S. Bellow's "Henderson the Rain King"

อ่าน Henderson the Rain King จบ แล้วพยายามอดใจไม่ถามครูเกิ้ลว่า ตกลงเผ่าวาริริที่เบลโลเขียนถึง มันมีอยู่จริงหรือเปล่า เบลโลเขียนนิยายเล่มนี้ด้วยบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน เฮนเดอสันเดินทางบุกป่าฝ่าดงตะลุยทวีปแอฟริกา พร้อมด้วยคนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์พูดภาษาอังกฤษติดสำเนียง "ยูซ่า ยูซ่า" แต่พอเข้าไปถึงหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองจริงๆ ดันไปเจอราชาของเผ่าที่พูดภาษาอังกฤษชัดเปรี๊ยะ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าชนเผ่าวาริริเป็นเพียงจินตนาการของเบลโล ก็ต้องยกนิ้วให้เลยว่าพวกประเพณี พิธีกรรมที่ปรากฏในหนังสือ อ่านแล้วแนบเนียนสมจริงเอามากๆ เช่น ประเพณีที่แขกผู้มาเยือนเผ่าต้องเล่นมวยปล้ำกับหัวหน้าเผ่า หรือการคัดเลือกตำแหน่งสำคัญในเผ่าด้วยการยกเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ เฮนเดอสันเป็นชาวอเมริกัน ประสบปัญหา Midlife Crisis เลยตัดสินใจทิ้งลูกเมีย เดินทางมาแอฟริกา ด้วยความหวังว่าจะเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตจากชนเผ่าพื้นเมือง แต่ไปๆ มาๆ เฮนเดอสันเข้าร่วมพิธีคัดเลือก "ราชาแห่งฝน" ซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากราชาของเผ่า และเมื่อผ่านการคัดเลือก เขาก็ได้เข้ามาใกล้ชิดกับราชาแห่งเผ่าวาริริ ผู้ชายที่เฮนเดอสันยกย่อง และเชื่อว่าอีกฝ่ายกุมความลับของชีวิตเอาไว้

ซึ่งก็น่าอยู่หรอก เพราะตามกฏของเผ่าวาริริ ราชาจะขึ้นครองตำแหน่งได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเขาผ่านพิธีสืบทอด ด้วยการจับสิงโตที่เป็นร่างทรงของราชาคนก่อนด้วยมือเปล่า ถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา ก็จะถูกสิงโตตะปบตาย แต่ถ้าชักช้าไม่ยอมเข้าร่วมพิธีนี้เสียที ก็จะถูกคนในเผ่าฆ่าทิ้งอยู่ดี ในเมื่อราชาของวาริริใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกับความตายขนาดนี้ ถ้าจะมีปัญญาอย่างสองอย่างมากกว่าคนทั่วไปก็คงจะไม่แปลก

เสน่ห์ของ Henderson the Rain King คือไม่รู้จะจัดมันเป็นนิยายประเภทไหนดี มันดูเลื่อนไหลผสมผสานหลาย genre เข้าด้วยกัน บางช่วงก็เหมือนจะออกแนว A Connecticut Yankee in King Arthur's court ว่าด้วยคนขาวที่นำเอาความเจริญเข้าไปยังพื้นที่กันดารไกลพื้นเที่ยง แต่บางช่วงก็กลับกันเลย ว่าด้วยคนขาวไปศึกษาความลับของชีวิตจากท้องถิ่นแดนไกล (แต่ที่มันย้อนแย้งมากคือ ไปๆ มาๆ ราชาแห่งเผ่าวาริริเองก็ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก และมีวิธีคิดหลายอย่างเหมือนฝรั่ง) ขณะเดียวกันมันก็มีส่วนผสมของ Don Quixote ด้วย