ในเดือนมิถุนายนปี 1919 ลูคักส์ต้องไปบรรยายพิเศษเปิดสถาบันวิจัยวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในกรุงบูดาเปส เนื้อหาการบรรยายในครั้งนั้นถูกดัดแปลงมาเป็นหนึ่งในบทความที่รวมอยู่ใน
History and Class Consciousness เฉพาะบทนี้บทเดียวอาจจะเป็นบทความสั้นๆ ที่เหมาะสุดสำหรับใครที่ต้องการเข้าใจมาร์กซิสแบบ "หมัดเดียวจอด" (ว่ากันโดยรวม แม้หนังสือเล่มนี้จะรวบรวมบทความจากต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งหมดสอดประสานเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างลงตัว)
ตั้งแต่ปี 1919 หลังการปฏิวัติในรัสเซียแค่ไม่กี่ปี จวบจนปัจจุบัน หลายสิ่งเกิดขึ้น สงครามโลกครั้งที่สองเอย ความโหดเหี้ยมของสตาลินเอย และที่สำคัญสุด (จากมุมมองของลูคักส์) คงจะเป็นการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการสิ้นสุดของสงครามเย็น ถ้าพูดกันจริงๆ หลายความคิดในเล่มนี้ก็คงจะล้าสมัย และ "ผิด" ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีคุณค่าเลย ในทางตรงกันข้าม จวบจบปัจจุบันการศึกษาสังคมผ่านวิธีคิดแบบมาร์กซ์อาจเป็นสายทฤษฎีทางสังคมที่เข้มแข็งที่สุดเลยก็ว่าได้
ศูนย์กลางของ
History and Class Consciousness คือสิ่งที่ลูคักส์เรียกว่า "Reification” หรือ "การทำให้เป็นรูปธรรม" พอแปลไทยแล้วไม่ค่อยได้ความหมายเท่าไหร่ แต่ลูคักส์หมายถึงว่า เมื่อมนุษย์อาศัยอยู่ในสังคมทุนนิยม หรือสังคมที่มีกรรมวิธีผลิตและกระจายสินค้าแบบทุนนิยม ธรรมชาติของความเป็นทุนนิยมจะแผ่ซ่านไปยังทุกแง่มุมของชีวิต และในท้ายที่สุดคุณก็จะมองโลกแบบทุนนิยม มองไม่เห็นความผิดปกติของระบบ หรือถ้ามองเห็น ก็จะบอกตัวเองว่า "นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ"
ลูคักส์เปรียบเทียบได้ดี เขาบอกจักรวาลวิทยาแบบฮินดูจะแบ่งโลกออกเป็นสองส่วน คือส่วนของมนุษย์ที่เราสามารถทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล และส่วนของเทพเจ้า ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อมนุษย์เรา แต่เราไม่อาจทำความเข้าใจเหตุผลของเทพเจ้าได้ ดังนั้นเราจึงยอมรับอะไรก็แล้วแต่ที่เทพเจ้าส่งมาให้เราว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ จักรวาลวิทยาของทุนนิยมมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์และใครต่อใครจะยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าทุนนิยมนี่แหละตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว แต่มันก็เป็นความสมเหตุสมผลที่ไม่แตะต้องโลกของเทพเจ้าเลย
ลูคักส์ ในฐานะที่เป็นนักปรัชญามาร์กซิส เชื่อว่าการปฏิวัติมวลชน ในแง่หนึ่งก็คือการสลายม่านบังตาหรือรูปธรรมตรงนี้ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 1) ชนชั้นกรรมาชีพได้รับ “Class Consciousness” (แปลว่าความตระหนักรู้ทางชนชั้นก็คงได้มั้ง) เมื่อถึงตอนนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น แต่ชนชั้นกลางผู้ได้รับประโยชน์จากทุนนิยม ก็จะตาสว่าง ตระหนักถึงข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย 2) วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์เป็นกลวิธีเดียวในการสลายม่านบังตาตรงนั้น วิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ถูกปะปนด้วยอคติของทุนนิยม วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นวิธีคิดแบบแบ่งแยกระหว่างวัตถุที่ต้องการศึกษาและผู้ศึกษา วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์คือการผนวกสองสิ่งนี้ (เท่าที่เราพยายามจับใจความลูคักส์ หมายถึงการศึกษาสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่อาจแยกออกจากกันได้) 3) ขณะเดียวกันลูคักส์ไม่ได้ปฏิเสธว่า บางที "ความรุนแรง" อาจจำเป็นในการปฏิวัติมวลชนก็ได้
อย่างที่บอกแต่แรก เราไม่ได้เห็นด้วยกับลูคักส์ไปทั้งหมด ประการแรก แนวคิดแบบ Reification นั้น น่าจะเป็นต้นกำเนิดของญาณวิทยาแบบเลนิน หรือ การปฏิเสธตรรกะทุกประการของบุคคลผู้หนึ่ง ถ้าบุคคลผู้นั้นเกิดในสังคมทุนนิยมหรือฝักใฝ่ในลัทธิทุนนิยม ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรออกมาก็ตาม ทุกอย่างก็จะแทรกด้วยอคติทางชนชั้น คำพูดที่จะได้ยินบ่อยๆ คือ "เพราะเธอเกิดมาเป็นนายทุน/เศรษฐี/ลูกนักธุรกิจ เธอก็เลยเชื่อแบบนั้น" (หนังสืออย่าง
Darkness at Noon ของโคเอสท์เลอร์ หรือ
The Joke ของกุนเดระก็คือการสำรวจความพินาศของตรรกะในลักษณะนี้)
ประการหลังคือ ไม่บอกก็รู้ว่าแปดสิบปีผ่านไป สุดท้ายการปฏิวัติมวลชนหรือการตระหนักรู้ทางชนชั้นของเหล่ากรรมาชีพก็ไม่เคยเกิดขึ้น การที่อเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้าง "สังคมของชนชั้นกลาง" ก็คือบทพิสูจน์ความล้มเหลวทางทฤษฎีของหนังสือเล่มนี้แล้ว (นั่นคือเหตุผลที่เราชอบ
The Historical Novel ซึ่งลูคักส์เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองทศวรรษให้หลังมากกว่า)
แต่มีประเด็นหนึ่งที่เราว่าน่าขบคิดมากๆ เกี่ยวกับ "การทำให้เป็นรูปธรรม" ลูคักส์ให้ตัวอย่างว่า วิธีคิดแบบทุนนิยมที่ปรากฏในแวดวงอื่นนอกเหนือจากทางเศรษฐศาสตร์คือในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมแบบสมัยใหม่ (และเป็นสากล) เกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบทุนนิยม สิ่งสำคัญของทุนนิยมคือสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน "คำนวณ" ต้นทุนกำไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบศาลที่บริสุทธิ์ ปราศจากการแทรกแซง และคาดเดาได้เท่านั้น (ลูคักส์จริงๆ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความบริสุทธิ์ของศาลในระบอบทุนนิยม แท้ที่จริงก็เป็นผลิตผลอย่างหนึ่งของกระบวนการ Reification ไม่ใช่หมายถึงศาลทุนนิยมไม่ยุติธรรม แต่มันมีความยุติธรรมแบบอื่นที่นอกเหนือจากความยุติธรรมที่เราคุ้นเคยกันอยู่)
ถ้ามองย้อนกลับมาเมืองไทย ในสภาพสองมาตรฐานแบบนี้ น่าคิดว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยมจริงหรือเปล่า ถ้าเชื่อตามลูคักส์ หากสังคมไทยเป็นทุนนิยม เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีตุลาการภิวัฒน์ นั่นก็หมายถึงว่าสังคมไทยไม่ใช่ทุนนิยม เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจแบบไหนที่เรากำลังใช้อยู่ คำตอบคือ "ทุนนิยมผสมอุปถัมภ์" จึงชวนให้คิดต่อไปว่า ไอ้ระบบเศรษฐกิจแบบ "อุปถัมภ์" มันจะกลายเป็นรูปธรรมในโครงสร้างส่วนบนอื่นๆ ของสังคมแบบทุนนิยมได้หรือเปล่า แน่นอนว่าเป็นไปได้ ความ "ยุติธรรม" ที่ใช้กฏหมายแบบหนึ่งกับ "คนดี" และกฎหมายอีกแบบหนึ่งกับ "คนเลว" น่าจะสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบอุปภัมภ์ที่สุด
ถ้ามองสังคมไทยในมุมกว้าง เราจะพบว่ากระบวนการ Reification ของทุนนิยมกัดกินสังคมเราน้อยมากๆ (เป็นต้นเหตุที่เรามักจะได้ยินคำพูดประมาณว่า เรารับมาแต่อะไรที่แย่ๆ ของฝรั่ง แต่ไม่เคยรับของดีๆ มาเลย) ถ้าจะมีอะไรที่มันกำลังกลายเป็นรูปธรรม (หรือเป็นอยู่แล้วแต่ขุดไม่ออก) น่าจะเป็นแนวคิดแบบอุปถัมภ์มากกว่า
เพื่อนเราคนหนึ่งเคยเขียนเอาไว้ในบลอคดีมากๆ ว่า
และด้วยแนวคิดระบบอุปถัมภ์เช่นนี้ ทำให้คนไทยไม่ค่อยเชื่อในเรื่อง “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เพราะเราเชื่อกันลึกๆว่าโลกนี้มันมีของฟรี (สิวะ) เพียงแต่ต้อง “ขอ” ให้ถูกคน
เมื่อเรายอมรับแล้วว่า สังคมไทยในปัจจุบันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมอุปภัมภ์ เราก็ต้องยอมรับต่อไปว่า ที่มันยากจนข้นแค้น (?) แบบทุกวันนี้ มันเกิดมาจากส่วนผสมของสองระบบนี้ ความเป็นไปได้สองอย่างก็คือ 1) ถ้าเราสลัดระบบอุปถัมภ์ออกไป บ้านเมืองเราจะเจริญยิ่งกว่านี้อีก และ 2) ยากจนแค่นี้ก็ดีถมแล้ว เป็นระบบอุปถัมภ์ต่างหากที่ค้ำชูสังคมเราอยู่
ใครที่อ่านรักชวนหัวบ่อยๆ คงรู้ว่ารักชวนหัวเชื่อในคำตอบข้อไหน อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถสรุปได้จาก
History and Class Consciousness ลูคักส์ ผู้เขียน เองก็ไม่ได้ชื่นชอบระบบทุนนิยม อันที่จริงประเด็นของหนังสือเล่มนี้คือทำอย่างไรสังคมจึงจะก้าวพ้นทุนนิยมไปได้ต่างหาก แต่ก้าวพ้นไปแล้ว สิ่งที่รออยู่คือระบบอุปถัมภ์หรือเปล่า อันนี้ไม่มีใครตอบได้ (จุดอ่อนของลัทธิมาร์กซิส ในความคิดเรา คือ เหมือนจะพูดถึงการก้าวข้าม มากกว่าบอกว่าก้าวข้ามไปแล้วจะต้องเจอกับอะไร)
แต่คำถามหนึ่งที่เราอยากให้ขบคิดกันต่อว่า ไอ้ที่พูดกันว่าการคอรัปชั่นเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย อย่าลืมว่า การคอรัปชั่นไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะระดับนักการเมืองเท่านั้น แต่ความหมายแบบกว้างรวมไปถึง "กิจกรรมทางวัฒนธรรม" อย่างการถูกตำรวจจับ แล้วเลือกที่จะยัดสินบน แทนที่จะยอมถูกยึดใบสั่งด้วย
คำถามคือ "คอรัปชั่นเป็นรูปธรรมของอะไร ทุนนิยมหรือว่าอุปถัมภ์กันแน่"