A. Patchett's "Bel Canto"


อ่านเบล แคนโต้จบแล้ว ตบมือให้ตัวเองเปาะแปะ

เป็นหนังสือที่อ่านคุ้มค่าทุกตัวอักษรจริงๆ จะมีสักกี่เล่มนะ ที่พออ่านจบ ทำให้เราอุทานกับตัวเองว่า "ถ้ามนุษย์ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ โลกเราจะน่าอยู่สักเพียงใด" ในยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สับสน สงคราม และการประหัตประหารระหว่างคนต่างศาสนา ความเชื่อ เผ่าพันธุ์ เบล แคนโต้ตอบโจทย์กลายๆ ว่าสันติภาพไม่จำเป็นล่องลอยในสายลมเหมือนในเพลงบอบ ดีแลนเสมอไป

หนังสือว่าด้วยกลุ่มผู้ก่อการร้าย บุกเข้าไปในงานเลี้ยง บ้านพักรองประธานาธิบดีประเทศอเมริกาใต้ จับแขกทุกคนเป็นตัวประกัน โดยมีข้อเรียกร้องคือ "ปลดปล่อยมวลชน" แรกๆ ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แขกทุกคนเข้าใจว่าตัวเองคงไม่มีทางรอดชีวิตจากปฏิบัติการนี้

มีคนพูดไว้ว่าการเขียนหนังสือ ทำหนัง วาดรูป หรือแต่งเพลง เพื่อสื่อความเศร้านั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ความสุขนี่สิ ถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะยากยิ่งนัก เบล แคนโต้คือหนึ่งในผลงานไม่กี่เล่ม ที่วาดภาพความสุขได้เกือบสมบูรณ์แบบ ความสุขในเรื่องเบล แคนโต้ คือความสุขอันเนื่องมาจากความซาบซึ้งในงานศิลปะแขนงต่างๆ ในหมู่แขกที่ถูกจับเป็นตัวประกัน หนึ่งในนั้นคือนักร้องโซปราโนซึ่งขึ้นชื่อว่าเสียงดีที่สุดในโลก บทเพลงของเธอ และเสียงเปียโนจากปลายนิ้วนักดนตรีสมัครเล่น (อาชีพจริงๆ ของเขาคือนักธุรกิจ) ค่อยๆ แปรเปลี่ยนความหมดอาลัยตายอยากให้กลายเป็นความหวัง ไม่เฉพาะตัวประกัน แม้แต่ในหมู่ทหารก็อดไม่ได้ที่จะเคลิบเคลิ้มไปกับโอเปร่า ทั้งที่ไม่มีใครฟังภาษาอิตาลีรู้เรื่องสักคน

เบล แคนโต้คือหนังสือที่เขียนขึ้นมาเพื่อยอยศงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี วรรณกรรม ภาพวาด อาหาร กระทั่งหมากรุก มิหนำซ้ำยังรวมไปถึงภาษา นอกจากนักร้องโซปราโนแล้ว ตัวประกันซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนคือล่ามชาวญี่ปุ่น ผู้รู้หลายภาษาจนนับนิ้วไม่หมด กระทั่งหัวหน้าผู้ก่อการร้ายยังอดชื่นชม ยกย่องความชาญฉลาดของเขาไม่ได้ แพรชเชท (ผู้เขียน) ไม่ลืมพูดถึงเสน่ห์ และความสำคัญของการศึกษา ทันทีที่ทหาร และแขกรู้ว่าตัวเองต้องติดอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้เป็นเวลานาน พวกเขาเริ่มหันมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การที่เด็กวัยรุ่นยากจน ถูกสถานการณ์บังคับให้มาเป็นผู้ก่อการร้ายได้มีโอกาสเรียนหมากรุก ภาษา และโอเปร่า และทำท่าว่าจะมีพรสวรรค์ในเรื่องเหล่านี้ เหมือนจะบอกผู้อ่านว่ามนุษย์ ต่อให้ยากดีมีจนก็มีศักยภาพในการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ต่างแต่โอกาส

แพรชเชทแทรกปรัชญาการเมือง ข้อขัดแย้งระหว่างแนวคิดแบบอพอลโล (เทพแห่งกรีก สัญลักษณ์ของความรู้) และไดโอนิซุส (เทพแห่งความรื่นเริง) เหล่าผู้ก่อการร้ายที่แรกสุดบุกเข้ามาเพื่อสานฝันอุดมคติ "ปลดปล่อยมวลชน" ท้ายสุด ก็อดไม่ได้ที่จะติดละครน้ำเน่า ทีวีจอยักษ์ ฟังดนตรีคลาสสิก นอนเอกเขนกบนโซฟา รับประทานอาหาร เสบียงกรังที่โลกภายนอกส่งเข้ามา แพรชเชทเขียนหนังสือเล่มนี้ เหมือนต้องการสื่อกลายๆ ว่า ยุคแห่งอุดมการณ์ได้จบสิ้นลงไปแล้ว ที่โลกวุ่นวายสับสนอย่างทุกวันนี้เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่น และยัดเยียดอุดมคติตัวเองใส่ผู้อื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วโลกนี้จะวิเศษเพียงใด ขอแค่คนเราโยนวาทะ คัมภีร์ ตำรับตำราทิ้ง หันมาอ่านนิยาย ฟังเพลง ชื่นชมงานศิลปะ และเรียนรู้ภาษาต่างๆ เพื่อทลายกำแพงซึ่งแบ่งกั้นแต่ละประเทศ

ถึงไม่บอก คนอ่านก็คงเดาได้หนังสืออย่างเบล แคนโต้ไม่มีทางจบแสนสุข โศกนาฏกรรมในตอนท้ายเหมือนจะย้ำเตือน พาคนอ่านกลับมาอยู่ในโลกแห่งความจริง โลกที่ผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีเหตุมีผล และเข้าใจความงดงามของศิลปะเสมอไป พอจบหน้าสุดท้าย อดน้ำตาซึมนิดๆ ไม่ได้ รู้สึกเหมือนเพิ่งหลับไปหนึ่งตื่น เป็นฝันดีแสนเศร้า ที่เรารู้ว่าไม่มีวันเป็นจริง

1 comment:

simplyme said...

I would say I like this book too.. except for the last chapter. Even though you know all along that it can't end beautifully, that it's not realistic and plausible to end happily, but in a way, at least for me, I keeps on hoping that nobody will die. It's like a beautiful state of the world that you just want to freeze it like that forever. And the writer did a wonderful job of feeding you this beauty to the point of almost getting addicted to it. So when the last chapter arrived, I felt almost like being betrayed. You keep feeding me all these beautiful hopes and dreams just to enjoy seeing me in pain when you snatch them all away? But I also agree that other ending wouldn't do this story justice. The whole story was built so you would feel such immense contrast in the last chapter. I guess it's just like remembering a person's name better if you got slapped when you first met.