A. Koestler's "Darkness at Noon"


ฉากสะเทือนใจสุดของ Darkness at Noon เกิดในสวนหย่อมหน้าคุก มีผู้ชายซึ่งเพื่อนนักโทษตั้งฉายาเขาว่าริปแวนวิงเคิล เนื่องจากหมอตกเป็นเหยื่อความผันผวนทางการเมือง จนถูกจองจำขังลืมยี่สิบปี เมื่อถูกปล่อยตัวริปแวนวิงเคิลเดินทางกลับโซเวียต แต่ประเทศแห่งความฝันเปลี่ยนจากหน้าเมืองเป็นหลังมือ เขาถูกจับอีกรอบ สาเหตุเพราะพูดจาสรรเสริญวีรบุรุษการเมืองในอดีต ซึ่งปัจจุบันถูกตัดสินว่าเป็นผู้ทรยศไปแล้ว ระหว่างที่เดินออกกำลังกายในสวนหย่อม ริปแวนวิงเคิลหันมาหารูบาตอฟ ตัวเอกของนิยาย เขาหลับตาแล้ววาดรูปแผนที่ประเทศรัสเซีย ถูกสัดส่วนทุกประการ เพราะเจ้าตัวใช้เวลายี่สิบปีหัดวาดในความมืด หลังจากนั้นบอกรูบาตอฟว่านี่คือบ้านเกิดเมืองนอนของเขา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ส่งตัวขึ้นรถไฟผิดคัน ตอนนี้อยู่ประเทศอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ความล้มเหลวของคอมมิวนิสต์เป็นมากกว่าความพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นทั้งความล้มเหลวเชิงอุดมการณ์ น่าขบคิดว่าเหตุใดแนวทางซึ่งเหมือนจะเริ่มต้นมาจากความเมตตากลับกลายเป็นเครื่องจักรอันโหดเหี้ยมได้ ถ้าเราปิดหูปิดตา มองข้ามข้อเท็จจริงตรงนี้ แล้วทำตัวหัวโบราณ โทษความล้มเหลวของโซเวียตว่าเกิดจากการกลั่นแกล้งของสหรัฐอเมริกา ก็แสนจะน่าเสียดาย

Darkness at Noon อาจไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง (บางทีนี่อาจเป็นอีกหนึ่งโจทย์ในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ทุกรุ่นต้องหันกลับมาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า) แต่อย่างน้อยความพยายามของโคเอสเลอร์ก็น่าสนใจไม่น้อย Darkness at Noon เป็นอีกหนึ่งนิยายตีแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่หลักแหลมไม่แพ้ The Joke ของมิลาน กุนเดระเลยทีเดียว

เนื้อเรื่องไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมาก เปิดฉากมาชวนให้นึกถึง The Trial ของคาฟคา เมื่อรูบาตอฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในโซเวียต ผู้ทำงานรับใช้พรรคคอมมิวนิสต์มานานสี่สิบปี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดโทษฐานกบฏ เขาถูกกักขัง และตลอดทั้งเรื่อง เจ้าหน้าที่สองคนคืออีวานอฟ และเกลสกินผลัดกันมาไต่สวน โดยทั้งคู่มีแนวทางซึ่งขัดแย้ง ซ้ำยังแข่งขันกัน ใครจะได้รับความดีความชอบอันเนื่องมาจากคำสารภาพของรูบาตอฟ

Darkness at Noon จัดอยู่ในจำพวกนิยายกึ่งบทความ เช่นเดียวกับงานของกุนเดระ และเซลอฟ ไม่ได้เกิดเหตุการณ์มากมาย ตอนแรกนึกว่าจะเป็นตัวเอกรำลึกเล่าอดีต ซึ่งก็มีบ้าง แต่โดยมากจะเป็นรูบาตอฟถกปรัชญาการเมืองกับตัวเอง (ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นนิยายอยู่ดี ไม่บทความเอิกเกริกกันอย่างที่กุนเดระลุกขึ้นมาโต้แย้งกับตัวละคร) ย้อนกลับไป Angels & Insects อีกรอบ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ทีเล่มนั้นรู้สึกเหมือนบทความมาขวางโมเมนตัมการอ่านพิกล แต่พอเป็นเล่มนี้กลับรู้สึกลื่นไหล มิหนำซ้ำยังมีส่วนช่วยเสริมความเป็นกวีให้นิยายด้วยซ้ำ (ต้องอ่านทฤษฎีชิงช้าต้นบทที่สาม ถือเป็นอีกหนึ่งบทวิเคราะห์การเมืองอันหลักแหลม)

ระหว่างอ่าน Darkness at Noon นิยายซึ่งเรานึกถึงบ่อยๆ คือ The Grape of Wrath อาจเป็นเพราะต่างเล่มต่างแสดงให้เห็นความล้มเหลวของสองโลกอย่างชัดเจนสุด เล่มแรกคือโลกสังคมนิยม และเล่มหลังคือโลกทุนนิยม ซึ่งน่าสนใจว่าความชั่วร้ายในโลกทุนนิยมมักถูกบุคคลาธิษฐานให้เป็นสัตว์ร้าย มีเขี้ยวเล็บขบกัดชาวนา กรรมกร และคนยากคนจน ขณะที่ในโลกสังคมนิยม ความชั่วร้ายคือเขาวงกต และความไร้เหตุไร้ผล แต่ไม่ว่าจะโลกไหนก็ตาม การเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ย่อมดีกว่าหลงวนเวียนอยู่ในวิมานอากาศไปตลอดชีวิต

No comments: