L. Brisson's "How Philosophers Saved Myths"


The power of reason paradoxically lies in its ability to recognize its own limits, but the transgression of these limits nonetheless leads straight to irrationalism.


ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับอักษรเขียน และการจดบันทึก ผู้คนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยในตำนาน ที่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ และที่ตัวเองเล่าให้ลูกหลานฟัง ว่ามันเชื่อถือได้แค่ไหน เพลโต นอกจากจะรังเกียจศิลปะแทบทุกชนิดแล้ว ยังต้องการกำจัดตำนานทิ้งให้เหลือเพียงปรัชญาและประวัติศาสตร์ แต่ตำนานก็ยังไม่หายไปไหน ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน How Philosophers Saved Myths คือความพยายามของบริสสัน ในการอธิบายว่านักปรัชญาโบราณ มีส่วนช่วยประคับประคองตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร

ก่อนอื่นเข้าใจว่านี่น่าจะเป็นหนังสืองานวิทยานิพนธ์ของตาบริสสันอะไรนี่ เพราะขอบเขตของหนังสือแคบมาก จนเอาเข้าจริง ไม่น่าจะตอบคำถามอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ คำตอบของบริสสันคือ เมื่อนักปรัชญารุ่นหลังจากเพลโตมองตำนานว่าเป็นอุปมาอุปมัย ที่ช่วยชี้ทางให้เห็นความจริง ซึ่งซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า ตำนานก็เลยสามารถสืบทอดมาได้ ในฐานะเรื่องหลอกๆ ที่อัดแน่นไปด้วยอุปอุปมา (ในทีนี้ก็มี "น้ำพริก กะปิ" เหยาะลงไปเพิ่มรสชาติด้วย เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่ามีแต่ผู้ถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ "ลัทธิลับ" เท่านั้นที่จะถอดรหัสตำนานได้ แสดงว่าตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชแล้วที่คนเราชอบอ่าน The Da Vinci Code) หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์นักปรัชญากรีกเป็นหลัก แต่ช่วยท้ายๆ มีแตะตำนานศาสนาคริสต์ และยุคกลาง จวบเรอเนซองค์

จริงๆ หัวข้อว่า อะไรคือบทบาทของตำนานในโลกปัจจุบัน ในยุคแห่งวิทยาศาสตร์น่าสนใจมาก และเราเชื่อว่ามันน่าจะมีคำตอบที่หลักแหลมและครอบคลุมกว่านี้

ปล. เราชอบคำพูดที่ยกมาตอนต้นนี้มาก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาในหนังสือเท่าไหร่ แต่เราเห็นด้วยสุดๆ ขั้นตอนแรกของการคิดอย่างมีเหตุมีผล คือการจำกัดวิธีคิดแบบมีเหตุมีผล ศาสตร์ (หรือสิ่งที่อยากเป็นศาสตร์) ถ้าไม่เริ่มต้นตีกรอบ ขีดข้อจำกัดของตัวเอง ก็อย่าได้ใช้ตรา "มีเหตุมีผล" ให้เสื่อมเสียเลยจะดีกว่า

เพราะศาสตร์ใดที่ก้าวข้ามเส้นแดน เมื่อนั้นมันก็กลายเป็นความงมงายไปโดยพลัน

No comments: