W. Shakespeare's "King Lear"


การอ่าน (หรือชม) บทละครเชคสเปียร์สักเรื่องนั้น มีอะไรมากมายยิ่งกว่าการเสพย์บทละครเดี่ยวๆ เชคสเปียร์คือหนึ่งในบิดาแห่งวรรณกรรมตะวันตก ถ้ามองกว้างขึ้นว่าวรรณกรรมแบบที่ชาวตะวันออกปัจจุบันรู้จักกัน มีรากฐานมาจากการเล่าเรื่องแบบตะวันตก จะพูดว่าบทละครของเชคสเปียร์คือต้นกำเนิดแห่งวัฒนธรรมวรรณกรรมโลกก็คงไม่เกินไปนัก

ต่อให้คุณไม่เคยอ่านคิงเลียร์ ไม่เคยรู้จักชื่อเชคสเปียร์ อย่างน้อยคุณก็ต้องคุ้นเคยกับ "ก้อนความคิด" ที่แตกออกมาจากเรื่องคิงเลียร์ ยกตัวอย่างเช่นฉากเอกของคิงเลียร์ เมื่อพูดถึงแล้ว ใครที่เคยอ่าน หรือชมละครต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก คือฉากที่ชายชราสติแตกตะโกนคร่ำครวญใส่ท้องฟ้า ท่ามกลางพายุฝนคะนอง โดยมีตัวตลกเฝ้ามองมาอย่างสมเพช ฉากนี้คือต้นแบบใบปิดภาพยนตร์เรื่องบัญญัติสิบประการของเซซิล บี เดอมิล (ชายชราและฟ้าผ่า) สภาพความบ้าคลั่งในจิตใจตัวละครซึ่งถูกท่ายถอดเป็นสภาวะอากาศ ปรากฏตามฉากสยองขวัญในภาพยนตร์ทั่วไป กระทั่งในสุริโยทัย ฉากที่ใหม่ เจริญปุระ ไปขอยาพิษจากท่านย่าพิสมัย ข้างนอกก็มีฟ้าฝน (เกร็ด: เชคสเปียร์เขียนคิงเลียร์ปี 1606 ปีเดียวกับพายุซึ่งนำความเสียหายอันใหญ่หลวงมาสู่ประเทศอังกฤษ)

โดยอย่างกว้างที่สุด คิงเลียร์คือเรื่องของความสามัคคี หรือพูดให้ถูก เรื่องของการแตกความสามัคคี เลียร์พระราชาเฒ่าแบ่งดินแดนตัวเองเป็นสามส่วนให้ลูกสาวแต่ละคน โดยน้องคนสุดท้องไม่ได้เลยสักกระผีก เพราะป้อยอพ่อไม่เก่งเท่าพี่สาว เมื่อได้รับมรดก ลูกสาวทั้งสองต่างขับไล่ไส่ส่งบิดา สุดท้ายก็ทำสงครามแก่งแย่งชิงดีกันเอง ล่มสลายหมดทั้งประเทศ และราชวงศ์ ส่วนเจ้าหญิงองค์เล็กที่แม้ปากไม่หวาน แต่สุดท้ายก็เป็นพระนางเดียวที่คอยดูแลบิดาจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

เล่ามาแค่นี้ถ้าใครหัวไวหน่อย ก็คงหา "ก้อนความคิด" ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงได้ร้อยแปดประการ ตั้งแต่เรื่องความสามัคคี ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไม่เคยปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องไหนมาก่อน หรือที่พี่น้องประจบประแจงผู้บังเกิดเกล้าเพื่อหวังมรดก ก็เป็น "ก้อนความคิด" ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามละครหลังข่าว

คิงเลียร์ถือเป็นหนึ่งในสี่โศกนาฏกรรมใหญ่ของเชคสเปียร์อันประกอบด้วยแฮมเลต โอเทลโล คิงเลียร์ และแมคเบต ความพิเศษของคิงเลียร์คือการเล่าเรื่องหลายตัวละครซ้อนๆ กัน นอกจากประเด็นพ่อ ลูกสาว ที่เล่ามาข้างต้น ยังมีการแย่งชิงสมบัติระหว่างลูกนอก และในกฎหมาย เอดมุน และเอดการ์ เอดมุน ลูกนอกกฎหมายของกลอเชสเตอร์ ใส่ร้ายพี่ชายตัวเอง จนเอดการ์ต้องแกล้งทำตัวสติไม่ดี หนีออกนอกเมือง สุดท้ายเมื่อกลอเชสเตอร์ตกเป็นเหยื่อการทรยศหักหลัง สูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง จึงได้รับความช่วยเหลือจากทอม ชายสติไม่ดี ผู้ซึ่งแท้จริงเป็นลูกบังเกิดเกล้าของตัวเอง

ถ้าแค่นี้ยังไม่หนำใจ คิงเลียร์ยังแทรกเรื่องรักหักสวาท ระหว่างรีแกน และกอเนอริล ลูกสาวคนโตทั้งสองของเลียร์ ทั้งคู่มีสามีแล้ว แต่ต่างแอบหลงรักเอดมุน สุดท้ายสองนางก็แพ้พิษภัย เข่นฆ่ากันเอง

ความสุดยอดของเชคสเปียร์คือแกสามารถผูก และเล่าเรื่องราวร้อยแปดต่างตัวละครมารวมกันเป็นบทประพันธ์เดียวได้อย่างไร้ที่ติ เท่าที่เคยอ่านมา บทละครอีกเรื่องเดียวเท่านั้นที่เชคสเปียร์ประสบความสำเร็จได้ในระดับนี้คือเวณิชวาณิช

พูดถึงคิงเลียร์ ก็ต้องพูดถึงตัวตลก และคนบ้า ตัวตลกในเรื่องเป็นต้นแบบแห่งตัวตลกทั้งหลายทั้งปวง คำพูดซึ่งผิวเผินฟังดูเหมือนไร้สาระ แต่แทรกปรัชญา ตัวตลกเป็นผู้เดียวซึ่งเลียร์อนุญาตให้กล่าวความจริง ติเตียนพระราชาได้ ตราบเท่าที่ความจริงนั้นน่าขำ น่าหัวเราะ ในแง่หนึ่งตัวตลกคือตัวแทนแห่งวรรณกรรมเสียดสีสังคม นักเขียนสามารถก่นด่า และวิจารณ์สังคมแค่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่เขาทำในนามแห่งความบันเทิง คนบ้าในเรื่องนี้มีสองคน คือตัวเลียร์เอง หลังจากสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และทอม ผู้แกล้งบ้าเผื่อหลบหนีการจองล้างจองผลาญจากน้องชาย ความบ้าคลั่งของเลียร์ คือการเดินทางเข้าไปสู่ความมืดมิดของจิตใจ ส่วนทอม ผู้เปลื้องผ้าผ่อน อาศัยอยู่กับสิงสาราสัตว์ กลับเป็นตัวแทนความบริสุทธิ์สะอาด

ตัวละครอีกตัวที่ชอบเป็นพิเศษคือเอดมุน โดยศักดินาแต่กำเนิด เอดมุนคือลูกโสเภณี ไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินบิดา ด้วยประการนี้เอง เขาสั่งสมความแค้นในจิต กำจัดทุกคนทุกนามผู้ขวางทางเจริญ เอดมุนใช้เสน่ห์ความเป็นชาย หลอกล่อลูกสาวทั้งสองของเลียร์ ถึงบทบาทจะเป็นผู้ร้ายเต็มยศ แต่คนอ่าน และผู้ชมหลายคนคงอดชื่นชมความทะเยอทะยาน และความมุ่งมั่นในชีวิตของหนุ่มคนนี้ไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างเขา และสองพี่น้อง ยังเหมือนจะบอกกลายๆ ว่า เซ็กคือสิ่งที่ปลดเปลื้องกำแพงชนชั้นต่างๆ ในสังคม

ขุดไปเถอะครับ บทละครเชคสเปียร์น่ะ ให้ขุดกันจริงๆ ขุดได้ไม่รู้หมดสิ้น ขอตัดจบดื้อๆ ด้วยการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 แล้วกัน ในฐานะบิดาแห่งวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ผู้แปล ถ่ายทอด และนำเชคสเปียร์มาให้คนไทยได้รู้จัก ชื่นชมตราบจนทุกวันนี้

4 comments:

Anonymous said...

good comment ka

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ said...

โอ้ อ่านแล้วซี้ดครับ

เป็นมุมมองเรื่อง king lear ที่น่าสนใจ

Anonymous said...

กำลังเรียนเรื่องนี้เลยค่ะ ภาษาอ่านแล้วมึนมาก ขนาดเพื่อนอังกฤษยังอ่านไม่ค่อยจะเข้าใจเลย = ="
(หนีไปอ่านต่อ)

yanmaneee said...

air force 1
nike vapormax
yeezy
curry 4 shoes
adidas stan smith
kyrie 5 shoes
louboutin shoes
balenciaga sneakers
golden goose outlet
hermes handbags