A. Carter's "Love"


Love เป็นนิยายสั้นๆ ที่อ่านแล้วเหนื่อยมาก ซึ่งอาจตรงตามเป้าประสงค์ของผู้เขียนก็ได้ คาร์เตอร์กล่าวในบทส่งท้าย (ซึ่งถูกเขียนขึ้น เกือบยี่สิบปี ภายหลังนิยายถูกตีพิมพ์ครั้งแรก) ว่าหล่อนใช้บรรยากาศของอังกฤษในยุค 60s นำมาสร้างเป็นนิยายแห่งความทุกข์ตรม เรื่องของผู้หญิงสติไม่ดีที่ถูกสามี และน้องเขยกดดัน บีบบังคับจนหล่อนฆ่าตัวตาย โดยที่ฝ่ายชายทั้งจงใจ ทั้งไม่จงใจ และบางครั้งก็ทำไปด้วยความหวังดี

บทส่งท้ายอาจเป็นส่วนที่น่าสนใจสุดของเล่มก็ได้ คาเตอร์วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าเหตุการณ์ใน Love เกิดในโลกซึ่ง "สิทธิสตรี" ยังไม่แพร่หลาย หากมองนิยายเล่มนี้ด้วยสายตาของคนในอีกยี่สิบปีถัดมา อะไรๆ จะชัดเจน และง่ายดายขึ้นเยอะ ลี สามีของแอนนาเบล แท้ที่จริงก็คือผู้ชายเลวๆ แบบที่นักสิทธิสตรีต่อต้านมาทุกยุคทุกสมัย คาร์เตอร์ในปี 69 ตอนที่เขียน Love ยังเห็นใจลีอยู่กลายๆ แต่คาร์เตอร์ในอีกยี่สิบปีให้หลัง ไม่หลงเหลือความเห็นใจใดๆ ให้กับตัวละครตัวนี้แล้ว

ในบทส่งท้าย คาร์เตอร์เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเหล่าตัวละครหลังนิยายจบ หล่อนต้องฝืนตัวเองอย่างมากไม่ให้คืนชีพแอนนาเบลขึ้นมา ตอนจบของ Love สวยงามในแบบที่มันควรจะเป็น และหล่อนไม่ต้องการทำลายความสวยงามนั้น อย่างไรก็ดี คาร์เตอร์ได้สร้างตัวละครใหม่ตัวหนึ่ง โรซีเป็นภรรยาคนที่สองของลี เช่นเดียวกับที่บทส่งท้ายกลายเป็นส่วนที่น่าสนใจสุดโดยไม่ได้ตั้งใจ โรซีก็เป็นตัวที่กุมใจเราสุดเช่นกัน (ทั้งที่เธอโผล่มาแค่สามสี่หน้า)

โรซีเป็นกึ่งกลางระหว่างนักบำบัดอาชญากร และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ภายหลังการตายของแอนนาเบล ลีลงโทษตัวเองด้วยยาเสพติด สภาพอันน่าสมเพชของชายหนุ่มดึงดูดโรซี โรซีต้องการช่วยเหลือลีในทีแรก แต่ภายหลังจากแต่งงาน อยู่กินกัน จนมีลูกสาว โรซีถึงตระหนักในตัวตนที่แท้จริงของสามี ว่าเป็นผู้ชายซึ่งชอบเอารัดเอาเปรียบเพศตรงข้าม และกดดันภรรยาคนแรกจนหล่อนต้องฆ่าตัวตาย ตั้งแต่นั้นทั้งคู่มีปากเสียงกันแทบทุกวัน เพื่อให้ Love "จบดี" โรซี ในแง่หนึ่งคือตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมา (อย่างลวกๆ ด้วยซ้ำ) เพื่อลงโทษลีโดยเฉพาะ

ในความเป็นนิยายฮิปปี้ของมัน Love ก็ดีในแบบที่มันดีแล้วล่ะ แต่ถ้าขาดบทส่งท้ายไปเสีย สำหรับเรา หนังสือเล่มนี้คงจืดลงไปเยอะ

ทุนเก่า ทุนใหม่ กลางเก่า กลางใหม่


ตั้งแต่ปะทะกันช่วงต้นเดือนตุลา เหมือนสองสามอาทิตย์นี้ กรุงเทพยังสงบอยู่ได้ในระดับหนึ่ง ก็ไม่รู้จะเป็นความสงบก่อนพายุร้าย ดังที่โหรทำนายไว้หรือเปล่า แม้จะแค่ชั่วคราว แต่ความสงบก็เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะความสงบ มักนำมาซึ่งปัญญา อาทิตย์ที่แล้ว ได้อ่านบทความซึ่งเขียนจากมุมมองของ "ปัญญา" ไม่ใช่จากมุมมองของ "อารมณ์" ดังเช่นบทความใส่ร้ายป้ายสีกัน

บทความที่มาจากมุมมองของปัญญาได้แก่ ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ ของอาจารย์เกษียร บทสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ และการปรับระบบการเมืองของอาจารย์นิธิ อยากให้ไปอ่านเองทั้งสามลิงค์ครับ เพราะฟังผมตีความ ก็ต้องฟังหูไว้หูกันบ้าง ที่อยากหยิบมาเล่าให้ฟัง และชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญซึ่งแตกต่างกันระหว่างสามบทความนี้ เพราะมันอาจช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้อย่างจะแจ้งขึ้น

เริ่มจากบทสัมภาษณ์ก่อน อาจารย์สุลักษณ์มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือละครหุ่นซึ่งถูกเชิดโดยผู้มีอำนาจสองฝ่าย คือ "กลุ่มทุนเก่า" และ "กลุ่มทุนใหม่" กลุ่มทุนเก่านี้ พูดแบบไม่กลัวเกรงใคร ก็ต้องบอกว่าเป็นกลุ่มศักดินาที่พันธมิตรชอบเอาไปใช้แอบอ้างนั่นแหละ ซึ่งคำว่า "กลุ่ม" (แน่นอนคือไม่ใช่คนคนเดียว ดังนั้นอาจจะมีใครบางคนในกลุ่มที่ไม่ได้เห็นด้วยกับพันธมิตร ก็ยังไม่ถือว่าการตีความของอาจารย์สุลักษณ์ผิดเพี้ยนไปนะครับ) ส่วนกลุ่มทุนใหม่มีสัญลักษณ์คืออดีตนายกทักษิณ โดยไม่จำเป็นว่าคุณทักษิณต้องเป็นผู้นำกลุ่ม หรือมีอำนาจสูงสุดในกลุ่มเสมอไป คนเหล่านี้ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงอำนาจ และเพื่อการนี้ จึงจัดฉาก จัดละคร ดึงประชาชนมาเป็นหุ่น เป็นนักแสดง เป็นวีรบุรุษ วีรสตรี หรือผู้ร้ายอะไรก็ว่ากัน

ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน มีหลายส่วนคล้ายคลึงกับบทสัมภาษณ์ โดยอาจารย์เกษียรมองว่าความขัดแย้งนี้คือการปะทะกันระหว่างประชาชน และเป็นความตั้งใจของประชาชนเอง โดยไม่ใช่ว่าพวกเขาเป็นหุ่นชัก หุ่นเชิดของใคร ประชาชนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย และอีกกลุ่มอยู่ข้างสถาบันสูงสุด ถ้ามองว่าตอนนี้เสียงส่วนใหญ่ อันเป็นหลักถาวรของประชาธิปไตยอยู่ในมือกลุ่มทุนใหม่ จะตีว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนกลุ่มทุนใหม่ และทุนเก่าเหมือนกับในบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ก็ย่อมได้

แต่ต้องระวังนิดหนึ่งคือ กลุ่มขั้วตรงข้ามกับพันธมิตร ไม่ได้จำเป็นว่าต้องสนับสนุนทุนใหม่ หรือคุณทักษิณเสมอไป บางคนโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบพรรคพลังประชาชนอย่างออกนอกหน้าด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก พวกเขาเลยจำยอมต้องยืนอยู่ข้างเดียวกับกลุ่มทุนใหม่ไปโดยปริยาย (เช่นอาจารย์ใจ ที่ท่านบอกว่าไม่ได้เลือกพลังประชาชน แต่เมื่อพรรคชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องทำตามกติกา)

การปรับระบบการเมือง ของอาจารย์นิธินั้น ถือเป็นสุดขั้วอีกทางหนึ่งเลยกับบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์นิธิไม่ได้พูดถึงทุนใหม่ ทุนเก่าด้วยซ้ำ แต่มองว่านี่คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางในเมืองหลวง (ผมขอเรียกสั้นๆ แล้วกันว่า "กลุ่มกลางใหม่" และ "กลุ่มกลางเก่า") กล่าวคือเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มกลางใหม่มีจำนวนมากขึ้น อำนาจอธิปไตยเลยถูกโยกย้ายจากกลุ่มกลางเก่า เข้าไปหากลุ่มกลางใหม่ พันธมิตรก็คือกระบอกเสียงของกลุ่มกลางเก่าที่ต้องการเอาอำนาจบางส่วนโดยเฉพาะ "การถอดถอน" รัฐบาลกลับคืนมา (เหมือนดังที่เราได้ยินมาตลอดว่า คนต่างจังหวัดมีหน้าที่เลือกผู้นำ ส่วนคนกรุงเทพมีหน้าที่ขับไล่ผู้นำ)

ขออนุญาตยกกรอบปรัชญาทางประวัติศาสตร์มาสรุปความแตกต่างระหว่างราษฎรอาวุโสทั้งสามท่าน บทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์คือการติความประวัติศาสตร์แบบคลาสสิค ใช้ "ชนชั้นนำ" (ซึ่งในปัจจุบัน เศรษฐี หรือนายทุนก็มีศักยภาพเป็นชนชั้นนำพอๆ กับเจ้า) มาอธิบายปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์ ส่วนของอาจารย์นิธิ เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบจิตร ภูมิศักดิ์ (หรือแบบมาร์ก) โดยอิงปรากฎการณ์บนโครงสร้างทางสังคม ส่วนของอาจารย์เกษียรเหมือนเป็นการประนีประนอมระหว่างสองขั้วที่แตกต่างกันนี้

ไม่มีใครผิด หรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าดูจากความพรักพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ของกลุ่มพันธมิตร แน่นอนว่าต้องมีผู้ออกทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจับต้องได้กว่าผู้บริจาคเงินทีละแสนสองแสน (เคยมีคนประมาณว่าพันธมิตรเป็นม็อบที่สิ้นเปลืองที่สุดม๊อบหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก) เช่นเดียวกับที่กลุ่มเสื้อแดงสามารถขอใช้พื้นที่สนามกีฬาเมืองทองได้ เราไม่อาจมองข้ามตัวตนของผู้สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าจะเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย หรือเพราะเขาเป็นกลุ่มกลางใหม่ ที่อิงผลประโยชน์กับกลุ่มทุนใหม่นี้ คนที่ใส่เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเดินขบวนอยู่บนท้องถนน คงมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอก ถูกเชิดด้วยละครน้ำเน่า สมดังที่อาจารย์สุลักษณ์เอ่ย แต่ก็คงมีอยู่มากที่มองเห็นอนาคตของตนแขวนอยู่บนความขัดแย้งคราวนี้

การที่เราตระนักถึงความซับซ้อนตรงนี้ จะเกิดประโยชน์โภคผลใดๆ กับตัวเรา หรือประเทศชาติหรือเปล่า อาจจะไม่เลยก็ได้ครับ และผมก็เชื่อด้วยว่า ถ้าจะตีแตกมิติปัญหา ยังสามารถมองได้จากหลายมุมยิ่งกว่านี้อีก แต่อย่างน้อย ให้ตระหนักว่าคำตอบของความขัดแย้งนี้ ไปไกลกว่า "ความจงรักภักดี" หรือ "กำจัดขี้ข้าทักษิณ" แค่นี้ก็เป็นคุณอย่างเหลือเฟือแล้ว

I. Murdoch's "A Word Child"


อ่าน A Word Child ไปได้ 150 หน้า เราถึงกับต้องถามตัวเองว่า หรือนี่แหละ จุดอิ่มตัวระหว่างเราและไอริช เมอดอช จากนิยาย 23 เล่มของเธอ ที่เราตั้งใจว่าต้องอ่านให้ครบ ตอนนี้ก็เกินครึ่งทางมาได้สักสิบห้า สิบหกเล่มแล้ว A Word Child อาจจะเป็นนิยายที่ทำให้เราต้องยอมรับเสียทีว่า พอได้แล้ว ต่อให้เมอดอชเป็นสุดยอดนักเขียนยังไง ก็คงไม่ถึงขนาดเขียนเรื่องเดิมๆ ซ้ำซากไปมา แล้วเรายังอ่านสนุกได้ A word Child นี่แหละ เดทครั้งสุดท้ายแล้วระหว่างเรา และเมอดอช

ปรากฏว่าไม่แฮะ

พูดถึงความเดิมๆ ของมันก่อน ขนาดจะเขียนเรื่องย่อ ยังแอบขี้เกียจเลย พื้นหลังของตัวละครในเล่มนี้แทบไม่ต่างจากสิบหกเล่มก่อนหน้านั้น พระเอกผู้มีตราบาปจากอดีต สามีภรรยาที่ชอบเสแสร้างความเอื้ออารี อัจฉริยะที่เป็นเกย์ และตัวละครผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ จับพวกเขาโยนลงหม้อ แล้วคน คน คน แค่นี้ก็ออกมาเป็นนิยายสูตรสำเร็จ แต่ที่ทำให้ A Word Child แตกต่าง และน่าอ่านน้อยกว่าเล่มอื่นๆ คือพระเอกของเรื่อง ฮิลลารี เป็นมนุษย์ที่น่ารังเกียจสุด เท่าที่เคยปรากฎในนิยายของผู้เขียน ซึ่งเมอดอชเองก็คงตระหนักจุดนี้ ครั้งหนึ่งฮิลลารีหันมาพูดกับคนอ่านว่า "ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงตอนนี้ คุณคงรู้แล้วว่าผมเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวเพียงใด และตั้งแต่หน้านี้ไปจนจบ ผมก็ยังคงเป็นเช่นนี้" (นิยายเรื่องนี้เขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง) ส่วนโธมัส คนรักของเขา ก็เป็นผู้หญิงที่สุดแสนจะน่ารำคาญ

ว่าจะเลิกอ่านอยู่รอมร่อ จนถึงหน้า 200 อยู่ดีๆ เราก็เริ่มสนุกไปกับตัวหนังสือ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นความสนุก "แบบเดิมๆ " ที่เราชอบ และคุ้นเคย หรือมีบางอย่างพิเศษในนิยายเล่มนี้ A word Child พีคสุดๆ ช่วงประมาณสามในสี่เล่ม เมื่อเราตระหนักว่า "ผู้ร้าย" คือใคร และ "เธอ" เป็นสัญลักษณ์ของอะไร กับอีกฉากหนึ่งที่ฮามากๆ เมื่อฮิลลารีตกกระไดพลอยโจน รับบทเด่นในรักสามเส้าซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับตัวเขาเลย ที่เด็ดดวงยิ่งกว่านั้นคือตอนท้ายๆ เล่ม ฮิลลารีต้องมารับบทเดิมอีก แต่หนนี้ในรักสามเส้าของเขาเอง แค่ซีนนี้ก็เรียกได้ว่าคุ้มค่าแล้วที่จะอ่านนิยายทั้งเล่ม (โชคดีด้วยว่ามันหนาแค่ 400 หน้า)

เรื่องสนุกระหว่างเราและ A Word Child คือ เล่มที่เราซื้อมาเป็นของมือสอง โดยเจ้าของคนก่อนขีดตรงนู้นตรงนี้ไว้ (น่าจะเพื่อเอาไปเขียนรายงานในชั้นเรียน) ในฐานะที่เราเป็นแฟนไอริช เมอดอช ระหว่างที่อ่านก็อดเถียงเจ้าของคนก่อนไม่ได้ว่า ตรงนี้ขีดเผื่ออะไร! นี่ต่างหากประโยคสำคัญ ทำไมไม่ขีด! ตกสถานเดียว ถ้าเขียนรายงานแบบนี้ออกมา! (ฮา) โดยเจ้าของคนก่อนให้ความสำคัญกับชื่อเรื่องมาก ชนิดว่าเจอคำว่า "word" ในประโยคไหนเป็นต้องขีด

"ลูกคำ" ในชื่อเรื่องเป็นการเล่นคำกับ "ลูกรัก" (a love child) หมายถึงฮิลลารี เนื่องด้วยเขาและน้องสาว เป็นเด็กกำพร้าผู้เติบโตมาโดยปราศจากความรัก มีแต่ความสามารถพิเศษด้านภาษาเท่านั้น ที่ช่วยให้ฮิลลารีเป็นมนุษย์มนาขึ้นมาได้ เรารู้สึกว่าประเด็นนี้ไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ ฮิลลารีมีความเป็นตัวละครเมอดอช มากกว่าเป็นนักภาษาศาสตร์

แต่มีประโยคหนึ่งซึ่งเราเห็นตรงกันกับเจ้าของคนก่อนว่าสมควรขีดคือ "คนเราไม่ได้รู้สึกผิดจากสิ่งที่ตนกระทำ แต่จากการลงโทษ" ชวนให้นึกถึง The Sovereignty of Good การให้อภัยบางครั้งอาจไม่ได้มาจากการชดใช้ความผิด แต่มาจากความเข้าใจในสิ่งผิดที่เรากระทำเสียมากกว่า

มอง (r.o.d.)


ไม่รู้พูดแบบนี้ คุณจิรัฎฐ์จะภูมิใจ หรือใจเสียกันแน่ แต่ในสายตาเรา มอง คือเรื่องสั้นที่ประสบความสำเร็จมากๆ และสาเหตุที่มันเป็นเช่นนั้น เพราะมัน "อ่านไม่รู้เรื่อง"

มีความเชื่อผิดๆ อย่างหนึ่งในแวดวงหนังสือไทยคือ ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ถ้าไม่ใช่ว่าอยู่ในเรื่องผีแล้ว ต้องหาคำอธิบายในเชิงสัญลักษณ์ให้ได้ เช่นเป็นการเสียดสีสังคม ไอ้เปรตนั่นหมายถึงนักการเมืองสักคน หรือการที่คนมีสิบเอ็ดนิ้ว หมายถึงเขาได้รับการศึกษาสูง และหยิ่งผยอง

จริงอยู่ ให้มานั่งขบคิดดีๆ ก็อาจได้คำตอบว่า "พวกเขา" ใน มอง เป็นอุปมาของอะไร แต่เราปฏิเสธที่จะทำลายเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วยความคิดที่ว่า และขอยกย่องคุณจิรัฎฐ์ที่ไม่ยอมทำลายเรื่องสั้นของตัวเองโดยการบอก (หรือกระทั่งใบ้) ผู้อ่านว่า "พวกเขา" คืออะไร

โทโดรอฟนักโครงสร้างนิยมชาวฝรั่งเศสแบ่งประเภทเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติเป็นสามประเภทคือ marvellous เรื่องเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ uncanny เรื่องที่อธิบายได้ และ fantastic เรื่องที่อาจจะ หรืออาจจะไม่สามารถอธิบายได้ ในสามประเภทนี้ เราคิดว่าอย่างหลังมีเสน่ห์สุด และ มอง ก็น่าจะถูกจัดว่าเป็น fantastic ได้ บางประโยคเหมือนคุณจิรัฎฐ์จะบอกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความฝัน (อธิบายได้) แต่บางประโยคก็พยายามขับเรื่องให้อยู่นอกเหนือคำอธิบาย ตรงนี้จัดว่าเป็นการเล่นกับความคาดหวังของคนอ่านอย่างชาญฉลาด

ถ้าสนใจจะเขียนแนวนี้จริงๆ ลองไปหา บาโหย ของอาจารย์มนัสมาอ่านดู (เรื่องนี้ถูกอ้างถึงใน เคหะวัตถุ ด้วย) จัดว่าเป็นเรื่องสั้น fantastic ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในภาษาไทย (เพราะไม่ค่อยมีคนเขียนกัน)

ชอบ มอง มาก เป็นกำลังใจให้คนเขียน

M. Foucault's "The Use of Pleasure"

"that in his adolescence he drew away the husbands from their wives, and as a young man the wives from their husbands"
The Use of Pleasure เป็นหนังสือเล่มสองของฟูโกต์ ในชุด The History of Sexuality ซึ่งเล่มหนึ่งได้อ่าน และพูดถึงไปแล้ว เมื่อประมาณปีก่อน (ไม่น่าเชื่อว่ารอบปีหนึ่งที่ผ่านมา อ่านหนังสือฟูโกต์แค่เล่มเดียวเอง นี่เรามัวไปทำอะไรอยู่) ในเล่มสองนี้ ฟูโกต์ยังรักษาความเป็นนักปรัชญาเชิงประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าชื่นชม ต่อให้คนคนหนึ่งมีเครื่องย้อนเวลา เดินทางกลับไปสมัยกรีก แล้วถ่ายรูปกลับมาสองสามอัลบั้ม ก็คงเขียนถึงช่วงเวลานั้นได้ไม่ลึกซึ้งเท่าฟูโกต์ อ่านจบแล้ว รู้สึกประหนึ่งผู้เขียนคงย้อนเวลาไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มชาวกรีกสักเจ็ดแปดคน ถึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาได้

ธีมหลักๆ ซึ่งถูกเล่นซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละบทคือ 1) วัฒนธรรมกรีกโบราณไม่ได้เปิดกว้างเรื่องเพศ เหมือนที่เราเชื่อๆ กัน ฟูโกต์ยกตัวอย่าง ข้อห้าม ผลเสีย หรือบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดบรรทัดฐานทางเพศ แต่ 2) ขณะเดียวกัน ถ้าจะบอกว่าชาวกรีกมองเรื่องเพศเหมือนที่พวกคริสเตียนมอง ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ ฟูโกต์ตั้งใจนิยามขนบแนวคิดเรื่องเพศของชาวกรีก โดยเขายกตัวอย่างร้อยแปดจากวรรณกรรม ข้อเขียน และบันทึก ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เรารู้ว่าชาวกรีกมีหลักปฏิบัติทางเพศอย่างไร แต่เพื่อพาเราเข้าไปถึงข้างในความคิดของอริสโตเติล เพลโต โซเครติส เซโนโฟน รวมไปถึงนักปรัชญาชื่อดังคนอื่นๆ

เงื่อนไขทางเพศของชาวกรีกไม่ใช่ "อย่างไร" หรือ "กับใคร" แต่เป็น "แค่ไหน" กล่าวคือการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มไม่ถือเป็นสิ่งผิด แต่ความบ่อย และปริมาณต่างหากที่เป็นข้อถกเถียง คนที่ควบคุมกามตัณหาของตัวเองไม่ได้ (ไม่ว่าจะกับผู้ชาย ผู้หญิง หรือลูกเมีย และผัวชาวบ้านก็ตาม) เท่ากับขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง ซึ่งในสายตาของนักปรัชญา ถือเป็นความเลวร้าย เพราะมันจะส่งผลไปยังสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน และการเมืองการปกครองด้วย

ถ้าให้เราสรุป The Use of Pleasure ด้วยประโยคเดียว หากเทียบกับหลักคริสเตียน คุณธรรมสูงสุดในเรื่องเพศของชาวคริสเตียนคือ "ความบริสุทธิ์" ซึ่งก็คือไม่มีเพศสัมพันธ์เลย เว้นแต่เพื่อสืบพันธุ์ แต่ตามหลักกรีก คุณธรรมสูงสุดในเรื่องเพศคือ "ความพอดี" ไม่มาก หรือน้อยเกินไป และความสามารถในการ "ควบคุมตัวเอง"

ฟูโกต์พูดถึงประเด็นอีกมากมาย เช่นบทบาททางเพศอันเหมาะสมระหว่างเด็กหนุ่ม และชายสูงวัย ถ้ามองว่า The History of Sexuality เป็นผลงานที่โด่งดังสุดของฟูโกต์แล้ว อยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ เพราะมันค่อนข้างอ่านง่าย ต่อให้ใครที่ไม่มีพื้นฐานการอ่านหนังสือปรัชญา หรือผลงานของฟูโกต์มาก่อน ก็น่าจะเริ่มต้นจากเล่มนี้ได้ไม่ลำบากนัก

ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย



จากประชาไทครับ

คุณวิทยากร เชียงกูล
"ปัญหาของสังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่อยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ 14 ตุลาคม 2516 เทียนวรรณ หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถูกทำให้ลืม ถูกลดความสำคัญลง นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย เป็นปัญหารากเหล้าจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ก็คือวัฒนธรรมของการกล่อมเกลาทางสังคมนั้นเป็นวัฒนธรรมของสังคมเกษตร พึ่งพาตนเองอยู่ภายใต้ระบอบศักดินา สอนการท่องจำ ให้เชื่อระบบอาวุโส เชื่ออำนาจนิยม เชื่อเจ้าขุนมูลนาย สอนแต่เรื่องนี้ตลอดทั้งในบ้าน ในสังคม ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจึงไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การมองภาพแบบเชื่อมโยง องค์รวม เป็นการสอนเทคนิควิชาชีพ ไปรับใช้เศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเราจะมีคนที่เก่งด้านอื่นๆ แต่ตอบเรื่อง 6 ตุลาอย่างโง่เง่ามาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของระบบการศึกษา เป็นปัญหาร่วมกันของประเทศชาติ และนี่ก็โยงมาถึงปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ว่าความคิดแบบสองขั้วสุดโต่งนั้นใช้อารมณ์มาก

6 ตุลานั้นเป็นความรุนแรงสองขั้วโดยเฉพาะความโง่เง่าของชนชั้นปกครอง ความกลัวหนึ่งก็คือเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะความกลัวว่าคอมมิวนิสต์เป็นพวกต่างชาติ คอมมิวนิสต์เป็นพวกล้มล้างสถาบัน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เขาระมัดระวังมาก ไม่ค่อยแตะ เขาพูดเรื่องสังคมที่เป็นธรรม มองพัฒนาการของสังคมอะไรก็ว่าไป ไม่เหมือนระบอบทักษิณ ที่เขากล้าแตะ แต่ชนชั้นผู้ปกครองกลัวเกินเหตุ เพราะจริงๆ แล้วหลัง 14 ตุลา นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้า เลิกสนใจสังคมนิยมบ้าง เพราะสังคมนิยมกำลังเติบโต จีนกำลังพัฒนาประเทศ ความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมมีสูง รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็มีอยู่สูง สังคมนิยมก็เป็นคำที่มีเสน่ห์ และอธิบายได้ดีกว่าระบบรัฐสภา หรือประชาธิปไตย แต่ยังไม่ไปไกลมาก แต่ชนชั้นผู้ปกครองใจแคบ ก็เลยเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง และสังคมไทยไม่ได้พยายามเรียนรู้ที่จะหาทางออกอย่างสันติวิธี คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พยายามเสนอสันติวิธีแต่ก็โดนด่าจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักศึกษาก็ว่าอาจารย์ป๋วยไปประนีประนอมกับผู้ปกครอง ฝ่ายผู้ปกครองก็กล่าวหาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง ท่านเป็นนักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม

ปัจจุบันผมคิดว่าคนที่เชื่อทักษิณแบบด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากพอสมควร แม้แต่นักวิชาการ หรือบางคนก็มีผลประโยชน์โดยตรง บางคนก็สวิงกลับหลังจากผิดหวังกับระบบสังคมนิยม บางคนก็อยากเป็นนายทุนด้วยไปทำงานร่วมกับสมัคร สุนทรเวชได้ และลืม 6 ตุลาได้ ซึ่งการลืมนี่ก็เป็นปัญหาของคนเราที่อยากจะลืมสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง อยากจะก้าวไปข้างหน้าผมคิดว่านี่เป็นความรุนแรง

และส่วนของพันธมิตรฯ ก็ใช้อารมณ์เยอะ และเป็นความรุนแรงมาก เป็นเหมือนฝ่ายขวาที่ใช้เรื่องคอมมิวนิสต์โจมตีนักศึกษา แต่เราก็ไม่ควรมองง่ายๆ แบบเย้ยหยัน เพราะมันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แนวร่วมและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นหลักประเด็นรองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป้าหมายของเขาคือการโค่นล้มทักษิณ ซึ่งมีอำนาจครอบงำอะไรต่างๆ ซึ่งก็เป็นอันตรายจริง เพียงแต่ว่านักวิชาการซึ่งเป็นปัจเจกเสรีนิยมมากก็มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความสุดขั้ว ในวงการวิชาการ ในครอบครัวอะไรต่างๆ แตกเป็นสองขั้วหมดเลย

สิ่งที่เราน่าจะคิดถึงอนาคตของประเทศไทยต่อไป คือการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ เสนอนั้นก็น่าต้องคิดต่อ ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกผู้แทน แค่ย้อนไปถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีแล้ว ก็มาเป็น 2550 เวลานี้ก็ยังไม่พอใจเพื่อให้เป็นการเมืองใหม่ แต่ปัญหาพื้นฐานไม่ได้แก้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นฐาน การกระจายรายได้ก็ไม่ได้แก้ ที่เคยพัฒนาขึ้นมาจาก 14 ตุลา ก็ไม่ได้พัฒนาต่อไป คนรวยก็ถูกหลอกด้วยบริโภคนิยมเหมือนรวยขึ้นแต่ก็เป็นหนี้มากขึ้น ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น และเดี๋ยวนี้มันสับสนเพราะอธิบายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาอธิบาย บางคนก็บอกเราเป็นพันธมิตรชั่วคราวได้ จับมือกับทหาร เพราะถ้ามองดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ทหารไม่สามารถกลับไปมีอำนาจแบบสฤษดิ์ได้อีกต่อไป นี่คือตัวอย่างที่เราต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์

ที่สำคัญก็คือว่าทำอย่างไรให้เด็กไทยได้เรียนรู้มากขึ้น ผมคิดว่ากระบวนการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสื่อ การมองแบบเชื่อมโยง การวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นสำคัญ เพราะถ้ามองแบบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ล้วนๆ นั้นมีข้อจำกัด

ถ้าเราจะได้บทเรียนจาก 14 ตุลา และตัวอย่างที่เป็นประโยชน์เราต้องศึกษาวิเคราะห์ในบริบทเรื่องปัจจุบันด้วย"

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
"ปกติผมไม่มาร่วมงานแบบนี้เลย งานครบรอบ 6 ตุลา เพราะว่าผมเพิ่งอ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งเรื่อง The Holocaust Industry คนเขียนเป็นยิวเป็นศาสตรจารย์ที่ชิคาโก ชื่อ Norman G.Finkelstein เขาเสนอว่าบางครั้งเขารู้สึกว่าถ้าไม่มีการพูดเรื่อง Holocaust คือ การฆ่าชาวยิวเสียเลยจะดีกว่า ผมก็คิดว่าถ้าเราไม่พูดเรื่อง 6 ตุลาเลยดีกว่า ผมเสนอให้เป็นแบบกรณี 9 มิถุนายน 2489 ดีกว่า อย่างน้อยคนที่อยากจะสนใจศึกษาอย่างซีเรียสจริงๆ ก็ค่อยมาว่ากัน คนจะได้อย่างน้อยจะศึกษาก็ศึกษา แต่การจัดเสวนาแบบนี้ผมว่ามันแทบจะมีข้อไม่ดีมากกว่าดีในความเห็นของผม แต่ผมมาเพราะว่าผมสะดุดใจกับหัวข้อที่น่าสนใจ

ข้อเสนอของผม จะเรียกว่าเป็นคำนิยามหรืออะไรก็ได้ แต่ก่อนหน้าที่ผมจะพูดถึงข้อเสนอนั้น ผมอยากจะบอกว่าใครที่แคร์กับ 6 ตุลาจริงๆ แล้วยังสามารถสนับสนุนพันธมิตรฯได้ ผมเฮิร์ทมากๆ ผมอยากฝากไปบอกอาจารย์ชลธิราที่ไปเชียร์พันธมิตรฯได้นั้น ผมเฮิร์ทมากๆ และผมไม่สามารถจะเขียนวิจารณ์ได้ เพราะว่ามันเฮิร์ทจนเกินกว่าจะเขียน ผมจะพูดอย่างนี้ว่าใครที่แคร์กับเรื่อง 6 ตุลาแล้วสนับสนุนแนวทางของพันธมิตรฯ แสดงว่าไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย

6 ตุลาคืออะไร ถ้าผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาสักเล่ม ผมจะตั้งชื่อว่า The sacred and the violence แปลเป็นไทยคือ สิ่งศักดิ์สิทธ์กับความรุนแรง ความรุนแรงของ 6 ตุลานั้นคนตายน้อยกว่าเหตุการณ์ตากใบ แต่ความตายของ 6 ตุลา คือแม้คนตายแล้วยังต้องเอาศพไปทรมาน เอาศพไปแขวนไปตีซ้ำๆ เอาลิ่มไปตอก ไปเผา ทำอนาจารศพ สารพัดอย่าง คุณอะไรที่ตายไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังเอาไปฟาด นี่คือสิ่งที่...ทำไมไม่เกิดที่ตากใบ ไม่เกิดที่เขาพระวิหาร ไม่เกิดที่นปก. เพราะมันไม่เกี่ยวพันกับอีกขั้วคือความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ 6 ตุลานั้น คนคิดว่านักศึกษากำลังละเมิดความศักดิ์สิทธิ์

ทีนี้พันธมิตรฯ เข้ามาอย่างไร ผมไม่รู้ว่าใครก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า แต่มีการพูดว่าคนเข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ บางคนเป็นคนก้าวหน้า ผมไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ดูที่ทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเรียกร้องทางการเมืองคือโค่นระบอบทักษิณ แต่ถามว่าโค่นทำไม เพื่ออะไร เพราะอะไร

ผมขอเสนอว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรคือ Resacralization of Politic คือการทำให้ Politic มันศักดิ์สิทธิ์กลับมาใหม่ ผมฟันธงเลยนะ พันธมิตรฯ กำลังทำอะไร แม้แต่คำที่ใช้เองคือทุนที่สามานย์ คืออะไร ก็คือทุนที่ไม่มีคุณธรรม ทุนที่ไม่มีจริยธรรม นักการเมืองมันเลว มันก็เลวมาตลอด 70 กว่าปี แต่ทำไมครั้งนี้มันถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมทักษิณถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมพันธมิตรฯ จึงพูดซำแล้วซ้ำอีกว่าการเมืองใหม่คือทำอะไรก็ได้ แต่ประเด็นคือสิ่งที่พันธมิตรกำลังทำก็คือการพยายาม Resacralization คือการพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การเมืองมันเลวทราม ไม่มีคุณธรรม นี่คืออะไร นี่คือทิศทางของคนที่ก่อความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลานั่นแหละ ว่าไอ้พวกนี้ มึงละเมิดความศักดิ์สิทธิ์"

เพื่อความเป็นกลางเลยยกมาให้อ่านกันทั้งสองความคิดเลยครับ ส่วนตัวผมแล้ว คงไม่ต้องเอ่ยอะไรมากว่าผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมศักดิ์ สิ่งที่คุณวิทยากรเสนอมานั้น อยู่ในกรอบวาทะกรรมแบบพันธมิตรซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย ในแง่ว่าทักษิณคืออันตรายอย่างยิ่งยวดต่อสังคมไทย และอันใดก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับทักษิณ ถือว่าดีหมด รับได้หมด รวมถึงความรุนแรงด้วย

ผมอยากเรียกสิ่งนี้ว่า "นิยามเชิงลบ" หมายถึงการที่เราจำกัดความสิ่งหนึ่ง ไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ด้วยว่ามันไม่ใช่สิ่งไหน กรณีพันธมิตรนั้น เพียงแค่ว่ามันไม่ใช่ทักษิณ ก็ต้องถือว่ามันเป็นดีแล้ว โดยเราลืมไปว่า แก่นแท้ของความเป็นพันธมิตรคืออะไร จับต้องได้หรือเปล่า ยังไม่ต้องพูดถึงว่าพันธมิตรไม่เคยนำเสนอทางออก หรืออะไรดีๆ แก่สังคมไทยสักครั้ง ตั้งแต่นายกพระราชทาน จนถึงสูตรเลิอกตั้ง 70-30

ผมหวังอย่างยิ่ง สำหรับใครที่คิดจะใส่เสื้อเหลือง แล้วออกไปเดินชุมนุมประท้วง ให้เขาถามตัวเองด้วยว่า เขากำลังสู้เพื่ออะไร ไม่ใช่กำลังสู้กับอะไร (ด้วยเหตุนี้ ผมเองก็ไม่สนับสนุนให้ใครใส่เสื้อแดงออกไปเช่นกัน)

ทุนนิยมประกันจรรยาบรรณสื่อ


ว่าจะไม่เขียนเรื่องการเมืองแล้ว สาเหตุเพราะต้องการ "รักษาความเป็นกลาง" ดังที่กล่าวไว้ในบลอคคราวก่อน แต่พอเห็นการ์ตูนช่องนี้จากไทยรัฐแล้วอดใจไม่ไหวจริงๆ

"ความจริง...อย่ามองครึ่งเดียว" คำพูดสั้นๆ ที่อยากให้ประทับอยู่ในใจใครหลายคน

ความเด็ดดวงของการ์ตูนช่องนี้คือ "ความกำกวม" ชนิดที่อ่านไม่ออกว่าตกลงผู้วาดเข้าข้างใครกันแน่ เราเห็นมือถือกระดาษสีดำมาปิดกลุ่มพันธมิตร เห็นตำรวจถูกทำร้าย พยายามป้องกันตัวเอง รวมถึงนักการเมืองมาชูป้าย "เสียใจ" ผู้วาดกำลังต้องการบอกอะไร ว่าสื่อกระแสหลัก เอาแต่นำเสนอภาพตำรวจถูกรังแก โดยไม่ยอมมองความชั่วร้ายของเจ้าหน้าที่ หรือต้องการกัดสื่อที่ไม่ยอมเผยให้เห็นความหัวไม้ของกลุ่มเสื้อเหลือง (ดังที่มีกระดาษสีดำมาปิด)

ถ้าประชาชนตระหนักได้ว่าแก่นแท้ของความจริงก็กำกวมเช่นนี้ สถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบันคงบรรเทาลงไปเยอะ

อีกจุดหนึ่งที่อยากพูดถึงคือความรู้สึกที่เรามีต่อสื่อ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สารภาพเลยว่าเราไม่ใช่แฟนหนังสือพิมพ์หัวเขียวฉบับนี้ หลายปีก่อน วันที่เพิ่งกลับมาจากเมืองนอก เป็นธรรมเนียมว่าเช้าวันแรกเราจะไปตัดผมกับช่างหน้าบ้าน ระหว่างรอ ไม่มีอะไรทำ เลยหยิบไทยรัฐขึ้นมาอ่าน และภาพแรกที่ต้อนรับสายตาเรา หลังจากเท้าเหยียบเมืองไทยไม่ถึงหกชั่วโมงดี คือเด็กประถมยืนแก้ผ้า หันหลัง แอ่นก้น แหกรูทวาร และมีน้ำไหลโจ๊กออกมา (ขออภัยผู้อ่านบลอค) ข้างใต้มีคำบรรยาย "เด็กประหลาด!" ตั้งแต่นั้น ไทยรัฐและเราก็หย่าขาดกันโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เดือน สองเดือนที่ผ่านมานี้ ไทยรัฐได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับที่ยังรักษาจรรยาบรรณสื่อไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในแง่การนำเสนอข่าวสองด้าน และความรับผิดชอบต่อสังคม การ์ตูนการเมืองที่ยกมานี้ คือหนึ่งในหลายตัวอย่าง

คุยกับรุ่นน้องในวงการ เธอให้เหตุผลว่าไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีหุ้นอยู่ในตลาด ดังนั้นจึงต้องรักษาความเป็นกลาง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพอใจ ซึ่งคำอธิบายตรงนี้ เรารับได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เถียงเธอในใจว่า เพราะไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์ "ชาวบ้าน" ที่มียอดขายในต่างจังหวัดสูงต่างหาก ซึ่งผู้อ่าน หรือลูกค้าส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างรัฐบาล

...แต่เดี๋ยวก่อน! แล้วมติชนเล่า หนังสือพิมพ์ซึ่งมีฐานผู้อ่านเป็นคนกรุงเทพ อาจกล่าวได้ว่าไม่มีหนังสือพิมพ์ใดอีกแล้วที่จะ "ชนชั้นกลาง" เท่ามติชน แต่มติชนก็นำเสนอความจริง ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อ่าน (ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง ชาวกรุงเทพที่เข้าข้างพันธมิตร) ต้องการจะฟัง ถ้ามองว่ามติชนก็มีหุ้นอยู่ในตลาดเหมือนกัน ทฤษฎีของน้องชักจะเข้าเค้า

เราจึงอดไม่ได้จะตั้งคำถามว่า หรือมีแต่ตลาดหุ้น และความซับซ้อนของโครงสร้างผลประโยชน์ (ซึ่งเป็นหัวใจของระบบทุนนิยม) ที่จะรักษาความเป็นประชาธิปไตยของสื่อไว้ได้

พูดถึงหุ้น ถ้าใครยังจำได้ เมื่อสองสามปีที่แล้ว กับคดีแกรมมี(เกือบ)เทคโอเวอร์มติชน แกรมมีนั้น ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นบริษัทซึ่งอิงผลประโยชน์กับอดีตนายกทักษิณ ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องส่วนตัว คงมีไม่กี่สำนักพิมพ์ที่จะแค้นอดีตนายกเท่ามติชน (เพราะฉะนั้นใครที่บอกว่ามติชนเป็น "ขี้ข้าทักษิณ" หากไม่ใช่เขากำลังจงใจหลอกคุณ ก็ต้องมีมิจฉาทิฐิอย่างร้ายกาจ) กระนั้นมติชนก็ยังรักษาจรรยาบรรณ และความเป็นกลาง สมกับที่คุณเรณูเคยตั้งฉายาไว้ว่า "ก้ำกึ่งรายสัปดาห์" (ซึ่งฟังดูเข้าท่ากว่า "สุดโต่งรายสัปดาห์" เป็นไหนๆ )

ด้วยเหตุนี้ เราถึงกลับมาอ่านไทยรัฐ (และข่าวตำรวจคลั่งเพราะไม่ได้ดูคลิปโฟร์มด) อีกครั้ง ส่วนมติชนก็ยังอ่านต่อไปเรื่อยๆ ส่วนสื่ออื่นๆ ที่นำเสนอความจริงสองด้าน แม้จะไม่ได้กล่าวถึงในบลอคนี้ แต่ก็ขอแสดงความชื่นชมครับ

นิเวศน์ใน (r.o.d.)


เราเพลินใจกับการอ่าน นิเวศน์ใน ของคุณมัชฌิมา แต่ถ้าจะถามว่ามันเป็นเรื่องสั้นที่ดีไหม ตอบยากนิดหนึ่ง คงเหมือนที่คุณมัชฌิมาเขียนบอกไว้ในอีเมลว่า นิเวศน์ใน เป็นงานเขียนตามใจฉันมากกว่าจะต้องการให้มันเป็นสารคดี หรือเรื่องแต่ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะขอให้คำแนะนำเสมือนว่ามันเป็นเรื่องสั้นแล้วกันครับ

แน่นอนว่าถ้าเป็นเรื่องสั้นก็ต้องมี "เรื่อง" หรืออย่างน้อยก็ต้องมี "ตัวละคร" ในแง่ตัวละครน่ะมีแล้ว คือผู้เล่าเรื่อง "นิรนาม" ซึ่งไม่ใช่ "ฉัน" ด้วยซ้ำ เพราะในเรื่องนี้มีการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งน้อยมาก (เช่นย่อหน้ายาวๆ เปิดเรื่องที่ไม่มีเลย) แต่จากน้ำเสียงของผู้พูด บอกได้ว่าตัวละคร "นิรนาม" ตัวนี้ กำลังสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วมารายงานให้ผู้อ่านฟัง

ซึ่งวิธีการนำเสนอแบบนี้น่าสนใจนะครับ ต่อยอดเอามาใช้ประโยชน์ ดัดแปลงเป็นเรื่องสั้นได้เยอะแยะเลย

จริงๆ ความไม่มีเนื้อเรื่องของ นิเวศน์ใน อาจไม่ใช่จุดอ่อนเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะความสั้นของมันมากกว่า บวกกับวิธีนำเสนอดังกล่าว ทำให้งานเขียนชิ้นนี้ เหมือนข้อความในไดอารี่ มากกว่าเรื่องสั้น เราจึงอยากแนะนำให้คุณมัชฌิมาขยับขยายมันออก ใส่ "ตัวละคร" ลงไป (ยกตัวอย่างเช่น ญาติ พี่น้อง หรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้เล่าเรื่อง) แต่ให้รักษาความนิรนามเอาไว้อย่างเหนียวแน่น รวมไปถึงแนวคิด และตอนจบ นั่นแหละ เป็นเสน่ห์สุดๆ แล้ว

D. Tammet's "Born on a Blue Day"


พูดถึงที่มาที่ไปของเรากับ Born on a Blue Day นิดดีกว่า เริ่มมาจากบทสนทนามื้อกลางวันระหว่างเรา และรุ่นพี่อีกคน ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นพูดกันถึงภาพยนตร์เรื่อง Rainman เราเป็นคนเอ่ยว่า "แหม! ทำไมมันไม่มีอาการผิดปกติ ที่ทำให้คนเราเป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรมบ้าง" แล้วรุ่นพี่ก็พูดถึง Born on a Blue Day เขียนโดยผู้ป่วยโรค "อะไรสักอย่าง" ถัดจากนั้นอาทิตย์หนึ่ง เห็นมันในกะบะลดราคา รีบซื้อมาทันที

ปรากฎว่าแทมเมตผู้เขียน ก็เป็นโรคเดียวกับดัสติน ฮอฟแมนนั่นแหละ คือซาวอง นอกจากนั้นจะเรียกเขาว่า "อัจฉริยะทางวรรณกรรม" ก็กระไรอยู่ เนื่องจาก Born on a Blue Day เป็นหนังสืออัตชีวประวัติตัวเขาเอง ซึ่งแทมเมตได้เล่าออกมาว่า เขาไม่สนใจวรรณกรรมด้วยซ้ำ ถ้าแทมเมตจะเป็นอัจฉริยะด้านไหนสักด้าน เขาก็คืออัจฉริยะทางภาษา ในสารคดี Brainman หมอใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์เพื่อเรียนภาษาไอซ์แลนด์ จนพูดสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้! (ซึ่งถ้ามองว่าคณิตศาสตร์ก็คือภาษาประเภทหนึ่ง แทมเมต และเรนแมนก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก)

ซาวองคืออาการป่วยทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง โดยมีผลข้างเคียงคือผู้ป่วยจะมีทักษะพิเศษในการจับรายละเอียดเล็กๆ แต่ไม่สามารถมองภาพรวมใหญ่ๆ ได้ รูปที่เอามาแปะตรงนี้ ก็คือภาพวาดของผู้ป่วยซาวองอีกคน กิล เทรฮิน ให้สังเกตความอลังการด้านรายละเอียด

อืม...ไปๆ มาๆ ระหว่างที่ google research เพื่อหารูปมาแปะบลอคนี้ ก็เลยได้รับทราบเรื่องราวของ กิล เทรฮิน ซึ่งท่าทางจะน่าสนใจกว่าแทมเมตอีก (เฮ้ยๆ !) หนังสือของเทรฮินชื่อ Urville เป็นการรวบรวมภาพวาดกว่าสามร้อยภาพ รวมถึงข้อเขียนรายละเอียดทางวัฒนธรรม สภาพบ้านเมือง สถาปัตยกรรม และเศรษฐกิจของเออร์วิลซึ่งเป็นเมืองในจินตนาการ...ชักน่าสนใจแล้วสิ

กลับมาที่แทมเมต และ Born on a Blue Day เทียบกับดัสติน ฮอฟแมนในภาพยนตร์ หรือคิม พีค (ซึ่งเป็นผู้ป่วยซาวองต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนั้น) อาการป่วยของแทมเมตยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้ชีวิตกับคนปรกติได้ และในเล่มนี้ เราได้เห็นความพยายามเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของเขา ซึ่งน่าประทับใจดี ถึงจะผิดจุดประสงค์ไปบ้างแต่ Born on a Blue Day ก็เป็นหนังสือที่น่าอ่านในระดับหนึ่ง

หรือพวกเราจะไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย


ประมาณเดือนก่อน ผมไปกินข้าวกับรุ่นพี่คนหนึ่ง ในร้านอาหารเปิดโทรทัศน์ สัมภาษณ์อดีตนายกสมัคร (ซึ่งตอนนั้นท่านยังเป็นนายกอยู่) รุ่นพี่คนนั้นหันมาถามผมว่า "ในฐานะที่เราเป็นนักเขียน พวกเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือ กับการที่เมืองไทยมีนายกชื่อสมัคร"

พอทราบข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงวันสองวันที่ผ่านมา ผมโทรศัพท์ไปคุยกับแม่ แม่ถามผมว่า "พวกเราไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลยหรือ"

"พวกเรา" ในที่นี้หมายถึงคนกลุ่มหนึ่ง ที่อาจไม่พอใจอดีตนายกทักษิณ อดีตนายกสมัคร หรือไม่ชอบนายกสมชาย แต่ก็ไม่คิดว่าประเทศชาติจะลุกเป็นไฟ หรือจมลงผืนสมุทร หากปล่อยให้รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศต่อไปอย่างสงบอีกสักระยะ คนที่ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ไม่อยากเห็นประชาชนลุกขึ้นมาทำร้ายกัน ไม่อยากเห็นตำรวจทำร้ายประชาชน ไม่อยากเห็นประชาชนตกเป็นเครื่องมือของใคร คนที่อยากให้เรื่องเหลวไหลนี้จบลงได้แล้ว

คนอย่างพวกเราไม่มีสิทธิมีเสียงเลยหรือ

วันนี้ผมจึงขอเอาคำถามของแม่ และของรุ่นพี่คนนั้น มาผนวกกันเป็นคำถามใหม่ "ในฐานะที่เราเป็นนักเขียน พวกเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือ กับการที่คนไทยลุกขึ้นมาทำร้ายซึ่งกันและกัน"

ผมไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การฟัง หรือเล่าความข้างเดียว ใครที่ติดตามบลอคนี้มาตลอด คงพอทราบจุดยืนทางการเมืองของผม วันนี้ผมจะขอพูดสิ่งที่ตัวเองไม่เคยพูดมาก่อน ผมไม่ชอบหลักการของพันธมิตร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับได้กับการปล่อยให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบ ผมไม่คิดว่าแกนนำของผู้ชุมนุมประท้วงมีความหวังดีต่อประเทศชาติ แต่ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองหลายคนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสมควรถูกขับไล่ ผมไม่อยากให้ตำรวจทำร้ายประชาชน (ไม่ว่าจะโดยหน้าที่หรือไม่ก็ตาม) แต่ก็ไม่อยากให้พวกเราจงเกลียดจงชังกัน โดยหลงลืมไปว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็บาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย

จริงๆ ถ้าเรารับข่าวสารอย่างเปิดกว้าง เราจะรู้ว่าไม่มีฝ่ายใดหรอกครับที่ผิด หรือถูก หรือน่าเข้าข้างสุดโต่ง คนที่เชียร์เสื้อเหลือง ก็จะลืมๆ หรือทำเป็นไม่เห็นข่าวตำรวจถูกทำร้าย ข่าวที่คนเสื้อเหลืองใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่ หรือก่อนหน้านั้นพกอาวุธเข้าบุกยึดสถานีโทรทัศน์ ขณะเดียวกัน คนที่รังเกียจพันธมิตร ก็จะไม่อ่านข่าวผู้บาดเจ็บ ล้มตาย เพราะโดนลูกหลงจากการยิงแก๊สน้ำตาของตำรวจ ฝ่ายแรกโทษว่ามือที่สามที่ใช้ระเบิดเป็นคนของรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายหลังบอกว่าเป็นแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงนี่แหละต้องการสร้างสถานการณ์

ความเศร้าอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือ คดีที่ใหญ่ระดับนี้ จะไม่เคยมีการเปิดเผยตัวว่าใครเป็นคนทำ เราคงไม่มีวันรู้หรอกว่าใครอยู่เบื้องหลังคาร์บอมที่สังหารนักศึกษาเอแบค ไม่มีทางรู้ว่าใครโยนระเบิดเข้าไปในกองบัญชาการตำรวจ แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่เหนือคำว่า "ใครเป็นผู้ผิด" แล้ว คำถามที่ควรถามในขณะนี้คือ "ใครกำลังจะเป็นผู้เสียหายรายต่อไป" ต้องให้ตำรวจตายสังเวยสักคน ประชาชนอีกสักสองสามรายใช่ไหม กว่าจะรู้สึกตัวกัน ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย

สุดท้ายขอยกย่อง มติชน หนึ่งในสำนักข่าวไม่กี่สำนักที่นำเสนอข่าวสองด้านตลอดมา

deny me and be doomed

When the earth was still flat,
And the clouds made of fire,
And mountains stretched up to the sky,
Sometimes higher,
Folks roamed the earth
Like big rolling kegs.
They had two sets of arms.
They had two sets of legs.
They had two faces peering
Out of one giant head
So they could watch all around them
As they talked; while they read.
And they never knew nothing of love.
It was before the origin of love.

And there were three sexes then,
One that looked like two men
Glued up back to back,
Called the children of the sun.
And similar in shape and girth
Were the children of the earth.
They looked like two girls
Rolled up in one.
And the children of the moon
Were like a fork shoved on a spoon.
They were part sun, part earth
Part daughter, part son.

Now the gods grew quite scared
Of our strength and defiance
And Thor said,
"I'm gonna kill them all
With my hammer,
Like I killed the giants."
And Zeus said, "No,
You better let me
Use my lightening, like scissors,
Like I cut the legs off the whales
And dinosaurs into lizards."
Then he grabbed up some bolts
And he let out a laugh,
Said, "I'll split them right down the middle.
Gonna cut them right up in half."
And then storm clouds gathered above
Into great balls of fire

And then fire shot down
From the sky in bolts
Like shining blades
Of a knife.
And it ripped
Right through the flesh
Of the children of the sun
And the moon
And the earth.
And some Indian god
Sewed the wound up into a hole,
Pulled it round to our belly
To remind us of the price we pay.
And Osiris and the gods of the Nile
Gathered up a big storm
To blow a hurricane,
To scatter us away,
In a flood of wind and rain,
And a sea of tidal waves,
To wash us all away,
And if we don't behave
They'll cut us down again
And we'll be hopping round on one foot
And looking through one eye.

Last time I saw you
We had just split in two.
You were looking at me.
I was looking at you.
You had a way so familiar,
But I could not recognize,
Cause you had blood on your face;
I had blood in my eyes.
But I could swear by your expression
That the pain down in your soul
Was the same as the one down in mine.
That's the pain,
Cuts a straight line
Down through the heart;
We called it love.
So we wrapped our arms around each other,
Trying to shove ourselves back together.
We were making love,
Making love.
It was a cold dark evening,
Such a long time ago,
When by the mighty hand of Jove,
It was the sad story
How we became
Lonely two-legged creatures,
It's the story of
The origin of love.
That's the origin of love

C.G. Jung's "Modern Man in Search of a Soul"


ได้ยินชื่อยุงมานาน ในฐานะหนึ่งในสามบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ อันประกอบไปด้วยฟรอยด์ แอดเลอร์ และตัวเขา เหตุที่เราไม่เคยอ่านผลงานของหมอ บวกกับในสามบิดา ยุงไม่ใช่คนที่ใครๆ ต้องรู้จัก ทำให้เรามีความเชื่อว่าเขาคือ "ของจริง"

ด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกรวมๆ จากการอ่าน Modern Man in Search of a Soul ก็คือ "ผิดหวัง"

Modern Man in Search of a Soul ทำให้เราชื่นชมฟรอยด์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผลงานของแกถึงถูกนักจิตวิเคราะห์ นักปรัชญา และนักอะไรต่อมิอะไรหยิบยกมาอ้างอิงบ่อยๆ (ตั้งแต่อัลทัสเซอร์ เดริดา เลวีเสตราส์ จนถึงลาคาน เท่าที่เคยอ่านมา คงมีแต่โรเบิร์ดสัน เดวีส์เท่านั้นที่นิยมชมชอบยุง มากกว่าฟรอยด์)

ไม่ใช่ว่า Modern Man in Search of a Soul ไม่ดี แต่นอกเหนือจากในกรอบความเป็นจิตวิเคราะห์ เราก็มองไม่ค่อยเห็น ว่าจะดัดแปลงแนวคิดของหมอเอามาใช้กับเรื่องอื่นอย่างไร ในทางตรงกันข้าม ความเป็นนามธรรมของฟรอยด์เอื้อให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ในศาสตร์แขนงต่างๆ (อัลทัสเซอร์เคยเขียนไว้ว่าฟรอยด์คือผู้บุกเบิกจิตวิเคราะห์ขนานแท้ กระทั่ง "ภาษา" ที่แกใช้ ยังต้องหยิบยืมมาจากวิชาแขนงอื่นเช่น ปรัชญา ภาษาศาสตร์ ชีววิทยา และกระทั่งกลศาสตร์ความร้อน)

แต่ก็แน่นอนว่าถ้าใครสนใจจิตวิเคราะห์จริงๆ Modern Man in Search of a Soul คือหนังสือที่ไม่ควรพลาด ความคิดของยุงที่ต้องตาต้องใจเราสุด (และอดเสียดายไม่ได้ว่าถ้าฟรอยด์เป็นเจ้าของความคิดนี้ แกจะถ่ายทอดมันออกมาได้น่าสนใจสักเพียงไหน) คือความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้ ยุงไม่ได้มองคนไข้ว่าเป็น "วัตถุ" ให้หมอเฝ้าสังเกตอาการได้ โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ ทันทีที่คนไข้ก้าวเข้ามาในห้องรักษา ต่อให้หมอเป็นฝ่ายรับฟังปัญหา โดยไม่พูด หรือให้คำแนะนำอะไรเลย แต่อย่างช้าๆ "ความสัมพันธ์" (หรือการ "ไม่มีความสัมพันธ์") ระหว่างหมอ และคนไข้ จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อคนทั้งคู่ (คล้ายๆ กับหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์กในวิชาฟิสิกส์ กล่าวคือผู้สังเกต และวัตถุที่ถูกสังเกตเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน) ด้วยเหตุนี้ ยุงถึงบอกว่า ในการตีความความฝันของคนไข้ เฉพาะความฝันแรกๆ ก่อนคนไข้จะรู้จักหมอเท่านั้น ที่สามารถส่องให้เห็นจิตใต้สำนึกของผู้ป่วยได้ และถ้าคนไข้อยู่ภายใต้การรักษากับหมอคนเดียวนานๆ การรักษานั้นจะไม่เป็นผลอีกต่อไป สัมพันธ์ระหว่างหมอ และคนไข้นี้คือที่มาของนิยาย Manticore โดยเดวีส์นั่นเอง (เคยเขียนถึงไว้แล้วในบลอคเก่าๆ )

พวกเขาคิดว่าพวกเขาเป็นใคร?


จากมติชนครับ
เวลา 15.00 น. พิธีกรได้ขึ้นเวทีประกาศอีกครั้งว่า นายตำรวจที่นำกำลังเข้ากระชากตัวนายไชยวัฒน์ ลงจากรถยนต์ส่วนตัวบนทางด่วน ชื่อว่า พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี ให้ผู้ชุมนุมจำชื่อไว้ให้แม่น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยอมรับความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากการหยิบยกคำพูดออกมานอกบริบท ไม่รู้เหมือนกันว่า "ให้ผู้ชุมนุมจำชื่อไว้ให้แม่น" มันอยู่รวมกับบริบทไหน มีความหมายเหมือนดังที่เข้าใจหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ก็แล้วกันไป แต่ถ้าใช่...