M.R. James's "The Haunted Dolls' House and other Stories"


นานมาแล้ว สมัยเราเรียนอยู่ชั้นม. 6 ผู้กำกับเอาออดิโอบุ๊คส์ที่ยืมมาจากบริติชเคาซิลมาให้ดู มันเป็นหนังสือรวมเรื่องผีที่เราเองก็จำชื่อคนเขียนไม่ได้ ไม่ค่อยประทับใจกับเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นเท่าไหร่ ยกเว้นเรื่องแรกเรื่องเดียว เกี่ยวกับโรงแรมที่ไม่มีห้องหมายเลข 13

ด้วยความบังเอิญเราได้หนังสือ The Haunted Dolls' House and other Stories มา ซึ่งอ่านไปแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร กระทั่งเริ่มรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด จนมาเจอเรื่องสั้น Number 13 ถึงเพิ่งตระหนักได้ว่า อ๋อ ที่แท้คนเขียนออดิโอบุ๊คส์เล่มนั้นก็คือเอม อาร์ เจมส์นี่เอง ถือเป็นนักเขียนเรื่องผีชาวอังกฤษที่โด่งดังคนหนึ่งเลย แม้จะมีชื่อเสียงสู้เลิฟคาร์ฟซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นเดียวกัน แนวเดียวกันไม่ได้ก็ตาม

การได้เจอข้าวของจากวัยเยาว์แบบนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังไม่ใช่เพราะจะเกริ่นนอกเรื่อง แต่เพราะเรื่องผีของเจมส์ก็มักเกี่ยวพันกับข้าวของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เช่น นกหวีดที่เจอโดยบังเอิญ หนังสือเก่าสักเล่ม ตุ๊กตาไม้แกะสลัก แผ่นกระดาษลึกลับ ภาพขูดโลหะ หรือบ้านตุ๊กตา ซึ่งมักจะนำโชคร้ายหรือเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมายังเจ้าของ อย่างเรื่องสั้นที่เราชอบสุดในเล่มคือ The Diary of Mr Poynter ว่าด้วยผู้ชายคนหนึ่งเจอลวดลายพิสดารเสียบอยู่ในหนังสือ ทุกคนถูกอกถูกใจลวดลายนี้มาก แต่พอเอาลายนั้นมาถักทอเป็นผืนผ้าม่านก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เรื่องนี้น่าสนใจเพราะมันหมายความว่าวิญญาณไม่ได้สิงอยู่แต่เฉพาะในตัววัตถุเท่านั้น แต่ยังสิงอยู่ใน "ศิลปะ" หรือลวดลายของวัตถุได้ด้วย อีกเรื่องที่เด็ดคือ Martin's Close รุ่นพี่คนหนึ่งเคยพยายามเขียนเรื่องสั้นโดยใช้เฉพาะคำตัดสินอย่างเป็นทางการของผู้พิพากษา เรารู้สึกว่าเรื่องสั้นของรุ่นพี่คนนั้นประสบความสำเร็จแค่กึ่งเดียว ขณะที่ Martin's close เล่าเรื่องผีผ่านคำให้การของพยานในชั้นศาลได้อย่างชาบู ๆ

เรื่องสั้นของเจมส์ ส่วนใหญ่มักเปิดเรื่องด้วยตัวเอกไปซื้อของมือสองมาโดยบังเอิญ หรือได้รับสืบทอดต่อๆ กันมาจากญาติห่างๆ พล็อตลักษณะนี้เป็นตะวันตกมากๆ เพราะเรื่องผีไทยไม่ค่อยมีหรอกที่เกี่ยวพันกับข้าวของเครื่องใช้ (สังเกตว่าขนาดตุ๊กตาผีของคุณวาณิชยังต้องเป็นตุ๊กตาฝรั่งเศสเลย หาใช่ตุ๊กตาลูกกรอกหัวจุกไม่) จะบอกว่าคนไทยไม่ใช้อะไรจนเก่าก็ไม่เชิง แต่เอาเข้าจริงๆ เราไม่มีวัฒนธรรมของเก่า ของมือสองเหมือนฝรั่ง ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเรา ถ้าไม่เก่าไปกับเจ้าของ ก็มักจะส่งต่อให้ลูกหลานคนใกล้ชิด ไอ้เรื่องที่ว่าอยู่ดีๆ จะมี "ผอบ" ลึกลับตกมาถึงมือเรา เช่น ไปเดินสวนจตุจักรแล้วซื้อมา ไอ้เป็นไปได้น่ะเป็นไปได้ แต่ให้คาดหวังว่าจะมีตัวอะไรสิงอยู่ในผอบนี่ ดูไม่ค่อยเป็นเรื่องผีแบบไทยๆ เลย

เราเป็นคนชอบเรื่องผี โดยเฉพาะเรื่องผีที่เขียนดีๆ ที่สุดของที่สุดแล้ว เรื่องผีนี่แหละคือตัวอย่างคลาสสิกของ "การเล่า" เพราะมันเป็นเรื่องประเภทเดียวที่คนอ่านรู้มากกว่าตัวละคร และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนซ้ำซาก (แม้แต่ในหนังสือเล่มนี้ เจมส์ยังออกมายอมรับหนหนึ่งเลยว่า "เอ๋ะ! พลอตนี้ตูใช้แล้วนี่หว่า หวังว่าคนอ่านคงยังไม่เบื่อนะ") คนที่จะเขียนเรื่องผีได้ดี จึงต้องเป็นเซียนผู้เข้าถึงสูงสุดของศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่องเท่านั้น

1 comment:

อยากฟังเทปเสียงด้วย said...

อยากอ่านๆ

ของไทยก็มีนะ
พวกเอาของจากศพ
ของปลุกเสกอะไรเทือกนั้น
ซื้อจตุจักรมือสองก็เฉยๆ
แต่พอรู้ว่าขายเลหลังเพราะเจ้าของตาย
อันนี้คนไทยก็หลอนนะ เราว่าฝรั่งเขาชิวกว่า?