H. James's "The Wings of the Dove"
ผู้กำกับเคยบอกเราว่า มันมีเทคนิกทางภาพยนตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งเราจำไม่ได้แล้วว่าชื่อเท่ๆ ภาษาอังกฤษคืออะไร ในการทำให้เวลาจริงซึ่งปรากฏบนจอ มันสั้นกว่าเวลาที่คนดูรู้สึก ตัวอย่างง่ายๆ คือ เวลาในหนังอาจจะแค่สิบห้านาที แต่คนดูรู้สึกเหมือนมันยาวเป็นชั่วโมง ซึ่งเราก็ยังงงอยู่ว่าไอ้เทคนิกนี้ มันต่างอะไรกับการทำหนังให้น่าเบื่อ จนคนดูรู้สึกเหมือนมันยาวไม่มีสิ้นสุด (ฮา)
ไม่รู้เหมือนกันว่าเทคนิกตัวนี้ กับวิธีการเขียนของเฮนรี เจมส์จะคล้ายคลึงกันหรือเปล่า ถ้าให้เล่าเรื่องย่อ The Wings of the Dove ก็คงใช้พื้นที่ไม่เกินหนึ่งสามบรรทัด แต่เจมส์สามารถลากมันไปได้ยาวอีกห้าร้อยหน้า นิยายเรื่องนี้ถูกนำมารีโทลโดยแพทริเซีย ไฮสมิท และตอนหลังเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยแอนโธนี มิงเกลลา ในชื่อใหม่ที่พวกเรารู้จักกันดีคือ The Talented Mr. Ripley ซึ่งเอาเข้าจริง เนื้อเรื่องลักษณะแย่งชิงมรดกก็ไม่ใช่ของใหม่อะไรตั้งแต่ในปี 1902 แล้ว (สมัยที่เจมส์เพิ่งเขียน The Wings of the Dove) กระทั่งเจมส์เองก็คงตระหนักถึงข้อนี้ดี เพราะมีหลายฉากในนิยายที่ถูกเล่าข้ามๆ ไป ประมาณว่าอย่างไรคนอ่านก็คงเดาเรื่องได้เอง
เจมส์นำเสนอเรื่องราวทีละฉากๆ โดยกำหนดให้หนึ่งบทมีหนึ่งฉาก และพอเปลี่ยนบททีหนึ่ง ก็กระโดดข้ามฉากเป็นห้วงๆ ไป ซึ่งบางครั้งก็จำเป็นต้องเล่าเรื่องย้อนหลังเพื่ออุดรูโหว่ในเหตุการณ์ด้วย (การเล่าเรื่องลักษณะนี้ ถูกฟิทเจอราลด์นำไปใช้ในอีกสองศตวรรษถัดมา) The Wings of the Dove จึงเป็นนิยายที่เล่าเรื่องได้ "ตลก" มาก บางครั้งก็กระโดดข้ามเหตุการณ์จนน่าใจหาย หลายอย่างถูกทึกทักเอาเองว่าคนอ่านต้องคาดเดาได้อยู่แล้ว หรือพอถึงช่วงท้ายนิยาย ตัวละครหลักก็หายหน้าหายตาไปเสียฉิบ แต่ในบางครั้ง เจมส์ก็ใช้เทคนิกที่กล่าวมาข้างต้น ขยายเหตุการณ์ยิบย่อยที่แทบไม่มีความสลักสำคัญอันใดให้ยาวยืดเสียสิบยี่สิบหน้า
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะคิดว่าเราไม่ได้ถูกโฉลกนิยายเรื่องนี้ พูดกันซื่อๆ ยอมรับว่าไม่ได้นิยม The Wings of the Dove ขนาดนั้น แต่ชอบวิธีการเขียนของเจมส์มาก รู้สึกเหมือนท่องไปในโลกแห่งฟองสบู่ เต็มไปด้วยจิตวิทยา และความคิดของตัวละคร (เฮนรี เจมส์เป็นพี่น้องกับวิลเลียม เจมส์ หนึ่งในนักจิตวิทยา ก่อนที่วิชาจิตวิทยาจะถูก "คิดค้น" โดยฟรอยด์) ขณะที่เหตุการณ์จริงๆ บางกระปิ๋วเดียวเหมือนผิวฟองสบู่ ปัญหาของนิยายเรื่องนี้คือมันยาวเกินไป ไม่ใช่ว่ามันน่าเบื่อ แต่มันอ่านโคตรยาก (พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า นี่คือนิยายที่อ่านยากที่สุดในชีวิตเรา) ถ้ามันสั้นกว่านี้ มันจะเปิดโอกาสให้เราใคร่ครวญตัวมันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment