J. Sartre's "No Exit and Three Other Plays"
ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ น่าสนใจว่ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมนั้นไม่ได้มอบให้เฉพาะ "นักเขียน" เท่านั้น (หรืออย่างน้อยก็ "นักเขียน" ตามความหมายที่คนปัจจุบันเข้าใจ) แต่ยังมอบให้ "นักปรัชญา" ฉอง ปอล ซาร์ดเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลอีกคน ที่ชื่อเสียงของแกสั่งสมมาจากงานเขียนปรัชญา มากกว่างานวรรณกรรม รวมบทละครชุด "No Exit" นี้เป็นหนึ่งในงานเขียนfiction ไม่กี่ชิ้นของซาร์ต (รวมไปถึงไตรภาค The Roads to Freedom) แต่ความเป็นเลิศของบทละครชุดนี้ ขนาดที่ว่าถ้าจะมีคนให้รางวัลโนเบลแกเฉพาะมัน ก็จะไม่แปลกใจเลยแม้แต่น้อย
บทละครที่ดังที่สุดของซาร์ตคือ "No Exit" เป็นการเสนอภาพนรกซึ่งน่าสนใจที่สุด นรกของซาร์ตไม่ต้องมีเครื่องทรมาณ ทัณฑ์ประหารอะไรทั้งสิ้น แค่จับเอาคนสามคนมาอยู่ในห้องเดียวกัน ไม่ช้าไม่นานพวกนี้ก็จะพูดจาเหน็บแหนม ทำร้ายกันเองอย่างเจ็บปวด ที่น่าเย้ยหยันคือประตูไม่ต้องลงกลอนกุญแจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมนุษย์เราไม่อาจหนีจากกันพ้น
ปรัชญาของซาร์ตอิงอยู่บนแนวคิดอัตถิภาวนิยม เคยพูดถึงเรื่องนี้ไปหลายรอบแล้ว เอาเป็นว่าถ้าอัตถิภาวนิยมเชื่อว่าความดีงามอยู่ในใจมนุษย์ ก็ไม่แปลกที่ซาร์ตจะเชื่อเช่นกันว่าความเลวร้ายเองก็ไม่ได้มีต้นกำเนิดที่แตกต่างไปมากนัก
แต่บทละครที่มักถูกพูดถึงเพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดอัตถิภาวนิยมอย่างชัดเจนสุดคือ "The Flies" อิงอยู่บนตำนานอีเล็กตร้า และออเรสเตส ซาร์ตไม่ใช่คนเดียวที่จับเรื่องนี้มาเล่าใหม่ Racine เองก็เคยเอาตำนานนี้มาใช้ใน Andromaque เรื่องค่อนข้างซับซ้อน แต่เล่าสั้นๆ คือเป็นเหตุการณ์หลังจากสงครามเมืองทรอยจบ กษัตริย์อากาเมนอนกลับมายังดินแดนของตน แล้วถูกสังหารโดยราชินี เพราะแค้นเคืองที่อากาเมนอนสังเวยลูกสาวให้กับเทพโปเซดอน ราชินีเองก็ถูกสังหารโดยออเรสเตสซึ่งตอนหลังกลายเป็นบ้า
ในฉบับของซาร์ต จุดแตกต่างสำคัญคือผู้เขียนโยงการกระทำของออเรสเตสว่าเป็นการขัดคำสั่งมหาเทพเซอุส ซึ่งในสายตาของนักอัตถิภาวนิยมแล้ว ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ซ้ำยังเป็นสิ่งดี เพราะมนุษย์ต้องค้นหาศีลธรรมในใจตน ไม่ใช่ปฏิบัติตามคำสั่งของเทพเจ้า
ละครที่ชอบสุดในเล่มคือ Dirty Hands การผจญภัยของชายหนุ่มปัญญาชนในพรรคคอมมิวนิสต์ นี่คือบทละครแห่งความขัดแย้ง ตั้งแต่ความขัดแย้งในตัวฮิวโก ระหว่างทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ระหว่างอัตลักษณ์ชนชั้นกลางของตัวเอง และปรัชญาคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฟาสซิสต์ เยอรมัน คอมมิวนิสต์ รัสเซีย และหน่วยกู้เอกราช แม้ฉากเมืองใน Dirty Hand จะเป็นเพียงประเทศสมมติ แต่ปมการเมืองตรงนี้สมจริงสมจังมาก ชนิดที่ไม่ว่าประเทศยุโรปตะวันออกประเทศใดก็คงเคยประสบปัญหานี้มาแล้ว สุดท้ายคือความขัดแย้งในครอบครัว ระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง ฮิวโก้ และภรรยาของเขา เจสสิก้า
ใช้คำว่า "การผจญภัย" เพราะละครเรื่องนี้ "สนุก" มาก ประเภทมีฉากให้ตื่นเต้น ลุ้น ยิงกัน ระเบิดเถิดเทิงอีกต่างหาก ฮอลลีวู้ดช่วยด้วยเอามาสร้างเป็นหนังเร็ว
ละครเรื่องนี้น่าสนใจมากขึ้น ถ้าเอาไปพิจารณาร่วมกับปูมหลังของซาร์ต ซาร์ตมีชื่อเสียงในฐานะนักอัตถิภาวนิยม แต่ภายหลังเขาละทิ้งปรัชญาตัวนี้ อันมาโอบกอดมาร์กซิส กระนั้นซาร์ตต้องประสบปัญหาหลายประการ ความเข้ากันไม่ได้ระหว่างนักปรัชญาในตัว และนโยบายของพรรค ไม่รู้เหมือนกันว่าแกเขียน Dirty Hands เมื่อไหร่ แต่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากประสบการณ์ตรงด้วย
ละครสั้นๆ ปิดท้ายเล่มคือ The Respectful Prostitute เล่าถึงการเหยียดผิวในอเมริกา ดีนั่นแหละ ไม่ใช่ไม่ดีหรอก แต่รู้สึกพิลิกยังไงชอบกลที่คนฝรั่งเศสผิวขาว เจ้าของแนวคิดอัตถิภาวนิยม และมาร์กซิส จะมาพูดถึงเรื่องคนผิวขาวผิวดำ The Respectful Prostitute เยี่ยมยอดในฐานะละคร แต่ไม่ได้เสนอมุมมองลึกซึ้ง หรือน่าขบคิดเท่ากับงานเขียนสีผิวอื่นๆ เช่น The Invisible Man ของเอลิสัน หรืองานของบาล์ดวิน
L. Althusser's "Lenin and Philosophy and Other Essays"
เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้ว สาเหตุที่เราอ่าน Structuralism เพราะอยากเข้าใจ Structural Marxism ของ Louise Althusser คราวนี้ก็เลยได้โอกาสพูดถึงอัลทัสเซอร์เสียเลย จริงๆ แล้วต้องอ้างอิงหนังสือสองเล่มคือ "Louise Althusser and the Traditions of French Marxism" โดย William Lewis และ "Lenin and Philosophy and Other Essays" ของ Louis Althusser
พูดถึงเล่มแรกก่อนแล้วกัน เลวิสเล่าประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์ (PCI) ในประเทศฝรั่งเศษ ควบคู่กับไปพัฒนาแนวคิดมาร์กซิสด้วย เคยบอกไว้ตั้งแต่ตอนพูดถึงฟูโคท์แล้วว่า ถ้าอยากเข้าใจปรัชญา หรือศาสตร์สาขาใดๆ วิธีที่ดีที่สุดคือศึกษาไปตามประวัติศาสตร์ของแนวคิดนั้นๆ เลวิสเขียนไว้ในคำนำด้วยซ้ำว่าปรัชญามาร์กซิสไม่อาจแบ่งแยกจากประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ กรณีศึกษาฝรั่งเศสเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะไม่เหมือนรัสเซีย หรือประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ฝรั่งเศสไม่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งถ้าดูจากประวัติ PCI เราก็จะได้เห็นขาขึ้น ขาลงของมัน ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ PCI มีอำนาจขนาดเป็นผู้ชักใยรัฐบาลฝรั่งเศส (เพราะช่วยรบกับฟาสซิส และนาซีในสงคราม) จนถึงช่วงปี 1956 ที่ชื่อเสียงพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่หนึ่งตกต่ำถึงสุดขีด (ภายหลังที่กรุซชอฟเอาความโหดร้ายของสตาลินมาเปิดเผย)
เลวิสเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีมากๆ อ่านเข้าใจง่าย ได้รู้ความแตกต่างระหว่าง ปรัชญาสังคมนิยม ปรัชญามาร์กซิสซึ่งเป็นต้นแบบของคอมมิวนิสต์ และปรัชญาเลนนิน/สตาลิน ซึ่งถือเป็น "สุดยอด" เพราะมาจากรัสเซีย ประเทศซึ่งถูกมองว่าเป็นยูโธเปียแห่งโลกในขณะนั้น (แต่มายุคนี้ ปรัชญาตัวนี้ถูกจัดว่าเป็นมาร์กซิสฉบับสามานย์ เพราะตัวตนที่แท้จริงของมันคือโฆษณาชวนเชื่อที่เลนนิน และสตาลินใช้เป็นเครื่องมือ สร้างฐานอำนาจ) ไปจนถึงมาร์กซิสดัดแปลงที่นักคิดชาวฝรั่งเศสเสนอแนะ ซึ่งก็แบ่งอีกเป็น humanis marxism (มอนติ-พอยตี้) existentialist marxism (ซาร์ต) และ structuralist marxism (อัลทัสเซอร์)
ไม่ขอยกรายละเอียดแล้วกัน ขอย้ำสั้นๆ อีกทีว่าหนังสือเล่มนี้เจ๋งมาก ชนิดที่ว่ามือใหม่คนไหนอยากเข้าใจปรัชญามาร์กซิส แนะนำเลยว่าต้องเล่มนี้แหละ
มาพูดถึงอัลทัสเซอร์ดีกว่า "Lenin and Philosophy and Other Essays" คือหนังสือรวมบทความของแก ตลอดชีวิตอัลทัสเซอร์ไม่เคยเขียนหนังสือปรัชญาเป็นเล่มๆ ออกมาอย่างจริงจัง มีแค่รวมบทความสองเล่ม คือเล่มนี้ และก็ "For Marx" ในเล่มนี้สองบทความที่ดังที่สุดคือ Ideology and Ideological State Apparatuses และก็บทความชื่อหนังสือนั่นแหละ Lenin and Philosophy
ใน Ideology อัลทัสเซอร์อธิบายว่า State หรือรัฐนั้นเป็นเพียงโครงสร้างการควบคุมอย่างหนึ่ง อัลทัสเซอร์เป็นนักโครงสร้างนิยม ดังนั้นแกไม่เชื่อว่าตัวตนของสถาบันย่อยในสังคมมีจริง แต่สังคมประกอบขึ้นจากโครงสร้าง อย่างรัฐก็คือโครงสร้างการควบคุม ทำยังไงถึงจะให้ประชาชนตอบสนองกระบวนการผลิตของรัฐ ซึ่งเครื่องมือในที่นี้แบ่งเป็นสองประเภท RSA หรือ Repressive State Apparatuses คือพวกกฏหมาย ระบบเศรษฐกิจที่บังคับให้คนเราทำงาน และ ISA หรือ Ideological State Apparatuses ในที่นี้คือการศึกษา ซึ่งไม่ใช่สอนประชาชนว่าต้องทำงานอย่างไร แต่รวมไปถึงการเป็นลูกจ้าง หรือนายจ้างที่ดี ความขยัน ความตั้งใจทำงาน เชื่อฟังเจ้านาย คำขวัญประเภท "งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข" สรุปก็คือการปลูกฝังค่านิยมนั่นแหละ
RSA สำหรับอัลทัสเซอร์แล้วลงลึกไปยิ่งกว่าค่านิยมเสียอีก กระทั่งภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็ถูกแฝงไว้ด้วย RSA เช่นการที่มีคนเรียกชื่อเรา ในแง่หนึ่งก็เหมือนเราได้ตกอยู่ใต้อำนาจการควบคุมของรัฐแล้ว ความคิดตรงนี้คล้ายๆ กับ Lacan เจ้าของปรัชญา structural psychoanalysis จริงๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็มีพูดถึง Freud กับ Lacan อยู่บทหนึ่งสั้นๆ
Lenin and Philosophy แสดงให้เห็นอีกหนึ่งความคิดประจำตัวอัลทัสเซอร์ นั่นคือแกเชื่อว่าตัวตนของมนุษย์อยู่ที่การกระทำ หมายถึงว่าเรามักจะลงมือทำนู่นทำนี่ ก่อนที่จะมานั่งวิเคราะห์เป้าหมาย สาเหตุ หรือความคิดซึ่งประกอบกิจกรรมนั้นๆ ของเรา แปลความอีกอย่างได้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นมาก่อนปรัชญาเสมอ สำหรับอัลทัสเซอร์ วิทยาศาสตร์ก็คือการเอาปรัชญามาปรับใช้กับวัตถุที่จับต้องได้ แต่ว่าระบบความคิดของมนุษย์ไม่ได้เริ่มจากปรัชญา แต่เริ่มมาจากวิทยาศาสตร์ (หรือการประยุกต์ต่างหาก) ยกตัวอย่างเช่นเราเรียนรู้ที่จะขับรถ กฎจราจร ก่อนจะมานั่งเข้าใจปรัชญาของการขับรถ เหตุใดกฎจราจรถึงถูกเขียนไว้เช่นว่า
ด้วยเหตุนี้อัลทัสเซอร์พยายามอ่านปรัชญาซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลัง Capital อภิผลงานเศรษฐศาสตร์ของมาร์ก (เศรษฐศาสตร์ก็ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งเช่นกัน) รวมถึงตีความแนวคิดของ Lacan ว่าคือการที่ Lacan อ่านปรัชญาซึ่งซ่อนอยู่ในการปฏิบัติ หรือกระบวนการ psychoanalysis ของ Freud (ลาคานกับอัลทัสเซอร์เป็นเพื่อนรัก เพื่อนแค้นกัน)
บทความของอัลทัสเซอร์ไม่ได้อ่านยากอย่างที่คิด ถ้าใครอยากศึกษาปรัชญามาร์กซิส และคิดว่าตัวเองกระดูกแข็งแล้วในระดับหนึ่ง นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำ
J. Piaget's "Structuralism"
หมายเหตุ: Struturalism แปลเป็นไทยได้ว่า "โครงสร้างนิยม" ซึ่งเป็นคำแปลที่เห่ยมาก
ถ้าเปิด wikipedia แล้วหาคำว่า structuralism จะได้ตัวอย่างสุดคลาสสิกคือฟองสบู่ อธิบายง่ายๆ คือแต่ละอณูบนฟองสบู่ แค่พยายามรักษาสภาพเสถียรของแรงตึงผิว แต่ว่าพอพิจารณาทั้งฟอง กลับได้โครงสร้างทรงกลมออกมา
งงหรือเปล่า? เอาแบบนี้ดีกว่า สมมติว่ามีกฎข้อหนึ่งที่บอกว่า "คนไทยต้องอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยปีละ 6 บรรทัด" พอถึงคืนวันที่ 31 ธันวาคม นายหมูยังไม่ได้อ่านหนังสือเลยสักบรรทัดตลอดปีนี้ ซึ่งถ้าเอาปริมาณการอ่านหนังสือของคนทั้งประเทศรวมถึงนายหมูมาหาค่าเฉลี่ย จะไม่ถึง 6 บรรทัด ดังนั้นจะบังเกิดปาฏิหาริย์ พลังจักรวาลอะไรสักอย่างซึ่งบังคับให้นายหมูอ่านหนังสือในปริมาณที่ทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเท่ากับ 6 บรรทัดพอดี
นี่แหละ structuralism...
...ไม่ใช่หรอก แต่ก็ประมาณนี้แหละ
"Structuralism" ของจีน เพียกอตคือหนังสือแนะนำปรัชญาโครงสร้างนิยม เพียกอตใช้ตัวอย่างจากหลายสาขาวิชา ตั้งแต่คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีวะ จิตวิทยา มานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ แล้วก็สังคมศาสตร์ แต่เนื่องจากเพียกอตเป็นนักจิตวิทยา ดังนั้นในบทจิตวิทยา คำอธิบายจะชัดเจนและเข้าใจง่ายกว่าเพื่อน อีกตัวอย่างว่าด้วยการรับรู้ของมนุษย์ เพียกอตบอกว่ามนุษย์เราไม่ได้รับสิ่งเร้าเข้าไปเป็นส่วนๆ แต่ว่าสิ่งเร้าแต่ละตัวจะบวกเอาโครงสร้างโดยรวมของสิ่งเร้าตัวอื่นๆ ในชุดของมันเข้าไปด้วย เรียกแนวคิดนี้ว่าจิตวิทยาแบบ gestalt อีกตัวอย่างคือการเรียนรู้ของเด็ก (ซึ่งตรงแนวทางวิจัยของเพียกอตนั่นเอง) เด็กเพิ่งเกิดไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เป็นข้อๆ แต่ว่าประสบการณ์แต่ละตัวบรรจุโครงสร้าง ซึ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์อื่นๆ ที่แม้จะยังไม่เกิดขึ้นกับตัวเองก็ตาม ทฤษฎีนี้คล้ายๆ ทฤษฎีทางภาษาของชอมสกี้
พอดีกว่า โดยรวมถือว่านี่เป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจง่ายเลยล่ะ สำหรับปรัชญาชวนงุนงงตัวนี้ ไม่ค่อยอยากมานั่งอธิบายมาก เพราะยอมรับว่าตัวเองก็เพิ่งศึกษา อธิบายผิดๆ ถูกๆ แล้วจะหน้าแตกเปล่าๆ
ปล. จริงๆ แล้วที่ต้องมาอ่าน Structuralism เพราะอยากเข้าใจ Structural-Marxism ของ Althusser ซึ่งจะพูดถึงในโอกาสต่อไป รวมไปถึง Structural-psychoanalysis ของ Lacan ด้วย
J. Bowles's "Two Serious Ladies"
มีไม่กี่คนกระมังรู้จักชื่อเจน โบลเลส ที่แน่ๆ ในโลกนี้มีสามที่ยกย่องเธอว่าเป็นนักเขียนภาษาอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เทนเนสซี วิลเลียมส์ จอห์น วอลเตอร์ และก็ ทรูแมน คาโปต
สาเหตุที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อเธอ เพราะโบลเลสเขียนนิยายออกมาแค่เล่มเดียวคือ Two Serious Ladies นอกนั้นมีบทละครอีกหนึ่ง แล้วก็เรื่องสั้นกระจัดกระจาย พอเอามารวมได้เล่มกว่าๆ อีกสาเหตุความไม่ดังเพราะเธอมีสามีที่เป็นนักเขียนเช่นกัน นั่นคือพอล โบลเลส เจ้าของผลงาน The Sheltering Sky
ไม่ว่าอะไรก็ตามจะเป็นสาเหตุ ที่แน่ๆ ไม่ใช่เรื่องฝีมือ เพราะ Two Serious Ladies เป็นนิยายที่งดงามหาคำบรรยายเปรียบยาก ตามชื่อนั่นแหละ นี่เป็นเรื่องของสุภาพสตรีสองคน โดยทั้งสองเรื่องนี้แทบไม่มีความคาบเกี่ยวซึ่งกัน และสุภาพสตรีที่ "เอาจริงเอาจัง" ทั้งคู่นั้นก็แทบไม่ได้สนทนา หรือปรากฏตัวในฉากเดียวกันด้วยซ้ำ
สุภาพสตรีคนแรกคือนางคอปเปอฟิลว์ ตามสามีไปเที่ยวอเมริกากลาง ช่วงนี้คล้ายๆ กับ The Sheltering Sky ของพอล โบลเลส คือพูดถึงความขัดแย้งระหว่างคู่แต่งงาน สภาพต่างถิ่น ต่างภาษา (ถ้าไม่เคยอ่าน The Sheltering Sky นึกถึง Lost in Translation ก็พอกล้อมแกล้มได้) นางคอปเปอร์ฟิลว์ผูกมิตรกับหญิงชาวปานามาสองคน คนแรงคือนางควิล และแปซิฟิก้า นางคอปเปอร์ฟิลว์นำตัวแปซิฟิก้ากลับมายังประเทศอเมริกาด้วย ซึ่งทั้งคู่จะมีบทบาทเล็กๆ ในตอนท้ายเรื่องสุภาพสตรีคนที่สอง
ยอมรับว่าช่วงแรกนี่ยังเฉยๆ ภาษาน่าสนใจดี โบลเลสแทบไม่บรรยายฉาก ขนาดว่าตัวละครไปเที่ยวต่างทวีป ต่างเมืองแท้ๆ เรื่องราวถูกเล่าผ่านบทสนทนาล้วนๆ ซึ่งแม้คนอ่านจะไม่เห็นภาพ แต่ก็ช่วยให้อ่านง่าย และอ่านเพลิน คาโปตพูดถึงบทสนทนาของโบลเลสว่า ประหนึ่งแปลมาจากภาษาต่างประเทศสักภาษาที่ไม่มีใครรู้จัก (เจน โบลเลสพูดได้สี่ภาษา โดยเธอครูพักลักจำระหว่างการเดินทางกับสามี)
ครึ่งหลังเล่าเรื่องสุภาพสตรีคนที่สอง นางสาวกอริ่ง จุดนี้เองที่เป็นความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าอะไรคือเคล็ดลับความมหัศจรรย์ที่ว่า ในแง่หนึ่งสไตล์ของโบลเลสชวนให้นึกถึงเวอจิเนียร์ วูลฟ์ตรงที่เหตุการณ์ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องชัดเจน แต่ถ้าถามว่าประสบการณ์การอ่านนิยายเล่มนี้ใกล้เคียงกับอะไรที่สุด ขอตอบว่าเหมือนดูการ์ตูนในฝันของมิยาซากิ เป็นความรู้สึกที่ประหลาด เพราะนางสาวกอริ่งไม่มีอะไรเหมือนนางเอกมิยาซากิแม้แต่น้อย
ครึ่งหลังของ Two Serious Ladies ว่าด้วยเรื่องของนางสาวกอริ่ง และคนรอบข้าง ซึ่งประกอบด้วยแขกรับ และไม่ได้รับเชิญในบ้านสามคน นางกาเมลอน จอมขี้บ่น อาร์โนล ผู้ชายที่มาสารภาพรักกับนางสาวกอริ่ง แต่จนแล้วจนรอด ก็เอาแต่นอนขี้เกียจ และพ่อของอาร์โนล ชายแก่ที่ตอนแรกเหมือนจะเป็นนักธุรกิจเลือดเย็น แต่พอมาพบรักนางสาวกอริ่ง ก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นกวี
นิยายที่เต็มไปด้วยตัวละครประหลาดๆ จริงๆ แล้วมีให้เห็นดาษดื่น แต่ความพิเศษอยู่ตรงโบลเลสไม่ได้พยายามขับเน้นความแปลกประหลาดเหล่านี้ คนอ่านไม่ได้รู้สึกว่าตัวละครเป็นนักแสดงตลก หรือปาหี่ ตรงกันข้ามพวกเขาเสมือนเมฆรูปร่างผิดธรรมดาสักก้อนซึ่งล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า ความล่องลอยตรงนี้กระมังคือคุณสมบัติอันโดดเด่นของ Two Serious Ladies ทั้งในบทของนางคอปเปอร์ฟิลว์ และนางสาวกอริ่ง ประเด็นเรื่องบ้าน ที่อยู่อาศัย และความไร้บ้านถูกนำมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเงียบๆ
จากตัวละครทั้งหมด ที่น่าจดจำสุดคงหนีไม่พ้นแอนดี้ คนจรจัดที่พยายามปรับปรุงตัวเอง เพื่อพิชิตหัวใจของนางสาวกอริ่ง พูดแบบนี้แล้วเหมือนนิยายน้ำเน่า แต่ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก็เบาหวิวๆ เฉกเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของหนังสือ
อ่าน Two Serious Ladies จบ แล้วรู้สึกเศร้าๆ ยังไงชอบกล เหมือนเวลาตื่นขึ้นมา ขอบตารื้นๆ แต่จำไม่ได้แล้วว่าฝันถึงอะไร
G. Lukacs's "The Historical Novel"
มีปรัชญาวรรณคดีแขนงหนึ่งเรียกว่า Marxism ซึ่งก็ตามชื่อนั่นแหละ หมายถึงอันเนื่องมาจากแนวคิดของคาร์ล มาร์ก ที่แปลกคือจริงๆ อีตามาร์กไม่เคยพูดอะไรโต้งเกี่ยวกับวรรณกรรมมากพอจะเอามาตั้งเป็นทฤษฎีได้หรอก เพียงแต่นักคิด นักเขียนในยุคหลังๆ ต่างหากที่ประยุกต์แนวคิดของแกมาใช้ในการวิจารณ์วรรณคดี
กล่าวกันว่า The Historical Novel ของ Georg Lukacs นั้นเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มแรกๆ ที่เป็นต้นกำเนิด Marxism ในปรัชญาวรรณคดี
หัวข้อที่ Lukacs พูดถึงคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ Lukacs นิยามนิยายอิงประวัติศาสตร์ว่าเพิ่งเกิดขึ้นช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ยุคแห่งเหตุและผล เมื่อประชาชน "ตื่น" จากประวัติศาสตร์ หมายถึงผู้คนเริ่มตระหนักว่าเหตุการณ์ในอดีตมาจากน้ำพักน้ำแรงมือของบรรพบุรุษ ไม่ใช่ของที่ควรปล่อยให้ไหลลอยไปกับสายน้ำ นิยายอิงประวัติศาสตร์ก็มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นความจริงตรงนี้
นักเขียนซึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนสุดของ Lukacs คือ Sir Walter Scott Lukacs วิเคราะห์นิยายอิงประวัติศาสตร์โดยตั้งเป็นกฎง่ายๆ สองสามข้อเช่น 1) เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพื่อตอบปัญหาในปัจจุบัน ในกรณีนี้หมายถึงความขัดแย้งระหว่างทุนนิยม และอำนาจเก่า นิยาย Scott เกิดในช่วงที่ประเทศอังกฤษประสบปัญหาความขัดแย้งคล้ายคลึงกัน เป้าหมายของผู้เขียนคือแสดงให้เห็นว่าถ้าในอดีตคนเราสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์นั้นได้ ก็เป็นไปได้ที่เราจะผ่านพ้นมันอีกในปัจจุบัน 2) ให้ความสนใจรายละเอียด ความสัมพันธ์ของชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในอดีต ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อสร้างภาพอดีตให้ชัดเจน เพื่อคนอ่านจะได้เข้าใจสภาพการเมือง และสังคม 3) ขณะที่ตัวประกอบคือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ตัวเอกกลับเป็นพวกกึ่งๆ กลางๆ Lukacs วิเคราะห์จุดนี้มายาวเหยียด แต่อธิบายสั้นๆ คือเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเข้าใจที่มาที่ไปของทั้งสองฝ่ายได้อย่างทัดเทียม
ยุคต่อมาคือครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 นับจากปฏิวัติปี 1848 เป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเหลวไหลของการเมือง ไม่ว่าจะล้มล้างระบบการปกครองกี่ครั้งกี่คราว ดูเหมือนอำนาจตกอยู่แต่เฉพาะในเงื้อมมือคนกลุ่มเล็กๆ ของสังคม นักปรัชญาอย่างนิทเช่เริ่มออกมาโจมตีประวัติศาสตร์ นิทเช่ปฏิเสธความจริงทางประวัติศาสตร์ มองว่าอดีตคือความโกลาหล ที่ไม่ว่าใครต่อใครก็สามารถหยิบยกเรื่องราวมาใช้สนับสนุนความคิด ความเชื่อของตัวเอง นิยายอิงประวัติศาสตร์ในยุคนี้แบ่งเป็นสองชนิด ชนิดแรกคือนิยายพาฝันย้อนอดีต มีเป้าหมายคือนำผู้อ่านกลับไปสัมผัสโลกยุคกลาง ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขี ชนิดที่สองคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ตัวละคร ข้อขัดแย้ง และความคิดเป็นของปัจจุบัน แต่ฉากเกิดขึ้นในอดีต พูดอีกอย่างคือใช้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเสื้อผ้าสวมใส่ตกแต่งตัวละคร
จุดนี้เองนำไปสู่ประเด็นน่าถกเถียงสองข้อ ข้อแรกคือจำเป็นไหมว่าตัวละครในประวัติศาสตร์ต้องพูดจาด้วยภาษาในยุคนั้น Lukacs ย้ำว่าไม่จำเป็น เฉกเช่นเดียวกับนิยายแนวอัตชีวประวัติ ไม่จำเป็นที่เด็กเพิ่งเกิดจะต้องใช้ภาษาแบเบาะ ตรงนี้ไม่รู้ยังไง เรานึกถึงภาพยนต์เรื่องนางนากขึ้นมาเลย ฉากที่ฮาแตก และเฮงซวยสุดในความคิดเราคือตอนสุดท้ายที่วินัย ไกรบุตร และทราย เจริญปุระมานั่งกูๆ มึงๆ ซึ้งใส่กัน ต่อให้คุณนนทรีย์มาแก้ตัวว่าคนสมัยก่อนพูดแบบนี้จริงๆ ก็ฟังไม่ขึ้น
อีกจุดที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของความรุนแรง Lukacs บอกว่านักเขียนในยุคนี้เช่น Flaubert ใส่ความรุนแรง และโจ๋งครึ่มเข้าไปยังนิยายอิงประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพื่อหลีกหนีสภาพจำเจในสังคม ประเด็นนี้เราสนใจเพราะมันโยงไปหาข้อถกเถียงว่า ปัจจุบันคนทำหนัง หรือนักเขียนที่วนเวียนแต่เรื่องเพศ เรื่องความรุนแรง เพราะคนพวกนี้เชื่อจริงๆ ว่านี่คือสภาพความจริงในสังคมซึ่งถูกมองข้าม (อย่างที่เวลาเขาให้สัมภาษณ์) หรือเป็นเพียงการหลีกลี้ความจำเจ และกฎระเบียบของสังคมมากกว่า เมื่อฉันไม่อาจไปข่มขืนใครได้ในชีวิตจริง ก็เลยเขียนฉากข่มขืนขึ้นมาในนิยาย (หรือเรื่องสั้น)
นิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคสุดท้ายซึ่งถูกพูดถึงใน The Historical Novel คือช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสอง เป็นนิยายที่ตอบสนองการเฟื่องฟูของลัทธิ Fascism Lukacs บอกว่าแนวคิดเดียวเดียวที่ใช้ต่อต้าน Fascism ได้คือ Revolutionary Democracy ซึ่งอุตส่าห์ไปเปิด Wikipedia ดูแล้วก็ไม่เห็นจะมีคำอธิบายตรงไหน เข้าใจคร่าวๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีอรรถสาระอิงอยู่บนหลักสังคมนิยม นิยายประวัติศาสตร์ยุคนี้เริ่มกลับไปเป็นแบบเดียวกับยุคแรก คือใช้ประวัติศาสตร์อธิบาย เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน
แต่ปัญหาของนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบ Revolutionary Democracy คือการที่ผู้เขียนจับจดตัวละครเดี่ยวๆ ตัวเดียว เอาความเชื่อ แนวคิดตัวเองยัดใส่ปากตัวละคร โดยทำเสมือนว่าคนในยุคนั้นใครๆ ต่างก็คิดแบบนี้กันทันนั้นแหละ เป็นที่มาของลัทธิสรุปกว้างๆ โมเม (over-generalization) อ่านคำอธิบายตรงนี้แล้วนึกถึงนิยายแนว socialist realism (ซึ่งถูกอธิบายไปแล้วตอนที่พูดถึง The Captive Mind ของมิลอส) และนิยายเพื่อชีวิตเมืองไทย อดคิดติดหมัดไม่ได้ว่า "จริง จริงโคตรๆ "
ประเด็นหนึ่งที่ Lukacs ไม่ได้เอ่ยถึงแต่เราอยากพูดคือการที่นิยายอิงประวัติศาสตร์ มีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์จริงๆ ขึ้นมา ไม่รู้เหมือนกันว่าในโลกตะวันตก ประเด็นนี้จริงแค่ไหน แต่อย่างน้อยในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นมาให้เป็นแบบนิยาย ดังนั้นเราก็เลยได้ประวัติศาสตร์แกนๆ ประเภทมีพระเอก (นักศึกษา, ต้นตระกูลไทย) มีผู้ร้าย (รัฐบาลทหาร, พม่า) มีประเด็นชัดเจน (สู้เพื่อประชาธิปไตย, กู้เอกราช)
ช่างเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสมเพชเสียนี่กระไร
ตะกวด กับคบผุ (นิคม รายยวา)
ตะกวด กับคบผุของคุณนิคม เปิดฉากมาด้วยศพลึกลับ ตอนแรกก็สงสัยว่านิยายเล่มนี้จะเข้าทำนองโรแมนซ์ชนบท คือชาวบ้านดีแสนดี ส่วนคนร้ายก็เป็นผู้มีอิทธิพลจากกรุงเทพ ที่เลี้ยงเจ้าหน้าที่ไว้ในฝ่ามือ อ่านจบบทที่สอง ที่สาม ถึงเพิ่งตระหนักว่านิยายเล่มนี้ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดายังไง ผ่านไปร้อยยี่สิบหน้าแรก นักแสดงนำสองคนในเรื่องยังแทบไม่ได้เปิดตัวต่อหน้าคนอ่านเป็นจริงเป็นจังเลย ช่วงแรกของตะกวด กับคบผุคือตัวละครร้อยแปดนามผ่านเข้าออกหน้าหนังสือ มีแต่บทสนทนาฉุบฉับ พอจับเรื่องคร่าวๆ ได้ว่าหมอนี่โกรธกับคนนี้ ยายนี่มีลูกเป็นโจรอยู่ในคุก ไอ้นี้กำลังหนีตำรวจ ส่วนตานี่ไม่มีข้าวกิน ลักษณะเรื่องที่เต็มไปด้วยบทพูดจ่ายกันไปจ่ายกันมา แต่ปราศจากตัวละครแบบนี้เหมือนงานภาพยนต์ของโรเบิร์ต อัลแมนผู้กำกับชั้นครู
ลักษณะการเล่าเรื่องเช่นนี้แทบไม่เคยพบเห็นในงานเขียนมาก่อน ทั้งในนิยายไทย และฝรั่ง แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่าตะกวด กับคบผุไม่ใช่หนังสือธรรมดา
ผ่านไปสักร้อยกว่าๆ เกือบสองร้อยหน้า เราถึงได้รู้จักสมคิด และประวิง นักแสดงนำสองคนในเรื่อง ประวิงเป็นลูกมหาเศรษฐีทำสวนปาล์มหลายร้อยไร่ เผชิญปัญหาร้อยแปดประการทั้งเรื่องการปกครองลูกน้อง และพวกโจร อิทธิพลข่มขู่ สมคิดเป็นชาวนาสวนยางเล็กๆ ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกินเหล้า ถกปัญหาความโสมมในโลก สมคิดมีทฤษฎีหัวชนฝาว่าความเลวร้านนั้นมาจากตะกวด (หรือ "เหี้ย" นั่นเอง) เมื่อคนกินตะกวดลงไป ก็เลยรับเอาความเลวร้ายนั้นเข้ามา สมคิดเป็นชาวบ้านคนเดียวที่ไม่ยอมกินเนื้อตะกวด กระนั้นตั้งแต่ต้นเรื่อง เขาออกตามล่าตะกวดมาตลอด คงเพราะรังเกียจ ต้องการกำจัดความเลวร้าย แต่ไม่อยากรับเอาสิ่งนั้นเข้ามาอยู่ในตัว (ความคิดชายหนุ่มถูกสื่อผ่านผลงานจิตรกรชาวกรุง ผู้ชอบวาดรูปคนตัวใสๆ ข้างในท้องมีตะกวด)
กระนั้นตะกวด กับคบผุก็ไม่ใช่นิยายชีวิตบัดซบ ประเภทตัวละครต้องมานั่งรับผลกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อตั้งแต่ต้นยันท้ายเรื่อง แล้วสุดท้ายก็ปล่อยให้ผู้ร้ายสุขเกษมมีชัยไป ในทางตรงกันข้าม จะพูดว่านี่คือนิยายแห่งความดีงามก็คงไม่ผิดนัก เป็นความดีงามที่แฝง และปะปนอยู่กับความชั่วช้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกไม่ออก ดังสรุปได้ในฉากซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง เป็นฉากอะไร เก็บไว้อ่านกันเอาเองดีกว่า
อีกฉากที่ชวนให้พูดถึงเป็นพิเศษคือตอนที่มีคนเข้าไปทำลายสวนปาล์มของประวิง และชายหนุ่มต้องการพิสูจน์ความจริงกับสนอง ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงาน และผู้ต้องสงสัย (หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น) ไม่อยากเล่าเต็มๆ แต่ใบ้ให้แล้วกันว่าเป็นฉากเลียนแบบไคลแมกนิทานเรื่องวิลเลียม เทลส์ เป็นฉากผู้ช๊าย ผู้ชายที่ถ้าเขียนออกมาไม่ดี จะน่าหมั่นไส้ และดูไร้สาระมากๆ แต่คุณนิคมก็สามารถเขียนฉากลูกผู้ชายแบบนี้ออกมาได้อย่างงดงาม เคล็ดลับประการหนึ่งคงอยู่ที่ความแห้งของเนื้องาน ตั้งแต่ต้นเรื่องประวิงก็ไม่ใช่ตัวเอกประเภทพูดพล่าม ศีลธรรมจัด หรือออกตัวว่าเป็นคนดีหนักหนา บางครั้งก็ทำอะไรไร้สติ และเผลอรับเอา "ความเหี้ย" เข้ามาอยู่ในตัวได้ คนเราจะดี จะเลว บางครั้งอยู่ที่โอกาส สถานการณ์ และโชคช่วย
หมายเหตุ 1: เสียเวลาแทบแย่กว่าจะหารูปน้องตะกวดน่ารักๆ มาประดับบลอคเราได้
หมายเหตุ 2: ในหนังสือเล่มนี้มีฉากที่ "คนในป่า" บุกเข้ามายิงถล่มสถานีตำรวจ จนแม่ชราซึ่งมาเฝ้าลูกชายในคุก ถูกคานไม้ทับขาหักด้วย
I. Murdoch's "The Sacred and Profane Love Machine"
ฝรั่งมีสำนวนตัวหนึ่งคือ House of Card หรือบ้านไพ่ หมายถึงการเอาไพ่มาต่อสูงๆ เป็นปิระมิดหลายชั้น แค่หายใจแรงๆ หรือพลั้งมือไปนิดเดียว บ้านไพ่ที่อุตส่าห์ต่อมาเสียนาน สามารถพังทลายลงในพริบตา
สำนวนบ้านไพ่นี่เอามาใช้กับนิยาย หรือบทละครก็ได้ ในแง่หนึ่งหมายถึงหนังสือที่ซับซ้อนมากๆ ชนิดที่ตัวละครทุกตัวมีความต้องการแอบแฝง โกหกกันไปโกหกกันมาเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการ หนังสือประเภทนี้ได้แก่หนังสือนักสืบ ซึ่งในท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างเฉลย ก็เหมือนไพ่ที่พังเรียบลงในพริบตาอย่างสวยงาม ปัญหาการเขียนนิยายแบบบ้านไพ่ คือต้องซ้อนแต่ละองค์ประกอบดีๆ ไม่ให้บ้านทั้งหลังพังลงมาก่อนจะถึงจุดจบ
พูดมายาวเหยียดไม่ใช่ว่า "The Sacred and Profane Love Machine" จะเป็นนิยายนักส่งนักสืบหรอกนะ เพราะสำนวนบ้านไพ่เอามาใช้กับนิยายชนิดอื่นก็ได้ เช่นนิยายที่ตัวละครเยอะๆ ความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกันไปมา จริงๆ นิยายของไอริช เมอดอกส่วนใหญ่ก็มีความเป็นบ้านไพ่อยู่เหมือนกัน TSaPLM คือตัวอย่างที่คนเขียนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรักษาสมดุลตัวละครไว้จนท้ายเรื่อง
ซึ่งน่าเสียดาย เพราะ TSaPLM คือนิยายที่เปลี่ยนจากโคตรดี ไปเป็นเฮงซวยในเวลาเพียงไม่กี่หน้า
TSaPLM เล่าเรื่องของเบลน ผู้ต้องเลือกทางเดินระหว่างแฮเรียด ภรรยา และเอมิลี เมียน้อย แน่นอนว่านี่คือนิยายเมอดอก นอกจากสามตัวละครที่กล่าวมาแล้วยังมี เดวิด ลูกชายของเบลน มอนตี้ เพื่อนบ้านที่เป็นนักเขียน เอดการ์ เพื่อนของมอนตี้ ปิน เพื่อนสนิทของเอมิลี ลูคัส ลูกชายของเอมิลี และคิคิ สาวใจแตกที่ไม่รู้จะโผล่เข้ามาในหนังสือทำไม
จริงๆ ก็อยากชมอยู่หรอกนะ เพราะ 300 หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ดีมาก ถือเป็นงานคลาสสิกสไตล์เมอดอกเลย แต่พอถึง 60 หน้าสุดท้าย เริ่มรู้สึกแล้วว่าเมอดอกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวเอกของเรื่อง คือเลือกไม่ถูกว่าจะให้เบลนไปอยู่กับใครดี ความสับสนของผู้เขียนสื่อในเหตุการณ์พิลึกพิสดารประเภท เบลนถูกสุนัขในบ้านขย้ำคอจนเกือบเสียชีวิต อยู่ดีๆ ตัวละครที่ไม่เคยพบหน้ากันมาขึ้นเตียงด้วยกันอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
จบดื้อๆ แบบนี้แล้วกัน คนเขียนบลอคเองก็หงุดหงิดจนไม่รู้จะเขียนอะไรต่อแล้ว
M. Atwood's "Surfacing"
ปกหลังบอกว่า Surfacing เป็นนิยายกึ่งนักสืบ กึ่ง psychological thriller ซึ่งขอแปลไทยแบบตีหัวแล้วกันว่า "ตื่นเต้นจิตวิทยา" (โป้ก!) ที่บอกว่าเป็นนิยายนักสืบก็ไม่ผิดความจริงนักหรอก เพราะปูเรื่องมาได้คินดะอิจิเราดีๆ นี่เอง วัยรุ่นสี่คนไปพักผ่อนเกาะกลางทะเลสาบ ในกระท่อมซึ่งไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า วิทยุ หรือ โทรศัพท์ พวกเขาต้องจับปลา เก็บพืชผักมากินเอง กระท่อมนี้จริงๆ แล้วเป็นบ้านพักวัยเด็กของ "ฉัน" ซึ่งสาเหตุที่เธอพาเพื่อนมาที่นี่ เพราะได้ข่าวว่าพ่อหายสาบสูญ คนในหมู่บ้านเชื่อว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว
สถานการณ์เริ่มมาซับซ้อนเมื่อ "ฉัน" พบว่าพ่อของเธออาจยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ เพียงแต่เสียสติ และซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งบนเกาะ จ้องมองพวกเธอสี่คน!
ระหว่างที่อ่านก็อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าถ้าเอา Surfacing มาทำเป็นภาพยนต์จะออกมายังไง ตอนแรกก็รู้สึกว่าคงตื่นเต้นดีพิลึก (แม้พลอตทำนองนี้จะไม่แปลกใหม่นักก็ตาม) แต่พออ่านจนจบ ถึงรู้ว่าถ้าทำเป็นหนังไม่เวิร์คแน่ๆ สาเหตุเพราะความเจ๋งของหนังสืออยู่ที่ภาษา แอดวู้ดน่าจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่แห่งพรรณนาความ อย่างตอนหนึ่ง "ฉัน" เล่าเรื่องแม่ให้ฟัง แม่ "ฉัน" ร่างกายอ่อนแอ หลายครั้งก็ป่วยออดแอดเหมือนจะไปไม่รอด แต่ก็หายดีทุกครั้ง จน "ฉัน" อดคิดไม่ได้ว่าแม่จะไม่มีทางเป็นอะไร ตอนที่แม่ตายความรู้สึกแรกของ "ฉัน" คือผิดหวัง
เพราะหนังสือเจ๋งที่ภาษา หากถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ จะแทบไม่เหลืออะไรเลย และเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมากมายใน Surfacing ถ้าทำเป็นหนังจริงๆ ก็คงเป็นหนังตื่นเต้นประเภทที่มีแมวกระโดดตุบตับๆ ให้คนดูตกใจเล่นอยู่ร่ำไป (ถึงยังไกขอตบมือให้คนเขียนที่ไม่ยอมใส่ฉากความฝันลงไปในหนังสือ)
เช่นเดียวกับ Handmaid's Tale หลายเหตุการณ์ใน Surfacing เกิดขึ้นในความทรงจำ นอกจากเรื่องราวบนเกาะในปัจจุบัน คนอ่านได้รับรู้เบื้องหลังตัวละคร "ฉัน" ได้รู้จักพี่ชาย สามีคนแรกของเธอ และเหตุใดหญิงสาวถึงหนีออกจากบ้าน โดยไม่ยอมให้เหตุผลกับครอบครัว
จริงๆ แล้ว Surfacing ก็ไม่ต่างจากหนังสือ Stephen King หลายเล่ม โดยเฉพาะในแง่ความเป็นนิยายตื่นเต้นจิตวิทยา อย่าง The Shining ของคิงก์ก็เล่นกับ Cabin Fever คืออาการป่วยทางจิตอันเกิดจากคนธรรมดาถูกกักขังอยู่ในสถานที่แคบๆ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน จะต่างกันก็ตรงในหนังสือคิงก์มีการฆ่า การตายเกิดขึ้นจริงๆ ส่วนแอดวู้ดต้องการเล่นกับความขัดแย้งระหว่างคู่รัก ความเปราะบางของสถาบันครอบครัว และการแต่งงาน แอดวู้ดแสดงให้เห็นว่าบางครั้งความเกลียดก็เป็นโซ่คล้องใจ ที่หนักแน่น ทนทานไม่แพ้ความรัก ประเด็นสงครามเพศ บทบาทผู้หญิง ผู้ชายถูกจับมาใช้ได้อย่างหลักแหลม สมกับเป็นผู้เขียน Handmaid's Tale
Surfacing เป็นงานเขียนที่อิงอยู่บนสัญลักษณ์ ตั้งแต่ภาพวาดครึ่งคนครึ่งกิ้งก่าที่พ่อเธอทิ้งไว้ ข้างในกระเพาะปลามีทากที่ถูกย่อยสลายครึ่งตัว กบถูกเสียบตะขอเพื่อใช้เป็นเหยื่อตกปลา หัวนกเน่า และผู้หญิงเปลือย คนเขียนแสดงความสามารถในการถักร้อยภาพ และสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสื่ออารมณ์ของงานได้เป็นอย่างดี
ยอมรับว่าไม่ค่อยชอบสามสิบหน้าสุดท้ายเท่าไหร่ แอดวู้ดคงตั้งใจสื่อพัฒนาการความสติแตกของตัวละคร ซึ่งปัญหาก็คือทันทีที่ตัวละครไปถึงจุดนั้น เรื่องก็ชักเริ่มไม่ค่อยน่าสุดใจแล้ว ประกอบกับเราจับทางเธอออกว่ายังไง เธอก็คงไม่ปล่อยให้มีความรุนแรงจริงๆ จังๆ เกิดขึ้นในหนังสือเธอแน่ๆ ถ้าสามารถเอาคิงก์มาเขียนสามสิบหน้าสุดท้ายได้ Surfacing จะกลายเป็นนิยายชั้นเลิศขึ้นมาทันที
J. Baldwin's "Going to Meet the Man"
นิยายเล่มแรกของนักเขียนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานชิ้นแรกเสมอไป ประเด็นนี้ชัดมากในกรณีเจมส์ บาลวิน นิยายเล่มแรกของบาลวินคือ Go Tell It to the Mountain (1953) ส่วนรวมเรื่องสั้นของบาลวิน Going to Meet the Man ตีพิมพ์ปี 1965 หนึ่งรอบนักษัตรถัดจาก Go Tell It to the Mountain พอดี แต่ถ้าอ่านหลายเรื่องใน Going to Meet the Man จะเห็นว่านี่คือดราฟแรกของ Go Tell It to the Mountain ชัดๆ โดยเฉพาะสองเรื่องแรกคือ The Rockpile และ The Outing คือชิ้นส่วนนิยายเล่มแรกดีๆ นี่เอง
ความน่าสนใจของ Going to Meet the Man ก็อยู่ตรงนี้แหละ นี่คือรวมเรื่องสั้นซึ่งใช้เวลาเขียนทั้งหมดสิบสองปี เราได้เห็นวิวัฒนาการของนักเขียน แม้นิยายเล่มแรกของบาลวินจะมีชื่อเสียงสุด เรากลับรู้สึกว่า Go Tell It to the Mountain คืองานที่ค่อนข้างไร้ชั้นเชิง แม้จะมีตอนจบที่น่าใคร่ครวญ แต่เป็นความน่าใคร่ครวญประเภทคนเขียนมันคิดอะไรของมันมากกว่า
ผลงานช่วงแรกของบาลวินวนเวียนอยู่กับเรื่องศาสนา เห็นได้ชัดจาก The Rockpile และ The Outing คำถามน่าขบคิดคือบาลวินศรัทธาในพระเยซู และศาสนาคริสต์แค่ไหน ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ให้ชัดเจนขึ้น คงต้องถามว่าสำหรับคนดำที่เกิดในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีทางเลือกอื่นไหม นอกจากการเชื่อถือในพระเจ้า จากทั้งสองเรื่องสั้นซึ่งยกมา และนิยายเล่มแรกคนอ่านสัมผัสข้อขัดแย้งในตัวผู้เขียน บางทีก็อยากเชื่อในไบเบิ้ลใจจะขาด แต่ก็อดห้ามใจไม่ได้ว่ามีบางสิ่งไม่ถูกต้อง
ผลงานยุคกลางๆ ของบาลวินเริ่มแยกจากศาสนา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรื่องสั้นใน Going to Meet the Man เรียงลำดับยังไง แต่เข้าใจว่าน่าจะตามปฏิทิน The Man Child, Previous Condition และ Sonny's Blue มีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน พูดถึงความเจ็บปวด การเหยียดผิว ความเจ็บช้ำและทุกข์ทนของการเกิดเป็นคนดำ (จะว่าไป The Man Child ไม่เกี่ยวกับเรื่องสีผิวเสียทีเดียวนัก) โดยเฉพาะ Sonny's Blue ถือเป็นเรื่องสั้นที่ดังที่สุดของบาลวิน และเป็นตัวอย่างวิธีนำเสนอดนตรีในงานเขียนได้อย่างมีสีสัน อีกเรื่องซึ่งเข้าทำนองดังกล่าวคือ Going to Meet the Man เรื่องสุดท้ายและเป็นชื่อหนังสือ แต่โดยส่วนตัว ไม่ถึงกับชอบเรื่องนี้มาก
สองเรื่องที่ชอบสุด คืองานยุคหลังๆ ได้แก่ The Morning, This Evening, So Soon และ Come out the Wilderness ประเด็นตอนนี้ไม่ใช่แค่คนดำประท้วงคนขาว แต่เป็นมุมมองของคนดำที่หลุดพ้นจากการเหยียดผิวออกมาแล้ว หมายถึงประสบความสำเร็จ มีเงินทอง ผ่านการยอมรับในสังคมระดับหนึ่ง พวกนี้เขามองข้อขัดแย้งทางสีผิวยังไง พูดง่ายๆ คือเป็นปัญหาจิตใต้สำนึก มากกว่าการเหยียดผิวแบบโต้งๆ เป้าจู่โจมของบาลวิน ไม่ใช่แค่โลกภายนอก คนขาว หรือคนดำที่บ้าศาสนา แต่รวมไปถึงความขัดแย้งในใจตัวละครหลัก น่าคิดว่าเนื่องจากนี่เป็นงานยุคหลังๆ ของผู้เขียน เป็นไปได้ไหมว่าความสำเร็จในหน้าที่การงานช่วยให้บาลวินมองปัญหาสีผิวด้วยมิติที่แตกต่างจากตอนแรก
สไตล์การเขียนในยุคนี้ก็น่าจับตามองสุด เป็นส่วนผสมระหว่างบาลวินยุคแรกๆ (ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่าคล้ายๆ แนวทางของเอลิสัน) บวกกับวูลฟ์ และตบท้ายด้วยเฮมมิงเวย์/คาร์เวอร์ นอกจากจะพูดถึงความเจ็บปวดแล้ว ยังมีวิธีเล่าเรื่องแบบไหลไปเรื่อยๆ จับกลไกลำบากเช่นเดียวกับวูลฟ์ และตบจบด้วยบทสนทนาแห้งๆ มุมกล้องบุคคลที่สามแบบเฮมมิงเวย์/คาร์เวอร์ ประโยคหนึ่งที่ชอบมากจากเรื่องสั้น Come out the Wilderness คือ "วิธีโกหกที่ดีที่สุดคือการเปิดเผย เพราะความลับคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความมืด พร้อมจะถูกลากออกมาที่สว่างเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งใดก็ตามที่ว่างไว้ในที่โล่งแจ้ง สามารถหลอกลวงสายตาได้ดียิ่งกว่า เพราะแสงช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพความจริงไปได้เรื่อยๆ "
ตอนที่อ่าน Go Tell It to the Mountain จบ ตั้งใจว่าจะไม่อ่านหนังสือบาลวินอีกแล้ว บังเอิญมี Going to Meet the Man ติดบ้านพอดี พออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ก็สนใจจะติดตามผลงานเล่มอื่นๆ (ยุคหลังๆ ) ของนักเขียนผู้นี้ต่อไป
U. Eco's "Six Walks in the Fictional Woods"
สงสัยหงุ่ยๆ ว่าตัวเองควรจะเขียนเกี่ยวกับ "Six Walks in the Fictional Woods" ดีหรือเปล่า นี่คือหนังสือรวม Norton Lecture ของอัมเบอโต อีโค เบื้องหลังนิดหนึ่งคือ Norton Lecture จัดขึ้นทุกปีที่ฮาวาร์ด เป็นการเชิญนักเขียน นักกวี หรือนักวิจารณ์ดังๆ มาพูดให้นักเรียนวรรณคดีฟัง คนที่เคยไปปรากฏตัวใน Norton Lecture ได้แก่คาลวิโน อีโค ฆอเฆส มิลอส กอไดเมอ แล้วก็ฮาโรล บลูม บางที (หรือว่าส่วนใหญ่?) พอผู้พูดพูดจบ ก็มักมีคนอัดเทป แล้วเอามาถ่ายเทปพิมพ์ขายเป็นหนังสืออีกต่อ
ที่บอกว่าสงสัยหงุ่ยๆ ไม่ควรเขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เพราะถึงยังไงซะพวกนี้ก็เป็น "trick of trade" คือความลับวิชาชีพเรา แหม! คนเขาอุตส่าห์นั่งอ่านมา จะบอกให้คนอื่นฟังง่ายๆ ได้อย่างไรเล่า แต่ก็เอาเถอะ ตั้งใจให้บลอคนี้รวบรวมรายชื่อหนังสือ(แทบ)ทุกเล่มที่เราอ่านในแต่ละปีอยู่แล้ว เอาเป็นว่าเขียนเล่าให้ฟังสั้นๆ แล้วกัน
SWitFW แบ่งเป็นหกบท โดยสามบทแรกค่อนข้างแยกออกจากสามบทหลัง สามบทแรกอีโคพูดถึงเทคนิคการเขียนหนังสือ ที่น่าสนใจก็ได้แก่การให้ความสัมคัญกับมุมมอง ก็ที่นักเรียนไทยได้ยินบ่อยๆ นั่นแหละ มุมมองในนิยาย (หรือเรื่องสั้น) มีสามประเภทคือบุรุษที่หนึ่ง บุรุษที่สอง แล้วก็มุมมองพระเจ้า ถ้าให้ละเอียดหยิบย่อยไปกว่านั้นก็จะมีมุมมองแบบตั้งกล้อง หรือแบบเข้าไปอยู่ในหัวตัวละคร แต่มุมมองในความหมายอีโคไม่ใช่แค่เรื่องเบๆ แบบนี้ แกพูดถึงความแตกต่างระหว่าง empirical reader และ ideal reader (มาจากคำพูดของจอยซ์ที่ว่า "ฟินิแกนเวคเป็นหนังสือสำหรับ ideal reader ที่มี ideal insomia") empirical reader ก็คือผู้อ่านจริงๆ คือเรานั่นแหละ ส่วน ideal reader คือผู้อ่านที่คนเขียนกำลังคุยด้วยอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะอย่างไม่รู้ตัว ระหว่างที่เราอ่านหนังสือ ผู้อ่านก็จะสวมบทบาทที่แตกต่างกันออกไป ถ้าคนเขียน (ซึ่งอีโคก็แบ่งอีกเป็น empirical และ ideal auther) ตระหนักตรงจุดนี้ก็สามารถเล่นกับมุมมองได้อย่างหลักแหลมขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจมากๆ คือเรื่องเวลา อีโคบอกว่าหนังสือคือศิลป์หนึ่งในไม่กี่ประเภทที่เวลาในการอ่าน และเวลาของสารไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งตรงข้ามกับภาพยนต์ และดนตรี สารใช้เวลาในการสื่อเท่าไหร่ คนฟัง และผู้ชมก็ใช้เวลาในการรับรู้เท่านั้น (รู้สึกยังไงไม่รู้ว่านักทำหนังบางคนแถวนี้จะไม่เห็นด้วย) อีโคให้ความสำคัญของการ "เดินทอดน่อง" ในป่านิยาย ยกตัวอย่างว่าสถาปัตยกรรมเจ๋งๆ บางชิ้น ผู้สร้างออกแบบให้เป็นเขาวงกต เพื่อว่าผู้ชมจะได้ใช้เวลาในการเสพนานๆ ไม่ใช่ว่าเห็นปั๊บ รับรู้ทุกอย่างเข้าไปปุ๊บ ในแง่การเขียน อีโคถึงพูดว่าบางทีคนเขียนจงใจใส่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน "เดินทอดน่อง" ถึงกับยืนยันด้วยซ้ำว่าอันที่จริง ต่อให้ไม่อ่าน แล้วเปิดข้ามไป ก็ยังถือว่าช่วยรักษาโมเมนตัมการอ่านให้เป็นไปดังที่คนเขียนต้องการ
สามบทสุดท้ายของหนังสือ พูดถึงเส้นแบ่งระหว่างนิยาย และโลกแห่งความจริง ซึ่งเป็นหัวข้อสุดโปรดของแก แต่บอกตรงๆ เราไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่ะ ไม่ได้มีความลับวิชาชีพอะไร มาให้เราเปิดเผยแล้ว
M. Foucault's "Discipline & Punish"
ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ รู้สึกว่าการมองวิชาใดวิชาหนึ่งโดยจับไปอ้างอิงกับประวัติศาสตร์นั้น เป็นวิธีมองที่ง่ายดายที่สุด ด้วยเหตุนี้ มิเชล ฟูคัลท์ถึงได้เป็นนักปรัชญาในดวงใจเรา แตกต่างจากเล่มอื่นๆ หนังสือของเขาอธิบายหัวเรื่องเรื่องหนึ่งตามลำดับเวลา ไล่ตั้งแต่เก่าแก่ จนถึงช่วงที่ใกล้เคียงปัจจุบันสุด จนหลายครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคนเรียกฟูคัลท์ว่านักปรัชญา แทนที่จะเป็นนักประวัติศาสตร์
"ฝึกฝน และลงโทษ" หรือชือเต็มๆ คือ "Discipline & Punish: The Birth of the Prison" คือหนังสือว่าด้วยประวัติและปรัชญาของการลงทัณฑ์ โดยมีจุดมุ่งหมายคืออธิบายกำเนิดคุก ซึ่งปัจจุบันถือเป็นวิธีการลงโทษที่เป็นมาตรฐานสุด
ในอดีต ฟูคัลท์บอกว่าประเพณีการทรมาน และลงทัณฑ์ที่อาศัยความรุนแรง และกระทำต่อหน้าสาธารณชนมีเป้าหมายคือตอกย้ำอำนาจของกษัตริย์ และความอสมมาตรของ "พลัง" ไม่ว่าอาชญากรจะกระทำผิดร้ายแรงแค่ไหน แต่ "พลัง" ของเขาย่อมไม่อาจเทียบเท่ากษัตริย์ ซึ่งประหนึ่งเป็นพระเจ้า เมื่อพระเจ้าคิดกำราบมนุษย์ ย่อมกำราบกันอย่างเอิกเกริก ชนิดที่ว่าฆ่าทิ้งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องควักตับไตไส้พุงมาเสียบประจานด้วย
ปลายศตวรรษที่ 17 เมื่อกษัตริย์ถูกลดความศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับอำนาจรวมศูนย์ไม่อาจนำมาซึ่งความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง เริ่มมีนักกฎหมาย นักปรัชญามองหาวิธีลงโทษรูปแบบใหม่ๆ เช่น "สวนแห่งกฎหมาย" พิพิธภัณฑ์ที่ปล่อยให้ประชาชนเข้าไปชมนักโทษรับการทรมาน เป้าหมายของมันคือเชื่อมต่อทัณฑ์ และอาญชาในกระแสสำนึกสังคม คนที่ขโมยของถูกลงโทษด้วยการตัดมือ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีคนคิดกระทำผิดโดยการใช้มือขโมยของ ภาพนักโทษถูกตัดมือจะผุดขึ้นมาในหัวเขาทันที เป็นกลไกลดการกระทำผิดรูปแบบหนึ่ง
สวนแห่งกฎหมายไม่ได้แพร่นัก เพราะมันถูกแทนที่ด้วยปรัชญาการลงโทษรูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือ "การฝึกฝน" สำหรับคนปัจจุบัน สิ่งนี้อาจฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่แนวคิดเรื่องการฝึกฝน และเรียนรู้เพิ่งมีมาในโลกไม่กี่ร้อยปีที่แล้วเอง ก่อนศตวรรษที่ 18 ร่างกายมนุษย์ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสร้างความเจ็บปวดให้กับเจ้าของ ตัวกลางถูกนำไปใช้ในการลงทัณฑ์ แต่เมื่อคนเปิดรับ "การฝึกฝน" มากขึ้น ร่ายกายถูกมองใหม่ว่าเป็นทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ คนเลว คนขี้เกียจ คนคดโกงสามารถจับมา "ฝึกฝน" ดัดสันดานให้กลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมืออันมีประโยชน์ของสังคมได้
ระบบการลงโทษรูปแบบใหม่จึงถูกคิดค้นขึ้นมาโดยมีเป้าหมายคือสร้างแรงงานในสังคม "ถ้าการรวมศูนย์ทุนคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ การรวมศูนย์แรงงานก็คือแนวคิดการเมืองยุคใหม่เช่นกัน"
การเมืองในความหมายของฟูคัลท์คือศาสตร์แห่งอำนาจ ฟูคัลท์ยังบอกอีกด้วยว่าอำนาจมาจากการ "เฝ้าสังเกต" ผู้อยู่ใต้อำนาจ เขายกตัวอย่าง Panopticon สิ่งก่อสร้างในจินตนาการที่ "ผู้อยู่ใต้อำนาจ" ถูกจับขังในห้องสี่เหลี่ยม แต่ละห้องไม่เปิดถึงกัน แต่เปิดไปหอกลาง อันเป็นที่อยู่ของ "ผู้เฝ้าสังเกต" หรือ "ผู้มีอำนาจ" (Panopticon ปรากฎในนิยายเรื่อง "ค่ำคืนละครสัตว์" ของแองเจลิน่า คาร์เตอด้วย) (พยายามอ่านอยู่เหมือนกันว่าทำไมฟูคัลท์ถึงคิดว่า "การสังเกต" คือกลไกแห่งอำนาจ เพราะเราไม่เห็นมันจะเกี่ยวข้องกันตรงไหน)
แน่นอนว่าจนบัดนี้ Panopticon ก็ไม่มีให้เห็นจริงๆ แต่สังคมยุคใหม่ถูกออกแบบมาให้เป็น Panopticon ในเชิงโครงสร้าง เช่นเราถูกแบ่งวรรณะตามหน้าที่ อาชีพ และรายได้ เช่นเดียวกับ "ผู้อยู่ใต้อำนาจ" ใน Panopticon รัฐบาลมองเห็นและควบคุมการกระทำทุกอย่างของประชาชน การที่ไม่มีประตู หน้าต่างเชื่อมระหว่างห้องก็เหมือนที่คนเรานับว่าจะยิ่งอยู่กับโลกแคบๆ ส่วนตัว เราสนใจข่าวดาราดัง หรือผู้คนสาธารณะมากเสียยิ่งกว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันอีก เช่นเดียวกับ "ผู้อยู่ใต้อำนาจ" ที่วันๆ ได้แต่นั่งมองหอกลาง
บทสุดท้ายฟูคัลท์พูดถึงกำเนิดคุก ซึ่งเป็นระบบการลงโทษที่ได้รับการยอมรับสุด ประการแรก การจำกัดอิสรภาพคือการลงโทษอันเท่าเทียมสำหรับคนทุกระดับชั้น (ไม่เหมือนกับการจ่ายค่าปรับ) ประการที่สอง วิธีนี้มีมนุษยธรรมยิ่งกว่าการทรมาน และการประหารอย่างรุนแรง ที่สำคัญ การขังคุกไม่ทำให้ผู้ร้ายกลายเป็นวีรบุรุษ ผู้กระทำผิดไม่อาจเรียกร้องความเห็นใจได้มากเท่ากับการลงโทษต่อหน้าสาธารณชน (ซึ่งในอดีตถือเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจกษัตริย์อย่างรุนแรง)
กระนั้นถ้าเอาสถิติมาวัดจะพบว่าคุกเป็นระบบการลงโทษที่ไร้ประสิทธิภาพสิ้นดี อย่างแรกมันไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรม คนที่เข้าคุกไปแล้วหนหนึ่ง มีโอกาสกระทำผิด และกลับเข้าไปใหม่มากกว่าคนธรรมดา มิหนำซ้ำการเอาผู้กระทำผิดมาอยู่ร่วมกันมากๆ ไม่มีใครรู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางคนมองด้วยซ้ำว่าคุกคือโรงเรียนสำหรับอาชญากร ให้หน้าใหม่ได้พบ และศึกษาจากรุ่นพี่ในวงการ
คำถามต่อไปก็คือถ้าคุกไม่ช่วยป้องกันอาชญากรรม เหตุใดมันถึงเป็นระบบการลงโทษที่อยู่ยืนยงมาจนทุกวันนี้ ฟูคัลท์ให้เหตุผลว่าคุกช่วยแบ่งประเภทความผิดระหว่าง illigality และ delinquency โดยประการหลังคือการกระทำผิดอันเกิดจากความยากจน ไร้การศึกษา หรือไม่มีโอกาส เป็นความผิดที่ไม่ต้องรับการลงโทษ ช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 ประชาชนเริ่มถามไถ่กันมากขึ้นว่ากฎหมายถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใคร เพื่อชนชั้นปกครอง หรือเพื่อทุกคนในสังคมกันแน่ ถ้าประการหลังจริง ทำไมถึงมีแต่คนจนที่กระทำผิดกฎหมาย ในแง่นี้ คุกนิยาม delinquency ขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกความผิดทั้งสองประเภท คนยากคนจนสามารถกระทำ delinquency ต่อไปได้ ตราบใดที่เขายังไม่กระทำ illigality ก็ไม่ถือเป็นหน่วยที่ต้องถูกจับไปดัดสันดานในคุก
พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง
ไหนๆ ขอทำตัวตามกระแสพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงกับเขาหน่อยเถอะ ระยะนี้เปิดเวปบลอค เวปบอร์ดที่ไหนก็มีแต่คนพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในแง่หนึ่งก็น่ายินดี เพราะช่วยกระตุ้นเตือนกระแสสำนึกในสังคม
แต่อีกแง่หนึ่งก็น่ายินร้ายอยู่เหมือนกันเพราะข่าวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง มักออกมาในทำนองน่าสงสัย ยกตัวเองเช่นเจ้าสัวออกมาให้สัมภาษณ์ว่าที่ตัวเขาร่ำรวยมาถึงทุกวันนี้เพราะหลักเศรษฐกิจพอเพียง หรือนักการเมืองอำนาจเก่ากลายเป็นตัวแทนประเทศอธิบายให้ชาวต่างชาติฟังว่าอะไรใช่ ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็ชวนให้ประชาชนสงสัยว่าถ้าท่านรู้จริง ทำไมไม่ปรับมาใช้ตั้งแต่สมัยอำนาจเก่า ยังไม่กลายเป็นอำนาจเก่าเล่า
ข่าวเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงละครช่องสามเมื่อปีมะโว้ จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าคุณพีท ทองเจือเล่นเป็นพระเอก มีเจ้าหงิญเป็นนางเอก ผู้ร้ายละครเรื่องนี้คือนักค้ายาเสพติด ซึ่งชอบยกพุทธสุภาษิตมาอ้างปาวๆ เจตนาของคนทำละครคงไม่ใช่ต้องการสื่อหรอกว่าพุทธสุภาษิตนั้นเป็นของเปล่าประโยชน์ แต่น่าจะเพื่อแสดงให้ความมือถือสากปากถือศีลของผู้ร้ายมากกว่า เพราะพุทธสุภาษิตเป็นของดี ของแท้ที่มีมาคู่สังคมไทย ถ้าหยิบจับมาใช้ คนดูก็จะเข้าใจได้ง่ายว่าเออ! ขณะนี้คนทำละครต้องการยั่วล้อพฤติกรรมนกแก้ว นกขุนทอง ท่องได้แต่ไม่รู้จักนำมาใช้
ที่น่าเป็นห่วงคือตอนนี้เศรษฐกิจพอเพียงกำลังตกอยู่ในวิกฤติเดียวกัน! คือไม่ว่าใครก็อยากโอ้อวดว่าฉันเข้าใจมัน เพื่อการโฆษณา สร้างความนิยมให้กับตัวเอง ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ เศรษฐกิจพอเพียงจะยิ่งกลายเป็นทฤษฎีว่างเปล่าขึ้นทุกวัน
ซึ่งจะโทษสังคมฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะก็ต้องยอมรับนั่นแหละว่า ปัจจุบันหลายแง่มุมของเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นนามธรรมสูง หมายถึงยังขาดหลักการจับต้องได้ มีสักกี่คนที่อ้างว่าเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงสามารถตอบคำถามเหล่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงสนับสนุนให้คนกู้ยืมเงินหรือไม่? ถ้าฉันมีอันจะกิน อยากไปเที่ยวเมืองนอก ใช้ของแพงนี่ถือว่าขัดหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า? จำเป็นไหมว่าในเศรษฐกิจพอเพียงทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ห้ามมีใครรวยกว่า จนกว่า? หรือฉันเป็นศิลปิน ยังไงงานศิลป์มันก็ถือเป็นของฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ถ้าประเทศไทยหันมาใช้เศรษฐกิจพอเพียงเต็มตัวจริง ฉันควรเปลี่ยนงานหรือไม่?
ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้นะครับ เชื่อว่ามี และเป็นคำตอบที่น่าพอใจเสียด้วย แต่คนไทยพร้อมหรือยังที่จะให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบซึ่งนำมาปรับใช้ได้จริง เราพร้อมไหมที่จะให้นักวิชาการทั้งใน และต่างชาติมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตีแผ่ ประเมิน สร้างโมเดลเศรษฐกิจพอเพียง ต้องยอมรับแหละว่าปรัชญาทุกข้อที่ตั้งมาใหม่ๆ ก็เหมือนเด็กทารกที่ต้องอาศัยการฟูมฟักเลี้ยงดู เราพร้อมไหมที่จะให้เศรษฐกิจพอเพียงเจริญเติบโตไปกว่านี้ ทุกทฤษฎีย่อมมีกาลเทศะ ความเหมาะสม จุดด้อยจุดอ่อน เรายอมรับได้หรือเปล่า ถ้านักวิชาการจะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงอาจไม่เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ มีบางจุดของมันที่อ่อนประสิทธิภาพกว่าทุนนิยม หรือตั้งคำถามว่าอะไรคือวิธีนำมันมาใช้ให้ได้ผลดีสุด (เพราะโดยหลักการ ทุกทฤษฎีเวลาอยู่บนกระดาษก็โคตรหรูเลย แต่พอเอามาใช้จริง ก็ต้องหารสอง เผื่อความโลภ ความเลวของคนด้วย)
ถ้าพร้อมก็ดีไปครับ แต่นั่นหมายถึง ถ้าวันข้างหน้าฝรั่งมาชี้ ติติงจุดนั้นจุดนี้ของเศรษฐกิจพอเพียง ก็หวังว่าเราจะรับฟังเขาบ้าง ไม่ใช่เอะอะโวยวายไปก่อน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องหวังหรอกครับว่าหลักอันงดงาม และมีประโยชน์เช่นเศรษฐกิจพอเพียงจะมีวันไต่ลงมาจากหิ้ง เพื่อรับใช้ประชาชน
Subscribe to:
Posts (Atom)