R. Davies's "What's Bred in the Bone"


หลังจากนิยายแปดเล่ม รวมเรื่องสั้นอีกหนึ่ง ในที่สุดเราก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าโรเบิร์ตสัน เดวีส์ "เป็นใคร" ตอนที่เขียนถึง World of Wonders เราบอกว่าเดวีส์เถียงตัวเองตลอดเวลาๆ จากนิยายเล่มหนึ่ง ไปยังนิยายอีกเล่ม ตอนนี้เราว่าเรารู้แล้ว อะไรคือจุดยืนที่แท้จริงของนักเขียนชาวแคนาดาผู้นี้

What's Bred in the Bone มาจากคำพังเพยฝรั่งเต็มๆ ว่า "สิ่งที่แฝงอยู่ในกระดูก สุดท้ายก็จะออกมาตามเนื้อตัว" หมายถึงนิสัยหรือสันดานที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในตัวคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะปิดบังแค่ไหน สุดท้ายก็จะถูกเผยออกมาให้คนอื่นได้ยล นี่เป็นชื่อนิยายที่เหมาะมากสำหรับอธิบายตัวเอกของเรื่องฟรานซิส คอร์นิช แต่ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นชื่อนิยายที่เหมาะมากสำหรับการอธิบายปรัชญาของเดวีส์

ฟรานซิส คอร์นิชเป็นจิตรกรอัจฉริยะ ผู้ปฏิเสธที่จะเต้นไปตามจังหวะของยุคสมัย ขณะที่ยุโรปต้นศตวรรษกำลังต้องมนต์เสน่ห์ของปิกัสโซ ดาลี และดูชอง คอร์นิชกลับหลงใหลจิตรกรรมคลาสสิคจากศตวรรษที่ 15-18 ทางออกเดียวสำหรับอัจฉริยะเช่นเขาคือการปลอมแปลงรูป คอร์นิชวาดภาพด้วยฝีไม้ลายมือของปรมาจารย์ และพยายามขายรูปเหล่านั้นในราคาสูงราวกับว่ามันเป็นศิลปะโบราณ (ทำไมคอร์นิชถึงไม่ยอมเป็นจิตรกรจนๆ วาดอะไรที่อยากวาด ประเด็นนี้น่าตรึกตรองมากเพราะในนิยายของเดวีส์แทบทุกเล่ม ตัวเอกเป็นผู้มีอันจะกิน หรือไม่ก็ร่ำรวยไปเลย ไม่ค่อยมีเรื่องของคนจนๆ หาเลี้ยงปากท้องประทังชีพ)

เราจับเค้ามาตลอดว่าเดวีส์เป็นพวก "อนุรักษนิยม" เขาเหมือนจะรังเกียจความทันสมัย ความรู้แจ้ง และเหตุผลนิยมของศตวรรษที่ 20 แต่ความอนุรักษนิยมของเดวีส์มีรสชาติที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากนักเขียนหัวโบราณ (แบบที่เห็นได้บ่อยๆ ในเมืองไทย) เดวีส์ไม่ได้ชื่นชม "มรดกของบรรพบุรุษ" เขาย้อนอดีตไปไกลกว่านั้นอีก สิ่งที่เขาชื่นชมคือ "ตำนาน" หรือ "ความงมงาย" สำหรับเดวีส์ นั่นต่างหากคือ "สิ่งที่แฝงอยู่ในกระดูก" ของมนุษยชาติ (ใน Fifth Business เขาเคยเขียนว่า "ถ้าให้ผมเลือก คัมภีร์พันธสัญญาเดิมน่าอ่านกว่าพันธสัญญาใหม่เป็นไหนๆ ")

นิยายของเดวีส์จึงเหมือน "วิทยานิพนธ์" ที่พยายามให้เหตุผลเพื่อปกป้องความงมงาย "เหตุผลนิยม" หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มาพร้อมกับความทันสมัย แท้ที่จริงก็คือความงมงายในอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นความงมงายที่โง่งมเสียยิ่งกว่าเก่า เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาจากมนุษย์ที่พยายามหลอกตัวเองว่าฉันเป็นวิทยาศาสตร์แล้วนะ (ถ้าเดวีส์เป็นคนไทย ให้เราเดา เขาคงนิยมชาวบ้านที่ไปขอหวยกับเจลลดไข้ มากกว่าชาวเมืองที่ซื้อหนังสือ "ไอนสไตน์รักพระพุทธเจ้านะ จุ๊บๆ ")

ตำนานของชาวบ้านก็คือวิทยาศาสตร์ ในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัว มันประกอบไปด้วยระบบ และความเป็นเหตุเป็นผลไม่ต่างอะไรจากวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เดวีส์จึงมักชอบจับเอาตัวละครสมัยใหม่ เหตุผลนิยมจัดๆ เข้าไปอยู่ในโลกแห่งตำนาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของคนพวกนี้ต่างหากที่งมงาย ไร้เหตุไร้ผลยิ่งกว่า

ธรรมดาเราเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือชีวประวัติเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบ What's Bred in the Bone มากๆ คือความ "ปรุงแต่ง" ของมัน ทุกเหตุการณ์ถูกขมวดปมเข้าหากันอย่างสวยงาม ถ้ามองในแง่ความเป็นนิยายชีวประวัติ นี่อาจเป็นนิยายที่ล้มเหลว เพราะคงไม่มีใครที่ชีวิตเป็นระเบียบขนาดนี้ จริงๆ แล้วเดวีส์เขียนนิยายชีวประวัติไว้เยอะมาก ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขมวดปมสวยงามเท่านี้ ก็น่าคิดเหมือนกันเหตุใดเขาถึงเลือกวิธีนี้ในนิยายเล่มนี้

J.R.R. Tolkien's "Roverandom"


บอกกันตรงนี้เลยว่า เราไม่ใช่แฟน Lord of the Rings ผลงานของโทลคีนที่เราชอบสุดคือ The Hobbit ซึ่งมาก่อน Lord of the Rings และถือกันว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" ของมิดเดิลเอิร์ธ

แต่ Roverandom เก่าแก่ยิ่งกว่านั้นอีก ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ครอบครัวโทลคีนไปเที่ยวชายหาด ลูกชายคนหนึ่งเผลอวางตุ๊กตาหมาตัวโปรดทิ้งไว้ เมื่อตุ๊กตาถูกน้ำซัดหายใจ เด็กน้อยเสียใจมาก โทลคีนจึงแต่งเรื่องราวของโรเวอร์แรนดอม หมาที่ถูกพ่อมดสาปให้เป็นตุ๊กตา เลยต้องออกผจญภัย เพื่อจะได้กลับมาเป็นหมาดังเดิม โทลคีนเขียน Roverandom ก่อนหน้า The Hobbit แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่เคยได้ออกตีพิมพ์ กระทั่งโทลคีนเสียชีวิตไปแล้ว ถึงได้มีคนเอาต้นฉบับขาดๆ เกินๆ มารวมกันเป็นนิยายเล่มนี้

ใครที่เป็นแฟนโทลคีน Roverandom น่าอ่านมากๆ เพราะมันเป็นพิมพ์เขียวของมิดเดิลเอิร์ธ ทั้งในแง่ฉากและโมทีฟ (เช่นเดียวกับบิลโลและโฟรโด พระเอกของโทลคีนมักจะถูกส่งให้ไปทำภาระอันตรายๆ บางอย่างที่หลายครั้งเจ้าตัวก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือจุดประสงค์การเดินทางของตัวเอง)

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนอย่างเรา สองสิ่งประทับใจสุด หนึ่งก็คือ พอนึกถึงโทลคีน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงนิยายแฟนตาซี แต่ใน Roverandom มีฉากที่โรเวอร์แรนดอมขึ้นไปผจญภัยบนดวงจันทร์ และเผชิญหน้ากับพ่อมด หมาดวงจันทร์ และมังกรขาว ตอนที่โทลคีนเขียนนิยายเล่มนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ไปสำรวจดวงจันทร์เลยด้วยซ้ำ แล้วเราจะจัด Roverandom ว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ได้หรือเปล่า ถ้าได้แล้วเส้นตรงไหนที่แบ่งระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี

นอกจากนี้ Roverandom ยังมีโครงสร้างน่ารักๆ ให้นัก "โครงสร้างนิยม" (เรียกเอง) อย่างเราได้ขบคิด ในนิยายเล่มนี้ โรเวอร์แรนดอมต้องไปผจญภัยสองแห่ง คือบนดวงจันทร์ และใต้สมุทร ทั้งสองที่นี้จริงๆ แล้วก็มีหลายอย่างเหมือนกัน ต่างก็มีพ่อมด มีสุนัข (สุนัขดวงจันทร์และสุนัขเงือก) รวมไปถึงสัตว์ยักษ์คล้ายๆ มังกร การ "ซ้ำ" เรื่องแบบนี้ แทนที่จะซ้ำซาก กลับได้รสวรรณกรรมเอร็ดอร่อย แถมยังเข้ากับความเป็นนิยายเด็กของมันอย่างเหมาะเหม็งอีกด้วย

J. W. Krutch's "Modernism in Modern Drama"


รุ่นน้องเราคนหนึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับ new wave ในวงการวรรณกรรมไทย เธอถามเราว่า new wave ของฝรั่งเป็นยังไง มีอะไรบ้าง เราฟังคำถามแล้วก็ทำตาปริบๆ ก่อนจะตอบว่า "ไม่มีว่ะ" ถ้าพูดถึง "คลื่นลูกใหม่" ก็จะนึกถึงวงการภาพยนตร์หรือศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจเพราะนักเขียนเป็นสิ่งมีชีวิตโดดเดี่ยว (ทั้งลักษณะนิสัย และวิธีการทำงาน) เรื่องรวมหัวกันสร้างกระแส "คลื่นลูกใหม่" แทบไม่เคยปรากฏให้เห็นในโลกตะวันตก (ใกล้เคียงสุดก็อาจเป็นกลุ่มนักเขียนของเวอจิเนียร์ วูล์ฟและสามี)

พูดแบบนี้ใช่ว่าวงการวรรณกรรมไทยจะไม่มีกระแสคลื่นลูกใหม่ ประเทศไทยนั้นเล็กพอที่นักเขียนจะรวมตัวกันสร้างกระแส (และเราก็รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ เสียด้วย) และถ้าจะเข้าใจคลื่นลูกใหม่น่าจะต้องลองกลับไปทบทวนนิยามของ "สมัยใหม่" กันดู

คำถามนี้จะว่าไปแล้วก็น่าเบื่อเอามากๆ ตกลงประเทศไทยมี "สมัยใหม่" หรือยัง แล้วไอ้ "สมัยใหม่" นี่มันมาหลัง "หลังสมัยใหม่" ได้ด้วยหรือ อันที่จริงในทางวรรณกรรม "หลังสมัยใหม่" ไม่จำเป็นต้องมาทีหลัง "สมัยใหม่" เสมอไป วูล์ฟเป็นนักเขียนในยุคเดียวกันกับจอยซ์ แต่หลายคนก็ถือว่าวูล์ฟเป็นสมัยใหม่ ส่วนจอยซ์เป็นหลังสมัยใหม่ (และถ้าเชื่อครัช เทนเนสซี วิลเลียม ซึ่งมาทีหลังทั้งวูล์ฟและจอยซ์ เป็นนักเขียนคลาสสิก หรือ "สมัยก่อน" ไปเลย)

เราชอบนิยามของสมัยใหม่ใน Modernism in Modern Drama มากๆ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรุ่นน้องเราในการนิยามคลื่นลูกใหม่ สมัยใหม่ในทางวรรณกรรมคือความเชื่อว่าสังคมไม่สามารถดำเนินต่อไป อย่างที่มันเป็นอยู่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ก็ต้องอาศัยอะไรใหม่ๆ จินตนาการถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และต้องใหม่ชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อุปมาคือไม่สามารถข้ามเหวด้วยวิธีสร้างสะพานได้ เพราะสะพานก็ยังต้องอาศัยแผ่นดินของฝั่งที่เรายืนอยู่เป็นตัวยึด แต่การข้ามหุบเหวแบบสมัยใหม่ต้องเป็นการกระโดดข้ามเท่านั้น

วรรณกรรมไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะ "สมัยก่อน" ได้ง่ายมากๆ ในแบบสุดโต่ง สมัยก่อนก็คือความต้องการกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรสยาม แต่ในอีกแง่หนึ่ง วรรณกรรมสะท้อนสังคม ที่พยายามชี้ให้เห็นข้อเสีย ข้อด้อยของสภาพปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นสมัยก่อนได้เหมือนกัน เพราะวรรณกรรมพวกนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า สังคมดีได้เพียงเรากำจัดเนื้อร้าย ที่อาจจะมาพร้อมความทันสมัย หรือกระทั่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็ตาม (ด้วยเหตุนี้เรื่องสั้นสตรีนิยม หม้อที่ขูดไม่ออก ของอัญชัญก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นสมัยใหม่ตามนิยามของครัชได้)

ยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม่ใช่ง่ายๆ เลย ถ้ายึดตามครัช ที่จะจำแนกอะไรเป็นสมัยใหม่ ง่ายกว่าเยอะคือดูว่าอะไรไม่ใช่ เช่น แม้คุณวินทร์จะทดลองกับรูปแบบสักแค่ไหน ที่สุดของที่สุดศีลธรรมในผลงานของวินทร์ เลียววาริณก็ยังเป็นสิ่งที่พูดถึงและยอมรับกันได้ในสังคม รวมไปถึงผลงานหลายชิ้นของคุณปราบดา

ครัชยอมรับว่านิยามนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราอาจไม่สามารถแบ่งได้ว่าอะไรสมัยก่อน อะไรสมัยใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราอาจจะพอวัด "ความตั้งใจ" ของคนเขียนได้ว่าต้องการจะเป็นสมัยใหม่หรือสมัยก่อน (หรืออยากเป็นสมัยใหม่ แต่กลายเป็นสมัยก่อนโดยไม่รู้ตัว) เช่นเดียวกัน บางอย่างที่โคตรจะสมัยใหม่ในอดีต มาตอนนี้อาจจะเป็นสมัยก่อน ตามความนิยมของสังคมไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้ วรรณกรรมบางชิ้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะกระโดดข้ามหุบเหวไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่เป็นการกระโดดลงเหว "อย่างสง่างาม" มากกว่า

คำแนะนำจากพี่ถึงน้องรัก ถ้าเธอว์ได้เข้ามาอ่านบลอคนี้ อย่ามองว่านี่คือ "คำตอบ" ของคำถามที่เธอว์กำลังขบคิดอยู่ ให้มองว่านี่คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเธอว์ไปสู่คำตอบนั้นได้​ก็แล้วกัน

G. Greene's "Doctor Fischer of Geneva"


คำจำกัดความที่ดีที่สุดของ Doctor Fischer of Geneva คือ "a sad little farce” ไม่รู้จะแปล farce เป็นไทยว่าไงดี ละครตลกคาเฟ่ ขำอย่างเดียวไม่มีสาระ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องบนเตียง เรื่องใต้สะดือ ตัวละครเปิ่นๆ แรงๆ โง่ๆ แต่พอเอาคำคำนี้มาขยายด้วยคุณศัพท์ "แสนเศร้า" ก็เกิดเป็น oxymoron แปลกๆ ขึ้นมา แค่เขียนนิยายแบบนี้ให้คนอ่านยอมรับได้นี่ก็ชาบูคนเขียนแล้ว

Doctor Fischer of Geneva เป็น farce แน่ๆ นิยายทั้งเล่มแขวนอยู่บนความเชื่อเดียวว่า "คนยิ่งรวยก็ยิ่งโลภ" และโลภเสียจนทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่าอับอายแค่ไหน ฟิชเชอร์เป็นโคตรมหาเศรษฐี งานอดิเรกของเขาคือจัดงานเลี้ยงเล็กๆ โดยชวนเพื่อนสนิทที่เป็นเศรษฐีน้อยๆ ห้าคนมาร่วมงานนี้ ลูกสาวของฟิชเชอร์ตั้งฉายาให้เพื่อนสนิทของพ่อว่าเหล่า "คางคก" ฟิชเชอร์กำหนดกติกาคือเหล่าคางคกจะต้องยอมทำตามทุกอย่างที่เขาสั่ง ห้ามขัดใจเจ้าบ้านเป็นอันขาด ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะได้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งตอบแทนตอนท้ายงาน ทั้งหมดก็เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของฟิชเชอร์เองว่า อะไรคือขีดขั้นต่ำความเป็นคนที่เศรษฐีเหล่านี้จะไต่ลงไปเพื่อให้ได้ของขวัญ เงื่อนไขที่แขกต้องทำ เช่น จับกุ้งมังกรเป็นๆ มาต้มกิน หรือกิน "โจ๊ก" ที่เย็นชืด (porridge คือข้าวต้มโอ้ต ซึ่งไม่ใช่โจ๊กแบบเมืองไทยเสียทีเดียว เข้าใจว่าเป็นอาหารที่ถ้ากินเย็นๆ แล้ว เอาเข้าปากไปคำเดียว อาจอ้วกออกมาได้ง่ายๆ )

ที่พิศวงคือ ของขวัญของฟิชเชอร์ เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้เลิศเลอถึงขนาดว่าเศรษฐีเหล่านี้จะหาซื้อเองไม่ได้ แต่คนพวกนี้ "โลภ" เสียจน ยอมลดระดับศักดิ์ศรีเพื่อเงินทองเล็กๆ น้อยๆ เพราะ "คนยิ่งรวยก็ยิ่งโลภ" (เพื่อตัดกับตัวละครเหล่านี้ กรีนให้ตัวเอกของนิยายเป็นล่ามพิการจนๆ ทำงานอยู่ในโรงงานชอคโกแลต) ถามเราว่าจริงไหม ก็คงจริงในระดับหนึ่ง แต่ถึงขั้นที่กรีนนำเสนอเลยหรือเปล่า อันนั้นเราว่าก็เกินไป เพราะคนยิ่งรวย ก็ยิ่งมีศักดิ์ศรีค้ำคอ หนสองหนคงพอรับได้ แต่ถึงขนาดไปแล้วไปอีก ยอมทนให้ตัวเอกตกต่ำซ้ำซาก เราไม่ค่อยเชื่อแฮะ

แต่อย่างที่บอก นิยายเล่มนี้คือ "a sad little farce” ถ้าจะอ่านให้สนุก ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของกรีน ส่วน "แสนเศร้า" ไม่บอกแล้วกัน อุบไว้ให้อ่านเอง เอาเป็นว่านี่คือนิยายเล่มเล็กๆ ที่บีบคั้นจิตใจเราสุดเล่มหนึ่ง

กรีนเป็นนักเขียนที่มหัศจรรย์มากๆ ในแง่ความหลากหลาย เท่าที่อ่านมาห้าหกเล่ม สไตลเรื่องแกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอๆ กับโลเคชั่น ถ้าไม่รู้ด้วยตัวเอง แต่มีคนบอกว่า Doctor Fischer of Geneva คือคนเขียนคนเดียวกับ The Power and the Glory (ฉากในเมกซิโก) หรือ The Comedians (ฉากเป็นเฮติ) ยังไงๆ เราก็ไม่เชื่อ

W. Empson's "7 Types of Ambiguity"


การไปอยู่เมืองนอกมา 12 ปี อาจช่วยให้คุณอ่านมหากาพย์ 600 หน้าของเจม จอยซ์ได้ แต่คุณก็อาจจอดสนิทเมื่อมาเจอกับซอนเนท 14 บรรทัดของเชคสเปียร์ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการอ่าน 7 Types of Ambiguity หนังสือยาว 300 หน้าของเอมสัน

นี่อาจเป็นหนที่ 5 แล้วกระมัง ที่เราหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หยิบแล้วก็วาง หยิบแล้วก็วางอยู่แบบนี้ ไม่ใช่ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง แต่รู้เรื่องเหมือนเวลาอ่านตำราอาหาร คือไม่มีความเข้าใจมา 8 เปื้อนสมองแม้แต่น้อย

รักชวนหัวไม่ได้อยากตั้งตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากับบทกวี เรามีความเชื่อมาตลอดว่า เพื่อความ 9 หน้าทางสติปัญญา อะไรที่ยิ่งไม่ชอบก็ยิ่งต้องรับประทานเข้าไปเป็นยาขม จริงๆ 7 Types of Ambiguity จำเป็นมากๆ กับเมืองไทยในปัจจุบัน เมื่อกลอนเปล่าได้รางวัลซีไรต์ นี่จะเป็นสัญญาณหรือเปล่าว่าอีกไม่น่าคนจะแห่ไปเขียนกลอนเปล่า เช่นนั้น เราจะเอาอะไรไปตัดสินความงามของบทกวีที่ไม่มีฉันทลักษณ์

เอมสันเสนอว่า "ความคลุมเครือ" นี่ต่างหาก ฉันทลักษณ์ของกลอนเปล่า และเป็นสิ่งที่สร้างความไพเราะให้กับการอ่าน โดยเขากำหนดความคลุมเครือขึ้นมา 7 ชนิด (ทำไมต้อง 7 ด้วย จงใจเพราะเลขสวยหรือบังเอิญ) ฝรั่งน่าจะเชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้ เพราะเขาเขียน เขาอ่านกลอนเปล่ากันมานานกว่าคนไทย (กลอนฉันทลักษณ์ของฝรั่ง เผลอๆ บางทีจะ "เปล่า" เสียยิ่งกว่ากลอนเปล่าของไทยอีก)

อ่านๆ ไป ก็พลอยสงสัยว่า ถ้าคนไทยหันมาเขียนมาอ่านกลอนเปล่าจริง แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่สักวันจะเกิด Cult of Pure Sound ขึ้นในโลกตะวันตก คืออ่านแค่เอาเสียง เอาความพอใจ เนื้อหาสาระอะไรโยนทิ้งให้หมด เพราะ "อารมณ์และความรู้สึกนี่แหละ เป็นพลังทางปัญญาอย่างหนึ่งของมนุษย์"

น่าจะยากนะ น่าจะยากชิมิ

รัวชวนหัก รักชวนหัว


มาเรียค่ะ รักชวนหัวปรับปรุงบลอคเล็กน้อย เลยฝากมาเรียมาแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบ อย่างแรกคือ สารบัญแบ่งออกเป็นสองส่วนแล้วนะคะ สำหรับหนังสือต่างประเทศ และหนังสือไทยบวกข้อความเบ็ดเตล็ด รัวชวนหัก เอ้ย! รักชวนหัวฝากกระซิบบอกมาเรียว่า ในส่วนหนังสือไทยและข้อความเบ็ดเตล็ด คงไม่ค่อยอัพเดทแล้ว เพราะบทความเหล่านั้นจะเอาไปแปะเวบอื่นแทน

อีกเรื่อง คิดเสียว่ามาเรียขอร้อง สำหรับใครที่อยากโพสข้อความ กรุณาใส่ชื่อด้วยนะคะ เป็นชื่อมั่วๆ ที่ตั้งเอง หรืออักษรย่อสักตัวก็ยังดี สาเหตุคือ junk message เยอะเหลือเกิน รักชวนหัวก็เลยทำฟิลเตอร์ แจ้งเตือนเฉพาะข้อความที่ผู้โพสใส่ชื่อเท่านั้น ถ้าอยากให้จดหมายรักถึงมือมาเรีย และพี่รัวชวนหักเร็วๆ ลงชื่อด้วยนะคะ

<3 มาเรีย <3

สารบัญนิยาย



A

M. Allingham's "Cargo of Eagles"
E. A. Abbott's "Flatland"
J. Agee's "A Death in the Family"
Martin Amis's "The Information"
M. Amis's "Other people"
Margaret Atwood's "Dancing Girls"
M. Atwood's "The Blind Assassin"
Magaret Atwood's "The Handmaid's Tale"
Magaret Atwood's "Surfacing"
J. Austen's "Pride and Prejudice"
Paul Auster's "The Book of Illusion"

B

S. Bellow's "Henderson the Rain King"
R. Banks's "The Book of Jamaica"
R. Banks's "Continental Drift"
H. De Balzac's "Old Goriot"
A. Bechdel's "Fun Home: A Family Tragicomic"
Saul Bellow's "The Adventures of Augie March"
I. Bergman's "The Reduction Trilogy"
Alfred Bester's "Virtual Unreality"
H. Boll's "18 Stories"
J.L. Borges's "Fictions"
E. S. Bowen's "Return to Laughter"
Janes Bowles's "Plain Pleasures"
Jane Bowles's "Two Serious Ladies"
R. Bradbury's "The Golden Apples of the Sun"
A. Breton's "Nadja"
S. Brijs's "The Angel Maker"
E. Bronte's "Wuthering Heights"
C. Buckley's "Little Green Men"
Antony Burgess's "Inside Mr. Enderby"
Charles Bukowski's "South of No North"
C. Bukowski's "Ham on Rye"
A. S. Byatt's "Angels & Insects"
A. Burgess's "The End of the World News"

C

R. Carver's "Elephant"
Italo Calvino's "Cosmicomics"
I. Calvino's "The Road to San Giovanni"
I. Calvino's "Numbers in the Dark"
Italo Calvino's "Difficult Loves"
Italo Calvino's "Hermit in Paris"
Italo Calvino's "If on a Winter's Night a Traveler"
Italo Calvino's "The Path To The Spiders' Nests"
I. Calvino's "t zero"
L. Carrington's "The Hearing Trumpet"
J. D. Carr's "The Problem of the Green Capsule"
A. Carter's "Love"
A. Carter's "Shadow Dance"
Angela Carter's "Wise Children"
Angela Carter's "The Magic Toyshop"
Raymond Carver's "Cathedral"
Raymond Carver's "What We Talk about When We Talk about Love"
R. Carver's "Will You Please Be Quiet, Please?"
C. Castaneda's "The Teachings of Don Juan"
S. O' Casey's "Three Dublin Plays"
Claude Caudwell's "Illusion and Reality"
R. Chandler's "The Simple Art of Murder"
G.K. Chesterton's "The Man Who Was Thursday"
Agatha Christie's "Death on the Nile"
A. Christie's "The Mystery of the Blue Train"
A. Christie's "Sad Cypress"
A. Christie's "The Secret Adversary"
A. Christie's "Hercule Poirot's Chirstmas"
Paulo Coelho's "The Valkyries"
P. Coelho's "The Witch of Portobello"
J.M. Coetzee's "Foe"
J. Conrad's "Heart of Darkness and Other Stories"
J. Conrad's "The Secret Agent"
F. W. Crofts's "The 12:30 from Croydon"
A. Camus's "The Fall"
W. Collins's "The Moonstone"

D

Robertson Davies's "High Spirits"
R. Davies's "What's Bred in the Bone"
R. Davies's "A Mixture of Frailties"
R. Davies's "Leaven of Malice"
R. Davies's "Tempest Tost"
Robertson Davies's "The Manticore"
R. Davies's "The Rebel Angels"
Robertson Davies's "World of Wonders"
K. Desai's "The Inheritance of Loss"
Philip K. Dick's "Flow My Tears, the Policeman Said"
C. Dicken's "The Tale of Two Cities"
C. Dickson's "The Plague Court Murders"
Isak Dinesen's "Ehrengard"
E. L. Doctorow's "Ragtime"
Fyodor Dostoevsky's "Demons"
D. Du Maurier's "Don't Look Now"
P. K. Dick's "The Simulacra"

E

Umberto Eco's "The Mysterious Flame of Queen Loana"
H. Ellison's "I, Robot"

F

W. Faulkner's "The Reivers"
W. Faulkner's "As I lay Dying"
William Faulkner's "The Sound and the Fury"
J. Fforde's "Lost in a Good Book"
J. Fforde's "The Big over Easy"
F. S. Fitzgerald's "This Side of Paradise"
G. Flaubert's "Madame Bovary"
J. Fowles's "The French Lieutenant's Woman"

G

G. Greene's "The Human Factor"
G. Greene's "A Burnt-Our Case"
C. E. Gadda's "That Awful Mess on the Via Merulana"
A. Garve's "Home to Roost"
W. Gombrowitz's "Ferdydurke"
Gunter Grass's "Crabwalk"
Gunter Grass's "The Gunter Grass Reader"
Robert Graves's "I, Claudius"
G. Greene's "The Captain and the Enemy"
Graham Greene's "The Power and the Glory"
G. Greene's "Doctor Fischer of Geneva"
G. Greene's "Monsignor Quixote"
G. Greene's "The Tenth Man"
B. Greene's "The Fabric of the Cosmos"
G. Greene's "The Comedians"
G. Greene's "The Quiet American"
G. Greene's "The Ministry of Fear"
G. Greene's "A Gun for Sale"
G. Greene's "Our Man in Havana"

H

R. Harris' "Imperium"
E.T.A. Hoffmann's "The Golden Pot and Other Tales"
J. Haldeman's "Old Twentieth"
V. Havel's "The Garden Party and Other Plays"
N. Hawthorne's "The Scarlet Letter"
Ernest Hemingway's "The First Forty-Nine Stories"
E. Hemingway's "The Sun also Rises"
Herman Hesse's "Damien"
H. Hesse's "Peter Camenzind"
Herman Hesse's "Journey to the East"
Herman Hesse's "Narcissus and Goldmund"/"Steppenwolf"
Herman Hesse's "Knulp"/"Siddhartha"
R. E. Howard's "The Black Stranger and Other American Tales"
M. Heidegger's "Being and Time"
N. Hawthorne's "The House of the Seven Gables"
H. Hesse's "Klingsor's Last Summer"

I

M. Innes's "Honeybath's Haven"
M. Innes's "Hamlet, Revenge!"
Kasuo Ishiguro's "The Remains of the Day"
H. Ibsen's "Four Major Plays"

J

S. Jackson's "The Melancholy of Anatomy"
H. James's "The Wings of the Dove"
M.R. James's "The Haunted Dolls' House and other Stories"
J. Joyce's "A Portrait of the Artist as a Young Man"
J. Joyce's "Ulysses"
H. James's "The Bostonians"

K

Arthur Koestler's "Darkness at Noon"
L. Krasznahorkai's "The Melancholy of Resistance"

L

Jhumpa Lahiri's "Interpreter of Maladies"
Harper Lee's "To Kill a Mockingbird"
D. Lessing's "The Memoirs of a Survivor"
Doris Lessing's "The Fifth Child"
D. Lessing's "The Grandmothers"
D. Lodge's "Author, Author"
S. Lewis's "Babbitt"

M

Nagib Mahfouz's "Thebes at War"
N. Marfouz's "Arabian Nights & Days"
T. Mann's "Royal Highness"
Thomas Mann's "Death in Venice"
G. Martinez's "The Oxford Murders"
H. Melville's "Moby-Dick"
W. M. Miller Jr.'s "A Canticle for Leibowitz"
M. Moorcock's "Behold the Man"
A. Moravia's "Erotic Tales"
A. Moravia's "The Conformist"
H. Murakami's "The Second Bakery Attack"
I. Murdoch's "The Time of the Angels"
Iris Murdoch's "Jackson's Dilemma"
I. Murdoch's "The Italian Girl"
I. Murdoch's "The Nice and the Good"
I. Murdoch's "The Red and the Green"
I. Murdoch's "The Philosopher's Pupil"
I. Murdoch's "The Unicorn"
I. Murdoch's "The Flight from the Enchanter"
I. Murdoch's "A Word Child"
Iris Murdoch's "Nuns and Soldiers"
Iris Murdoch's "The Sacred and Profane Love Machine"
Iris Murdoch's "A Severed Head"
I. Murdoch's "The Message to the Planet"
I. Murdoch's "Bruno's Dream"
I. Murdoch's "The Bell"
I. Murdoch's "An Accidental Man"
I. Murdoch's "Henry and Cato"
I. Murdoch's "The Sovereignty of Good"
R. Musil's "The Man wihtout Qualities"
M. Moorcock's "Elric of Melnibolne"
Y. Martel's "Beatrice and Virgil"
W. S. Maugham's "The Magician"
Moliere's "One-Act Comedies"

N

O

P

H. Pinter's "The Caretaker/The Homecoming"
O. Pamuk's "Snow"
Ann Patchett's "Bel Canto"
Ann Patchett's "The Magician Assistant"
Walker Percy's "The Moviegoer"
S. Plath's "The Bell Jar"
Plato's "Symposium"
M. Proust's "Swann's Way"
M. Puig's "Kiss of the Spider Woman and two other plays"
J. L. Pires's "The Universe and the Refrigerator"
R. Patel's "The Value of Nothing"
A. Perez-Reverte's "The Fencing Master"

Q

E. Queen's "And on the Eigth Day"

R

P. Roth's "American Pastoral"
J. K. Rowling's "Harry Potter and the Deathly Hallows"
Salman Rushdie's "Midnight Children"
M. D. Russel's "The Sparrow"
J. Rhys's "Wide Sargasso Sea"
S. Ray's "Feluda's Last Case"

S

W. Shakespeare's "Two Gentlemen of Verona/Measure for Measure"
U. Saba's "Ernesto"
Jean-Paul Sartre's "No Exit and Three Other Plays"
J. Sartre's "Intimacy"
J. J. Saer's "The Investigation"
F. de Saussure's "Course in General Linguistics"
W. Scott's "Ivanhoe"
William Shakespeare's "King Lear"
Williams Shakespeare and Benjamin Britten's "A Midsummer Night's Dream"
R. Shea and R. A. Wilson's "The Eye in the Pyramid"
G. Simenon's "The Bar on the Seine"
U. Sinclair's "The Jungle"
T. Stoppard's "The Coast of Utopia"
T. Sturgeon's "More than Human"
Graham Swift's "Last Orders"
J. M. Synge's "The Playboy of the Western World"
G. B. Shaw's "John Bull's Other Island"
I. B. Singer's "The Magician of Lublin"
W. Shakespeare's "Pericles/Cymbeline"

T

M. Twain's "A Connecticut Yankee in King Arthur's Court"
J.R.R. Tolkien's "Roverandom"
A. B. Toumi's "Madah-Sartre"

U

V

J. Vanbrugh's "The Relapse and Other Plays"

W

J. Walter's "The Zero"
E. Waugh's "Brideshead Revisited"
Nathaniel West's "The Day of the Locust"
Oscar Wilde's "The Picture of Dorian Gray"
Tennessee Williams's "The Glass Menagerie"/"A Streetcar Named Desire"
Tenessee Williams's "27 Wagons Full of Cotton and Other Plays"
T. Wolfe's "The Right Stuff"
Virginia Wolfe's "Mrs. Dalloway"
V. Woolfe's "To the Lighthouse"
R. Windor's "The Final Act of Mr Shakespeare"
V. Woolf's "The Years"

X

Y

Z

R. Shea and R. A. Wilson's "The Eye in the Pyramid"


"ไม่เอาถ่าน"

สั้นๆ ชัดเจนดีไหมสำหรับ The Eye in the Pyramid นิยายเล่มแรกในไตรภาค Illuminatus! ซึ่งก็คงไม่มีเล่มอื่นตามมาแล้ว เนื้อเรื่องก็เหมือนชื่อ เป็นนิยายเกี่ยวกับองค์กรลับอิลูมินาติ ที่คอยชักใยประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลัง ถ้านิยายเล่มนี้จะมีคุณค่าอันใดบ้าง ก็คงช่วยให้เราชื่นชอบ Angel and Demon มากขึ้น และตระหนักในอัจฉริยะภาพของเอโคที่สามารถเขียน Foucault's Pendulum ออกมาได้ (นิยายสองเล่มหลังนี้ก็เกี่ยวกับองค์กรอิลูมินาติเหมือนกัน)

ความรู้สึกเวลาอ่าน The Eye in the Pyramid คือเหมือนเวลาครูเรียกเด็กให้ลุกขึ้นตอบคำถามในห้องเรียน เด็กบางคน พอตอบคำถามไม่ได้ แทนที่จะยอมรับหรืออึ้งๆ ไป ก็จะ "เคี้ยวฉาก" (chew the scenery) โดยการโวยวายอ้างนู่นอ้างนี่จนกว่าครูจะยอมรับว่าตัวเองผิดเองที่เรียกเด็กคนนี้ขึ้นมาตอบ

ไม่ว่าบทบาทและอิทธิพลของอิลูมินาติต่อประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องจริงหรือยกเมฆ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ถ้าคุณจะเขียนนิยายเกี่ยวกับองค์กรนี้ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคุณต้องปึกระดับเอโค ถ้างูๆ ปลาๆ แบบแดน บราวน์ อาศัยวิธีแถไปเรื่อยๆ ก็ยังพออภัยให้ได้

แต่สิ่งที่คู่หูเชียและวิลสันทำคือการ "เคี้ยวฉาก" The Eye in the Pyramid เป็นนิยายที่โหวกเหวกโวยวายที่สุดเรื่องหนึ่ง มันเต็มไปด้วยการระเบิดตัวของกลวิธีการเขียน หลายเหตุการณ์จากต่างสถานที่ต่างยุคสมัยผสานกันเข้ามาแบบหายใจรดต้นคอ ย่อหน้าต่อย่อหน้า หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยฉากเซ็ก ยาเสพติด และความเหนือจริง

แต่ทั้งหมดนี้เพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อปกปิดความจริงว่าเชียและวิลสันไม่ได้ทำการบ้านมาดีพอที่จะเขียนนิยายเกี่ยวกับอิลูมินาติได้ จบข่าว

N. Frye's "The Educated Imagination"


เราได้อ่าน The Educated Imagination ช้าเกินไป น่าจะหยิบมันขึ้นมาตั้งแต่เมื่อสอง สามปีที่แล้ว เมื่อเริ่มศึกษาทฤษฎีการวิจารณ์วรรณกรรมอย่างค่อนข้างจริงจัง หนังสือเล่มนี้ถอดความจากบทบรรยายทางวิทยุของฟราย ประเด็นคือ "ทำไมเราต้องเรียนวิชาวรรณกรรม" โดยฟรายสมมติให้ผู้ฟังเป็นนักเรียนในชั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนทฤษฎีการวิจารณ์เบื้องต้น สำหรับผู้เริ่มหัดเอาดีทางนี้ ด้วยความที่มันค่อนข้างสั้น ประกอบกับภาษาอังกฤษที่ใช้ก็ไม่ได้ยากเกินไปนัก จึงอยากแนะนำมากๆ ให้ไปลองหามาอ่านกันดู

ถึงจะ "เบื้องต้น" แต่ไม่ "ตื้นเขิน" แน่ๆ หลายสิ่งที่ฟรายพูดเป็นหัวข้อทฤษฎี ที่นักปรัชญาก็ยังคงถกเถียงกันมิจบสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ฟรายเชื่อว่าวรรณกรรมไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความจริง แต่มาจากวรรณกรรมด้วยกันเอง (พูดแบบภาษาเราก็คือ ประสบการณ์ในการอ่านหนังสือสำคัญกับการทำความเข้าใจและผลิตวรรณกรรมมากกว่าประสบการณ์ตรง) ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมวรรณกรรมของทุกชาติย่อมต้องสามารถสาวไปหาหนังสือต้นตำรับเล่มใดเล่มหนึ่งได้

ฟรายเสนอว่า สำหรับโลกตะวันตก หนังสือเล่มนั้นก็คือคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าคุณอาศัยอยู่ในโลกตะวันตก คงยากที่จะหลีกเลี่ยงอิทธิพลของ "วรรณกรรม" ชิ้นนี้

แต่ทฤษฎีตัวนี้ก็ก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือ แล้วในสังคมไทยเล่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระไตรปิฎกไม่ได้มีบทบาททางวัฒนธรรมกับชาวพุทธในเมืองไทย มากเท่าคัมภีร์ไบเบิล ถ้าเช่นนั้นวรรณกรรมไทยมีหนังสือต้นตำรับหรือเปล่า หรือต่อให้คนไทยไม่คุ้นเคยกับพระไตรปิฎก เป็นไปได้หรือเปล่าว่าตำนานมุขปาฐะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะส่งอิทธิพลแบบเดียวกับคัมภีร์ไบเบิล อะไรคือบทบาทของตำนานพุทธศาสนา เมื่อเทียบกับวรรณคดีไทยชิ้นเอกทั้งสี่เรื่อง และตำนานพื้นบ้าน

คำถามข้างบนนี้ไม่มีคำตอบ แต่มันนำไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เราเคยพูดไปแล้วว่าเป็นเรื่องน่าอับอายจริงๆ ที่คนไทยแทบไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเลย ตอนนั้นเราเชื่อว่าเป็นอคติแบบชาตินิยม ผนวกกับกำแพงภาษา แต่บัดนี้ เราตระหนักแล้วว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะศาสนาพุทธหินยาน (ซึ่งเป็นศาสนาหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีป) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพระไตรปิฎกมากเท่าศาสนาคริสต์ ดังนั้นประเทศไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ก็เลยไม่สามารถแบ่งปันวัฒนธรรมร่วมกันได้เท่ากับประเทศในทวีปยุโรป

ส่วนตัวเราว่าประเด็นนี้ "เร่งด่วน" อย่างยิ่ง ที่เราจะพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมพุทธศาสนาของประเทศเพื่อนบ้าน เราเชื่อว่า เพื่อการสร้างประวัติศาสตร์ของภูมิภาค (มาแทนที่ประวัติศาสตร์ชาตินิยม) การพยายามเข้าใจพุทธศาสนาน่าจะสำคัญไ่ม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศึกษาประวัติศาสตร์ หรือการเมืองเลย

ในบทสุดท้ายของ The Educated Imagination ฟรายพูดถึงประเด็นการเมือง และข้อจำกัดของภาษา วิธีคิดแบบ "เสรีชน" และวิธีคิดแบบ "ม็อบ" หลายอย่างก็ชวนให้นึกถึงคำกล่าวของซาร์ตใน What is Literature? ฟรายนิยมชมชอบบทกวีมากกว่าซาร์ต แต่จุดร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือ กวีที่ปราศจากความเป็น "เสรีชน" ก็คือกวีที่รู้จักแต่การเอาสำนวนซ้ำๆ ซากๆ (cliche) มาต่อกันให้ไพเราะด้วยสำเนียงคล้องจ้อง cliche คือเครื่องมือชั้นดีคนที่ไม่มีความคิด เพราะมันสามารถสร้างภาพลวงตาของการใช้สติปัญญา โดยที่จริงๆ ไม่มีเซลสมองส่วนใดเลยในหัวที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนั้น