E. L. Doctorow's "Ragtime"


โรเบิร์ต อัลแมนคือผู้กำกับในดวงใจเรา ถ้าถามว่าชอบหนังตัวละครเยอะ พูดพร้อมๆ กันที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่องของเขาตรงไหน เราตอบได้ทันทีว่า ชอบตอนที่ระบบระเบียบค่อยๆ ปรากฎขึ้นมาจากความยุ่งเหยิง ซึ่งตอนแรกคนดูจับไม่ถูกด้วยซ้ำว่าตัวละครตัวใดคือตัวเด่น ตัวด้อย ตัวประกอบ (ไม่ต้องพูดเลยว่าใครเป็นพระเอก ผู้ร้าย) นอกเหนือจากภาพยนตร์ของอัลแมน ยังมีงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ที่โดนใจเราด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน หนึ่งในนั้นคือดนตรีแจ๊ส

เพราะฉะนั้น เราจึงแปลกใจมากกับ Ragtime นี่เป็นนิยายเรื่องแรกเลยที่เราชอบมันน้อยลงทันทีที่ความมั่วซั่วค่อยๆ คลี่คลายออกให้เห็นโครงสร้าง ถ้าแบ่งนิยายเล่มนี้ออกเป็นความยุ่งเหยิง และระบบระเบียบ เราชอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับส่วนแรก ชอบที่ตัวละครอยู่ดีๆ ก็หายสาบสูญไปจากเนื้อเรื่อง หรือไม่แน่ใจว่าดอกโทโรลจะเอ่ยถึงขึ้นมาทำไมตั้งแต่แรก ชอบฮูดินี เนสบิต ทาเท และตัวประกอบทั้งหลายแหล่ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก มากกว่าโคลเฮาส์ ซาราห์ และ "น้องชาย"

เสน่ห์ของ Ragtime คือมันเป็นนิยายที่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นตัวเอก นำเหตุการณ์สำคัญในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่การแสดงมายากลของฮูดินี การสำรวจขั้วโลกเหนือ อุตสหกรรมรถยนตร์ และจุดเริ่มต้นธุรกิจภาพยนตร์มาเกี่ยวกระหวัดกัน อันที่จริงเนื้อเรื่องหลักซึ่งว่าด้วยการต่อสู้ของคนดำ และการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย และกลุ่มอนาธิปไตยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งในช่วงแรก ตอนที่มันยังอยู่ในความยุ่งเหยิงก็ดูน่าสนใจดี แต่ทันทีที่มันกลายเป็นประเด็นหลักของหนังสือ กลับน่าติดตามน้อยลง พอดอกโทโรลพุ่งประเด็นไปที่เนื้อเรื่องหลัก เราก็เลยไม่ค่อยได้รับรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพวกตัวประกอบทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต่างหากเป็นสีสันที่แท้จริง (ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าดอกโทโรลยกให้ฮูดินี หรือทาเทเป็นตัวเด่นในช่วงหลัง หนังสือเล่มนี้จะน่าสนใจน้อยกว่า หรือมากกว่านี้ เราอาจชอบมันก็ได้ เพราะก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้สนใจ activist การเมือง มากเท่านักมายากล หรือผู้สร้างภาพยนตร์)

ถ้าให้เราจัดอันดับนิยายอเมริกัน จะไม่แปลกใจเลยถ้ามี Ragtime ติดอยู่หนึ่งในสิบ ชอบสไตล์การเขียนของดอกโทโรล ได้อารมณ์เหมือนฟังดนตรีแจ๊ส ถึง The Great Gatsby จะได้รับคำยกย่องว่าเป็นนิยายแจ๊ส เรากลับรู้สึกว่า Ragtime ต่างหากที่จับจังหวะจะโทนของดนตรีผิวสีเอาไว้ในภาษาไร้สำเนียงได้อย่างงดงาม นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งก็ได้ พอระบบระเบียบมันโผล่ขึ้นมา นิยายเล่มนี้ก็กลายเป็นการเล่าเรื่องธรรมดา ความแจ๊สหายไปอย่างน่าเสียดาย

No comments: