R. Carver's "Will You Please Be Quiet, Please?"


ช่วงนี้เรากับเพื่อนกำลังบ้า David Hockney มากๆ นักเขียนและจิตรกรบางคนประหนึ่งว่าเกิดมาคู่กันเลย ถ้าจะมีคนบอกว่าเรย์มอน คาร์เวอร์คือนามปากกาของเดวิด ฮอกเนย์ หรือฮอกเนย์เป็นของคาร์เวอร์ เราก็พร้อมจะยอมเชื่อ

อาทิตย์ที่ผ่านมาบริโภคหนังสือเป็นว่าเล่น ซึ่งถ้าจะให้อ่านกันจริง Will You Please Be Quiet, Please? ก็คงใช้เวลาไม่ถึงสองวัน แต่รู้สึกว่าชักจะอ่านเร็วเกินไปแล้ว เพื่อสร้างอุปสรรคให้ตัวเองเล่นๆ สำหรับรวมเรื่องสั้นของคาร์เวอร์เล่มนี้ เราจะอ่านด้วยวิธี close reading ซึ่งก็คือพยายามวิเคราะห์ทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร ให้เห็นถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละคำที่ผู้เขียนเลือกใช้

ซึ่งในแง่หนึ่ง คงไม่มีหนังสือเล่มไหนอีกแล้วจะเหมาะกับการ "อ่านใกล้ๆ " (หรือ "อ่านปิดๆ " แล้วแต่ว่าอยากแปลมั่วๆ ยังไง) เท่ากับเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะจุดเด่นของงานคาร์เวอร์คืออ่านจบแล้วก็ยังงงๆ เหมือนกับว่าบางอย่างขาดหายไป (เช่นเดียวกับภาพของฮอคเนย์) ถามว่าเราเข้าใจไหม อาจตอบได้ไม่เต็มปาก แต่ถ้าถามว่าชอบไหม ยืนยันเลยว่าชอบ พอลองอ่านใกล้ๆ เหมือนได้เข้าใจสิ่งที่คนเขียนต้องการนำเสนอมากขึ้น แต่เหนืออื่นใด คือเราจับทริคคาร์เวอร์ได้มากขึ้นด้วย ตระหนักเลยว่า การอ่านใกล้ๆ จำเป็นมากสำหรับนักเขียนที่อยาก "ขโมย" ครูพักลักจำชาวบ้าน

เคยพูดถึงทริคคาร์เวอร์ไปแล้ว หนนี้ที่เราจับสังเกตเพิ่มขึ้นคือการแนะนำให้คนอ่านรู้จัก "วัตถุลึกลับ" ตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งอาจเป็นสิ่งของ เหตุการณ์ เงื่อนไข หรือว่าบุคคล โดยวัตถุลึกลับตัวนี้จะส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อม (ในระดับจิตใต้สำนึก) กับคนอ่านตลอดทั้งเรื่อง นอกจากวัตถุลึกลับ ยังรวมไปถึงการซ้ำคำหรือข้อความเพื่อส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้อ่าน ดังนั้นถึงแม้ไม่มีเรื่องราวชัดเจน แต่เรื่องสั้นเหล่านี้สามารถเร้า หรือกระทบอารมณ์คนอ่านได้อย่างงงๆ

เท่าที่เคยอ่านรวมเรื่องสั้นมา Will You Please Be Quiet, Please? น่าจะเป็นเล่มที่ดีที่สุด ด้วยคลาสสิคอย่าง Fat หรือ Neighbors ส่วน The Father คงเป็นเรื่องที่สั้นสุดของผู้เขียน ยาวแค่สองหน้าเท่านั้น แต่ดีมากๆ มีหลายเรื่องเหมือนกันที่เราได้อ่านเป็นรอบสอง โดยเมื่ออ่านอย่างละเอียด วิเคราะห์ก็รู้สึกชอบมันมากขึ้นเช่น Put Yourself in My Shoes กับ What Do You Do in San Francisco? ส่วนเรื่องที่ดีน้อยกว่าเพื่อนคือ Why, Honey? ซึ่งเป็นสไตล์แปลกๆ เหมือนไม่ใช่เขาเขียนเลยด้วยซ้ำ และ Will You Please Be Quiet, Please? ทั้งที่เป็นชื่อเล่มแท้ๆ รู้สึกเหมือนเป็น carver wannabe พยายามเขียนให้เหมือน carver ยังไงไม่ทราบ

กับนักเขียนในดวงใจเราทั้งหมด ให้เปรียบอย่างง่ายๆ กุนเดระคือนักปราชญ์ผู้รู้สิ่งสรรพ เมอดอชคือนักวางแผนรบผู้จับตัวละครต่างประเภทมาผสมผสาน อีโคคือนักประวัติศาสตร์เจ้าสำราญ เดวีสันคือพ่อมดหมอผี และคาร์เวอร์ก็คงเป็นนักมายากล สะกดจิตคนอ่านด้วยคำพูด และข้อความเล็กๆ น้อยๆ

1 comment:

Anonymous said...

อ่าน adaptation เราด้วยนะ
นึกๆดูแล้วเราว่า มันมีกลิ่นคาร์เวอร์ซ่อนอยู่เหมือนกัน
คาร์เวอร์แบบไทยๆ
คุณลองอ่านดูแล้วบอกกล่าวด้วย