I. Murdoch's "The Sacred and Profane Love Machine"


ฝรั่งมีสำนวนตัวหนึ่งคือ House of Card หรือบ้านไพ่ หมายถึงการเอาไพ่มาต่อสูงๆ เป็นปิระมิดหลายชั้น แค่หายใจแรงๆ หรือพลั้งมือไปนิดเดียว บ้านไพ่ที่อุตส่าห์ต่อมาเสียนาน สามารถพังทลายลงในพริบตา

สำนวนบ้านไพ่นี่เอามาใช้กับนิยาย หรือบทละครก็ได้ ในแง่หนึ่งหมายถึงหนังสือที่ซับซ้อนมากๆ ชนิดที่ตัวละครทุกตัวมีความต้องการแอบแฝง โกหกกันไปโกหกกันมาเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการ หนังสือประเภทนี้ได้แก่หนังสือนักสืบ ซึ่งในท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างเฉลย ก็เหมือนไพ่ที่พังเรียบลงในพริบตาอย่างสวยงาม ปัญหาการเขียนนิยายแบบบ้านไพ่ คือต้องซ้อนแต่ละองค์ประกอบดีๆ ไม่ให้บ้านทั้งหลังพังลงมาก่อนจะถึงจุดจบ

พูดมายาวเหยียดไม่ใช่ว่า "The Sacred and Profane Love Machine" จะเป็นนิยายนักส่งนักสืบหรอกนะ เพราะสำนวนบ้านไพ่เอามาใช้กับนิยายชนิดอื่นก็ได้ เช่นนิยายที่ตัวละครเยอะๆ ความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกันไปมา จริงๆ นิยายของไอริช เมอดอกส่วนใหญ่ก็มีความเป็นบ้านไพ่อยู่เหมือนกัน TSaPLM คือตัวอย่างที่คนเขียนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรักษาสมดุลตัวละครไว้จนท้ายเรื่อง

ซึ่งน่าเสียดาย เพราะ TSaPLM คือนิยายที่เปลี่ยนจากโคตรดี ไปเป็นเฮงซวยในเวลาเพียงไม่กี่หน้า

TSaPLM เล่าเรื่องของเบลน ผู้ต้องเลือกทางเดินระหว่างแฮเรียด ภรรยา และเอมิลี เมียน้อย แน่นอนว่านี่คือนิยายเมอดอก นอกจากสามตัวละครที่กล่าวมาแล้วยังมี เดวิด ลูกชายของเบลน มอนตี้ เพื่อนบ้านที่เป็นนักเขียน เอดการ์ เพื่อนของมอนตี้ ปิน เพื่อนสนิทของเอมิลี ลูคัส ลูกชายของเอมิลี และคิคิ สาวใจแตกที่ไม่รู้จะโผล่เข้ามาในหนังสือทำไม

จริงๆ ก็อยากชมอยู่หรอกนะ เพราะ 300 หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ดีมาก ถือเป็นงานคลาสสิกสไตล์เมอดอกเลย แต่พอถึง 60 หน้าสุดท้าย เริ่มรู้สึกแล้วว่าเมอดอกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวเอกของเรื่อง คือเลือกไม่ถูกว่าจะให้เบลนไปอยู่กับใครดี ความสับสนของผู้เขียนสื่อในเหตุการณ์พิลึกพิสดารประเภท เบลนถูกสุนัขในบ้านขย้ำคอจนเกือบเสียชีวิต อยู่ดีๆ ตัวละครที่ไม่เคยพบหน้ากันมาขึ้นเตียงด้วยกันอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

จบดื้อๆ แบบนี้แล้วกัน คนเขียนบลอคเองก็หงุดหงิดจนไม่รู้จะเขียนอะไรต่อแล้ว

No comments: