G. Grass's "The Gunter Grass Reader"


ได้หนังสือ "The Gunter Grass Reader" มาด้วยความงงๆ กล่าวคือเดินผ่านหน้าสหกรณ์ในโรงเรียน แล้วเห็นกะบะขายของลดราคา เจอหนังสือนักเขียนรางวัลโนเบลปี 1999 ในราคาเหรียญกว่าๆ คว้าทันที (ซื้อมาพร้อมบทความของเวอจิเนียร์ วูลฟ์ซึ่งคงได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป) "The Gunter Grass Reader" รวมรวบเรื่องสั้น บทกวี บทความ ปาฐกถา และบทคัดลอกจากนิยายมาให้อ่านกัน แอบสงสัยนิดๆ ว่าไอ้รายการสุดท้าย จะเอามาให้อ่านทำแปะอะไร ทำยังกะเป็น preview หนังอย่างนั้นแหละ

จริงๆ หนังสือประเภท Reader ของนักเขียนคนดังก็เคยเห็นอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เคยอุดหนุนสักที หลังจากได้ลองอ่านเล่มนี้ด้วยความงงๆ อ่านจบก็ยังคงไม่เข้าใจว่าหานิยายเต็มๆ มาอ่านไม่ดีกว่าเหรอ จะเข้าใจอยู่บ้างก็ถ้านักเขียนคนนั้นไม่ได้มีเรื่องสั้นมากพอจะทำเป็นเล่ม ก็เอามารวบรวมไว้ในนี้ กราสมีสไตล์เรื่องสั้นที่น่าสนใจ จับจุดเล็กๆ น้อยๆ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน มาใส่อารมณ์ ความขัดแย้ง ประเด็นการเมืองลงไป ทำให้เรื่องธรรมดาอย่างเดินขึ้นบันไดเลื่อนกลายมาเป็นปรัชญาได้

ส่วนปาฐกถาก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ในเล่มมีปาฐกถาอยู่ประมาณหก เจ็ดบท ที่ยาวสุดก็คือตอนที่กราสได้รับรางวัลโนเบล จริงๆ ปาฐกถาส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับประเด็นเดิมๆ สองสามประเด็น ได้แก่บาปของเยอรมันอันเนื่องมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งตรงนี้กราสจับมาทำเป็นนิยายเล่มใหญ่เต็มๆ แล้วใน Crapwalk (อ่านได้จากบลอคเก่า) แล้วก็เรื่องรัฐบาลโลก ซึ่งกราสเชื่อว่าสันติภาพจะมาได้จากการก่อตั้งรัฐบาลโลก ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาอำนาจอย่างอเมริกา หรือรัสเซีย และรัฐบาลโลกในที่นี้ควรจะมีกองกำลังเป็นของตัวเองด้วย กราสเชื่อว่าสันติภาพไม่อาจเกิดได้โดยปราศจากอาวุธ (ประเด็นเกี่ยวกับรัฐบาล และกองทัพโลกนี้ เป็นแก่นเรื่องของการ์ตูน "ยุทธการใต้สมุทร" ด้วย)

อีกประเด็นหนึ่งที่กราสพูดถึงบ่อยๆ ในปาฐกถาคือความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรม และการเมือง กราสสมเป็นนักเขียนจริงๆ ฟัง (อ่าน) ที่แกพูด รู้สึกได้เลยว่าคนคนนี้ช่างหลงใหลในวรรณกรรมเสียนี่กระไร แกเชื่อมั่นในอำนาจการเปลี่ยนแปลงโลกของวรรณกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเสียงหัวเราะ และเสียดสีอยุติธรรมในโลก เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้อ่านดอน คิโฮเต้หัวเราะให้กับความไร้แก่นสารของชีวิตตั้งแต่สี่ร้อยปีก่อน แกถึงกับพูดเลยว่าทุกอย่างในโลกนี้เปลี่ยนแปลง มีวันดับสูญ ยกเว้นก็แต่หนังสือคลาสสิกเท่านั้น ที่เมื่อผ่านการทดสอบของเวลาไปได้แล้ว จะอยู่ยงเป็นอมตะชั่วนิรันดร

สำหรับนักเขียนโนเบลปี 1999 ผู้นี้ วรรณกรรมอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากการเมือง ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือและจุดมุ่งหมายของวรรณกรรม ในชีวประวัติย่อๆ กราสบอกว่าตัวเองสนใจงานเขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง และภาวะผันผวนทางการเมืองต่างหาก แกถึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากนักเขียน นักเขียนจะเผิกเชยเรื่องการเมืองไม่ได้ เป็นคำประกาศก้องที่อยากให้นักเขียนไทยหลายคนได้ฟังชะมัด

No comments: