R. Davies's "The Manticore"


แมนติคอร์ : สัตว์ในเทพนิยาย หัวเป็นคน ตัวเป็นสิงโต หางซ่อนเหล็กไนเหมือนหางแมงป่อง

อะนิมา : ศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึงผู้หญิงที่อยู่ในตัวผู้ชาย ตรงข้ามกับอะนิมัส ผู้ชายที่อยู่ในตัวผู้หญิง

แมนติคอร์คือนิยายจิตวิทยา เดวิด ทนายความผู้โด่งดัง ลูกชายคนเดียวของมหาเศรษฐีบอย สตอนตัน หลังทราบข่าวพ่อตัวเองเสียชีวิต เกิดอาการวิปริต เขาเชื่อมั่นว่าพ่อถูกใครบางคนฆาตกรรม ในที่สุดเมื่อทนความรู้สึกตัวเองต่อไปไม่ไหว เดวิดบินไปสวิตเซอร์แลนด์ ที่นั่นเอง เขาได้พบจิตแพทย์สาว และเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับการตายของบิดา

จำได้ว่าเมื่อประมาณห้าหกปีที่แล้ว ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ไปพบจิตแพทย์เหมือนกัน นัดพบทุกสองสัปดาห์ คุยครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง ให้มองย้อนกลับไป แล้วถามว่าได้อะไรบ้างไหม ส่ายหัวทันทีว่าไม่ได้ เหมือนมีคนมาฟังเราบ่น แล้วก็พูดปลอบใจนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่เลว แต่ก็ไม่ถึงกับวิเศษวิโสอะไร

จิตวิเคราะห์ในแมนติคอร์ไม่เหมือนอะไรที่เคยประสบพบด้วยตัวเอง เดวิดเล่าให้หมอฟังถึงความฝัน อันปรากฏภาพสัตว์ครึ่งคน ครึ่งสิงโต ถูกล่ามโซ่ติดไว้กับหญิงสาว จิตแพทย์ช่วยเดวิดตีความความฝัน และทำให้ชายหนุ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น เขาพบว่าพ่อซึ่งตนเคารพบูชามาทั้งชีวิต อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบไปหมด ชายหนุ่มเล่าความหลังอันแสนเศร้ากับรักวัยเยาว์ และผู้หญิงคนแรก คนสุดท้าย รวมไปถึงคดีแรกๆ ในฐานะทนายความ ประสบการณ์ ณ ลานประหาร และการเชื่อมโยงอดีตของครอบครัว

ยอมรับว่าอ่านเพลิน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทฤษฏีที่พยายามตั้งชื่อผู้คนซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตเรา ให้เป็นเสมือนตัวละคร (เงา อะนิมา ฤษี เพื่อน สัตว์ร้าย และอื่นๆ ) มันใช้ได้จริงแค่ไหน จิตวิเคราะห์ในสวิตเซอร์แลนด์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจุง (ขณะนิวยอร์กได้รับอิทธิพลของฟรอยด์) จวบจนปัจจุบันไม่รู้มันล้าสมัยไปแล้วรึเปล่า เดี๋ยวนี้ยังมีจิตแพทย์คนไหนมานั่งฟังความฝันคนไข้บ้าง

แมนติคอร์ เป็นนิยายเรื่องที่สองของไตรภาคเดปฟอร์ด เรื่องแรกคือฟิฟธ์บิซิเนส (ชายคนที่ห้า) และเรื่องสุดท้ายคือเวิร์ดออฟวอนเดอร์ (โลกมหัศจรรย์) โรเบิร์ตสัน เดวี นักเขียนชาวแคนาดาผู้นี้ ผสมผสานจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมายาคติ เข้าด้วยกันได้อย่างล้ำลึก ชวนติดตาม ถึงจะบอกว่าเป็นภาคสอง แค่คนอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านชายคนที่ห้าก่อน ก็สามารถสนุกสนานไปกับเรื่องราวของเดวิดได้