U. Sinclair's "The Jungle"
ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าทรุฟโฟ หรือโกดา เคยพูดว่าเราไม่สามารถทำหนังต่อต้านสงคราม หรือความรุนแรงได้เลย เพราะทันทีที่เรานำเสนอความรุนแรงบนจอภาพยนตร์ (เพื่อจะได้ต่อต้าน) เราก็ได้บูชา และสร้างสรรค์ความรุนแรงนั้นขึ้นมาแล้ว ปัญหานี้จะพบได้บ่อยๆ ในหนังฮอลลีวูด หรืออย่างไมเคิล ฮาเนเก้ก็เป็นตัวตั้งตัวตีเล่นกับวาทยกรรม ต่อต้าน/บูชา ความรุนแรงในภาพยนตร์ การที่เราสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่ง ก็ต้องคิดเผื่อเอาไว้ด้วยว่า บางทีมันอาจเป็นดาบสองคม ซึ่งให้ผลตรงข้ามกับที่เราปรารถนาโดยสิ้นเชิง
นั่นคือปัญหาที่เรามีกับผลงานชิ้นเอกของอับตัน ซินแคร์ The Jungle นิยายเล่มนี้เล่าเรื่องราวรันทดของเจอเกน และออนา คู่รักหนุ่มสาวชาวลิธัวเนีย ที่เดินทางมาแสวงหาความฝันแบบอเมริกันในชิคาโก ทั้งคู่พบความยากลำบาก โดนเอารัดเอาเปรียบนานา และจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าท่ามกลางความอยุติธรรม เป้าหมายของซินแคร์คือเปิดโปง แวดวงธุรกิจ และสังคมในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ภาษาของซินแคร์ทรงพลังมากๆ โดยเฉพาะในสามสี่บทแรก The Jungle เปิดฉากที่งานแต่งงานของเจอเกน และออนา คนอ่านรู้สึกได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของคู่บ่าวสาว และแขกเหรื่อที่ต้องเต้นรำอย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่หัวค่ำจดเช้าวันถัดไป และในวันรุ่นขึ้น ไม่อาจแม้กระทั่งหยุดทำงาน แต่ก็เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่แฝงไปด้วยความสุขล้ำ และเป็นความสุขเพียงอย่างเดียวที่เหล่าผู้อพยพจะสามารถหาได้ในดินแดนแห่งนี้
อีกฉากที่เด็ดพอกัน คือการบรรยายภาพภายในโรงฆ่าสัตว์ ตั้งแต่วัวถูกนำเข้ามาในโรงงาน ผ่านกระบวนการทำความสะอาด โดนเชือด และทุกสรรพส่วนในร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นสินค้า อ่านแล้วเห็นภาพเครื่องจักรขนาดมหึมาที่ประหัตประหารปศุสัตว์อย่างไร้น้ำจ นอกจากความทางพลังทางด้านภาษาแล้ว ซินแคร์ยังค้นคว้าข้อมูลมาอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ The Jungle มีอิทธิพลขนาดตำรวจ นักการเมือง และสื่อมวลชน ต้องหันมาตรวจสอบธุรกิจค้าเนื้อ จนก่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาเลย
แต่ที่น่าแปลกใจคือ ถ้าอุตส่าห์ค้นข้อมูลมาขนาดนี้แล้วแล้ว ซินแคร์จะนำเสนอผลงานชิ้นนี้ในรูปแบบวรรณกรรมทำไม เล่าเป็นสารคดีโต้งๆ เปิดโปงความเลวร้ายของสังคมไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ในทางวรรณศิลป์แล้ว The Jungle เป็นหนังสือที่น่าเบื่อที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เราเคยอ่าน เพราะมันมีโน้ตแค่ตัวเดียว คือโชคชะตาอันน่าหยาบหยามของเจอเกน และออนา อ่านไปได้ครึ่งเล่มก็เอียนจนไม่รู้จะเอียนอย่างไร ไปๆ มาๆ เลยกลับกลายเป็นว่าเราจ้องจะจับผิดตัวเอกท่าเดียวว่าพวกเขาทำอะไรถึงได้พบชะตากรรมแสนบัดซบขนาดนี้ ทำไมถึงต้องดั้งด้นมาอเมริกาตั้งแต่แรก รู้ก็รู้อยู่ว่าอ่านหนังสือสัญญาไม่ออก ยังไปโง่ซื้อบ้านให้เขาหลอกอีก จนก็จน แล้วยังจัดงานแต่งงานซะหรูหรา ก็สมควรอยู่หรอกที่จะไม่รวยขึ้นมาเสียที และอีกมากมาย เป็นตัวอย่างดาบสองคมที่เกิดจากการนำเสนอเรื่องราวแค่ด้านเดียว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
นี่ไม่ใช่การวิจารณ์เลย มันเป็นการบ่นที่ง่อยเปลี้ยในแง่มุมมองและไร้พลังทางความคิด มันเหมือนคนบ่นกับสภาพอากาศซึ่งไม่มีร่องรอย critimal mind อยู่เลย
Post a Comment