T. Adorno's "Philosophy of Modern Music"


หนังสือบางเล่ม อ่านแล้วก็อดแปลกใจไม่ได้ ทำไมเราถึงเพิ่งได้มาอ่าน Philosophy of Modern Music ตอบคำถามหลายข้อที่เรามีมาตลอดเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค อะไรคือกฎเกณฑ์ นอกเหนือไปจากความพึงพอใจส่วนบุคคล ที่ใช้ตัดสิน ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ศิลปะไร้รูปไร้ร่างเช่นนี้ ถึงแม้อดอร์โนจะเขียนเล่มนี้เพิ่มเชิดชูคีตกวียุคใหม่ (หมายถึงต้นศตวรรษที่ 20) แต่คำอธิบายของเขาก็ช่วยให้เราเข้าใจดนตรีคลาสสิคในภาพรวมกว้างๆ ได้

ที่สุดของที่สุดของดนตรีคลาสสิค (ในที่นี้เน้นเฉพาะยุคหลังบีโธเฟน) คือการแปรเปลี่ยน ระยะห่างหรือสถานที่ให้กลายเป็นเวลา ระยะห่างในทีนี้หมายถึงความต่างของระดับเสียง การเคลื่อนจากคอร์ดหนึ่งไปยังอีกคอร์ดหนึ่ง การสร้างเสียงพื้นฐานขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงดึงดูดเสียงอื่นๆ ความตึงเครียด การเฝ้ารอ การตอบสนอง และการผ่อนปรน เหล่านี้คือเครื่องมือของคีตกวีในการบีบเวลาของผู้ฟัง และยืดมันออก ให้สั้นหรือยาวกว่าเวลาในความเป็นจริง (อดอร์โนให้ตัวอย่างซิมโฟนีหมายเลข 7 ของบีโธเฟนว่าคือสุดยอดแล้วของงานแนวนี้)

แต่การพาผู้ฟังเข้าไปอยู่ในเวลาเทียม สำหรับอดอร์โน คือการหลีกหนีความจริง เป็นการสร้างความแปลกแยกในโลกทุนนิยม (อดอร์โนเป็นผู้ก่อตั้ง Frankfurt school และเป็นนีโอมาร์กซิส ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนไปไม่พ้น) ดนตรียุคใหม่จึงต้องเป็นดนตรีที่ทำลายเวลาลงโดยสิ้นเชิง ในทีนี้เขาหยิบยกมาสองตัวอย่างคือเชอนแบร์กและสตาวินสกี้

เชอร์นแบร์กใช้ 12-tone เทคนิคในการทำลายเวลา เขาแต่งเพลงในแต่ละเส้นโดยใช้โน้ตให้ครบทั้งสิบสองตัวก่อน ห้ามซ้ำกัน ครบสิบสองเมื่อไหร่ ถึงค่อยกลับมาเริ่มชุดใหม่อีกรอบได้ เพลงของเชอร์นแบร์กจึงไม่มีศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง แต่ไหลไปเรื่อยๆ ปราศจากรูปร่าง แนวคิดตรงนี้คล้ายๆ งานศิลปะของแจสเปอร์ จอห์นส์ ซึ่งแต่ก่อนเราดูไม่เป็น แต่รุ่นน้องคนหนึ่งสอนว่า มนุษย์เราจะมีแนวโน้มในการมองหาและสร้าง "ลวดลาย" สิ่งที่จอห์นส์พยายามทำก็คือกำจัดศักยภาพในการมองลวดลายออกไปจากภาพ (เช่น Cross Hatch) ซึ่งผิวเผินเหมือนทำกันง่ายๆ แต่พอลองมาระบายมั่วๆ ก็จะพบว่าลวดลายปรากฏขึ้นมาจริงๆ การ์ตูนแบนๆ อย่าง Tintin ของแฮเกอร์ก็คืออีกตัวอย่างหนึ่งของศิลปะแนวนี้

เทคนิคของสตาวินสกี้สลับซับซ้อน และเข้าใจยากกว่ามาก อดอร์โนบอกว่าสตาวินสกี้เป็นผู้สืบทอดกลวิธีการประพันธ์มาจากแวกเนอร์ และเดบิวซี โดยเฉพาะเดบิวซีซึ่งแต่งเพลงให้มีแต่ความตึงเครียด ไม่ยอมผ่อนโทนของตัวเองลง ผลลัพท์คือเพลงที่เหมือนกับภาพวาดไร้เวลา (La Mer หรือ "ทะเล" เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ) แต่สตาวินสกี้ไปไกลกว่านั้นอีกขั้น เขาไม่ใช่แค่หยุดเวลา แต่ถึงกับย้อนเวลาเลย ดนตรีของสตาวินสกี้คือความบ้าคลั่งที่ดึงมนุษย์กลับไปสู่วิถีชีวิตแบบป่าเถื่อน แต่ธรรมชาติในทีนี้ไม่ใช่ภาพดื่มด่ำชวนฝัน หากเต็มไปด้วยการบูชายัญ ความเจ็บปวด และทรมาน เป้าหมายทางดนตรีของสตาวินสกี้ สำหรับอดอร์โน ก็คือการทำลายอัตตาและความเป็นปัจเจก ซึ่งเป็นพื้นฐานของกลไกทุนนิยมนั่นเอง (เสียดายที่อดอร์โนแกไม่ชัดเจนเลยว่าเทคนิคทางดนตรีอะไรที่สตาวินสกี้ใช้บริหารจัดแจงความบ้าคลั่งดังกล่าว หรือไม่เราก็อ่านไม่แตกเอง)

รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (41~50)

41. ไม่ชอบเลย ทั้งในส่วนเทคนิคและเนื้อหา   ด้านเทคนิค คนเขียนใช้วิธีตัดแปะแบบศิลปะคอลลาจ หากการผสมผสานยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร   แต่นั่นยังไม่ร้ายแรงเท่าเนื้อหา   มันพยายามพูดเรื่องการเมือง แต่เป็นการเมืองแบบพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์   การเมืองเชิงปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสรายวัน เหมือนคนเห็นเรือลอยขึ้นลอยลง แต่มองไม่เห็นคลื่น เลยไพล่เข้าใจไปว่า สงสัยยานพาหนะชนิดนี้จะถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ขึ้นลงแนวดิ่งเองกระมัง

42. สำหรับเรานี่เป็นหนังสือที่แปลกมาก เพราะมันผ่ากฎเหล็กข้อแรกแห่งการเป็นนักเขียน ถ้าให้เดา เราว่าผู้เขียนไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะ ไม่ได้ศึกษาเรื่องสั้นเรื่องยาวมาสักเท่าไหร่ แต่ก็ด้วยเหตุนี้ มันถึงไม่มีจริตของวรรณกรรม เนื้อเรื่องโลดแล่นไปได้อย่างอิสระ กล้าพูดในสิ่งที่ไม่มีนักเขียนคนไหนเคยพูด ผู้เขียนนำประสบการณ์ส่วนตัวมาร้อยเรียงเป็นผลงานที่อาจลักลั่น และเต็มไปด้วยช่องโหว่ แต่ก็มีเสน่ห์ชวนชม

43. แทบจะไร้ที่ติ (แต่ก็เพราะมัน "แทบ" นี่แหละ ที่ติของมันเลยเป็นได้ทั้งตาตุ่มอาคิลิสและแผลกำเนิดของฮอธอร์น) ผู้เขียนตีความ "โลกาภิวัฒน์" เสียใหม่ จนอดสงสัยไม่ได้ ทำไมไม่เคยมีใครมองโลกด้วยวิธีนี้มาก่อน ทำไมเรื่องสั้นไทย โดยเฉพาะที่เกิดในชนบท ถึงได้อัตคัดขัดสนพื้นที่นัก ราวกับโลกทั้งใบถูกบรรจุอยู่ในกล่องแคบๆ ที่เรียกว่าท้องถิ่น โลกาภิวัฒน์ไม่ได้หมายถึงความทันสมัย ทุนนิยม หรือตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นกุญแจกลับสู่จุดกำเนิด "บูรพาทิศ" ที่แท้จริง ก่อนจะถูกคำว่า "ชาติ" บิดเบือนไปต่างหาก

44.
ก็ไม่ปฏิเสธหรอกนะว่าเรามีอคติกับเล่มนี้ ตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยก็ว่าได้ แต่พออ่านจริงๆ ถึงพบว่ามันเลวร้ายกว่านั้นอีก เริ่มที่การเอาทัศนคติแบบดักดานมาใช้วิเคราะห์ปัญหาสมัยใหม่ แต่เราก็ยังให้เกียรติคนเขียนทนอ่านจนเกือบจบเล่ม ไปฟิวขาดจริงๆ กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คนเขียน "มั่ว" รายละเอียดบางอย่าง แต่เป็นความ "มั่ว" ที่สะท้อนปัญหาทางด้านทัศนคติดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น

45. อะไรมันจะตะแลดแต๊ดแต๋ได้ถึงเพียงนี้ เทียบกลับอีกหลายเล่ม เราไม่ได้รังเกียจทัศนคติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยของมัน แต่ในแง่วรรณกรรม ตัวละครแบนจนหาเสน่ห์อะไรไม่ได้ ความยาวและหลายเรื่องโดยใช่เหตุลดทอนคุณค่ามันลง เสียดายเพราะเราชอบเล่มที่แล้วของผู้เขียนมาก ทั้งซับซ้อนและเป็นสามมิติกว่านี้เยอะ นี่อาจเป็นตัวอย่างว่าการบรรณาธิการที่ดีสามารถช่วยอะไรนักเขียนได้บ้าง

46. น่าจะเป็นเล่มที่ดีที่สุดแล้วของนักเขียนคนนี้ แต่ให้พูดแบบเต็มปากเต็มคำเลยว่า "ดี" ก็ยังทำได้ไม่ลง มีพัฒนาการจากเล่มก่อนๆ บางเรื่องสั้นถือว่าสอบผ่านเลย โดยเฉพาะเรื่องโปรยปกและเรื่องสุดท้าย แต่นี่คือตัวอย่างของนักเขียนที่ถูกทะนุถนอมจนเกินไป เป็นไข่ในหินที่ไม่ต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก ฝีมือจึงยังไม่ประสิทธิประสาทอย่างเข้าที่ น่าเสียดาย เพราะอย่างน้อยเล่มนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าเจ้าตัวมีศักยภาพ

47. นิยมอยู่ไม่น้อย เหมือนแกงอะไรสักอย่างที่ใส่เครื่องปรุงชั้นเลิศลงไป แต่พอต้มออกมาเสร็จ พ่อครัวลืมคน ทำให้เครื่องแต่ละส่วนไม่เข้ากัน บางเรื่องก็เต็มไปด้วยเนื้อหา ขณะที่บางเรื่องมีแต่เนื้อเรื่อง ทั้งที่จริงๆ ถ้าแบ่งสองส่วนมาผสมกัน คงได้แกงเรื่องสั้นที่อร่อยลิ้นขึ้น (บางทีอาจเป็นความตั้งใจของผู้เขียนก็ได้) คนเขียนแสดงศักยภาพ โดยเฉพาะในส่วนเนื้อหา แอบอยากรู้ด้วยว่าได้รับอิทธิพลมาจากการบรรณาธิการมากน้อยเพียงใด

48. "Oh, you big tease!" เป็นสำนวน ใช้ด้วยความหมั่นไส้เวลารู้ว่าใครมีของดีแต่แค่แพลมๆ มาให้เรายล อ่านเล่มนี้แล้วก็ได้ความรู้สึกนั้น มันมีทั้งเรื่องสั้นที่ดีมากๆ ปนอยู่กับที่ไม่ใช่แม้แต่เรื่องสั้นเลยด้วยซ้ำ เราชอบแนวเรื่องสะท้อนสังคมเมืองแบบนี้ เหมือนจะเคยฮิตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่โดนเพื่อชีวิตแนวใหม่ของกนกพงศ์ตบซ้าย ต่อด้วยโพสโมเดิร์นของปราบดาตบขวา ก็เลยไม่มีโอกาสได้เกิด ยินดีที่ได้กลับมาพบเห็นอีกครั้ง ขอปวารณาตัวติดตามผลงานของนักเขียนคนนี้ต่อไปด้วยความตื่นเต้น

49. อีกเล่มที่ไม่ค่อยชอบ มันแลดูปวกเปียกป้อแป้ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อวรรณกรรมของคนเขียน หรือความเข้าใจปัญหาสังคม ถ้าสองสิ่งนี้สอบไม่ผ่าน (ในความเห็นเรา) ก็ยากแล้ว ที่จะประทับใจกับเล่มนี้ได้

50. เป็นอีกเล่มที่น่าเสียดาย เหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน แฝงอยู่ในก้อนหิน ขาดความโดดเด่น ทั้งในแง่ภาพรวมและแต่ละเรื่อง เรื่องที่ดีที่สุดในเล่มกลับถูกทิ้งเอาไปไว้หลังๆ ขณะที่เรื่องโปรยปกกลับอ่อนด้อยกว่าเพื่อน ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของแนวเรื่องทำให้เรื่องที่เขียนดีแต่ผิดแผก ดูลักลั่นชอบกลเมื่อนำไปรวมกับเรื่องอื่น แม้คนเขียนจะสอบผ่านด้านพื้นฐานและทักษะ แต่ปัญหาของเล่มนี้ต้องแบ่งรับแบ่งสู้กันระหว่างตัวนักเขียนเองและบรรณาธิการ

G. Greene's "The Ministry of Fear"


แทบจะกลายเป็นขนบไปแล้วว่า นิยาย การ์ตูน หรือเกมที่เปิดฉากด้วยตัวเอกความจำเสื่อม ความสนุกคือการที่คนอ่านค่อยๆ สืบค้นประวัติที่หายสูญไปพร้อมๆ กับตัวเอก และสุดท้ายก็มักจะนำไปสู่จุดหักเหอันน่าตื่นเต้น (ใครที่เป็นแฟนไฟนอลแฟนตาซียุคเก่า จะรู้ว่าตั้งแต่ภาคห้า หก เจ็ด ตัวเอกไฟนอลจะต้องมีอาการความจำเสื่อม)

ใน The Ministry of Fear กรีนกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นี่คือนิยายตัวเอกความจำเสื่อมที่ผู้อ่านรู้อยู่แต่แรกว่าอะไรคืออดีตของเขา มันแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกจัดว่าเพี้ยนมากๆ เปิดฉากเหมือนภาพยนตร์ฮิชคอก ที่ผู้บริสุทธิ์ถูกดึงเข้าสู่วังวนของการฆาตกรรม สายลับ และการสืบสวน ต่างแต่กรีนใส่กลิ่นของความแปลกวิถี (absurd) ลงไปด้วย แมคกัฟฟินในที่นี้ไม่ใช่รหัสลับที่ซ่อนอยู่ในเสียงเพลง หรือจดหมายที่ถูกสลับโดยบังเอิญ แต่เป็นก้อนเค้กที่อาเธอร์ ตัวเอกของนิยาย ได้เป็นรางวัลมาจากงานการกุศล

เรื่องราวค่อยๆ เปิดเผยแก่คนอ่านว่า อาเธอร์ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้บริสุทธิ์ขนาดนั้น เขามีชีวิตอยู่กับความผิดที่ตามมาหลอกหลอน และอดีตอันขมขื่น ก่อนจะจบครึ่งแรก The Ministry of Fear กลายเป็นนิยายเหนือจริง เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลเหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่าค่อยถมทับอาเธอร์ ตั้งแต่การอัญเชิญวิญญาณ การได้พบกับชายแก่พ่อค้าหนังสือเก่า และการเข้าไปในโรงแรมเขาวงกต

พอถึงครึ่งหลัง จู่ๆ มันก็กลายเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่ง อาเธอร์ตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลบ้า เขามีชื่อใหม่ สูญเสียความทรงจำ แต่ในทางกลับกันก็ได้สิ่งอื่นมาแทน นั่นคืออิสรภาพจากบาปในอดีต อาเธอร์ค่อยๆ สืบค้นอดีตของตัวเอง ท่ามกลางเหล่าร้ายที่ยังหมายจ้องจะเอาชีวิตเขา โดยผู้อ่านรู้ (แต่ตัวเอกไม่รู้) ว่าปลายทางของการสืบค้นความลับที่ถ้าไม่รู้เลย คงจะมีความสุขยิ่งกว่า

The Ministry of Fear มีโทนการเล่าเรื่องที่กระโดดไปกระโดดมา เหมือนกรีนแถไปเรื่อยๆ แต่กลับสนุกอย่างน่าประหลาด ส่วนตัว เราเป็นคนชอบอะไรแบบนี้ ของที่ดูผิวเผินเหมือนจะมั่วซั่ว แต่ความมั่วซั่วค่อยๆ ประกอบเป็นรูปเป็นร่างอันสวยงาม ฉากหลังของนิยายคือลอนดอนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ค่อยๆ พังพินาศด้วยแรงระเบิดจากเครื่องบินรบเยอรมัน สร้างโลกอันน่าพิศวงที่เสริมกันได้ดีกับอุปสรรคและความขัดแย้งที่ตัวเอกจะต้องเผชิญ

S. Lewis's "Babbitt"


สารภาพว่าไม่ค่อยชอบหนังสือแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ มันน่าสนใจมากในวิธีการนำเสนอ Babbitt น่าจะเป็นนิยายที่ใกล้เคียงความเป็นสารคดีที่สุด เลวิสจำลองภาพชนชั้นกลางในอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนความพังพินาศทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ เป็นยุคที่ชีวิตของชาวอเมริกันเต็มไปด้วยความว่างเปล่าอันมั่งคั่ง ผู้คนแหวกว่ายอยู่ในอุดมการณ์อนุรักษนิยม อยู่ในความโง่งมอันไร้ขอบเขต

เลวิสนำเสนอภาพเหล่านี้ออกมาในรูปแบบสารคดี นิยายแทบทั้งเล่มไม่มีเนื้อเรื่อง เป็นเหตุการณ์ในแต่ละยี่สิบสี่ชั่วโมงของแบบบิทมาต่อๆ กัน แต่ละฉากแต่ละช่วงอาจมีธีมการนำเสนอ เช่น ชีวิตครอบครัวของชนชั้นกลาง ชีวิตในที่ทำงาน ชีวิตช่วงวันหยุดพักผ่อน เป็นต้น คนอ่านสัมผัสได้ถึงความน่าเบื่อหน่อย ตัวละครแต่ละตัวเป็นปากที่ขยับไปมา แต่ไม่มีความคิดหลุดมาพร้อมกับเสียง แบบบิทเองก็รู้ตัวอยู่ลึกๆ ว่ากำลังโดนกักขังโดยบางสิ่งบางอย่างที่เขาอธิบายไม่ถูก เขาไม่พอใจกับชีวิตแบบนี้ แต่ก็ไม่สามารถหนีออกมาได้ ไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตแบบอื่น

เรารู้สึกว่านี่คือนิยายแบบกามูส์ ในยุคที่ยังไม่มีกามูส์ (และเช่นเดียวกับกามูส์ เลวิสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม) แบบบิทน่าจะเป็นพระเอกอัตถิภาวนิยมคนที่สองถัดจากราสโคนิคอฟ แต่เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีขนบนิยายที่ตัวเอกตั้งคำถามกับจารีตประเพณี และพยายามฉีกตัวเองจากสภาพแวดล้อม เลวิสจึงเลือกนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในรูปแบบสารคดี และนั่นกลายเป็นสิ่งที่เก๋ไก๋ที่สุดของนิยายเรื่องนี้

แต่ถามว่าอ่านสนุกไหม ตอบได้เลยว่าเพราะความไม่มีเนื้อไม่มีเรื่องของมัน Babbitt จึงเป็นนิยายที่เราต้องใช้ความอดทนกับมันมากทีเดียว

J. Sarte's "The Imaginary"


มันมีรายละเอียดขำๆ จากการ์ตูนโดราเอมอนที่ไม่รู้เหมือนกันทำไมเราถึงได้จำฝังใจนัก มีการเปิดเผยให้เห็นว่าภายในกระเป๋ามิติที่สี่เป็นยังไง เราจะเห็นแท่นๆ ๆ เรียงรายอยู่บนพื้นที่เวิ้งว้าง และบนแท่นนั้นจะมีของวิเศษตั้งอยู่ เมื่อโดราเอมอนยื่นมือกลมๆ เข้ามา คอมพิวเตอร์ที่อยู่บนมือ จะนำทางไปยังของวิเศษที่ตั้งใจจะหยิบ (บางทีที่เราจำมันฝังใจ คงเพราะความไม่ make sense ของการจัดวางแบบนี้กระมัง ช่างแสนเปลืองเปล่าเนื้อที่เสียนี่กระไร)

มานั่งนึกๆ ดูภายในกระเป๋ามิติที่สี่คงคล้ายๆ กับสมองของคนเรา เรามีเนื้อที่เก็บความทรงจำ และข้าวของแทบไม่จำกัด ปัญหาคือเราไม่มีคอมพิวเตอร์บนมือแบบโดราเอมอนที่จะนำทางเราไปความทรงจำที่ต้องการ ความคิดทำนองนี้คล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง The Cell ตำรวจจับผู้ร้ายลักพาตัวได้ แต่ผู้ร้ายอยู่ในอาการโคม่า ทางเดียวที่จะรู้ว่าเหยื่อคนสุดท้ายถูกจับขังไว้ที่ไหนคือต้องให้นางเอกเจาะเข้าไปยังจิตใต้สำนึกของคนร้ายเพื่อหาข้อมูลดังกล่าว แม้คนร้ายจะไม่มีสติสัมปชัญญะ แต่ข้อมูลยังอยู่ในนั้น เหมือนกับของวิเศษที่ตั้งรออยู่บนแท่น

ซาร์ตเรียกความคิดแบบนี้ว่า Illusion of Immanence (ภาพลวงตาของการคงอยู่ภายใน) "ภาพลวงตา" ว่าความทรงจำจะ "คงอยู่ภายใน" เสมอ แม้เจ้าตัวจะสิ้นสติสัมปชัญญะไปแล้ว ใน The Imaginary ซาร์ตตีโต้แนวคิดนี้ เขาอธิบายว่าความจำไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ภายใน แต่เป็นกระบวนการของสติ ของจิตเหนือสำนึก ภาพที่เราเห็นในหัวไม่ใช่สิ่งที่เราเก็บสะสมเอาไว้ แต่เป็นกระบวนการที่ถูกผลิตสร้างขึ้น

ซาร์ตยกตัวอย่างน่าคิดมากๆ สมมติว่าใครเคยไปเที่ยวกรีก ได้ชมวิหารพาเธนอน และเมื่อเขากลับมาแล้ว เราขอให้เขาจินตนาการภาพพาเธนอนขึ้นในหัว แน่นอนว่าเขาย่อมทำได้ แต่ถ้าเราถามเขาต่อว่าพาเธนอนมีเสาวิหารทั้งหมดกี่ต้น รับรองว่าไม่มีใครตอบได้ ถ้าไม่รู้คำตอบมาก่อน (เฉลย 86 ต้น) ทั้งนี้เพราะภาพที่อยู่ในหัวเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราไปเก็บมา แต่เป็นกระบวนการที่เกิดจากการสังเคราะห์ของความรู้ และความรู้สึก

The Imaginary ยังพูดถึงสภาวะต่างๆ ของความทรงจำ ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก ซาร์ตอาศัยข้อมูลจากการทดลองทางจิตวิทยา ซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแตกต่างจากตำราปรัชญาทั่วไป แต่มีกลิ่นของความเป็นจิตวิทยาสูงมาก

เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อสรุปตอนท้ายของหนังสือ เมื่อซาร์ตพูดถึงงานศิลปะเท่าไหร่ เขาบอกว่าความงามทางศิลปะทุกแขนงมาจากสิ่งที่อยู่ภายในแต่ไม่ใช่ตัวภาพเอง "ภาพทุ่งหญ้า" นั้นไม่งาม แต่ "ทุ่งหญ้าที่อยู่ในภาพ" ต่างหากที่งาม ในทางวรรณกรรม "เรื่องราวในหนังสือ" นั้นมีคุณค่าทางสุนทรียะ แต่ "หนังสือ" นั้นไม่มี ในแง่หนึ่งก็คือซาร์ตปฏิเสธลัทธิจิตรกรรมแขนงใหม่แทบทั้งหมด โดยเฉพาะดาดา

รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (31~40)

31. เล่มนี้ อ่านจบแล้วชอบคนเขียนมากกว่าชอบหนังสือ ผู้เขียนมีฝีไม้ลายมือ และมีวิสัยทัศน์ทางด้านการเมือง ปัญหาอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของเรื่องสั้นการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านแบบนี้คือ ถ้าไม่ปราชญ์จริงๆ เขียนเร็วไปแค่ปีเดียว ก็พ้นสมัยแล้ว แม้เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะเขียนเมื่อสองสามปีที่ก่อน แต่ก็ยังจัดว่าร่วมสมัยอยู่ (ไม่เหมือนบางคน ต่อให้รอไปอีกสิบปีแล้วค่อยจดปากกา ยังตกยุคเลย) ในเล่มปะปนกันระหว่างเรื่องที่ดีมากและไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (เสียดายที่เรื่องโปรยปกจัดอยู่ในกลุ่มหลัง)

32. ไม่ชอบเล่มนี้ในฐานะงานวรรณกรรม แต่ถ้าให้อ่าน ในฐานะแคปซูลประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นผลงานที่น่าสนใจทีเดียว ไม่รู้ว่าด้วยอุบัติเหตุทางการพิมพ์หรืออะไร แต่เรื่องสั้นที่อยู่ในเล่มนี้ดึกดำบรรพ์มาก (บางเรื่องเขียนตอนคุณชาติได้ซีไรต์) ถ้าให้ตัดสินหนังสือเล่มนี้ด้วยสายตาของนักวิจารณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยิ่งกว่าตกยุคอีก แต่ด้วยสายตาของนักสังคมศาสตร์ มันบันทึกอดีต และสะท้อนภาพบางอย่างที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมีนัยยะและชวนขบคิด

33. เหมือนดูคนเล่นมายากลไม่เป็นที่พยายามดึงกระต่ายออกมาจากหมวก โอเค มันเพลิดเพลินในระดับหนึ่ง และเอาเข้าจริง การ anti-spectacle แบบนี้ ก็เป็นธรรมชาติของงานศิลปะยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน เราไม่แน่ใจว่าคนเขียน "มีของ" แล้วพยายามรื้อสร้างวรรณกรรม หรือไม่มีอะไรในกอไผ่ตั้งแต่แรก ภาษาที่เหมือนหันมายักคิ้วหลิวตาให้คนอ่านตลอดเวลา สำหรับเรามันเป็นวิสัยน่ารำคาญของนักเขียนที่พยายามทำตัวเป็นโพส

34. วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังไม่ตายจริงๆ ด้วย และวิธีต่อชีพงานเขียนแนวนี้ที่ดีที่สุดคือการกลับไปหาจุดกำเนิด เข้าใจ (ไม่ใช่ลอกเลียน) นักเขียนอย่างลุงคำสิงห์หรือลุงคำพูน สะท้อนชนบทแบบที่ชนบทในยุคปัจจุบันเป็น พูดถึงความเปลี่ยนแปลง และปฏิสัมพัทธ์ระหว่างชนชั้น ไม่ใช่เขียนถึงแต่คนยากคนจนในจินตนาการ โรแมนติไซต์รากหญ้าที่ไม่มีอยู่จริง นี่คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตขนานแท้ ว่าด้วยวิถีอันสอดคล้องกับธรรมชาติ มีน้ำเสียงจิกกัดทุน แต่ไม่ปฏิเสธมันโดยสิ้นเชิง (เพราะคนชนบทจริงๆ เขายังไม่ปฏิเสธทุนเลย)

35. มันก็สนุกดีอยู่หรอก แถมเราเป็นคนชอบเรื่องทำนองนี้ แต่จะให้ชื่นชมเล่มนี้เลย ก็ทำได้ไม่เต็มปากเต็มคำ เราไม่แน่ใจว่าอัตราส่วนเรื่องที่ดีจริงๆ ต่อเรื่องที่ธรรมดา และเรื่องที่แย่ จัดอยู่ในเกณฑ์สอบผ่านหรือไม่ บางเรื่องก็เหมือนเขียนมาแบบไม่สนใจเขียนให้จบ (ซึ่งอาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่มันเล่นง่ายไปหน่อยหรือเปล่า) ทั้งที่ไอเดียของเล่มสร้างสรรค์มากๆ แต่การไม่บรรณาธิการตัวเองเลยของคนเขียนทำให้มันไปไม่ถึงศักยภาพ

36. ถ้าวรรณกรรมเป็นเรื่องของภาษาล้วนๆ นี่จะเป็นเล่มที่เราชอบที่สุด เราหลงใหลภาษาและการเล่าเรื่องของมัน แต่น่าเสียดายที่องค์ประกอบอื่นๆ ตัวละครเอย เนื้อเรื่องเอย ธีมเอย ตามหลังภาษาอยู่หลายจังหวัดทีเดียว ภาษากระแสสำนึกที่ผลุบๆ โผล่ๆ ระหว่างอดีต ปัจจุบัน ความจริง และความฝันแบบนี้ น่าจะเหมาะกับเรื่องแนวสัจนิยมมายา แนวสัญลักษณ์ หรือแนวนิทานมากกว่า พอเอามารับใช้เรื่องแนวสัจนิยมเพียวๆ เลยกลายเป็นความลักลั่นไม่เข้ากันไป

37. เละเทะมากๆ ..เหมือนผู้เขียนซ่อนตัวเองอยู่ในเงามืด แล้ว "แสดง" อะไรบางอย่างให้เรารับชม ในแ่ง่หนึ่ง คนเขียนอาจต้องการแสดงให้เห็นความเป็นศิลปินของตัวเอง แต่คำถามคือ อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างศิลปะและศิลปิน ถ้าคำตอบคือข้อแรก ผลงานชิ้นนี้จัดว่าสอบผ่าน (ก็ได้) แต่ถ้าข้อหลัง ยืนยันคอมเมนต์แรกว่ามัน "เละเทะมากๆ "

38. ให้วิจารณ์แบบไม่เกรงอกเกรงใจ...นี่มันเผางานมาส่งชัดๆ !! นอกจากเรื่องแรกที่ดีที่สุดในเล่ม เรื่องอื่นคือการเอาโมทีฟ ตัวละคร ฉาก และสไตล์มาประกอบสร้าง ผลิตซ้ำๆ ก่อนจะกลายเป็นเรื่องโปรยปกที่แสนเชยทั้งเนื้อหาและความคิด น่าเสียดาย เพราะคนเขียนพิสูจน์ตัวเองว่ามีอะไรดีจากเรื่องแรก...จะบอกความลับให้อย่างหนึ่ง เขียนหนังสือนี่ไม่รวย ไม่ดังหรอก ไม่ต้องรีบผลิตผลงานนักก็ได้

39. อีกหนึ่งแคปซูลกาลเวลา แต่เทียบกับ 32 แล้วไม่ล้าสมัยเท่า อาจเพราะเป็นเรื่องแนวปัจเจก มันจึงตัดขาดตัวเองจากบริบทความเปลี่ยนแปลงในสังคม กระนั้นก็ตาม เรื่องสไตล์ช่อการะเกดยุคสองแบบนี้ไม่ค่อยมีใครเขียนถึงกันแล้ว เราชอบในระดับหนึ่ง แต่อยากยกผลประโยชน์ให้ความย้อนยุคของมัน เช่นเดียวกับ 32 คือ น่าสนใจในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่เราจะให้คะแนนทางวรรณกรรมกับมันได้อย่างเต็มภาคภูมิ

40. ถ้าส่วนตัวเลย เราไม่นิยมเล่มนี้เท่าไหร่ สุนทรียะของผู้เขียนดูจะสวนทางกับเราโดยสิ้นเชิง มันเน้นภาษาสวยงาม ปรัชญาซื่อๆ แต่กินใจ เนื้อเรื่องตรงไปตรงมา แม้ทั้งหมดที่กล่าวมา คนเขียนจะทำได้ดีเยี่ยม แต่เราไม่ใช่คนอ่านที่มองหาสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่แรก ประกอบกับจุดอ่อนในการเล่าและลำดับเหตุการณ์อันชวนสับสน หรือบางทีก็ลดทอนอารมณ์เรื่องลงด้วยซ้ำ ซึ่งในสายตาคนอื่น มันอาจจะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่เราตัดใจอภัยให้ความผิดแบบนี้ยาก เอาเป็นว่าขอเชียร์ห่างๆ แล้วกัน

ชุมชนจินตกรรม (เบน แอนเดอร์สัน)


ในที่สุดก็ได้อ่าน สมคำร่ำลือจริงๆ กับ ชุมชนจินตกรรม เล่มนี้ของอาจารย์เบน อาจารย์อธิบายที่มา ต้นกำเนิดของลัทธิชาตินิยม อันเป็นผลิตผลที่จัดว่า "ใหม่" มากๆ ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

กำเนิดชาตินิยมแบ่งเป็นสองแนวทางหลักๆ ด้วยกัน คือชาตินิยมของประชาชน ซึ่งเริ่มจากการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ และนวนิยาย พัฒนาการตรงนี้ก่อให้เกิด "สุญกาลสหมิติ" (homogeneous empty time) หมายถึงความสามารถในการจินตนาการว่า บุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าเรา ก็มีเวลาที่ดำเนินไปพร้อมๆ กัน มีวิถีชีวิตของตัวเอง แต่เกี่ยวเนื่องกับตัวเราด้วยสายสัมพันธ์บางอย่าง ความสามารถในการจินตนาการถึงบุคคลอื่นแบบคู่ขนานไปกับตัวเรานี้เอง คือต้นกำเนิดของลัทธิชาตินิยม

ชาตินิยมในแบบที่สอง คือชาตินิยมแบบทางการ เกิดจากชนชั้นปกครอง กษัตริย์และเจ้าขุนมูลนาย เกิดความรู้สึกแปลกแยกจากมวลชน (กรณีนี้จะเด่นชัดมากในทวีปยุโรป เพราะระบบกษัตริย์สมัยก่อนก็คล้ายๆ กับข้าราชการสมัยนี้ คือกษัตริย์ฝรั่งเศส อาจถูกส่งไปปกครองประเทศสเปน หรือดินแดนอื่นที่พูดจาคนละภาษากับพระองค์เองเลยก็ได้) จึงได้พยายามสร้างชาตินิยมขึ้นมาใหม่ โดยอิงแอบกับอำนาจขององค์กษัตริย์แทน

อาจารย์เบนอธิบายแนวคิดชาตินิยม โดยผนวกเข้าหาประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม เพราะอัตลักษณ์ของตะวันตกและตะวันออกผูกโยงเข้าด้วยกัน ถ้าไม่มีโอเรียนตัลก็จะไม่มีออกซิเดนตัลในทุกวันนี้ และเช่นเดียวกันในทางกลับกัน แม้แต่ประเทศไทยเองที่บอกว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใคร แต่ขอบเขตชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของเจ้าอาณานิคม การล่าอาณานิคมจึงไม่ใช่เพียงยุคสมัยหนึ่ง มีบางประเทศที่ได้ผลเสีย บางประเทศก็ได้ผลดี แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่สั่นสะเทือนประวัติศาสตร์ทั้งโลก (การร้องแรกแหกกระเฌอ ก่นด่าฝรั่งนักล่าอาณานิคมจึงเหมือนการไปด่าอุกกาบาต ที่ทำให้ปัจจุบัน เราไม่มีไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลี้ยง)

ประเด็นที่เราชอบที่สุดในหนังสือ และเสียดายว่าอาจารย์เบนน่าจะขยายความมากกว่านี้คือ อาจารย์ "เปรย" ว่าชาตินิยม ไม่ใช่แนวคิดแบบเสรีนิยม หรือสังคมนิยม แต่ใกล้เคียงกับศาสนามากกว่า ตรงนี้เราว่าน่าสนใจ และเข้ากับบริบทในบ้านเราอย่ามาก น่าจะมีใครรับช่วงตรงนี้ไปขยายความต่อ