W. Shakespeare's "King Lear"
การอ่าน (หรือชม) บทละครเชคสเปียร์สักเรื่องนั้น มีอะไรมากมายยิ่งกว่าการเสพย์บทละครเดี่ยวๆ เชคสเปียร์คือหนึ่งในบิดาแห่งวรรณกรรมตะวันตก ถ้ามองกว้างขึ้นว่าวรรณกรรมแบบที่ชาวตะวันออกปัจจุบันรู้จักกัน มีรากฐานมาจากการเล่าเรื่องแบบตะวันตก จะพูดว่าบทละครของเชคสเปียร์คือต้นกำเนิดแห่งวัฒนธรรมวรรณกรรมโลกก็คงไม่เกินไปนัก
ต่อให้คุณไม่เคยอ่านคิงเลียร์ ไม่เคยรู้จักชื่อเชคสเปียร์ อย่างน้อยคุณก็ต้องคุ้นเคยกับ "ก้อนความคิด" ที่แตกออกมาจากเรื่องคิงเลียร์ ยกตัวอย่างเช่นฉากเอกของคิงเลียร์ เมื่อพูดถึงแล้ว ใครที่เคยอ่าน หรือชมละครต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก คือฉากที่ชายชราสติแตกตะโกนคร่ำครวญใส่ท้องฟ้า ท่ามกลางพายุฝนคะนอง โดยมีตัวตลกเฝ้ามองมาอย่างสมเพช ฉากนี้คือต้นแบบใบปิดภาพยนตร์เรื่องบัญญัติสิบประการของเซซิล บี เดอมิล (ชายชราและฟ้าผ่า) สภาพความบ้าคลั่งในจิตใจตัวละครซึ่งถูกท่ายถอดเป็นสภาวะอากาศ ปรากฏตามฉากสยองขวัญในภาพยนตร์ทั่วไป กระทั่งในสุริโยทัย ฉากที่ใหม่ เจริญปุระ ไปขอยาพิษจากท่านย่าพิสมัย ข้างนอกก็มีฟ้าฝน (เกร็ด: เชคสเปียร์เขียนคิงเลียร์ปี 1606 ปีเดียวกับพายุซึ่งนำความเสียหายอันใหญ่หลวงมาสู่ประเทศอังกฤษ)
โดยอย่างกว้างที่สุด คิงเลียร์คือเรื่องของความสามัคคี หรือพูดให้ถูก เรื่องของการแตกความสามัคคี เลียร์พระราชาเฒ่าแบ่งดินแดนตัวเองเป็นสามส่วนให้ลูกสาวแต่ละคน โดยน้องคนสุดท้องไม่ได้เลยสักกระผีก เพราะป้อยอพ่อไม่เก่งเท่าพี่สาว เมื่อได้รับมรดก ลูกสาวทั้งสองต่างขับไล่ไส่ส่งบิดา สุดท้ายก็ทำสงครามแก่งแย่งชิงดีกันเอง ล่มสลายหมดทั้งประเทศ และราชวงศ์ ส่วนเจ้าหญิงองค์เล็กที่แม้ปากไม่หวาน แต่สุดท้ายก็เป็นพระนางเดียวที่คอยดูแลบิดาจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
เล่ามาแค่นี้ถ้าใครหัวไวหน่อย ก็คงหา "ก้อนความคิด" ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงได้ร้อยแปดประการ ตั้งแต่เรื่องความสามัคคี ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไม่เคยปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องไหนมาก่อน หรือที่พี่น้องประจบประแจงผู้บังเกิดเกล้าเพื่อหวังมรดก ก็เป็น "ก้อนความคิด" ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามละครหลังข่าว
คิงเลียร์ถือเป็นหนึ่งในสี่โศกนาฏกรรมใหญ่ของเชคสเปียร์อันประกอบด้วยแฮมเลต โอเทลโล คิงเลียร์ และแมคเบต ความพิเศษของคิงเลียร์คือการเล่าเรื่องหลายตัวละครซ้อนๆ กัน นอกจากประเด็นพ่อ ลูกสาว ที่เล่ามาข้างต้น ยังมีการแย่งชิงสมบัติระหว่างลูกนอก และในกฎหมาย เอดมุน และเอดการ์ เอดมุน ลูกนอกกฎหมายของกลอเชสเตอร์ ใส่ร้ายพี่ชายตัวเอง จนเอดการ์ต้องแกล้งทำตัวสติไม่ดี หนีออกนอกเมือง สุดท้ายเมื่อกลอเชสเตอร์ตกเป็นเหยื่อการทรยศหักหลัง สูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง จึงได้รับความช่วยเหลือจากทอม ชายสติไม่ดี ผู้ซึ่งแท้จริงเป็นลูกบังเกิดเกล้าของตัวเอง
ถ้าแค่นี้ยังไม่หนำใจ คิงเลียร์ยังแทรกเรื่องรักหักสวาท ระหว่างรีแกน และกอเนอริล ลูกสาวคนโตทั้งสองของเลียร์ ทั้งคู่มีสามีแล้ว แต่ต่างแอบหลงรักเอดมุน สุดท้ายสองนางก็แพ้พิษภัย เข่นฆ่ากันเอง
ความสุดยอดของเชคสเปียร์คือแกสามารถผูก และเล่าเรื่องราวร้อยแปดต่างตัวละครมารวมกันเป็นบทประพันธ์เดียวได้อย่างไร้ที่ติ เท่าที่เคยอ่านมา บทละครอีกเรื่องเดียวเท่านั้นที่เชคสเปียร์ประสบความสำเร็จได้ในระดับนี้คือเวณิชวาณิช
พูดถึงคิงเลียร์ ก็ต้องพูดถึงตัวตลก และคนบ้า ตัวตลกในเรื่องเป็นต้นแบบแห่งตัวตลกทั้งหลายทั้งปวง คำพูดซึ่งผิวเผินฟังดูเหมือนไร้สาระ แต่แทรกปรัชญา ตัวตลกเป็นผู้เดียวซึ่งเลียร์อนุญาตให้กล่าวความจริง ติเตียนพระราชาได้ ตราบเท่าที่ความจริงนั้นน่าขำ น่าหัวเราะ ในแง่หนึ่งตัวตลกคือตัวแทนแห่งวรรณกรรมเสียดสีสังคม นักเขียนสามารถก่นด่า และวิจารณ์สังคมแค่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่เขาทำในนามแห่งความบันเทิง คนบ้าในเรื่องนี้มีสองคน คือตัวเลียร์เอง หลังจากสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และทอม ผู้แกล้งบ้าเผื่อหลบหนีการจองล้างจองผลาญจากน้องชาย ความบ้าคลั่งของเลียร์ คือการเดินทางเข้าไปสู่ความมืดมิดของจิตใจ ส่วนทอม ผู้เปลื้องผ้าผ่อน อาศัยอยู่กับสิงสาราสัตว์ กลับเป็นตัวแทนความบริสุทธิ์สะอาด
ตัวละครอีกตัวที่ชอบเป็นพิเศษคือเอดมุน โดยศักดินาแต่กำเนิด เอดมุนคือลูกโสเภณี ไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินบิดา ด้วยประการนี้เอง เขาสั่งสมความแค้นในจิต กำจัดทุกคนทุกนามผู้ขวางทางเจริญ เอดมุนใช้เสน่ห์ความเป็นชาย หลอกล่อลูกสาวทั้งสองของเลียร์ ถึงบทบาทจะเป็นผู้ร้ายเต็มยศ แต่คนอ่าน และผู้ชมหลายคนคงอดชื่นชมความทะเยอทะยาน และความมุ่งมั่นในชีวิตของหนุ่มคนนี้ไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างเขา และสองพี่น้อง ยังเหมือนจะบอกกลายๆ ว่า เซ็กคือสิ่งที่ปลดเปลื้องกำแพงชนชั้นต่างๆ ในสังคม
ขุดไปเถอะครับ บทละครเชคสเปียร์น่ะ ให้ขุดกันจริงๆ ขุดได้ไม่รู้หมดสิ้น ขอตัดจบดื้อๆ ด้วยการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 แล้วกัน ในฐานะบิดาแห่งวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ผู้แปล ถ่ายทอด และนำเชคสเปียร์มาให้คนไทยได้รู้จัก ชื่นชมตราบจนทุกวันนี้
M. Foucault's "Madness and Civilization"
ไม่ได้อ่านหนังสือปรัชญาเต็มๆ มานานแล้ว ครั้งสุดท้ายคือดิสคอร์ทของรุสโซ สมัยเรียน เพราะถูกบังคับ ใช่ว่าไม่ชอบ หรือไม่มีความสนใจ ยอมรับก็ได้ว่า "มือไม่ถึง" หลายครั้งเวลาเปิดอ่านฟรีในร้านหนังสือ ปวดเศียรเวียนเกล้า และไม่เข้าใจอยู่หลายส่วน
15 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันเกิดนิสเช่ ร้านหนังสือที่โรงเรียนลดราคาหนังสือปรัชญาทุกเล่มสามสิบเปอร์เซ็น ถือโอกาสนี้ลองซื้อมาสาม สารภาพเลยว่าตอนแรกไม่แน่ใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่าจะไปได้กี่น้ำ เล็งๆ ความบ้าคลั่งและความศิวิไลซ์มานาน สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อ และลองเปิดอ่านดู...
...และแล้วก็อ่านได้จนจบเล่ม ดีใจเป็นที่สุด
ฟูคัลคือนักปรัชญาคนสำคัญชาวฝรั่งเศส ความบ้าคลั่งและความศิวิไลซ์เป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของแก ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสังคม และผู้ป่วยโรคจิต ตอนแรกก็หวาดๆ ว่าจะอ่านไม่รู้เรื่อง ปรากฏว่าฟูคัล นอกจากจะเป็นนักปรัชญาแล้ว ยังเป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย ดังนั้นการวิเคราะห์ความบ้าคลั่งของแก จึงออกแนวกึ่งๆ ประวัติศาสตร์ เพราะเหตุนี้กระมัง เลยอ่านเข้าใจง่าย คงไม่วิจงวิจารณ์อะไร เพราะไม่รู้จะวิจารณ์หนังสือที่ไม่ใช่นิยายยังไง เอาเป็นว่าสรุปใจความสำคัญในเล่มดีกว่า
คนสมัยก่อนแบ่งสาเหตุของอาการสติแตกเป็นสองประการ หนึ่งคือเนื่องมาจาก "ความลุ่มหลง" (passion) ความลุ่มหลงในที่นี้หมายถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างจิตวิญญาณ และร่างกายมนุษย์ นักการแพทย์สมัยก่อนมองว่าร่างกายคนเราเป็นของแข็ง ขณะที่วิญญาณคือส่วนผสมระหว่างของเหลวจำพวกเลือด และวัตถุประเภทแก๊สในร่างกาย ซึ่งจำแนกประเภทไม่ได้ อาการสติแตกคืออาการป่วยอันเกิดจากความลุ่มหลงถูกกระทบกระเทือน พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นความผิดปรกติของร่างกาย และวิญญาณพร้อมๆ กัน
อีกกลุ่มเชื่อว่าสาเหตุความบ้าคลั่งคือ "ความพกเพ้อ" (delirium) ความพกเพ้อในที่นี้หมายถึงเหตุผลในความไม่มีเหตุผล เช่นเราจะเจอคนบ้าที่เชื่อว่าตัวเองเป็นนก ดังนั้นเขาจึงกระโดดลงมาจากยอดตึก เพราะเขาบอกว่านกทุกชนิดบินได้ เมื่อเขาเป็นนก เขาก็ย่อมบินได้ สิ่งนี้เองที่เรียกว่าความพกเพ้อ คือการใช้เหตุผลที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายการกระทำของตัวเอง
ในประวัติศาสตร์ยุโรปตลอดช่วงห้าร้อยปีที่ผ่านมา ผู้คนสลับเปลี่ยนไปมาระหว่างสองความเชื่อนี้ กระทั่งการแพทย์ปัจจุบันก็ยังหนีไม่พ้นอธิบายสาเหตุของอาการโรคจิตด้วยความลุ่มหลง และความพกเพ้อ ซึ่งการรักษาก็แล้วแต่ว่าต้นเหตุมาจากไหน คนบ้าที่บ้าเพราะลุ่มหลง ต้องอาศัยทั้งจิตเวทย์ และกายภาพบำบัด ส่วนที่บ้าเพราะพกเพ้อ มาจับเข่านั่งคุยกันกับหมอเฉยๆ ก็ได้
ฟูคัลยังพูดถึงการที่สังคมปัจจุบันกักขังคนบ้าไว้ในโรงพยาบาล ห่างไกลสายตาผู้อื่น เทียบกับอดีตกาล ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยเชื่อว่าคนบ้าสมควรปรากฏตัวในที่แจ้ง อยู่ร่วมกับคนในสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุของสองความเชื่อนี้ก็มากมายหลากหลาย อธิบายสั้นๆ ไม่หมด สรุปคือไปอ่านเองดีกว่า รับรองไม่มีผิดหวัง และไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิดด้วย
I. Calvino's "If on a Winter's Night a Traveler"
ตอนที่รู้ว่า ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทย และเปิดตัวครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทั้งดีใจและทั้งตื่นเต้น อิตาโล คาลวิโนเป็นอีกหนึ่งนักเขียนในดวงใจ เท่าที่รู้นี่คือหนังสือเล่มที่สองของเขาซึ่งคนไทยจะได้อ่าน (อีกเล่มคือ มาโควัลโด ที่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว)
ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นผลงานที่โด่งดัง ขึ้นชื่อที่สุดของคาลวิโน หลายคนกระทั่งยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียนด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นผลงานที่ผสมผสานความเป็นคาลวิโนออกมาได้อย่างลงตัวสุด
นอกจากผลิตผลงานชั้นยอด คาลวิโนยังชอบแทรกประเด็นส่งเสริมให้คนรักการอ่านลงในนิยายของเขา นี่คือนิยายเกี่ยวกับการอ่าน การอ่านเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการเขียน หรือแง่มุมอื่นใดในแวดวงวรรณกรรม ขนาดว่าตัวละครยังพูดออกมาเลยว่า เธอไม่เคยสนใจใครเป็นคนเขียนหนังสือ เธอต้องการอ่านหนังสือที่แยกตัวตนนักเขียนออกจากผลงานให้มากที่สุด
ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เปิดตัวได้อย่างแสนเด็ดดวง "คุณกำลังจะอ่านนิยายเล่มใหม่ของอิตาโล คาลวิโน เรื่อง ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ผ่อนคลาย ตั้งสมาธิ หยุดคิดเรื่องอื่น ปล่อยวางโลกภายนอก ปิดประตูเสีย..." (ย่อหน้าเปิดตัวนี้ ถูกโหวตโดยสมาชิกชมรมห้องสมุดแห่งประเทศอเมริกาว่าเป็นหนึ่งในย่อหน้าเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุด) ตัวเอกของเรื่องคือ "คุณ" กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วพบว่าตั้งแต่บทที่สองเป็นต้นไปมีแต่กระดาษเปล่า คุณจึงออกเดินทางเพื่อค้นหาเนื้อเรื่องที่ขาดหาย ระหว่างทางพบรักกับสาวนักอ่าน ถูกลักพาตัวโดยองค์กรสายลับ เข้าไปข้องเกี่ยวกับแผนการชั่วร้ายของนักปลอมแปลงหนังสือ และที่สำคัญคือ เผชิญหน้ากับหนังสือเล่มอื่นที่มีเพียงบทแรกเหมือนกัน
คาลวิโนเขียนนิยายเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายคือสร้าง "ประสบการณ์ตั้งต้นใหม่" ให้กับผู้อ่านตลอดทั้งเล่ม ใครเล่าจะปฏิเสธได้ว่าทันทีที่หยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง อ่านบทแรกจบ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นใคร และเนื้อเรื่องจะดำเนินต่อไปทางใด นี่คือ "ประสบการณ์ตั้งต้นใหม่" อันแสนพิเศษ และไม่มีช่วงเวลาใดๆ ของการอ่านจะเทียบเท่าได้ ในอัตชีวประวัตินักเขียนหลายคน ถึงกับบอกเลยว่า บางครั้งใช้เวลาเป็นเดือน เป็นอาทิตย์ กว่าจะลงมือเสกประโยคแรกออกมา ส่วนที่เหลือลื่นไหลสบายๆ
ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นนิยายที่มีโครงสร้างเหมือนดนตรีคลาสสิค โดยเฉพาะฟูคของบาค ใช้ "โมทีฟ" เดียว ย้อนกลับไปกลับมา สลับเปลี่ยนดัดแปลงตรงนี้นิดหน่อย เป้าหมายไม่ใช่การพัฒนา "โมทีฟ" ไปไหนต่อไหน แต่คือการเล่นซ้ำซากให้คนฟังชินหู เมื่อดัดแปลงการนำเสนอแบบฟูคมาใช้กับนิยาย คาลวิโนทำสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัว รู้สึกว่าเนื้อเรื่องของ "คุณ" ที่เชื่อมต่อ "บทแรกของหนังสือแต่ละเล่ม" มันธรรมดาเกินไปหน่อย ในแง่หนึ่งก็ทำให้ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นหนังสืออ่านง่าย คือแม้จะมีคอนเซปสลับซับซ้อน แต่สำหรับคนทั่วไป อ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ไม่ถือว่าลำบากยากเย็นอะไร (แต่จะตีความออก เข้าถึงหนังสือแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะชอบมากกว่านี้หรือเปล่าถ้าคาลวิโนใส่ "มายา" ลงในนิยายอีกหน่อย
นิยายเล่มนี้ค่อนข้างสั้น ฉบับภาษาอังกฤษคือสองร้อยหน้านิดๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าแปลไทยออกมาแล้วจะยาวเท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะเนื้อเรื่องแบบนี้ถ้ายาวเกินสามร้อยหน้า น่าเบื่อแน่ๆ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ ไม่ใช่นิยายของคาลวิโนที่ผมชอบที่สุด แต่ก็เป็นนิยายแนะนำนักอ่านชาวไทยให้รู้จักตำนานแห่งอิตาลีผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
เรียงลำดับหนังสือของคาลวิโนที่ชอบ จากมากไปน้อย
1) ขุนนางในผ้าคลุม
2) อัศวินไร้ตัวตน
3) บารอนบนต้นไม้ (ทั้งสามเรื่องนี้ ถูกรวมอยู่ในชุดนิยายขนาดสั้น บรรพบุรุษของเรา)
4) ปราสาทแห่งพรหมลิขิตแทรกซ้อน
5) มาโควัลโด
6) ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง
7) รวมเรื่องสั้น ผู้เฝ้ามอง
P. K. Dick's "Flow My Tears, the Policeman Said"
เพิ่งสังเกตว่าบลอคเรา ยังไม่มีหนังสือไซไฟเลยสักเล่ม วันนี้ขอประเดิมเลยแล้วกัน
โฟลมายเทีย เดอะโพลิสแมนเซด เป็นนิยายรางวัลจอห์น ดับบิว แคมเบล คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักนักเขียนจากภาพยนตร์เรื่องไมนอริตี้รีพอร์ต ถ้าใครเป็นนักดูหนังหน่อย คงจดจำสแกนเนอร์ดาร์คลี่ เบลดรันเนอร์ และเพย์เชคได้ ทั้งหมดล้วนเป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างมาจากเรื่องสั้น หรือนิยายของฟิลิป เค ดิก
ความพิเศษของดิก ซึ่งไม่เหมือนนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไปคือ หนังสือของเขามักพุ่งเป้าไปที่ตัวละครตัวหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นแคบๆ ดิกพาคนอ่านเดินทาง "เข้าข้างใน" และ "ออกข้างนอก" สำรวจสภาพจิตใจตัวเอก และโลกอนาคตบิดๆ เบี้ยวๆ ผลงานของดิกจึงแตกต่างจากไซไฟทั่วไป ไม่เหมือนไฮแลน ซีคลาก สกอตคาร์ด หรืออาซีมอฟ ซึ่งมุ่งประเด็นไปยังเทคโนโลยี หรือสภาพสังคมพิสดาร โลกอนาคตของดิก อาจมีอุปกรณ์ทันสมัยชิ้นสองชิ้น แต่จุดเด่นอยู่ตรงเนื้อเรื่องซึ่งอิงจิตวิทยาตัวละคร
ตัวเอกของโฟลมายเทียฯ คือเจสัน นักจัดรายการโทรทัศน์ผู้โด่งดัง ชาวอเมริกาแทบทั้งประเทศรู้จักเขา คืนหนึ่ง เขาสลบไสลไปด้วยฝีมือการล้างแค้นของคนรักเก่า ซึ่งยอมมีสัมพันธ์แลกกับโอกาสในโลกบันเทิง (ซึ่งเธอไม่เคยได้รับ) เมื่อเจสันตื่นขึ้นมา เขากลายเป็นคนแปลกหน้าของสังคม ไม่มีใครรู้จัก บัตรประชาชน อัตลักษณ์ทุกอย่างหายสาบสูญ ถ้าเรื่องเกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจไม่เลวร้ายเท่าไหร่ แต่ในโลกอนาคต ใครก็ตามซึ่งไม่มีอัตลักษณ์จะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร และจับส่งไปทำงานหนักในเหมืองต่างดาว
เปิดเรื่องมาก็เหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ไล่ล่า พลอตประเภทสูญเสียตัวตนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในแวดวงไซไฟ หลายปีก่อนก็เคยมีภาพยนตร์เรื่องเดอะเนต ว่าด้วยรัฐบาลใช้อินเตอร์เน็ตขโมย แอบดู เปลี่ยนแปลงข้อมูลประชาชน แต่ถ้าใครได้อ่านโฟลมายเทียฯ จะต้องผิดคาดเมื่อพบว่าหนังสือเล่มนี้มีความเป็น "ดรามา" สูงมาก หลังกลายเป็นคนแปลกหน้า เจสันพบปะผู้หญิงมากมาย ผ่านเข้าออกชีวิตเพื่อให้การช่วยเหลือ หลอกลวง และโปรยเสน่ห์เย้ายวน เจสันผู้เคยชินกับการฉกฉวยผลประโยชน์จากเพศที่อ่อนแอกว่า ต้องตกมาเป็นเบี้ยล่าง เรียนรู้ที่จะทั้งระแวงสงสัย และเชื่อใจพวกหล่อน
ว่ากันว่าโฟลมายเทียฯ ซุกซ่อนตัวตนของฟิลิป เค ดิกเอาไว้สูงมาก ถ้าสแกนเนอร์ดาร์คลี คือนิยายอัตชีวประวัติ การรับมือสภาพติดยาของผู้เขียน โฟลมายเทียฯ ก็ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างดิก และเพศตรงข้าม
นอกจากชวนซาบซึ้ง น้ำตาไหลแล้ว โฟลมายเทียฯ ยังเป็นหนังสือซึ่งอ่านสนุกได้ไม่รู้เบื่อ ดิกเข้าใจหาจุดผลิกผัน หลอกล่อ ปมปริศนาวางไว้ตรงนู้นตรงนี้ ทำให้คนอ่านลุ้น และเดาเรื่องตลอดเวลา ใครที่เป็นแฟนไซไฟเหนียวแน่น อาจทำใจรับ "บทเฉลย" ของโฟลมายเทียฯ ไม่ค่อยได้ ต้องเข้าใจว่าดิกเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เพื่อรับใช้และศึกษามนุษย์ ดังนั้นในแง่เหตุ และผลทางเทคโนโลยีอาจบกพร่องไปบ้าง
โฟลมายเทียฯ เป็นหนังสือเล่มที่สามของดิกที่ผมอ่าน และเป็นเล่มที่ชอบที่สุด ถ้าใครไม่เคยสัมผัสดิก จะเลือกเล่มนี้เป็นเล่มแรกก็นับว่าเลือกได้ไม่ผิดเลยจริงๆ
A. Christie's "Death on the Nile"
นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะวิจารณ์ความตายบนแม่น้ำไนล์อย่างไรดี ถ้าบอกมากเกินไปก็เผยไต๋ เดี๋ยวรู้หมดพอดีว่าใครคือฆาตกร แล้วจะอ่านสนุกไหมนี่
เอาเป็นว่าความตายบนแม่น้ำไนล์ ไม่เสียพะยี่ห้อคริสตี้ แฟนๆ ราชินีสืบสวนสอบสวนคงไม่ผิดหวัง ส่วนใครที่ไม่เคยอ่านหนังสือของเธอ จะเลือกเล่มนี้เป็นเล่มแรก ก็เข้าทีมิหยอก นิยายอ่านสนุก ชักชวนให้คนอ่านเดาเรื่อง ทายตัวฆาตกรไปพร้อมๆ กับปัวโร นักสืบเจ้าปัญญา เซลสมองสีเทา (ผมเดาตัวฆาตกรถูกก่อนปัวโรเฉลยประมาณสี่ย่อหน้า ถือว่าใช้ได้ไหมนี่)
ความตายบนแม่น้ำไนล์ ว่าด้วยเรื่องของแจ็คกี้ หญิงสาวผู้ถูกเพื่อนสนิท เศรษฐีนีผู้ร่ำรวยแย่งชิงหนุ่มคนรักไป ด้วยความอาฆาตมาดร้าย แจ็คกี้ติดตามคนทั้งคู่ไปฮันนีมูนที่ประเทศอียิปต์ หวังก่อกวนความสงบ ถึงขนาดพกปืน ซ้ำยังขู่ว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ เธอจะฆ่าคนใดคนหนึ่งให้ตายไปก็ย่อมได้ หารู้ไม่ว่าบนเรือสำราญล่องแม่น้ำไนล์ลำนี้ ยังมีฆาตกรแอบแฝงอยู่อีกหนึ่งคน (หรือสองคน หรืออาจไม่มีเลย หรือตัวเธอเองนั่นแหละที่เป็นฆาตกร เอ๊ะ! ยังไงกันนี่)
ที่พิเศษกว่าเล่มอื่นๆ คือความตายบนแม่น้ำไนล์มี "ดรามา" เข้มข้น หนังสือพูดถึงเรื่องความรัก ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งสวยงาม แต่กลับบันดาลให้เกิดโศกนาฏกรรมร้อยแปด อันเนื่องจากความรู้สึกซึ่งเกินพอดี มีหลายตอนเหมือนกันที่อ่านแล้วก็อดน้ำตาซึมนิดๆ ไม่ได้
ความตายบนแม่น้ำไนล์ คือหนึ่งในไตรภาค ปัวโรในตะวันออกกลาง ซึ่งประกอบด้วย ฆาตกรรมเมโสโปเตเมีย ความตายบนแม่น้ำไนล์ และ มีนัดกับมัจจุราช คริสตี้เขียนเรื่องนี้อาศัยข้อมูลที่ได้ระหว่างติดตามสามีนักโบราณคดีไปยังตะวันออกกลาง แต่สุดท้ายนิยายสืบสวน ก็ยังคงเป็นนิยายสืบสวนนั่นแหละ จะเปลี่ยนฉากในเรื่องมาเป็นแม่น้ำเธมส์ แม่น้ำโขง หรือยานอวกาศก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ถ้าใครหวังว่าอ่านคริสตี้แล้วจะได้กลิ่นอูฐ กลิ่นทราย ก็เตรียมตัวผิดหวังได้เลย
แต่ถ้าอยากลับสมอง ประลองปัญญา เคล้าพล็อตนิยายรักน้ำเน่า กุ๊กกิ๊ก รับรองไม่มีผิดหวัง
หมายเหตุ: เรียงลำดับหนังสือของคริสตี้จากชอบมากไปชอบน้อย
1) สมาคมสิบสองนาฬิกา
2) ฆาตกรรมในรถด่วนโอเรียนตอล
3) ความตายบนแม่น้ำไนล์
4) โรเจอร์ แอกครอยตายแล้ว
5) กลนาฬิกา
6) ฆาตกรรมเมโสโปเตเมีย
7) อินเดียแดงน้อยสิบคน
8) ปริศนาคาริบเบียน
10) ความใต้บนฟากฟ้า
30 ปี 16 ตุลาฯ
เพื่อให้เข้ากับโอกาส วันนี้ขอพูดเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต สาเหตุจริงๆ ที่อยากเขียนบทความชิ้นนี้คือได้อ่านบท "ยอยศ" วรรณกรรมเพื่อชีวิตในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แล้วบังเกิดอาการธาตุไฟแตกพล่าน
เคยมีคนวิพากษ์วิจารณ์ สาเหตุที่คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเราขาดนักวิชาการคอมมิวนิสต์ หมายถึงแกนนำผู้ศึกษาปรัชญามาร์ค เอเกลอย่างจริงจัง แล้วนำไปประยุกต์ใช้ หรือถ่ายทอดให้สหายฟัง ประเทศเรา (ในสมัยนั้น) ไม่มีคนอย่างเลนิน หรือเหมาที่ศึกษาคอมมิวนิสต์ เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันศึกษาทุนนิยม ธนาคารโลก เอเพค
พอได้ฟังแบบนี้ อดีตแกนนำคอมมิวนิสต์คนหนึ่งก็โต้ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า แม้เราจะขาดนักวิชาการ แต่ถ้าพูดถึงงานศิลปะ ประเทศไทยไม่ด้อยกว่าใคร ไม่เชื่อก็ลองดูผลงาน ดนตรี กวี วรรณกรรมภายใต้ธงแดงสิ
ใครก็ตามที่พูดเช่นนี้ ไม่เข้าใจอะไรแม้แต่น้อยเกี่ยวกับงานศิลปะ
ศิลปะ ที่ขาดความหนักแน่นทางวิชาการ และความคิด เป็นได้อย่างมากก็แค่ผลผลิตของกาลเวลา คำว่าผลผลิตของกาลเวลาคืออะไร ผมแบ่งผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นสองประเภท ประเภทแรกอยู่ "เหนือกาลเวลา" ผลงานซึ่งอิงอยู่บนธรรมชาติ จิตวิทยา และความรู้ ผลงานประเภทนี้ได้แก่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วรรณกรรมตะวันตกชั้นดีทั้งหลายแหล่ ส่วนประเภทหลังคือ "ผลผลิตของกาลเวลา" หมายถึงงานสร้างสรรค์ซึ่งถูกทำขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคม และความเชื่อในขณะนั้น ตัวอย่างเช่นสปอตโฆษณา กล่อง ซองผลิตภัณฑ์ หนังสือตาหวาน โรแมนติกเกาหลี (ที่คนไทยเขียน) หรือหนังสือแฉ ก็จัดเป็นผลงานที่ว่า
วรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยเฉพาะวรรณกรรมรุ่นตุลาเป็นได้อย่างมากก็แค่ประการหลัง ช่วงนั้นกระแสคอมมิวนิสต์กำลังลุกฮือ (ทั้งต่างชาติ และในประเทศ) คนหนุ่มคนสาวหันมาอ่าน "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ใครเขียนบทกวี หรือเรื่องสั้นที่มีชาวนา คนยากจนเป็นพระเอก แล้วแสดงภาพคนร่ำรวย นายทุนชั่วฉิบหาย รับรองขายดิบขายดีเทน้ำเทท่า คนส่วนใหญ่ก็เลยหันมาเขียนหนังสือแนวนี้แทน (ซึ่งก็คือตัวอย่างของ "กลไกตลาด" แขนขาแห่งระบบทุนนิยม ตลกไหมเล่า)
ถ้าไม่เชื่อลองฟังคำพูดของคุณอำนาจ เย็นสบายสิ "ถือว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นที่ไม่ได้ศึกษางานเพื่อชีวิตกลายเป็นคนตกยุคไปเลยก็ว่าได้" ฟังดูเหมือนแฟชั่น เสื้อสายเดี่ยวยังไงพิกลไหม
น่าเสียดายทั้งที่ก่อนหน้านั้น วรรณกรรมไทยที่เข้าใกล้คำว่า "เหนือกาลเวลา" ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่นเรื่องสั้นของอาจารย์มนัส จรรยงค์ ผลงานของไม้เมืองเดิม หรือศรีบูรพา ในเรื่องสั้นของอาจารย์มนัส ทั้งคนจน คนรวยเป็นมนุษย์ที่มีกิเลศ ความต้องการเหมือนกันหมด อาจารย์มนัสมองตัวละครด้วยสายตาอ่อนโยน ขบขัน และเข้าใจ ตรงกันข้ามกับผลงานหลัง 14 ตุลา ที่คนจน คนรวย ถูกเปลี่ยนเป็น "ตัวการ์ตูน" เปรียบเทียบง่ายๆ คือเรื่อง "พลายทองคำ" และ "ฟ้าบ่กั้น" เนื้อเรื่องเหมือนกันทุกประการ (ควาญช้างยาจก ถูกลูกเศรษฐีแย่งคนรักไป สุดท้ายโดนทำร้ายจนเสียชีวิต ตอนหลังช้างสุดที่รักตามมาแก้แค้นให้นาย) ขณะที่เรื่องแรก ตัวละครเป็นมนุษย์ เรื่องหลัง ตัวละครตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเสียฉิบ
ไม่ได้หมายความว่าคนจนหมดไปแล้วจากสังคม หรือคนรวยเลิกเอาเปรียบ แต่พอกันที การมองอะไรง่ายๆ อย่างคนจนและชนบท = ดี คนรวยและกรุงเทพ = เลว ประเทศไทยยุ่งยากเพราะการตีความบวกลบแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้ง
จริงๆ ผมคงไม่เกิดอาการธาตุไฟแตกขนาดนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจ มองเห็นความเป็นไป และเปลี่ยนแปลงในโลก อาจารย์ลาวคำหอม ก็ไม่ได้เขียนอะไรแบบ "ฟ้าบ่กั้น" ออกมาอีกแล้ว คุณชาติ กอบจิตติเขียน "คำพิพากษา" นวนิยายวาดภาพชนบทในด้านลบ คุณวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า "มันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เราไม่อาจชี้หน้าโทษใครได้ ทุกสิ่งย่อมหมุนไปตามโลก...ทุกวันนี้ งานของผมก็หนีไม่พ้นความคิดที่อยากปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น เพียงแต่อยู่ในบริบทของวรรณกรรม ที่ต้องมีความบันเทิง มีพระเอก นางเอก แต่ยังคงมีเรื่องของสิทธิชาวบ้านแฝงอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เพ่งไปตรงๆ อย่างยุคของ 14 ตุลาฯ" คนรุ่นตุลาฯ หลายคนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนางานเขียนโฆษณาชวนเชื่อของตัวเอง ให้ใกล้เคียงสภาพ "เหนือกาลเวลา" ยิ่งขึ้น
ต่างจากคนรุ่นใหม่ ที่นับวันยิ่งบูชาวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา ตรงนี้เองที่ทำให้เราหงุดหงิด ทุกวันนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิต มันไม่ได้จะเป็นแค่ "ผลผลิตของกาลเวลา" แล้ว นับวันมันยิ่งกลายสภาพเป็น "กับดักทางวรรณกรรม" เข้าไปทุกขณะ ถ้าคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ยังพาตัวเองออกจากกับดักตรงนี้ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าวรรณกรรมไทยจะพัฒนาไปไหนต่อไหน
เหยี่ยวนรกทะลทราย (โก้วเล้ง)
...ปึงน้อยที่น่าตาย ขณะที่ท่านมองดูสตรี ไฉนมักมีทีท่าตัดไม่ขาดยากสลัดรอน ท่านไฉนมองดูพวกนาง ไฉนไม่ยินยอมมองดูเราให้มากไว้
ถ้าบอกว่าเป็นแฟนโกวเล้งจะมีใครเชื่อไหมนี่ เหยี่ยวนรกทะเลทรายไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกที่เราอ่านของมังกรโบราณ แต่เป็นผลงาน "โนเนม" ชิ้นแรก (คือไม่ได้นำแสดงโดยพระเอกชื่อดังอย่าง ชอลิ้วเฮียง ลี้คิมฮวง เอี๊ยบไค โป้วอังเสาะ เล็กเซียวหง หรือ เซียวฮื้อยี้) พระเอกของเรื่องเหยี่ยวนรกทะเลทรายคือปึงอุ้ย ฉายาปึงน้อยที่น่าตาย ฉากของนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่ดินแดนกังหนำ แต่เป็นทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ธรรมชาติอันโหดหิน เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับสงครามชิงแผ่นดินระหว่างปักฉังปานา นักรบชาวธิเบต ฉายาเทพธนูห้าสี "ดอกหนึ่งแข็งแกร่งดั่งทองคำ ดอกหนึ่งอ่อนโยนดุจลมฤดูใบไม้ผลิ ดอกหนึ่งหยาดเยิ้มราวรอยแย้มยิ้ม ดอกหนึ่งร้อนแรงปานเปลวอัคคี ดอกหนึ่งแหลมคมเช่นสว่านเหล็ก" และเทพินทร์ไพบูลย์ ผู้หลงใหลความบริสุทธิ์ของทองคำ
ความน่าสนใจของเหยี่ยวนรกทะเลทราย ซึ่งแตกต่างกับนิยายกำลังภายในเล่มอื่นๆ คือมังกรโบราณค่อนข้างเทบทบาทให้ "ตัวร้าย" อย่างเทพินทร์ไพบูลย์ หลายคราวก็ดูเหมือนฝ่าย "พระเอก" อย่างปักฉังปานาก็เด็ดขาด โหดเหี้ยม อำมหิตไม่แพ้กัน การที่คนดี คนร้ายปะปนคละเคล้าแยกกันไม่ออกถือเป็นเสน่ห์ส่วนตัวของโกวเล้ง ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนอย่างกิมย้ง เคยคุยกับเพื่อน เขาบอกว่าตั้งแต่เด็ก พ่อไม่สนับสนุนให้อ่านโกวเล้ง แต่ชอบให้อ่านกิมย้ง เพราะพ่ออยากสอนให้ลูกชายมีความพยายาม พระเอกโกวเล้งเปิดเรื่องมาก็มักเก่งกาจตั้งแต่ต้น ขณะพระเอกกิมย้งค่อยๆ ไต่เต้า ฝึกปรือวิทยายุทธไปเรื่อย ฟังแบบนี้แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าใจจริงคุณพ่อคงไม่อยากให้ลูกชายสัมผัส "คุณธรรมสีเทา" ตามแบบฉบับมังกรโบราณมากกว่า (ขณะที่ตัวละครกิมย้งมักแบ่งขาว แบ่งดำชัดเจน)
พูดถึงเรื่องพระเอกเก่งตั้งแต่ต้น ความพิเศษอีกประการของเหยี่ยวนรกทะเลทรายคือปึงอุ้ยไม่ใช่พระเอกโคตรเก่งอย่างลี้คิมฮวง หรือชอลิ้วเฮียง ถึงจะฝึกปรือวิชากระบี่ แต่จวบจนจบเรื่องก็เก่งแค่ระดับกลางๆ เท่านั้น
โกวเล้งยังคงผนวกปรัชญาเซนกับการต่อสู้ ได้อย่างหมดจดงดงามเช่นเคย "สงบสยบเคลื่อนไหว" คำพูดสุดฮิตซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากมังกรโบราณ ฉากที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือช่วงท้ายๆ เรื่องเมื่อเทพินทร์ไพบูลย์ส่งสามนักฆ่า หมายเลขสาม สิบสาม และสามสิบสาม ไปสังหารปึงอุ้ย ความสุดยอดของฉากนี้ถือเป็นอีกมณีชิ้นเอกในผลงานของโกวเล้งก็ว่าได้
สิ่งหนึ่งซึ่งผู้เขียนเข้าใจเป็นอย่างดี คือการต่อสู้ในนิยายไม่ได้สำคัญว่าจะประมือกันอีท่าไหน พระเอก ผู้ร้ายใช้ท่วงท่า กลยุทธ์ หรือสติปัญญาเพียงใด สิ่งสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ซึ่งค่อยๆ นำไปสู่ฉากไคลแมกซ์ต่างหาก ถ้าคนเขียนสามารถสร้างอารมณ์ได้สุดขีดจริงๆ บางครั้งแลกอาวุธกันเพียงพริบตา ก็สนุกสนานน่าตื่นเต้นกว่าบรรยายยืดยาวสามสี่ห้าหน้าเป็นไหนๆ (ถ้าไม่เชื่อ ลองอ่านฤทธิ์มีดสั้น จะรู้ว่าฉาก "ไคลแมกซ์" ระหว่างลี้กิมฮวง และซัวกังกิมฮ้ง เหนือชั้น สูงสุดคืนสู่สามัญแค่ไหน )
เหยี่ยวนรกทะเลทรายไม่ได้ไร้ซึ่งจุดอ่อนโดยสิ้นเชิง หลายตอน อ่านดูก็พอรู้ว่ามังกรโบราณท่านด้นสด เขียนไปมั่วไป อย่างป๊กเอ็งตัวละครสำคัญในครึ่งแรกของเรื่อง พอมาถึงครึ่งหลังหายสาบสูญไปเฉยๆ บ้างก็อาจคาดเดาได้ว่าเสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็ป๊กเอ็งนั่นแหละ เป็นอีกภาคหนึ่งของเทพินทร์ไพบูลย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกในนิยายโกวเล้ง บางครั้งเพื่อนกลับกลายเป็นศัตรู คู่อาฆาตแค้นที่เพิ่งต่อสู้เมื่อสองสามหน้าก่อน มาบัดนี้กลับเป็นมิตรสหายคู่ใจ
อ่านนิยายโกวเล้ง ก็เหมือนย่ำเท้าลงลำธาร คนเราไม่อาจเหยียบผิวน้ำซ้ำซากได้ฉันใด นิยายของโกวเล้งแปรรูปไปได้ฉันนั้น
หมายเหตุ: เรียงลำดับนิยายของโกวเล้งที่ชอบที่สุดห้าเรื่องแรก
1) ฤทธิ์มีดสั้น
2) ชอลิ้วเฮียง ตอนกวนอิมศิลา
3) จอมดาบหิมะแดง (ฤทธิ์มีดสั้น ภาคสุดท้าย)
4) ชอลิ้วเฮียง ตอนถล่มวังค้างคาว
5) เหยี่ยวนรกทะเลทราย
V. Wolfe's "Mrs. Dalloway"
เห็นประโยชน์ของการเขียนบลอควิจารณ์วรรณกรรมก็วันนี้แหละ อย่างน้อยๆ มันก็บังคับให้เราอ่านหนังสือที่อยากวางเต็มแก่ได้จนจบเล่ม
เวอจิเนียร์ วูลฟ์เป็นนักเขียนในกลุ่มโมเดิร์นนิส เช่นเดียวกับเจม จอยซ์ และวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ สารภาพตามตรงว่าจนบัดนี้ผมยังอ่านงานของพวกเขาไม่รู้เรื่อง คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักวูลฟ์จากหนังเรื่องดิอาวเวอร์ ซึ่งจริงๆ ก็คือมิสซิสแดโลเวย์ที่ถูกนำมาดัดแปลงใหม่นั่นเอง
มิสซิสแดโลเวย์เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง จัดงานปาร์ตี้ ชักชวนคนใหญ่คนโตในแวดวงสังคมลอนดอนมาเพื่อเป็นเกียรติแก่สามีเธอ เหตุการณ์ทั้งเล่มเกิดขึ้น และจบลงภายในวันเดียว แม้จะมีภาพแฟลชแบคเป็นระยะๆ อันที่จริงคาริสซ่า แดโวเวย์มีบทบาทน้อยมากในหนังสือ ตัวละครต่างๆ ผ่านเข้าออก ผลัดเวียนกันมาเป็น "ตัวเอก" ของเรื่อง วูลฟ์ใช้มุมมองแบบพระเจ้า เล่าเรื่องผ่านสายตาทุกตัวละคร บางครั้งก็สับเปลี่ยนมุมมองบรรทัดต่อบรรทัดรวดเร็วจนคนอ่านตั้งตัวไม่ติด
วูลฟ์เคยเกริ่นนำไว้ ก่อนเขียนนิยายเล่มนี้ว่า เธออยากแต่งหนังสือสักเล่ม ซึ่งหลุดจาก genre ต่างๆ อยากให้คนอ่านกระโดดเข้าไปในโลกของหนังสือเธอด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คาดเดา หรือคาดหวังใดๆ ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จตรงจุดนี้ ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านมิสซิสแดโลเวย์ คือเหมือนแหวกว่ายอยู่ในทะเลตัวอักษร ไม่รู้ว่าทิศไหนล่าง ทิศไหนบน ผู้อ่านไม่สามารถทายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ใครคือ "พระเอก" ใครคือ "ผู้ร้าย" ตัวประกอบที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ดีๆ ตัวไหนจะกลายมาเป็นจุดสนใจของเรื่อง ตรงนี้เองทำให้ไม่แน่ใจว่าตัวเองอ่านหนังสือเล่มนี้ "ผิดวิธี" หรือเปล่า ถ้านิยายไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อพาคนอ่านไปถึงอีกฝั่ง แต่เพื่อความสนุกสนานในการแหวกว่าย บางทีเราควรเลือกอ่านอย่างช้าๆ วันละสิบ ยี่สิบหน้า แทนที่จะตะลุยอ่าน สองวันจบ
ผมไม่ได้ถึงกับไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ ยอมรับว่ามีความงดงามซ่อนอยู่ในหลายจุด เช่นฉากที่สามีคาริสซา นำดอกไม้มามอบให้แก่เธอ หรือฉากที่เซปติมุสผู้เศร้าสร้อย ซ่อมแซมหมวกกับภรรยา ชอบที่หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของความเศร้า แต่ไม่ใช่เหตุแห่งความเศร้า วูลฟ์เล่าเพียงผ่านๆ เหตุความทุกข์ของตัวละคร ใช้เวลาส่วนใหญ่อุปมา อุปมัย แปรเปลี่ยนปั้นความทุกข์นั้นให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา
ชอบที่สุดคือมุมมองของมิสซิสแดโลเวย์ที่มีต่องานปาร์ตี้ คาริสซ่ารู้สึกเหมือนตัวเองมีหน้าที่จัดการให้คนแปลกหน้าสองคนจากต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งอาจไม่มีวันได้รู้จักกันบนท้องถนน พบปะกันเป็นครั้งแรกในบ้านของเธอ เพราะเราเองก็ต้องทำหน้าที่นี้บ่อยๆ เลยเข้าใจถึงสภาพที่หญิงสาวกังวลอยู่ตลอดเวลา งานปาร์ตี้ประสบความสำเร็จดีหรือเปล่า แขกเงียบกันเกินไปไหม จะต้องเชิญใครมาบ้าง การที่แคริสซ่าแปรสภาพตัวเองเป็นหัวใจ และเลือดเนื้อของงาน ทำให้หญิงสาวสูญเสียตัวตน ความเป็นมนุษย์ไป ปล่อยให้คนรักเก่าสองคนนั่งพูดคุยย้อนอดีตกันเอง ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ (หรือแอนไทไคลแมกซ์) ของหนังสือที่น่าสนใจทีเดียว
สักวันหนึ่ง คงได้อ่านนิยายเล่มอื่นของวูลฟ์ เมื่อถึงตอนนั้นอาจเข้าใจมิสซิสแดโลเวย์ดีขึ้น
A. Burgess's "Inside Mr. Enderby"
อ่านล้วงลึกเอนเดอบี้จบ นั่งคิดนอนคิด กลิ้งตัวสองตลบ ก็ยังตอบไม่ถูกว่าเบอกัสต้องการสื่ออะไร นี่คือนิยายเสียดสีสังคมยุคใหม่ สะท้อนความไร้สาระของชีวิต บทไว้อาลัยกวีนิพนธ์ ตั้งคำถามอัตลักษณ์แห่งปัจเจกชน แสดงให้เห็นเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอัจฉริยะและคนบ้า หรือเย้ยหยันหยอกล้อไฮซ้อไฮโซ ที่แน่ๆ ล้วงลึกเอนเดอบี้คือหนังสือชวนหัวที่สุดเล่มหนึ่ง อารมณ์ขันแบบเบอกัสไม่ใช่หาอ่านได้ดาดดื่น ก็แน่นอนล่ะ เพราะเขาคือผู้เขียนคลอคเวิร์คออเรนจ์ (ฟันเฟืองสีส้ม) และดิอันวอนเตดซีด (เมล็ดไม่ปรารถนา) ในเมล็ดไม่ปรารถนา ประชากรจะล้นโลกอยู่รอมร่อ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ผู้ชายหันมาเป็นเกย์ พระเอกถูกสวมเขาโดยพี่ชาย ซึ่งแสร้งทำเป็นกระเทย เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การเมือง
ถ้าโกวเล้งได้อ่านหนังสือของเบอกัส คงอุทานออกมาว่า "หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก!"
ล้วงลึกเอนเดอบี้เล่าเรื่องของกวีวัยทอง ผู้มีนิสัย และพฤติการณ์ผิดแผกมนุษย์มนา นายเอนเดอบี้อาศัยอยู่ในห้องพักซอมซ่อ ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งเขียนบทกวีบนโถส้วม อ่างอาบน้ำของหมอเต็มไปด้วยกลอนเก่าๆ กองพะเนินเทินทึก เอนเดอบี้รังเกียจการเข้าสังคม เมื่อได้รับเชิญไปงานแจกรางวัล หมอต้องไปยืมชุดสูทคนขายเนื้อ โดยสัญญาว่าจะเขียนกลอนช่วยจีบสาวชงเหล้าให้ หารู้ไม่ว่าแม่คุณเธอมีสามีอยู่แล้ว เป็นนักปรัชญาคอมมิวนิสต์ผู้ศรัทธาในพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง ฟังแค่นี้ก็ชุลมุนชุลเกจะแย่แล้ว นี่ยังไม่ได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของความฮาเลยด้วยซ้ำ
ตัวละครชายขอบ สติเฟื่องปรากฏตัวหลายครั้งในวรรณกรรมตะวันตก ที่มีชื่อเสียงสุดคงหนีไม่พ้นอิคเนเชียส แห่งเดอะคอนเฟดเดอเรซี่ออฟดันซ์ (สมาพันธ์คนเขลา) อันที่จริงเอนเดอบี้ก็มีหลายอย่างคล้ายคลึงอิคเนเชียส ทั้งคู่เป็นนักเขียน ไส้แห้งแต่อ้วนฉุ กระเพาะมีปัญหา และที่สำคัญคือติดแม่ ปมระหว่างเอนเดอบี้และแม่เลี้ยงรุนแรงถึงขนาดว่า กวีมองเห็นผู้หญิงทุกคนเป็นกระจกสะท้อนภาพของนาง ชีวิตเอนเดอบี้ป้วนเปี้ยน วนเวียนอยู่กับสตรีเพศ สิ่งมีชีวิตซึ่งเขาปราศจากความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นภรรยาชั่วคราว บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นผู้เฉิดฉายและโด่งดัง (แค่คิดภาพสองคนนี้อยู่ในห้องเดียวกันก็ฮาแล้ว) กระทั่งเทพเจ้าแห่งบทกวี สำหรับเอนเดอบี้ ยังเป็นเพศเมียเลย
เคยมีคนพูดไว้ว่าในความน่าสมเพชมักมีความน่ารักปนอยู่เสมอ คงไม่มีผู้อ่านคนใด จินตนาการตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเอนเดอบี้ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่เห็นอกเห็นใจอีกฝ่าย เสน่ห์ของตัวละครประเภทนี้อยู่ที่เราสามารถหัวเราะ และเย้ยหยันเขาได้พร้อมๆ กัน เบอกัสเองก็คงติดอกติดใจนักเขียนสติเฟื่องคนนี้อยู่ไม่น้อย ถึงได้แต่งนิยายเอนเดอบี้ต่อมาอีกสามภาค
ล้วงลึกเอนเดอบี้จบได้อย่างฮากลิ้ง และน่าขนลุก ไม่เสียพะยี่ห้อเบอกัส ฮากลิ้งและน่าขนลุกเป็นยังไงนะรึ เรื่องนั้น...คงต้องทิ้งให้อ่านกันเองแหละนาย
H. Hesse's "Narcissus and Goldmund"/"Steppenwolf"
เช่นเดียวกับนิยายเรื่องอื่นๆ ความขัดแย้งระหว่างไดโอนิซุส และอพอลโลยังคงเป็นประเด็นหลักในนาซิซัสและโกลมุนด์ คงไม่มีตัวละครใดของเฮสเสเผชิญโลกอันโหดร้ายเท่ากับโกลมุนด์ นี่ไม่การเดินทางด้วยจิตวิญญาณอิสระ หรือเพื่อศึกษาหาความรู้ แต่เป็นการธุดงค์เข้าไปยังแก่นแท้ความมืดดำในสันดานมนุษย์ โกลมุนด์เบื่อหน่ายชีวิตของสถานศึกษา เขาหลบหนีจากอาศรม ออกแสวงโชคในโลกกว้าง ชายหนุ่มตั้งตัวเองเป็นนักรัก เดินทางเพื่อแจกจ่ายสวาทให้หญิงสาวทุกคน ทุกหมู่บ้าน กาลต่อมา เขาถึงได้เรียนรู้รสชาติความริษยาของสตรีเพศ ซึ่งเกือบเป็นเหตุให้เจ้าตัวเอาชีวิตไม่รอด
ทุกอย่างซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตโกลมุนด์ เหมือนจะย้ำเตือนว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความโหดร้าย เช่นโรคระบาดซึ่งเช่นคร่าชีวิตคนทั้งหมู่บ้าน ความบ้าคลั่งของฝูงชนที่รุมกระหน่ำสังหารชาวยิว (เฮสเสเขียนนาซิซิสและโกลมุนด์ ช่วงเดียวกับที่พรรคนาซีเริ่มยึดครองอำนาจในเยอรมัน) กระทั่งตัวละครอย่างช่างแกะสลัก ซึ่งเหมือนจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ (นิยายของเฮสเสชอบมี "ปรัชญาเมธี" โผล่ออกมาชี้แนวทาง สั่งสอนตัวเอก) สุดท้ายชายหนุ่มก็มองศิลปะเป็นแค่ความไร้สาระ หนทางไต่เต้าไปสู่ความมั่งคั่งอันน่าเหยียดหยาม
นาซิซัสและโกลมุนด์ยังเป็นนิยายเรื่องแรกของเฮสเส ซึ่งตัวละครได้สัมผัสความแก่ชรา โกลมุนด์ไม่ได้มีวัยหนุ่มนิรันดรแบบคนุลป์ ในตอนท้ายๆ เรื่อง เขาเริ่มรู้สึกถึงความอ่อนแอ แห้งเหี่ยวในกาย และนี่อาจเป็นสาเหตุทำให้เขาพลาดรักผู้หญิงเพียงคนเดียวซึ่งเขาปรารถนาจะครอบครองอย่างจริงๆ จังๆ
ตรงข้ามกับโกลมุนด์ คือนาซิซัส ครูหนุ่ม และเพื่อนสนิทผู้อาศัยอยู่แต่ในสถานศึกษาชั่วชีวิต ไม่ต้องสงสัยว่านาซิซัสคือตัวแทนของอพอลโล เขาเป็นผู้เปิดโลกทัศน์วัยเยาว์ให้แก่เด็กหนุ่ม ซ้ำยังเป็นคนสนับสนุนให้โกลมุนด์หนีออกจากวัด และในตอนท้าย ก็เป็นคนคอยซับบาดแผล ดูแลร่างกายอันแตกหักยับเยิน หลังอีกฝ่ายใช้ชีวิตสมบุกสมบันในโลกกว้าง ชีวิตของนาซิซัส ถ้าเทียบกับโกลมุนด์แล้วราบเรียบ สงบนิ่งจนคนอ่านสงสัยไม่ได้ว่าเขามีความสุขแน่หรือ
เป็นการยากที่จะสรุปว่าเฮสเสเขียนนาซิซัสและโกลมุนด์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดใดกัน ระหว่างอพอลโล และไดโอนิซุส ทางเลือกหนึ่งคือตำรับตาราเรียนอันน่าเบื่อหน่าย แต่อีกทางหนึ่งก็คือความโหดร้ายของโลกกว้าง คงมีแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่จะตัดสินใจเองได้
สเตปเปนวูลฟ์เป็นนิยายเรื่องเดียวของเฮสเสที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง กระนั้นไม่ได้หมายความว่าปมไดโอนิซุสไม่ได้ปรากฏในเรื่อง ไดโอนิซุสคือเทพเจ้าแห่งสุรา ดังนั้นนอกจากการผจญภัย ไดโอนิซุสยังเป็นตัวแทนแห่งการเฉลิมฉลอง
ถ้าเอมิล ซินแคล (ตัวเอกจากเรื่องเดเมียน) มีชีวิตอยู่รอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาคงเติบโตมาเป็นสเตปเปนวูลฟ์ หมาป่ายะโสผู้โดดเดี่ยว สเตปเปนวูลฟ์คือเรื่องเล่าของแฮรี่ ฮาลเลอร์ (ตัวย่อเอชเอช เหมือนเฮอมัน เฮสเส) ฮาลเลอร์เป็นนักวิชาการชรา ผู้รังเกียจ ชิงชังตัวเองมากกว่าสิ่งใดในโลก ("การรังเกียจตัวเองนั้น คือรูปแบบหนึ่งของความหยิ่งผยอง เพราะมีแต่คนหลงตัวเองเท่านั้น รู้สึกว่าตนมีคุณค่าพอให้เกลียดชัง") เขาอุทิศทั้งชีวิตให้แก่อพอลโล จนเมื่อมาถึงบั้นปลาย ได้พบเออไมน์ สตรีปริศนาซึ่งสอนให้เขารู้จักการเต้นรำ ดนตรีแจ๊ส และการเสพสุขแบบไดโอนิซุส
ในแง่หนึ่งเออไมน์อาจเป็นเทพธิดาผู้นำพาความสุขมาให้ฮาลเลอร์ เขากลายเป็นนักเต้นรำ มีสัมพันธ์สวาทกับสาวสวย (ซึ่งเออไมน์เป็นคนแนะนำให้เขารู้จัก) แต่อีกทางหนึ่ง ฮาลเลอร์ตระหนักดีว่าโลกใหม่นี้ เต็มไปด้วยกิเลศ ตัณหา และความมืดบอด
สเตปเปนวูลฟ์เสมือนจะตอบคำถามซึ่งค้างคาอยู่ในนาซิซัสและโกลมุนด์ เฮสเสหลงใหลการดำเนินชีวิตแบบนักผจญภัย กระนั้นความโหดร้ายของสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทำให้เขาอดคิดไม่ได้ว่าโลกใบนี้มีคุณค่าพอให้ออกไปสำรวจขนาดนั้นเชียวหรือ (เหมือนกับที่นาซิซัสถามตัวเอง ทุกครั้งที่โกลมุนด์เลียบาดแผล กลับมาพักรักษาตัวในอาศรม) สเตปเปนวูลฟ์นอกจากจะเป็นนิยายที่ยอมรับความโหดร้ายของโลกแล้ว ยังถามกลับไปอย่างเย้ยหยันว่า "แล้วไงล่ะ" ถ้าโลกนี้ปราศจากกิเลศ ตัณหา ความสุขเล่าจะไปอยู่หนใด เท่าที่ชีวิตยังมีลมหายใจ คนเราควรจะเต้นรำ มัวเมาเสียงดนตรี และดื่มดำไปกับความสวยงามของโลก
ตอนท้ายเรื่อง การผจญภัยของฮาลเลอร์ในคฤหาสน์แห่งความฝัน คือต้นแบบงานเขียนแนวเหนือจริง ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากในวรรณกรรมตะวันตกช่วงหลังศตวรรษที่ยี่สิบ ถ้าความฝันต่างจากความจริงเพียงเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกกันว่าหนังตา ท้ายที่สุดอพอลโล และไดโอนิซุสก็คงเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกันเท่านั้นเอง
H. Hesse's "Knulp"/"Siddhartha"
วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศ มาพูดถึงชีวิตนักประพันธ์ แทนที่จะเป็นผลงานเดี่ยวๆ บ้างดีกว่า อยากเขียนรวมบทวิจารณ์ผลงานของเฮสเสมานานแล้ว ติดแต่ว่ายังไม่ได้อ่านปีเตอร์ คาเมซิน (นิยายเล่มแรก) และเกมลูกแก้ว เลยรู้สึกขาดๆ แหว่งๆ ยังไงชอบกล เอาเถอะไหนๆ ก็ถือว่าอ่านนิยายหลักของแกเกือบครบทุกชิ้น
ชีวิต และปรัชญาของเฮสเสน่าจะเป็นตัวอย่างอันดี ของผู้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างปมอพอลโล และไดโอนิซุส เคยพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ไปแล้วในบทวิจารณ์เบล แคนโต้ สรุปง่ายๆ อพลอลโลคือตัวแทนความรู้ การศึกษา และไดโอนิซุสคือนักผจญภัย ผู้แสวงหาความสุขในโลกกว้าง คนุลป์เป็นตัวแทนวัยหนุ่ม สมัยเฮสเสยังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงไดโอนิซุส คนุลป์คือนักผจญภัยผู้ล่องลอยไปกับสายลม มีเพื่อนๆ อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าบ้านหลังไหนก็ให้การต้อนรับขับสู่ชายหนุ่มเป็นอย่างดี โดยผิวเผินชีวิตคนุลป์เหมือนจะเปี่ยมสุข น่าอิจฉา แต่เฮสเสก็แฝงความเหงาหงอยเอาไว้ด้วย บางครั้งชายหนุ่มเปิดเผยกับคนใกล้ชิดว่าเขาอยากมีบ้านให้ปักหลัก อีกหนคนุลป์แย้มพรายอดีตอันแสนเศร้าของตัวเองให้คนแปลกหน้าฟัง
วรรคทองจากคนุลป์ซึ่งหลายคนอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัวคือ "ในความงามมักมีความเศร้าเสมอ ดอกไม้สวยได้ เพราะเรารู้ว่าอีกไม่นานมันจะแห้งเหี่ยว ความหยาดเยิ้มของสาวแรกรุ่น อยู่ที่เราตระหนักว่าความเยาว์คงอยู่ได้เพียงชั่วอึดใจ ไม่นานก็แห้งเหี่ยวแก่ชรา" ถ้าใครอ่านสิงห์สาโท จะเห็นคุณวัฒน์เอาประโยคนี้มาใช้ อีกวรรคหนึ่งซึ่งเด็ดไม่แพ้กันคือ "ดอกไม้ส่งกลิ่นหอมระรวย และเมล็ดพันธุ์ เพราะมันอยากใกล้ชิดกันและกัน หากแต่ไม่มีแขนขาให้ขยับเขยื้อนไปไหน กระนั้นดอกไม้ไม่อาจบังคับเมล็ดพันธุ์ล่องลอยไปตกตามที่ต้องการ นั่นคือหน้าที่ของลม และลมมาเยือน จากไปตามแต่ที่มันต้องการ"
โดยรวม ชีวิตคนุลป์ไม่ถึงกับเศร้าสร้อยเกินไปนัก อดคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นวิถีอิสระแบบที่ผู้เขียนต้องการ ยิ่งประกอบกับผลงานชิ้นก่อนๆ อย่างใต้กงล้อ และรอสฮัน ล้วนแล้วแต่เป็นนิยายสนับสนุนให้คนเราออกเดินทางไปในโลกกว้าง
คนุลป์ตีพิมพ์ปีที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉาก ผลงานเล่มถัดไปคือเดเมียนทิ้งช่วงสี่ปี อิทธิพลความโหดร้ายของสงครามส่งผลให้เฮสเสเริ่มเปลี่ยนแนวคิดมาทางอพอลโลมากยิ่งขึ้น
สิทธัตถะคือผลงานที่โด่งดังที่สุดของเฮสเส ผู้เขียนใช้ธีมการค้นหาสัจธรรม ธีมเดียวกับในเดเมียน แต่เปลี่ยนฉากมาเป็นประเทศอินเดีย และผนวกพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง สิทธัตถะก็เหมือนเดเมียน คนหนุ่มผู้ไม่พึงพอใจสภาพรอบตัว การสั่งสอนของอาจารย์ แม้หัวหน้าพราหมณ์ตั้งความหวังให้เขารับช่วงดูแลลัทธิต่อจากตัวท่าน ท้ายสุดชายหนุ่มสละลาภยศ ออกเดินทางตามหาพระพุทธเจ้า การพบปะกันระหว่างตถาคตและสิทธัตถะ ลงเอยที่ชายหนุ่มปลงใจยอมรับคำสั่งสอนของศาสดา แต่สัจธรรมของตัวเขา เขาจะต้องออกไปเป็นผู้ค้นหาด้วยตัวเอง (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับของเดเมียน)
วรรคทองจากสิทธัตถะที่จำขึ้นใจจนบัดนี้คือ "สิทธัตถะเสมือนก้อนหินหล่นลงสู่แม่น้ำ อาจจะถึงก้นช้า อาจจะถึงก้นเร็ว แต่ก้อนหินย่อมจมลงสู่เบื้องล่างเสมอ และไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งการตกของหินได้"
สิทธัตถะน่าจะเป็นนิยายอันเกิดจากการคลี่คลายปมอพอลโล ไดโอนิซุสในตัวเฮสเสไปอีกเปลาะหนึ่ง การที่สิทธัตถะปฏิเสธเข้าร่วมหมู่พระสาวก ก็เหมือนคนุลป์ผู้ชื่นชอบอิสระเสรี ต่างแต่การท่องเที่ยวของคนุลป์คือการเดินทางตามสายลม หากสิทธัตถะมีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาความรู้ เสมือนเฮสเสต้องการบอกผู้อ่านว่าไม่มีหนทางใดจะนำไปสู่ปัญญา (อพอลโล) ได้ดีเท่าการออกผจญภัย (ไดโอนิซุส)
ธีมตรงนี้ปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งในนาซิซัส และโกลมุนด์ ไว้คุยกันต่อคราวหน้าครับ
ชีวิต และปรัชญาของเฮสเสน่าจะเป็นตัวอย่างอันดี ของผู้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างปมอพอลโล และไดโอนิซุส เคยพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ไปแล้วในบทวิจารณ์เบล แคนโต้ สรุปง่ายๆ อพลอลโลคือตัวแทนความรู้ การศึกษา และไดโอนิซุสคือนักผจญภัย ผู้แสวงหาความสุขในโลกกว้าง คนุลป์เป็นตัวแทนวัยหนุ่ม สมัยเฮสเสยังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงไดโอนิซุส คนุลป์คือนักผจญภัยผู้ล่องลอยไปกับสายลม มีเพื่อนๆ อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าบ้านหลังไหนก็ให้การต้อนรับขับสู่ชายหนุ่มเป็นอย่างดี โดยผิวเผินชีวิตคนุลป์เหมือนจะเปี่ยมสุข น่าอิจฉา แต่เฮสเสก็แฝงความเหงาหงอยเอาไว้ด้วย บางครั้งชายหนุ่มเปิดเผยกับคนใกล้ชิดว่าเขาอยากมีบ้านให้ปักหลัก อีกหนคนุลป์แย้มพรายอดีตอันแสนเศร้าของตัวเองให้คนแปลกหน้าฟัง
วรรคทองจากคนุลป์ซึ่งหลายคนอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัวคือ "ในความงามมักมีความเศร้าเสมอ ดอกไม้สวยได้ เพราะเรารู้ว่าอีกไม่นานมันจะแห้งเหี่ยว ความหยาดเยิ้มของสาวแรกรุ่น อยู่ที่เราตระหนักว่าความเยาว์คงอยู่ได้เพียงชั่วอึดใจ ไม่นานก็แห้งเหี่ยวแก่ชรา" ถ้าใครอ่านสิงห์สาโท จะเห็นคุณวัฒน์เอาประโยคนี้มาใช้ อีกวรรคหนึ่งซึ่งเด็ดไม่แพ้กันคือ "ดอกไม้ส่งกลิ่นหอมระรวย และเมล็ดพันธุ์ เพราะมันอยากใกล้ชิดกันและกัน หากแต่ไม่มีแขนขาให้ขยับเขยื้อนไปไหน กระนั้นดอกไม้ไม่อาจบังคับเมล็ดพันธุ์ล่องลอยไปตกตามที่ต้องการ นั่นคือหน้าที่ของลม และลมมาเยือน จากไปตามแต่ที่มันต้องการ"
โดยรวม ชีวิตคนุลป์ไม่ถึงกับเศร้าสร้อยเกินไปนัก อดคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นวิถีอิสระแบบที่ผู้เขียนต้องการ ยิ่งประกอบกับผลงานชิ้นก่อนๆ อย่างใต้กงล้อ และรอสฮัน ล้วนแล้วแต่เป็นนิยายสนับสนุนให้คนเราออกเดินทางไปในโลกกว้าง
คนุลป์ตีพิมพ์ปีที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉาก ผลงานเล่มถัดไปคือเดเมียนทิ้งช่วงสี่ปี อิทธิพลความโหดร้ายของสงครามส่งผลให้เฮสเสเริ่มเปลี่ยนแนวคิดมาทางอพอลโลมากยิ่งขึ้น
สิทธัตถะคือผลงานที่โด่งดังที่สุดของเฮสเส ผู้เขียนใช้ธีมการค้นหาสัจธรรม ธีมเดียวกับในเดเมียน แต่เปลี่ยนฉากมาเป็นประเทศอินเดีย และผนวกพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง สิทธัตถะก็เหมือนเดเมียน คนหนุ่มผู้ไม่พึงพอใจสภาพรอบตัว การสั่งสอนของอาจารย์ แม้หัวหน้าพราหมณ์ตั้งความหวังให้เขารับช่วงดูแลลัทธิต่อจากตัวท่าน ท้ายสุดชายหนุ่มสละลาภยศ ออกเดินทางตามหาพระพุทธเจ้า การพบปะกันระหว่างตถาคตและสิทธัตถะ ลงเอยที่ชายหนุ่มปลงใจยอมรับคำสั่งสอนของศาสดา แต่สัจธรรมของตัวเขา เขาจะต้องออกไปเป็นผู้ค้นหาด้วยตัวเอง (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับของเดเมียน)
วรรคทองจากสิทธัตถะที่จำขึ้นใจจนบัดนี้คือ "สิทธัตถะเสมือนก้อนหินหล่นลงสู่แม่น้ำ อาจจะถึงก้นช้า อาจจะถึงก้นเร็ว แต่ก้อนหินย่อมจมลงสู่เบื้องล่างเสมอ และไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งการตกของหินได้"
สิทธัตถะน่าจะเป็นนิยายอันเกิดจากการคลี่คลายปมอพอลโล ไดโอนิซุสในตัวเฮสเสไปอีกเปลาะหนึ่ง การที่สิทธัตถะปฏิเสธเข้าร่วมหมู่พระสาวก ก็เหมือนคนุลป์ผู้ชื่นชอบอิสระเสรี ต่างแต่การท่องเที่ยวของคนุลป์คือการเดินทางตามสายลม หากสิทธัตถะมีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาความรู้ เสมือนเฮสเสต้องการบอกผู้อ่านว่าไม่มีหนทางใดจะนำไปสู่ปัญญา (อพอลโล) ได้ดีเท่าการออกผจญภัย (ไดโอนิซุส)
ธีมตรงนี้ปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งในนาซิซัส และโกลมุนด์ ไว้คุยกันต่อคราวหน้าครับ
ยิ้มอัปสรในรัตติกาล (แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า)
นี่อาจไม่ใช่บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของแสงศรัทธา ณ ปลายฟ้าเสียทีเดียว เรียกให้ถูก น่าจะเป็นบทไว้อาลัยวัฒนธรรมอินดี้ในแวดวงวรรณกรรมเสียมากกว่า
ผมได้สัมผัสหนังสือทำมือครั้งแรกเมื่อประมาณสิบปีก่อน น้องกลุ่มหนึ่งยืนแจกปึ๊งเอกสารซีรอคกระดาษเอสี่ หน้าร้านขายการ์ตูนสยามสแควร์ ตอนแรกนึกว่าเป็นใบปลิวโฆษณา หยิบมาพลิกดูถึงรู้ว่านี่คือนิตยสารการ์ตูนคนไทยวาด ครั้งที่สองคือตอนไปเที่ยวงานแฟตกับเพื่อน ปีนั้นจัดที่โรงงานยาสูบ นอกจากฉายภาพยนตร์นักศึกษา ก็มีเด็กๆ ปูเสื่อขายเทปทำเอง และหนังสือทำมือ
หนังสือทำมือบูมสุดๆ คือเมื่อประมาณห้าหกปีที่แล้ว ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ซึ่งพัฒนาไปไกล ขนาดคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วยังสามารถแต่งกราฟฟิคสวยๆ พิมพ์ปกดีๆ ออกมาได้ ช่วงเดียวกันกับที่นิตยสารอะเดย์เพิ่งก่อตั้ง สร้างปรากฏการณ์ให้กับแวดวงสิ่งพิมพ์ สองปีถัดมาซีพีจัดงานประกวดเซเวนบุ๊คอวอร์ด เปิดโอกาสให้นักเขียนสมัครเล่น ส่งต้นฉบับ ซึ่งยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ ถือเป็นซีไรต์รุ่นเล็กสำหรับคัดเลือกดาวจรัสแสง ประกอบกับวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ต เวปไซต์วรรณกรรม ไดอารี่ออนไลน์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น นักอยากเขียนซึ่งยังไม่มีเรื่องสั้นมากพอ สามารถรวมกลุ่มตีพิมพ์ผลงาน (ทำมือ) ออกสู่สายตาประชาชน
ผ่านมาห้าปีแล้ว ขณะนี้หนังสือทำมือไปอยู่ที่ไหน ร้าน underground ชั้นสามโรงหนังสยามปิดตัว เหลือแค่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เซเวนบุ๊คอวอร์ดเปลี่ยนกติกา รับเฉพาะหนังสือซึ่งผ่านสำนักพิมพ์ อะเดย์กลายเป็นองค์กรใหญ่ ห่างไกลจากสภาพดั้งเดิมของมันไปทุกขณะ หนังสือทำมือไม่ได้สร้างชาติ กอบจิตติ พญาอินทรี หรือวาณิช จรุงกิจอนันต์คนที่สอง สิ่งเดียวซึ่งงอกเงยออกมาคือสำนักพิมพ์เปิดใหม่แปดล้านห้า ผู้ผลิตหนังสือตาหวานปกเกาหลี หรือหนังสือแฉ กลุ่มวรรณกรรมที่ตั้งๆ กันมา สุดท้ายก็เบื่อเลิกร้างไป หรือไม่ก็ทะเลาะเบาะแว้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าต่อให้ไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง คนเราก็สามารถขัดแย้งกันได้ด้วยอัตตา ถ้าถามสาเหตุความซบเซาของหนังสือทำมือ เกจิในวงการก็ดีแต่โทษโรคเบื่อง่ายแบบพี่ไทย
แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า ถึงจะเป็นนักเขียนใหม่ เพิ่งออกรวมเรื่องสั้นเล่มแรก แต่ถ้าใครคลุกคลี ในวงการหนังสือทำมือ และเวปไซต์วรรณกรรม คงเคยได้ยินชื่อเขามาบ้าง ผมพยายามตามหาอ่านยิ้มอัปสรในรัตติกาลฉบับทำมือ แต่ไม่เคยสำเร็จ จนได้รู้ว่าบัดนี้สำนักพิม์นกฮูกตีพิมพ์ออกวางขายตามท้องตลาดแล้ว รู้สึกยินดีมาก ซื้อมาตั้งแต่แรกเห็นเลย (ปกสวยเสียด้วย)
อ่านจบ ก็ตระหนักขึ้นมาทันที ทำไมหนังสือทำมือถึงไปไหนไม่รอด ในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ แสงศรัทธาฯ ทำงานได้ยอดเยี่ยม ภาษาซึ่งใช้เขียนยิ้มอัปสรฯ สวยงาม การดำเนินเรื่องลื่นไหล ไม่ติดขัด ในทางกลับกัน ถ้ามองแสงศรัทธาฯ ในฐานะ "ลูกพี่" แห่งแวดวงหนังสือทำมือ พูดได้คำเดียวว่าน่าผิดหวัง ยิ้มอัปสรฯ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ค่อนข้างตื้นเขิน ปราศจากความคิดอันโดดเด่น ไม่สะดุดตา ไม่ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้คนอ่าน ฉากแทบทุกเรื่องเป็นกรุงเทพแห่งห้วงคำนึง คือเมืองซึ่งถูกสร้างในจินตนาการ อ่านจบแล้วไม่อาจสัมผัสสภาพความเป็นจริงใดๆ
จุดด้อยสุดของยิ้มอัปสรฯ คือผู้เขียนตั้งใจเล่าเรื่องแต่งจนเกินเหตุ คนอ่านสัมผัสไม่ได้ถึงตัวตนของเขา ไม่รู้สึกว่านี่คือหนังสือซึ่งถูกเขียนโดยมือมนุษย์ มีเลือดมีเนื้อมีหนัง ตัวตนซึ่งเอ่อล้นในหนังสืออาจจะน่ารำคาญ แต่สำหรับแสงศรัทธา เขาน่าจะสามารถขุดค้นความเป็นตัวเอง ถ่ายทอดในผลงานชิ้นต่อไปได้มากกว่านี้
ยิ้มอัปสรฯ คือตัวอย่างความล่มสลายของแวดวงหนังสือทำมือ ผลงานวรรณกรรมซึ่งเกิดจากคนรุ่นใหม่ ที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาเขียน โดยไม่ยอมอ่านหนังสือ ไม่ยอมศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ตอนนี้แสงศรัทธาฯ ก็ได้มีรวมเรื่องสั้นตีพิมพ์เป็นของตัวเอง อย่างน้อยในเรื่องภาษา และการเล่าเรื่องก็ถือว่าเจ้าตัวสอบผ่าน เขาน่าจะสามารถก้าวต่อไปได้ในฐานะนักเขียนเต็มตัว
แต่อย่าลืมว่าบททดสอบของมืออาชีพนั้น โหดหินยิ่งกว่าการรวมกลุ่มวรรณกรรม แปะเรื่องสั้นตามอินเตอร์เน็ต หรือพิมพ์หนังสือทำมือนัก
คุณสงคราม (เดือนวาด พิมวนา)
เคยสงสัยกันบ้างไหม ชีวิตคนเราเมื่อพุ่งทะยานถึงจุดสูงสุด แล้วจะก้าวไปไหนต่อ ยิ่งชีวิตนักเขียนอย่างเดือนวาด พิมวนา หลังได้รางวัลซีไรต์ หนังสือเล่มต่อไปของเธอจะเป็นเช่นไร
คุณสงครามคือหนังสือเล่มที่สามของเดือนวาด พิมวนา แต่เป็นโพสต์ซีไรต์เล่มแรก เท่าที่อ่านคำวิจารณ์ เสียงตอบรับไม่สู้ดีนัก อย่างคุณหนุมาน ของนิตยสาร underground bulletin ก็ดูจะไม่ชอบหนังสือเล่มนี้อย่างออกนอกหน้า และเมื่อถึงฤดูกาลซีไรต์ 2549 นิยายเล่มนี้ไม่ได้ลงสนามแข่งกับเขา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะคุณเดือนวาดรู้สึกพอแล้ว หรือตระหนักว่านิยายเล่มนี้ยังไปไม่ถึง
อย่างไรก็ช่างเถอะ อยากบอกทุกคนว่าผมชอบคุณสงครามทีเดียวเลยล่ะ!
ตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกใหม่ๆ ตามร้านหนังสือ จะถูกวางหันปกออก โดยมีคำโปรยเขียนไว้ว่า "เรื่องสั้นขนาดยาว" ผมก็กะว่าคงสักเก้าสิบหน้า หรืออย่างเก่งก็ร้อยหย่อมๆ พอหยิบออกมา ต๊กกะใจหมดเพราะมันสองร้อยกว่าหน้า นี่มันนิยายชัดๆ เรื่องส่งเรื่องสั้นอะไร เนื้อหาว่าด้วยอดีตเทวดาตกสวรรค์ มีแผนปฏิรูปสังคมโดยประดิษฐ์สงครามขึ้นมา เพราะแกเชื่อว่าสงครามเท่านั้นที่จะสั่งสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ คนเดียวซึ่งจะหยุดยั้งแกได้คือเทวดาอีกตน ผู้เผลอนอนหลับไปสี่ร้อยปี พอตื่นขึ้นมาก็ไม่ทันโลก ไม่ทันสมัยเสียแล้ว
พออ่านจบก็ถึงบ้างอ้อว่า เออนี่มันเรื่องสั้นจริงๆ ด้วย ประเด็นในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแคบ ตัวละครก็แค่หยิบมือเดียว ถ้าให้เล่าจบเป็นเรื่องสั้นจริงๆ ก็คงได้สักห้าสิบหกสิบหน้ากำลังดี ปัญหาของคุณสงคราม ก็เลยคล้ายๆ กับคดีฆาตกรรมฯ คือเนื้อเรื่องเบาบางเกินกว่าจะหยิบจับมาทำเป็นนิยาย
แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้ว ผมชอบคุณสงคราม อยากบอกด้วยซ้ำว่านี่ก้าวใหม่ของเดือนวาด พิมนา และน่าจะเป็นก้าวแรกที่ดีของแวดวงวรรณกรรมไทย รู้จักผู้เขียนครั้งแรกจากนิยายกึ่งสารคดี ชีวิตเด็กสลัมป์ ตอนได้ข่าวว่าเธอเขียนเรื่องสั้นซักฟอก ล้อรักชวนหัว อดแปลกใจไม่ได้ ภาพเดือนวาด พิมวนาที่เรามีคือนักเขียนเพื่อชีวิต เพื่อสังคม ดูขัดๆ กับกุนเดระยังไงมิทราบ พอได้อ่านเรื่องสั้นซักฟอกจริง ยอมรับว่าแกเขียนเรื่องกึ่งอีโรติกได้ดี เลียนแบบสไตล์กุนเดระได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่อยากเชื่อว่านี่คือคนเดียวกับผู้แต่งช่างสำราญ
คุณสงครามคือผลงานที่ต่างจากช่างสำราญไปอีกระดับหนึ่ง แทนที่จะพูดถึงความยากจน สะท้อนปัญหาสังคม ก็มาโต้กันด้วยปรัชญาการเมือง คุณค่าของสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นักวิชาการชาวเยอรมันหลายคนเชื่อว่าสงครามเท่านั้น ที่จะฝึกสอนมนุษย์ให้รู้จักความอดทน ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน และที่สำคัญความรักและภาคภูมิใจในชาติ เผ่าพันธุ์ แน่นอนว่าความคิดแบบนี้ล้าสมัยไปแล้ว แต่วิธีนำเสนอเหตุและผลในนิยาย ก็อดให้คนอ่านอย่างเราลุ้นไม่ได้ว่า พ่อเทวดาขี้เซาจะเอากลวิธีใดมารับมือกับเทวดาตกสวรรค์ เข้าใจว่ากว่าจะออกมาเป็นคุณสงคราม ผู้เขียนคงต้องหาข้อมูล อ่านปรัชญาแนวคิดมาไม่น้อย วิธีเขียนลักษณะนี้ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย ซึ่งยังยึดติดกับความล้าหลัง และเดิมๆ ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เพื่อชนบท และเพื่อคนจน สาเหตุนี้กระมังทำให้นักวิจาณ์หลายคนรับไม่ได้ จริงๆ ถ้ามองวรรณกรรมตะวันตกชั้นดี หลายต่อหลายเล่มก็เป็นนิยายปรัชญาเสียส่วนใหญ่
อีกประการที่ชอบมากๆ คือการนำเสนอเรื่องราวใหญ่โต ด้วยฉากจำกัด จำเขี่ย คงไม่เกินไปนัก ถ้าจะตีความเทวดาตกสวรรค์ว่าเป็นตัวแทนของซาตาน และการต่อสู้ทางความคิดในที่นี้คืออามาเกตดอน ตามคำทำนายในพระคัมภีร์ เดือนวาด พิมวนาสามารถหยิบจับประเด็นใหญ่โตมโหฬารมาย่อไว้ในนิยายสั้นๆ เรื่องหนึ่งได้ (ซึ่งตอนนี้ยาวเกินไปด้วยซ้ำ) ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่อง
คุณเดือนวาดแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่แน่นัก ช่างสำราญอาจไม่ใช่จุดสูงสุดของชีวิตนักเขียนคนนี้ก็ได้ ถึงแม้จะยังเปรอะเปื้อนไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ก็อยากให้กำลังใจแก เขียนนิยายปรัชญาแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ครับ
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (วินทร์ เลียววาริณ)
มาอีกแล้ว บทวิจารณ์หนังสือแรนดอม จริงๆ เล่มที่อ่านอยู่ขณะนี้คือ อินไซด์มิสเตอร์เอนเดอบี้ ของแอนโธนี เบอกัส หนังสือไม่หนามาก จริงๆ ไม่ควรใช้เวลานานนักหรอก แต่เกรงว่าช่วงนี้ติดภาระปะปัง
เล่าพื้นความหลังระหว่างผมและวินทร์ เลียววาริณหน่อยดีกว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนเป็นหนังสือของวินทร์ที่ผมอ่าน หลังจากไม่ยอมแตะต้องหนังสือ เรื่องสั้นใดๆ ของเขามาเกือบสิบปีแล้ว ย้อนความหลังไปวันที่ประชาธิปไตยบนเส้นขนานได้รางวัลซีไรต์ (ซึ่งผมไม่ชอบ) จนได้มีโอกาสพบปะนักเขียนตามที่ต่างๆ ไม่ถูกจริตแกเท่าที่ควร ซ้ำเมื่อสิ่งมีชีวิตฯ ได้รางวัลซีไรต์อีกสองปีถัดมา ทำให้วินทร์กลายเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่สองของประเทศไทย ผมก็เลยเกิดอาการหมั่นไส้ ไม่ยอมอ่านอะไรที่แกเขียนเอาเสียดื้อๆ
ที่อ่านสิ่งมีชีวิตฯ หลังเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งทศวรรษ เพราะเพื่อนสองคนย้ำนักย้ำหนาว่าเฮ้ย! ดีจริงๆ นะแก ก็เลยยอมลดอคติตัวเอง หยิบรวมเรื่องสั้นซีไรต์เล่มหน้ากว่าสามร้อยหน้าขึ้นมา
แล้วเป็นไงรึ แปลกใจมากครับที่ตัวเองชอบ! ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเขียนวิจารณ์รวมเรื่องสั้นยังไง เอาเป็นพูดแตกทีละประเด็นแล้วกัน
1) คุณวินทร์ได้รับฉายาว่านักเขียนช่างค้น เรื่องสั้นแทบทุกเรื่องมีอารมณ์ ลักษณะตัวละครที่แตกต่างไป บางทีก็เป็นเรื่องของนักเขียนนิตยสารสยิว เพชรฆาต คนงานบริษัท ผู้ก่อการร้าย คนป่วยอัมพาต ถึงใครๆ จะหาว่าฉาบฉวย ผมกลับคิดว่ามันช่วยให้เราอ่านแต่ละเรื่องสั้นได้ไม่รู้เบื่อ ไม่เหมือนนักเขียนอย่างคุณเรวัฒน์ คุณขจรฤทธิ์ และคุณมาโนช ซึ่งจริงๆ ผมชอบผลงานแต่ละท่านมาก แต่เวลาอ่านรวมเรื่องสั้นทั้งเล่มทีไรเล่นเอาเหนื่อยพอตัว เนื่องจากมันคล้ายคลึงกันไปหมด ทั้งอารมณ์ สภาพตัวเอก กระทั่งบางทีคอนฟลิกก็ออกทำนองเดียวกัน (ลองหยิบชีวิตสัมมะหาอันใด สายลมบนถนนโบราณ คนรักเก่ามาอ่านดูนะครับ) ผมคิดว่าสไตล์การเขียนแบบคุณวินทร์ เป็นสไตล์คนรุ่นใหม่ซึ่งน่าสนับสนุน พอกันทีการเขียนอิงแต่ประสบการณ์ ไม่รู้หรือไงว่าประสบการณ์คนเรานี่แหละ คับแคบที่สุดแล้วในโลก
2) คุณวินทร์ตั้งใจเขียนเรื่องสั้นแทบทุกเรื่อง บอกตามตรงว่าโคตรประทับใจเลย เห็นมาเยอะแล้วนักเขียนที่รวมเรื่องสั้นเหมือนศิลปินแกรมมี่ออกเทป กะให้เพราะเพลงเดียวพอ ที่เหลือเขียนอะไรก็ได้ยัดลงไปให้ครบๆ ร้อย สองร้อยหน้า ผมอาจไม่ได้ชอบทุกเรื่องสั้นในสิ่งมีชีวิตฯ แต่อย่างน้อยก็สัมผัสได้ว่าแต่ละเรื่องถูกกลั่นกรองมาจากหยักสมอง และแรงงาน ไม่ใช่ถือว่าตัวเองเป็นนักเขียนดังแล้ว จะปั่นอะไรออกมาก็ได้ตีพิมพ์หมด อาจจะฟังดูเหมือนนอกเรื่อง ตั้งแต่คุณปราบดาได้ซีไรต์ กระแสการเขียนเรื่องสั้นเริ่มเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่หลายคนเชื่อว่าเขียนอะไรมั่วๆ ซั่วๆ ออกมาก็ได้ เดี๋ยวคนก็ไปตีความเป็นเลิศเป็นเลอเอง
3) คุณวินทร์กล้านำเสนอประเด็นชวนถกเถียง แกไม่ใช่นักเขียนเด็กดี เชื่ออะไรตามตำราเรียนไปหมด หลายเรื่องสั้นของแกมีบทสรุปที่น่าขบคิด ใคร่ครวญ หลายครั้งผมไม่เห็นด้วยกับแก เช่นในกระถางชะเนียงฯ เหมือนแกตั้งใจจะสรุปว่าถ้าคนเรามีชีวิตบัดซบจริงๆ การฆ่าตัวตายก็ดูจะเป็นทางออกเดียว หลายทีรู้สึกเหมือนแกพยายามยัดประเด็นซึ่งตัวเองต้องการสื่อเข้าหาคนอ่านมากเกินไป แทนที่จะนำเสนอเรื่องราวแบบกลางๆ ให้คนอ่านได้สัมผัสข้อขัดแย้ง และสรุปคำตอบด้วยตัวเอง เรื่องสั้นแบบวินทร์ เลียววาริณมีการผูกเรื่อง เพื่อนำไปสู่คำตอบหนึ่งเดียว โชคดีที่อย่างน้อยคำตอบนั้นก็ไม่ใช่อะไรโหลๆ ซึ่งพูดกันไปแล้วไม่รู้จบ อย่างคนจนมีน้ำใจ ทำดีได้ดี กรุงเทพสู้ต่างจังหวัดไม่ได้
4) จุดที่ไม่ชอบในสิ่งมีชีวิตฯ คือบทความปะหน้าเรื่องสั้น ประหลาดใจตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะเพื่อนที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ย้ำนักย้ำหนาว่ามันดีที่บทความ ไม่ชอบเพราะมันดูอวดรู้เกินเหตุ คุณวินทร์เอาเรื่องง่ายๆ อย่างหมาของพาบลอฟ มาปลุกปั้น เขียนให้ดูวิชาการเลิศเลอ ทั้งที่จริงๆ เด็กแทบทุกคน ถ้าพอมีการศึกษาหน่อย หรือเคยอ่านการ์ตูนซีเอ็ต ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องนี้เป็นธรรมดา นี่แค่ตัวอย่างหนึ่ง ชอบสไตล์บทความแบบประภาส ปราบดามากกว่า คือทำสิ่งซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เรื่องง่ายๆ อ่านสนุก
อ่านจบแล้วก็อดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่า ถ้าได้อ่านสิ่งมีชีวิตฯ ตั้งแต่เมื่อแปดเก้าปีที่แล้ว จะชอบมันขนาดนี้ไหม คุณวินทร์เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีจริง หรือว่ามาตรฐานเราต่ำลงกันแน่ ตั้งแต่อินเตอร์เน็ตเปิดวัฒนธรรมเรื่องสั้นออนไลน์ หนังสือทำมือ โอกาสถูกเปิดให้นัก "อยาก" เขียนระดับฐานปิรามิดมากขึ้น เพราะแบบนี้หรือเปล่า เราถึงรู้สึกว่าหนังสืออย่างสิ่งมีชีวิตฯ ถ้าเทียบกับหลายปก หลายผลงานซึ่งเกลื่อนท้องตลาดอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก
สิงห์สาโท (วัฒน์ วรรลยางกูร)
ช่วงนี้คงไม่ได้อ่านนิยายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หนังสือส่วนใหญ่ทิ้งไว้ที่ทำงาน ที่บ้านเหลือแค่รวมเรื่องสั้นนักเขียนชาวต่างชาติ สนับสนุนโครงการช่วยผู้ป่วยโรคเอดส์ ระหว่างที่รออ่านนิยายเล่มใหม่ มาพูดถึงสิงห์สาโทกันดีกว่า
สิงห์สาโทเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดังที่สุดของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักดีถึงขนาดคนในวงการน้ำหมึกตั้งฉายาคุณวัฒน์ว่า "สิงห์สาโท" ตามชื่อพระเอกในเรื่อง จิตรกรตกอับที่หลงใหลวินเซนต์ แวนโก๊ะจนสาวคนรักเอือมระอา เมื่อไม่อาจจ่ายค่าหอพักในกรุงเทพได้ สิงห์ออกไปอยู่ต่างจังหวัด และที่นี้เอง กลายเป็นตัวตั้งตัวตี ช่วยเหลือชาวบ้านร่วมขบวนการผลิตน้ำเมาท้องถิ่น และพบรักกับทนายสาว ซึ่งอุทิศชีวิต ใช้กฎหมายช่วยเหลือคนยากคนจน บ้านหัวสิงห์ก็เหมือนกับชนบทที่อื่น ซึ่งก็มีทั้งคนดีและคนเลวปะปน แอบมีกระบวนการมั่วนิ่มเล็กๆ น้อยๆ เมื่อชาวบ้านเข้าใจผิดว่าสิงห์ เป็นร้อยตำรวจโทปลอมตัวมาเปิดโปงกระบวนการโกงกินที่ดินของกำนัน
ใช่แล้วครับ สิงห์สาโทเป็นหนังสือคอมมิดี้ ถ้าใครคิดว่าอ่านเล่มนี้แล้วจะน้ำตาตกในเหมือนอ่านคือรักและหวัง ปรับความเข้าใจเสียใหม่ได้เลย
หนังสือเล่มนี้ตั้งใจสะท้อนสภาพความจริงในวงการสุรา ซึ่งโรงงานใหญ่ๆ และบริษัทนำเข้าลอบบี้รัฐบาลให้ออกกฎหมายอยุติธรรม กีดกันชาวบ้านไม่ให้ผลิตสุราท้องถิ่น ผลคือนักเสพย์ต้องสั่งซื้อเหล้านอกแพงๆ และประเทศชาติเสียดุลการค้า จริงๆ นี่เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติเหมือนกัน เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าคนไทยทานเหล้าหนักแค่ไหน และถ้าเรามีทางเลือกอื่นไม่ต้องเสพย์ของนอก จะช่วยประเทศชาติประหยัดได้มากเพียงใด ขณะเดียวกันบ่วงคล้องคอทางศีลธรรม ทำให้ไม่อาจมีใครออกมาประท้วง รณรงค์เรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง เรื่องเลยเอวังที่สภาพดับเบิลแสตนดาร์ดแบบสบายใจไทยแลนด์ ผมไม่ใช่คนดื่มเหล้า แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าถ้าจะผิดศีลทั้งที อย่างน้อยน่าจะช่วยให้พี่น้องชนบทมีงานมีการทำไปด้วย ก็คงไม่เลวนัก
เมื่อสิงห์มาอยู่ต่างจังหวัด เขาได้เรียนรู้ความหมาย คุณค่าของศิลปะ ไม่ใช่ปาดสี ตีแปรงไปวันๆ สุดท้ายก็โอดโอยว่าทำไมไม่มีใครเข้าใจกู ศิลปะต้องรับใช้ สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ซึ่งสิงห์ก็ได้ใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาออกแบบฉลากเหล้าเถื่อนให้บริษัทตัวเอง ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นักกับประเด็นนี้ แต่ก็ดูเหมาะสมดีกับหนังสือคอมมิดี้น่ารักๆ เล่มหนึ่ง
สิงห์สาโทจบได้อย่างสุขสันต์ ยิ้มเปื้อนหน้า ถามว่าชอบไหม ชอบนะ แต่ความคิดแรกซึ่งผุดขึ้นในหัวคือ ในประเทศไทยไม่มีใครเขียนหนังสือแนวนี้ ได้ดีเท่าคุณดำรงค์ อารีกุล ตัวละครอย่างสิงห์ นก และชาวบ้านคนอื่น ถ้าจับมาอยู่ในหนังสือของคุณดำรงค์ ก็จะดูไม่แปลกหูแปลกตาแต่อย่างไร และไปๆ มาๆ ผลงานล่าสุดของคุณดำรงค์ กระบือบาล ก็ออกคลับคล้ายกับคลากับสิงห์สาโทอยู่ไม่น้อย สิงห์สาโทเข้ารอบรางวัลซีไรต์ปี 2543 ส่วนกระบือบาล และหนังสือเล่มอื่นๆ ของคุณดำรงค์ ไม่เคยได้รับเกียรติประวัติอันนี้
คือรักและหวัง (วัฒน์ วรรลยางกูร)
ตั้งแค่คุณวัฒน์ วางปากกาไปเมื่อหลายปีก่อน ก็เหมือนยุคสิ้นสุดวรรณกรรมชนบทโดยแท้ ไม่มีนักเขียนไทยคนใด (ที่ยังมีชีวิตอยู่) เล่าเรื่องหนังตะลุง การเหวี่ยงแหตกปลา ชนไก่ กัดปลาได้ซาบซึ้ง ถึงใจเท่าคุณวัฒน์ น่าแปลกไหมเล่า ทั้งที่วรรณกรรมส่วนใหญ่ซึ่งวางแผงตามท้องตลาด ก็มักมีฉาก มีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ต่างจังหวัด อะไรเล่าทำให้งานเขียนคุณวัฒน์ เหนือชั้นกว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตเล่มอื่นๆ อย่างแรกเลยคือภาษา วัฒน์ วรรลยางกูรพิสูจน์ว่าบทบรรยายร้อยแก้วภาษาไทยซึ่งสวยงามจนถึงที่สุดนั้นเป็นอย่างไร ใครอ่านตอนเฒ่าเฟี้ยมทอดแห ชักหุ่น แล้วไม่ลืมหายใจได้ก็ให้มันรู้ไป!
คุณวัฒน์คือนักเขียนที่เข้าใจวิถีชีวิต ความขัดแย้ง ของชาวชนบทอย่างแท้จริง ภาพชีวิตชาวบ้านจากปลายปากกาคุณวัฒน์งดงาม ราบเรียบ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความซื่อสัตย์ คือรักและหวัง ไม่ใช่หนังสือที่ชาวบ้านซื่อๆ ถูกกลั่นแกล้งโดยข้าราชการ คนกรุงเทพ ไม่ใช่หนังสือที่ยกย่องชีวิตชาวนา ปอปั้นความยากความจนให้เลอเลิศเกินจริง วิถีชนบทอาจเป็นสิ่งสวยงาม แต่สัจธรรมเหนืออื่นใดคือคนตัวเล็กๆ ไม่อาจหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงในโลก ใครๆ ก็ต้องทำมาหากิน มนุษย์มีกิเลส อยากได้ อยากครอบครอง และที่สำคัญอยากให้คนที่เรารัก ได้รับในสิ่งที่ดีกว่า
คือรักและหวัง เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเฒ่าเฟี้ยม นักเล่นหนังตะลุง ในการประคับประคองมรกดตกทอดรุ่นปู่รุ่นตาซึ่งกำลังสาบสูญในไม่ช้า ขณะเดียวกันก็เน้นไปที่ความสัมพันธ์กับหลานชายผู้กำพร้าพ่อแต่เยาวัย จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงคุณวัฒน์ไม่ได้สวมบทบาทใครให้เป็นผู้ร้ายที่แท้จริง กระทั่งทิดอ้วนซึ่งเป็นต้นเหตุการตายลูกเขยตาเฟี้ยม ก็เหมือนจะได้รับคำชื่นชมกลายๆ ว่า "รู้จักไต่เต้า ทำมาหากิน" จุดจบอันแสนอาภัพของทิดอ้วน ก็ไม่ได้นำมาซึ่งโภคผลใดๆ แก่ชายชรา ผู้ทำได้อย่างมากแค่อโหสิกรรม อนุโมทนาไปตามเรื่อง
ประเด็นหลักของนิยายอยู่ที่ความหวัง และการรับมือกับความผิดหวัง ในทางหนึ่งก็เหมือนเฒ่าเฟี้ยมได้เรียนรู้ว่า ความหวังคือตัวทำให้เกิดความทุกข์ ถ้าคนเราไม่วาดฝัน สร้างวิมานในอากาศไปก่อน ก็คงไม่ต้องประสบวันที่วิมานนั้นพังทลาย ความหวังของตาเฟี้ยมมาในรูปแบบครูสาวแสนสวย เป็นที่รักหลงไหลโดยเด็กๆ ทุกคน กระทั่งชายชราเองก็ตาม ครูสาวปรารถนาดีแก่สองตาหลาน โดยหารู้ไม่ว่าความซื่อ อ่อนต่อโลกของเธอ กลับสร้างบาดแผลลึกในชีวิตบั้นปลายนักเชิดหนังตะลุง
แต่อีกทางหนึ่ง ชีวิตซึ่งไม่มีความหวัง จะอยู่ไปเพื่ออะไร ตอนจบของเรื่อง ตาเฟี้ยมตัดสินใจทำในสิ่งที่แกไม่คาดคิดมาก่อน แม้จะเป็นการทำร้ายตัวเองทางอ้อม แต่ทั้งหมดก็ทำไปด้วยความหวัง เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของหลานชาย นี่กระมังโศกนาฏกรรม อันแสนขบขันของมนุษย์ คนเราเกิดมาเพื่อตั้งความหวัง และรับมือกับผลลัพท์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะทำร้าย หรือสร้างสุข ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องมือช่วยประคับประคองชีวิตให้ผ่านหวัง และผิดหวัง ประหนึ่งเรือน้อยขี่ลูกคลื่น สิ่งนั้นก็คงหนีไม่พ้นความรัก ความผูกพัน การทักถอน้ำใจเอื้ออารีแก่คนใกล้ตัว และรอบข้าง
หมายเหตุ: 1) คือรักและหวัง ได้ชิงซีไรต์ปีเดียวกันกับ ปูนปินทอง ของคุณกฤษณา
2) จริงๆ คุณวัฒน์ก็ยังไม่ถึงกับวางปากกาเสียทีเดียว ยังมีผลงานออกมาเรื่อยๆ แม้ไม่สม่ำเสมอเท่าแต่ก่อน
ตอนนี้ยังไม่ได้เลือกหนังสือเล่มต่อไป เผลอๆ ถ้าพรุ่งนี้ว่างๆ อาจเอาบทวิจารณ์สิงห์สาโทมาแปะ เพราะไหนๆ ก็พูดถึงวัฒน์ วรรลยางกูรทั้งที
D. Lessing's "The Fifth Child"
คริสมาสต์ปีนี้ พระเจ้าประทานของขวัญให้เดวิด และแฮเรียตเป็นลูกคนที่สี่ เด็กทารกชายชื่อว่าพอล ลูค เฮเลน และเจนให้การต้อนรับน้องใหม่เป็นอย่างดี ญาติๆ มาเยี่ยม และพักอาศัยในบ้านหลังใหญ่ของพวกเขา แฮเรียตซึ่งยังเหน็ดเหนื่อยกับการตั้งท้องประกาศกลางงานฉลองว่า เธอและเดวิดตัดสินใจพักสักสาม สี่ปี ก่อนจะมีลูกคนต่อไป คำประกาศนี้สร้างความโล่งใจให้กับญาติๆ ซึ่งไม่มีใครเห็นด้วยตั้งแต่แรกกับแผนการของทั้งคู่ที่จะมีลูกถึงแปดคน หรือมากกว่านั้น
แต่แล้วไม่ถึงขวบปี แฮเรียตก็ตั้งท้องลูกชายคนที่ห้า เบน
ตัวเองเป็นคนอ่านหนังสือมาเยอะ แต่สารภาพเลยว่ามีไม่กี่เล่ม อ่านแล้วจะตึงเครียด ชวนขนลุกขนพองได้เท่าเดอะฟิฟธ์ไชลด์ เบนไม่ใช่ลูกปีศาจ หรือซาตานแบบในภาพยนตร์สยองขวัญ หมอทุกคนยืนยันว่าเขาแค่เป็นเด็กที่เรียนรู้ช้าสักเล็กน้อย กระทั่งคุณครูยังอดชื่นชมความพยายามของเด็กน้อยในชั้นเรียนไม่ได้ กระนั้นสำหรับเดวิด แฮเรียต เด็กๆ และญาติๆ เบนคือสัตว์ประหลาดที่ถูกส่งมาเกิดเพื่อทำลายความสุขทุกชีวิตในบ้านโลเวต เบนอัปลักษณ์ ตาสีเหลืองซีด แข็งแรง
ตัวใหญ่เกินวัย ไม่พูดไม่จา นอกจากออกคำสั่งเป็นครั้งคราว (ประโยคแรกที่เบนพูดได้ไม่ใช่ "พ่อ" หรือ "แม่" แต่เป็น "อยากกินเค้ก") จากครอบครัวแสนสุข ทุกคนในบ้านเริ่มแตกแยก ลูค เฮเลน และเจนหนีไปอยู่กับญาติๆ ส่วนพอล เด็กทารกซึ่งถูกทอดทิ้ง เพราะแฮเรียตมัวแต่ใช้เวลา และพลังงานส่วนใหญ่ในการรับมือเบน กลายเป็นเด็กมีปัญหา เดวิดต้องทำงานตัวเป็นเกลียวเพื่อหาเงินค่าใช้จ่ายภายในบ้าน คู่สามีภรรยาทะเลาะเบาะแว้งบ่อยขึ้น
คำถามที่คนอ่านทุกคนคงอดคิดไม่ได้คือครอบครัวโลเวตทำผิดอะไร เหตุไฉนพระเจ้าถึงได้ส่งเบนลงมาเกิดในบ้านหลังนี้ ตั้งแต่เริ่มเรื่อง เราสัมผัสได้ถึงรังสีประหลาดแผ่ออกมาจากเดวิด และแฮเรียต ทั้งคู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ ขนาดโรงแรมย่อมๆ และถึงญาติๆ จะคัดค้าน แต่สองสามีภรรยาตั้งใจจะมีลูกแปดถึงสิบคน ถึงจะยากเย็น มีปัญหาในบางครั้ง แต่ด้วยความช่วยเหลือของคนรอบข้าง เดวิด และแฮเรียตก็พาชีวิตครอบครัวฟันฝ่าไปได้ กระทั่งหลังจากเบนนำหายนะมาสู่บ้านโลเวต แฮเรียตถึงกับคร่ำครวญออกมา "เพราะเรามีความสุขเกินไป เพราะเราเชื่อมั่นในความสุข พระเจ้าถึงได้ลงโทษ"
ชอบตัวละครแฮเรียตมากๆ เธอเป็นคนเดียวที่ปกป้องเบน ขณะคนอื่นๆ รวมถึงเดวิดวางแผนลักพาตัวเด็กชายไปส่งในสถาบันรับเลี้ยงเด็กทารกผิดปรกติ แฮเรียตไปพาเบนกลับมา ที่น่าสนใจคือถามว่าเธอทำไปด้วยความรักรึ เปล่าเลย หญิงสาวยอมรับว่าเธอเองก็ไม่ได้รักเบน แต่ให้เหตุผลในการกระทำของตัวเองไม่ออก ตั้งแต่แฮเรียตพาเบนกลับเข้าบ้าน เธอถูกมองว่าเป็นคนผิด อาชญากรผู้ให้กำเนิดสัตว์ประหลาด และผู้หญิงเห็นแก่ตัว นำความพินาศมาสู่ครอบครัว ฉากที่ชอบที่สุดคือเมื่อจิตแพทย์ตรวจอาการเด็กชาย สรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า เบนไม่ได้ผิดปรกติตรงไหน แต่แฮเรียตต่างหากที่ดูแลลูกชายไม่ดี หญิงสาวถึงกับกรีดร้องออกมาอย่างคับแค้น
ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมตะวันตก หรือตะวันออก ต่างก็ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันพื้นฐาน และน่าไว้วางใจที่สุด แต่ในเดอะฟิฟธ์ไชลด์ เลสซิ่งเสียดสี แสดงภาพครอบครัวซึ่งอ่อนไหวยวบยาบเพราะปราศจากความรัก ในความเป็นจริงอะไรเล่าจะยืนยันได้ว่าพ่อแม่ทุกคนต้องรักลูก อะไรจะบังคับให้ลูกๆ ทุกคนที่เกิดมาต้องรักพ่อแม่ ถ้าพี่น้องเกลียดกันเอง เราจะทำเช่นไร ถ้าขาดความรักเสีย ทุกอย่างพังทลาย ขณะเดียวกัน ความรักก็เป็นของไม่แน่นอนที่สุดในโลก
อ่านจบแล้วก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า ถ้าแฮเรียตปล่อยให้เบนตายในสถานรับเลี้ยงเด็ก แล้วหันมาทุ่มเทกำลังพยุงชีวิตสามี และลูกๆ อีกสี่คน นั่นจะถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องกว่านี้ไหม
คดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ (ศิริวร แก้วกาญจน์)
และแล้วก็มาถึงเล่มสุดท้ายของซีรีส์ซีไรต์ 2549 พรีวิวล์ล่วงหน้าก่อนนิดหนึ่งคือขณะนี้กำลังอ่านเดอะฟิฟธ์ไชล์ (เด็กคนที่ห้า) ของดอริส เลสซิ่ง เล่มไม่หนามาก คิดว่าคงจบในอีกวันสองวันนี้ เตรียมอ่านบทวิจารณ์ได้เลยครับ
เคยพูดไว้แล้ว คดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ เป็นหนังสือเข้ารอบซีไรต์ที่เราชอบน้อยที่สุด โดยผิวเผินหนังสือทำท่าเหมือนจะเป็นราโชมอน เล่าเรื่องกรณีฆาตกรรมฯ โต๊ะอิหม่ามซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลายมุมมอง หลายตัวละคร ที่ต้องใช้คำว่า "ทำท่า" เพราะจุดด้อยสุดๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ จากตัวละครสิบกว่าตัวที่ผลัดกันมาออกความเห็น แทบทั้งหมดมีความคิดคล้ายๆ กัน แบ่งเป็นสองฝ่ายคร่าวๆ คือชาวบ้านและทางการ ซึ่งก็โทษกันไปโทษกันมา อาจจะต่างดีกรีเท่านั้นว่าโทษมากโทษน้อย อ่านไปได้ครึ่งเล่มก็รู้สึกเหมือนอ่านจบแล้ว เพราะประเด็นที่เหลือก็ซ้ำซาก วนเวียน
ประเด็นที่ว่านี้ก็แสนจะเบาบาง สรุปคือทั้งสองฝ่ายต่างก็ปรารถนาสันติภาพด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีความหวาดระแวงซุกซ่อนอยู่ในจิตใจ เป็นข้อสรุปที่พื้นฐานยังไงพิกล ต่อให้ไม่ต้องหยิบจับหนังสือเล่มนี้ คนอ่านก็น่าจะรู้ตั้งแต่แรกมิใช่หรือว่าปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นทางตีบตัน ที่ไม่ใช่สะสางกันง่ายๆ หรือว่าสังคมไทยปัจจุบันมันสุดโต่งถึงขนาดต้องมีคนออกมาตักเตือนแล้วว่าทุกอย่างมีสองด้านในตัวเองเสมอ ไม่มีสิ่งใดดีพร้อม หรือเลวล้วน
หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างดังกว่าซีรองเล่มอื่นๆ เพราะเคยเป็นเรื่องสั้นซึ่งถูกตีตกจากประกวดพานแว่นฟ้า ด้วยเหตุผลทางการเมือง น่าเสียดาย เพราะถ้าเป็นเรื่องสั้น คดีฆาตกรรมฯ คงเป็นเรื่องสั้นที่น่าสนใจ กะทัดรัดและตรงจุด แต่พอเอามาขยับขยายเป็นเรื่องยาว ก็เหมือนผันน้ำเข้าทุ่ง ปลูกผักบุ้งอุดช่องว่าง (ถึงแม้คนเขียนจะยืนยันว่า เขียนนิยายก่อนเรื่องสั้น คนอ่านอย่างเราก็ยืนยัดหัวเด็ดตีนขาดเหมือนกันว่าไม่เชื้อ ไม่เชื่อ )
หนังสือจบโดยไม่ได้เฉลยว่าใครเป็นต้นเหตุโศกนาฏกรรม ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะในเมื่อวางโครงเรื่องมาจากคดีจริงๆ ถ้าคดีนั้นไขไม่ได้ คนเขียนก็คงไม่กล้าเดาสุ่มว่าเกิดอะไรในกอไผ่บ้าง ในแง่หนึ่งก็น่ายกย่องการวางตัวเป็นกลาง แต่อีกทางหนึ่ง ก็ทำให้คดีฆาตกรรมฯ จบอย่างเบาโหวงยังไงพิกล ตัวละครผ่านเข้าผ่านออก ไม่ได้ต่อเนื้อต่อเรื่องไปไหน อ่านจบเล่มแล้วก็อ่านเลยไป รู้สึกเหมือนไม่ได้อ่านอะไร
เท่าที่ได้ข่าวมา กรรมการที่เป็นนักข่าวชอบหนังสือเล่มนี้มาก ขณะที่กรรมการอาจารย์อักษรก้ำๆ กึ่งๆ ก็เข้าใจได้ว่านักข่าวคงชอบอะไรแบบนี้แหละ หยิบจับสถานการณ์การเมืองมาเขียน แต่อย่าลืมว่าคุณค่างานศิลปะไม่ได้อยู่ผิวเผินเพียงเปลือกนอก ไม่ได้อยู่ตรงหนังสือสะท้อนสังคมหรือไม่ ดีใจที่กรรมการซีไรต์ไม่ได้ทำผิดพลาดแบบกรรมการออสการ์ ซึ่งคิดว่างานศิลปะที่ดีต้องเสพแล้วตีความออกมาเป็นบทเรียนได้เสมอ
เกียวบาวนาจอก (ภาณุมาศ ภูมิถาวร)
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอพูดเรื่องซีไรต์ให้จบๆ ไปก็แล้วกัน ยังเหลืออีกสองเล่มคือ
เกียวบาวนาจอก และคดีฆาตกรรมฯ ขอบอกก่อนว่าเราไม่ชอบทั้งคู่ ดังนั้นถ้าใครเป็นแฟนสองเล่มนี้ แล้วคิดว่าตัวเองใจไม่กว้างพอ อย่าอ่านบทวิจารณ์ต่อไปนี้เลยจะดีกว่า อารมณ์เสียกันเปล่าๆ
เกียวบาวนาจอกเป็นหนังสือที่น่าผิดหวัง และน่าประหลาดใจที่สุดในซีรองทั้งเจ็ดเล่ม น่าประหลาดใจตรงที่ว่า อ่านจบแล้ว มานั่งคิด นอนไตร่ตรอง แขนขาก่ายเกยหน้าผากแล้ว ก็ยังมองไม่ออกว่ามันมีจุดเด่นตรงไหนถึงได้รับเลือกให้ผ่านเข้ารอบ ถามว่าดีไหม ตอบเลยว่าดี แต่สำหรับผู้อ่านอายุต่ำกว่าสิบห้า สิบหกนะ ถ้าใครว่ากะทิฯ เป็นหนังสือเด็ก ลองมาสัมผัสเกียวนาบาจอกดู คุณภาณุมาศเคยมีผลงานชิงรางวัลมาแล้วหลายเล่มในสนามวรรณกรรมเยาวชน เข้าใจว่าแกเคยเขียนหนังสือผู้ใหญ่เหมือนกัน แต่คงไม่ได้ตั้งใจให้เกียวนาบาจอกเป็นหนึ่งในนั้น
เกียวบาวนาจอกว่าด้วยชีวิตเด็กน้อยชาวเวียดนามในภาคอีสาน สมัยช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งต้องเผชิญความกดดันทั้งจากคนไทย และทหารอเมริกาที่มาตั้งค่าย เป็น Introduction to ปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย อ่านเพื่อให้เกิดความรู้คร่าวๆ ว่าคนไทยทั้งประเทศไม่ได้สมัครสมาน สามัคคีกันเหมือนในแบบเรียน ก่อนจะย้ายไปอ่านเล่นเงา หรือคดีฆาตกรรมฯ อีกที หลายบท หลายตอนอ่านแล้วรู้สึกไม่สุดๆ ยังไงไม่ทราบ อาจเพราะสังคมสมัยนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง ทำให้ความขัดแย้งซึ่งถูกนำเสนอในเรื่องดูอ่อนปวกเปียกอย่างเทียบกันไม่ติด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณครูแสนดีพยายามหนีออกนอกหมู่บ้าน ถูกจับตัวไปอยู่ค่ายกักกัน คนอ่านอย่างเราอดคิดไม่ได้ว่า "แค่เนี้ยนะ!" แน่นอนว่าการจำกัดเสรีภาพไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัย แต่เมื่อเทียบกับเล่นเงาที่มีผู้ชายถูกฝังทั้งเป็น หรือเหตุการณ์รุนแรงตามหน้าหนังสือพิมพ์ เกียวบาวนาจอกดูเบบี้ไปถนัดตา
จริงๆ แล้วประเด็นที่หนังสือพยายามนำเสนอเป็นเรื่องน่ายกย่อง ในยุคปัจจุบันที่ชาวไทยเริ่มไถ่ถามกันมากขึ้นถึงอัตลักษณ์ ความเป็นไทยที่แท้จริงว่าอยู่ตรงไหน เราคือลูกหลานชนเผ่าที่อพยพลงมาจากเทือกเขาอัลไต หรือเป็นส่วนผสมของทั้งหมู่ ทั้งมวล ทุกเผ่าพันธุ์ซึ่งอยู่อาศัยแผ่นดินแหลมทองนี้ เกียวบาวนาจอกน่าจะเป็นหนังสือที่นำเสนอความจริงว่า มิใช่เฉพาะภาคใต้เท่านั้นที่เผชิญปัญหาชนกลุ่มน้อย เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกยุค ทุกสมัย ในแทบทุกภาคของประเทศไทย
ขอยืนยันอีกครั้งว่าเกียวบาวนาจอกเป็นหนังสือที่ดี การบรรยายสภาพความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามทำได้อย่างยอดเยี่ยม สมจริงสมจัง เหมาะจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับชั้นมัธยมต้น
A. Patchett's "Bel Canto"
อ่านเบล แคนโต้จบแล้ว ตบมือให้ตัวเองเปาะแปะ
เป็นหนังสือที่อ่านคุ้มค่าทุกตัวอักษรจริงๆ จะมีสักกี่เล่มนะ ที่พออ่านจบ ทำให้เราอุทานกับตัวเองว่า "ถ้ามนุษย์ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ โลกเราจะน่าอยู่สักเพียงใด" ในยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สับสน สงคราม และการประหัตประหารระหว่างคนต่างศาสนา ความเชื่อ เผ่าพันธุ์ เบล แคนโต้ตอบโจทย์กลายๆ ว่าสันติภาพไม่จำเป็นล่องลอยในสายลมเหมือนในเพลงบอบ ดีแลนเสมอไป
หนังสือว่าด้วยกลุ่มผู้ก่อการร้าย บุกเข้าไปในงานเลี้ยง บ้านพักรองประธานาธิบดีประเทศอเมริกาใต้ จับแขกทุกคนเป็นตัวประกัน โดยมีข้อเรียกร้องคือ "ปลดปล่อยมวลชน" แรกๆ ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แขกทุกคนเข้าใจว่าตัวเองคงไม่มีทางรอดชีวิตจากปฏิบัติการนี้
มีคนพูดไว้ว่าการเขียนหนังสือ ทำหนัง วาดรูป หรือแต่งเพลง เพื่อสื่อความเศร้านั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ความสุขนี่สิ ถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะยากยิ่งนัก เบล แคนโต้คือหนึ่งในผลงานไม่กี่เล่ม ที่วาดภาพความสุขได้เกือบสมบูรณ์แบบ ความสุขในเรื่องเบล แคนโต้ คือความสุขอันเนื่องมาจากความซาบซึ้งในงานศิลปะแขนงต่างๆ ในหมู่แขกที่ถูกจับเป็นตัวประกัน หนึ่งในนั้นคือนักร้องโซปราโนซึ่งขึ้นชื่อว่าเสียงดีที่สุดในโลก บทเพลงของเธอ และเสียงเปียโนจากปลายนิ้วนักดนตรีสมัครเล่น (อาชีพจริงๆ ของเขาคือนักธุรกิจ) ค่อยๆ แปรเปลี่ยนความหมดอาลัยตายอยากให้กลายเป็นความหวัง ไม่เฉพาะตัวประกัน แม้แต่ในหมู่ทหารก็อดไม่ได้ที่จะเคลิบเคลิ้มไปกับโอเปร่า ทั้งที่ไม่มีใครฟังภาษาอิตาลีรู้เรื่องสักคน
เบล แคนโต้คือหนังสือที่เขียนขึ้นมาเพื่อยอยศงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี วรรณกรรม ภาพวาด อาหาร กระทั่งหมากรุก มิหนำซ้ำยังรวมไปถึงภาษา นอกจากนักร้องโซปราโนแล้ว ตัวประกันซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนคือล่ามชาวญี่ปุ่น ผู้รู้หลายภาษาจนนับนิ้วไม่หมด กระทั่งหัวหน้าผู้ก่อการร้ายยังอดชื่นชม ยกย่องความชาญฉลาดของเขาไม่ได้ แพรชเชท (ผู้เขียน) ไม่ลืมพูดถึงเสน่ห์ และความสำคัญของการศึกษา ทันทีที่ทหาร และแขกรู้ว่าตัวเองต้องติดอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้เป็นเวลานาน พวกเขาเริ่มหันมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การที่เด็กวัยรุ่นยากจน ถูกสถานการณ์บังคับให้มาเป็นผู้ก่อการร้ายได้มีโอกาสเรียนหมากรุก ภาษา และโอเปร่า และทำท่าว่าจะมีพรสวรรค์ในเรื่องเหล่านี้ เหมือนจะบอกผู้อ่านว่ามนุษย์ ต่อให้ยากดีมีจนก็มีศักยภาพในการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ต่างแต่โอกาส
แพรชเชทแทรกปรัชญาการเมือง ข้อขัดแย้งระหว่างแนวคิดแบบอพอลโล (เทพแห่งกรีก สัญลักษณ์ของความรู้) และไดโอนิซุส (เทพแห่งความรื่นเริง) เหล่าผู้ก่อการร้ายที่แรกสุดบุกเข้ามาเพื่อสานฝันอุดมคติ "ปลดปล่อยมวลชน" ท้ายสุด ก็อดไม่ได้ที่จะติดละครน้ำเน่า ทีวีจอยักษ์ ฟังดนตรีคลาสสิก นอนเอกเขนกบนโซฟา รับประทานอาหาร เสบียงกรังที่โลกภายนอกส่งเข้ามา แพรชเชทเขียนหนังสือเล่มนี้ เหมือนต้องการสื่อกลายๆ ว่า ยุคแห่งอุดมการณ์ได้จบสิ้นลงไปแล้ว ที่โลกวุ่นวายสับสนอย่างทุกวันนี้เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่น และยัดเยียดอุดมคติตัวเองใส่ผู้อื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วโลกนี้จะวิเศษเพียงใด ขอแค่คนเราโยนวาทะ คัมภีร์ ตำรับตำราทิ้ง หันมาอ่านนิยาย ฟังเพลง ชื่นชมงานศิลปะ และเรียนรู้ภาษาต่างๆ เพื่อทลายกำแพงซึ่งแบ่งกั้นแต่ละประเทศ
ถึงไม่บอก คนอ่านก็คงเดาได้หนังสืออย่างเบล แคนโต้ไม่มีทางจบแสนสุข โศกนาฏกรรมในตอนท้ายเหมือนจะย้ำเตือน พาคนอ่านกลับมาอยู่ในโลกแห่งความจริง โลกที่ผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีเหตุมีผล และเข้าใจความงดงามของศิลปะเสมอไป พอจบหน้าสุดท้าย อดน้ำตาซึมนิดๆ ไม่ได้ รู้สึกเหมือนเพิ่งหลับไปหนึ่งตื่น เป็นฝันดีแสนเศร้า ที่เรารู้ว่าไม่มีวันเป็นจริง
ความสุขของกะทิ (งามพรรณ) คนเล่นเงา (จิรภัทร)
รุ่นพี่ที่ผมสนิท และเคารพเป็นคนแนะนำให้ผมอ่านความสุขของกะทิ แกใช้คำพูดว่าเป็น "หนังสือแสนประเสริฐ ที่ประเทศไทยรอคอยมาแสนนาน" โดยเปรียบเทียบด้วยว่านี่คือโต๊ะโตะจังฉบับไทยแลนด์ อ่านจบแล้ว ก็พอเห็นจริงตามที่แกพูด ทั้งโต๊ะโตะจัง และกะทิ เป็นเรื่องราววัยเยาว์ของเด็กผู้หญิง ซึ่งเติบโตในโลกอันโหดร้าย สำหรับโต๊ะโตะจังโลกอันโหดร้ายที่ว่าคือความยากจนช่วงสงครามโลก และสำหรับกะทิ คือสภาพกำพร้าไร้พ่อแม่ แต่แม้โลกภายนอกจะเป็นเช่นไร ความใสซื่อ และการมองโลกในแง่ดีของทั้งคู่ ก็ช่วยให้พวกเธอฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้
แต่สำหรับผมแล้ว ทันทีที่อ่านกะทิจบ นึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งมากกว่า นั่นคือช่างสำราญ ของเดือนวาด พิมวนา สไตล์การเขียนที่ประกอบด้วยบทสั้นๆ เล่าเรื่องกึ่งสารคดี แต่ละบทเสมือนจบในตัว แต่ก็มีเส้นใยบางๆ ลากเรื่องราวต่อไปยังบทถัดไป ผมคิดว่ากะทิ คือหนังสือที่ได้รับการอัพเกรดมาจากช่างสำราญอีกทีหนึ่ง คือเหมือนคุณงามพรรณได้อ่าน ได้ศึกษา เรียนรู้ข้อดี ข้อเสียจากคุณเดือนวาด
ตอนที่ประกาศว่ากะทิได้ซีไรต์ มีคนออกมาคัดค้าน โต้แย้ง ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นหนังสือเด็ก แปลกที่ตอนช่างสำราญได้ ไม่ค่อยมีใครออกมาพูดอะไรแบบนี้เท่าไหร่ หรือเพราะช่างสำราญเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นสลัม ขณะกะทิเป็นหลานสาวชนชั้นกลาง หรือทันทีที่หนังสือบอกเล่าเรื่องราวคนยากคนจน มันจะกลายเป็นหนังสือผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า แต่ถ้าเป็นเรื่องราวชนชั้นกลาง อย่างมากก็เป็นได้แค่วรรณกรรมเยาวชน
ความรู้สึกของผมที่รู้ว่ากะทิได้ซีไรต์ ไม่ถึงกับยินดี (เพราะมีอีกสามเล่มที่ชอบมากกว่า) แต่ก็ไม่ผิดหวัง รู้สึกว่ามีซีไรต์ที่น่าผิดหวังกว่ากะทิเยอะ (อมตะเอย ความน่าจะเป็นเอย หรือกระทั่งบางเล่มที่ได้ชิงปีนี้ ) ขณะเดียวกันผมก็ไม่รู้สึกถึงขนาดว่ากะทิเป็นก้าวใหม่ของวรรณกรรมไทย เนื้อเรื่องธรรมดาๆ ถ้าใครคุ้นเคย อ่านหนังสือมาเยอะหน่อย พอจะเดาตอนต้น ตอนจบได้ไม่ยาก อารมณ์ที่กะทิขาย ก็เป็นความเศร้า ความสัมพันธ์แบบดาดดื่น สรุปสั้นๆ แล้วกัน ผมไม่ได้รังเกียจหนังสือเล่มนี้ ไม่รู้สึกต่อต้านที่มันได้ซีไรต์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่ามันมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ
พูดถึงคนเล่นเงา (หรือหนังสือมันชื่อเล่นเงาเฉยๆ หว่า ) หนังสือเล่มนี้ชวนให้นึกถึงคำพังเพยว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ อันนี้คือกว่าเนื้อเรื่องจะเริ่มน่าสนใจ ก็มาถึงปกหลังเสียแล้ว ผมคิดว่าคุณจิรภัทรจบเรื่องราว ความขัดแย้งของผู้คนในหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างรวบรัด ตัดความเกินไปหน่อย หลายประเด็นน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างลูกศิษย์ กับครูใหญ่ นายอำเภอ ตำรวจ และฝาแฝดสาวสวย แต่ทันทีที่เรื่องเริ่มจะเข้มข้น หนังสือก็จบเอาเสียดื้อๆ ปล่อยให้คนอ่านอารมณ์ค้างไปหลายชั่วโมง
จุดขายของเล่นเงาคือการใช้ตัวหนังตะลุง ไอ้เท่ง มาเป็นสัญลักษณ์แทนความมืดในใจคน มีฉากที่ไอ้เท่งเจรจาวิสาสะกับผู้เฒ่าผู้แก่ ตัวละครตัวนั้นตัวนี้ แต่เอาเข้าจริง ก็เป็นแค่ gimmick อย่างหนึ่ง วิธีการใช้สัญลักษณ์แบบนี้ถ้าอยู่ในเรื่องสั้นคงน่าสนใจ แต่พอเป็นนิยาย อ่านไปได้ร้อยกว่าหน้า ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ ชาชินเสียแล้ว การที่คนเขียนไม่สร้างสัญลักษณ์อะไรใหม่ๆ หรือไม่ยอมผูกไอ้เท่งเข้ากับเนื้อเรื่องหลัก กลายเป็นความผิดพลาดที่ไม่อาจมองข้ามได้
น่าเสียดายคือ คุณจิรภัทรไม่แม้แต่จะพยายามถ่ายทอดความโรแมนติก ความงดงามของวัฒนธรรมหนังตะลุง อาจเพราะแกคิดว่ามันเฝือแล้วหรืออย่างไร (แต่ครั้งสุดท้ายที่ผมอ่านนิยายหนังตะลุงก็ของคุณวัฒน์ ซึ่งนั่นก็หลายปีดีแดดักแล้ว) ไปๆ มาๆ ไอ้เท่งเลยกลายเป็นแค่ส่วนเกินของเรื่อง เช่นเดียวกับอารมณ์ทางเพศวิตถารของฝาแฝดผู้พี่ ตอนที่คุณจิรภัทรเล่าขึ้นมา ก็ดูน่าสนใจดีหรอก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้พัฒนงพัฒนาไปไหน ปล่อยให้จบไปพร้อมกับประเด็นอื่นๆ ยอมรับว่าระหว่างอ่านก็สนุกดี แต่อ่านจบแล้วกลับงงๆ เหมือนคนเขียน แกเขียนไม่จบยังไงไม่ทราบ
ข่าวดีคืออ่านเบลแคนโต้ใกล้จบแล้ว คิดว่าคงได้มาแปะความคิดเห็นในอีกวันสองวันนี้
ลูกสาวฤษี (ปริทรรศน์ หุตางกูร)
เช่นเดียวกับผลงานเล่มอื่นๆ ที่ได้ชิงซีไรต์ปีนี้ นอกจากสามเล่มที่เรายังไม่ได้อ่าน ทุกเล่มเราชิงอ่านมาล่วงหน้าหมดแล้ว ก่อนจะประกาศผลรางวัลเสียอีก (จะได้ไม่ถูกใครค่อนขอดว่าตามกระแส ) อ๋อ เว้นไว้เล่มหนึ่งคือเกียวนาบาจอก ซึ่งเพิ่งได้อ่านทีหลัง ไว้จะพูดถึงลำดับถัดไป
ลูกสาวฤษีเป็นผลงานชิงซีไรต์ปีนี้ที่แหกคอกที่สุด จริงๆ ทินกร หุตางกูลก็ไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่อะไร เคยได้เป็นซีรองมาแล้วจากแม่มดบนตึก เมื่อประมาณห้าหกปีก่อน นอกจากนี้ยังมีผลงานรวมเรื่องสั้นเซอร์แตกอีกชิ้นคือโศกลดิจิตัล แต่ถ้าคิดว่าลูกสาวฤษีเป็นผลงานแอบสแตรกล่ะก็คุณเข้าใจผิดแล้ว ลูกสาวฤษีเป็นเรื่องชวนหัวมั่วนิ่มของคนขับสามล้อ ซึ่งเนื่องมาจากสภาพหากินฝืดเคือง เลยเปลี่ยนอาชีพมาเป็นฤษีแทน ตะแกนุ่งผ้าลายเสือดาว แล้วปฏิญาณตนว่าจะไม่พูดไม่จากับใคร จนกระทั่งคืนพระจันทร์เต็มดวงถึงเอ่ยธรรมมั่วออกมาครั้งหนึ่ง (ตาคนขับสามล้อ ได้ไอเดียมาจากหนังสือเรื่องครึ่งทางชีวิต ที่เจ้าหนุ่มคนหนึ่งทิ้งไว้ให้แทนค่าโดยสาร) ในเวลาต่อมาการกระทำมั่วนิ่มหลอกลวงชาวบ้านก็ค่อยๆ แทรกความหมายใหม่ และในที่สุดจากเรื่องชวนหัวเฮฮา ก็กลายเป็นหนังสือเสียดสีสังคม การเมือง ศาสนาชั้นดีเล่มหนึ่งทีเดียว
ประเด็นที่ชอบมากๆ ในลูกสาวฤษีคือบทบาทที่ขัดแย้งกันของวัด ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาและเผยแพร่ธรรมมะ และในฐานะที่เป็นแหล่งวัฒนธรรม ลูกสาวเจ้าปัญญาของฤษีในเรื่อง เคยถามพ่อว่าทำไมพระถึงไปอาศัยอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวเล่า ช่างเป็นคำถามแสนซื่อซึ่งชวนให้คนอ่านขบคิดเสียนี่กระไร จริงๆ ตั้งแต่อดีตบทบาทของวัด ก็ไม่ใช่แค่ที่ที่ให้ภิกษุสงฆ์ไปอยู่ แต่ยังรวมไปถึงเป็นพิพิทธภัณฑ์เก็บรักษางานศิลปะ โรงเรียน ศูนย์รวมจิตใจ บางครั้งก็เป็นกระทั้งสภาย่อยๆ และแหล่งจัดงานบันเทิงประจำหมู่บ้าน เพิ่งมาระยะหลังนี่แหละ ที่แนวคิดแบบแยกโบสถ์ แยกเมืองเผยแพร่เข้ามา คนไทยถึงได้เริ่มกระแดะ รู้สึกว่าในวัดต้องมีแต่ต้นไม้ใบหญ้า สะอาดเอี่ยม ไม่ควรจัดงงจัดงาน และห้ามไม่ให้คนนอกเข้ามายุ่มย่าม ยกเว้นเวลาทำบุญ ถ้าคิดแบบนี้กันหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่รู้เมื่อไหร่เหมือนกันเขาจะไปขุดเจดีย์วัดอรุณ หรือแอบยกหลวงพ่อนอนวัดโพธิ ไปตั้งในพิพิทธภัณฑ์แห่งชาติให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย
อีกจุดที่ชอบมาก คือตัวละครหัวหน้าหน่วยประท้วงฤษี ซึ่งปากพูดปาวๆ ว่าทำเพื่อปกปักรักษาพุทธศาสนา แต่เบื้องหลังก็เคยเป็นนายหน้าจำหน่าย ถ่ายทำวีดีโอโป๊มาก่อน ที่มาประท้วงก็เพราะจริงๆ มีผลประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่น พวกปลุกระดมมวลชนที่ชอบแอบอ้างเบื้องสูง มีเบื้องลึก เบื้องหลังแบบนี้ อ่านแล้วอดคิดถึงใครบางคนไม่ได้
ภาษาที่ใช้เขียนลูกสาวฤษีเป็นภาษาง่ายๆ เทียบกับหนังสือชิงซีไรต์เล่มอื่นๆ ก็ไม่ได้สละสลวยอะไรเป็นพิเศษ ชวนให้นึกถึงเรื่องสั้นขายหัวเราะด้วยซ้ำ รู้สึกได้เลยว่าทินกร ใช้เทคนิกการเล่าเรื่องแบบคุณดำรงค์ อารีกุล นักเขียนเสียดสีสังคม ชวนหัวอีกคนซึ่งถือเป็นสุดยอดที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก
ร่างพระร่วง (เทพศิริ) กลางทะเลลึก (ประชาคม)
อืม...คงใช้เวลาพักใหญ่จริงๆ ด้วยกว่าจะอ่านเบลแคนโต้จบ ระหว่างนี้ขอพูดเรื่องหนังสือที่ได้ชิงซีไรต์ปี 2549 ดีกว่า มีด้วยกันทั้งหมด 10 เล่ม อ่านไปแล้ว 7 คือทุกเล่มยกเว้นนอน เขียนฝันด้วยชีวิต และเด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์
ให้เรียงลำดับความชอบดังนี้ เล่มที่ถือว่าชอบเลยล่ะได้แก่ร่างพระร่วง กลางทะเลลึก และลูกสาวฤษี เล่มแบบกลางๆ ไม่ถึงกับชอบ หรือต่อต้านคือความสุขของกะทิ และเล่นเงา ส่วนเล่มที่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่คือเกียวนาบาจอก และคดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ
พูดตั้งแต่เล่มที่ชอบดีกว่า ชอบที่สุดของปีนี้คือร่างพระร่วง ว่าด้วยเรื่องของชายหนุ่มชื่อดอน (ถ้าจำไม่ผิดนะ) อาจารย์ดอนเคยบวชเป็นพระ สึกแล้ว และตอนนี้เป็นนักเล่นพระเครื่อง/ครูคาถาอาคม ฝ่ายการตลาดมติชนโปรยปกหนังสือเล่มนี้ว่า "ระลึก 100 ปีท่านพุทธทาส" แต่จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับท่านพุทธทาสน้อยมาก ปรัชญาหลายอย่างที่อาจารย์เทพสิริ (ผู้เขียน) ใส่ลงไปในเรื่องแทบจะเป็นปฏิภาคกับความคิดท่านพุทธทาสด้วยซ้ำ ตัวท่านพุทธทาสเองก็ปรากฏในหนังสือหลายครั้ง และมักถูกอาจารย์ดอนมองอย่างสงสัย เนื่องจากอาจารย์ดอนเขียนและอ่านหนังสือไม่เป็น จึงแอบมีปม และอคติกับพระนักคิด นักปรัชญาท่านนั้น
แต่เสน่ห์ของร่างพระร่วงก็อยู่ตรงนี้เอง ร่างพระร่วงไม่ใช่หนังสือ "เด็กดี" แบบที่ตัวเอกกระทำการทุกอย่างถูกต้องตามบทเรียน ข้อคิด ความเห็นหลายอย่างก้ำกึ่งอยู่ระหว่างพุทธศาสนาแบบคตินิยม และแบบไสยศาสตร์ ค่อนข้างหนักไปทางอย่างหลังด้วยซ้ำ (แม้ว่าตอนจบอาจารย์เทพสิระจะกลับเรื่อง ให้กลายเป็นว่าอาจารย์ดอนได้เรียนรู้ความไร้สาระของวัตถุก็ตาม)
หนังสือเต็มไปด้วย รายละเอียด และเกร็ดชวนรู้แสนสนุกหลายประการเกี่ยวกับพระเครื่อง เวทมนต์คาถา (แบบพุทธผสมพราหมณ์) และความเชื่อท้องถิ่น ซึ่งคงมีแต่คนรุ่นอาจารย์เทพสิริเท่านั้นจะเขียนอะไรอย่างนี้ได้ คล้ายๆ กับบึงหญ้าป่าใหญ่ อ่านแล้วเหมือนได้สัมผัสความโรแมนติกของชีวิตสมัยก่อน ซึ่งยังมีภูตผี สิ่งลี้ลับซ่อนอยู่ในต้นไม้ กอหญ้า และบ่อน้ำ
ข้อเสียของร่างพระร่วงคือมันยาวไปหน่อย ภาษาก็ค่อนข้างอ่านยาก เพราะอาจารย์เทพสิริตั้งใจให้เป็นกึ่งร่าย มีสัมผัสคล้องจองแทบทุกวรรค เพราะก็เพราะอยู่หรอก แต่อ่านจับใจความโคตรลำบากเลย
การที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ซีไรต์ รู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะหนังสือยาวห้าร้อยหน้าแบบนี้คงมีคนไทยไม่สักกี่คนหรอกจะหยิบอ่าน ทั้งที่มันเป็นหนังสือดี เสียดายแทนอาจารย์ เทพสิริ และสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งคิดว่าคงพิมพ์ร่างพระร่วงออกมาได้ไม่เกินหนึ่งครั้ง
เล่มที่สองที่ชอบก็เป็นของมติชนเหมือนกัน กลางทะเลลึก ปีนี้พี่ประชาคมได้ชิงสองเล่ม ยังไม่ได้อ่านอีกเล่มหนึ่ง ชื่นชอบงานเขียนของแกมาตลอด และกลางทะเลลึกนี้ก็ไม่ผิดหวังจริงๆ
ได้มีโอกาสคุยกับกรรมการท่านหนึ่ง แกพูดถึงกลางทะเลลึก ซึ่งกลายเป็นว่ามีกรรมการหลายคนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าแค่อ่านเรื่องย่อ ก็เหมือนจะเดาตอนจบได้แล้ว เรื่องของคนเรือกลุ่มหนึ่ง พบขุมทองต้องสาบกลางทะเล และสุดท้ายก็เผชิญกับโศกนาฏกรรม ที่มาพร้อมกับคำสาบนั้น เรื่องแบบนี้เดาได้ไม่ยากว่าสุดท้าย ส่วนใหญ่ต้องตายกันหมด ทยอยกันตายด้วยวิธีต่างๆ นานา และก็คงมีไม่กี่รายที่จะโชคดี ได้กอดขุมทองกลับบ้าน
กระนั้นกลางทะเลลึกก็ไม่ถึงกับไร้ชั้นเชิงเสียทีเดียว ยอมรับว่าตอนอ่านรายชื่อตัวละครแรกๆ ก็เดาๆ บทบาทของเขาอยู่เหมือนกัน ไอ้นี่สักเต็มตัวเลย มึงเลวแน่ๆ ท่าทางกระจ๋องกระแจ๋งแบบนี้ตายก่อน ส่วนหมอนี้ท่าทางจะเป็นพระเอกแสนดีให้คนอ่านลุ้นทั้งเรื่อง สุดท้ายก็สละชีวิตเพื่อปกป้องคนอื่นอะไรแบบนั้น
กลายเป็นว่าทุกอย่างเราเดาผิดหมด!!! ชั้นเชิงของพี่ประชาคมในการผูกเรื่องน่าสนใจมาก คือเป็นหายนะที่ไม่ได้เกิดจากรากหญ้า ลิ่วล้อ คนงานกงสีซึ่งเหมือนจะเต็มไปด้วยความโลภ เข่นฆ่า แย่งชิงทรัพย์สินอย่างที่คาดไว้ กลายเป็นว่าพวกชนชั้นผู้นำในเรื่อง ไต้ก๋ง นายท้าย ช่างเครื่องต่างหากที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน จนเกิดเหตุขึ้นมา
ตรงนี้เหมือนจะสะท้อนสภาพสังคมโดยรวมยังไงไม่รู้ ว่าการที่ประเทศชาติจะอยู่รอดไม่รอด หลายครั้งมันขึ้นอยู่กับผู้นำ มากกว่าคนชั้นล่าง คนเรายิ่งอยู่สูง ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย (นี่ จบอย่างมีสาระ )
H. Hesse's "Damien"
วันนี้เพิ่งอ่านเดเมียนจบ เป็นหนังสือเล่มที่ 8 ของเฮสเสที่เราอ่าน
ความชอบอยู่ระดับกลางๆ ไปถึงล่างๆ คือชอบมากกว่าหนังสือโนเนมเล่มอื่น แต่ไม่เท่าผลงานชิ้นเอกอย่างสิทธัตถะ หรือสเตปเฟนวูล์ฟ เดเมียนบอกเล่าเรื่องราววัยหนุ่มของเอมิล ซินแคล ผู้แสวงหาสัจธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ เดเมียนคือเพื่อนวัยเด็กของซินแคล ซึ่งโผล่เข้าออกชีวิตอีกฝ่าย และมีบทบาทในฐานะอาจารย์
ลักษณะเรื่องตรงไปตรงมาไม่มีอะไรซับซ้อน ชีวิตของซินแคลก็ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก สัจธรรมหลายอย่างก็ดูจะผ่านเข้ามาง่ายๆ เช่นว่า สมัยเรียนหนังสือก็ได้จดหมายของเดเมียนเป็นตัวจุดประกายความคิด ต่อมาก็ได้พบกับนักออร์แกน ซึ่งกลายมาเป็นครูปรัชญาคนที่สอง ก่อนจะเจอกับอีวา มารดาของเดเมียนในตอนท้ายๆ เล่ม
ดังนั้นจุดเด่นของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ แต่อยู่ที่ปรัชญามากกว่า ใครที่ชอบเรื่องราวโรแมนติก การแสวงหาของวัยรุ่น คงจะสนุกไปความคิดในเรื่อง
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเรื่องแนวนี้เท่าไหร่ รู้สึกว่ามันเชย ยุโรปในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ผู้คนเริ่มสงสัยในจริยธรรม ความดีงามแบบที่โบสถ์สั่งสอน ก็เลยออกมาแสวงหาแนวทาง และปรัชญาของตัวเอง ในฐานะที่เป็นคนปลายศตวรรษที่ 20 อดถามไม่ได้ว่า "แล้วไง" ปรัชญา แนวคิด ต่างๆ นานาที่เคยเสาะแสวงหากัน ตอนนี้ไปอยู่เสียที่ไหน ส่วนตัวเราไม่คิดว่าการแสวงหา มันจะเป็นเรื่องสูงส่งไปกว่าการตั้งใจทำงาน หาเงิน เลี้ยงครอบครัว สร้างเนื้อสร้างตัวแบบคนสมัยนี้ตรงไหน
เฮสเสต่อต้านสงครามครั้งที่ 1 เขาให้เหตุผลว่าปรัชญาชาตินิยมที่นำพาหนุ่มสาวชาวเยอรมันสู่สงคราม ไม่ใช่สัจธรรมที่แท้จริง หากเป็นเพียงพฤติกรรมหมู่แบบหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นศิษย์กุนเดระ เราขอบอกเลยว่านั่นแหละ คือผลลัพธ์แห่งการแสวงหา ปรัชญาต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นมา สุดท้ายก็ลงเอยที่ลัทธิชาตินิยม สงครามโลกทั้งสองครั้ง ลัทธิคอมมิวนิสต์ สงครามเย็น และความโหดร้ายต่างๆ นานา ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นผลพวง ของการหลงใหลในพลังของวัยหนุ่มสาวหรอกหรือ
แปลกที่เราไม่ได้รู้สึกต่อต้านอะไรขนาดนี้ ตอนที่อ่านสิทธัตถะ อาจเพราะปรัชญาในแบบสิทธัตถะเป็นปรัชญาอิงพุธ กึ่งเซน ซ้ำยังเป็นความรู้ที่เจ้าตัวใช้เวลาทั้งชีวิตเสาะหา ในขณะที่ทั้งซินแคล และเดเมียน ตอนจบเรื่องก็เป็นแค่คนหนุ่มอายุไม่เกิน 25 เราอดสงสัยไม่ได้ว่า คนแบบนี้จะเข้าใจโลกอะไรนักหนาเชียว
ให้เรียงลำดับหนังสือของเฮสเสตามความชอบ จากชอบมากไปน้อยได้ดังนี้
นาซิสซัส และโกลมุน
สเตปเฟนวูล์ฟ
สิทธัตถะ
คนูลป์
เกอร์ทรูด
เดเมียน
ใต้กงล้อ
รอสฮัน
ตอนนี้กำลังอ่านเบลแคนโต้ คงใช้เวลาอีกเกือบๆ อาทิตย์กว่าจะจบ ระหว่างนี้อาจอัพเดทความเห็นตัวเองเรื่องหนังสือชิงซีไรต์ปีนี้ก็แล้วกัน ถ้ามีเวลานะครับ
อีกแล้วครับท่าน!
หลังจากนอนไม่หลับอีกคืน เราก็ไป sign-up web blog จนได้ หนที่เท่าไหร่แล้วนี่ แล้วบลอคใหม่นี้ฉันจะเขียนได้สักกี่น้ำ (วะ) ยังไงก็จะลองพยายามดูแล้วกัน ใครแวะเข้ามาอ่านเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
บลอคนี้อยู่ใต้หัวข้อ "นิยาย" แต่ไม่ได้จะเขียนนิยงนิยายอะไรกับเขาหรอก คงเป็นคอมเมนท์ถึงหนังสือที่เราอ่านช่วงนี้มากกว่า คิดมานานแล้วว่าอยากมีบลอค หรือเวปไซต์อะไรสักอย่างไว้เก็บความคิดเรื่องหนังสือ หรือภาพยนตร์ที่ได้เสพ
แต่มองกลับกัน งานตูจริงๆ ก็คือเขียนหนังสือ เขียนวิจารณ์ เขียนบทความอยู่แล้วนี่หว่า แล้วจะมาทำบลอคหาพระแสงของ้าวอะไร สู้เอาเวลาไปปั่นต้นฉบับให้เสร็จไปไม่ดีกว่ารึ(วะ)
เอาเถอะ ไหนๆ ก็ทำออกมาแล้ว ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยแล้วกันครับ
บลอคนี้อยู่ใต้หัวข้อ "นิยาย" แต่ไม่ได้จะเขียนนิยงนิยายอะไรกับเขาหรอก คงเป็นคอมเมนท์ถึงหนังสือที่เราอ่านช่วงนี้มากกว่า คิดมานานแล้วว่าอยากมีบลอค หรือเวปไซต์อะไรสักอย่างไว้เก็บความคิดเรื่องหนังสือ หรือภาพยนตร์ที่ได้เสพ
แต่มองกลับกัน งานตูจริงๆ ก็คือเขียนหนังสือ เขียนวิจารณ์ เขียนบทความอยู่แล้วนี่หว่า แล้วจะมาทำบลอคหาพระแสงของ้าวอะไร สู้เอาเวลาไปปั่นต้นฉบับให้เสร็จไปไม่ดีกว่ารึ(วะ)
เอาเถอะ ไหนๆ ก็ทำออกมาแล้ว ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยแล้วกันครับ
Subscribe to:
Posts (Atom)