C. E. Gadda's "That Awful Mess on the Via Merulana"


พี่พิสิฐ ภูศรีเคยพูดไว้น่าฟังมากๆ ว่า วรรณกรรมนั้น ต่อให้สร้างมากี่ชั้นๆ ถ้ามันล้มเหลวเสียตั้งแต่ชั้นแรก ไอ้สิบชั้นที่เหลือก็ไม่ต้องพูดถึง คำว่าชั้นแรกของพี่พิสิฐนั้นคือ “ความสนุกสนาน” ถึงแม้เราอาจไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าความสนุกจำเป็นขนาดนั้น แต่สิ่งที่พี่พิสิฐพูดมาก็น่าคิด หนังไม่เหมือนภาพยนตร์ ซึ่งต่อให้ไม่สนุก แต่ถ้ามีอะไรดีๆ ก็ชวนให้คนดูค้นหาต่อไปเรื่อยๆ แต่หนังสือ หากอ่านยาก “วางแล้วหยิบไม่ขึ้น” เสียอย่าง จะมาร้องแรกแหกกระเชอให้คนอ่านค้นหาอะไรดีๆ จากหนังสือเล่มนั้น ก็ดูจะเป็นความเอาแต่ใจตัวเองของนักเขียนมากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ เราถึงอยากบอกว่า The Awful Mess on the Via Meraluna นิยายอิตาลีเล่มโปรดของคาลวิโน พาโซลินี และโมราเวียเป็นนิยายที่ล้มเหลว ในระดับหนึ่งเราเข้าใจว่าแกดดาพยายามทำอะไร (แต่ก็เข้าใจจากคำนำที่คาลวิโนเขียนล่ะนะ) ปรัชญาหลักของนิยายเล่มนี้คือ ไม่มีเหตุการณ์เดี่ยวเหตุการณ์ใดเป็นต้นเหตุของผลลัพท์หนึ่งๆ นานาประการล้วนแล้วแต่มาจากการกอปรเข้าด้วยกันของสาเหตุอันนับไม่ถ้วน

ในนิยายนักสืบเล่มนี้ แกดดาก็เลยอัดทุกรายละเอียดเท่าที่คนเขียนจะคิด จะแถออกมาได้ เช่น มองศพผู้หญิงถูกปาดคออยู่ดีๆ ก็ไพล่ไปพูดถึงกางเกงใน สอบปากคำผู้ต้องสงสัยอยู่ดีๆ ก็เฉไฉไปหาอาหารอิตาลี หรือกระทั่งการเฉลยฆาตกร ก็กลายเป็นส่วนประกอบของคำบรรยายกองขี้ไก่ที่ตั้งอยู่แถวๆ นั้น สรุปก็คือ The Awful Mess on the Via Meraluna เป็นผลงานทดลองแนวเจมส์ จอยซ์มากกว่านิยายนักสืบ

เราถกเถียงกับตัวเองว่าถ้าแกดดามีชื่อเสียงพอๆ กับจอยซ์ เราจะสะกดจิตตัวเองให้ชอบนิยายเล่มนี้มากขึ้นหรือเปล่า Ulysses เองก็หาใช่นิยายที่เพลิดเพลินอ่านพลิกๆ แต่ความผิดพลาดของแกดดาคือการใช้วรรณกรรมสืบสวนสอบสวนมาเป็นกรอบ โดยที่ตัวแกยังขาดความเข้าใจนิยายประเภทนี้อยู่มาก สังเกตว่าในหมู่ศิลปินชาวอิตาลีที่ชื่นชอบนิยายเล่มนี้ ไม่มีชื่อของอีโคอยู่เลย สำหรับผู้เขียนสุดยอดนิยายนักสืบอย่าง The Name of the Rose อย่างไรเสียก็คงเพิกเฉยต่อจุดอ่อนของ The Awful Mess on the Via Meraluna ไปไม่ได้

นิยายนักสืบสิบสตางค์ไม่จำเป็นว่าต้องอ่านทิ้งอ่านขว้างเสมอไป นักเขียนอย่างอีโค ซิเมนองได้พิสูจน์แล้วว่านิยายนักสืบสามารถผนวกกับปรัชญา จิตวิทยา และการสังเกตสังกาความเป็นมนุษย์ การจะอ้างว่า นี่คือนิยายปรัชญา ไม่ใช่นิยายนักสืบ จึงไม่จำเป็นต้องสนุกนั้นไม่ใช่ข้อแก้ตัว น่าจะถือว่าเป็นความล้มเหลวในการเลือกสื่อและสานส์เสียมากกว่า

No comments: