A. B. Toumi's "Madah-Sartre"
ขอเปิดบทวิจารณ์ด้วยคำพูดคลาสสิกของนิค คาราเวย์ ตัวเอก (ที่ถูกคนลืม) ของ The Great Gatsby ว่า "ผมเป็นคนใจกว้าง" และหลักฐานอย่างหนึ่งของความเป็นคนใจกว้างก็คือเวลาอ่านหนังสือ ต่อให้เราเห็นด้วยกับผู้เขียน แต่ถ้าความคิดของเขาถูกนำเสนออย่างสุดโต่ง ก็อาจหงุดหงิดได้เหมือนกัน เช่นบทละคร Madah-Sartre ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ว่า นี่เป็นบทละครสมัยใหม่ เพิ่งถูกเขียนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยเหตุเกิดในปี 1980 กว่าๆ ช่วงที่พวกผู้ก่อการร้ายชาวอิสลามในอัลจีเรียเริ่มต้นสังหารนักวิชาการทั่วประเทศ ซาร์ตและโบวิว หญิงคนรัก โดยตัวเธอเองก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่ลัทธิสตรีนิยมด้วย ซึ่งในปี 1980 ทั้งคู่ก็ซี้แหงแก๋มานานแล้ว ลงมาจากสวรรค์เพื่อมาร่วมงานศพของนักเขียนคนหนึ่งที่ถูกผู้ก่อการร้ายลอบสังหาร ระหว่างที่ไปร่วมงาน ทั้งซาร์ตและโบวิวถูกผู้ก่อการร้ายลักพาตัว โดยบทละครทั้งเรื่องนี้คือความพยายามของมาดาฮ์ หมอสอนศาสนาที่ถูกองค์กรส่งมาเพื่อชักชวนให้ซาร์ตและโบวิวเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิลสาม โดยพวกนี้หวังว่าถ้าชวนสองคนนี้เข้าเป็นพวกได้ ก็จะมีผู้ติดตามอีกมากมาย
เอาเข้าจริงบทละครเวทีที่มีตัวละครเป็นคนดังในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว รวมถึงที่เล่นกับชีวิตหลังความตายของพวกเขาเหล่านั้นก็เป็น genre น้อยๆ ที่น่าสนใจอยู่ แต่ผลงานของทูมีเล่มนี้ไปไม่ถึงเอาเสียมากๆ อ่านแล้วหงุดหงิดกับความพยายามของทูมีที่นำเสนอให้มาดาฮ์ดูใจแคบและโง่เง่าอย่างเห็นได้ชัด ข้อถกเถียงของมาดาฮ์ไม่ได้ไกลไปกว่า "ถ้าไม่นับถือพระเจ้า ตายไปจะตกนรกนะ" เรียกว่าในเชิงเหตุผลแล้วเทียบกับซาร์ตและโบวิวไม่ติดฝุ่น ถ้าเป็นมวย ก็ต้องบอกว่าต่างรุ่นกันเกินไป ต่อยไม่มัน จริงๆ มาดาฮ์นั้นแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้ว เพราะซาร์ตคือคนที่ตายไปแล้ว เขาไม่สามารถโดนขู่ฆ่าเอาชีวิตได้ มิหนำซ้ำซาร์ตเองก็เพิ่งลงมาจากสวรรค์ เขาได้พบกับพระผู้เป็นเจ้าซึ่งๆ หน้า ทั้งที่ตัวเองก็เป็นพวกอเทวนิยมมาทั้งชีวิต แล้วแบบนี้ผู้ศรัทธาหัวรุนแรงอย่างมาดาฮ์จะเอาอะไรไปสู้ ทูมีเองก็ไม่ได้เอาความเหนือจริงของสถานการณ์ที่คนตายถูกผู้ก่อการร้ายจับตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร
ผิดหวังมากๆ Madah-Sartre ดูจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภาพยนต์สูง ซึ่งบทละครสมัยใหม่ก็เป็นอย่างนี้กันเยอะ บทเรียนแรกที่นักเขียนบทละครควรจะท่องเอาไว้คือบทละครเวทีไม่ใช่บทภาพยนตร์ ศาสตร์และศิลป์ของมันต่างกันราวฟ้ากับเหว ถ้าไม่รู้จักแยกแยะความแตกต่างระหว่างศิลปภาษาแขนงต่างๆ ก็สมควรกลับไปอ่าน What is Literature? อีกสักรอบก่อน แล้วค่อยมาเขียนถึงซาร์ต ดีไหม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment