E. S. Bowen's "Return to Laughter"
"ธรรมชาติ" ของมนุษย์คือการหัวเราะเยาะคนที่เขาด้อยกว่า คนที่กำลังอับโชค หรือพานพบอุปสรรคบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลต้องการเย้ยหยัน หรือปลุกปลอบใจอีกฝ่ายก็ตาม แต่เพราะความ "ศิวิไลซ์" ทำให้นิสัยนี้กลายเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ในสังคม ต้องให้นักมนุษยวิทยาอย่างเลอรา โบฮานาน (ชื่อจริงของเอเลนอร์ สมิธ โบเวน) เดินทางไปสัมผัสกับชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ความจริงตรงนี้ถึงได้ประจักษ์ แต่ประจักษ์แล้วเป็นอย่างไร มันส่งอิทธิพลอย่างไรต่อมนุษย์ที่ "ศิวิไลซ์" แล้วอย่างโบฮานาน นั่นคือคำถามที่ต้องไปติดตามคำตอบกันเอาเองใน Return to Laughter
ช่วงแรกที่โบฮานานย้ายเข้ามาอยู่กับชนเผ่าพื้นเมือง เธอพูดภาษาท้องถิ่นไม่เป็นสักคำ ล่ามเลิ่มอะไรก็ไม่มี ทุกอย่างรอบตัวเธอเต็มไปด้วยอาการ "lost in translation" เราสนุกมากๆ กับความพยายามของเธอในการเรียนรู้ภาษา และปฏิกริยาของชาวเผ่าซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างมองเธอเป็นเด็กๆ และชื่นชมเธอในฐานะที่เป็นคนขาว เนื่องจากยาของคนขาวมักจะมีประสิทธิภาพดีกว่ายาท้องถิ่น
เมื่อผ่านช่วง "lost in translation" ไปได้ โบฮานานเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเผ่า เราก็ได้เห็นประเด็นน่าขบคิดมากมาย ชนเผ่าพื้นเมืองของโบฮานานเป็นพวก "ผัวมากหลากเมีย" (polygamy) ซึ่งคนที่ศิวิไลซ์แล้วอย่างโบฮานาน (และผู้อ่าน) จะเข้าใจสถาบันครอบครัว และวัฒนธรรมการแต่งงานของพวกเขาได้ ถึงขั้นต้องรื้นสร้างคำศัพท์ และความเข้าใจทุกอย่างที่เรามีเกี่ยวกับสถาบันเหล่านี้กันเลยทีเดียว กลับเป็นผู้หญิงเสียอีกที่คอยหาภรรยาน้อยมาให้ผู้ชาย เพื่อจะได้มีผู้หญิงมาช่วยทำงานบ้าน กดดันสามี และให้แน่ใจว่าสามีจะมีทายาทสืบสกุล ภรรยาน้อยที่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ก็จะกลายเป็น "ภรรยา" ของภรรยาหลวงอีกที ผู้หญิงเหล่านี้เชื่อว่าถ้าปล่อยผู้ชายไว้เฉยๆ พวกเขาจะขี้เกียจสันหลังยาว และพอใจกับการมี และให้ภรรยาคนเดียวคอยปรนนิบัติรับใช้ อ่านแค่นี้ เราถึงกับอึ้งรับประทานไปเลย
เลยอดคิดไม่ได้ว่า สังคมไทยโบราณก็มีลักษณะ "ผัวมากหลากเมีย" เช่นเดียวกัน แต่เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามา เราต้องพยายามให้ฝรั่งเห็นว่าบ้านเมืองเราทันสมัย เหมือนกับพวกเขา ก็เลยประณามยามเหยียดพฤติกรรมดังกล่าว ผู้ชายที่มีเมียหลายคนพบเห็นได้บ่อยๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ วรรณคดี และส่วนใหญ่ ผู้เล่าเรื่อง (ครู คนเล่าเรื่อง ผู้กำกับ หรือกบว.) ก็มักจะสอดแทรกข้อคิดต่อต้านลักษณะนิสัยเยี่ยงนี้เสมอ พร้อมกับที่มี "ผู้หลักผู้ใหญ่" ออกมาแก้ตัวเป็นระยะๆ ว่านี่คือเรื่องปรกติของสังคมไทยในสมัยนั้น ทำให้เกิดคำถามว่าเรามีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้นหรือคือต่อต้าน หรือสนับสนุน ทั้งที่จริงๆ ถ้าเราศึกษา และพยายามทำความเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง เฉกเช่นเดียวกับที่โบฮานานทำความเข้าใจชนเผ่าในแอฟริกา เราอาจได้เห็นตัวตน และวัฒนธรรมไทยอย่างชัดเจนขึ้นก็ได้
นอกจากเรื่องผัวมากหลากเมีย เวทมนต์คาถา และศาสนาพื้นเมือง ก็เป็นอีกสิ่งที่โบฮานานศึกษา แม้ว่าในความเป็นคนขาว เธอจะไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสาป และพ่อมด ไม่ใช่แค่อะไรบางอย่างลอยๆ ที่นึกจะเรียกใช้ หรือนึกจะเชื่อก็เชื่อได้ นึกจะไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ แต่มันคือส่วนหนึ่งของสถาบันในสังคม ดังนั้นกิจการ กฎหมาย และการเมืองของชาวพื้นเมืองจึงอิงอยู่บนศรัทธาไสยศาสตร์ ซึ่งก็คล้ายๆ กับสังคมไทย ที่ไม่ว่าเราจะพยายามปกปิด หรือดูแคลนสิ่งเหนือธรรมชาติสักเพียงใด เราก็ไม่อาจปฏิเสธมันได้ และน่าจะดีกว่าถ้าเราพยายามทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้
ช่วงท้ายๆ ของนิยายเล่มนี้สนุกมาก เมื่อโบฮานานตัดสินใจว่าพอกันที กับการเป็น "เบี้ยหมาก" ในเกมการเมืองระหว่างผู้อาวุโสสองคน (อีกจุดหนึ่งที่ชอบมากคือการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในชนเผ่าพื้นเมือง การเมือง การต่อรอง และการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจก็มีให้เห็นเป็นปรกติ) การตัดสินใจตรงนี้ เกิดขึ้นในวันที่เธอพบเห็นเด็ก และชายหนุ่มในเผ่าที่เป็นเพื่อนสนิทของเธอ กลั่นแกล้งคนตาบอด เสร็จแล้วก็หัวเราะเยาะสะใจกับการกระทำของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในโลกที่ศิวิไลซ์แล้ว โบฮานานเรียกเพื่อนของเธอว่า "คนป่าเถื่อน" และตัดสินใจว่าเธอจะกลายเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างแท้จริง แต่กลายเป็นว่าสิ่งแรกที่เธอทำก็คือกระโดดลงไปเล่นเกมการเมืองกับผู้อาวุโส เธอต่อสู้ เจรจาต้าฮ้วยกับทั้งสองด้วยตัวของเธอเอง จนได้มาซึ่งสถานภาพผู้สังเกตการณ์ เป็นปมยอกแย้งบางอย่าง ซึ่งเราก็ยังขบคิดไม่ออกเหมือนกันว่าโบฮานานต้องการบอกอะไรกันแน่
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment