W. Faulkner's "The Reivers"
เคยนั่งคุยกับผู้กำกับว่า หนังอาร์ตสามารถเป็นหนังตลกได้หรือเปล่า ความตลกก๊ากๆ (ที่ไม่ใช่ตลกหึๆ ) ไปกันได้แค่ไหนกับความเนิบช้า ปล่อยอารมณ์ไปกับภาพ และบรรยากาศ ถ้าพูดกันในเชิงวรรณกรรมแล้ว เรายืนยันเลยว่า "อารมณ์ขัน" เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในหนังสือดีๆ แต่ว่าอารมณ์ขันกับความตลกก๊ากๆ ก็ต่างกันอย่างมากมาย เท่าที่จำได้ หนังสือเล่มเดียวเลยที่คนเส้นลึกอย่างเราอ่านแล้วปล่อยก๊ากคือ Boudolino ของอุมเบอร์โต เอโค
เล่มนั้นกับ The Reivers นี่แหละ
ชั่วชีวิตนี้ไม่คิดเลยว่าเราจะปล่อยก๊ากให้กับหนังสือของคนเขียน As I Lay Dying กับ The Sound and the Fury พอจะเห็นอารมณ์ขันใน As I Lay Dying อยู่ แต่ The Sound and the Fury เป็นหนังสือที่หดหู่ และเคร่งขรึมมาก และไม่คิดว่าภาษาแบบกระแสสำนึกจะเหมาะกับการเขียนเรื่องชวนหัวได้ขนาดนี้
ฟอล์คเนอร์สวมวิญญาณวูดเฮาส์ เล่าเรื่องราวของ "ผม" หรือลูเชียส พริส เด็กอายุสิบเอ็ด หลานชายเจ้าของไร่ในชนบทมิสซิสซิบปี พ่อ แม่ และปู่ของเขาเดินทางไปงานศพญาติในเมืองอื่น ช่วงสามสี่วันนั้นเอง ลูเชียส บูน และ เนดขโมยรถของเจ้าของไร่ และออกเดินทางไปเมมฟิส และจากจุดนั้น การผจญภัยอื่นๆ ก็ตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน
The Reivers ดำเนินเรื่องในช่วงต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 สมัยที่รถยนต์เพิ่งแพร่กระจายในอเมริกา รถยังเป็นของหายากอยู่ หลายคนมองว่ามันเป็นแฟชั่นที่จะผ่านมา และผ่านไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่อีกหลายคน เช่นบูนสัมผัสได้ถึงกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ว่ากันว่า เศรษฐกิจของอเมริกายิ่งใหญ่มาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะรถ ประเทศอเมริกาเป็นประเทศมโหฬาร มีประชากรกระจายตัวกันอยู่ตามพื้นที่ต่าง ถ้าไม่มีระบบการคมนาคมที่ดีแล้ว ย่อมไม่สามารถพัฒนาประเทศไปไหนต่อไหนได้
เพราะฉะนั้น ก่อนรถจะมาถึง ม้า ลา และสัตว์พาหนะอื่นๆ คือปัจจัยสำคัญ (ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมคาวบอย หรือภาพคนอเมริกันที่เรานึกถึงในอดีต) เนดเป็นคนดำที่ทำงานอยู่ในไร่ของปู่ของลูเชียส เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญม้า ใน The Reivers เนดต้องรับสองบทบาทพร้อมกัน บทบาทแรกคือบทโศกนาฏกรรม ของคนที่กำลังจะสูญพันธ์ หรือหมดประโยชน์ไปจากสังคม แต่ขณะเดียวกันฟอล์คเนอร์ก็ต้องการเฉลิมฉลอง "วัฒนธรรมม้า" เป็นครั้งสุดท้ายก่อนมันจะสูญหายไปด้วย
น่าคิดอยู่เหมือนกันว่านิยายตลกอย่าง The Reivers สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง ที่ฟอล์คเนอร์ไม่อาจทำได้ใน As I Lay Dying และ The Sound and the Fury เช่นการให้ผู้อ่านสัมผัสวิถีชีวิตของชาวอเมริกาตอนใต้ในยุคสมัยนั้น The Reivers เป็นนิยายที่อ่านแล้วมีความสุขมากๆ เหมือนได้ผจญภัย และสังสรรกับตัวละคร และยังแทรกแง่คิดหลากหลายเช่นการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การเหยียดผิว ความรับผิดชอบ และเส้นบางๆ ที่กั้นกลางระหว่างความดี และความ "ไม่ดี"
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
แจ่มมาก ! อ่านบทความชิ้นนี้แล้วทำให้ตามลงไปอ่านบทความชิ้นเก่าเรื่อยๆ ภาษาชวนอ่านจริง ! นับถือๆ
Post a Comment