกสร้างเป็นหนังมากๆ ) คือมาสเคลินต้องดวลเวทมนต์กับพระราชา โดยต่างฝ่ายต่างเสกนู่นเสกนี่ออกมา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเวทมนต์ของตัวเองเหนือกว่า

เรื่องราวของมาสเคลินก็สนุกดี แต่ที่เราว่าน่าสนใจจริงๆ คือศิลปะการพรางตาและการประกอบมายากลเข้ากับการศึก เหล่านี้ไม่ใช่มาสเคลินเป็นคนรังสรรค์ขึ้นมา แท้จริงก็มีอยู่ตั้งนานแล้ว อย่างรอมแมล ผู้บัญชาการนาซีในทวีปแอฟริกา ก็ใช้เทคนิคคล้ายๆ กันนี้เพื่อสร้างภาพลวงตาหลอกข้าศึก ประเด็นนี่ต่างหากที่เราว่าน่าอ่านมากกว่าเรื่องราวของคนเพียงคนเดียว พูดตรงๆ มาสเคลินก็ไม่ใช่คนที่น่าสนใจขนาดนั้นเลยด้วยซ้ำ เหมือนวันๆ เขาจะคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะสร้างชื่อเสียง สู้รบปรบมือกับนาซีได้อย่างไร

โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ (นรชิต จิรสัทธรรม)


รักชวนหัวไม่เชื่อในความเป็นกลางในทางการเมือง นอกจากมันจะเป็นไปไม่ได้ ความเป็นกลางยังแฝงอคติ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมพุทธแบบไทยๆ ที่เรามักเชื่อกันว่าทางสายกลางคือสิ่งดี การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นเรื่องถูกแบบ ผลก็คือ สังคมเราเต็มไปด้วยพฤติกรรมแบบนินจา คนที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง จู่ๆ ลุกขึ้นมา "จัดหนัก" คนที่เลือกข้าง และพอฝ่ายหลังจะโต้ตอบบ้าง ก็จะเจอวิชานินจา  แฝงตัวเข้าหากำแพง ด้วยคาถา "ผมเป็นกลางนะ ผมทะเลาะมาแล้วกับคนทั้งสองสี" ปัดโธ่! เชื่อหรือไม่ว่าพ่อของพ่อของเหลืองและแดงตัวพ่อ ก็เคยทะเลาะกับคนสีตัวเองมาแล้วทั้งกัน การทะเลาะกับคนทั้งสองสีไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเลย

เคยอธิบายไปแล้วทำไมเราถึงเชื่อว่าความเป็นกลางมันเป็นไปไม่ได้ โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ ของอาจารย์นรชิตเสนออีกแง่มุมหนึ่ง เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือวิพากษ์วิจารณ์แนวทางเศรษฐศาสตร์คลาสสิค ปัญหาของเศรษฐศาสตร์แบบสมัยใหม่ จากมุมมองของนักหลังสมัยใหม่คือ การกำหนดจุดตั้งต้นที่ปัจเจก และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ จากสมมติฐานว่าปัจเจกมีความต้องการอย่างนู้นอย่างนี้

ในสายตาของนักหลังสมัยใหม่ ปัจเจกไม่มีอยู่จริง "ประธาน" คือช่องว่างที่หายไป รสนิยมและความต้องการบริโภคไม่ได้ออกมาจากอัตลักษณ์ของผู้บริโภค ในทางตรงกันข้ามผู้บริโภคซื้อสินค้าเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองต่างหาก เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราต้องการซื้ออะไร จนกว่าเราจะเริ่มซื้อของสักชิ้น และเมื่อเราซื้อของชิ้นนั้นไปแล้ว อัตลักษณ์ในตัวเราจะเกิดขึ้นมา และดลให้เราซื้อของชิ้นอื่นต่อจากนั้น (ยกตัวอย่าง คนที่ติดช่อง True ก็จะเริ่มดู AF และอาจนำไปสู่การดูละครที่เด็ก AF เล่น และไปดูมิวสิคคอลที่ M Theatre) นักหลังสมัยใหม่เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า "การบริโภคสัญญะ" เราไม่ได้ซื้อยาสีฟันเพราะเราต้องการสุขภาพปากที่ดี แต่เราต้องการสร้างอัตลักษณ์ในตัวเอง นี่คือสภาวะแห่งโลกทุนนิยมซึ่งเราหนีมันไปไม่พ้น ต่อให้เราปลูกต้นไม้ เอารากมาเคี้ยวเพื่อรักษาฟัน สุดท้ายนั่นก็จะเป็นการสร้างอัตลักษณ์อยู่ดี (ที่ลำบากลำบนทำแบบนี้เพื่อจะ "บอกคนอื่น" ว่าฉันเป็นขบถนะ ฉันไม่เอาทุน)

มองในทางการเมือง อัตลักษณ์หรือสีการเมืองอาจไม่ได้อยู่ในตัวปัจเจก แต่อยู่ในสินค้าที่ปัจเจกซื้อ หรือกว้างไปกว่านั้น กิจกรรมที่ปัจเจกทำ เอาเข้าจริงอัตลักษณ์อาจเป็นเรื่องที่ไร้ความหมายเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าสีอะไร ก็ไม่สามารถหาความเป็นหนึ่งเดียวในวาทกรรมที่ใช้อธิบายตนเองได้ (ทำไมสีเพื่อไพร่ถึงเอาทุนนิยม ทำไมสีเพื่อเจ้าถึงเป็นต้นเหตุความเสื่อมของสถาบัน) "ประธาน" คือช่องว่างที่หายไป ดังนั้นเราไม่มีสีเป็นของตัวเองตั้งแต่แรก แต่กิจกรรมที่เราทำ คนใกล้ชิดเรา และวิถีชีีวิตของเราคือตัวกำหนดสีต่างหาก

ในมุมมองแบบหลังสมัยใหม่ อาจจะจริงที่ว่าเราทุกคนไม่มีสี ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นกลาง แต่เพราะตัวเราไม่มีอยู่จริง ตราบใดที่เรายังอาศัยอยู่ในสังคม บริโภค มีปฏิสัมพัทธ์ การเปื้อนสีคือสิ่งที่เราหนีไปไม่พ้น พฤติกรรมแบบนินจา คงไม่เลวร้ายอะไรนัก ถ้าการหลอกผู้อื่นไม่ทำให้เราหลอกตัวเองไปด้วย ต่อให้เราเชื่อว่าสังคมไทยจะดีถ้าทุกคนล้างสีออก เราจะเริ่มการล้างสีได้ยังไง ถ้าเรายังไม่รู้ว่าตัวเองสีอะไร และสีมันแปดเปื้อนส่วนไหนของร่างกายเราบ้าง

J. M. Synge's "The Playboy of the Western World"


ถามว่าดีไหม รวมบทละครของซินเกอร์ ไม่ดีหรอก แต่ก็มีเสน่ห์อย่างประหลาด เท่าที่ได้ยินมา คนไอริชจริงๆ แล้วยากจน และไม่ค่อยมีการศึกษา กระนั้นก็ตาม คนไอริชกลับอ่านหนังสือเยอะมาก โดยเฉพาะวรรณกรรม ความขัดแย้งตรงนี้ทำให้ละครไอริชมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากละครภาคพื้นทวีป หรือละครอังกฤษ

ละครของซินเกอร์ส่วนใหญ่มีพลอตง่ายๆ บางทีก็เหมือนหยิบยกมาจากนิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องเล่าสู่กันฟัง อย่าง The Well of the Saints เป็นเรื่องของสามีภรรยาขอทานตาบอดคู่ทุกข์คู่ยาก หลังจากได้รับน้ำปาฏิหาริย์มารักษาดวงตา เมื่อพานพบใบหน้าอัปลักษณ์ของอีกฝ่ายเป็นครั้งแรก ต่างฝ่ายต่างรังเกียจซึ่งกันและกัน ตอนจบขององค์หนึ่ง เมื่อสามีมองเห็น แล้วเที่ยวไล่ถามผู้หญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้านว่า ใช่ภรรยาของเขาหรือเปล่า ทั้งน่าเศร้าและน่าขบขันในคราวเดียว ละครเรื่องนี้ลากยาวต่อไปอีกสององค์ ซึ่งไม่ได้แปลกใหม่ หรือน่าติดตามเท่าไหร่แล้ว

ข้อเสียของซินเกอร์คือ ความที่พลอตง่ายจนคาดเดาได้ ประเด็นก็มีแค่ประเด็นเดียว บทละครของเขาจึงเหมาะจะทำเป็นละครสั้นมากกว่า The Shadow of the Glen เป็นละครสั้นหนึ่งในสองเรื่อง และเป็นเรื่องที่ดีสุดในเล่ม พูดถึงสามีที่แกล้งตายเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์ของภรรยา เมื่อภรรยามีทีท่าว่าจะมอบใจให้ผู้ชายคนใหม่ สามีก็ลุกขึ้นมาจากสภาพศพ และขับไล่ภรรยาออกจากบ้าน เนื้อเรื่องง่ายๆ แต่ซินเกอร์ใส่ตัวละครเพิ่มขึ้นมาอีกตัว ขอทานที่ภรรยาเปิดประตูให้เข้ามาหลบหนาวในบ้าน ขอทาน (ซึ่งรู้แต่แรกว่าสามีแกล้งตาย) ไม่พอใจสิ่งที่สามีทำ เขาจึงเป็นฝ่ายพาภรรยาออกไปจากบ้านด้วยตัวเอง พร้อมทั้งปลอบโยนว่าชีวิตข้างนอก เอาเข้าจริงไม่เลวร้ายนัก กลับเป็นตัวสามีต่างหากที่จะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวนับแต่นี้เป็นต้นไป ที่เด็ดกว่าคือ เมื่อภรรยาและขอทานออกไปแล้ว สามีกลับเรียกผู้ชายคนใหม่ให้อยู่ดื่มเหล้าด้วยกันต่อ

ละครของซินเกอร์วนเวียนอยู่กับความ "ใจง่าย" ของมนุษย์ เดี๋ยวก็เปลี่ยนใจไปชอบคนนู้นคนนี้ The Playboy of the Western World ซึ่งน่าจะเป็นละครที่โด่งดังสุด ว่าด้วยชายแปลกหน้าคนหนึ่ง เข้ามาในหมู่บ้านและเที่ยวบอกใครต่อใครว่าเขาเพิ่งฆ่าพ่อตัวเอง และหนีกฎหมายมา ทุกคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะสาวๆ ต่างหลงใหลฆาตกรลึกลับผู้นี้ กาลต่อมา เผยว่าพ่อของเขา นอกจากจะยังไม่ตายแล้ว ยังโผล่มาที่หมู่บ้าน และเที่ยวแฉให้ใครต่อใครฟังถึงความไม่เอาไหนของลูกชาย เพื่อชนะใจผู้หญิงที่เขารัก ลูกชายฮึดสู้ และฆ่าพ่อตัวเองสำเร็จ แต่คราวนี้กลับกลายเป็นว่า คนทั้งหมู่บ้านตัดสินใจจะแขวนคอประหารชีวิตเขาเสีย พลิกจบได้อย่างร้ายกาจ