M. Foucault's "The History of Sexuality: an Introduction"


The History of Sexuality คือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเซ็ก ที่ไม่ได้พูดถึงเซ็ก แต่พูดถึง "การพูดถึงเรื่องเซ็ก" ซึ่งถ้าว่ากันตามนิยามของฟูโกต์แล้ว นั่นแหละคือเรื่องเซ็ก งงไหม

อ่านแล้วนึกถึงสมัยเรียนทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ ไอนสไตน์กล่าว (ย่อๆ ) ว่าภาพวัตถุคือตัวตนที่แท้จริงของวัตถุ ในทำนองเดียวกัน กิจกรรมเพศสัมพันธ์ในสายตาฟูโกต์เป็นแค่เรื่องหยิบย่อยในทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ฟูโกต์สมเป็นนักปรัชญา-ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ มองเพศสัมพันธ์เป็นเครือข่ายอำนาจชนิดหนึ่ง โดยหัวใจของการหยิบยื่น และใช้อำนาจอยู่ที่ "ความจริง" หรือ "การเรียนรู้ความจริง" เกี่ยวกับเรื่องเซ็ก

ใครที่อ่าน Discipline & Punish มาก่อนจะเข้าใจ The History of Sexuality ได้ง่ายขึ้น เพราะปรัชญาหลายอย่างคล้ายคลึงกัน ฟูโกต์สนใจความเกี่ยวพันระหว่างอำนาจ และความรู้ กรณีเซ็กซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกสังคมปกปิดย่อมกลายเป็นฐานแห่งอำนาจ ระหว่างผู้รู้ และผู้อยากรู้ ความคิดซึ่งน่าหยิกมากๆ คือฟูโกต์แบ่งวัฒนธรรมออกเป็นสองประเภท วัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งเซ็ก หรือความจริงเกี่ยวกับเซ็กสัมพันธ์กับศิลปะ (นึกถึงอีโรติกอาร์ตของญี่ปุ่น อินเดีย) ศิลปินหรือผู้รู้จะมีอำนาจเหนือกว่า ส่วนวัฒนธรรมตะวันตก จะตรงกันข้าม เพราะเซ็กสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้รู้จึงตกอยู่ในสภาพ "สิ่งที่ถูกศึกษา" และนักวิทยาศาสตร์ นักศาสนา หรือผู้อยากรู้ เป็นฝ่ายกุมอำนาจ

จริงๆ หนังสือเล่มนี้มีประเด็นน่าขบคิดเยอะ แต่ประเด็นหลักซึ่งฟูโกต์ย้ำเสมอคือ พัฒนาการของสังคมยุคใหม่ ตั้งแต่ยุควิคตอเรียไม่ได้นำไปสู่การปกปิดทางเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ ในทางตรงกันข้าม ฟูโกต์กลับบอกว่าเรื่องเพศถูกเปิดเผยมากขึ้น ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำไปสู่ทุนนิยม ผู้คนตระหนักความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ จากเดิมอำนาจถูกจำกัดแค่หยิบยื่นความตายให้แก่ผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ แต่ภายหลังศตวรรษที่ 18 อำนาจคือการจัดการชีวิตผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อการผลิต เพศสัมพันธ์กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในระบบเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นมนุษย์ยุคใหม่จึงหันมา "คุย" เรื่องเพศมากขึ้น "คุย" ในที่นี้ไม่ใช่สนทนาวิสาสะกลางตลาด แต่เป็นการ "คุย" เพื่อบังคับ ควบคุม ค้นหาความรู้ สรุปสั้นๆ คือ การ "คุย" ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจนั่นเอง

ใช้เวลาอ่าน The History of Sexuality น้อยมาก ทั้งที่มันเป็นหนังสือยาก ไม่รู้เหมือนกันที่ลุยอ่าน เพราะกลัวลืมเนื้อหา แล้วจะอ่านต่อไม่รู้เรื่องหรือเปล่า (เอาเข้าจริงๆ พออ่านจบบทหนึ่ง ให้เวลากับมันสักพัก จะเข้าใจได้ดีกว่า) แต่ที่แน่ๆ ถึงจะยาก แต่นี่เป็นหนังสือซึ่งอ่านสนุก ความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าช็อตกระตุ้นสมองตลอดเวลา ยอมรับว่าอ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ The History of Sexuality พิสูจน์ว่าฟูโกต์ยังคงเป็นนักปรัชญาในดวงใจเราเสมอ

A. Bechdel's "Fun Home: A Family Tragicomic"


Fun Home คือความผิดหวังที่คาดเดาไว้ตั้งแต่ต้น เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้แต่เราเป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่นเหนียวแน่น อ่านมาตั้งแต่เด็ก จนบัดนี้ก็ยังรู้สึกว่าถ้าให้จัดอันดับหนังสือที่ชอบที่สุดในโลก ในสิบเล่มแรก คงมีนิยายหลุดมาไม่ถึงครึ่ง ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ประเทศอเมริกา ความตั้งใจอย่างหนึ่งคือค้นหา และทดลองอ่านการ์ตูนอเมริกัน ซึ่งแฟนๆ เรียกอย่างเท่ๆ ว่า graphic novel ตั้งแต่ Watchmen ซึ่งติดอันดับหนังสือภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดร้อยเล่มของนิตยสาร Times จนมา Fun Home ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดหวัง

จะเรียก Fun Home ว่าความผิดหวังก็ออกจะเกินไป เช่นเดียวกับให้เปรียบเทียบมันกับ Watchmen ก็ดูเหมือนไม่เข้าพวก ผลงานของเบชเดลมีความใกล้เคียงกับนิยายอย่าง Catcher in the Rye มากกว่า Fun Home นี่แหละ สมราคาแล้วจะถูกเรียกว่า "a truely graphic novel" ("นิยายภาพอย่างแท้จริง")

เบชเดลเป็นเลสเบี้ยน และ Fun Home คืออัตชีวประวัติเธอ ว่าด้วยความสัมพันธ์กับพ่อ ซึ่งผู้เขียนมารู้ภายหลังว่าเป็นเกย์ ครอบครัวเบชเดลทำธุรกิจงานศพ นอกเหนือจากเรื่องเพศที่สาม Fun Home ยังเป็นนิยายที่พูดถึงเรื่องความตาย ส่วนตัวแล้วชอบประเด็นหลังมากกว่าประเด็นแรก

ปัญหาหลักคือการเล่าเรื่อง แต่ละบทจบในตัวเอง เป็นการมองชีวิตวัยเด็กจากแง่มุมต่างๆ แค่อ่านไปสองบทแรก ก็รู้เรื่องราวทั้งหมด ที่เหลือก็แค่ติดตามรายละเอียด ซึ่งใช่ว่าไม่น่าอ่าน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจขนาดนั้น คงอ่านสนุกกว่านี้เยอะ ถ้าแต่ละบทได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และ narrative มุ่งไปที่ไหนสักแห่ง แทนที่จะย้ำอยู่กับเหตุการณ์เดิม ปัญหาของหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนงานเขียนแนวอัตชีวประวัติทั่วไป อันที่จริง ต้องยอมรับด้วยซ้ำว่าการนำเสนอในรูปแบบ graphic novel ถือว่าเหมาะสมสุดแล้ว คิดเล่นๆ ว่าถ้าเป็นนิยาย คงอ่านไปด่าไป เผลอๆ ไม่จบด้วยซ้ำ

จุดเด่น (ซึ่งกลายเป็นจุดด้อย) ที่สุดของ Fun Home คือการที่เบชเดลอิงแต่บทบนมุมมอง และแนวคิดจากนักเขียนคลาสสิคตั้งแต่กามู เพราว์ส ฟิซเจอรัล จนถึง ไวล์ด รู้สึกว่า "พยายาม" มากๆ แทบกลายเป็น "อวดฉลาด" อยู่แล้ว เหมือนกับคนเขียนตะโกนบอกว่า "เห็นไหม การ์ตูนเรื่องนี้มีพูดถึงเจมส์ จอยซ์ด้วย ไม่ใช่ขี้ๆ นะเฟ้ย!"

ตั้งแต่วัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในโลกตะวันตก เหมือนๆ การ์ตูนฝรั่งกำลังเดินผิดทางยังไงไม่รู้ ยิ่งพยายามทำ "การ์ตูน" ให้กลายเป็น "นิยายภาพ" เท่าใด ก็ยิ่งห่างไกลจากหัวใจของสื่อชนิดนี้ไปเท่านั้น

C. Dicken's "The Tale of Two Cities"


ตอนที่เขียนไปว่าไม่เคยอ่านนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกน ก็มีเพื่อนประสงค์ดีหลายคนแนะนำเล่มนู้นเล่มนี้มาให้ ที่ลงเอยกับ The Tale of Two Cities ก็เรียกว่าบังเอิญหน่อยๆ คือไปเดินห้างของโหล แล้วเห็นวางกองๆ อยู่ในกะบะเล่มละสามเหรียญ ตะครุบทันที พอบอกรุ่นพี่ว่าจะเริ่มอ่านสองนคร แกทำหน้างงนิดๆ แล้วก็เตือนว่ามันไม่ใช่นิยายดิกเกนเซียนเสียทีเดียวนะ ซึ่งก็จริง เพราะเท่าที่รู้เนื้อเรื่องคร่าวๆ สองนครไม่เหมือนกับเล่มอื่นๆ

สาเหตุที่สนใจ The Tale of Two Cities มาจากว่าเราเป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส โอกาสที่จะเรียนรู้มันจากปากคำคน(เกือบ)ร่วมสมัยอย่างดิกเกนถือว่าพลาดไม่ได้ (นิยายเล่มนี้เขียนประมาณครึ่งศตวรรษหลังการโค่งบัลลังก์หลุยส์ที่ 16) ซึ่งมุมมองที่ผู้เขียนมีต่อเหตุการณ์นี้ค่อนข้างแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันจริงๆ นั่นแหละ แทนที่จะพูดถึงการเคลื่อนไหวด้านการเมือง อำนาจอธิปไตยโยกย้ายกระจายตัว ชนชั้นกลางไม่พอใจระบบกษัตริย์ หรือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจสร้างภาวะข้าวยากหมากแพง การปฏิวัติฝรั่งเศสในสายตาดิกเกนดูเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เกิดจากความแค้นของชนชั้นแรงงานที่มีต่อขุนนางเท่านั้น

ถึงจะเป็นการมองแบบง่ายๆ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเรื่องง่ายๆ ต้องผิดพลาดเสมอไป บางครั้งคำตอบง่ายๆ อาจใช้ได้ และเป็นจริงยิ่งกว่าคำตอบซับซ้อนด้วยซ้ำ จะว่าไป คงมีแต่คำตอบทางอารมณ์อย่าง "ความแค้น" ถึงจะอธิบายปรากฎการณ์ทางอารมณ์ ที่เรียกว่าปฏิวัติฝรั่งเศสได้ ในสายตาของดิกเกน การปฏิวัติฝรั่งเศสเสมือนเครื่องจักรสังคมซึ่งดำเนินไปตามวิถี ไม่มีใครหยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลง เมื่อขุนนางมีอำนาจ ก็ง่ายดายที่ชนชั้นสูงจะใช้อำนาจในทางที่ผิด ข่มเหงรังแกผู้อ่อนแอกว่า และเมื่อความแค้นของชนชั้นแรงงานระอุถึงที่สุด ก็กลายเป็นการโต้ตอบชนิดเลือดล้างเลือด

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่าความเจ๋งของ The Tale of Two Cities รวมอยู่ในตัวนางร้ายมาดามดีฟาร์ก ที่นอกจากเลือดเย็น อำมหิตถึงแก่นแล้ว เธอยังเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องจักรนรกนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร มาดามดีฟาร์กไม่เคยหยุดถักไหมพรม ไม่ว่าจะเป็นตอนรถม้าขุนนางขับชนเด็กยากจน ขณะวางแผนกับสามีถล่มคุกบาสติล หรือใส่ร้ายคนบริสุทธิ์เพื่อตอบสนองความแค้นส่วนตัว แต่ที่เด็ดสุดคือ ยามเมื่อศีรษะแล้วศรีษะเล่าสังเวยคมเคียวกิโยติน มาดามดีฟาร์กยังถักทอไหมพรมบนเก้าอี้ประจำตัวข้างลานประหารอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงมอยรา สามพี่น้องเทพแห่งชะตากรรมในตำนานกรีก นอกจากจะร้ายได้ใจ มาดามดีฟาร์กยังมีจุดจบที่...ต้องถือว่าดิกเกน "สร้างสรรค์" และ "กล้า" มากๆ ที่ให้จุดจบเช่นนี้กับตัวละคร เป็นยังไง ไว้ไปอ่านกันเอาเอง

ถ้าถามคนที่ไม่เคยอ่านดิกเกนเลย สำหรับดิกเกนเล่มแรก รู้สึกอย่างไร ตอบได้เลยว่าประทับใจ ผู้เขียนมีวิธีการแต่งเรื่องที่ซ่อนปม ซุกความลับให้น่าติดตามตลอดเวลา แถมยังต้องยกนิ้วกับการสร้างฉาก สร้างอิมเมจ จนอุปมาอุปมัยเล็กๆ น้อยๆ เช่นเสียงฝีเท้ากลายเป็นจุดเด่นของเรื่อง ท่าจะติ ก็คงเป็นตัวเอกที่อ่อนเกินไป โดยเฉพาะคาร์สัน ผู้ต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่อันมีผลต่อชีวิตทุกคน พอถึงวินาทีนั้น เรา คนอ่านกลับเข้าไม่ถึงตัวละครอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ก็เอาเถอะ ถ้ามีตัวร้ายที่แข็งขนาดมาดามดีฟาร์ก หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ต้องการพระเอก นางเอกแล้วล่ะ

Sir Ian McKellen


อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสดูละครสองเรื่อง คือ King Lear และ The Seagull จริงๆ แค่ได้ดูละครสองเรื่องนี้ก็ถือว่าโคตรปลื้มแล้ว แต่นี่ยังเป็นของคณะ Royal Shakespeare Company คณะละครระดับโลก และที่สำคัญคือเซอร์เอียน แมคคัลเลนเล่นในทั้งสองเรื่องด้วย!

The Seagull เป็นละครที่มีความหมายกับเรามาก เพราะถือเป็นละครเปลี่ยนชีวิตก็ว่าได้ The Seagull เป็นละครเรื่องสุดท้ายที่เรา "เล่น" หลังจากนั้นเริ่มเบื่อหน่ายกับการเป็นตัวประกอบ ต้นไม้ ก้อนหิน ก็เลยหันมาเขียนละครเอง และ "ส____" ก็เกิดขึ้นมา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้านางนวลไปเต็มๆ

เจ้านางนวลเขียนโดยเชคอฟ แต่ฉบับที่เราอ่านครั้งแรกเป็นเวอร์ชั่นเทนเนสซี วิลเลียม ไม่เคยได้ดูหรืออ่านเวอร์ชั่นดั้งเดิมกระทั่งวันนี้ ดูไปก็ปลื้มไป แล้วก็ตื่นเต้นจนใจสั่น ให้พูดถึงละครจริงๆ ก็ดีมากอยู่แล้ว แต่นี่ยังรู้สึกถึงอิทธิพลที่มันมีต่อความคิด ความอ่านเรา กี่ครั้งแล้วที่เรานั่งหน้าแป้นพิมพ์ พยายามเขียนอะไรบางอย่างออกมา โดยที่มีภาพเงาของนีนา คอนสแตนดิน อาคาดินา และตริกอรินทาทับอยู่เสมอ

ทั้งที่เคยอ่านแค่รอบเดียว แต่จนบัดนี้ก็ยังจำหลายฉากได้ขึ้นใจ ตั้งแต่ประโยค (เกือบ) เปิดเรื่อง "ฉันแต่งดำไว้ทุกข์ให้กับชีวิตตัวเอง" จนถึงตอนจบ ที่ไม่เหมือนกันระหว่างสองเวอร์ชั่น ฉบับเชคอฟจะสมจริงสมจังกว่า ส่วนวิลเลียมปิดเรื่องได้ละค๊รละครแต่ก็ตราตรึงใจผู้ชมได้มากกว่าเช่นกัน

ส่วน King Lear คือหนึ่งในสองละครของเชคสเปียร์ที่เราชอบสุด ความชอบสลับไปมาระหว่าง Macbeth กับเรื่องนี้ ขณะที่เซอร์เอียนเล่นเป็นตัวประกอบใน The Seagull แกรับบทราชาเลียร์ไปเลยเต็มๆ เคยเขียนถึงบทละครเรื่องนี้ไปแล้ว สำหรับการแสดงของ Royal Shakespeare Company ต้องยอมรับว่าสมคำร่ำลือ แอบผิดหวังนิดๆ กับเซอร์เอียนในบทราชาสติแตก อาจเพราะคุ้นชินกับแกเวลาเป็นตัวละครเท่ๆ อย่างกันดาฟ แมคนิโต หรือว่าทิปปิง (The Da Vinci Code) กระมัง ส่วนตัวก็เลยชอบการแสดงช่วงเปิดเรื่องมากกว่า กระนั้นฉากมงกุฎดอกไม้ (act 4 scene 6) ซึ่งเป็นฉากเอกของละครก็ทำออกมาได้งดงามชวนฝันสมที่รอคอย

P. Roth's "American Pastoral"


จะว่าบังเอิญก็บังเอิญ ระหว่างที่อ่าน American Postoral ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ Across the Universe ของจูเลียน เทมอร์ ซึ่งทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือการเคลื่อนไหวของฮิปปี้ยุคปีหกศูนย์ เจ็ดศูนย์เพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม เพียงแต่เป็นการมองจากสองมุมตรงข้ามกันสุดขั้ว Across the Universe วางบทบาทฮิปปี้ให้เป็นหนุ่มสาวผู้แสวงหา ล้มล้างระบบความเชื่อเก่า เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ขณะที่ American Postoral มองคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย นักวางระเบิด

ถอยหลังดีกว่า ให้พูดว่าฮิปปี้ของฟิลิบ รอธเป็นผู้ก่อการร้ายก็ดูเป็นการกล่าวเกินจริงไปบ้าง เพราะประเด็นของ American Postoral ไม่ได้อยู่ตรงฮิปปี้ แต่อยู่ที่จุดจบความฝันสไตล์อเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนาม American Dream สวีดคือ American Dream ตัวเป็นๆ คุณปู่ของเขาคือชาวต่างชาติซึ่งย้ายมาอยู่ทวีปอเมริกา และทำธุรกิจถุงมือจนร่ำรวย เปิดโรงงาน และสร้างครอบครัว อาณาจักรเล็กๆ อันอบอุ่น สวีดเอง ตอนเด็กเป็นนักเบสบอลมือหนึ่ง ซึ่งในยุคนั้นเบสบอลคือกีฬาแห่งความฝันแบบอเมริกัน

แต่ความฝันของสวีดจบสิ้นลงในเงื้อมมือเมอรี่ ลูกสาวสุดที่รัก ตั้งแต่เด็กเธอมีอาการพูดติดอ่าง ซึ่งทั้งสวีด และภรรยาหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ ท้ายที่สุดนอกจากจะไม่อาจรักษาความผิดปกตินี้ ความรัก และความอบอุ่นในครอบครัวกลับสร้างปมบางอย่างในตัวเด็กหญิง ท้ายสุดเธอหนีออกจากบ้าน เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย วางระเบิดเพื่อสั่งสอนชาวอเมริกันให้รู้จักคำว่าสงคราม

อย่างที่บอก ประเด็นของรอธไม่ใช่เพียงสร้างภาพลักษณ์ติดลบให้กับกลุ่มฮิปปี้ หรือพวกนักปฏิวัติที่มีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ (ถึงแม้รอธจะสร้างตัวละครริต้า โคเฮนขึ้นมา ซึ่งคงไม่มีคำไหนนิยามเธอได้ดีไปกว่า "กะหรี่สวะหัวเอียงซ้าย") แต่อยู่ที่ความไม่เข้าใจโลกยุคใหม่ของสวีด เหตุใดทุกสิ่งที่ตัวเขา พ่อ และปู่เชื่อ ถึงกลายเป็นค่านิยมอันน่าเหยียดหยามในสายตาคนรุ่นใหม่ วัยเด็กของสวีดอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งชาวอเมริกันสัมผัสลัทธิชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชัยชนะเหนือขบวนการฟาสซิสต์ และผู้นำทางเทคโนโลยี พอถึงปีหกศูนย์ เจ็ดศูนย์ หลังการสังหารเคนเนดี้ และจอห์นสันนำชาวอเมริกาเข้าสู่สงครามเวียดนาม จนกลายเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ (จนถึงทุกวันนี้ผู้คนยังกล่าวขานกันว่าเคนเนดี้คือประธานาธิบดีที่เข้าท่าเข้าทางคนสุดท้ายของอเมริกา)

เนื้อหาน่าสนใจ แต่นี่คือหนังสือเยิ่นเย้อที่สุดเท่าที่เคยอ่านเล่มหนึ่ง ชนิดที่ว่าหลังๆ อ่านข้ามหน้า ข้ามเป็นบทๆ ยังรู้เรื่องไม่ตกหล่น สำหรับหนังสือยาวสี่ร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ ตัดให้เลือสองร้อยนิดๆ เนื้อความก็คงไม่สูญหายไปไหน นี่คือผลงานเล่มที่สองของรอธที่เราเคยอ่าน และคงเป็นเล่มสุดท้าย ขนาดได้รางวัลพูลลิตเซอร์ยังขนาดนี้ แล้วถ้าไม่ได้จะขนาดไหนหนอ

S. Plath's "The Bell Jar"


หายไปนาน ไม่มีข้อแก้ตัวนอกจากอ่านนิยายอิตาลีเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่ชอบและเลิกอ่านกลางคัน ดังนั้นไม่ใช่ว่า The Bell Jar มีอะไรไม่ดี หรือหนาปึกถึงขนาดต้องอ่านเป็นอาทิตย์หรอกนะ

เล่มนี้ชวนให้นึกถึง Surface Up หนังสือของแอดวู้ดที่เคยเขียนถึงไปแล้ว The Bell Jar เป็นอีกนิยายคนบ้า ที่พูดถึงตัวละครผู้มีสภาพจิตใจผิดธรรมดาและตลอดทั้งเล่มคือพัฒนาการของเธอ ตั้งแต่ตอนที่ยังปกติ จนไปจบลงในโรงพยาบาล (หรือในกรณี Surface Up คือหนีเข้าสู่ธรรมชาติ) ที่นิยายของแพลทต่างจากเล่มอื่น คงเป็นเพราะ attitude ที่มีต่อคนบ้า ไม่ใช่ออกมาในเชิงหลงใหล romanticize เหมือนแอดวู้ด หรือเวอจิเนียร์ วูลฟ์ เอสเธอร์ ตัวเอกของ The Bell Jar ลึกๆ ดูโหยหาความเป็นคนปกติไม่ใช่น้อย และในครึ่งหลังของนิยาย พูดถึงการเดินทางย้อนกลับจากความบ้า ไปสู่ความหายบ้า

ตอนเริ่มเรื่อง เอสเธอร์เป็นผู้หญิงที่นอกจากจะไม่บ้าแล้ว ยังฉลาดกว่าคนปกติด้วยซ้ำ เธอได้ทุนการศึกษา และรางวัลเรียนดีจากสถาบันต่างๆ เปิดนิยายมา เธอคือหนึ่งในผู้หญิงสิบสองคนผู้ถูกคัดเลือกไปโชว์ตัว และทำงานพิเศษในนิวยอร์ก คนที่จะได้รับอภิสิทธินี้นอกจากจะเป็นผู้หญิงเก่ง ยังต้องสวยเชิดหน้าชูตา (สมัยเรียนตรี เพื่อนสนิทเราคนหนึ่งก็ได้รางวัลนี้เช่นกัน ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าเธอแจ่มมาก) คำถามชวนสงสัยคือสิ่งไหนกันผลักไสผู้หญิงคนนี้ให้หลุดโลกแห่งความจริงไป ใช่เรื่องที่แฟนหนุ่มสารภาพ ยาพิษที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใส่ลงในอาหาร การที่เธอเป็นสาวบริสุทธิ์ ข่าวความล้มเหลวครั้งแรกในชีวิต หรือสภาพครอบครัวอันปราศจากพ่อ และสัมพันธภาพกับแม่ที่ไม่ราบรื่น

ถ้าจะตอบแบบตีขลุม ก็คงเป็นสภาพสังคมซึ่งกำหนดบทบาททางเพศมาให้เธอเล่น โดยเอสเธอร์รู้สึกว่าตัวเองไม่อาจเข้าถึงบทบาทนี้ได้ แม่พร่ำสอนเธอให้อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงซึ่งเธอชื่นชมอย่างหัวหน้าบรรณาธิการก็มีลักษณะไร้เพศบางประการ ซึ่งเธอไม่อยากเลียนแบบ ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างผู้หญิงที่เคยมีเซ็กแล้ว และยังไม่มี

อุปมาอุปมัยตัวหนึ่งซึ่งเราชอบมาก คือเอสเธอร์เปรียบชีวิตตัวเองเหมือนยืนอยู่ใต้ต้นไม้ โดยแต่ละกิ่งแทนอนาคตอันสดใสซึ่งเธอเลือกได้ แต่เมื่อไม่อาจเลือกอะไรเลย ก็เพียงแค่รอให้แต่ละกิ่งค่อยๆ ร่วงโรย ส่วนชื่อหนังสือ "ขวดโหล" อ้างถึงตอนแฟนหนุ่มนักเรียนแพทย์พาเธอไปดูเด็กดอง เอสเธอร์รู้สึกเหมือนโลกนี้มีคนบางประเภท ซึ่งเธอคือหนึ่งในนั้น ที่ถูกสาปให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโหลแก้ว และของเหลวกลิ่นเหม็นหืนตลอดกาล

เรารู้สึกว่าแพลทประสบความสำเร็จในครึ่งแรกของนิยาย มากกว่าครึ่งหลัง ที่ผู้เขียนบรรยายตัวเอกออกมาดูมีเหตุมีผลเกินกว่าจะเป็นคนบ้า รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเกิดมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพื่อสร้างผลกระทบทางอารมณ์ให้คนเขียนปิดนิยายได้เท่านั้น อย่างไรก็ดีนี่อาจจะเป็นนิยายคนบ้าที่เราชอบที่สุดก็ว่าได้

ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)


ก็แปลกดีเหมือนกัน คิดเล่นๆ ว่าถ้าได้เจอตัว หรืออ่านงานเขียนของอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ช่วงสาม สี่ปีก่อน คงได้มีการประหมัดทางความคิด (ด้วยอาวุโสแตกต่าง เราก็คงผงกศีรษะหงึกๆ รับฟังสิ่งที่แกพูดถ่ายเดียว) พอเวลาผ่านเลย เกิดปรากฏการณ์ทักษิณ vs สนธิ ล่วงมาถึงรัฐประหาร ไปๆ มาๆ ทั้งเรา และแกกลับมาเห็นพ้องต้องกันได้

ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา รวมบทความช่วงสาม สี่ปีของอาจารย์ศิโรตม์ โดยหนังสือแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือบทความล่าสุดซึ่งเขียนตอบโต้กรณีรัฐประหาร บทที่สองว่าด้วยปัญหาภาคใต้ และบทที่สามพูดถึงการเมืองซึ่งสะท้อนในวัฒนธรรมอื่นๆ นอกเหนือบริบทของมัน ตั้งแต่ 30 ปี 14 ตุลา จนถึงภาพยนตร์ แฟนฉัน และ องค์บาก (พูดกันขำๆ คือเป็นบทความจับฉ่ายที่ไม่เข้าพวกกับสองบทแรกก็พอได้) ซึ่งจริงๆ แล้วบทที่สอง และสามมีอายุเก่าแก่ว่าบทแรก

เรื่องที่เห็นด้วยกับอาจารย์ ไม่ขอพูดเพิ่มเติมแล้วกัน เพราะคนที่อ่านบลอคนี้ประจำ ก็คงพอรับทราบองศาการเมืองของเรา พูดถึงที่แตกต่างดีกว่า อย่างกรณีปัญหาภาคใต้ ดูเหมือนอาจารย์จะโทษรัฐบาลฝ่ายเดียว มองข้ามปัจจัยภายนอก (หมายถึงการลุกฮือของมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลกอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 9/11 สงครามในอัฟกานิสถาน และอิรัก) ซึ่งยังไงเราว่ามันก็ต้องเกี่ยวบ้างแหละ เผลอๆ เกี่ยวเยอะเลยด้วย เคยคุยกับเพื่อนคนจีน และเนเธอแลนด์ บ้านเมืองเขาก็ประสบปัญหาผู้ก่อการร้ายในลักษณะคล้ายๆ บ้านเราในช่วงห้า หกปีให้หลังนี้ รวมถึงอีกหลายความเห็นที่น่าจะพิสูจน์เชิงสถิติได้โดยง่าย แต่เท่าที่เห็น เหมือนอาจารย์จะพอใจแค่เอ่ยอ้างลอยๆ (หรือเพราะเป็นบทความลง Aday Weekly ก็เลยใช่ที่ ถ้าจะต้องค้นตัวเลขให้วุ่นวาย)

อีกประเด็นก็คือกรณี 14 ตุลา อาจารย์ศิโรตม์บอกว่าคนไทยมองอะไรวีรบุรุษนิยมเกินไป ควรกระจายเครดิตไปสู่ประชาชน คนธรรมดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุนนักศึกษาด้วย พูดอีกอย่าง 14 ตุลา ไม่ใช่เป็นของ "ปัญญาชน" เท่านั้น ถ้าทำเช่นนั้น 14 ตุลา จะมีภูมิคุ้มกันทางประวัติศาสตร์สูงกว่า คือเมื่อเวลาผ่านไป คนตุลาชราภาพลง คนรุ่นหลังจะมองเหตุการณ์นี้เฉกเช่นที่ทุกวันนี้เรารู้จักมัน

แต่ถ้าตัดปัจจัยวีรชนออก และรวมบริบททางสังคมอย่างเป็นกลางจริงๆ แน่ใจหรือว่าจะไม่มีกระแสต่อต้านของคนธรรมดาในยุคนั้น (เฉกเช่นเดียวกับที่การเคลื่อนไหวบุบผาชนในอเมริกา ทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด และกลายเป็นเรื่องไร้สาระขึ้นทุกที) เพราะเอาเข้าจริงๆ 14 ตุลา เป็น 14 ตุลาเพราะคนไทยต้องการวีรบุรุษ

สนใจมากว่าทุกวันนี้อาจารย์ศิโรตม์ยังเชื่อแบบเดิมอยู่หรือเปล่า สำหรับคนที่ต่อต้านปรากฏการณ์สนธิแบบ "เรา" อาจารย์ไม่รู้สึกหรอกหรือว่า 14 ตุลานี่เหละ "ตัวแสบ" สุดๆ แล้วในวัฒนธรรมทางปัญญาบ้านเรา จะพูดว่าเป็นจุดกำเนิดรัฐประหาร 2549 ที่อาจารย์ไม่เห็นด้วยก็คงไม่ผิดนัก

จะเป็นฉัน...


บางครั้งฉันได้ฟังเสียงของใจเธอ หัวใจฉันกลับมีคำถามขึ้นมากมาย...


...คนที่เธอวาดไว้ อยากให้เขาเข้าใจ อยากให้เขามีรักที่แท้จริง


...อยากให้เขามีเธอเป็นเหมือนทุกสิ่ง คนๆนั้นฉันอยากรู้ว่าใคร


จะใช่ฉัน...หรือเปล่า หากเธอรู้ใจฉันมีแต่เธอ...ตลอดมา


จะเป็นฉัน...ได้หรือเปล่า เมื่อใจฉันจะขอมีแต่รัก ให้กับเธอ...ตลอดไป

ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน (รอมแพง อริยมาศ, ชัยวุฒิ ประเสริฐศรี)


ถึงจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ก็ยอมรับว่ามีบางแนวเหมือนกันที่ไม่ได้เข้าไปสัมผัสจริงจัง อย่างหนังสือ how to ก็หนึ่ง หรือหนังสือท่องเที่ยวก็อีก ทั้งที่จริงๆ การได้ออกไปต่างบ้านต่างเมืองเป็นเรื่องแสนโรแมนติก

ไม่รู้เหมือนกันจะจัด ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน เป็นหนังสือประเภทไหนดี มันคล้ายๆ สารคดีท่องเที่ยว เพียงแต่ว่าไม่ได้จับจุดอยู่ตรงสถานที่ แต่เป็นดอกไม้ จริงๆ ถ้าเป็นเวลาปกติ หนังสือแบบนี้คงหยิบขึ้นมาเพราะปกสวย พลิกฉับๆ ผ่านๆ แล้วก็วางลง

เราอ่าน ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน จบ ณ สนามบินไต้หวัน ระหว่างรอต่อเครื่องไปอเมริกา อารมณ์ขณะนั้นคืออยากอ่านอะไรสบายๆ เพราะจิตใจของคนที่ต้องจากบ้าน จากครอบครัว และเพื่อนรักไปทำภารกิจสาหัสในต่างแดน ต้องการภาพสวยๆ ข้อเขียนงามๆ มาช่วยประโลมใจ และ ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน ตอบโจทย์สองข้อนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ไม่ถึงขนาดค้นพบสัจธรรมอะไรใหม่ แต่ช่วงชั่วโมงครึ่ง สองชั่วโมงในสนามบินไต้หวันผ่านไปอย่างน่ารื่นรมย์ ด้วยภาษาของคุณรอมแพง และภาพถ่ายของคุณชัยวุฒิ

พูดถึงการพิมพ์ภาพสีหน่อย ในเล่มนี้ใช้วิธีพิมพ์ลงกระดาษทั่วไป ทำให้ภาพออกมาเกรนแตกๆ ถ้าเป็นภาพถ่ายมุมกว้างก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่กับภาพซูมดอกไม้ออกขัดเขินไปบ้าง ไม่อาจชื่นชมความงามตามภาษาสละสลวยบรรยายไว้ น่าเสียดาย จริงๆ การพิมพ์สีลงกระดาษแบบนี้ ทำให้นึกถึงนิยายภาพของอีโก The Mystic Flame of Queen Llorona ซึ่งพิมพ์ออกมาได้ชัดเจนกว่า ก็คงต้องโทษความแตกต่างของเทคนิคการพิมพ์ฝรั่ง และบ้านเรา

กาลมรณะ (จัตวาลักษณ์)


จำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เราอ่านเชอลอคโฮมมันเมื่อไหร่กัน ถึงเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนนิยายสืบสวน แต่ก็เอนเอียงไปทางคริสตี้มากกว่าดอยล์ แตกต่างตรงไหนน่ะรึ นิยายสืบสวนสไตล์โฮมจริงๆ แล้วไม่ใช่นิยายสืบสวนเสียทีเดียว น่าจะเป็นนิยายผจญภัยซึ่งบังเอิญมีตัวเอกเป็นนักสืบมากกว่า ถึงจะสนุกสนานกับเรื่องราวของโฮมและวัตสัน แต่ก็เหมือนเราอ่านเพลินๆ มากกว่ามานั่งพินิจ พิเคราะห์สืบฆาตกรแข่งกับตัวเอกเช่นปัวโร พอถึงตอนเฉลย ไม่ได้ตื่นเต้นขนาดอุทานออกมาว่า “คนเขียนคิดได้ไงเนี่ย!”

ที่เกริ่นมาแบบนี้เพราะพยายามมองว่าถ้าเอากรอบวิธีคิด และเขียนแบบดอยล์ (แทนที่จะเป็นคริสตี้) มาใช้กับ กาลมรณะ จะช่วยให้ชอบมันขึ้นไหม ถ้าให้เปรียบกับ หนี้เลือด ซึ่งเป็นนิยายในชุดเดียวกับ กาลมรณะ ดูมีชั้นเชิงกว่ามาก ขณะที่ หนี้เลือด สัมผัสได้ว่าผู้เขียนปลุกปล้ำกับจำนวนหน้า จัตวาลักษณ์รับมือกับปัญหาเรื่องความยาวได้อย่างแนบเนียน ชนิดว่าสามร้อยหน้าแรกอ่านเพลิน แวบเดียวจบ นี่สิ นิยายนักสืบมักต้องอ่านแล้ววางไม่ลงแบบนี้

แต่จัตวาลักษณ์ก็มาเสียเชิงในตอนใกล้ๆ จบ พอถึงช่วงไคลแมก แทนที่จะทึ่ง เราเปรยกับตัวเองว่า “อ้าวเหรอ…เออ…เนอะ…อ้า….อืม….ยังไงหว่า” ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังงงๆ ว่าข้อผิดพลาดของคนเขียนอยู่ตรงไหน หรือว่าปริศนามันไม่ชัดเจนพอ เหมือนจัตวาลักษณ์ไม่กล้าเผยไต๋ให้คนดู ก็เลยปิดๆ บังๆ มาทั้งเรื่อง พอถึงตอนเฉลย แทนที่จะทึ่ง คนอ่านกลับต้องมานั่งลูบๆ คลำๆ ทำความเข้าใจลำดับเวลา และเหตุการณ์ทั้งหมด บทเรียนคือนิยายนักสืบที่ดีไม่ใช่แค่ตื่นเต้น อ่านสนุก (ซึ่งตรงนี้จัตวาลักษณ์สอบผ่าน) แต่ยังต้องค่อยๆ เผยอะไรออกมาทีละนิด ถ้าทำแบบนี้แล้ว ก่อนคนเขียนเฉลย คนดูจะเห็นแก่นของปริศนา และน่าจะประทับใจมากกว่านี้

จัตวาลักษณ์เขียนนิยายเล่มนี้ออกมาในแนวย้อนยุค ซึ่งก็ทำสำเร็จน่าปรบมือเลย การบรรยายมีน้อย ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะฉากเกิดเรื่องคงไม่ใช่คนเขียนไปเห็นมากับตา แต่การค้นคว้าข้อมูล ใส่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และสถานที่จริงตรงนั้นตรงนี้ลงไปก็ช่วยสร้าง “ภาพลวงตา” ของอดีตขึ้นได้

เกือบแล้วครับ กับนิยายสืบสวนสอบสวนไทยเล่มนี้