T. Wolfe's "The Right Stuff"


ใครที่ติดตามอ่านบลอคนี้คงได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งเกี่ยวกับรักชวนหัวนั่นคือ “เราชอบระบบทุนนิยม” ไม่ขอนิยามให้มากความแล้วกันว่าทุนนิยมเป็นอย่างไร ส่วนคำว่าชอบก็ไปตีความกันเอาเองว่าชอบในระดับไหน แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้ชอบลืมหูลืมตาขนาดมองไม่เห็นข้อเสียเลย ข้อเสียของทุนนิยมอันเป็นหอกหลาวทิ่มแทงใจเราก็คือ การที่สินค้าถูกประเมินราคาด้วยท้องตลาด โดยไม่จำเป็นเสมอไปว่าราคานั้นจะต้องสะท้อนคุณค่าที่แท้จริงของมัน ขยะหนึ่งชิ้นก็ขายได้ ถ้ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดีๆ เรื่องแบบนี้ใครที่คุ้นเคยกับวงการบันเทิง และเฝ้ามองปรากฎการณ์กอล์ฟไมค์ย่อมเห็นพ้องต้องกัน

The Right Stuff เป็นนิยายที่กัดจิกทุนนิยมได้อย่างสาแก่ใจ และวูลฟ์ทำเช่นนั้นโดยไม่ต้องอ้างเรื่องความเท่าเทียม การกระจายรายได้ หรืออะไรทั้งสิ้น อาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียด วูลฟ์ใช้กลวิธีกึ่งสารคดี เล่าเหตุการณ์ “ศึกชิงอวกาศ” ช่วงปลายทศวรรษ 50 ต้น 60 อันเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์และเคนเนดีแข่งขันกับโซเวียต ว่าใครจะส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้ก่อนกัน และชาติไหนจะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรก

เชื่อว่าแทบทุกคนคงรู้จักนีล อาร์มสตรอง (ชาวอเมริกันคนแรกที่ไปเยือนดวงจันทร์) ใครที่แม่นหน่อย น่าจะรู้จักยูริ เอ กาการีน (นักบินอวกาศคนแรกซึ่งเป็นชาวรัสเซีย) และคงต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้การสำรวจอวกาศจริงๆ ถึงจะเคยได้ยินชื่ออลัน เชพพาร์ด (มนุษย์อวกาศคนที่สอง เป็นชาวอเมริกา) หรือจอห์น เกลน (ชาวอเมริกันคนแรกที่นั่งยาวอวกาศโคจรรอบโลก) กระนั้นต่อให้เป็นแฟนพันธุ์แท้แค่ไหนก็คงไม่เคยได้ยินชื่อเยเกอร์ เยเกอร์ไม่ใช่นักบินอวกาศ เขาเป็นคนแรกที่ขับเครื่องบินเจ็ทด้วยความเร็วเกินหนึ่งมัค (ความเร็วของเสียง) ซึ่งสมัยก่อนเคยเชื่อกันว่าเป็นกำแพงทางวิศวกรรมที่มนุษย์เราไม่สามารถฝ่าได้ เอ้า! แล้วเครื่องบินเจ็ทเกี่ยวอะไรกับนักบินอวกาศด้วย ลองดูรูปที่เราแปะไว้ข้างบน จะเห็นว่าระดับความสูงที่เครื่องบินเหล่านี้พุ่งขึ้นไปได้นั้นไม่ธรรมดา กระทั่งเห็นความโค้งของโลกได้ รวมไปถึงชั้นบรรยากาศบางๆ สีฟ้า นี่มันยานอวกาศชัดๆ และคนอย่างเยเกอร์ต่างหากที่น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก

ที่โดนใจมากๆ ใน The Right Stuff คือความแตกต่างระหว่างคุณค่าที่แท้จริง และคุณค่าในโลกทุนนิยม ซึ่งถูกการประชาสัมพันธ์ตบแต่งขึ้น ภายหลังจากที่รัสเซียส่งดาวเทียมสปุตนิคขึ้นไปโคจรรอบโลกได้เป็นประเทศแรก อเมริกาตื่นตระหนกมาก และตัดสินใจว่าจะต้องส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศให้ได้โดยเร็วที่สุด ก็เลยเกิด “แผนสกปรก” เรียกว่าโครงการณ์เมอคิวรี จับมนุษย์ยัดเข้าไปในกระป๋อง ใช้ปืนใหญ่ยิงกระป๋องให้ลอยขึ้นไปถึงอวกาศ และใช้ร่มชูชีพชะลอการตกอีกทอดหนึ่ง วูลฟ์พยายามเน้นมากๆ ว่า “มนุษย์อวกาศ” ที่คนอเมริกาในยุคนั้นเข้าใจกัน แท้ที่จริงก็คือผู้โดยสาร แทบไม่ต่างอะไรจากลิงชิมแปนซีเลย (ตอนที่รับสมัครมนุษย์อวกาศหนแรกสุด ทางนาซาตั้งใจด้วยซ้ำว่าจะให้ “ใครก็ได้” มาสมัคร ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบิน)

ขณะที่คนอเมริกันและสื่อมวลชนเฝ้าติดตาม “มนุษย์กระป๋อง” นักบินจริงๆ เขาขับเครื่องบินเจ็ทลอยขึ้นไปถึงอวกาศ ไปไหนต่อไหนแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีสนใจพวกเขาเหล่านั้น

The Right Stuff เป็นนิยายที่ช่วยเปิดสายตาเรา ถึงจะเป็นเรื่องโง่ๆ ง่ายๆ แต่บางครั้งคนเราก็ต้องมีใครเตือนว่าคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราทำ บางทีอาจจะมีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะตัดสินได้ สังคม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทุนนิยมเสมอไป ปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง) พร้อมที่จะสร้างรางวัล สร้างราคา สร้างคุณค่าในท้องตลาดด้วยการอัดประชาสัมพันธ์ คนที่เหมือนจะยืนอยู่บนจุดสุดยอด บางทีเขาก็อาจจะเป็นแค่ลิงอัดกระป๋องเท่านั้น

No comments: