ตูมตามส่งท้ายปี 2006


เบอทราน รัสเซลเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเคยพูดไว้น่าฟังว่า "ปัญหาของโลกใบนี้คือ คนฉลาดไม่เคยแน่ใจอะไรเลย ส่วนคนโง่ก็ (เสือก) รู้ไปหมดทุกอย่าง" ถ้าวัดด้วยมาตรฐานของรัสเซล ผมก็คงเป็นคนฉลาด เพราะหลังจากได้ข่าวการระเบิดส่งท้ายปี 2006 ในกรุงเทพ รู้สึกสับสนไปหมด (แม่ง) ไม่แน่ใจอะไรเลยสักอย่าง อนาถตัวเองจริงๆ

ลังเลอยู่นานว่าจะเขียนบลอคตัวนี้ดีหรือเปล่า เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับหนังสือ แต่เกิดจากอารมณ์คุกรุ่นซึ่งอยากนำไปปะทุที่ไหนสักแห่ง

หลังจากไปอ่านความคิดเห็นของนักเขียน นักวิจารณ์ และคนที่มาโพสตอบตามเวปไวซ์ข่าว ผมก็ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลคมช. น่าจะได้รับการจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นรัฐบาลที่เสื่อมความนิยมรวดเร็วที่สุด ตั้งแต่แรกเริ่มรับอำนาจพร้อมกับเสียงปรบมือ (เพราะได้ชื่อว่าขับไล่ทรราชทุนนิยม) แม้จะมีคนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยเรื่องความชอบธรรม แต่เอาเถอะ คนไทยแกล้งลืมๆ กันไปก่อนก็ได้ เพียงแค่สามเดือน รัฐบาลคมช. ได้นำตัวเองลงไปสู่หุบเหวแห่งความไว้เนื้อเชื้อใจ ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจ (โคตร) ผิดพลาด การที่ไม่สามารถดำเนินคดีอดีตนายกทักษิณ จับตัวท่านมาคล้องคอ ขึ้นขื่อเหมือนภาพสุดท้ายของซัดดัม ฮุสเซน งบลับห้าร้อยล้านที่หายวับไปกับสายลม และมาตอนนี้ก็เรื่องวินาศกรรมก่อการร้ายในเมืองกรุง เรียกว่ากลายเป็นขี้ปากประชาชนไม่แพ้ชุดก่อนๆ ขาดก็แต่คุณสนธิ จะลงมาปลุกระดมมวลชนขับไล่เท่านั้นเอง

บอกได้คำเดียวว่าน่าเป็นห่วงครับ

ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ไม่อยากสนับสนุนรัฐบาลคมช. รู้สึกว่านโยบายเศรษฐกิจ (ซึ่งเลียนแบบมาจากชิลี หนึ่งในประเทศที่ด้วยพัฒนาที่สุดในโลก) สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมากกว่าทุนนิยมของคุณทักษิณ แต่สิ่งที่ตัวเองไม่อยากเห็นที่สุดในชีวิต คือภาพคนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลชุดนี้ เพราะมันจะทำให้ประชาชมเสื่อมศรัทธาในอำนาจบริหาร ในเมื่อผู้นำจากการเลือกตั้งก็ไม่ดี จากกองทัพก็ไม่ไหว ถ้าปล่อยไว้แบบนี้เดี๋ยวก็กลายเป็นอนาธิปไตยกันพอดี คือประชาชนไม่เอาใครทั้งสิ้น ฉันจะร่างกฏหมาย บริหารของฉันกันเอง บรรยากาศเช่นนี้แหละที่นำไปสู่การนองเลือดในฝรั่งเศสช่วงต่อศตวรรษที่ 18 และ 19

คงไม่มีน้ำวิเศษเยียวยาสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ได้ ประการหนึ่งคือถ้าร่นการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น อาจช่วยบรรเทาความกดทันที่สังคมมีต่อรัฐบาล แต่ก็อีกนั่นแหละ คนไทยในตอนนี้ "ศรัทธา" การเลือกตั้งแค่ไหน เราจะยอมรับหรือไม่ ถ้าเลือกกันออกมาแล้วก็เป็นหน้าเดิมๆ (ซึ่งมีสิทธิเป็นไปได้มาก) คำถามสุดท้ายเลยคือคนไทยเคารพกฎกติกาแค่ไหน เลือกตั้งปี 04 ในอเมริกา ฝรั่งได้ผู้นำเป็นชายซึ่งประชาชนเกือบครึ่งประเทศรังเกียจเดียจฉันท์ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังเคารพกติกาพอจะปล่อยให้ตานั่นบริหารประเทศ (อย่างเฮงซวยเสียด้วย พูดกันตรงๆ ) นั่นเป็นสิ่งดีงามหรือเปล่า หรือพวกฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาอเมริกาควรลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากัน

ผมขอทำตัวฉลาดๆ แล้วก็ไม่ตอบคำถามข้างบนแล้วกันครับ

I. Murdoch's "Jackson's Dilemma"


จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกๆ ที่อ่านตอนต้นปี 2006 คือ "ใต้ตาข่าย" ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรกของไอริช เมอดอก พอถึงปลายปี ก็เลยถือโอกาสหยิบ "ทางเลือกของแจคสัน" ซึ่งเป็นนิยายเล่มสุดท้ายมาอ่าน เมอดอกเขียน "ทางเลือกของแจคสัน" ก่อนตัวเองจะถูกโรคอัลไซเมอร์เล่นงาน ระหว่างที่อ่าน "ทางเลือกของแจคสัน" ก็พยายามจับผิดอยู่เหมือนกัน ว่ามีตรงไหนพอบอกได้บ้างว่าคนเขียนกำลังล้มป่วยด้วยอาการความจำเสื่อม ยอมรับว่าไม่ค่อยตั้งความหวังเท่าไหร่กับนิยายช่วงหลังๆ ของเมอดอก เล่มก่อนหน้า "ทางเลือกของแจคสัน" คือ "อัศวินเขียว" ซึ่งเป็นหนังสือของเธอที่เราชอบน้อยที่สุด เล่มนี้ค่อนข้างดีกว่า "อัศวินเขียว" อย่างหนึ่งก็เพราะมันสั้นกว่า เป็นหนังสือที่สั้นที่สุดของเมอดอกที่เคยอ่าน บางทีเจ้าตัวอาจตระหนักก็ได้ว่าเหลือเวลาไม่เยอะแล้ว (แต่ถ้าดูจากในภาพยนตร์เรื่องไอริช มันถูกเขียนจบก่อนที่อาการอัลไซเมอร์จะกำเริบ ก็เลยบอกไม่ได้เหมือนกันว่าสมมติฐานเราถูกผิดแค่ไหน)

เพราะความสั้นกระมัง "ทางเลือกของแจคสัน" ก็เลยเป็นนิยายห้วนๆ ไม่สมบูรณ์ยังไงไม่ทราบ แต่ละบทกุดๆ บางทีก็มีแค่สี่ห้าหน้า จากที่เคยล้วงลึกเข้าไปในความคิดตัวละคร เล่มนี้เหมือนๆ เมอดอกจะแค่บอกกล่าวการกระทำภายนอก แต่จุดเด่นตามแบบนิยายของเธอก็ยังพอมีให้เห็น ตั้งแต่ตัวละครมหาศาล เรื่องราวซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กันจากหลายแง่มุม ถ้าให้สรุปเรื่องคร่าวๆ เราจะบอกว่านี่คือนิยายว่าด้วยคิวปิดสองคน คนแรกคือเบเนต เป็นคิวปิดที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ เพราะจับคู่หนุ่มสาวสลับกันประจำ แถมยังชอบคร่ำครวญรู้สึกผิด คิวปิดคนที่สองคือแจคสัน คนรับใช้ผู้ลึกลับของเบเนต ต้องมาคอยตามแก้ไขความยุ่งเหยิงที่เจ้านายก่อ

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของตัวละครแจคสันคือ นี่เป็นครั้งที่สองที่ในนิยายเมอดอกมีคนรับใช้เป็นตัวละครเด่น ซึ่งถ้ามองตามขนบนิยายน้ำเน่าอังกฤษแล้วถือว่าผิดปรกติมากๆ อีกเล่มที่มีตัวละครเอกเป็นคนรับใช้เหมือนกันคือ "ใต้ตาข่าย" ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรก ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร

ให้สรุปสั้นๆ รู้สึกว่า "ทางเลือกของแจคสัน" ดูจะมีความน่าสนใจในเชิงประวัติคนเขียนมากกว่าเป็นนิยายที่น่าอ่านจริงๆ คงเฉพาะแฟนๆ เท่านั้นที่จะเพลิดเพลินกับหนังสือเล่มนี้ได้

สารบัญหนังสือไทย และเบ็ดเตล็ด



หนังสือไทย

รัตนโกสินทร์ (ว. วินิจฉัยกุล)
"ความสะอาดของผู้ตาย" (ปราบดา หยุ่น)
"เหยี่ยวนรกทะเลทราย" (โก้วเล้ง)
"ยิ้มอัปสรในรัตติกาล" (แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า)
"คุณสงคราม" (เดือนวาด พิมวนา)
"สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" (วินทร์ เลียววาริณ)
"สิงห์สาโท" (วัฒน์ วรรลยางกูร)
"คือรักและหวัง" (วัฒน์ วรรลยางกูร)
"คดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ " (ศิริวร แก้วกาญจน์)
"เกียวบาวนาจอก" (ภาณุมาศ ภูมิถาวร)
"ความสุขของกะทิ" (งามพรรณ เวชชาชีวะ)/"คนเล่นเงา" (จิรภัทร อังศุมาลี)
"ลูกสาวฤษี" (ปริทรรศ หุตางกูร)
"ร่างพระร่วง" (เทพศิริ สุขโสภา)/"กลางทะเลลึก" (ประชาคม ลุนาชัย)
"ตะกวด กับคบผุ" (นิคม รายยวา)
"ตุลาคม" (ไพฑูรย์ ธัญญา)
2006: The Year in Denial (หลายคนเขียน)
"รากนครา" (ปิยะพร ศักดิ์เกษม)
วันที่ถอดหมวก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
หนังสือที่เศร้าที่สุดในโลก
Bakery & I (กมล สุโกศล แคลปป์/พีรภัทร โพธิสารัตนะ)
โลกในดวงตาข้าพเจ้า (มนตรี ศรียงค์)
หมู่บ้านในแสงเงา (โกสินทร์ ขาวงาม)
บ้านริมทะเล (อัศศิริ ธรรมโชติ)
เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก (ศิริวร แก้วกาญจน์)
แมงมุมมอง (พรชัย แสนยะมูล)
ใบไม้ใบสุดท้าย (บุนเสิน แสงมะนี)
คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เล่ม ๑ (สายชล สัตยานุรักษ์)
ที่ที่เรายืนอยู่ (อังคาร จันทาทิพย์)
บ้านของคนรัก (นอม วิเศษสิงห์)
เรื่องสั้นศตวรรษ (มนัส จรรยงค์)
พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)
มีไว้เพื่อซาบ (อุรุดา โควินท์)
หนี้เลือด (ปราชญา ปารมี)
เก๊าะซารี มิตรภาพ และความตาย (หลายคนเขียน)
ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร (ทินกร หุตางกูร)
คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร (ประชาคม ลุนาชัย)
ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า...มีไหม? (หลายคนเขียน)
ที่อื่น (กิตติพล สารัคคานนท์)
พญาอินทรี (จรัญ ยั่งยืน)
ราหูอมจันทร์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ (หลายคนเขียน)
สัมพันธภาพ (เดือนวาด พิมวนา)
ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน (รอมแพง อริยมาศ, ชัยวุฒิ ประเสริฐศรี)
กาลมรณะ (จัตวาลักษณ์)
ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)
อุบัติการณ์ (วรภ วรภา)
ช่อการะเกด 42 (หลายคนเขียน)
ความน่าจะเป็น (ปราบดา หยุ่น)
ราหูอมจันทร์ เพื่อนที่รักกันมากที่สุด (หลายคนเขียน)
"ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า (โสภา ชานะมูล)
จนกว่าเราจะพบกันอีก (ศรีบูรพา)
นครคลื่นเหียน (พิสิฐ ภูศรี)
เขาพระวิหาร: ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม (หลายคนเขียน)
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง (วัชระ สัจจะสารสิน)
ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา (ธงชัย วินิจจะกูล)
หน่อไม้ (ทรงกลด, นิ้วกลม, และทรงศีล)
ชาติเสือไว้ลาย (พีรศักดิ์ ชัยได้สุข)
ลับแลแก่งคอย (บทวิจารณ์รับเชิญ)
8 1/2 ริกเตอร์ (อนุสรณ์ ติปยานนท์)
ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 (นพพร ประชากุล)
พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย (ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์)
วาทกรรมวรรณกรรม (พิเชฐ แสงทอง)
การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ (หลายคนเขียน)
การสื่อสารความหมายใน "การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่" (วรัชญ์ วานิชวัฒนากุล)
รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ตอนที่ 1 (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร)
ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน (สุนัย จุลพงศธร)
การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ (ประเวศ วะสี)
ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย (จิตร ภูมิศักดิ์)
ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
กรูกันออกมา (ปริทรรศ หุตางกูร)
รู้ทันสันดาน Tense (เฑียร ธรรมดา)
รัฐกับศาสนา (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)
พิพิทธภัณฑ์แสง (กิตติพล สรัคคานนท์)
ทะเลน้ำนม (ชัชวาลย์ โคตรสงคราม)
วัฒนธรรม บันเทิงในชาติไทย (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์)
ความรัก ความรู้ ความตาย (ธเนศ วงศ์ยานนาวา)
ละคร ระคน ตัวตน มนุษย์ (หลายคนเขียน)
ความจริงในภาพวาด (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)
ชุมชนจินตกรรม (เบน แอนเดอร์สัน)
โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ (นรชิต จิรสัทธรรม)
ชีวิตปกติ (จารี จันทราภา)

Read On Demand (R.O.D.)

รับวิจารณ์เรื่องสั้น
"หญิงสาวตากผ้าคนหนึ่ง" (r.o.d.)
ข้อความจาก leah dizon
"จงพาฉันบินไปยังดวงจันทร์" (r.o.d.)
ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ / เรื่องสั้นฉบับร่าง (r.o.d.)
"กฎการเคลื่อนที่: การเดินทางกลับบ้านของผมกับปู่" (r.o.d.)
ทะเลของที่นี่/ความรัก (r.o.d.)
มอง (r.o.d.)
นิเวศน์ใน (r.o.d.)
V (r.o.d.)
Tear of Butterfly (r.o.d.)
r.o.d. คืออะไร
Rock (Matter that Matters) (r.o.d.)
เฮือด (r.o.d.)
วีรกรรมเฒ่าทะเล (r.o.d.)
แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม (r.o.d.)
คืนที่ดอกโบตั๋นบาน (r.o.d.)
แมวดำ (กิตติกร รุ่งเรือง) - R.O.D.

นอกเรื่อง

แวนโก๊ะ แก้วกาญจน์
10 นักเขียนในดวงใจ
ว่าด้วยช้าง และลา
ตูมตามส่งท้ายปี 2006
30 ปี 16 ตุลาฯ
พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง
ซ่อมแซมชั่วคราว
ขุนกระบี่ ผีระบาด และแสงศตวรรษ
สารบัญเสร็จแล้ว!
น้ำชาและน้ำตา
วรรณกรรมที่ดี
ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว
Sir Ian McKellen
จะเป็นฉัน...
happening vs modern dance
เมื่อศรัทธาเขยื้อนภูผา
เดียวดายกลางสายลม
หนังเขาดีจริงๆ
ความน่าจะเป็น กับภาวะหลังสมัยใหม่
รักที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมในงานศิลปะไทย (ตอนแรก)
ผู้หญิงอิสลาม
วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา
ทิศทางวรรณกรรมไทย ในสายตาคลื่นลูกใหม่
20 เพลงไทยในดวงใจ (11~15)
20 เพลงไทยในดวงใจ (16~20)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 4)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 3)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 2)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 1)
ดาบลาวยาวแดง
20 เพลงไทยในดวงใจ (1~5)
20 เพลงไทยในดวงใจ (6~10)
รู้มั๊ย ทำไมนากิสถึงทำอะไรเราไม่ได้
เดินไปข้างหน้า
เสน่ห์ของความล้าหลัง
7 เล่มซีไรต์ 2551 ในใจเรา
...แด่นักศึกษาผู้กล้าหาญ
ความหยาบ
bloggang ค่ะ!!!
ประกาศรวบรวมบทวิจารณ์ "ที่อื่น"
สายป่านผู้หลงลืมอะไรบางอย่าง
This Piece Of Poetry Is Meant To Do Harm
สำหรับคนท้อแท้
โอ้ แม่เทพธิดา และพวกเขาเหล่านั้นที่ทำเนียบ
พวกเขาคิดว่าพวกเขาเป็นใคร?
ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย
ทุนนิยมประกันจรรยาบรรณสื่อ
หรือพวกเราจะไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย
deny me and be doomed
ทุนเก่า ทุนใหม่ กลางเก่า กลางใหม่
โอ้! นี่แหละชีวิตจริง
โต้ "สังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร"
ลาก่อนไมเคิล คริชตัน (1942-2008)
as the world falls down
เรื่องผีในซอยเดียวกัน
ข่าว
ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 3
ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 2
ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 1
คารวะอาจารย์
ช้าง งู และเลือด
ล่าลายเซ็น
ขโมยขะมุกขะมัว
"ธ์ส"
"ผมก็ไม่รู้จักเธอเหมือนกัน ที่แห่งนี้ เราต่างเป็นคนแปลกหน้า"
ความฉาบฉวยของวัฒนธรรมไทย
"นักท่องเที่ยวคือคนสำคัญของประเทศ"
ภาพที่ผมประทับใจ
นักล่าฝันสู้ๆ
นาฏศิลป์ร่วมสมัย 4 ชิ้น
วัน เวลา และตุลา
ทำไมเราถึงไม่อ่าน SuperFreakonomics
รู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ย้อนหลัง
บทเรียนจากคนเหล็ก
ให้กำลังใจท่านนายกอภิสิทธิ์
ค่ามอเตอร์ไซด์
เดาะลูกเชย (ตอนที่ 2)
เดาะลูกเชย (ตอนที่ 1)
สิบอันดับนักวิชาการไทยในดวงใจ (ขณะนี้)
ความอับอายของเรา
ก้ำกึ่งอีกแล้ว
An Inconvenient Truth
ตึงไป หย่อนไป
คุณเองก็เป็นผู้นำมวลชนได้!
ความขัดแย้งของเหตุการณ์ (conflict of events)
Impossibility is the saddest word.
สรุปผลประกอบการหนังสือทั้งหมดที่ได้จากงานสัปดาห์
ตอบจดหมายแฟนๆ
รัวชวนหัก รักชวนหัว
ข้าน้อยสมควรตาย!
ความเฮฮาของการอ่านผิด
ตงฟางปู๋ป้าย หมื่นปีมีข้าคนเดียว
รัก (ชวนหัว) จัดหนัก
รักทรยศ...ยศ...ยศ...ยศ...ยศ
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (1~10)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (11~20)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (21~30)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (31~40)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (41~50)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (51~60)
รักชวนหัวอวอร์ด -Laugh d'or (ครึ่งแรก)
รักชวนหัวอวอร์ด -Laugh d'or (ครึ่งหลัง)
รักชวนหัวอวอร์ด - Un Certain Regard

H. Arendt's "On Revolution"


พูดถึงคำศัพท์ก่อนดีกว่า "revolution" นั้นถ้าแปลไทยตรงตัวก็คงเป็น "ปฏิวัติ" แม้ว่าอันที่จริงสองคำนี้ความหมายแตกต่างกันคนละโยชน์ "ปฏิวัติ" ในภาษาไทยหมายถึงการที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษก็น่าจะเรียกว่า "coup" หรือ "รัฐประหาร" มากกว่า ส่วนคำว่า "revolution" จริงๆ นั้น หมายถึงการล้มล้างรัฐบาลด้วยพลังอำนาจของมวลชน (แต่เอาเถอะ ในทางปฏิบัติก็ต้องมีทหารมาหนุนหลังด้วยนั่นแหละ) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่เคยสำเร็จในประเทศไทย

"ว่าด้วยปฏิวัติ" ของอันนา อาเรนด์นั้น คือบทความวิทยาศาสตร์การเมือง วิเคราะห์กลไกเบื้องลึก เบื้องหลังการปฏิวัติ เจาะจงตัวอย่างในอดีต ซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะเห็นหน้าปกเป็นรูปกำปั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์ แต่เอาเข้าจริงๆ เนื้อในพูดถึงแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส และอเมริกา ยอมรับว่าผิดหวังนิดๆ โชคดีที่ "ว่าด้วยปฏิวัติ" เป็นหนังสือเฉียบแหลม ชวนอ่าน และเต็มไปด้วยความคิดคมคาย

พูดถึงคนเขียนนิดหนึ่ง อันนา อาเรนด์นั้นเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเป็นลูกศิษย์ของเอดเดกเกอร์ มหาปราชญ์ชาวยุโรป เข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก้าวข้ามคำว่าลูกศิษย์ อาจารย์ ช่วงหลังๆ ที่เอดเดกเกอร์หันมาสนับสนุนพรรคนาซี และฮิตเลอร์ที่เหยียดหยาม เข่นฆ่าชาวยิว เป็นช่วงเดียวกับที่อาเรนด์จากเยอรมันมาพร้อมกับหัวใจแหลกสลาย

เอาล่ะ ทิ้งนิยายน้ำเน่าโรแมนติกไว้แค่นี้ มาคุยกันเรื่องปรัชญาการเมืองดีกว่า

"ว่าด้วยปฏิวัติ" เปรียบเทียบระหว่างการปฏิวัติในฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ด้วยเงื่อนไขซึ่งแตกต่างกันไม่ไกล แต่ผลลัพธ์คนละเรื่องละราว ขณะที่ "พ่อผู้ก่อตั้ง" สร้างอเมริกาขึ้นมาจากความเถื่อนร้าง ว่างเปล่า ประเทศที่เจริญแล้วอย่างฝรั่งเศสกลับโชกไปด้วยโลหิต และขี้เถ้า รายละเอียดคงต้องไปอ่านกันเอาเอง ขอยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ปึกมากๆ ถ้าใครอยากศึกษาการเมือง ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

สิ่งหนึ่งที่อยากหยิบยกขึ้นมาใช้กับสถานการณ์บ้านเราคือ "ว่าด้วยปฏิวัติ" เปรียบเทียบการปฏิวัติว่าเสมือนสัตว์ซึ่งกลืนกินตัวเอง พลังแห่งการปฏิวัติเกิดจากความตื่นตัวของมวลชน ไม่อาจหยุดยั้งได้จนกว่าจะเกิด "การต่อต้านการปฏิวัติ" ขึ้น ในที่นี้ก็คือการตั้งรัฐบาลใหม่แทนที่รัฐบาลเดิมที่ถูกล้มล้าง แต่ปัญหาของ "การต่อต้านการปฏิวัติ" นั้นคือ ประชาชนซึ่งก่อนหน้านั้นเป็น "ผู้กระทำ" คือมีส่วนในการถล่มคุก ตัดคอกษัตริย์ ถูกลดบทบาทลง กลับมาเป็นแค่ "ผู้ถูกกระทำ" คืออยู่ภายใต้กฏหมายอีกครั้ง อารมณ์สองอย่างนี้แตกต่างกันคนละขั้ว แม้แต่โรส์แบร์บิดาแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าควรปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้ "การปฏิวัติ" ร่ำไป (ซึ่งก็หมายถึงความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ) หรือยินยอมต่อต้านการปฏิวัติ หักล้างความเชื่อ และปรัชญาเดิมๆ ที่ใช้ตอนขับไล่หลุยส์ที่สิบหก ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาก็ต้องเข้มแข็งพอจะปกครองประชาชนนักปฏิวัติได้ (ซึ่งพวกนี้มักไม่ค่อยสนใจกฎเกณฑ์ใด นอกจากกฎแห่งการปฏิวัติ)

นี่เองโศกนาฏกรรมการเมือง เหตุใดการปฏิวัติมักลงเอยด้วยเลือด น้ำตา และสุดท้ายรัฐบาลใหม่ก็เป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่ไม่สนใจสิทธิ เสรีภาพของประชาชน (ในกรณีฝรั่งเศสคือนโปเลียน ในรัสเซียคือสตาลิน และในประเทศไทยคือ...) "ว่าด้วยปฏิบัติ" ควรเป็นหนังสือ "บังคับ" สำหรับใครที่คิดจะลุกไปถือป้าย เดินขบวนตามท้องถนนว่าคิดให้ดีเสียก่อนเถอะ

P. Auster's "The Book of Illusion"


ไม่รู้บังเอิญหรือไง แต่ "หนังสือภาพลวงตา" ซึ่งอ่านต่อจาก "ผู้ช่วยนักมายากล" เป็นนิยายแนวฟื้นฟูเหมือนกัน นี่เป็นเล่มที่สองของพอล ออสเตอร์ซึ่งเราอ่าน ยอมรับว่าไม่ค่อยชอบ "เมืองแก้ว" เท่าไหร่ ในความเห็นเรา ปรัชญาตัวตน (existentialism) เป็นเรื่องงมงาย ขณะที่ "เมืองแก้ว" พูดถึงปรัชญาข้อนี้เต็มๆ "หนังสือภาพลวงตา" แค่ปรับแนวคิดตรงนี้มาผสานกับเนื้อเรื่อง

ขอพูดถึงปรัชญาตัวตนก่อนก็แล้วกัน บิดาแห่งปรัชญาตัวตนคือเฟเดอริก นิชเชย์ รุ่นหลังหลายคนนำแนวคิดของเขามาพัฒนา ที่โด่งดังสุดก็คงเป็นซาร์ต ชาวฝรั่งเศส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในช่วงท้ายศตวรรษที่ 20 ปรัชญาตัวตนเริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงวรรณกรรม ผ่านปลายปากกานักเขียนอย่าง เดลิลโล ไพชอน ออสเตอร์ (สังเกตว่ามักเป็นคนอเมริกา) สาเหตุหนึ่งก็คงเป็นเพราะปรัชญาตัวตนได้รับการสนับสนุนจากฟิสิกส์ควอนตัม (ซึ่งแม้จะถูกคิดค้นต้นศตวรรษที่ 20 แต่เริ่มแพร่หลายช่วงปลายๆ ศตวรรษ) และพุทธศาสนา (ซึ่งกว่าชาวอเมริกาจะรู้จัก คุ้นเคยกับชาติตะวันออกก็ต้องหลังสงครามโลกครั้งที่สอง)

ยอมรับว่าไม่เคยศึกษางานเขียนของนิชเชย์ หรือซาร์ต ก็เลยบอกไม่ได้ว่าปรัชญาตัวตนดั้งเดิมนั้นเป็นยังไง ถ้าให้พูดคร่าวๆ ก็คือการตั้งคำถามเรื่องความจริง ไม่จริงของสิ่งที่เราเห็น คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกภายนอก หรือภายใน คำถามอย่าง "ถ้าต้นไม้ตกในป่าแล้วไม่มีใครอยู่แถวนั้น จะเกิดเสียงหรือเปล่า" ปรัชญาตัวตนซึ่งปรากฎในวัฒนธรรมป๊อป ดูผิวเผินเหมือนคนเขียนรู้ ไม่รู้จริงยังไงชอบกล (อาจเพราะตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เลยรู้สึกจั๊กจี้เวลามีใครหยิบทฤษฎีควอนตัมมาใช้โดยฉาบฉวย) อีกประการก็คืออดคิดไม่ได้ว่ามันเชย ตั้งแต่ปรัชญาตัวตนเริ่มถูกใช้ในภาพยนต์ (อย่างไฟท์คลับเป็นต้น) ก็กลายเป็นของดาดดื่น นักเขียนรุ่นใหม่ก็เลยไม่ค่อยแตะต้องมันแล้ว

จริงๆ เรื่องปรัชญาตัวตนนั้นน่าสนใจ เช่นว่าทำไมนักเขียนชาวอเมริกาถึงได้หลงใหลความคิดแบบนี้นัก ทั้งที่นักปรัชญาส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปแท้ๆ ขณะที่นักเขียนยุโรปกลับเพิกเฉย เอาเป็นว่าไว้ค่อยคุยในโอกาสอื่นแล้วกัน กลับมาเรื่อง "หนังสือภาพลวงตา" นิยายเล่มนี้อย่างที่บอกคือเป็นเรื่องของการฟื้นฟู และไม่ใช่แค่การฟื้นฟูจากความโศกเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความรู้สึกผิดด้วย "หนังสือภาพลวงตา" เป็นเรื่องของ เดวิด ผู้สูญเสียภรรยา และลูกชายจากอุบัติเหตุเครื่องบิน เดวิดอุทิศชีวิตที่เหลือศึกษาผลงานของดาราตลกเงียบ เฮกเตอร์ มานน์ ผู้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ทุกคนเชื่อว่าเขาตายไปแล้ว เดวิดเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน มีจดหมายมาจากเฮกเตอร์ บอกว่าต้องการพบเดวิด

"หนังสือภาพลวงตา" คือเรื่องของตัวละครหลากหลาย ตั้งแต่เดวิดเอย เฮกเตอร์เอย อัลมา ผู้เป็นลูกสาวของตากล้องคู่ใจเฮกเตอร์ รวมไปถึงตัวละครหลากหลายซึ่งปรากฏในภาพยนตร์ของเฮกเตอร์ และหนังสือของเดวิด ตัวละครแทบทุกตัวล้วนตกอยู่ในสภาพฟื้นฟู ที่เฉียบแหลมมากๆ คือชีวิตพวกเขาเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน เหตุการณ์หนึ่งเมื่อเกิดกับตัวละครตัวหนึ่ง ในเวลาต่อมาเกิดขึ้นซ้ำกับตัวละครอีกตัว ในแง่หนึ่งนี่ก็คือปรัชญาตัวตน ชื่นชมคนเขียนตรงที่ไม่ได้ชี้นำประเด็นนี้ ถ้าอ่านคร่าวๆ อาจแทบไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ "เมืองแก้ว" หรือหนังสือส่วนใหญ่ซึ่งเล่นกับแนวคิดนี้ชอบเอาปรัชญาตัวตนมาตีหัวคนอ่าน "หนังสือภาพลวงตา" เพียงนำมันมาใช้โดยผิวเผิน และกลับกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

อีกประเด็นที่น่าพูดถึงคือภาษา สังเกตมานานแล้วว่าออสเตอร์เป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาเรียบง่ายที่สุดคนหนึ่ง ประโยคสั้นๆ ผมทำนู่น ผมทำนี้ ผมทำนั่น บางย่อหน้ามีคำว่า "ผม" บรรทัดละสามสี่คำได้ หนังสือของออสเตอร์ อ่านแล้วจะ "อิน" ยาก เพราะภาษาโต้งๆ สื่อสารอารมณ์ไม่ค่อยได้ กระนั้นพอเอามาใช้กับเนื้อหา กลับเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ราวกับว่ายิ่งนิยายเรื่องนี้ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนอ่านเท่าใด คนอ่านก็ยิ่งถูกดึงดูดเข้าไปในโลกของนิยายมากเท่านั้น เป็นวิธีเขียนซึ่งตรงข้ามกับ "ผู้ช่วยนักมายากล" ภาษาของแพรทเชทสวยกว่าออสเตอร์ คนอ่านรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละคร แต่กลับกลายเป็นว่าความแห้งๆ ของ "หนังสือภาพลวงตา" ชนะ "ผู้ช่วยนักมายากล" ขาดลอย

ข้อดีอีกประการของ "หนังสือภาพลวงตา" คือตอนจบที่ถึงอกถึงใจ เป็นการผูกประเด็นทุกอย่างเข้าหาสามสิบหน้าสุดท้าย รู้สึกดีใจที่ได้อ่าน บางทีในอนาคตข้างหน้าจะลองกลับไปอ่าน "ไตรภาคนิวยอร์ก" ดู ("เมืองแก้ว" คือเรื่องแรกในไตรภาคนี้)

A. Patchett's "The Magician Assistant"


ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน "ผู้ช่วยนักมายากล" ไม่เชิงผิดหวังเสียทีเดียว น่าจะเป็นประหลาดใจมากกว่า ถ้าตัดชื่อคนเขียนออก คงไม่คาดเดาด้วยซ้ำว่าเป็นแอน แพรทเชท ผลงานเรื่องก่อนหน้าของเธอที่เราอ่านคือ "เบล แคนโต้" (ดูรายละเอียดได้จากบลอคเก่า) คำวิเศษณ์ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับหนังสือเล่มนั้นคือ "extraordinary" หรือถ้าใช้ภาษาไทย "พิเศษสุด" สำหรับ "ผู้ช่วยนักมายากล" คำวิเศษณ์คำแรกที่นึกได้เมื่ออ่านจบคือ "pedestrian" หรือ "พื้นเพ" "เบล แคนโต้" คือนิยายที่พูดถึงสถานการณ์เป็นไปไม่ได้ เล่าเรื่องมหัศจรรย์ โดยอิงอยู่บนธีมอันน่าเหลือเชื่อ ในทางตรงกันข้าม ผู้ช่วยนักมายากลเล่าเรื่องสามัญ ประเด็นก็สุดจะธรรมดา

ถ้าให้จัด "ผู้ช่วยนักมายากล" อยู่ใน genre ใด genre หนึ่ง ก็คงเป็นแนวฟื้นฟู (recovery) นิยายแบบนี้เริ่มต้นด้วยความเจ็บปวดของตัวละคร อันเกิดจากโศกนาฏกรรมบางอย่าง แล้วค่อยๆ เล่าเหตุการณ์ซึ่งเยียวยาตัวละครตัวนั้น ผู้ช่วยนักมายากลในที่นี้คือซาบีน สามีของเธอ พาซิฟาลเป็นนักมายากล และเป็นเกย์ หลังจากฟาน คนรักของเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ พาซิฟาลตัดสินใจแต่งงานกับซาบีน เพราะรู้ว่าอีกฝ่ายหลงรักเขามาชั่วชีวิต เปิดเรื่องด้วยการตายอย่างกะทันหันของพาซิฟาล ทั้งเล่มเกี่ยวกับวิธีที่ซาบีนรับมือกับความเจ็บปวด พบปะผู้คนจากอดีตอันลึกลับของสามี เธอกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของเขาที่เนบราสก้า ได้เจอครอบครัว และความลับต่างๆ ค่อยๆ ถูกเปิดเผยขึ้นมา

ถ้าจะให้คะแนนแถม "ผู้ช่วยนักมายากล" ก็คงต้องยอมรับว่าประเด็นหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแปลกใหม่ นิยาย หรือหนังมักจะพูดถึงตัวละครที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ หลังจากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด หรือไปอยู่ตามชนบท ก็ได้เรียนรู้เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ เริ่มหลงรักชีวิตบ้านนอก ซึ่งพูดกันตรงๆ ประเด็นพรรคนี้ตอแหลทั้งเพ อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็กล้าที่จะพูดถึงความเสื่อมโทรมของชีวิตชนบท (ในที่นี้คือเนบราสก้า) สามีซ้อมภรรยา ชาวบ้านซุบซิบนินทา คนที่เป็นเกย์ถูกสังคมเล็กๆ มองด้วยสายตารังเกียจ ในจุดนี้ขอปรบมือให้แอน แพรทเชท กระนั้นการที่เธอเลือกนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านชีวิตน้ำเน่าในครอบครัว ทำให้หนังสือเล่มนี้หยิบย่อย และไม่สำคัญลงไปทันตา

ขอย้ำอีกครั้งว่าปัญหาหลักของ "ผู้ช่วยนักมายากล" คือความธรรมด๊าธรรมดาของมัน พออ่าน "เบล แคนโต้" จบ รู้สึกว่าผู้เขียนน่าจะหลงใหลดนตรี โอเปร่า ภาพเขียน และได้ศึกษาศิลปะเหล่านี้อย่างดี ขณะที่อ่าน "ผู้ช่วยนักมายากล" จบ กลับไม่รู้สึกแม้แต่น้อยว่าแพรทเชทเข้าใจอะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้ ถ้าจะเปลี่ยนพาซิฟาลเป็นพ่อครัว นักเทนนิส หรือยามชายหาดก็คงเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน ถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยด้วยประการทั้งปวง รวมไปถึงความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างพาซิฟาล ฟาน และซาบีน ซึ่งควรน่าสนใจ กลับกลายเป็นแค่ gimmick อย่างหนึ่งทำให้เรื่องดูซับซ้อนขึ้น (แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร)

ขณะนี้กำลังอ่าน "หนังสือภาพลวงตา" อยู่ ซึ่งเป็นนิยายแนวฟื้นฟู เช่นเดียวกัน ไว้อ่านจบแล้วจะมาเขียนบลอคเปรียบเทียบ

I. Calvino's "Difficult Loves"


ความแตกต่างระหว่างแวดวงวรรณกรรมไทย และตะวันตกคือ คนไทยชอบเขียนเรื่องสั้นกันมาก นักเขียนไทยแทบทุกคนต้องเคยมีผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มสองเล่มมาแล้วทั้งนั้น ขณะที่นักเขียนฝรั่ง แค่หยิบมือเดียวจริงๆ ที่มีผลงานรวมเรื่องสั้นมากกว่าหนึ่งเล่ม คำว่านักเขียนในภาษาอังกฤษ ถึงใช้คำว่า "novelist" หรือแปลตรงตัวคือนักเขียนนิยาย ส่วนคนที่เป็น "short storyist" จริงๆ แทบจะนับนิ้วมือเดียวได้เลยด้วยซ้ำ ให้ยกตัวอย่างเช่นป๋าเฮมมิงเวย์ เรย์มอน คาร์เวอร์ ฆอเฆส กาย ดีมูปาซัง และอีกคนหนึ่งที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คืออิตาโล คาลวิโน

ที่เกริ่นมายาวเหยียดนี่ไม่ใช่แค่จะแนะนำตัวคาลวิโนหรอก แต่อยากพูดถึงศิลปะการเขียนเรื่องสั้นแบบตะวันตกมากกว่า เนื่องจากว่าฝรั่งไม่ค่อยเขียนเรื่องสั้นกันเท่าไหร่ ดังนั้นรูปแบบเรื่องสั้นจึงมีอิสระสูง หมายถึงนักเขียนแต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นน่าศึกษา

เรื่องสั้นแบบคาลวิโน โดยเฉพาะที่รวมอยู่ใน "รักลำบาก" ชุดนี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานเขียนที่น่าจับตามอง เป็นเรื่องสั้นที่สั้นจริงๆ (ทั้งเล่มมีอยู่ยี่สิบกว่าเกือบสามสิบเรื่องได้) แต่ละเรื่องพูดถึงประเด็นเดียว ดูเหมือนจะตั้งใจโชว์ความคิด หรือกระทั่งฉากๆ เดียวเลยด้วยซ้ำ

รักลำบากแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนแรกคือ "เรื่องของริเวียร่า" ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับเด็ก (แต่มีเนื้อหาที่ไม่เด็ก) "เรื่องของสงคราม" ตามชื่อนั่นแหละ แล้วก็ "เรื่องหลังสงคราม" ซึ่งเน้นที่ความยากจน และ "เรื่องของความรัก และความเปล่าเปลี่ยว"

"เรื่องของริเวียร่า" นั้นที่เด่นๆ มีอยู่ประมาณสองสามเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นความรักระหว่างลูกสาวแม่ครัว และเด็กคนสวน ผู้ชอบเล่นกับสัตว์น่าขยะแขยงเช่น งู หอยทาก อึ่งอ่าง อีกเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิง เด็กชายที่แอบเข้าไปวิ่งเล่นในสวนของคนแปลกหน้า ได้สัมผัสกับความสุขต้องห้าม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องเพศอันเฉียบแหลม แล้วก็มีอีกเรื่องพูดถึงเด็กชาย และผู้หญิงอ้วนอกหักร้องไห้ริมชายหาด (แทบทุกเรื่องของรักลำบาก มักจะมีฉากอยู่แถวทะเล)

"เรื่องของสงคราม" ตอนแรกนึกว่าจะซ้ำซาก แต่ไปๆ มากลับๆ เป็นชุดที่ชอบที่สุดของเล่ม เรื่องเด่นซึ่งชอบมากคือ "อีกาไว้ท้ายสุด" เป็นเรื่องสั้นพิสดารเพราะสามารถแสดงให้เห็นความโหดร้าย และโรแมนติกของสงครามได้พร้อมๆ กับ เป็นเรื่องของเด็กที่ยิงปืนแม่นราวกับจับวาง ชนิดสอยเสื้อผ้าทหารนาซีขาดได้ทีละชิ้นๆ อีกเรื่องว่าด้วยชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซ่อนสัตว์เลี้ยงไว้ในป่า ไม่ให้พวกทหารที่มาบุกหมู่บ้านขโมยไป อ่านแล้วได้บรรยากาศกึ่งฝังกึ่งจริงดี อีกเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคลานฝ่าทุ่งดอกไม้ซึ่งเป็นดงระเบิด

"เรื่องหลังสงคราม" น่าสนใจน้อยที่สุด ที่เด่นๆ ก็มีขโมยสามคน ย่องเข้าไปในร้านขายขนม เสร็จแล้วขโมยเงินไม่ได้สักแดง เพราะมัวแต่กินของหวานอย่างหิวโหย ขนาดตำรวจที่วิ่งเข้ามาจับยังเพลินไปกับการลองโน้นชิมนี่ มีเรื่องว่าด้วยชายชราจรจัด และสาวลูกจ้างร้านเย็บผ้าเอาเสื้อในร้านมากองๆ เป็นกระท่อม "เงินตรา และยาหยี" ยาวเหยียด และไม่สนุก แต่มีฉากเด็ดคือกะลาสีอเมริกันขี้เมาประมาณยี่สิบสามสิบคนเต้นรำ ร้องเพลงอยู่ในร้านเหล้าแคบๆ

"เรื่องของความรัก และความเปล่าเปลี่ยว" คือชุดเอกของเล่ม แทบทุกเรื่องว่าด้วยเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อผ่านการพิจารณาใคร่ครวญของตัวละคร (และผู้เขียน) เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นกลับกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ น่าสนใจได้ เช่นผู้หญิงคนหนึ่งไปเที่ยวทะเล แล้วเผลอทำชุดว่ายน้ำหล่นหาย เลยขึ้นฝั่งไม่ได้ ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นบทวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเพศ อีกเรื่องคือเสมียนต๊อกต๋อยได้ไปมีสัมพันธ์ข้ามคืนกับหญิงสาวชั้นสูง ทั้งเรื่องเป็นการคิดใคร่ครวญของผู้ชายในเช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างไปทำงาน

แต่ที่เด็ดสุดในเล่มคือ "การผจญภัยของช่างถ่ายภาพ" ว่าด้วยนักปรัชญาคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการถ่ายภาพ เพราะเขาปฏิเสธที่จะเชื่อว่าในโลกนี้มีสิ่งที่สมควร และไม่สมควรถ่าย เขาพยายามถกเถียงประเด็นนี้กับเพื่อนๆ ผู้ชอบพาครอบครัวออกไปถ่ายรูปทุกวันหยุด ทุกคนหาว่าเขาบ้า สุดท้ายนักปรัชญาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลองถ่ายรูปดู เพื่อจะได้เข้าใจกิจกรรมนี้ และไปโต้แย้งกับคนอื่นได้ การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้เขาได้พบรักกับหญิงสาวที่ถูกวานให้มาเป็นนางแบบ ทั้งคู่แต่งงานกัน นักปรัชญา (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นช่างถ่ายภาพ) ยังคงพยายามค้นหาความหมายของการถ่ายรูปอยู่ร่ำไป ท้ายที่สุดนำไปสู่การหย่าร้างกับภรรยา หลังจากนั้นเขาเริ่มหมกมุ่นกับการถ่ายภาพ "สิ่งที่หายไปแทน" เป็นสุดยอดเรื่องสั้นที่ทั้งน่าเศร้า น่าขัน และน่าครุ่นคิด

H. Hesse's "Journey to the East"


ลุงเฮสเสคงดีใจมากที่ตัวเองได้เขียนหนังสือชื่อว่า "เดินทางไปตะวันออก" โดยที่ลุงคงไม่ได้สนใจเท่าไหร่นักหรอก ว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมาดีหรือเปล่า

เอาเถอะ เพราะว่าลุงคือเฮสเส เราจะยกผลประโยชน์ให้ลุงสักครั้ง

สำหรับคนที่ไม่รู้ "เจอนีทูเดอะเวส" หรือ "เดินทางไปตะวันตก" คือชื่อภาษาอังกฤษของไซอิ๋ว นิยายพระถังซัมจั๋ง และเห้งเจียที่คนไทยรู้จักดีนี่แหละ สำหรับลุงเฮสเส ผู้ชื่นชอบปรัชญา และวัฒนธรรมตะวันออก นี่คงเป็นหนังสือในดวงใจแกเล่มหนึ่ง ดังนั้นเราจึงอนุญาตให้ลุงเขียนนิยายเอามันสักเล่ม ตั้งชื่อว่า "เดินทางไปตะวันออก"

"เดินทางไปตะวันออก" เป็นนิยายเล่มบ๊างบาง จนไม่อยากเรียกว่านิยายขนาดสั้นด้วยซ้ำ น่าจะเป็นเรื่องสั้นขนาดไม่สั้น (แต่ก็ไม่ยาว) ที่เอามารวมเล่มเดี่ยวๆ มากกว่า ชื่อนิยายไม่ค่อยเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเนื้อเรื่องหรอก "ผม" เป็นสมาชิกสมาคมลับสุดแสนยิ่งใหญ่ ก่อตั้งโดยดอน คิโฮเต้ สิทธัตถะ โมซาร์ต และบุรุษปริศนาอื่นๆ (คงคล้ายๆ กับฟรีเมสัน) "ผม" ได้รับมอบหมายจากสมาคมให้เดินทางไปตะวันออกพร้อมกับคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดประสงค์ลึกลับบางอย่าง โดยข้ามทั้งทวีปและเวลา ย้อนอดีตเหมือนมีเครื่องไทม์แมชชีน และผลุบๆ โผล่ๆ ตามที่ต่างๆ เหมือนมีประตูไปไหนก็ได้

ถ้าแค่นี้คงน่าสนใจดี แต่เนื้อเรื่องจริงๆ ในหนังสือเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไปตะวันออกคราวนี้ล้มเหลว

การเดินทางไปตะวันออก จะว่าไปก็คือการรวมปมไดโอนิซุส และอพอลโลเข้าด้วยกัน ( เกี่ยวกับสองปมนี้ อ่านบทวิจารณ์หนังสือของลุงเฮสเสย้อนหลังได้) คือทั้งท่องเที่ยว และศึกษาไปพร้อมๆ กัน แต่เนื่องจากนิยายเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลังจากนั้น ความน่าสนใจของมันเลยลดลง ถ้าให้ตีความ ก็คงตีว่าเป็นการมองสงครามโลก และความพ่ายแพ้ของชาวเยอรมันซึ่งยากจะบ่งชี้ว่าใครกันแน่เป็นผู้ผิด ใครกันแน่นำประเทศไปสู่หายนะ สุดท้ายนักการเมือง นักประวัติศาสตร์ก็เอาแต่โทษกันไปโทษกันมา

เป็นนิยายสั้นๆ ที่แม้อ่านแล้วไม่ได้ชื่นชมอะไรมาก แต่ก็ถือว่าอ่านเอาใจลุงแกก็แล้วกัน

U. Eco's "The Mysterious Flame of Queen Loana "


เปลวปริศนาฯ เป็นหนังสือที่เจ๋งที่สุดในโลก เจ๋งเสียจนไม่อยากเชื่อว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะสามารถเจ๋งได้ขนาดนี้ ถามว่าเจ๋งตรงไหนน่ะรึ นี่คือนิยายประกอบภาพที่พิมพ์สีทั้งเล่ม เจ๋งขนาดนี้มีอีกไหม! (ยังไม่นับว่าคนเขียนคืออัมเบอโต อีโค ผู้แต่งสมัญญาดอกกุหลาบ หนังสืออีกเล่มที่แม้ไม่มีรูปประกอบ แต่ก็เจ๋งเกือบที่สุดในโลกเช่นกัน)

เปลวปริศนาฯ เป็นเรื่องของยัมโบ คนขายหนังสือเก่าความจำเสื่อม ผู้ไม่มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวหลงเหลือ เขาเดินทางไปยังบ้านพักวัยเด็ก เพื่อดูหนังสือ บทเพลงที่ตัวเองอ่าน ฟังในอดีต เพื่อค้นหาตัวตน และเรื่องราวในสมัยก่อน รูปสี่สีที่พูดถึงก็ได้แก่ภาพจากการ์ตูน นิยายผจญภัย ใบปลิวโฆษณา และปกแผ่นเสียง อีกนัยหนึ่งก็คือวัฒนธรรมป๊อบอิตาลีสมัยเมื่อหกสิบปีที่แล้วนั่นเอง

พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกได้ว่าบ้านเรายังขาดการศึกษาวัฒนธรรมป๊อบอย่างทั่วถึง พอพูดถึงประวัติศาสตร์ ก็มักขุดกันแต่ของเก่าๆ พอพูดถึงวรรณกรรม ก็มีแต่รุ่นโบราณ พวกละครหลังข่าวจบแล้วก็จบกันไป ไม่เคยมีใครสะสมเก็บรักษา ดนตรีสมัยปีเจ็ดศูนย์ แปดศูนย์หาฟังยากยิ่งกว่าดนตรีปีหกศูนย์ซึ่งกลายเป็นของคลาสสิกไปแล้วเสียอีก น่าเสียดาย เพราะเอาเข้าจริงๆ ยอมรับเถอะว่าสังคมไทยน่ะถูกสร้างมาด้วยดาวพระศุกร์ และโกโบริของป้าเบิร์ดเล่น ยิ่งกว่าอิเหนา หรือขุนช้างขุนแผนเป็นไหนๆ

กลับมาพูดถึงเปลวปริศนาฯ ต่อดีกว่า ความเจ๋งอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือ แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เข้าเอาจริง นี่คือนิยายตีแผ่วัฒนธรรมป๊อบ แสดงให้เห็นอิทธิพลของสื่อระดับล่างที่มีต่อเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ เมื่อแรกค้นกรุสมบัติตัวเอง ยัมโบพบว่านิยายผจญภัยซึ่งเคยชอบอ่านได้แก่แฟนโตสมา จอมโจรแห่งปาริส และเชอร์ลอค โฮม เขาอดตั้งคำถามตัวเองไม่ได้ เด็กคนหนึ่งจะสามารถสนุกสนานไปกับเรื่องราวเชือดเฉือน ผจญภัย ถึงเลือดถึงเนื้ออย่างแฟนโตสมา ไปพร้อมๆ กับนักสืบผู้ดีจ๋าอย่างเชอร์ลอค โฮมได้ยังไง (แทบทุกรูปประกอบในนิตยสารสแตรนด์ เป็นรูปเชอร์ลอค โฮมกำลังนั่งอยู่แทบทั้งนั้น)

ยิ่งค้น ก็ยิ่งพบความขัดแย้ง เช่นมิคกี้ เมาส์ พอตีพิมพ์ในอิตาลี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นทรอปโปลี (หนูน้อย) ที่เด็ดกว่านั้นคือมีกระทั่งการเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้เข้ากับการเมืองมากยิ่งขึ้น ถึงกับมีตอนที่ทรอปโปลี ฮีโรอเมริกันพบจุดจบในการ์ตูนด้วยซ้ำ! มีการสอนสั่งศาสนาผ่านดนตรี ภาพประกอบ ไปพร้อมๆ กับเผยแพร่ลัทธิฟาสซิสของมุโสลินี ยิ่งค้นยัมโบก็ยิ่งสับสน ที่สุดของที่สุดคือเขาได้รับรู้ว่าในอดีตเคยหลงรักเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซิบิล และตั้งแต่นั้น คนรักของเขาทุกคน รวมไปถึงภรรยาที่ตัวเองแต่งงานด้วยคือภาพสะท้อนของซิบิล ยัมโบพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะดึงเอาภาพซิบิลคืนกลับมาในหัว

เปลวปริศนาฯ ตั้งคำถามชวนคิดว่าการ์ตูน หรือหนังสืออ่านเล่น บางครั้งมันแทรกภาพสะท้อนการเมือง และสังคมยิ่งกว่าที่เราคิดๆ กัน ที่สำคัญคือหนังสือพวกนี้ซึ่งกระทบใจเด็ก ส่งอิทธิพลลึกล้ำจนถึงตอนพวกเขาโต พูดก็พูดเถอะ พอมีใครถามคนดัง ดาราว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนแปลงชีวิต คนตอบมักหยิบยกเหตุการณ์ตอนโต ตั้งแต่อายุสิบสี่ สิบห้าปีขึ้นไป เพราะนั่นคือสิ่งที่เราทุกคนจดจำได้ดี ทั้งที่จริงๆ ประสบการณ์วัยเด็กที่เราลืมไปแล้วต่างหากที่ทำเราให้เป็นเราดังทุกวันนี้

S. Rushdie's "Midnight Children"


โอ้ย เหนื่อย! ในที่สุดก็อ่านทารกเที่ยงคืนจบเสียที ใช้เวลาตั้งเกือบสองอาทิตย์กับหนังสือหนาปึกเล่มนี้

อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่าซัลแมน รัชดี น่าจะหันมาเขียนเรื่องสั้นมากกว่านิยายเล่มหนาๆ (เข้าใจว่าแต่ละเล่มของพี่แกบักเอ้ทั้งนั้น) แต่ละส่วน แต่ละบทของทารกเที่ยงคืนน่าสนใจ เป็นการผนวกวัฒนธรรมอินเดียซึ่งผู้เขียนรู้จักดี เข้ากับขนบนิยายสมัยใหม่ได้อย่างราบลื่น แต่พอทุกบททุกส่วนมารวมกันเป็นเล่มเดียว กลับเหลวเป๋วไม่เป็นท่า

ปัญหาข้อแรกคือความหนาเกินเหตุ หลายต่อหลายตอนจะตัดออก หรือจับมาย่นย่อก็ไม่สูญเสียเนื้อความสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะบทหลังๆ ช่วงที่ตัวเอกเข้าไปผจญภัยในป่าลับแล ทั้งที่เป็นตอนซึ่งสนุกสนานที่สุด แต่เนื่องจากมันไม่ได้มีบทบาทอะไรกับเนื้อเรื่องโดยรวม ก็เลยอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีไปเลยจะดีกว่าไหม แค่นี่ก็ห้าร้อยกว่าหน้าเข้าไปแล้วนะ

ทารกเที่ยงคืนเป็นเรื่องของชายหนุ่มซึ่งเกิดตอนเที่ยงคืน วันที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากมหาจักรวรรดิอังกฤษ เด็กเกือบห้าร้อยคนที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว โตมาพร้อมกับความสามารถพิเศษ บ้างก็เจาะเวลาหาอดีตได้ บ้างก็เป็นมนุษย์มหาป่า แปลงเพศตัวเอง กระโดดหายเข้าไปในกระจก หรือความสามารถเหนือมนุษย์อื่นๆ ตัวเอกของเรื่องอาเมด ไซนายมีความสามารถสองอย่าง คือโทรจิต และจมูกที่ดีเหนือคนธรรมดา

พอเล่าเรื่องย่อจบ ก็จะชี้ให้เห็นปัญหาข้อที่สองของนิยายเรื่องนี้คือมันแทบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับทารกเที่ยงคืน พวกเขาถูกกล่าวถึงช่วงกลางๆ เรื่องพักหนึ่ง แล้วก็มีบทบาทอีกทีตอนท้าย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นประวัติครอบครัวอาเมด ไซนาย ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์อินเดีย และปากีสถาน แต่ถ้าจะให้เรียกนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนิยายสะท้อนประวัติศาสตร์ ก็ออกจะพูดได้ไม่เต็มปาก ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจเป็นเพราะแต่ละเหตุการณ์ถูกหยิบยกมาเป็นส่วนๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คนอ่านก็เลยไม่สามารถมองเห็นภาพอินเดียทั้งประเทศ เหมือนกับเป็นนิยายสะท้อนเกร็ดประวัติศาสตร์มากกว่า

ถ้าจะมีอย่างเดียวที่ช่วยผสานนิยายทั้งเล่มนี้เข้าด้วยกันคือคำเปรียบเปรยถึงเกมงูตกกระไดซึ่งอาเมดชอบเล่นตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเรื่องนี้รัชดี เอาโมทีฟบรรได และงูมาเล่นซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างหลักแหลม ถือเป็นจุดที่น่าปรบมือให้ที่สุด

ทารกเที่ยงคืนจัดว่าเป็นนิยายสิ้นหวัง โลกมืดที่สุดเท่าที่เคยอ่านเล่มหนึ่งก็ได้ ซัลแมน รัชดีดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกชะตากับการมองโลกในแง่ดีเท่าไหร่ ในนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนเปรียบเทียบการมองโลกในแง่ดีว่าเหมือนโรคระบาดอย่างหนึ่ง บทสรุปนิยายก็ออกแนวสิ้นหวังๆ ชอบกล เป็นการมองประวัติศาสตร์ประเทศตัวเองด้วยสายตาเหยียดหยาม


ถ้าจะแนะนำ วิธีอ่านทารกเที่ยงคืนให้สนุก ก็คงต้องอ่านเหมือนที่ปู่อาเมดพบรักภรรยาตัวเองผ่านรูแคบๆ บนผ้าปูเตียง (ปู่ของอาเมดเป็นหมอ สมัยนั้นผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะผู้ชายแปลกหน้า) คืออ่านทีละส่วนทีละตอน วันละบทสองบทพอ อย่าอ่านรวดเดียว ตกหลุมรักมันทีละหน้า อย่าไปคาดหวังกับหนังสือทั้งเล่ม