พูดถึงบทละคร "ฝันกลางฤดูร้อน" นิดหนึ่ง เป็นเชคสเปียร์ที่เราผูกพันสุด เพราะเป็นบทละครเรื่องแรกที่ได้อ่าน พออ่านจบรอบแรก คิดในใจละครอะไร (วะ) โคตรไร้สาระเลย แต่พอได้ดูกรอกตาบ่อยๆ ก็ชักชอบมันขึ้น (แปลกคือขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นหูละครเรื่องนี้ แต่ในอเมริกานี่คือเชคสเปียร์ซึ่งถูกนำมาเล่นบ่อยสุด เพราะมันมีเทพธิดา นางไม้ คนธรรพ์ อมนุษย์ อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ ถ้าตัด เย็บเครื่องแต่งกาย ทำฉากประกอบ จัดแสงไฟดีๆ ยังไงก็ดูสนุก) จนมาบัดนี้ บอกได้เลยว่าฝันกลางฤดูร้อนคือละครตลกอันมีการหลอกล้อ เล่นหัวกับเหยื่อคิวปิดเป็นธีมหลัก ซึ่งสมบูรณ์แบบสุด (เรื่องอื่นๆ ที่เล่นกับประเด็นนี้ได้แก่ คืนที่สิบสอง ตามใจท่าน เอะอะอะไรนักหนากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ความสูญเปล่าของความพยายามของคู่รัก และ สุภาพบุรุษสองนายจากเวอโรนิกา)
ถ้าละครคือศิลปะแห่งการใส่พลังงานเข้าไปในบท โอเปร่าก็คือการใช้ดนตรีมาช่วยสร้างอารมณ์ ช่วยเสริมพลังงานดังกล่าว ในฝันกลางฤดูร้อน ของบริทเทนมีอยู่หลายฉากที่ยอมรับว่านำดนตรีมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะ เช่นฉากสมสู่ระหว่างทิทาเนีย ราชินีนางไม้ และบัททัม กรรมาชนซึ่งถูกสาปให้เป็นลา เพลงนี้ได้อารมณ์หวิวๆ ต่างโลก ผสมยั่วยวนนิดๆ หรือฉากที่ไลแซนเดอร์ และเดมีเทียสถูกพิษดอกเสน่ห์จนมัวเมาไปสารภาพรักกับผู้หญิงผิดคน ดนตรีออกแนวโฉ่งฉ่างพระเอกจ๋า ตรงข้ามกับความน่าขบขันบนเวที อีกฉากที่ทำได้ดีไม่แพ้กันคือเมื่อคู่รักตื่นจาก "ฝันกลางฤดูร้อน" ทั้งสี่ร้องเพลงท่อนเดียว สลับจังหวะ และเสียงสูงต่ำไปเรื่อยๆ เป็นฟิวก์ประเภทหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจ และได้อารมณ์สลับคู่ดู๋ดี๋ดี
แต่ขอร้องคือฉากระหว่างนั้น ช่างเยิ่นเย้ออะไรจะประมาณนี้ ในละครแต่ละเรื่อง ก็ไม่ใช่ว่าทุกฉากสมควรจะต้องมาเร้า มาเล่นอารมณ์กันสักหน่อย รีบๆ ปล่อยๆ ให้ผ่านๆ ไป คนดูจะได้ชมฉากเด็ดๆ ไวๆ ไม่ดีกว่าเรอะ (แม้แต่ใน "ขลุ่ยวิเศษ" ก็ไม่ใช่ว่าตัวละครจะร้องเพลงทุกฉากสักหน่อย หลายตอนโมสาร์ตก็ปล่อยให้นักแสดงพูดบทไป) ฉาก "โศกนาฏกรรมระหว่างพีรามุส และทิสบี้" ซึ่งน่าจะฮาได้ไม่ยาก ก็ยังอุตส่าห์เกิ้มๆ เขินๆ ไม่ลงตัวยังไงไม่ทราบ
พูดแบบนี้ คงถูกนักโอเปร่าหลายคนดูถูก แต่เรารู้สึกว่ายังไงละครเพลงเฉยๆ ก็ดูสนุกกว่าเป็นไหนๆ
No comments:
Post a Comment