บ้านของคนรัก (นอม วิเศษสิงห์)
พูดตรงๆ เราเห็นความเลือดใหม่อันน่าชื่นชมจากรวมเรื่องสั้น บ้านของคนรัก แต่โดยรวมนี่คือผลงานที่ยัง “เร็วเกินไป” สำหรับนอม วิเศษสิงห์ (แต่จะเร็วเกินไปสำหรับอภิชาติ เพชรลีลาหรือเปล่า ไม่ขอแสดงความเห็นแล้วกัน) ถ้าเราเป็นบรรณาธิการแล้วมีต้นฉบับอยู่ในมือ เราจะขอให้นอมรออีกสักครึ่งปี และให้มีเรื่องสั้นมากกว่านี้สักสองเรื่อง
คำนำเรื่องสั้นถ่ายโดยคริสโตเฟอร์ ดอยล์ แสดงให้เห็นฝีมือผู้เขียน และชัดเจนว่าผู้เขียนเป็นนักดูภาพยนตร์ ตอนแรกนึกว่านอมจะเขียนสไตล์นี้ เอาเข้าจริงๆ มีแค่ You have unread messages. เท่านั้นที่เป็นเรื่องแบบเดียวกัน ส่วนเรื่องที่ชอบที่สุดในเล่ม เดอะการ์เด้นออฟอีเดน แม้จะออกแนวสมจริง แต่ก็มีกลิ่นอายหวังเจียเว่ย ตินิดคือตอนจบถ้าตัวละครหญิงจะไม่พูด “กูมึง” น่าจะเป็นการจบที่หลอน และแรงกว่านี้
ใจจริงคิดว่านอมน่าจะเล่นกับสไตล์ฝันๆ เหงาๆ มากกว่าแนวสัจนิยมอย่าง บ้านของคนรัก ปัญหาคือแนวคิดเชิงการเมืองของผู้เขียนค่อนข้างตื้น นี่คือเรื่องที่แกว่งไปมาระหว่างสุดโต่งสองด้าน ผู้ก่อการร้ายเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ พระเอกของเรื่องทำตัวเหมือนจะน่าเห็นใจ แต่เอาเข้าจริงๆ ลองมีความคิดแบบเขา ก็สมควรอยู่หรอกที่ผู้หญิงจะทิ้ง
นักข่าวสาว (สวย) ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เราชอบ 26 ผู้เล่นในทีมชาติชุดใหญ่ของริธ เธอร์ราลี เรายอมรับว่าเป็นเรื่องที่อ่านสนุก แต่เหมือนจะมีคุณค่าเชิงบทความฮาๆ จิกกัดแวดวงวรรณกรรม มากกว่าจะเรียกว่าเรื่องสั้นได้อย่างเต็มปาก ชอบอยู่อย่างคือยังไม่ค่อยมีนักเขียนไทยจับประเด็นฟุตบอล ทั้งที่จริงๆ นี่ก็เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ นอมน่าจะเล่นกับจุดนี้ได้อีกมาก ส่วนสองเรื่องสุดท้ายคือ สมิหลา และ ข้าพเจ้าไปงานศพ เบาไป โดยเฉพาะเรื่องหลังขาดจุดเด่น จนใครๆ ก็เขียนเรื่องนี้ออกมาได้ทั้งนั้น
มีที่น่าชื่นชมอยู่เยอะ แต่ก็อย่างที่บอกคือ ถ้านอม วิเศษสิงห์เป็นต้มยำ รู้สึกว่าพ่อครัวปิดไฟเร็วไปนิด
เรื่องสั้นศตวรรษ (มนัส จรรยงค์)
วันก่อนเพิ่งได้คุยกับอาจารย์ที่เคารพถึงอิทธิพลเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อันมีต่อวัฒนธรรมวรรณกรรมบ้านเรา หรือท้ายที่สุดแล้วมันกลายเป็นจุกอุดตัน เป็นเหตุและผลที่ทำไมศตวรรษหนึ่งผ่านไป นักเขียน (ผู้มีรสนิยม) ได้แต่อ่านเรื่องสั้นอาจรรย์มนัส แล้วกระพริบตาปริบๆ ถามตัวเอง “ทำไมกูเขียนไม่ได้แบบนี้วะ!”
หรือจะตอบกันง่ายๆ ก็ได้ว่าอาจารย์เป็นอัจฉริยะที่ฟ้าส่งมาเกิดเมืองไทย
ไม่รู้จะวิจารณ์อย่างไรกับ เรื่องสั้นศตวรรษ ปกสวย รูปเล่มกระชับมือ กระดาษอ่านง่าย เรียงพิมพ์สะอาด แต่เวลาอ่านเรื่องสั้นไทยเก่าๆ แล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ามีรูปประกอบเท่ๆ คงได้อรรถรสกว่านี้ (ท่าจะเป็นนิสัยเสียที่ติดมาจากหนังสือครูเหม)
ส่วนเนื้อในนะรึ สำหรับอาจารย์มนัส และนักอ่านคนนี้ บอกได้คำเดียวว่ามันอยู่เหนือบทวิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรต้องติ ถ้าจะชมก็เป็นเรื่องเดิมๆ เช่น อาจารย์เขียนเรื่องมนุษย์ เรื่องของคนจริงๆ ไม่ได้อิงกรอบศีลธรรมโจ่งแจ้งแบบนักเขียนรุ่นหลัง 14 ตุลาฯ (ใครที่เคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น ของคุณลาว คำหอม ลองหา พลายทอง ของอาจารย์มนัสมาอ่านเปรียบเทียบดู)
พูดถึงการคัดเลือกดีกว่า ภายใต้กรอบลิขสิทธิ์ และวันเวลาซึ่งดูดกลืนหลายเรื่องสั้นให้สาบสูญ (ว่ากันว่าอาจารย์เขียนมาพันกว่าเรื่อง ที่เราเคยอ่านยังไม่ถึงร้อยเลยกระมัง) สำนักพิมพ์มติชนทำได้น่าปรบมือ เรื่องหลักๆ อย่าง ซาเก๊าะ จับตาย ติดขวาก ท่อนแขนนางรำ แม่ยังไม่กลับมา มีหมด จริงๆ พวกนี้ก็อ่านมาเกือบหมดแล้ว แต่พออ่านอีกรอบ รู้สึกเหมือนกับวัวชนใน ซาเก๊าะ คือประหนึ่งว่ามีใครเอาลูกตาลมาฉาบไว้บนใบหน้า ยิ่งอ่านเท่าไหร่ ความหวานก็ยิ่งซาบซึมเข้าปาก ยิ่งได้อรรถรสเท่านั้น ส่วนเรื่องรองๆ แม้ไม่ถึงกับชอบเท่า แต่ด้วยความเป็นอาจารย์มนัส ให้หอก หักยังไงก็น่าอ่าน ในแง่หนึ่ง รู้สึกว่ามติชนไม่ได้เลือกเรื่องที่ดีที่สุดมาจริงๆ (เพราะเคยอ่านที่ดีกว่านี้มาแล้ว) แต่ก็อย่างที่บอก คงเป็นปัญหารายละเอียดยิบย่อยมากกว่า
สำหรับเรื่องที่ยังไม่เคยอ่าน ที่น่าพูดถึงคือ คู่ทุกข์-คู่ยาก เรื่องสั้นตีพิมพ์เรื่องแรก ซึ่งไม่ดี (แฮะๆ ) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสั้นที่ไม่ดีที่สุด ได้อารมณ์ผลงานอาจารย์ยาขอบมากกว่า ล่องนา เป็นเรื่องสั้นคอมมิดี้พลิกแพลง และหลุดโลก ชนิดคาดไม่ถึงสมัยนั้นเขียนอะไรแบบนี้ก็ได้ ค่อนข้างหลุดสไตล์อาจารย์มนัสที่เราคุ้นเคย ปู่ทะเล มีประเด็นน่าสนใจ เล่าเรื่องได้กระชับตอบโจทย์ดี
อ่านเรื่องสั้นอาจารย์ทีไร ได้กลิ่นลูกทุ่งแปลกๆ เหมือนไม่ใช่ประเทศไทยที่เราคุ้นเคยตามหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ เห็นการฉุดคร่าสาว (อย่างถูกธรรมเนียม) ดงเสือ สาบผีสาง ปืนลูกซอง เป็นกลิ่นอายชนบทขนานแท้ปราศจากอุดมการณ์ ศีลธรรมปรุงแต่ง แค่มนุษย์อุจจาระเหม็นรัก โลภ โกรธ หลง แค้น
คุณวานิชเคยบอกว่าเพลงลูกทุ่งตายไปพร้อมกับพุ่มพวง เป็นอีกหนึ่งประโยคของแกซึ่งถูกใครหลายคนด่า ซึ่งเราขอยอมรับคำด่าแต่โดยดี และประกาศให้โลกรู้เลยว่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ วรรณกรรมไทยได้ตาย (หรืออย่างน้อยก็ถดถอยลงอย่างช้าๆ ) ไปพร้อมกับอาจารย์มนัสแล้ว
ส่วนสาเหตุการตาย ไว้ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูดแล้วกัน
ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว
ไมเคิล คอลิโอเนประกาศกร้าวใน The Godfather ว่า “ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว” ขณะที่พวกมาเฟียอิตาลีจะมีคำพูดติดปากคือ “นี่คือธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” ดังนั้นถ้าจะรุนแรงไปบ้าง ก็อย่าถือโทษโกรธกัน ไมเคิล ซึ่งเป็นไก่อ่อนในวงการ หลังรับภารกิจล่าสังหารชิ้นแรก เพื่อแก้แค้นให้พ่อ และปกป้องวงศ์ตระกูล โต้พี่ชายว่า “ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว”
ใช่ครับ สุดท้ายมันก็เรื่องส่วนตัวจริงๆ นั่นแหละ
ในที่สุดเราก็รู้แล้วว่า ประสานงา คือใคร (หมายเหตุ: นี่คือนามแปลงของนามแฝงคอลัมนิสต์คนหนึ่ง) หลัง (แส่หาเรื่อง/จำใจ) ติดตามบทความของหมอมานาน ประสานงาสนับสนุนรัฐประหาร เสนอแนวคิดการเมืองประเภท ให้ผู้คนเลิกยึดติดระบบ แล้วหันมองตัวบุคคล กล่าวคือถ้าได้คนดีมาเสียอย่าง วิธีการจะเฮงซวยขนาดไหนก็มองๆ ข้ามมันไปเสีย
ขี้เกียจเถียงกับความคิดนี้ เอาเป็นว่าหลังจากสืบๆ ถามๆ คนในแวดวง เราก็รู้แล้วว่าประสานงาคือใคร แทบจะหัวเราะออกมาเลย สุดท้ายก็อีกหนึ่งโจทก์เก่าคุณทักษิณ โดยทางสถานภาพแทบไม่ต่างจาก “นักโฆษณาชวนเชื่อ” (แต่ไม่น่าเกลียดเท่า เพราะอย่างน้อยประสานงาก็ไม่เคยแสดงท่าทีกลับหลังหันร้อยแปดสิบองศา)
พอรู้แบบนี้ก็ “เห็นใจ” และ “เข้าใจ” ประสานงาขึ้น อยากที่ไมเคิลบอกนั่นแหละสุดท้าย “ทุกอย่างคือเรื่องส่วนตัว” จะโกรธจะเกลียดใคร ไม่ว่า จะเขียนบทความตีโต้อย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา แต่อย่างน้อยด้วยจรรยาบรรณสื่อ เพลาๆ มือบ้าง อย่าให้มันเลยเถิดจนกลายเป็นผลเสียต่อค่านิยม และจิตสำนึกคนในชาติก็แล้วกัน
พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)
วันนี้รู้สึกเหมือนมีเรื่องให้อัพเดทบลอคเยอะ ต้องขออภัยอาจารย์ปิยบุตรล่วงหน้าว่าคงได้แต่กล่าวถึง พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ แต่เพียงสั้นๆ ในทางกลับกัน สำหรับหนังสือเล่มนี้คงไม่มีประเด็นให้ต้องพูดเยิ่นเย้อ สำหรับผู้ที่ติดตามรักชวนหัวมาตลอดคงพอเดาองศาการทางเมืองของเราถูก และ พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ก็คือหนึ่งในบทวิเคราะห์การเมืองที่ถูกอกถูกใจเรายิ่งนัก
อาจารย์ปิยบุตรเป็นนักกฎหมาย ดังนั้นมุมต่อกรณีรัฐประหารโพสโมเดิร์นจึงยืนพื้นอยู่บนแง่มุมทางกฎหมาย ซึ่งสำหรับเราแล้วถือว่าน่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมานี่คือประเด็นที่เราเข้าใจน้อยสุด (ถ้าพูดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ยังพอเข้าถึงได้มากกว่านี้) หลักๆ ของเล่มนี้คือกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมายถึงอะไร มีมูลความจริงแค่ไหนในคำกล่าวหาที่แพร่สะพัดไปทั่วบ้านทั่วเมือง รวมไปถึงบทบาทอันชัดเจนของพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยแบบไทย
อีกครั้งหนึ่งที่อยากให้คนไทยทบทวนว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรลงไป สะใจมากกับประโยคหนึ่งของอาจารย์ปิยบุตรนับแต่นี้ชาวเมืองหลวงไม่มีสิทธิด่าว่าคนต่างจังหวัดข้อหาซื้อเสียงอีกแล้ว เพราะสิ่งที่พวกเราทำก็คือการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม ไม่ผิดเพี้ยน และรักชวนหัวขอเพิ่มเติมด้วยว่า อย่างน้อยๆ การซื้อเสียงก็ยังมีประโยชน์โภคผลในรูปเงินตราตอบแทน แต่การเห็นดีเห็นงามไปกับ “นักโฆษณาชวนเชื่อ” ลองถามตัวเองสิว่าเพื่อความมันส์ หรือตกเป็นเบี้ย หมากเกมการเมืองใคร
อาจารย์ปิยบุตรไม่ใช่พวกคลั่งทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถึงแกจะไม่เริ่มต้นประกาศตัวเองแบบนักต่อต้านรัฐประหารหลายคนว่า “ผมเองก็ไม่ชอบทักษิณแต่…” ใน พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ก็มีบทความจู่โจมทักษิณอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความเป็นกลาง และน่าเชื่อถือให้กับรวมบทความชิ้นนี้
มีไว้เพื่อซาบ (อุรุดา โควินท์)
สมัยเรียนมัธยมปลาย เคยอ่านเรื่องสั้น เราคือลูกพระแม่ธรณี ของคุณอิศรา ซึ่งแกคงเขียนหนังสือดีๆ ไว้เยอะ แต่กับเรื่องนี้เราเกลียดมันเข้ากระดูกเลย เป็นเรื่องสั้นตอแหลๆ จากผู้ชายที่ไม่ยอมเข้าใจอะไรทั้งนั้นนอกจากตัวเอง และอุดมคติ มีอย่างที่ไหนผู้หญิงซึ่งสูญเสียลูกไปทั้งคนจะยอมอภัยให้กับผืนแผ่นดินอันโหดร้าย เพียงเพราะต้นหญ้าสองสามต้น เราคือลูกพระแม่ธรณี ไม่ใช่เรื่องสั้นลักษณะนี้เรื่องเดียวในสังคมไทย ผลพวงจากพลังนักศึกษา และ 16 ตุลาฯ ทำให้แวดวงวรรณกรรมบ้านเราเต็มไปด้วยเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของผู้ชายวนขวา
ตรงนี้เองทำให้เราถูกอดถูกใจ มีไว้เพื่อซาบ แทบไม่เคยเลยจะได้อ่านวรรณกรรม ที่ไม่ใช่แนวโรมานซ์ ซึ่งเขียนได้ผู้หญิงวนซ้ายขนาดนี้ กระทั่งคุณเดือนวาด ซึ่งชอบเล่นประเด็นความแตกต่างทางเพศก็ยังถูกแวดวงหล่อหลอมจนเขียนหนังสือเหมือนผู้ชาย หรืออย่างเก่งก็ไร้เพศไปเลย สำหรับผลงานของพี่อุรุดา บอกตรงๆ ชีวิตนี้ไม่คาดคิดว่าจะได้อ่านเรื่องสั้นอย่าง ช่างทำผม ซึ่งพูดถึงการเสริมสวยล้วนๆ
มีไว้เพื่อซาบ คือเรื่องสั้นเพื่อชีวิตจากมุมมองผู้หญิง เกิดอะไรขึ้น เมื่อชายหนุ่มลูกทุ่งพรากสาวเมืองกรุงไปตกระกำลำบากในบ้านนา ถ้าเป็นงานเขียนทั่วไป ผู้หญิงคงเอะอะรักความสบายในช่วงแรกๆ ก่อนจะหลงใหลเสน่ห์บ้านนอก แต่ มีไว้เพื่อซาบ บอกเล่าการต่อสู้ และปรับตัวของหญิงสาวในบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมซึ่งเธอเป็นคนนอก ตัวละครหญิงในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ถ้าไม่ฝันถึง ก็อย่างน้อยสักนิดหนึ่งโหยหาชีวิตสะดวกฉับไวในเมืองหลวง แต่เพราะความรักสามีเท่านั้น เธอถึงทนตกระกำลำบาก แต่บางครั้งยังอดไม่ได้จะรู้สึกเปราะบาง ไม่มั่นคง ไม่แน่ใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่
ชอบประเด็นคนนอก โดยเฉพาะจากเรื่องเอก มีไว้เพื่อซาบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนบท เมือง และหญิง ชาย ไม่อาจเวียนมาบรรจบกันอย่างแท้จริง จากทุกเรื่องในเล่ม เสียดายมือ น่าจะเป็นเรื่องสั้นซึ่งตรงขนบสุด แม้ตัวละครหญิงในเรื่องจะยอมรับบทบาทตัวเอง แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นหญิง รักสวยรักงาม และแอบเสียดายโอกาสบางอย่าง อีกเรื่องที่น่ารักน่าชังคือ เงาะเพื่อชีวิต ที่แม้จะได้อารมณ์เบาๆ สบายๆ แต่ก็พูดถึงการปรับตัวสาวเมืองหลวงในบ้านนอกแปลกถิ่น
ระยะหลังนี้ชอบพูดถึงเอกลักษณ์ และปัจเจก เลยอดไม่ได้จะบอกว่านี่คือหนังสือซึ่งแต่ละเรื่องสั้นค่อนข้างเหมือนกัน เราไม่รู้สึกว่านี่เป็นจุดด้อย แต่ก็มีหลายคนทนงานเขียนลักษณะนี้ไม่ได้ จุดด้อยจริงๆ คือสองเรื่องสุดท้ายที่เขียนล่าสุดค่อนข้างอ่อนอย่างเห็นได้ชัด หวังว่าคงเป็นแค่การค้นหาแนวทางชั่วคราวของพี่อุรุดานะครับ
หนี้เลือด (ปราชญา ปารมี)
ก็เป็นไปตามคาดสำหรับหนังสือรางวัลชมเชยการประกวดนิยายสืบสวนสอบสวนของนานมีบุ๊ค ชนิดว่าตั้งแต่เห็นประกาศรับสมัครผลงาน เราก็คาดเดาได้เลยว่านิยายที่ผ่านการประกวดจะต้องมีปัญหาตรงนี้แน่ๆ ปัญหาที่ว่าก็คือความยาว ไม่รู้เหมือนกันว่าผีสางตนใดดลบันดาลทีมงานจัดประกวดให้ตั้งกติกาสติเฟื่องว่า “ความยาวอย่างน้อย 300 หน้ากระดาษเอสี่”
นิยายนักสืบสำคัญสุดคือโมเมนตัมครับ สังเกตว่าไม่มีอกาธาคริสตี้เล่มไหนเลยที่หนาเกิน 400 หน้ากระดาษพิมพ์ (ซึ่งก็ประมาณ 200 หน้าเอสี่) หนังสือพวกนี้จะสนุกไม่สนุกอยู่ที่การตบเท้ากันเข้ามาของข้อมูล ถ้าอ่านแล้วเยิ่นเย้อก็จบกัน ช่วงแรกของ หนี้เลือด น้ำท่วมทุ่งมากๆ มิหนำซ้ำนางเอก ซึ่งเป็นนักสืบ ยังดูโง่ๆ อีกต่างหาก เพราะต้องปล่อยให้ฆาตกรสำแดงเดชไปสามรายแล้วถึงค่อยสรุปว่านี่คือฆาตกรรม ไม่ใช่อุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย พอเข้าใจคนเขียนอยู่เหมือนกันที่ต้องยืดเรื่องให้เป็นไปตามกติกา ดังนั้นความผิดตรงนี้แบ่งรับกันไปทั้งทางผู้จัดพิมพ์ และคนเขียนแล้วกัน
อันที่จริงข้างในหนังสือเล่มนี้ก็พอมีนิยายสืบสวนสอบสวนชั้นดีซ่อนอยู่ ตั้งแต่ภาษาของคุณปราชญาที่ลื่นไหล สมกับเคยมีผลงานเรื่องยาวตีพิมพ์ หรือพอถึงครึ่งหลัง นิยายเล่มนี้ก็พอจะกลายเป็น page turner หรือ “อ่านแล้ววางไม่ลง” ได้อยู่เหมือนกัน
ติหยิบติย่อยก็เช่นในแง่ genre ของมันแล้ว นิยายเรื่องนี้เดาฆาตกรได้ค่อนข้างง่ายครับ เพราะตัวละครน้อย ถ้าตัดตัวเลือก และตามอ่านดีๆ ยังไง๊ยังไงก็น่าจะเก็ตผู้ร้ายได้ก่อนคนเขียนจะเฉลย อีกปัญหาหนึ่งคือความซ้ำซาก ถ้าให้นับฉากที่นางเอกเรียกตัวละครพิริยะมาสอบปากคำ ก็น่าจะได้เป็นโหล หนี้เลือดจัดเป็นนิยายสืบสวนซึ่งดำเนินรอยตามนิยายนัวร์แบบอเมริกัน มากกว่า who dun ‘it หรือ “ใครฆ่า” ของอังกฤษ ซึ่งตามแบบนิยายนัวร์แล้วน่าจะเน้นปมมืด และความชั่วร้ายในใจมนุษย์มากกว่านี้ ทั้งที่จริงๆ แก่นของมันก็วนเวียนอยู่กับปัญหาครอบครัว ความแตกแยก สันดานเจ้าชู้ของผู้ชาย แต่คุณปราชญาดูจะเล่าเรื่องนี้แค่พอผ่านๆ
ถ้าพูดว่านี่คือก้าวแรกของนิยายสืบสวนสอบสวนไทย ก็ถือว่าน่าจับตามองครับ คิดว่าในปีหน้าทางนานมีเองก็คงจะรัดกุมกับกติกามากกว่านี้
เก๊าะซารี มิตรภาพ และความตาย (หลายคนเขียน)
ส่งคอมพิวเตอร์เข้าอู่มาอาทิตย์หนึ่งครับ ช่วงนี้เลยไม่ได้อัพเดทบลอค และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้อ่านหนังสือเพิ่มเติมนักหนา ติดอยู่กับนิยายสืบสวนสอบสวนคนไทยเขียนเล่มหนึ่ง ซึ่งคงไม่เวิร์คแล้วล่ะ เพราะอ่านมาจะครึ่งเล่มแล้วตึ๋งหนืดเหลือเกิน ไม่ชวนติดตาม เนื้อเรื่องไม่ดำเนินไปไหนเลย
มาพูดถึงหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลนายอินทร์ปี 2549 เล่มนี้ดีกว่า จริงๆ หนังสือรางวัลนายอินทร์นี่ถ้าใครอยู่ในวงการจริงๆ ควรซื้อหามาเก็บไว้ เพราะในอนาคตอาจกลายเป็นของมีค่าได้ เนื่องจากมันเป็นสนามเปิดตัวนักเขียนรุ่นใหม่ ถ้าใครอยากรู้ว่าไผเป็นไผในแวดวง young blood ก็ต้องเล่มนี้แหละ
ขี้เกียจพูดถึงรวมๆ เอาเป็นว่าหยิบยกมาแต่ละเรื่องที่น่าสนใจแล้วกัน
สายใยวันวานฯ ของน้องหมีฟู น่ารักโคตร น้องจ๋า พี่อยากเจอตัวจริงน้องมากเลย เขียนหนังสือต่อไปนะ มั่นใจว่าน้องเอาดีทางนี้ได้แน่ๆ อ่านหนังสือเพิ่มเติมเยอะๆ แล้วหมั่นฝึกฝนฝีมือ อนาคตน้องแซงหน้ารุ่นพี่ได้แน่ๆ
ความฝันที่มากับบุรุษไปรษณีย์ เรื่อง(ไม่)สั้นอารมณ์ชวนฝัน ซึ่งคงได้เค้าโครงมาจากชีวิตจริงของคุณสร้อยแก้วอยู่ไม่น้อย อ่านจบแล้วอยากแอบแซวผู้เขียนว่าส่งเรื่องสั้นไปสำนักพิมพ์ไหน ทำไมเขาใจดีตอบปฏิเสธกลับมาด้วย สมัยนี้ไม่ลง ก็คงดองเอาไว้แบบนั้นแหละ
Passion of Love จริงๆ ไม่ค่อยชอบงานเขียนชื่อปะกิตเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้เหงาได้ใจ เท่าที่อ่านประวัติ คนเขียนเป็นสถาปนิก แต่กลับมีฝีไม้ลายมือเชิงอักษรไม่เลวเลย
เกมของฉันกับเธอ เรื่องซื่อๆ หวานๆ คล้ายๆ เรื่องข้างบน คนเขียนหน้าใหม่เหมือนกัน แต่จับอารมณ์คนดูอยู่หมัดดี
ในอาณาแห่งอารม ไม่ถึงกับชอบๆ ๆ แต่เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของชิด ชยากรที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจ
เก๊าะซารีฯ ไม่ชอบเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ต้องเอ่ยถึงมันเพราะเป็นเรื่องสั้นรางวัลชนะเลิศ เฉยมากๆ สำหรับเรื่องสั้นปัญหาภาคใต้เรื่องนี้ ถูกใจอยู่อย่างเดียวคือเป็นไม่กี่เรื่องที่โทษ “ผู้ก่อปัญหา” อย่างแท้จริง แทนที่จะประนาม “ผู้มีอำนาจในสังคม” แบบที่ขนบมักทำกัน
พรายทะเล ดีที่สุดในเล่มแล้วล่ะ เห็นความเจ๋งจริง เหนือชั้นของผู้เขียน แต่พี่วรภครับ พี่ไม่หน้าใหม่แล้วเน๊อะ เปิดเวทีนี้ให้น้องๆ ดีกว่าไหม
สำหรับหนังสือ เก๊าะซารี มิตรภาพ และความตาย ตินิดก็คือมันเฮฮาปาร์ตี้รวมหลายเรื่องเกินไปหน่อย แต่โดยรวมถือว่าเลือกเรื่องได้ดีเลยล่ะครับ สำหรับหนังสือรวมเรื่องสั้นคลื่นลูกใหม่แบบนี้
ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร (ทินกร หุตางกูร)
ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่การเมืองเป็นเรื่องเหตุและผล ไม่ควรอย่างยิ่งจะจับสองสิ่งนี้มาปะปนกัน ไม่ว่าจะในชีวิตจริง หรือบนหน้ากระดาษ
ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร คือหนังสือที่ทำให้เราหลงใหล และฉุนเฉียวคุณทินกรไปพร้อมๆ กัน เราหลงใหลอารมณ์รักอันละมุนละไม แต่เมื่อใดที่คุณทินกรพยายามเอาอารมณ์ดังกล่าวไปใช้กับการเมือง อ่านแล้วแทบอาเจียน
ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ก็บอกอยู่แล้วเป็นการมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงด้านใด เพราะเหตุนี้มันถึงได้เหมาะกับความรัก ไม่มีรักใดงดงามอย่างแท้จริง หากเรามองมันอย่างลึกซึ้ง ละเอียดทุกแง่ทุกมุม ทัชมาฮาล ลมและทราย และ แมวกับหุ่นยนต์ เล่าเรื่องราวสัมพันธ์แสนอ่อนหวานระหว่างเด็กหนุ่ม และเด็กหญิง รักที่เป็นไปไม่ได้ รักที่ผ่านพ้น รักที่สมหวัง ไม่ต้องมาคิดเล็กคิดน้อย ตั้งคำถามเลยว่าเหมาะสมไหม แก่แดดเกินวัยไปหรือเปล่า (คู่พระคู่นางแทบทุกคู่ในหนังสือเล่มนี้อายุไม่เกินยี่สิบ) ไม่อย่างนั้นก็ “เสียมู้ด” กันพอดี
ขณะเดียวกัน จะเอาวิธีนี้มาใช้กับการเมืองไม่ได้ การเมืองคือเหตุและผล คือการมองสองด้าน หลักการประชาธิปไตยถึงบอกให้เรารับฟังเสียงข้างน้อยด้วย ขณะที่อ่าน ฟ้าไร้ดาว และ หิมะกลางแดด รู้สึกเหมือนถูกมัดมือชก ถ้าผู้เขียนตัดสินไปเรียบร้อยแล้วว่าไม่ชอบคุณทักษิณ อเมริกา ทุนนิยม แล้วก็เอาอารมณ์มาใส่ความไม่ชอบตรงนั้น สิ่งที่ได้ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นการปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ ไม่ต่างอะไรจากผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติกระทำไว้เมื่อปี สองปีที่แล้ว
ประธานาธิบดีอเมริกาคนหนึ่งเคยกล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่การค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วกระทำสิ่งนั้น ถ้าเทียบกับ คนไต่ลวดบนดาวสีฟ้า ส่วนหนึ่งของ ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร คือผลลัพธ์จากคำกล่าวที่ว่า คุณทินกรค้นพบความถนัดของตัวเองในการเล่าเรื่องรักระหว่างหนุ่มสาว อย่างน้อยองค์ประกอบนี้ผู้เขียนทำออกมาได้งดงามในแทบทุกเรื่อง ขณะเดียวกันมันก็มีความไม่ถนัดตามมาด้วย ในรูปแบบของการเมือง
เฝ้ารอวันที่คุณทินกรจะค้นพบตัวเอง (อีกครั้ง) ครับ
คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร (ประชาคม ลุนาชัย)
พี่ประชาคมครับ อ่าน คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร ของพี่จบ สิ่งแรกที่เราอยากทำคือจุดธูปขอขมา ขอโทษพี่ประชาคมจริงๆ ที่ตั้งแต่เห็นหนังสือเล่มนี้วางแผงก็นึกดูถูกมันในใจมาตลอด ตั้งแต่ชื่อเล่มที่ยังกะหนังโจวชิงซือ จนถึงว่านี่คือผลงานลำดับที่สิบสาม สิบสี่ของพี่ในรอบสิบปีเศษ พี่ “ขยัน” น้องๆ คุณปราบดา กับคุณวินทร์เลย แต่พออ่านจบ ก็ยอมรับเลยว่า พี่รู้แจ้งเห็นจริงแล้วซึ่งความเป็นนักเขียน มีมือทองคำที่หยิบจับอะไรก็เอามาเล่าได้อย่างน่าฟัง และมีชั้นเชิง
คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร คือผลงานเรือหาปลาลำดับที่เท่าไหร่แล้วไม่ทราบได้ แต่เป็นลำดับที่สามที่เราอ่าน ทึ่งแรกเลยคือทึ่งที่ป่านนี้แล้วคุณประชาคมยังหามุกใหม่ๆ มาเล่าให้เราตื่นตาตื่นใจ ไม่เหมือนกับผลงานชิ้นก่อนๆ ภยันตรายยิ่งยวดของเรือหาปลาไม่ใช่ท้องทะเล แต่เป็นเรือตรวจน่านน้ำยามฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าชาวประมงคนไหนถูกจับ ติดคุกที่เวียดนาม พม่า หรือเขมร อย่างแย่คือตายในนั้น อย่างดีก็กลับมาในสภาพไม่ครบสามสิบสอง ทึ่งสองเลยคือทั้งที่ทุกเรื่องใช้ฉาก และตัวละครคล้ายคลึงกัน แต่มันกลับมีความต่างพอให้อ่านไม่รู้เบื่อ เป็นหนังสือที่รักษาสมดุลระหว่างเอกภาพ และปัจเจกของแต่ละเรื่องได้อย่างงดงาม
เพิ่งบ่นไปหยกๆ ว่าเบื่อเรื่องสั้นวิถีชนบท คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร จึงเป็นผลงานน่าศึกษา ว่าทำไมคนอื่นเขียนแล้วเราเบื่อ แต่พอคุณประชาคมเขียน เรารู้สึกว่ามีเสน่ห์ หลังจากขบคิดโจทย์ตรงนี้ คำตอบประการแรกคือคุณประชาคมไม่ได้มองทะเลด้วยสายตาแจ๋วแหว๋วเปล่งประกาย ไม่ได้ยกยอปอปั้นวิถีชีวิตชนบทซ้ำซาก ตัวละครออกเรือด้วยจำเป็น ถ้าเลือกให้ขี่เบนซ์ได้ พวกนี้ก็คงไปนานแล้ว ท้องทะเลในเรื่องจึงมีทั้งความโหดร้าย ปลอบประโลม ดุดัน เป็นเบ้าหลอมที่เปลี่ยนเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ และเป็นที่ซึ่งมนุษย์ขับสันดานดี และเลวอย่างสุดขั้ว ไม่กล่าวโทษทุนนิยม บริโภคนิยมเลอะเทอะ แค่คนตัวเล็กพยายามยืนหยัด
ซึ่งก็นำไปสู่เหตุผลประการที่สอง ก็เพราะคนนั่นแหละ สังเกตว่าเรื่องสั้นชนบทชอบเน้นฉาก แต่ยิ่งพยายามวาดทิวทัศน์เท่าไหร่ ก็ยิ่งดูน่าเบื่อ เพราะคนคือปัจจัยสำคัญสุด พออ่านเรื่องสั้นคนอื่นแล้วมันดูลอยๆ สะเปะสะปะ อย่างเรื่องสั้นหนึ่งใน ราหูอมจันทร์ ก็ไม่รู้จะเสียเวลาไปทำไมตั้งเกือบสิบหน้ากับอาแป๊ะอาซิ้มขายของชำ ที่สุดท้ายไม่ได้มีบทบาทใดๆ แต่กับเรื่องสั้นคุณประชาคม แค่ย่อหน้าแรกก็แทบจะรู้ว่าผู้เขียนต้องการกล่าวถึงใคร
ถ้าถามว่าตัวละครลึกไหม หรือมีความเป็นคนไหม เราก็จะตอบว่าเปล่า เป็นตัวละครดำขาวง่ายๆ ซึ่งหลายเรื่องก็ดี เลวเสมอต้นเสมอปลาย กระนั้นพอจับหลายชีวิตมาอยู่ในเล่มเดียว แต่ละตัวช่วยเสริมช่วยสร้างจนเราได้เห็นความเป็นคนสามมิติขึ้นมาจากหลายตัวละครซึ่งซ้อนทับกัน ไม่แน่ใจว่าให้อ่านแยกเดี่ยวๆ จะชอบไหม แต่สำหรับรวมเรื่องสั้น คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร เอาไปเลยห้าปลาดาว
ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า...มีไหม? (หลายคนเขียน)
เพิ่งบ่นเรื่อง ราหูอมจันทร์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ มาหยกๆ พอได้อ่าน ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า…มีไหม? ถึงค่อยรู้สึกว่า “นี่ มันต้องอย่างนี้” ขนาดภาพประกอบ และปกในเล่มนี้ยังลงตัวกว่าเลย
ส่วนเนื้อใน ผลประโยชน์ยกให้คุณแดนอรัญ กับเรื่องสั้น แมวผี่ ที่ดึงคนอ่านได้อยู่หมัด แม้จะใช้ภาษาเหน่อสุ่พรรณ เล่าความทรงจำหนังกลางแปลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “แมวผี่” มาเกือบยี่สิบหน้า ตอนท้ายค่อยตัดมาเป็นเรื่องน่ากลัว ถือเป็นความสร้างสรรค์ใน genre ที่เฝือสุด (รองลงมาคือเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์) ส่วน ทำไมต้องมาลงที่หล่อน ก็เป็นเรื่องสั้นชีวิตคนเมืองน่าสนใจตามแบบคุณจำลอง
ผลงานหน้าใหม่ที่น่าจับตามองคือ เซ็กส์ในสวยเซ็น ของนก ปักษนาวิน เหนือชั้นตรงผู้เขียนจับอารมณ์หวิวๆ ลอยตัวแบบไฮคุแล้วนำมาใช้กับเรื่องสั้นได้ อีกเรื่องคือ เทพบุตรคืนลวง ของปั้นคำ ซึ่งเราสนใจนักเขียนคนนี้มาตั้งแต่อ่านรวมเรื่องสั้น บางหลืบสมรภูมิ ปั้นคำไม่ได้มีตัวหนังสือที่แข็งกร้าวแต่กลับสามารถบอกเล่าเรื่องราวอันเฉือดเชือน
มีเรื่องสั้นประเภท “ความล้มเหลวที่ยังน่าติดตาม” เช่น ลิงลพบุรี เหมือนคนเขียนแบ่งย่อหน้า ใช้ภาษาไทยแผลงๆ ยังไงไม่ทราบ ซึ่งกลายเป็นน่าสนใจเพราะอ่านจบแล้วอยากอ่านเรื่องสั้นอื่นๆ ของคุณปานศักดิ์ เพื่อจะได้รู้กันไปเลยว่านี่จงใจ หรือผิดพลาด พระพุทธเจ้า…มีไหม? อ่อนยอบแยบแป้งเปียก แต่ก็มีหลายอย่างคล้าย ขอบคุณแรมโบ้ ใน วันปลดปล่อยผีเสื้อ บางทีถ้าได้อ่านผลงานคุณชิด ชยากรเยอะๆ อาจจับสไตล์แกออก แล้วเริ่มชอบมันขึ้น ที่นี่มีบุหรี่จำหน่าย โดยนักเขียนหน้าใหม่เอี่ยมถอดด้าน ถือว่ายังต้องเดินเส้นทางนี้อีกไกล แต่ก็เป็นก้าวแรกที่น่าจับตามอง น่าคิดด้วยว่ากองบรรณาธิการพบเห็นศักยภาพอันใดในตัวนักเขียนท่านนี้
เล่มนี้มีเรื่องสั้นวิถีชนบทเยอะ เรื่องหนึ่งดี แต่อีกสองเรื่องอ่อน และยาวเกินเหตุ รู้สึกเสียดาย แกมแปลกใจว่าแนวนี้คนไทยเขียนกันมาเกือบๆ จะห้าสิบ หกสิบปีแล้ว ทำไมถึงยังย่ำอยู่กับที่ นักเขียนที่อยากเขียนแนวนี้จริงๆ ลองกลับไปอ่านผลงานอาจารย์มนัส แล้วถามตัวเองก่อนดีไหมว่า “มีอะไรนำเสนอมากไปกว่านี้หรือเปล่า” ถ้าไม่มีหาให้เจอก่อน แล้วค่อยเริ่มลงมือเขียนดีไหม
ที่อื่น (กิตติพล สารัคคานนท์)
ไม่บ่อยนะที่เราอ่านหนังสือนักเขียนโนเนมแล้วพลิกไปดูหน้าปก พลางอุทานออกมาว่า “หมอนี่ใครวะ!” จำได้ว่าเป็นอย่างนี้ครั้งแรกคือตอนอ่าน H2O ของพี่อนุสรณ์ อีกครั้งหนึ่งก็หนนี้แหละกับ ที่อื่น กิตติพล สรัคคานนท์ ท่านทั้งหลายจำชื่อนี้ไว้ให้ดี ถ้าวันข้างหน้าไม่ติดปากประชาชี ถือว่าเทพอักษรไม่มีจริง
ไม่รู้จะเริ่มชมยังไง เอาเป็นว่า เราอ่านหนังสือมาเยอะ ทั้งไทย ทั้งเทศ แต่ลายมือแบบคุณกิตติพลนี่ แทบไม่เคยประสบ ชิ้นงานมีเอกลักษณ์ ดำเนินเรื่องด้วยบรรยายโวหาร ส่วนบทสนทนาและเครื่องหมายอัญประกาศแทบนับตัวได้ และไม่ใช่บรรยายเลอะเทอะกะสร้างบรรยายกาศอย่างเดียว แต่ผู้เขียนผสานฉากเข้ากับตัวละครได้อย่างงดงาม สำหรับคนที่บรรยายไม่เก่งอย่างเรา ต้องขอยกนิ้วให้ด้วยความทึ่ง
ถอยหลังนิดหนึ่ง ก่อนพูดถึงสไตล์มาดูเนื้อหาดีกว่า ถ้าให้จำกัดความเรื่องสั้นของคุณกิตติพล ต้องบอกว่านี่คือ “การมาเยือน และจากไปของคนแปลกหน้า” อย่าง เข้าเมือง ซึ่งเราชอบสุดในเล่ม ไม่มีอะไรนอกจากตัวละคร “เขา” ซึ่งคนอ่านไม่รู้จัก และคนเขียนก็ไม่ได้ให้ข้อมูลมากมาย เดินชมฉากอุบัติเหตุน่าสยดสยอง ก่อนจากไปในบรรทัดสุดท้าย ไม่ได้ก่อ conflict หรือมีปฏิสัมพัทธ์กับผู้คน ต้องขอชมเลยว่าผู้เขียนกล้ามากที่ดำเนินเรื่องราวไปอย่างเรียบๆ และจบลงโดยไม่มีบทสรุป หรือไคลแมกซ์ ซึ่งไปๆ มาๆ สำหรับงานแนวนี้ยิ่งเรื่องน้อยยิ่งดี มีหลายบทที่คุณกิตติพลพยายามใส่เรื่องเข้าไป แต่กลับกลายเป็นบทที่อ่อนสุดในเล่ม
ที่อื่น คือรวมเรื่องสั้นที่อ่านทั้งเล่มได้อารมณ์กว่าอ่านแยก ตรงนี้จะมองว่าเป็นข้อเสียก็ได้ แต่ละเรื่องไม่ได้โดดเด่นขนาดดึงออกมาต่างหากแล้วยังน่าอ่าน ขนาดอ่านจบหมาดๆ ย้อนกลับไปดูสารบัญ เรายังบอกไม่ได้เลยว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหน ในทางตรงข้าม ทุกเรื่องช่างส่งเสริมกันและกัน จนรู้สึกว่าข้อเสียตรงนี้น่าให้อภัย ประเด็นที่คุณกิตติพลชอบพูดถึง (อย่างน้อยในเล่มนี้) คือความตาย ซึ่งแทรกอยู่แทบทุกบท ทุกบรรทัด ยิ่งทำให้นักเขียนคนนี้น่าสนใจเข้าไปใหญ่ เขาเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ทำไมถึงได้หมกมุ่นกับความตายขนาดนี้ การมีธีมร่วมนั้นดีเพราะสร้างเอกภาพให้หนังสือ แต่ก็กลับมาข้อเสียเดิมคือแต่ละเรื่องดูเหมือนๆ กันไปหมด
ที่ต้องติจริงๆ คือ ประเด็นกึ่งหักมุม ประเภทตัวละครสองบุคลิก ไอ้มุขจำพวกนี้โดยตัวมันเองก็เชยจะแย่แล้ว คุณกิตติพลยังใช้มันกับเรื่องสั้นมากกว่าหนึ่งเรื่อง ขอพูดถึงปกด้วยว่า ท่าทางสำนักพิมพ์ Shine จะเอาดี เน้นปกขาวโล่งโจ้ง (เพราะหนังสืออีกสองเล่มของคุณวาด รวีก็ออกแนวนี้) ซึ่งสวยก็สวยดี แต่มันสกปรกง่าย นี่เลือกอยู่ในร้านหนังสือตั้งนานกว่าจะหากอปปี้ดีๆ ได้
พญาอินทรี (จรัญ ยั่งยืน)
ถ้าใครติดตามข่าวสารวรรณกรรม คงจำได้กรณีนักการเมืองแทรกแซงคำตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าเมื่อปีสองปีก่อน เป็นเหตุให้เรื่องสั้นสาม สี่เรื่องถูกลิดรอนสิทธิได้รับรางวัลชนะเลิศ บัดนี้เรื่องสั้นเหล่านั้นทยอยสู่สายตาประชาชน เมื่อเราได้อ่านก็ยังไม่เก็ตว่า “อะไรกันนักกันหนา” ก็แค่เรื่องสั้นการเมืองธรรมด๊าธรรมดา ด่านักการเมืองแบบที่คนไทยชอบด่ามาทุกยุคทุกสมัย ไม่เห็นจะมีความแปลกใหม่ หรือมีพิษมีภัยอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องออกมาเต้นเร้าๆ คนระดับนั้นอุตส่าห์ชนะเลือกตั้งมาน่าจะมีสติปัญญาพอรู้ทำแบบนี้ไม่เกิดโภคผลใดๆ รังแต่สังคมจะรุมด่า ถ้าจะมีใครวินก็ตัวนักเขียนต่างหากที่ได้กลายเป็น “พระเอก” ในสายตาสื่ออยู่พักใหญ่
พญาอินทรี คือหนึ่งในเรื่องสั้นที่ถูกตัดสิทธิ ถือเป็นเรื่องสั้นที่ดีเลยล่ะ หนักแน่น ตรงไปตรงมาจริงใจกับสิ่งที่พยายามบอกคนอ่าน แม้เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ “รู้ๆ กันอยู่” เท่าที่จำได้เหตุผลของผู้ใหญ่คือเสนอภาพรัฐมนตรีถ่อยเกินจริง ประมาณใช้คำหยาบพูดเปรียบเทียบนักข่าวว่าเป็นหนอนชอนไชอาจม เป็นเหตุผลที่ฟังแล้วขำ ยังกับว่ารัฐมนตรีกี่ยุคกี่สมัยของประเทศนี้พูดคำหยาบกันไม่เป็นอย่างนั้นแหละ
เราไม่ได้ติดตามพานแว่นฟ้ามาพักใหญ่แล้ว รู้สึกว่าคนไทยเขียนเรื่องสั้นการเมืองไม่ค่อยเป็น ยังขาดความเข้าใจการเมืองอย่างถ่องแท้ คนที่เข้าใจจริงก็ดันไม่มาเป็นนักเขียนเสียนี่ รู้สึกว่าพานแว่นฟ้าปีนี้ก็เงียบๆ แจกรางวัลกันไปใต้น้ำตามระเบียบรัฐบาลปฏิวัติ ในแง่หนึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะไม่อยากให้คนลุกขึ้นมาเขียนเรื่องโฉ่งฉ่างกะหวังถูกหวยวรรณกรรมแบบปีก่อน
เลิกพูดเรื่องนี้ดีกว่า จริงๆ แล้วเราค่อนข้างชอบรวมเรื่องสั้น พญาอินทรี เลย ทั้งที่หลายเรื่องเป็นมุมมองแบบดำขาวแบบที่เราไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ส่วนนี้ถูกทดแทนด้วยความซื่อ จริงใจ อย่าง เวลากับความหวัง กาเหว่า ก็เป็นเรื่องง่ายๆ หวานๆ โดยเฉพาะเรื่องหลังไม่เสียพะยี่ห้อรางวัลชนะเลิศชีวจริยธรรม เพื่อนยามวิกาล เราเคยอ่านอีกเวอชั่นหนึ่งซึ่งลงมติชนรายสัปดาห์ รู้สึกว่าเวอชั่นนี้จะลงตัวกว่า
ถ้าจะติโดยรวมต้องบอกว่ามันมีอัตราส่วนความเป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เยอะเกินไป เอาเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สามสี่เรื่องมารวมเล่มกับเรื่องสั้นสะท้อนสังคมแบบนี้เหมือนกินกาแฟใส่น้ำมะนาวยังไงพิกล
ราหูอมจันทร์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ (หลายคนเขียน)
อีกไม่กี่อาทิตย์นักอ่านก็จะได้ยลโฉม ช่อการะเกด reload แล้ว ไม่รู้คุณผู้อ่านตื่นเต้นกับข่าวนี้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าเป็นหนอนวรรณกรรมตัวจริง ก็สมควร build ตัวเองให้ตื่นเต้นมากๆ นั่นละ ถูกต้องแล้ว
เคยคุยกับพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง แกบ่นว่าเหมือนนักเขียนรุ่นราวคราวเดียวกับแก (ระหว่างยี่สิบห้า ถึงสามสิบห้า) ตกยุค หายสาบสูญไปยังไงไม่ทราบ ถ้าจะลากสาเหตุการสะดุดรุ่นไปยังการปิดตัวของ ช่อการะเกด ช่วงสิบปีหลังก็อาจจะสรุปความเกินจริงไปนิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแวดวงวรรณกรรมไทยไม่อาจอยู่ได้ถ้าปราศจาก ช่อการะเกด หรือหนังสือรวมเรื่องสั้นเฉพาะกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเรื่องสั้นคือแนววรรณกรรมสมัยใหม่ที่คนไทยชอบอ่านสุด และระบบนิตยสารได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เรื่องนี้พูดได้ยาว เอาเป็นว่าก่อน ช่อการะเกด reload จะวางแผง เรามี ราหูอมจันทร์ รวมเรื่องสั้นจากสำนักพิมพ์นาครมาขัดตาทัพ ต้องขอชมทีมงานทุกท่านที่อุตส่าห์เข็นมันออกมาได้จนถึงเล่มที่ 3 (และเล่มที่ 4 ก็เพิ่งปิดรับต้นฉบับไป) แต่ทั้งนั้นทั้งนั้น ถ้าให้เทียบกับ ราหูอมจันทร์ เล่มแรก ก็ยังอดติติงตรงนู้นตรงนี้ไม่ได้ ชัดเจนมาก อย่างแรกคือภาพประกอบ ใช้รูปเล็กในวงกลมสองวงแปลกตาดีอยู่ แต่มันทำให้ภาพขาดความอลังการ ยิ่งบวกลักษณะการพิมพ์สีจางๆ ด้วยแล้ว แถมหลายรูปเป็นงานกราฟฟิค หรือภาพการ์ตูนที่ดูป๊อกแป๊ก ไม่หนักแน่น
ตามขนบหนังสือรวมเรื่องสั้นประเภทนี้ ต้องมีทั้งผลงานนักเขียนรุ่นเดอะผสมรุ่นเยาว์ รุ่นเดอะมีหน้าที่ดึงคนอ่านให้อยู่หมัด ก่อนปล่อยแยบแนะนำตัวนักเขียนหน้าใหม่ ปัญหาคือเรื่องสั้นรุ่นเดอะห้าหกเรื่องในเล่มดันแป๊ก ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่อย่าง สีของดอกไม้ และ บักหัวแดง สมยี่ห้อคุณประชาคม และคุณไพฑูรย์ แต่มันสมยี่ห้อเกินไป ฝีมือพระกาฬระดับทั้งคู่หลับตาข้างเดียวเขียนสองเรื่องนี้ได้ ส่วน มาตุคาม และ ปีหมูของคน เราถือว่าไม่ได้มาตรฐานฝีมือระดับคุณมาโนช และคุณอัศศิริ เรื่องสั้นรุ่นเดอะที่เราชอบสุดคือ บนลานใจ ของคุณวรภ ว่าด้วยความรักของแม่ และความกตัญญู เป็นเรื่องสั้นน่ารักๆ ที่ติดยาวไปนิด
ส่วนรุ่นใหม่ คุณภาพลัดหลั่นอยู่ในระดับค่อนข้างกลาง ไม่มีเรื่องไหนแย่ (เว้นเรื่องหนึ่ง ไม่เอ่ยชื่อแล้วกัน) แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนน่ากล่าวถึง ยกเว้น มิติทับซ้อนในสังคมซ่อนเร้น เรื่องสั้นวัยรุ่นติสต์แตก ผสานอารมณ์เหงาแบบปราบดา/มุราคามิ/หวังเจียเว่ย ออกมาลงตัว จนเราต้องขอจดจำชื่อจเด็จ กำจรเดช สำหรับเรื่องนี้สอบผ่าน เราประทับใจยิ่งกว่าเรื่องสั้นรุ่นเดอะอีก อีกสองเรื่องที่ดีพอใช้คือ ค(วั)นผุ กับ แปลกหน้า แต่ยังไม่ถึงขั้นอยากจดจำชื่อคนเขียน ส่วน 13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ ซึ่งเดาว่าเป็นเรื่องเอก (เพราะใช้เป็นชื่อเล่ม) ยังครึ่งๆ กลางๆ เหมือนดีไม่สุดยังไงไม่ทราบ
เป็นกำลังใจให้นะครับ ไว้จะคอยติดตาม ราหูอมจันทร์ เล่มหน้าแล้วกัน
สัมพันธภาพ (เดือนวาด พิมวนา)
คำถามหนึ่งที่เราถกเถียงตัวเองมานานคือเอกภาพจำเป็นแค่ไหนสำหรับรวมเรื่องสั้น เป็นไปได้หรือเปล่าที่หนังสือสักเล่มจะรวมรวมเรื่องที่ต่างกาลต่างวาระกันอย่างรุนแรง จนกลายเป็นข้อบกพร่อง หรือมองในทางกลับกัน แค่เอาคนคนเดียวมาเขียนหนังสือ ในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี แต่ละเรื่องมันจะสุดโต่งหลุดโลกไปคนละทางได้แค่ไหนกันเชียว
สัมพันธภาพ ของคุณเดือนวาดคือรวมเรื่องสั้นตลอดระยะเวลาสิบปี เก่าแก่สุดในเล่มคือประมาณ 2538 และใหม่สุดคือ 2548 แค่มันเป็นผลงานที่ใช้เวลาสิบปีในการเขียน ก็บ่งชี้แล้วถึงมาตรฐาน ด้วยความจำเป็นบางประการในแวดวงวรรณกรรมบ้านเรา นักเขียนถูกบังคับให้ผลิตรวมเรื่องสั้นออกมาทุกสามปีโดยเฉลี่ย นานๆ ทีได้อ่านผลงานหมักเคี่ยวสิบปีอย่าง สัมพันธภาพ ก็ต้องยอมรับว่า อะไรที่เขียนลวกๆ กับผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว คุณภาพมันต่างกันจริงๆ ด้วย
สัมพันธภาพ คือรวมเรื่องสั้นเล่มสองของคุณเดือนวาด ซึ่งถ้าไม่นับ หนังสือเล่มสอง ก็ต้องถือว่าเราอ่านงานแกครบทุกเล่ม เคยมีคนพูดว่าเล่มนั้นเป็น “ผลงานขึ้นหิ้ง” แต่เรากังขานิดหน่อย เพราะแค่ดูผลงานใน สัมพันธภาพ ยุคก่อน และหลังปี 2540 ก็ต้องพูดเลยว่าผู้เขียนพัฒนาไกลมาก ขณะที่ สัมพันธภาพ และ ในความป่วยไข้ (ทั้งสองเรื่องเขียนปี 2538 เก่าแก่สุดในเล่ม) และ ผมอยากนอนกับคุณ (ปี 2540) ยังสัมผัสได้ถึงความไม่ลงตัว พอมาถึงผลงานยุคหลังๆ อย่างแสงดา หรือกานดา อ่านจบแล้วอยากตบมือให้ มั่นใจว่าถ้าคุณเดือนวาดไม่กลายเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่สามของประเทศไทย ก็อาจจะเป็นคุณปราบดา หยุ่นคนที่สอง คือได้รางวัลก่อนถึงเวลาอันควร
พูดถึงเอกภาพของหนังสือเล่มนี้ดีกว่า แน่นอนว่าในเมื่อมันใช้เวลาเขียนสิบปี จะหาเอกภาพอะไรชัดเจนก็คงยาก แต่จับสไตล์ได้อย่างหนึ่งคือ หลายเรื่องสั้นพูดถึง “อสูร” และ “กำเนิดอสูร” ไม่ใช่สัตว์ประหลาด แต่เป็นผู้คนอันมีพฤติกรรมเลวร้าย ซึ่งนอกจากจะทำร้ายคนรอบข้างแล้ว เหนืออื่นใดคือทำร้ายตัวเองด้วย เรื่องสั้นอสูรในเล่มอย่างเช่น กานดา แสงดา ผู้จัดการมรดก เหนือจอมคนยังมีจอมพล มีดีกรีความเลวร้ายแตกต่างไป บางทีก็เป็นแค่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผู้จัดการมรดก เรื่องของชายหนุ่มที่ต้องมารับผิดชอบที่นา 35 ไร่ซึ่งเขาไม่เคยอยากได้ จนถึง กานดา ซึ่งเราถือว่าเป็นอสูรระดับคลาสสิก สิทธิบุรุษ นำเสนออสูรในลักษณะที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะนี่คือ “อสูรโดยไม่รู้ตัว”
เรื่องสั้นชุดนี้น่าสนใจเพราะไม่ใช่การโทษสังคม ทุนนิยม หรือนักการเมืองแบบขนบเรื่องสั้นเพื่อชีวิต เหมือนกับคุณเดือนวาดต้องการแสดงให้เห็นว่าอสูรคือสิ่งที่แตกหน่อมาจากเมล็ดพันธุ์ในตัวปัจเจค แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนในการอุ้มชูฟูมฝักเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดแล้ว เช่นเดียวกับข้อสรุปจาก สัมพันธภาพ คนจะดี จะเลวย่อมขึ้นอยู่กับทางเลือกของเจ้าตัว
J. Fforde's "Lost in a Good Book"
สารภาพจริงๆ คือเราก็ไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก ความรู้สึกของแฟนๆ หนังสือแฟนตาซีอย่าง The Lord of the Rings หรือ Harry Potter อะไรคือความรู้สึกคันขยุกขยิกในหัวใจ เวลาอ่านเรื่องเกี่ยวกับอัศวิน มังกร หรือ ดาบวิเศษ รวมไปถึงแฟนๆ หนังสือไซไฟ เราไม่เก็ตเสน่ห์ของยานอวกาศ มนุษย์ต่างดาว หรือ รถลอยฟ้า
แต่เราเข้าใจดีเลยล่ะ อะไรที่มันสามารถเกาหัวใจหนอนวรรณกรรม หรือ literature geek ได้ และสิ่งนั้นก็คือนิยายนักสืบไซไฟแฟนตาซี ชุดเธิร์สเดย์ เนคของ เจฟเฟอร์ ฟอร์ดนี่เอง
ฉากหนึ่งใน The Eyre Affair เป็นฉากเล็กๆ แต่ทำให้เราสาบานตัวจะเป็นแฟนหนังสือชุดนี้ คือตอนที่ตัวละครฝ่ายพระเอก นักสืบวรรณกรรมปลอมตัวเข้าไปในสมาคมนักดูดาว เพื่อพิสูจน์ตัวเอง เขาต้องท่องชื่อดวงจันทร์ดาวเสาร์ จากดวงเล็กสุด ไปหาใหญ่ ซึ่งจริงๆ ตัวละครตัวนี้ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับดวงดาวแม้แต่น้อย หากบังเอิญดวงจันทร์ดาวเสาร์ตั้งชื่อตามตัวละครหญิงของเชคสเปียร์ (เว้นแค่ดวงใหญ่สุดคือ โอเบรอน ราชาแห่งภูตจาก Midsummer Night’s Dream) เขาถึงผ่านการทดสอบตรงนี้ได้
ฉากเล็กๆ ที่ไม่สลักสำคัญอะไรแบบนี้แหละ เวลาอ่านกลับคันยิกๆ ในหัวใจ อมยิ้มได้ไม่หุบ
Lost in a Good Book คือหนังสือชุดเธิร์สเดย์ เนคเล่มสอง แม่ยอดหญิงนักสืบวรรณกรรมเธิร์สเดย์ หลังจากพิชิตมหาวายร้ายอาเครอน ฮาเดส (ตั้งชื่อตามแม่น้ำแห่งความตาย) เล่มนี้เธอตกเป็นเป้ามือสังหารลึกลับ รหัสเอ.เอช. เป็นมือสังหารที่ใช้อาวุธคือความบังเอิญ นอกจากนี้เธิร์สเดย์ยังค้นพบความสามารถพิเศษของตัวเอง และถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในจูริสฟิคชั่น คล้ายๆ เหล่าผู้ผดุงความสงบสุขในโลกวรรณกรรม มีหน้าที่กระโดดจากหนังสือเล่มหนึ่ง ไปยังอีกเล่ม เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อเรื่องดำเนินไปตามที่คนเขียนต้องการ
ใครชอบดิกเกนส์น่าจะสนุกกับเล่มนี้ เพราะตัวละครที่มีบทบาทมากๆ คือมิสฮาวิแชม จาก The Great Expectation ในฐานะครูของเธิร์สเดย์ อีกฉากที่ได้ใจเราคือ ตอนเธิร์สเดย์ถูกตัดสินโดย The Magistrate จาก The Trial เธอคือจำเลยคนถัดไป ต่อจากแฮร์ เค. อ๋อ แล้วก็มีฉากที่เธิร์สเดย์ต้องมุดเข้าไปใน The Raven เพื่อชิงตัวศัตรูคู่อาฆาตของเธอจากเล่มที่แล้ว
อ่านกันขำๆ สนุกๆ
J. J. Saer's "The Investigation"
รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยเป็นคนแนะนำ The Investigation ให้เราอ่าน เคยพุดคุยกับพี่จิ๊บหลายครั้ง พอจะจับรสนิยมแกได้ว่าหนังสือประเภทไหนแกน่าจะชอบ พออ่านเล่มนี้จบ พูดกับตัวเองว่า "เออ...มิน่าล่ะ"
จะอ่าน The Investigation ให้อินจริงๆ ต้องเก็บรายละเอียดทุกหน่วยทุกเม็ด ถ้าทำ close reading ได้จะยิ่งประเสริฐ เป็นหนังสือที่เหมาะแก่การมาศึกษา มากกว่าอ่านเพื่อความบันเทิง จุดเด่นของเซเออร์อยู่ที่ภาษา การเลือกใช้คำเสมือนโยนผู้อ่านเข้าไปยังวงกตแห่งฝันร้าย โดยสุดปลายของมันไม่ใช่ทางออก หากเป็นก้นบึ้งอันไร้ขอบเขต
มอร์วันเป็นหัวหน้าหน่วยสืบสวนตามจับฆาตกรโรคจิตซึ่งไล่สังหารหญิงชรามาแล้วถึง 27 ศพใช่ช่วงเก้าเดือน นอกจากไล่ล่าฆาตกรโหดแล้ว มอร์วันยังต้องรับมือกับฝันร้าย ซึ่งเกี่ยวพันสัตว์ประหลาดในตำนานกรีก เช่นซิลล่า ปีศาจทะเลในรูปข้างบน (เข้าใจว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เดวี่ โจนส์ใน Pirate of the Carribbean)
ที่จริงเหตุการณ์สืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นจุดหลักของหนังสือ คือเรื่องราวที่นักวิเคราะห์วรรณกรรมคนหนึ่งเล่าให้เพื่อนอีกสองคนฟัง ไม่มีใครรู้ว่านี่เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องแต่ง ทั้งสามกำลังเดินทางไปตรวจสอบต้นฉบับลึกลับของอดีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ โดยล่องเรือผ่านไปตามลำน้ำแห่งอาเจนติน่า ระหว่างทางพวกเขาพบกับการอพยพของฝูงผีเสื้อ
เซเออร์พยายามร้อยเรียงเหตุการณ์สองอย่าง ซึ่งเหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง ให้มีความสัมพันธ์กัน แต่สารภาพว่าจนแล้วจนรอด ก็ยังงงอยู่ดีว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง สไตล์การเขียนได้กลิ่นละตินอเมริกาโชยมาเลย และชวนให้นึกถึง ร้อยปีแห่งความเดียวดาย อยู่ไม่น้อย เป็นหนังสือซึ่งอาศัยสัญลักษณ์ และการตีความอย่างละเอียดค่อนข้างมาก ยอมรับว่าเป็นแนวที่ไม่ถนัดนัก
"จงพาฉันบินไปยังดวงจันทร์" (r.o.d.)
"ไม่มีลมอยู่ในอากาศเลยแม้แต่วูบเดียว อากาศร้อนอบอ้าวจนฉันรู้สึกเหมือนกำลังถูกเผาผลาญด้วยไฟประลัยกัลป์ หูแว่วยินเสียงหมาเห่าประสานกับแตรรถที่เบาบางจนเหมือนมันดังขึ้นจากอีกโลกหนึ่ง-ฉันยังจำเสียงพ่อได้อยู่เลย ก่อนหน้านี้ฉันกำลังกลับบ้าน พ่อบอกว่าวันนี้ไม่ว่างไปรับที่มหาวิทยาลัย ให้นั่งรถแทกซี่กลับบ้านเอง ใจหนึ่งฉันกลัวนะ แต่อีกใจหนึ่งฉันอยากพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าโตแล้ว ไม่ใช่ “ลูกคุณหนู” อย่างที่เพื่อนๆเรียกฉัน"
จงพาฉันบินไปยังดวงจันทร์เป็นหนึ่งในสองเรื่องสั้นที่คุณส่งมา จริงๆ อยากอ่านทั้งสองเรื่องให้จบก่อน เผื่อจะได้จับสไตล์ เปรียบเทียบความเหมือน ความต่าง แต่ไม่ค่อยมีเวลา เอาเรื่องนี้ไปก่อนก็แล้วกัน
จงพาฉันบินไปยังดวงจันทร์คือเรื่องสั้นที่แสดงให้เห็นความมั่นใจในตัวเองของผู้เขียน เนื้อเรื่องง่ายๆ ลูกสาวไฮโซที่พ่อมัวแต่ทำงานจนครอบครัวแตกแยก สุดท้ายเดินลงเข็มฉีดยา เรื่องแบบนี้แทบทุกคนเคยอ่านมาแล้วทั้งนั้น ชั้นเชิงของมันจึงไม่ได้อยู่ที่การให้คนอ่านตั้งคำถาม หรือคาดเดาอะไรจะเกิดขึ้นต่อ แต่อยู่ที่ทำยังไงถึงจะพาคนอ่าน "เดินลงนรก" ในหนทางอันคุ้นเคยนี้ได้อย่างหนักแน่น เจ็บลึก ซึ่งในจุดนี้คุณประสบความสำเร็จเลยครับ สารภาพว่าอ่านเรื่องนี้ไปหยีตาตัวเองไปด้วย อารมณ์คล้ายๆ เวลาดูหนังสยองขวัญ
ให้ตินิดหนึ่งคือข้อมูลหลายอย่างขัดแย้งกันเอง (หรือไม่เราก็อ่านไม่แตก) เช่นช่วงแรกนางเอกแนะนำตัวเองว่าใครๆ เรียกเธอเป็นคุณหนู แต่เอาเข้าจริงๆ ดูไม่เหมือนธุรกิจพ่อนางเอกจะกำรี้กำไรมากมาย ออกจะขาดทุนๆ ด้วยซ้ำ หรือเหตุการณ์ข่มขืนในเรื่อง ตกลงเป็นส่วนหนึ่งของวีดีโอเทปที่เพื่อนนางเอกอัดไว้ หรือเป็นโจรข้างถนนกันแน่ ผลกระทบการตายของน้องสาวก็ยังไม่ชัดเจน ต่อให้ไม่มีตัวละคร "อร" เราก็ยังมองไม่ออกเรื่องนี้จะเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าใด ลองสะสางประเด็นเหล่านี้ดูนะครับ
S. Bellow's "The Adventures of Augie March"
ตั้งใจไว้ว่าในแต่ละปีจะต้องอ่านหนังสือ "ปราบเซียน" ให้ได้ อย่างน้อยหนึ่งเล่ม ปราบเซียนในที่นี้คือยาว หรือยากชนิดที่ว่า พออ่านจบรู้สึกเหมือนตัวเองก้าวข้ามอุปสรรค ยกระดับความสามารถในการอ่านขึ้นไปอีกขั้น หนังสือที่ว่าอย่างเช่น Docter Faustus ของมานน์ The Idiot ของดอสโตเยฟสกี้ หรือ Anna Karenina ของตอสตอย
สำหรับปีนี้หนังสือปราบเซียนดังกล่าวคือ The Adventures of Augie March ซึ่งไม่ใช่ปราบเซียนระดับธรรมดา สังเกตว่าเล่มอื่นที่กล่าวมา ต้นฉบับไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ที่เราอ่านเป็นเวอชั่นแปล ในระดับหนึ่งสำนวนภาษาถูกดัดแปลงให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ The Adventures of Augie March เป็นหนังสือปราบเซียนเล่มแรกซึ่งไอ้ที่ยัดเข้าหัวเราไปคือภาษาของผู้เขียนเองล้วนๆ ก่อนหน้านั้นเคยพยายามอ่านมันไปแล้วสองรอบ และก็ล้มเหลวทั้งสองครั้ง The Adventures of Augie March จึงเสมือนขุนเขาที่ตั้งอยู่บนชั้นหนังสือเรา
เพราะฉะนั้นขณะนี้รู้สึกดีใจมากที่พิชิตมันสำเร็จ!
ความไม่ธรรมดาอีกประการได้แก่ เบลโล ในฐานะนักเขียนรางวัลโนเบลคือตัวแทนวรรณกรรมของชาวอเมริกัน ถ้าติดตามรักชวนหัวมาตลอด จะรู้ว่ารสนิยมเราหนักไปทางยุโรป ดังนั้นการที่อ่าน The Adventures of Augie March ได้จนจบ ก็เสมือนยกทัพขึ้นนิวยอร์ก สามารถวิจารณ์ และพูดถึงวรรณกรรมฝากฝั่งทวีปใหม่ได้อย่างมีดีกรีมากขึ้น
ในตอนจบของหนังสือ เบลโลเปรียบออกี้ มาร์ชพระเอกของเขาว่าเป็นโคลัมบัสยุคใหม่ ในที่นี้หมายถึงผู้ค้นหาหัวใจความเป็นอเมริกา ฉากในเรื่องคือชิคาโกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่าง the great depression หรือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันเผชิญหน้าวิกฤตเอกลักษณ์อย่างรุนแรง ออกี้ มาร์ชคือตัวอย่างสุดโต่งในยุคนั้น ชีวิตไร้แก่นสาร เปลี่ยนงานประจำแทบทุกปี ทำอะไรก็ได้ขอให้มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง รวมไปถึงเรื่องผิดกฎหมาย เข้าร่วมพรรคสังคมนิยมโดยมีเป้าหมายเลื่อนลอยที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และท้ายสุดก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าตัวเองเป็นใคร และต้องการอะไร
ชีวิตออกี้ มาร์ชแบ่งได้เป็นห้าช่วงง่ายๆ วัยเด็กจนถึงตอนที่น้องชาย และคุณย่าถูกส่งเข้าสถานเลี้ยงดูคนปัญญาอ่อน และคนชรา วัยรุ่นจนถึงตอนเขาโบกรถข้ามประเทศหลังเกือบถูกตำรวจจับ โทษฐานขับรถที่ขโมยมา วัยหนุ่มจนถึงตอนทะเลาะกับพี่ชาย ผู้แต่งงานกับลูกสาวมหาเศรษฐีเพื่อหวังเงินตรา ไซมอนต้องการตัดสัมพันธ์กับออกี้ เพราะมีคนในครอบครัวภรรยาเห็นเด็กหนุ่มเดินออกมาจากคลินิกทำแท้งค์พร้อมหญิงสาวคนหนึ่ง ช่วงมีความความรัก หรือการผจญภัยในแมกซิโก และช่วงสุดท้าย เรียกว่าช่วง(พยายาม)ตรัสรู้ก็ได้
หนังสืออย่าง The Adventures of Augie March คล้ายกับ Of Human Bondage ของมอฮแกม หรือ Midnight Children ของรัชดี คือเป็นการติดตามชีวิตใครคนหนึ่งผ่านเรื่องราวมากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องราวผูกรวมกันไว้ด้วยธีม ในกรณี Of Human Bondage ธีมนั้นคือคำถามที่ว่าทำยังไงเราถึงจะปลดปล่อยความรัก อันภาระที่หนักหน่วงสุดของมนุษย์ ส่วน The Adventures of Augie March พูดถึงความแตกต่างและความยากลำบากในการอยู่ร่วมกันของหลายร้อยชีวิตในสังคม
สรุปสั้นๆ แก่นของ The Adventures of Augie March คือ modernity หรือยุคใหม่ได้ทำลายล้างกฏเกณฑ์ร่วมกันของมนุษย์ แต่ละปัจเจคล้วนแล้วแต่มีหลักการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าตัวเองกำลังทำถูกหรือทำผิด แต่ละฝ่ายถึงต้องพยายามสะท้อนภาพตัวเองไปยังคนรอบข้าง คัดเอาคนอื่นมาเป็นตัวประกอบในละครชีวิตที่เราทุกคนเป็นตัวเอก
ออกี้คือสุดยอดตัวประกอบ การที่เขาเปลี่ยนงาน หรือย้ายจากสถานภาพหนึ่งไปยังอีกหนึ่งสถานภาพไม่ใช่เกิดจากความหยิบโหย่ง หรือล้มเหลว แต่เพราะเขาถูกดึงตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรอบข้างอย่างง่ายดาย ตั้งแต่คุณย่า ไซมอน เทีย หญิงคนรัก ไอฮอน นักธุรกิจซึ่งเป็นนายจ้างของออกี้ จนถึง พาดิลล่า โจรขโมยหนังสือ และนักศึกษา คุณสมบัติตรงนี้ทำให้ชีวิตออกี้ไม่เคยได้อยู่นิ่ง แตกต่างจาก Of Human Bondage หรือหนังสือแนวนี้เล่มอื่น The Adventures of Augie March คือเรื่องราวละครชีวิตของออกี้ ที่ตัวออกี้มีบทบาทน้อยมาก (ประมาณร้อยห้าสิบหน้าแรก ผู้เขียนแทบไม่เล่าเลยว่าเกิดอะไรกับ title character ผู้นี้)
จุดเด่นสุดของหนังสือเล่มนี้น่าจะอยู่ในช่วงสี่ หรือการผจญภัยในแมคซิโก ระหว่างออกี้ และเทีย เทียใฝ่ฝันจะทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับงู จับตะกวด ทั้งคู่เดินทางเข้าไปในทะเลทรายแห้งแล้ง ซื้อนกอินทรีมาตัวหนึ่ง ตั้งชื่อว่าคาลิกูล่า (จักพรรดิโรมันสติไม่ดี) และฝึกสอนมันให้ล่าเหยื่อ ตลอดชีวิตออกี้ เทียคือผู้หญิงที่เขาหลงรักอย่างแท้จริง ครั้งสุดท้ายที่ทั้งคู่ทะเลาะกัน ออกี้พยายามชี้ให้อีกฝ่ายเห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้ ใช้ชีวิตกลางทะเลทราย จับงู จัดตะกวดด้วยนกอินทรี มันผิดปรกติแค่ไหน ซึ่งเทียย้อนกลับมา "บางทีสำหรับเธอความรักอาจเป็นเรื่องผิดปกติก็ได้ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม" ความล้มเหลวในความสัมพันธ์คือโศกนาฏกรรมซึ่งส่งผลกระทบรุนแรง จนชายหนุ่มต้องมาทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เฝ้าถามตัวเองว่าเขาผิดปรกติตรงไหน นำไปสู่ช่วง (พยายาม) ตรัสรู้ในตอนท้าย
ข้อเสียประการหนึ่งของหนังสือแนวนี้คือแต่ละเหตุการณ์สัมพันธ์ และเกี่ยวเนื่องยังอีกเหตุการณ์อย่างหลวมๆ เชื้อเชิญให้เราอ่านข้ามๆ ยิ่งบวกกับความยาวมหากาฬ ทำให้ขณะอ่านต้องใจเย็นไม่น้อย โดยเฉพาะพอถึงห้าสิบหน้าสุดท้าย เราเริ่มรู้แล้วว่าอะไรๆ ที่เบลโลเล่ามากำลังจะไม่ได้ใช้ เลยเผลออ่านผ่านอยู่เหมือนกัน ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับ Of Human Bondage ด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม ดีใจมากๆ ที่ได้พิชิตนิยายเล่มนี้ลงเสียที
ข้อความจาก leah dizon
leah เองค่ะ รักชวนหัวฝากบอกเพื่อนๆ ว่า ตอนนี้รักชวนหัวไป sign up อีเมลแอคเคาท์มา สำหรับให้เพื่อนๆ ส่งเรื่องสั้นมาร่วมโครงการ R.O.D. (read on demand) โดยเฉพาะ แอดเดรสคือ laughable-loves@hotmail.com (จำง่ายไหมคะ) ใครที่สนใจอยากให้รักชวนหัววิจารณ์เรื่องสั้น ส่งมาที่อีเมลนี้เลยนะคะ
กำหนดกติกากันก่อน
1) รักชวนหัวขออนุญาตนำบางส่วนจากเรื่องสั้นของเพื่อนๆ มาแปะลงบลอคเรานะคะ รวมถึงบทวิจารณ์ด้วย แน่นอนว่าลิขสิทธิ์เรื่องสั้นทั้งหมดยังเป็นของเพื่อนๆ ไม่มีละเมิดแน่นอนค่ะ
2) ใจกว้างกันหน่อยนะคะ ถึงแม้เรื่องสั้นจะดีแค่ไหน การวิจารณ์ของเราเน้นที่หาจุดบกพร่อง เพื่อแก้ไข และพัฒนาให้เรื่องสั้นนั้นๆ ดีขึ้น
3) เราจะพยายามวิจารณ์ และแปะเรื่องสั้นให้ครบแทบทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาในระยะแรก แต่ถ้ามีจำนวนเรื่องเยอะเกินไป รักชวนหัวก็คงต้องเลือกเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น
ขอบคุณค่ะ พยายามเข้านะคะ
ป.ล. รักชวนหัวฝากบอกว่าชื่อ จันทร์ ปริเทวา ที่ใช้รับส่งแอคเคาต์ laughable-loves@hotmail.com เป็นนามแฝงค่ะ ไม่ต้องพยายามไปเซิร์ชหาที่ไหนนะคะ
Subscribe to:
Posts (Atom)