P. Auster's "The Book of Illusion"


ไม่รู้บังเอิญหรือไง แต่ "หนังสือภาพลวงตา" ซึ่งอ่านต่อจาก "ผู้ช่วยนักมายากล" เป็นนิยายแนวฟื้นฟูเหมือนกัน นี่เป็นเล่มที่สองของพอล ออสเตอร์ซึ่งเราอ่าน ยอมรับว่าไม่ค่อยชอบ "เมืองแก้ว" เท่าไหร่ ในความเห็นเรา ปรัชญาตัวตน (existentialism) เป็นเรื่องงมงาย ขณะที่ "เมืองแก้ว" พูดถึงปรัชญาข้อนี้เต็มๆ "หนังสือภาพลวงตา" แค่ปรับแนวคิดตรงนี้มาผสานกับเนื้อเรื่อง

ขอพูดถึงปรัชญาตัวตนก่อนก็แล้วกัน บิดาแห่งปรัชญาตัวตนคือเฟเดอริก นิชเชย์ รุ่นหลังหลายคนนำแนวคิดของเขามาพัฒนา ที่โด่งดังสุดก็คงเป็นซาร์ต ชาวฝรั่งเศส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในช่วงท้ายศตวรรษที่ 20 ปรัชญาตัวตนเริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงวรรณกรรม ผ่านปลายปากกานักเขียนอย่าง เดลิลโล ไพชอน ออสเตอร์ (สังเกตว่ามักเป็นคนอเมริกา) สาเหตุหนึ่งก็คงเป็นเพราะปรัชญาตัวตนได้รับการสนับสนุนจากฟิสิกส์ควอนตัม (ซึ่งแม้จะถูกคิดค้นต้นศตวรรษที่ 20 แต่เริ่มแพร่หลายช่วงปลายๆ ศตวรรษ) และพุทธศาสนา (ซึ่งกว่าชาวอเมริกาจะรู้จัก คุ้นเคยกับชาติตะวันออกก็ต้องหลังสงครามโลกครั้งที่สอง)

ยอมรับว่าไม่เคยศึกษางานเขียนของนิชเชย์ หรือซาร์ต ก็เลยบอกไม่ได้ว่าปรัชญาตัวตนดั้งเดิมนั้นเป็นยังไง ถ้าให้พูดคร่าวๆ ก็คือการตั้งคำถามเรื่องความจริง ไม่จริงของสิ่งที่เราเห็น คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกภายนอก หรือภายใน คำถามอย่าง "ถ้าต้นไม้ตกในป่าแล้วไม่มีใครอยู่แถวนั้น จะเกิดเสียงหรือเปล่า" ปรัชญาตัวตนซึ่งปรากฎในวัฒนธรรมป๊อป ดูผิวเผินเหมือนคนเขียนรู้ ไม่รู้จริงยังไงชอบกล (อาจเพราะตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เลยรู้สึกจั๊กจี้เวลามีใครหยิบทฤษฎีควอนตัมมาใช้โดยฉาบฉวย) อีกประการก็คืออดคิดไม่ได้ว่ามันเชย ตั้งแต่ปรัชญาตัวตนเริ่มถูกใช้ในภาพยนต์ (อย่างไฟท์คลับเป็นต้น) ก็กลายเป็นของดาดดื่น นักเขียนรุ่นใหม่ก็เลยไม่ค่อยแตะต้องมันแล้ว

จริงๆ เรื่องปรัชญาตัวตนนั้นน่าสนใจ เช่นว่าทำไมนักเขียนชาวอเมริกาถึงได้หลงใหลความคิดแบบนี้นัก ทั้งที่นักปรัชญาส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปแท้ๆ ขณะที่นักเขียนยุโรปกลับเพิกเฉย เอาเป็นว่าไว้ค่อยคุยในโอกาสอื่นแล้วกัน กลับมาเรื่อง "หนังสือภาพลวงตา" นิยายเล่มนี้อย่างที่บอกคือเป็นเรื่องของการฟื้นฟู และไม่ใช่แค่การฟื้นฟูจากความโศกเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความรู้สึกผิดด้วย "หนังสือภาพลวงตา" เป็นเรื่องของ เดวิด ผู้สูญเสียภรรยา และลูกชายจากอุบัติเหตุเครื่องบิน เดวิดอุทิศชีวิตที่เหลือศึกษาผลงานของดาราตลกเงียบ เฮกเตอร์ มานน์ ผู้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ทุกคนเชื่อว่าเขาตายไปแล้ว เดวิดเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน มีจดหมายมาจากเฮกเตอร์ บอกว่าต้องการพบเดวิด

"หนังสือภาพลวงตา" คือเรื่องของตัวละครหลากหลาย ตั้งแต่เดวิดเอย เฮกเตอร์เอย อัลมา ผู้เป็นลูกสาวของตากล้องคู่ใจเฮกเตอร์ รวมไปถึงตัวละครหลากหลายซึ่งปรากฏในภาพยนตร์ของเฮกเตอร์ และหนังสือของเดวิด ตัวละครแทบทุกตัวล้วนตกอยู่ในสภาพฟื้นฟู ที่เฉียบแหลมมากๆ คือชีวิตพวกเขาเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน เหตุการณ์หนึ่งเมื่อเกิดกับตัวละครตัวหนึ่ง ในเวลาต่อมาเกิดขึ้นซ้ำกับตัวละครอีกตัว ในแง่หนึ่งนี่ก็คือปรัชญาตัวตน ชื่นชมคนเขียนตรงที่ไม่ได้ชี้นำประเด็นนี้ ถ้าอ่านคร่าวๆ อาจแทบไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ "เมืองแก้ว" หรือหนังสือส่วนใหญ่ซึ่งเล่นกับแนวคิดนี้ชอบเอาปรัชญาตัวตนมาตีหัวคนอ่าน "หนังสือภาพลวงตา" เพียงนำมันมาใช้โดยผิวเผิน และกลับกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

อีกประเด็นที่น่าพูดถึงคือภาษา สังเกตมานานแล้วว่าออสเตอร์เป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาเรียบง่ายที่สุดคนหนึ่ง ประโยคสั้นๆ ผมทำนู่น ผมทำนี้ ผมทำนั่น บางย่อหน้ามีคำว่า "ผม" บรรทัดละสามสี่คำได้ หนังสือของออสเตอร์ อ่านแล้วจะ "อิน" ยาก เพราะภาษาโต้งๆ สื่อสารอารมณ์ไม่ค่อยได้ กระนั้นพอเอามาใช้กับเนื้อหา กลับเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ราวกับว่ายิ่งนิยายเรื่องนี้ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนอ่านเท่าใด คนอ่านก็ยิ่งถูกดึงดูดเข้าไปในโลกของนิยายมากเท่านั้น เป็นวิธีเขียนซึ่งตรงข้ามกับ "ผู้ช่วยนักมายากล" ภาษาของแพรทเชทสวยกว่าออสเตอร์ คนอ่านรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละคร แต่กลับกลายเป็นว่าความแห้งๆ ของ "หนังสือภาพลวงตา" ชนะ "ผู้ช่วยนักมายากล" ขาดลอย

ข้อดีอีกประการของ "หนังสือภาพลวงตา" คือตอนจบที่ถึงอกถึงใจ เป็นการผูกประเด็นทุกอย่างเข้าหาสามสิบหน้าสุดท้าย รู้สึกดีใจที่ได้อ่าน บางทีในอนาคตข้างหน้าจะลองกลับไปอ่าน "ไตรภาคนิวยอร์ก" ดู ("เมืองแก้ว" คือเรื่องแรกในไตรภาคนี้)

No comments: