D. Lessing's "The Memoirs of a Survivor"
เราไม่ค่อยชอบงานเขียนพวกอัตชีวประวัติเท่าไหร่ ถ้าจะพออ่านได้ ก็ต้องชอบคนเขียนมากๆ หรือเขาไปทำอะไรที่เราอยากรู้จริงๆ เช่นเป็นอัตชีวประวัติของคนที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ หรือเป็นนักประดาน้ำงมหอยมุกหารายได้ แต่ถ้านักเขียนจะมาเล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเอง กรุณาแต่งเป็นนิยายแล้วเอาตัวพวกท่านใส่ลงไปดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า The Memoirs of a Survivor เล่นกับขนบอัตชีวประวัติได้อย่างน่าสนใจ เปิดเรื่องมา จู่ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งมาหา "ฉัน" แล้วบอกให้ฉันรับเลี้ยง ดูแลเด็กผู้หญิงชื่อเอมิลี ฉันเองก็บ้าจี้ รับเอมิลีมาไว้ในความรับผิดชอบ เอมิลีเป็นเด็กผู้หญิงเงียบๆ ไม่ค่อยอีร้าค้าอีรมกับฉันสักเท่าไหร่ สิ่งเดียวในชีวิตที่เธอให้ความสำคัญคือฮิวโก สัตว์เลี้ยงประจำตัวซึ่งบอกไม่ได้ว่าเป็นหมา หรือแมวกันแน่
อ่านไปสักพัก เราจะเริ่มจับทางออกว่า เรื่องของฉัน และเอมิลีแท้จริงแล้วเป็น "คติสมมติ" (allegory) เอมิลีก็คือตัวฉันในอดีต บางครั้งฉันก็จะเห็นภาพหลอนของเหตุการณ์ในวัยเด็กของเอมิลี ซึ่งก็คือเหตุการณ์วัยเด็กของ "ฉัน" และตัวเลซซิงเองด้วย ฮิวโกก็ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงธรรมดา แต่เหมือนจะเป็นจิตสำนึก มโนธรรมของเอมิลี โดยเด็กหญิงจะต้องเผชิญหน้ากับความสับสนของวัยรุ่น เพื่อนฝูง รักครั้งแรก และเซ็ก ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง ถ้าไม่ใช่เพราะฮิวโก เอมิลีก็อาจเตลิดเปิดเปิงไปไหนต่อไหนแล้ว
ว่ากันว่าในตัวผู้ใหญ่ทุกคนจะมีเด็กซุกซ่อนอยู่ ในกรณีนี้ ต้องพูดว่าในตัวเด็กเอง (เอมิลี) ก็มีผู้ใหญ่ (ฉัน) คอยจับตามองอยู่เช่นกัน เป็นแนวคิดใหม่ซึ่งเลซซิงเล่นกับมันได้อย่างชาญฉลาด The Memoirs of a Survivor เต็มไปด้วยคติสมมติอื่นๆ อีกมายมาย เช่นบ้านเมืองที่เอมิลี และฉันอาศัยอยู่นั้น เป็นโลกอันล่มสลาย เมืองร้างที่ไร้ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์ เด็กๆ รวมหัวกันตั้งแก๊งลักขโมย ถ้าถามว่าสภาพเมืองเช่นนี้เป็นคติสมมติของอะไร เราก็ยังตอบไม่ได้
ท้ายที่สุดถามว่าชอบ The Memoirs of a Survivor ไหม คงตอบสั้นๆ ว่าไม่ค่อย พอถึงช่วงท้ายๆ เล่ม เราเริ่มจะหมดความสนใจแล้ว ต้องบังคับตัวเองให้อ่านไปเรื่อยๆ จนจบ ต้องยอมรับว่ากรรมวิธีการเขียนอัตชีวประวัติของเลซซิงนั้นน่าขบคิดดี ว่างๆ จะขโมยไปใช้บ้างแล้วกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment