C. Dicken's "The Tale of Two Cities"


ตอนที่เขียนไปว่าไม่เคยอ่านนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกน ก็มีเพื่อนประสงค์ดีหลายคนแนะนำเล่มนู้นเล่มนี้มาให้ ที่ลงเอยกับ The Tale of Two Cities ก็เรียกว่าบังเอิญหน่อยๆ คือไปเดินห้างของโหล แล้วเห็นวางกองๆ อยู่ในกะบะเล่มละสามเหรียญ ตะครุบทันที พอบอกรุ่นพี่ว่าจะเริ่มอ่านสองนคร แกทำหน้างงนิดๆ แล้วก็เตือนว่ามันไม่ใช่นิยายดิกเกนเซียนเสียทีเดียวนะ ซึ่งก็จริง เพราะเท่าที่รู้เนื้อเรื่องคร่าวๆ สองนครไม่เหมือนกับเล่มอื่นๆ

สาเหตุที่สนใจ The Tale of Two Cities มาจากว่าเราเป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส โอกาสที่จะเรียนรู้มันจากปากคำคน(เกือบ)ร่วมสมัยอย่างดิกเกนถือว่าพลาดไม่ได้ (นิยายเล่มนี้เขียนประมาณครึ่งศตวรรษหลังการโค่งบัลลังก์หลุยส์ที่ 16) ซึ่งมุมมองที่ผู้เขียนมีต่อเหตุการณ์นี้ค่อนข้างแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันจริงๆ นั่นแหละ แทนที่จะพูดถึงการเคลื่อนไหวด้านการเมือง อำนาจอธิปไตยโยกย้ายกระจายตัว ชนชั้นกลางไม่พอใจระบบกษัตริย์ หรือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจสร้างภาวะข้าวยากหมากแพง การปฏิวัติฝรั่งเศสในสายตาดิกเกนดูเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เกิดจากความแค้นของชนชั้นแรงงานที่มีต่อขุนนางเท่านั้น

ถึงจะเป็นการมองแบบง่ายๆ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเรื่องง่ายๆ ต้องผิดพลาดเสมอไป บางครั้งคำตอบง่ายๆ อาจใช้ได้ และเป็นจริงยิ่งกว่าคำตอบซับซ้อนด้วยซ้ำ จะว่าไป คงมีแต่คำตอบทางอารมณ์อย่าง "ความแค้น" ถึงจะอธิบายปรากฎการณ์ทางอารมณ์ ที่เรียกว่าปฏิวัติฝรั่งเศสได้ ในสายตาของดิกเกน การปฏิวัติฝรั่งเศสเสมือนเครื่องจักรสังคมซึ่งดำเนินไปตามวิถี ไม่มีใครหยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลง เมื่อขุนนางมีอำนาจ ก็ง่ายดายที่ชนชั้นสูงจะใช้อำนาจในทางที่ผิด ข่มเหงรังแกผู้อ่อนแอกว่า และเมื่อความแค้นของชนชั้นแรงงานระอุถึงที่สุด ก็กลายเป็นการโต้ตอบชนิดเลือดล้างเลือด

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่าความเจ๋งของ The Tale of Two Cities รวมอยู่ในตัวนางร้ายมาดามดีฟาร์ก ที่นอกจากเลือดเย็น อำมหิตถึงแก่นแล้ว เธอยังเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องจักรนรกนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร มาดามดีฟาร์กไม่เคยหยุดถักไหมพรม ไม่ว่าจะเป็นตอนรถม้าขุนนางขับชนเด็กยากจน ขณะวางแผนกับสามีถล่มคุกบาสติล หรือใส่ร้ายคนบริสุทธิ์เพื่อตอบสนองความแค้นส่วนตัว แต่ที่เด็ดสุดคือ ยามเมื่อศีรษะแล้วศรีษะเล่าสังเวยคมเคียวกิโยติน มาดามดีฟาร์กยังถักทอไหมพรมบนเก้าอี้ประจำตัวข้างลานประหารอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงมอยรา สามพี่น้องเทพแห่งชะตากรรมในตำนานกรีก นอกจากจะร้ายได้ใจ มาดามดีฟาร์กยังมีจุดจบที่...ต้องถือว่าดิกเกน "สร้างสรรค์" และ "กล้า" มากๆ ที่ให้จุดจบเช่นนี้กับตัวละคร เป็นยังไง ไว้ไปอ่านกันเอาเอง

ถ้าถามคนที่ไม่เคยอ่านดิกเกนเลย สำหรับดิกเกนเล่มแรก รู้สึกอย่างไร ตอบได้เลยว่าประทับใจ ผู้เขียนมีวิธีการแต่งเรื่องที่ซ่อนปม ซุกความลับให้น่าติดตามตลอดเวลา แถมยังต้องยกนิ้วกับการสร้างฉาก สร้างอิมเมจ จนอุปมาอุปมัยเล็กๆ น้อยๆ เช่นเสียงฝีเท้ากลายเป็นจุดเด่นของเรื่อง ท่าจะติ ก็คงเป็นตัวเอกที่อ่อนเกินไป โดยเฉพาะคาร์สัน ผู้ต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่อันมีผลต่อชีวิตทุกคน พอถึงวินาทีนั้น เรา คนอ่านกลับเข้าไม่ถึงตัวละครอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ก็เอาเถอะ ถ้ามีตัวร้ายที่แข็งขนาดมาดามดีฟาร์ก หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ต้องการพระเอก นางเอกแล้วล่ะ

1 comment:

Thosaeng said...

It sounds from your description like A Tale of Two Cities is pretty dickensian after all (was it me who said it wasn't?). I sometimes feel Dickens can be a bit heavy-handed with his socio-political messages (Hard Times is a case in point). But over all I do like his style a lot, and Great Expectations is still one of my favortie novels, though I suppose that's almost a guarantee that you won't like it, isn't it? :P