F. Jameson's "The Hegel Variations"


(หมายเหตุ: เวลามีน้อย ประกอบกับไม่ค่อยประทับใจเล่มนี้เท่าไหร่ ขอเขียนย่อๆ ละกัน)

"punchline" ของ The Hegel Variations คือการที่เจมสันส่งทอดแนวคิดเรื่อง "ทาส/นาย" จาก Phenomenology of Spirit เขาวิเคราะห์ขั้วตรงข้ามระหว่างบทเสนอและบทแย้งของ "ไตรภาวะ" ในระบบปรัชญาของเฮเกลว่าคือขั้วตรงข้ามระหว่าง "ภายใน" และ "ภายนอก" เราสามารถรู้ได้ว่าอะไรคือ "ภายใน" (หมายถึงสิ่งที่เราเห็น จับต้อง สัมผัสได้) ส่วน "ภายนอก" คือของอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของเรา ความวิเศษของแนวคิดนี้คือ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือภายนอก ถ้าหากว่าบางส่วนของภายในไม่ได้ไปอยู่ข้างนอกนั้นแล้วตั้งแต่แรก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราปิดประตู ปิดหน้าต่าง ขังตัวเองอยู่ในห้อง เรารู้ว่าห้องนี้คือภายใน และอะไรที่อยู่เลยกำแพงออกไปคือภายนอก หากถ้าตั้งแต่เกิดมา เราไม่เคยออกไปข้างนอกเลย เราจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าภายนอกคืออะไร (ในการ์ตูน Cobra ฉากที่เราชอบที่สุดคือโลกต่างมิติที่ทั้งโลกนี้ไม่มีอะไรเลย มีแต่ห้องห้องเดียว และผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในห้องนั้น) ด้วยเหตุนี้ ขั้วตรงข้ามระหว่างภายในและภายนอก (ซึ่งบรรจุบางส่วนของภายในไว้) จึงเอื้อต่อการผสมผสานจนเกิดเป็นบทสังเคราะห์

จากจุดนี้ เจมสันส่งต่อไปยังบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกฎหมายว่า กฎหมายที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่สังคมใช้บังคับปัจเจก แต่เป็นสิ่งที่ปัจเจกสร้างขึ้นมา (หรือรู้สึกว่าตัวเองสร้างขึ้นมา) เพื่อใช้บังคับตัวเอง จุดนี้นำไปสู่เรื่อง "ความสำนึกผิด" ซึ่งเกิดจากการที่ปัจเจกเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมาย พฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายก็คือพฤติกรรมที่ขัดต่อความรู้สึกของตัวเอง ในโลกทุนนิยม “สังคม” ถูกสร้างขึ้นมาจากแรงงานที่ถูกทำให้เป็นอื่น (alienated) ดังนั้นมนุษย์จึงรู้สึกแปลกแยกกับกฎหมายอันเป็นผลิตผลทางสังคม "จุดจบของประวัติศาสตร์" จึงเป็นโลกที่ "ภายใน" และ "ภายนอก" ผสานกัน ผู้คนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมายที่ควบคุมชีวิตพวกเขา

No comments: