K. Desai's "The Inheritance of Loss"
ย้อนอดีตไปเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ถ้าบอกคนยุโรปว่า อนาคตข้างหน้าอเมริกาจะกลายเป็นเจ้าโลก หลายคนฟังแล้วคงหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง ในตอนนี้ถ้าบอกว่าสักวันประเทศอินเดีย และจีนจะกลายเป็นเจ้าโลก คงทำใจเชื่อได้ยาก แต่ถ้าดูจากวิกฤษพิษแฮมเบอร์เกอร์ ก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าอีกห้าสิบปีจากนี้ ใครจะหมู่ ใครจะจ่า ใน The End of Poverty หนังสือที่โด่งดัง และเป็นที่ถกเถียงกันมากๆ แซชยกตัวอย่างประเทศอินเดียว่าเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ จากประเทศที่ยากจนติดอันดับต้นๆ ตอนนี้กลายเป็นเจ้าแห่ง IT ไปเรียบร้อยแล้ว (แน่นอนว่าเงินทองไม่ใช่ตัววัดความสุข หนังอย่าง Slumdog Millionaire ก็แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการพัฒนา เราเห็นภาพความยากจน ความตกระกำลำบาก และความเหลื่อมล้ำในสังคม)
คนไทยชอบมีอคติกับคนอินเดีย ก็เลยไม่ค่อยรู้สึกว่าประเทศนี้เจริญอะไรนักหนา แต่ความจริงแล้ว มีแต่ประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งเท่านั้นถึงจะส่งออกวัฒนธรรมได้มากมายขนาดนี้ อุตสาหกรรมหนังของอินเดียผลิตภาพยนตร์ปีหนึ่งมากกว่าฮอลลีวูด และฮ่องกงเสียอีก อินเดียมีนักเขียนดังๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลอย่างไนปอล (ซึ่งจริงๆ แล้วแค่มีเชื้อสายอินเดีย แต่เติบโตบนเกาะแคริบเบียน) กฤษณามูรติ หรือนักเขียนรางวัล Booker prize เช่นพาเทล รัชดี ยังไม่ต้องพูดถึงพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูซึ่งเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ว่ากันตรงๆ วัฒนธรรมอินเดียเป็นสากลเสียยิ่งกว่าวัฒนธรรมเกาหลีอีก
สุ้มเสียงสตรียุคใหม่ชาวอินเดียซึ่งโด่งดังสุดในขณะนี้มีอยู่สามคนด้วยกันคือ อรุณธาตี รอย จุมปา ลาหิรี และคิราน เดไซ เราได้อ่านงานของทั้งสามแล้ว โดยอ่านคนละชิ้น และขอสรุปว่าของเดไซถูกอกถูกใจเราที่สุด The Inheritance of Loss เป็นนิยายที่มีความเป็นยุคหลังสมัยใหม่มากๆ ทั้งเล่มไม่ได้หนาอะไร แต่กลับถูกแบ่งออกเป็น 53 บทด้วยกัน และในแต่ละบทนั้นยังแบ่งเป็นห้วงสั้นๆ ถึงโดยภาพรวมนิยายเล่มนี้จะเน้นที่การเล่าเรื่อง แต่ก็มีกลิ่นไอของการตัดแปะ ประกอบแพะ และแกะเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับแก่นสารของยุคหลังสมัยใหม่ และประเทศอินเดียที่เติบโตมาจากการตัดแปะวัฒนธรรม และปรัชญาของชาติตะวันตก
เรื่องเล่าสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ตีนเขาหิมาลัย ตัวละครสำคัญประกอบด้วยผู้พิพากษาชรา หลานสาว และคนครัว โดยจะเล่าสลับกับเหตุการณ์ในนิวยอร์ก เรื่องราวของลูกชายของคนครัว ซึ่งไปเผชิญโชคในประเทศอเมริกา ประเด็นหลักของ The Inheritance of Loss คือความขัดแย้งระหว่างความเป็นตะวันตก และความเป็นอินเดีย คนยากคนจนมากมายในประเทศโลกที่สามต้องการส่งบุตรหลานไปหากินในประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา หรืออังกฤษ แต่ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าชีวิตของพวกเขาในต่างแดนจะเป็นความสะดวกสบายสมดังที่พ่อแม่ฝันไว้ หรือคนที่ได้รับการศึกษาในประเทศเหล่านั้น เช่นตัวผู้พิพากษา เมื่อกลับไปอินเดีย ก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างอิทธิพลตะวันตกในตัวเอง และสิ่งแวดล้อม
เมืองซึ่งเป็นฉากของนิยายเรื่องนี้ก็เป็นสถานที่ที่น่าสนใจมากๆ เป็นเมืองชายแดนซึ่งประกอบไปด้วยชาวอินเดีย ชาวเนปาล ชาวบังคลาเทศ รวมไปถึงชาวภูฐาน ชาวทิเบตและคนเชื้อชาติต่างๆ มาอยู่รวมกัน โดยชาวเนปาลคือกลุ่มที่ยากจนที่สุด ต้องเป็นคนรับใช้ของกลุ่มอื่นๆ ในภายหลังชาวเนปาลรวมตัวกันก่อตั้งกองกำลังปลดปล่อย เพื่อต้องการแยกดินแดนเป็นอิสระ แม้กลุ่มปฏิวัติจะมีอุดมกาณ์อันสวยหรู และอาจเป็นความหวังเดียวของผู้ถูกกดขี่ข่มเหง แต่สุดท้ายการรวมตัวกันแสดงพลังมวลชนก็จบลงที่ความรุนแรงและความโกลาหล ส่วนพฤติกรรมของผู้มีอุดมการณ์ทั้งหลายก็ไม่แตกต่างอะไรกับโจรข้างถนนดีๆ นี่เอง (ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าตำรวจ หรือผู้รักษากฎหมายจะเลิศเลอสักเท่าใดนัก)
รูปที่แปะไว้ข้างบนนี้คือกงล้อแห่งชีวิตตามความเชื่อของพุทธมหายานทิเบต ซึ่งประกอบได้ด้วยไก่ งู และหมู เป็นตัวแทนของความโลภ ความโกรธ และความเขลา ซึ่งจะวนเวียนไปเรื่อยๆ ในทุกชีวิต เพราะโลภ ถึงโกรธ เพราะโกรธ ถึงเขลา และเพราะเขลา ถึงโลภ เก๋ดี เสียดายที่วัฒนธรรมตัวนี้ไปตกมาถึงพุทธหินยานในประเทศไทยด้วย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
เถรวาทครับ
ศัพท์คำว่าหินยานเขาไม่ใช้กันแล้ว
เพราะตามความหมายมีเชิงลบอยู่
Post a Comment