R. Carver's "Will You Please Be Quiet, Please?"


ช่วงนี้เรากับเพื่อนกำลังบ้า David Hockney มากๆ นักเขียนและจิตรกรบางคนประหนึ่งว่าเกิดมาคู่กันเลย ถ้าจะมีคนบอกว่าเรย์มอน คาร์เวอร์คือนามปากกาของเดวิด ฮอกเนย์ หรือฮอกเนย์เป็นของคาร์เวอร์ เราก็พร้อมจะยอมเชื่อ

อาทิตย์ที่ผ่านมาบริโภคหนังสือเป็นว่าเล่น ซึ่งถ้าจะให้อ่านกันจริง Will You Please Be Quiet, Please? ก็คงใช้เวลาไม่ถึงสองวัน แต่รู้สึกว่าชักจะอ่านเร็วเกินไปแล้ว เพื่อสร้างอุปสรรคให้ตัวเองเล่นๆ สำหรับรวมเรื่องสั้นของคาร์เวอร์เล่มนี้ เราจะอ่านด้วยวิธี close reading ซึ่งก็คือพยายามวิเคราะห์ทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร ให้เห็นถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละคำที่ผู้เขียนเลือกใช้

ซึ่งในแง่หนึ่ง คงไม่มีหนังสือเล่มไหนอีกแล้วจะเหมาะกับการ "อ่านใกล้ๆ " (หรือ "อ่านปิดๆ " แล้วแต่ว่าอยากแปลมั่วๆ ยังไง) เท่ากับเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะจุดเด่นของงานคาร์เวอร์คืออ่านจบแล้วก็ยังงงๆ เหมือนกับว่าบางอย่างขาดหายไป (เช่นเดียวกับภาพของฮอคเนย์) ถามว่าเราเข้าใจไหม อาจตอบได้ไม่เต็มปาก แต่ถ้าถามว่าชอบไหม ยืนยันเลยว่าชอบ พอลองอ่านใกล้ๆ เหมือนได้เข้าใจสิ่งที่คนเขียนต้องการนำเสนอมากขึ้น แต่เหนืออื่นใด คือเราจับทริคคาร์เวอร์ได้มากขึ้นด้วย ตระหนักเลยว่า การอ่านใกล้ๆ จำเป็นมากสำหรับนักเขียนที่อยาก "ขโมย" ครูพักลักจำชาวบ้าน

เคยพูดถึงทริคคาร์เวอร์ไปแล้ว หนนี้ที่เราจับสังเกตเพิ่มขึ้นคือการแนะนำให้คนอ่านรู้จัก "วัตถุลึกลับ" ตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งอาจเป็นสิ่งของ เหตุการณ์ เงื่อนไข หรือว่าบุคคล โดยวัตถุลึกลับตัวนี้จะส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อม (ในระดับจิตใต้สำนึก) กับคนอ่านตลอดทั้งเรื่อง นอกจากวัตถุลึกลับ ยังรวมไปถึงการซ้ำคำหรือข้อความเพื่อส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้อ่าน ดังนั้นถึงแม้ไม่มีเรื่องราวชัดเจน แต่เรื่องสั้นเหล่านี้สามารถเร้า หรือกระทบอารมณ์คนอ่านได้อย่างงงๆ

เท่าที่เคยอ่านรวมเรื่องสั้นมา Will You Please Be Quiet, Please? น่าจะเป็นเล่มที่ดีที่สุด ด้วยคลาสสิคอย่าง Fat หรือ Neighbors ส่วน The Father คงเป็นเรื่องที่สั้นสุดของผู้เขียน ยาวแค่สองหน้าเท่านั้น แต่ดีมากๆ มีหลายเรื่องเหมือนกันที่เราได้อ่านเป็นรอบสอง โดยเมื่ออ่านอย่างละเอียด วิเคราะห์ก็รู้สึกชอบมันมากขึ้นเช่น Put Yourself in My Shoes กับ What Do You Do in San Francisco? ส่วนเรื่องที่ดีน้อยกว่าเพื่อนคือ Why, Honey? ซึ่งเป็นสไตล์แปลกๆ เหมือนไม่ใช่เขาเขียนเลยด้วยซ้ำ และ Will You Please Be Quiet, Please? ทั้งที่เป็นชื่อเล่มแท้ๆ รู้สึกเหมือนเป็น carver wannabe พยายามเขียนให้เหมือน carver ยังไงไม่ทราบ

กับนักเขียนในดวงใจเราทั้งหมด ให้เปรียบอย่างง่ายๆ กุนเดระคือนักปราชญ์ผู้รู้สิ่งสรรพ เมอดอชคือนักวางแผนรบผู้จับตัวละครต่างประเภทมาผสมผสาน อีโคคือนักประวัติศาสตร์เจ้าสำราญ เดวีสันคือพ่อมดหมอผี และคาร์เวอร์ก็คงเป็นนักมายากล สะกดจิตคนอ่านด้วยคำพูด และข้อความเล็กๆ น้อยๆ

เดียวดายกลางสายลม

บินไปเดียวดายกลางสายลมแปรปรวน เพียงทะเลครวญฟังคล้ายเป็นเพลงเศร้า ค่ำคืนนี้ฉันเพลียฉันเหนื่อยฉันหนาว และเหงาเหลือเกิน



ไม่เคยมีใครมีรักแท้จริงใจ จะมองทางใดดูเคว้งคว้างว่างเปล่า ฝ่าลมฝนลำพังมากี่ร้อนหนาว จนล้าสิ้นแรง



ไม่อยากเห็นภาพใดแม้แต่ท้องฟ้า อยากจะพักดวงตาลงชั่วกาล จะไปซุกตัวนอนซ่อนกายในเงาจันทร์ จะหลับฝันไม่ขอตื่นขึ้นมา



คงจะมีเพียงลมหายใจรวยริน เอนกายบนดินยอมรับความแพ้พ่าย ปีกของฉันมันหนักบินต่อไม่ไหว จะขอพักกายชั่วกาล

U. Eco's "Misreadings"


ครั้งกะนู้นตอนคุณโน้ต อุดมเพิ่งเล่นเดี่ยวหนึ่ง และมีชื่อเสียงหมาดๆ มีคนพูดกันว่าเดี่ยวไมโครโฟนนั้นต่างจากตลกคาเฟ่ตรงที่เป็น "ตลกปัญญาชน" ซึ่งแน่นอนว่าความคิดอะไรเช่นนี้เมื่อออกมาในประเทศไทย ย่อมถูกสังคมด่ายับเยิน (เพราะถ้าผันในทางตรงกันข้าม จะเรียกตลกคาเฟ่ว่าอะไรดีละ) ในที่สุดฉลากปะหัวโชว์คุณโน้ตว่าเป็น "ตลกปัญญาชน" ก็เป็นอันตกไป (ส่วนที่ว่าเราเห็นด้วยกับฉลากตัวนี้แค่ไหน เอาไว้พูดถึงในโอกาสหน้า) ให้พูดแบบถูกต้องการเมืองหน่อยๆ ก็ยอมความกันไปว่าแก๊กตลกเป็นรสนิยมส่วนบุคคล ที่ต่างนิสัย ต่างพื้นเพกันไม่จำเป็นต้องขำกับเรื่องเดียวกัน และไม่ได้บ่งบอกระดับสติปัญญาของผู้ฟังแต่อย่างใด

ซึ่งเราไม่เห็นด้วย พูดกันอย่างไม่เกรงฟ้าดินคือ คนโง่ก็จะขำกับอะไรโง่ๆ และคนฉลาดขำกับอะไรฉลาดๆ ถ้าจะมีมาตรสักอย่างที่ใช้วัดสติปัญญาคนก็จากวิธีที่เราหัวเราะให้กับมุกตลกนี่แหละ

Misreadings คือหนังสือที่สามารถเอามาใช้ยืนยันได้เลยว่า comedy มีระดับชั้น เพราะถ้าจะ "เก็ตมุก" ของอีโคให้ได้ทั้งเล่ม ก็ต้องเป็นพหูสูตรอ่านมาก รู้มากในระดับหนึ่ง ซึ่งอันนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน ในฐานะความเป็นเรื่องชวนหัวหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหนกับกลุ่มผู้อ่านอันคับแคบ ในทางตรงกันข้ามมุกตลกแบบ ขายหัวเราะ (ซึ่งจริงๆ ในระดับหนึ่ง เราชอบนะ) ที่แทบจะอธิบายให้คนอ่านฟังอยู่แล้วว่าคุณต้องหัวเราะเพราะอะไร เวลาไหน กลับเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า จะจัดว่าเจ๋งกว่าได้หรือเปล่า (ที่แน่ๆ คือคงทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะมากกว่า Misreadings)

ยอมรับว่าขนาดตัวเองยังไม่สามารถ "เก็ตมุก" ทั้งหมดในเล่มเลย แต่ถ้ามุกไหนเก็ตขึ้นมา ความรู้สึกเหมือนถูกชิ่งสองต่อ คือนอกจากจะขำแล้ว ยังเหมือนได้ชื่นชมตัวเองกลายๆ ว่า เออ! กูแน่เว้ย เข้าใจมุกของอีโคได้ ถ้าใช้สำนวนฝรั่งคือนอกจากจะถูกสะกิด funny bone แล้วยังเป็นการ intellectual masturbation ไปด้วยในตัว

ลักษณะการเขียนคล้ายๆ แนววูดดี้ อัลเลน คือเป็น parody ตั้งแต่ Granita เรื่องสั้นล้อเลียน Lolita ว่าด้วยอัมเบอโต อัมเบอโต (เลียนแบบฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต ตัวเอกในเรื่อง Lolita) ผู้ชายที่หลงรักหญิงชรา การเขียนวิจารณ์กิจกรรมเปลื้องผ้า ธนบัตรห้าร้อย และหนึ่งพันลีประหนึ่งว่าเป็นงานศิลปะ ไปจนถึงจดหมายจากบรรณาธิการ ปฏิเสธการตีพิมพ์หนังสือคลาสสิกอย่างไบเบิล Don Quixote หรือ The Trial

ในฐานะที่อ่านนิยายของอีโคแล้วทุกเล่ม เรารู้สึกมาตั้งนานว่าความเจ๋งสุดๆ ของแกคืออีโคเป็นคนที่เข้าใจ genre ต่างๆ ทุกประเภทอย่างแท้จริง Misreading ถ้ามองแบบง่ายๆ ก็คือการสลับ genre กับเนื้อหา เช่นเอาเรื่องราวยุคหินมาเขียนให้เหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ (The Thing คือหนึ่งในเรื่องสั้นที่ดี และตลกที่สุดเท่าที่เราเคยอ่าน) เอาการค้นพบทวีปอเมริกามาเขียนให้เหมือนการส่งจรวดไปดวงจันทร์ หรือใช้ภาษาตำรวจลับกับการบรรยายเรื่องราวบนสรวงสวรรค์ เป็นความเหนือชั้นที่ถ้าไม่เก่งจริง เขียนออกมาแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ

K. Marx & F. Engels's "The German Ideology"


เกริ่มไว้ตั้งแต่คราวก่อนว่าอยากหาหนังสือของมาร์กซ์ เอเกลเล่มเล็กๆ มาอ่านสักเล่ม The German Ideology เล่มนี้หนาไม่ถึงร้อยหน้า แต่อัดแน่นด้วยเนื้อหา ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวมวลชน หรือลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธความคิดของมาร์กซ์

เนื่องจากหนังสือมันเล่มบ๊างบาง ไปหาอ่านกันเอาเองดีกว่านะ สรุปสั้นๆ คือภายในเล่มนี้มาร์กซ์ต้องการจู่โจมสองประเด็นหลัก หนึ่งก็คืออุดมการณ์นิยมแบบเยอรมัน (หรือแบบเฮเกล ถ้าพูดให้เจาะจง) และสองคือหลักการทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่ามาร์กซ์โยงสองสิ่งนี้เข้าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ก็มีสิทธิเป็นไปได้ โดยให้สรุปสั้นๆ คือ แนวคิดที่เกื้อหนุนหลักการทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นมีรากฐานมาจากเสรีภาพ สิทธิ และคำพูดสวยหรูต่างๆ นานา (ซึ่งคนมักจะโยงเข้าหาแนวคิดแบบประชาธิปไตย และทุนนิยม) แท้จริงเป็นภาพลวงตาอย่างหนึ่ง

ความจริงแท้ที่สุดของมนุษย์ก็คือความหมายในเชิงวัตถุ (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าวัตถุนิยม ในหลักการของมาร์กซ์ materialist dialectic) ในที่นี้มนุษย์คือสิ่งที่เขาผลิต ดังนั้นคุณค่า และความหมายของมนุษย์ต้องวัดกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมาร์กซ์ก็พูดต่อไปว่าทุนนิยม การแบ่งภาระหน้าที่ และระบบโรงงานคือการริดลอนคุณค่าในการผลิต ซึ่งก็หมายถึงริดลอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วย

ไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก หลายจุดอ่านซ้ำแล้วซ้ำยังไม่เข้าใจว่ามาร์กซ์สรุปเช่นนี้ได้อย่างไร (โดยเฉพาะการลบล้างหลักทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่เห็นว่ามันจะช่วยเหลือสถานภาพความเป็นมนุษย์ตรงไหน) หรือข้อเสนอแนะหลายอย่างก็ออกแนวล้าหลังไปหน่อยหรือเปล่า (เช่นว่าทุกคนควรหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเองในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ตัดเย็บเสื้อผ้า ล่าสัตว์ จนถึงปลูกข้าว ถ้าแบบนี้สังคมจะพัฒนาได้หรือ) แต่ก็รู้สึกดีที่ได้อ่าน

แค่หยิบหนังสือมาร์กซ์มาอ่านเล่มหนึ่ง เราก็รู้ดีกว่าพวกที่พ่นมาร์กซ์ออกมาปาวๆ สักแค่ไหนแล้ว

E. Wilson's "To the Finland Station"


คำคุณสรรพที่เราคิดว่าเหมาะสมสุดสำหรับใช้อธิบาย To the Finland Station คือ "น่าฉงน" ตั้งแต่ปกซึ่งเป็นรูปปั้นเลนินถูกรื้อถอนในประเทศลิธัวเนียภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ (ซึ่งเป็นฉากอมตะในภาพยนตร์เรื่อง Goodbye Lenin แต่อันนั้นเป็นคนละรูปปั้นกัน) ทั้งที่หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยความสำเร็จ และการลุกฮือของคอมมิวนิสต์แท้ๆ แต่กลับใช้ปกซึ่งแสดงให้เห็นความล่มสลายของลัทธิดังกล่าว

แต่จะว่าไป คอมมิวนิสต์ และการปฏิวัติมวลชนก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งอันน่าฉงนเช่นนี้

ก่อน To the Finland Station จะเล่าประวัติบิดาทั้งสามแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือมาร์กซ์ เอเกล และเลนนิน ประมาณร้อยหน้าแรกอุทิศให้กับนักประวัติศาสตร์อีกคนมิเชลสัน ถือเป็นความน่าฉงนอีกประการ เพราะเอาเข้าจริงๆ มิเชลสันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแนวคิดนี้เป็นพิเศษ (ต่อมาวิลสันได้มีโอกาสพูดถึงนักคิดต้นกำเนิดสังคมนิยมคนอื่นๆ เช่นเซนไซมอน และฟูเรีย) นอกจากว่ามิเชลสันเป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกๆ ที่เน้นว่ากระแสสังคมให้กำเนิดบุคคลสำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับนักประวัติศาสตร์ยุคนั้นที่ยกย่องปัจเจคในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม ช่วงแรกนี้จะมองว่าเป็นการอธิบายสไตล์การเขียนที่ตามมาในภายหลังก็ได้ ขณะเดียวกันแนวคิด "กระแสสังคม" ก็มีหลายอย่างคล้ายกับหลักวัตถุวิภาษนิยม (materialist dialectic) ของมาร์กซ์

ชั่งใจไม่ถูกเหมือนกันว่าวิลสันรู้สึกยังไงกันแน่กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ถ้าให้เดานี่อาจเป็นมุมมองอย่าง "เห็นอกเห็นใจ" ที่สุดแล้วเท่าที่นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งจะมีได้ To the Finland Station ก็คล้ายๆ กับงานเขียนคอมมิวนิสต์เล่มอื่นๆ คือเต็มไปด้วยความยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพ และความเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นกลาง แต่พอถึงตอนเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาจริงๆ ก็ดูไม่เหมือนว่าตัววิลสันเองจะมีศรัทธาอะไรกับแนวคิดนี้

ผู้เขียนชี้ให้เห็นข้อด้อยนานาประการในทฤษฎีของมาร์กซ์ ตั้งแต่ความเชื่อมั่นว่าผู้นำที่ถูกเลือกมาจากชนชั้นกลาง ย่อมบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของมวลชน ต่างจากผู้นำที่มาจากชนชั้นสูง หรือเศรษฐีที่คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเอง (ตรงนี้คล้ายๆ กับหลักญาณวิทยาของสตาลินที่ว่าวิทยาศาสตร์ ปรัชญาหรือองค์ความรู้อะไรก็แล้วแต่ที่มาจากชนชั้นล่างถือเป็นถูกหมด แต่อะไรคล้ายๆ กันถ้ามาจากชนชั้นสูงกลับกลายเป็นผิด) หรือที่มาร์กซ์ถือว่าความรุนแรง และการล้างแค้นของกรรมกรเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม

ที่จริงเราเป็นผู้สนใจปรัชญามาร์กซ์มาตลอด และเชื่อว่าที่มันผิดเพี้ยนไปเพราะคนอย่างเลนนิน สตาลินต่างหากนำมาดัดแปลง แต่พออ่าน To the Finland Station ก็เลยได้เห็นว่าเชื้อของความผิดพลาดมันอยู่ในปรัชญาดั้งเดิมมาแต่แรกแล้ว

มีอยู่ตอนหนึ่งที่ชอบมาก มาร์กซ์พบกับช่างซ่อมรองเท้าซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการปลุกระดมชนชั้นแรงงานให้ลุกขึ้นมาประท้วงนายทุน ทั้งที่เป้าหมายของคนทั้งคู่เหมือนกัน แต่แทนที่มาร์กซ์จะสนับสนุน ยกย่องอีกฝ่าย กลับกลายเป็นเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการลุกฮือของมวลชนที่ยังไม่พร้อม และขาดพื้นฐานความรู้อันพอเพียงก็ไร้ความหมาย (ตรงนี้มาร์กซ์ และเอเกลต่างจากเลนนิน ฝ่ายแรกเป็นนักวิชาการ ส่วนเลนนินเป็นนักปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้น ไม่ว่าจะต้องอาศัยแรกผลักจากเบื้องล่าง หรือแรงดึงจากเบื้องลน เลนนินก็เห็นด้วยกับมันทั้งนั้น) แม้แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์ก็ยังต้องอาศัยการศึกษาระดับชนชั้นรากหญ้า ในแง่นี้แทบไม่ต่างอะไรจากที่พวกเราๆ เป็นกันอยู่เลย เพราะทุกวันนี้เราก็พูดกันเสมอว่าถ้าคนทั้งประเทศมีการศึกษา ระบบประชาธิปไตย/ทุนนิยมคงดำเนินไปอย่างสะอาดบริสุทธิ์กว่านี้

ตั้งใจว่าเล่มหน้าจะลองหางานมาร์กซ์ เอเกลจริงๆ มาอ่านดู ให้มันรู้ดำรู้แดงกันไปเลย

N. Bobbio's "Liberalism and Democracy"


เด็กช่างคิดคนไหนเปิดแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูอาจสงสัยเหตุใดประเทศลาวถึงชื่อเต็มๆ ว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ทั้งที่ครูสอนว่าลาวปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย จริงๆ คือถ้าช่างสำรวจแผนที่โลกหน่อย ก็จะพบว่าประเทศไหนๆ ก็เหมือนจะมีคำว่า "ประชาธิปไตย" อยู่ในชื่อเต็มทั้งนั้น

Liberalism and Democracy พยายามแยกให้เราเห็นว่า "ประชาธิปไตย" และ "เสรีนิยม" (liberalism) นั้นคนละความหมายกัน "ประชาธิปไตย" เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ปกครองได้ทั้งในระบอบ "เสรีนิยม" และ "สังคมนิยม" บอบบิโอชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง "ประชาธิปไตย" และ "เสรีนิยม" ทั้งในแง่เกื้อหนุน ขัดแย้ง และเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกัน

รู้สึกว่าตัวเองอ่าน Liberalism and Democracy ช้าไปนิด น่าจะอ่านก่อน Escape from Freedom หรือ The Return of the Political สองเล่มหลังเปิดประเด็นว่าบางครั้งเสรีภาพก็ไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนา หรือสืบเนื่องมาจากนิยามเชิงลบของมัน (หมายถึงเรานิยามเสรีภาพโดยการเทียบเคียงกับสิ่งอื่นเท่านั้น เช่นเป็น "การปลดเปลื้อง" จากสิ่งจำกัด หรือขุมขัง) ทำให้เราไม่อาจนำหลักเสรีนิยมมาใช้บริหารประเทศได้อย่างเต็มที่

เป็นหนังสือสั้นๆ ที่ดี แต่น่าเบื่อไปหน่อยตรงที่มันส่งเสริม และสนับสนุนความคิดเราเกินไป ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้เอ่ยตรงๆ แต่ก็พอจับได้ว่า เมื่อถึงเวลาต้องเลือกจริงๆ บอบบิโอคงเลือก "เสรีนิยม" มากกว่า "ประชาธิปไตย" เล่มหน้าตั้งใจว่าจะอ่านอะไรที่มันขัดแย้งดูบ้างแล้วกัน

J.L. Borges's "Fictions"


ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมตัวเองไม่ชื่นชมฆอเฆสเท่าคนอื่น ก่อนหน้านี้เคยอ่าน The Book of Sand ซึ่งรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่ตื้นเขินมากๆ สำหรับ Fictions น่าจะเป็นผลงานโด่งดังสุด ชอบกว่ามากอีกเล่มหนึ่ง แต่ก็พอมองออกว่าเป็นคนเขียนคนเดียวกัน และเราเองก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กันในการอ่านสองเล่มนี้ ซึ่งอาจเป็นบางอย่างในธีมของฆอเฆสที่ไม่ซิงค์กับตัวเราก็ได้

กว่าครึ่งของเรื่องสั้นใน Fictions คือบทวิจารณ์หนังสือ หรือนักเขียนที่ไม่มีอยู่จริง ในหน้าคำนำฆอเฆสพูดว่าแทนที่จะเขียนนิยายยาว 500 หน้า ก็มาเขียนบทวิจารณ์นิยายเล่มนั้นเลยดีกว่า เป็นความคิดที่เข้าทีดีเหมือนกัน เพราะบางครั้งบทวิจารณ์ก็สามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องติดจริต และขนบของนิยาย (ขณะเดียวกันนักเขียนที่เหนือชั้นกว่าอย่างกุนเดระก็ยังผสานสารคดี และนิยายเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องสนใจจริต หรือขนบใดๆ ทั้งนั้น)

ชอบเรื่องแรก Tlon, Uqbar, Orbis Tertius สำหรับเรื่องสั้นลักษณะนี้ นี่คือผลงานที่ประสบความสำเร็จสุด เกี่ยวกับสารานุกรมของดาวเคราะห์ที่ไม่มีอยู่จริง และผู้คนบนดาวดวงนั้นมีระบบความคิดผิดแผกไปจากชาวโลก อีกเรื่องที่น่าสนใจแบบขำๆ คือ Pierre Menard, Author of the Quixote ว่าด้วยชายที่พยายามเขียนดอน คีโฮเต้ให้เหมือนต้นฉบับเดิมทุกตัวอักษร แต่ไม่ใช่ลอกเซอวานเต้มา หากเป็นการเขียนขึ้นใหม่คำต่อคำผ่านมุมมองในศตวรรษที่ 20 ความคิดเข้าที เสียตรงฆอเฆสแอบขยิบตาให้คนอ่าน จริงๆ สไตล์การเขียนแบบนี้ โดยผิวเผินแทบไม่ต่างจากที่วูดดี้ อัลเลนเขียนแซววรรณกรรม หรือตำราปรัชญาเลย ดังนั้นถ้ารักษาภาพลวงตาไว้ไม่ได้ ก็เป็นอันจบเห่กัน ส่วนเรื่องสั้นที่ดีสุดในเล่ม ไม่ได้เกี่ยวกับธีม "เรื่องแต่ง" (fiction) เลย คือ The Lottery of Babylon ว่าด้วยความไร้กฎเกณฑ์ อ่านแล้วนึกถึงคำพูดอมตะของนิทเช่ "พระเจ้าตายแล้ว"

เคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เธอนอนฝันทุกวัน แล้วก็ชอบมาเล่าความฝันให้เราฟัง ซ้ำบางทียังบอกด้วยว่าตื่นขึ้นมาตอนโพล้เพล้ บางครั้งก็สับสนเหมือนกันว่าอะไรคือความจริง เราในทางตรงกันข้ามแทบไม่เคยฝัน (หรือให้พูดแบบไม่เสียพะยี่ห้อนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องบอกว่าจำความฝันตัวเองไม่เคยได้) ดังนั้นเรื่องสั้น หรือผลงานที่โคจรอยู่ระหว่างความจริง กับความลวงอย่างฆอเฆสก็เลยไม่ค่อยมีอิมแพคอะไรกับตัวเรากระมัง

L. Krasznahorkai's "The Melancholy of Resistance"


พูดกันอย่างขำๆ คือ ความรู้สึกแรกหลังจากอ่าน The Melancholy of Resistance จบ ไม่ได้นึกถึงหนังอาร์ต หนังยุโรป หากเป็นภาพยนตร์ฟอร์มโตของเจ.เจ. อับรัมเรื่อง Cloverfield ต่างหาก ซึ่งจริงๆ เราก็ยังไม่รู้หรอกว่ามันเกี่ยวกับอะไร แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่ามันน่าจะเป็นหนังสัตว์ประหลาดจากมุมมองของคนเดินถนนที่ติดอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายระหว่างกิ้งก่ายักษ์ถล่มเมือง ในแง่หนึ่ง The Melancholy of Resistance ก็คล้ายๆ แบบนั้น นี่คือสงครามกลางเมืองจากมุมมองของตัวละครเล็กๆ ที่แทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับทหาร หรือผู้อยู่เบื้องหลัง โดยกิ้งก่ายักษ์ในที่นี้คือ "เจ้าชาย" นักแสดงละครสัตว์ลึกลับ ผู้ไม่ว่าตัวเขาจะเดินทางไปแห่งหนใดสามารถดึงดูดผู้ติดตามซึ่งพร้อมยินยอมทำตามคำสั่งเขาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรุนแรงแค่ไหน

ที่เกริ่นตอนต้นว่ามันไม่เหมือนหนังยุโรป เพราะ The Melancholy of Resistance คือต้นแบบภาพยนตร์เรื่อง The Werckmeister Harmonies ของผู้กำกับเพื่อนร่วมชาติชาวฮังการี เบลลา ทาร์ ยังไม่ได้ดูหนังเหมือนกันแต่เท่าที่อ่านเรื่องย่อ คงแตกต่างจากหนังสือทีเดียวเพราะท่าทางบทบาทของ "เจ้าชาย" จะถูกขับเน้นขึ้น โดยตัวละครตัวนี้ไม่เคยปรากฎตัวในหนังสือด้วยซ้ำ

เราชอบชื่อหนังมากกว่าชื่อหนังสือนะ และคิดว่ามันสรุปธีมของเรื่องได้เป็นอย่างดี The Melancholy of Resistance คือนิยายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธี (dialectic) ระหว่างความยุ่งเหยิง และกฎระเบียบ โดยบางครั้งกฎระเบียบกำเนิดมาจากความยุ่งเหยิง แต่ขณะเดียวกันความยุ่งเหยิงก็งอกเงยมาจากกฎระเบียบได้เช่นกัน อย่างการจราจลบางครั้งก็ดูเหมือนอุปราการแห่งความเป็นระเบียบ เมื่อผู้คนทั้งหลายรวมตัวเป็นหนึ่งภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ก็แฝงธาตุแห่งความยุ่งเหยิงเอาไว้ด้วย ตัวละครทั้งหลายในนิยายเรื่องนี้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นระเบียบ และความยุ่งเหยิง บ้างก็ค้นหากฎเกณฑ์ในโลกหลังสมัยใหม่ บ้างก็ยอมรับในความไร้แก่นสารของมัน บังเอิญจัง ที่เราได้อ่าน The Melancholy of Resistance หลัง Escape from Freedom พอดี เพราะแนวคิดหลายอย่างเกี่ยวกับความอึดอัดของปัจเจกส่งอิทธิพลอย่างมากต่อนิยายเรื่องนี้

สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือสไตล์การเขียนของ Krasznahorkai เพราะพี่แกเล่นไม่ใส่ย่อหน้า จริงๆ นี่ไม่ใช่เล่มแรกหรอกที่เราอ่านในสไตล์นี้ อย่างซารามานโก คาฟคา หรือนิทเช่ก็ชอบเขียนย่อหน้าใหญ่ๆ ขณะที่ Krasznahorkai จงใจเขียนนิยาย 300 หน้ากว่าๆ โดยใช้แค่ประมาณสิบย่อหน้า เวลาอ่านหนังสือพวกนี้ทีไร นึกถึงที่คุณปราบดาเคยบอกว่าย่อหน้าช่วยให้ผู้อ่านเสพย์ และย่อยสานส์ได้สะดวกขึ้น ขอเพิ่มเติมว่าย่อหน้าไม่ใช่ของประดับ แต่เหมือนคำหนึ่งในภาษา ลองคิดดูว่าถ้านักเขียนคนหนึ่งจงใจเขียนหนังสือทั้งเล่มโดยไม่ใช้คำว่า "กับ" เลยจะเป็นอย่างไร การจงใจไม่ย่อหน้าโดยไม่มีเหตุผลก็เป็นเพียงการใช้ภาษาอย่างเลวเท่านั้น เพราะเหตุนี้นักเขียนที่เจ๋งจริงไม่ต้องอาศัยลูกเล่นอย่างซารามานโก คาฟคาก็ยังต้องมีเว้นย่อหน้าบ้าง

แต่ก็ต้องให้เครดิต Krasznahorkai หน่อยละ ว่าอย่างน้อยระหว่างที่อ่าน The Melancholy of Resistance ไม่ได้รู้สึกอยากกด enter นัก วิธีการนำเสนอของผู้เขียนลื่นไหล ผนวกแต่ละประโยคเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งความคิด ถ้าลดอัตตา แล้วรู้จักผ่อนปรนบ้าง The Melancholy of Resistance จะเป็นผลงานที่เลอเลิศกว่านี้ (เท่าที่เปิด War and War ผ่านๆ ก็เหมือนไม่ได้เขียนในลักษณะนี้แล้ว)

E. Fromm's "Escape from Freedom"


Escape from Freedom เป็นหนังสือที่เราอ่านด้วยความรู้สึกขัดแย้งมากๆ เป็นความขัดแย้งระหว่างความคิด และวิธีสื่อสาร ฟรอมม์เป็นนักจิตวิทยา/ปรัชญาการเมืองที่ฉลาดล้ำที่สุดคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันแกเป็นนักเขียนที่แย่เอามากๆ อ่านหนังสือ non-fiction ที่เขียนแย่ๆ แบบนี้ ทำให้เข้าใจว่าเขียนดีๆ นั้นเป็นอย่างไร และเหตุใดสมัยก่อนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึงแจกให้นักปรัชญาได้

แต่เดี๋ยวก่อน ความแย่ในการเขียนของฟรอมม์ไม่ใช่ว่าสื่อสารไม่รู้เรื่อง ตรงกันข้าม ฟรอมม์เขียนอย่างตรงไปตรงมา และประเด็นสำคัญถูกนำมาย้ำซ้ำๆ ตลอดทั้งเล่ม ถ้าเป็นแฟนหนังสือจะรู้สึกว่าเป็นวิธีเขียนที่น่าเบื่อ แต่ก็ช่วยให้ Escape from Freedom เป็นหนังสืออ่านง่าย ชนิดว่าเราอยากให้คนไทยทุกคนได้ลองอ่าน

เพราะความคิดของฟรอมม์นั้นจำเป็นมากๆ กับสังคมไทยในขณะนี้

ประเด็นหลักสองข้อซึ่งแกนำเสนอซ้ำไปซ้ำมา คือผลเสียของอิสรภาพ 1) อิสรภาพนำมาซึ่งความเป็นปัจเจก แต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงความโดดเดี่ยว และรู้สึกไร้กำลัง 2) อิสรภาพที่จะคิด เขียน หรือกระทำอะไรได้ดังใจ ไม่มีความหมายใดๆ ถ้าปัจเจกไม่อาจคิด เขียน หรือกระทำสิ่งเหล่านั้นจากความตั้งใจของตัวเอง (และมันช่างแสนง่ายดายเหลือเกินที่จะป้อนความคิดไปยังปัจเจกให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้ยินมาจากแหล่งอื่น เป็นความคิดของตัวเอง) โดยอิสรภาพนั้นเกิดจากระบบเศรษฐกิจ และวิธีคิดแบบทุนนิยม

อืม...เพิ่งพูดไปหยกๆ ว่าอยากให้คนไทยทุกคนได้อ่าน แต่ไปๆ มาๆ ตอนนี้ชักลังเลแล้วสิ เพราะประเทศเราเต็มไปด้วยปัญญาชน(แอบอ้าง)ผู้เอะอะก็ตีค้าตีความเป็นต่อต้านทุนนิยมไปหมด เดี๋ยวอ่านไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดจะมาหาว่าฟรอมม์พูดถึงมันในแง่ลบเปล่าๆ แม้ทุนนิยมจะนำมาซึ่งอิสรภาพ แต่อิสรภาพนั้นก็มีข้อเสีย ซึ่งเราต้องตระหนักตรงจุดนี้ให้ได้ มิฉะนั้นจะถูกหลอกให้จำนนอิสรภาพ และหันไปหารูปเคารพ และระบบอื่นๆ ซึ่งทรามกว่าร้อยเท่าพันเท่า (สมัยที่ฟรอมม์เขียนหนังสือเล่มนี้ ระบบที่ว่าก็คือนาซี และรูปเคารพดังกล่าวก็คือฮิตเลอร์ แต่ในปัจจุบันจะตีความเป็นคอมมิวนิสต์ เลนนิน สตาลิน หรือเจ้าของสำนักพิมพ์แห่งสารขันประเทศก็ได้) Escape from Freedom เสนอคำอธิบายที่เราหามาแสนนานว่าทำไมมนุษย์ถึงถูกหลอกให้เชื่ออะไรเป็นหมู่คณะได้ง่ายจัง ทั้งที่ความเชื่อเหล่านั้นบางทีก็แสนจะไร้สาระ

หนังสือเล่มนี้ยังมีอะไรเจ๋งๆ อีกเยอะ ฟรอมม์ไม่ใช่แค่วิเคราะห์ข้อเสียของอิสรภาพในแง่การเมือง แต่ยังพูดถึงความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย แม้วิธีการเขียนจะชวนอึดอัด แต่ถ้ามีโอกาส เราก็ยังจะขอติดตามต่อไป

I. Murdoch's "Henry and Cato"


ที่อ่านมา Henry and Cato คือนิยายเล่มที่สิบสามของเมอดอช เท่ากับว่าตอนนี้เราบรรลุไปครึ่งหนึ่งแล้วของทั้งหมดที่เธอเขียน คนอะไรช่างผลิตหนังสือได้มากมาย แถมแต่ละเล่มก็ยาวๆ ทั้งนั้น พออ่านหนังสือของนักเขียนคนหนึ่งมากๆ เข้า อดถามตัวเอง (และมีคนรอบข้างมาช่วยถาม) ไม่ได้ว่าแต่ละเล่มมันแตกต่างกันสักแค่ไหน ยิ่งเฉพาะนิยายแบบเมอดอชที่ไม่มีใครเป็นพระเอก นางเอกชัดเจน และมีฉากซ้ำซากเป็นคฤหาสน์ในชนบทของประเทศอังกฤษ ดูผิวเผินอาจบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเล่มไหนเป็นเล่มไหน

ในแง่นี้ Henry and Cato คงเป็นนิยายที่จดจำง่ายกว่าเพื่อน พอผ่านไปครึ่งเรื่อง เกินเหตุการณ์บางอย่างซึ่ง "ไม่เมอดอชเอาเสียเลย" ตอนแรกก็เป็นห่วงเหมือนกัน เพราะจากประสบการณ์ พอรู้ว่าเดมมีแนวโน้มชอบทำลายหนังสือตัวเอง และอย่างสนุกสนานเสียด้วย (ตัวอย่างเช่น The Sacred and Profane Love Machine ซึ่งยังหลอกหลอนเราจนทุกวันนี้) ลุ้นอยู่พักใหญ่ สุดท้ายเหตุการณ์คลี่คลายอย่างสวยงาม Henry and Cato กลายเป็นอีกผลงานชั้นเยี่ยมจากนักเขียนในดวงใจ

จุดเด่นคือประกายอบอุ่นแปลกๆ และตอนจบกึ่งสุขสันต์ในนิยายที่ตัวละครขี้ขลาด เสแสร้ง และหลอกใช้ซึ่งกันและกัน (ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับ A Fairly Honourable Defeat ที่มีแต่คนดีๆ แต่จบได้ชอกช้ำถึงใจ) พลอตชักเชิดหุ่นเป็นเรื่องปรกติในนิยายของเดม แต่เล่มนี้ก้าวข้ามไปอีกขั้น Henry and Cato เต็มไปด้วยจุดแปลกใจให้คนอ่านอึ้งกิน หลายเหตุการณ์ลงเอยแตกต่างจากที่ปรากฎในตอนแรก จะเรียกมันว่านิยายหักมุมแบบเมอดอชก็ย่อมได้

เฮนรี และคาโตในชื่อหนังสือเป็นเพื่อนรักวัยเด็ก คาโตคือพระผู้หมดศรัทธาในพระเป็นเจ้า เขาหลงรักโจ เด็กหนุ่มที่ชอบแวะเวียนมาหา ส่วนเฮนรีได้รับมรดกเป็นบ้านหลังใหญ่และที่ดิน ภายหลังการตายของพี่ชายที่เขาไม่ชอบหน้า เฮนรีกลับมารับสืบทอดมรดก และเผชิญหน้ากับแม่ที่รักพี่ชายมากกว่าตัวเขา ช่วงแรกเรื่องราวของเฮนรี และคาโตแยกกันอย่างชัดเจน (แม้จะมีฉากที่พวกเขาแวะเวียนมาพบปะสนทนา) พอถึงช่วงหลังค่อยวกเข้ามาเกี่ยวเนื่องกันอย่างน่าติดตาม ระหว่างตัวละครสองตัว เฮนรีดูเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ว่าไปแล้วชื่อนิยาย Henry and Cato เป็นชื่อที่แสนธรรมดา และน่าเบื่อเอามากๆ เมื่อเทียบกับเล่มอื่นของเมอดอช)

อัจฉริยะของเมอดอชคือการถอดหน้ากากตัวละคร เพื่อแสดงให้เห็นสันดาน และเบื้องหลังการกระทำ กระนั้นข้อด้อยอย่างเดียวของ Henry and Cato คือการตัดสินใจหลายอย่างสาวไปยังวัยเด็กของตัวละคร ซึ่งผู้เขียนละเลยที่จะกล่าวถึงตรงจุดนี้ (แต่ก็เป็นสไตล์เมอดอชเลยล่ะ เท่าที่เราอ่านมา เดมไม่ชอบใส่แฟลชแบคให้ตัวละคร แต่อยากให้คนอ่านรู้จักพวกเขาผ่านเหตุการณ์ในปัจจุบันมากกว่า)