A. S. Byatt's "Angels & Insects"


บางครั้งการที่เราไม่ชอบหนังสือสักเล่มกลับยิ่งกระตุ้นให้เราขบคิดถึงมัน และผู้เขียนยิ่งกว่าในทางตรงกันข้าม Angels & Insects เป็นหนังสือเล่มที่สองของไบแอตที่เราอ่าน เล่มแรกคือ Possession ซึ่งก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่อย่างน้อยกรณีนั้นอาจพูดได้ว่าเราไม่ค่อยอินไปกับตัวเรื่องเท่าไหร่ Angels & Insects แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าปัญหาคงไม่ใช่เรื่องแล้วล่ะ แต่เป็นสไตล์การเขียนของไบแอตมากกว่า

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะ Angels & Insects มีประเด็นที่น่าติดตามมากๆ นี่คือนิยายขนาดสั้นสองเล่มรวมกัน Morpho Eugenia และ The Conjugial Angel โดยเป้าหมายของ Byatt จากนิยายสองเรื่องนี้คือสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ผ่านสองสิ่งซึ่งโดยผิวเผินแล้วแตกต่างกันสุดขั้ว นั่นก็คือแมลง และเทวดา ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว แต่ Morpho Eugenia ยังได้คะแนนพิเศษจากเราอีก เนื่องจากเราเป็นพวกบ้าแมลง ชอบแมลงทุกประเภท รวมไปถึงแมงป่อง แมงมุมด้วย (เข้าใจว่าเพราะเราเป็นพิจิก)

ก่อนจะนอกเรื่องเลยเถิด กลับมาพูดถึงนิยายสองเรื่องนี้ก่อนดีกว่า Morpho Eugenia ว่าด้วยเรื่องของนักธรรมชาติวิทยาที่ไปศึกษาแมลงถึงในป่าลึกอเมซอน เมื่อกลับถึงประเทศอังกฤษ เขาใช้ชีวิตอยู่กับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งมีความสนใจปรัชญา ธรรมชาติ และเฝ้าถกเถียงกับชายหนุ่มว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ ตอนหลังเขาแต่งงานกับลูกสาวคนโตของมหาเศรษฐี และศึกษา เขียนหนังสือเกี่ยวกับสังคมมด ส่วน The Conjugial Angel ว่าด้วยคนทรงกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยแม่ม่าย และผู้หญิงซึ่งสูญเสียลูก พวกเขาพยายามติดต่อกับคนรักที่เสียชีวิตไปแล้ว ชอบประเด็นทางปรัชญาที่สื่อในเรื่องมาก Morpho Eugenia เปรียบเทียบชีวิต สังคมมนุษย์กับมด โดยอ้างอิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ ขณะที่ The Conjugial Angel ตั้งคำถามว่าถ้าคนที่เรารักตายไป แล้วยังมีชีวิตอยู่บนสรวงสวรรค์ ผิดไหมที่เราจะมีสัมพันธ์กับผู้อื่น จะถือเป็นการนอกใจหรือเปล่า

เพราะเราสนใจประเด็นเหล่านี้ ถึงได้แปลกใจว่าทำไม Angels & Insects ถึงเป็นหนังสือที่อ่านยากอ่านเย็น ชนิดว่าต้องเข็นตัวเองให้เปิดทีละหน้าเลย ปัญหาคงอยู่ที่สไตล์การเขียนของไบแอต การที่เธอหยิบข้อความจากหนังสือเล่มนู้น เล่มนี้มาใช้ ซึ่งในทางหนึ่งก็ไม่ผิด เพราะเราเองก็ชอบทำ แต่การที่เธอเอา Raven ของ Edgar Allan Poe หรือ Paradise Lost มาเป็นดุ้นๆ นี่รู้สึกพิกลยังไงไม่ทราบ เพราะกลอนที่ดังขนาดนี้ ใครบ้างจะไม่รู้จัก รวมไปถึงบทความจากหนังสือปรัชญา วิทยาศาสตร์ หรือนิทานที่ตัวละครเขียน ซึ่งจะว่าน่าเกลียดไหมก็ไม่ เพราะพวกนี้ไบแอตก็เขียนเอง แต่มันกลับหลุดๆ เกินๆ เหมือนสัตว์ประหลาดปะเย็บของดอกเตอร์แฟรงเกนสไตน์ ซึ่งจริงๆ กุนเดระ หรือเกรแฮม สวิฟต์ก็ชอบทำอะไรแบบนี้ แต่ทำไมเวลาพวกเขาทำ กลับรู้สึกกลมกล่อม เข้ากันได้ดีกับเนื้อเรื่องหลัก แต่พอเป็นไบแอต เห็นความพยายามเพิ่มความหนาหนังสือเท่านั้น

เวลาอ่านนิยายไบแอต ได้อารมณ์เหมือนเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยรูปอันสวยงาม (ซึ่งก็คือบทกลอน หรือไอ้นู่นไอ้นี่ที่เธอยัดใส่เข้ามา) แต่ผนัง ทางเดิน หรืออะไรก็ตามที่นอกเหนือจากรูปภาพจืดชืด ไม่เป็นสับปะรด ภาษาของไบแอตทั้งจากนิยายเล่มนี้ และเล่มก่อน เรียบๆ ทึมๆ ไม่เหมือนผู้หญิงเขียนสักนิด ประชดประชันมากๆ ที่นักเขียนผู้ชื่นชอบบทกวีอย่างไบแอต กลับมีภาษาที่ห่างไกลจากความเป็นบทกวีที่สุด

No comments: