W. Faulkner's "The Sound and the Fury"
ซื้อ "คำรนและโทสา" มาตั้งแต่สองปีก่อน ตอนซื้อมาใหม่ๆ เปิดอ่านไปหกสิบหน้าโยนทิ้งเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง และคิดว่าก็คงไม่ได้หยิบมันขึ้นมาอีก ถ้าไม่ได้อ่านบันทึกความทรงจำของเทนเนสซี วิลเลียมส์ แกเล่าว่าเจอฟอล์คเนอร์หนหนึ่ง ผู้ชายคนนี้ตาเศร้าจนวิลเลียมส์อดไม่ได้จะต้องร้องไห้ออกมา ขอลองสัมผัสหน่อยเถอะ นิยายอันโด่งดังของผู้ชายตาเศร้าซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมผู้นี้
ผ่านมาสองปีอ่านรู้เรื่องขึ้น แต่นี่ไม่ใช่หนังสืออ่านง่าย เราไม่เคยเข้าใจคนที่เขียนหนังสืออ่านยาก ยอมรับว่าอาการพิศวงงงงวยอันเกิดจากการพยายามตีความตัวอักษรเป็นความรู้สึกที่มีเสน่ห์ และเป็นที่มาของบทกวี แต่ขณะเดียวเส้นที่ขั้นระหว่างศิลป์อันมีคุณค่า และการที่ผู้เขียนไม่มั่นใจสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อ เลยจงใจเขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องนั้นเป็นเส้นที่บางจิ๊ดเดียว
ทั้งที่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกลวิธีกระมัง ผู้เขียนทำอย่างไรให้งานตัวเองอ่านยาก (สังเกตว่าการเขียนหนังสือให้อ่านยากนั้นจริงๆ แล้วต้อง "จงใจ" เพราะมีแต่คนบ้าเท่านั้นที่สื่อสารในชีวิตประจำวันไม่รู้เรื่อง) อย่างเวอจิเนียร์ วูล์ฟเป็นนักเขียนอ่านยากที่เราชื่นชม และติดตามงานเขียนของเธอ เพราะความอ่านยากของนิยายวูล์ฟมาจากการที่เธอหักล้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเล่าเรื่อง และคิดค้นวิธีนำเสนอรูปแบบใหม่
...ซึ่งตรงข้ามกับฟอล์คเนอร์
เจ้าข้าเอ๋ย! ใครก็ตามที่คิดอ่าน "คำรนและโทสา" ขอตะโกนดังๆ เตือนไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ตัวละครชื่อ "เควนติน" นั้นมีสองตัวนะเหวย คนหนึ่งเป็นผู้ชาย เป็นพี่ของแคดดี้ เบนจี้ และเจสัน ส่วนเควนตินอีกคนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นลูกสาวของแคดดี้ สาบานเลยว่าคุณจะอ่าน "คำรนและโทสา" ง่ายขึ้นร้อยเท่า (สงสัยยิ่งนักว่าที่เราเพิ่งรู้ตัวประมาณสองร้อยหน้าผ่านไปแล้วนั้น เร็ว หรือช้าเกินไปจากที่คนเขียนตั้งใจไว้แต่แรก ฟอล์คเนอร์มาเฉลยเอาโต้งๆ ประมาณหน้าสองร้อยหกสิบจากนิยายหนาสามร้อยหน้ากว่าๆ )
จุดเด่นที่สุดของฟอล์คเนอร์อยู่ที่การเล่าเรื่องแบบ "กระแสสำนึก" (stream of consciousness) กระแสสำนึกตามแบบฉบับฟอล์คเนอร์คือการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง โดยแต่ละเหตุการณ์ที่ตัวละคร "ผม" พบเจอ นำไปสู่แฟลชแบคอีกร้อยแปดประการ คล้ายๆ ทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าสิ่งเร้าอย่างเดียวขุดเอาความทรงจำได้นับไม่ถ้วน เหตุการณ์ทั้งหมดใน "คำรนและโทสา" ยาวแค่สี่วันเท่านั้น เพียงแต่มันอุดมไปด้วยแฟลชแบค
คำถามซื่อๆ คือกระแสสำนึก ต่างจากการเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งตรงไหน กระแสสำนึกนั้นอ่านยากกว่าเยอะ เพราะเป็นการติดตามความคิดตัวละคร ซึ่งไม่จำเป็นว่าเขาต้องอธิบาย หรือเล่าเรื่องให้เราฟัง ยกตัวอย่าง ฟอล์คเนอร์เขียนถึง "ผม" เสมือน "ผม" เป็นคนจริงๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ "ผม" จะมาอธิบายให้คนอ่านฟังว่าตัวละครซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตเขานั้นเป็นใครบ้าง (เพราะในความเป็นจริง "ผม" ย่อมรู้จักคนเหล่านั้นดีอยู่แล้ว) ลองเปรียบเทียบกับการเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งทั่วไปดู ทุกครั้งเวลาตัวละครใหม่ๆ โผล่เข้ามา "ผม" ต้องอธิบายที่มาที่ไปของพวกเขา "คำรนและโทสา" จึงเต็มไปด้วยตัวละครเข้าๆ ออก ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู่อ่านจะจัดวาง หาที่ทางในสมองให้พวกเขาเหล่านั้น
อุปสรรคประการอื่นๆ เช่นต้องจับให้ได้ว่า "ผม" ในแต่ละบทนั้นเป็นใครบ้าง (เฉลย: เบนจี้, เควนติน (ชาย), และเจสัน) และเนื่องจากนิยายเต็มไปด้วยแฟลชแบค ต้องโยงใยเส้นเวลาให้ถูก ว่าเหตุการณ์ใดเกิดช่วงไหน อุปสรรคสองตัวนี้พอรับได้อยู่ ไม่เหมือนอุปสรรคประเภทตั้งชื่อตัวละครซ้ำกัน แล้วให้คนอ่านมานั่งแกะว่าใครเป็นใคร อะไรมันจะหากินง่ายขนาดนี้ (วะ) (นอกจากเควนติน ในเรื่องนี้ยังมีเจสันสองคนอีก เอากับแกสิ!)
เกือบลืมพูดถึงเนื้อเรื่องไปแน่ะ "คำรนและโทสา" ว่าด้วยการล่มสลายของครอบครัวหนึ่งในรัฐทางใต้ของประเทศอเมริกา แทรกประเด็นการเหยียดผิวเข้าไปด้วย ชื่อเรื่องมาจากคำพูดของแมคเบตในบทละครเชคสเปียร์ "it is a tale / Told by an idiot, full of sound and fury, / Signifying nothing." กษัตริย์ทรราชเปรียบชีวิตว่าเป็นนิทานคนเขลา เต็มไปด้วยเสียงคำรามและฟ้าผ่า แต่สุดท้ายว่างเปล่าไร้ความหมาย
ขณะที่อ่านนิยายเรื่องนี้ อดไม่ได้รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเล่นลูกบาศก์สลับสี หรือเกมประลองเชาว์ จริงอยู่ว่าถ้าตัดไอ้อาการกล่องปริศนานี่ออก มันก็จะกลายเป็นหนังสือธรรมดา แต่ขณะเดียวกันคนอ่านก็สามารถมุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ หรือตัวละครได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายประเด็นน่าสนใจดีเหมือนกัน) ถือเป็นบทเรียน ทางเลือกให้นักเขียนแนวนี้ไปชั่งใจเอาแล้วกันว่าคุณมั่นใจในสารของตัวเองแค่ไหน
ขอบ่นนอกเรื่องหน่อยเถอะ สังเกตมาเยอะว่านักเขียนไทยพักนี้เอะอะอะไรก็กระแสสำนึกๆ โดยไอ้คำว่ากระแสสำนึกมักจะมาพร้อมกับ "อ่านยาก" และ "ข้าเก่ง" ไม่ได้ต่อต้านงานเขียนแนวนี้นะ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้วิเศษวิโสหรือเขียนยากถึงขนาดต้องมานั่งชื่นชมนักเขียนคนหนึ่งเพียงเพราะเขาเขียนงานแนวกระแสสำนึก (กระแสสำนึกห่วยๆ ก็ยังคงเป็นกระแสสำนึกห่วยๆ อยู่ดี) ที่สำคัญไม่เห็นด้วยกับนักเขียนที่จงใจเขียนหนังสือให้ "อ่านยาก" โดยไม่ยอมให้เหตุผลอะไรชัดเจนไปกว่า "ก็มันเป็นงานแนวกระแสสำนึกนี่ ก็ต้องอ่านยากอยู่แล้ว" สาธุเถอะครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
คุณLaughable Loves มองเคว็นตินที่เป็นคนบ้ายังไงคะ ตอนที่คนบ้าบรรยายนี่ อ่านยากมากๆ เลย ทำไมผู้เขียนต้องให้ความสำคัญกับ "คนบ้า" ด้วยคะ
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
คุณสายฝนฯ คงหมายถึงเควนตินคนที่เป็นพี่ชาย ช่วงท้ายๆ บท ก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายเหมือนๆ จะอ่านยากหน่อย ผมคิดว่าช่วงนั้นแหละ ที่ฟอล์คเนอร์ใช้กลวิธี "กระแสสำนึก" ประเภทตัวละครนึกอะไรออกมาก็รีบๆ เขียนลงไป โดยไม่มีความจำเป็นต้องต่อๆ กัน ยอมรับครับว่าอ่านยาก แต่ถ้ามองว่า ในเมื่อเรากำลังจะเข้าไปอ่านกระแสความคิดของคนบ้า ถ้าไม่ให้มันอ่านยากนิดหนึ่ง ก็คงกระไรอยู่ จริงไหม
ต้องขออภัยค่ะผิดพลาดไปหน่อย เบนจี้ค่ะที่ปัญญาอ่อน ไม่ใช่เควนติน เรากำลังสงสัยกับการตั้งโจทย์ให้ตัวละครเป็นบ้าหรือปัญญาอ่อน คือน่าจะไม่ใช่แค่ทำให้เกิดความซับซ้อนของเรื่อง แต่ผู้เขียนน่าจะตั้งคำถามกับความ "ดี" หรือ "บ้า" ของคนหรือเปล่า บางทีความบ้าอาจเป็น "อภิสิทธิ์" หรือเป็น "ทางออก" ของตัวละคร(โดยเฉพาะเวลาทำผิดในละครน้ำเน่า) หรือไม่ก็ เป็น "อำนาจ" ที่ผู้อ่านไม่อาจเอาความสมจริงมาเทียบได้ ตัวละครบ้าจึงมี "บางอย่าง" เหนือกว่าตัวละครปกติ
คุณLauable-loves มีความเห็นว่ายังไงคะ
จริงๆ คำอธิบายของคุณสายฝนฯ เรื่องตัวละครปัญญาอ่อนก็มีส่วนถูกเหมือนกัน แต่ขออนุญาตเสนออีกความเห็นแล้วกัน
ผมคิดว่าฟอล์คเนอร์ใช้ตัวละครเบนจี้เพื่อแสดงให้ความเสื่อมถอยของวิถีชีวิตแบบทางใต้ของอเมริกา สถานที่ซึ่งผู้คนมีวัฒนธรรมอันแตกต่างจากชาวนิวยอร์ค หรือชาวแคลิฟอเนียร์ คนใต้มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง ยังยึดถือการแบ่งชนชั้นวรรณะ และระบบสายเลือด ด้วยเหตุนี้การแต่งงานในครอบครัว (หรือตระกูลเดียวกัน) จึงปรากฏให้เห็นบ่อยกว่าที่อื่น เด็กที่เกิดมาจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะปัญญาอ่อน หรือเป็นบ้ากว่าภาคอื่นๆ ในประเทศ
อธิบายแบบกว้างๆ นะครับ แค่อีกหนึ่งความเห็น
Post a Comment