C. Castaneda's "The Teachings of Don Juan"


genre หนึ่งของนิยายที่ทำให้เราแปลกใจอยู่เสมอคือนิยาย self-help ที่นำเสนอข้อคิดในรูปแบบเรื่องแต่ง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ นิยายทุกเล่มก็สามารถสรุปเป็นบทเรียน หรือข้อคิดได้ทั้งนั้นแหละ แต่พวก นิยาย self-help จะตรงตัว และมีน้ำเสียงสั่งสอนมากกว่าปรกติ ที่บอกว่าเรามักจะแปลกใจอยู่เสมอ เพราะเราเห็นข้อขัดแย้งบางอย่างในนิยายจำพวกนี้ กล่าวคือ จุดขายของ self-help อยู่ที่ "ความจริง" คนที่อ่านหนังสือแบบนี้ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในนั้นสามารถเอาไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง และเห็นผลตรงตามหนังสือ ขณะที่จุดขายของนิยายอยู่ที่ "ความสมมติ" ไม่น่าจะมีใครคาดหวังว่าอะไรต่อมิอะไรในนิยายเกิดขึ้นจริง และถ้าผู้อ่านดำเนินรอยตามตัวละครในนิยาย จะเกิดผลเช่นเดียวกัน

ที่บอกว่าแปลกใจไม่ใช่ว่าไม่ชอบ ความขัดแย้งตรงนี้จะว่าไปแล้วก็น่าขบคิดดีเหมือนกัน

ที่เกริ่นมาแบบนี้เพราะจะบอกว่าเราไม่ยักจะเห็น The Teachings of Don Jaun ว่าเป็นนิยายประเภทนั้นเลย ต้องบอกก่อนว่าที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้เผ็ดร้อนมาก แคสตาเนดาเป็นนักเรียนปริญญาเอกมานุษยวิทยาที่ ucla หัวข้อการวิจัยของแกนั้นคือการสัมภาษณ์ และเรียนรู้ศาสตร์ลึกลับของยาควี อินเดียนแดงเผ่าหนึ่งซึ่งหลงเหลืออยู่น้อยมากในปัจจุบัน จากดอนฮวน ชายชราลึกลับ ผู้เป็นพ่อมด และเชี่ยวชาญในศาสตร์ดังกล่าว ระหว่างที่เขียนวิทยานิพนธ์ แคสตาเนดาก็เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเรียบเรียงเป็น "สารคดี" สามเล่ม โดย The Teachings of Don Jaun คือเล่มแรก ซึ่งขายดิบขายดี กระทั่งว่าพอได้ปริญญาเอกแล้ว แคสตาเนดาไม่ต้องง้อมหาวิทยาลัย ออกมาตั้งลัทธิของตัวเอง เผยแพร่ปรัชญายาควีอย่างสบายเปรม

ความมันส์ของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในกาลต่อมาผู้คนเริ่มสงสัยว่าดอนฮวนมีตัวตนจริงหรือไม่ เริ่มมีคนเอาเกร็ดสารคดีของแคสตาเนดามาเปรียบเทียบตามลำดับเวลา รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางพฤษศาสตร์ (ภาพหลอนอันเกิดจากการเสพย์พืชทะเลทรายคือศูนย์กลางความรู้ของยาควี) และภาษาศาสตร์ ต้องไม่ลืมว่า The Teachings of Don Jaun ไม่ใช่แค่หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นได้ทั้งนิยาย และ self-help แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์มานุษยวิทยา ให้นักเรียนปริญญาเอกคนหนึ่งมานั่งเทียนเขียนผลงานวิจัย แล้วนำเสนอมันในรูปแบบความจริงนี่คงไม่ไหวเหมือนกัน

เรื่องที่แคสตาเนดาจะลวงโลกหรือเปล่าอะไรนั่น เราไม่ค่อยติดใจหรอก หนังสือจะดีก็ดี ต่อให้นั่งเทียนเขียน หรือไม่ค้นคว้ามาจริงๆ เรารับได้ทั้งนั้น แต่สงสัยมากกว่าว่าทำไม The Teachings of Don Jaun ถึงได้ดังพลุแตกขนาดนั้นตั้งแต่แรก หนังสือเล่มนี้ไม่เห็นจะสอนสั่งหรือให้แง่คิดอะไรดีๆ เลย มีพูดถึงนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องว่าศัตรูสี่อย่างของมนุษย์ ก่อนจะไปถึงสภาพ "บุรุษแห่งวิชา" ได้นั้น ประกอบไปด้วยความกลัว ความชัดเจน อำนาจ และอายุ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่เห็นจะลึกซึ้งตรงไหน ถ้าให้เดา น่าจะเพราะช่วงปี 1960 คนอเมริกากำลังบ้าพวกเรื่องสารหลอนประสาทที่สกัดมาจากพืช โดยสมัยนั้นเชื่อว่าภาพหลอนที่เราเห็นระหว่างที่เสพย์ยาพวกนี้ ได้ให้บทเรียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิต (ถ้าจะมองในแง่นั้น อ่าน The Interpretation of Dreams น่าจะได้ประโยชน์กว่าเป็นไหนๆ )

No comments: