R. Musil's "The Man wihtout Qualities"


(หมายเหตุ: The Man without Qualities เป็นมหากาพย์สามภาคเขียนไม่จบของโรแบร์ต มูซิล บลอคนี้ต่อเนื่องมาจากการอ่านเฉพาะภาคหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจ แต่ทำไมไม่รู้ ไอ้เล่มที่เราซื้อมา มันมีเฉพาะภาคแรก แล้วก็ไม่ยอมเขียนบอกบนหน้าปกเสียด้วยสิ)

ผู้ที่ต้องการตามล่าหาความจริง เขาจะเป็นนักวิชาการ ผู้ที่ต้องการเล่นสนุกกับอัตถวิสัย (subjectivity) ของตัวเอง เขาจะกลายเป็นนักเขียน


แล้วคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ละ เขาจะกลายเป็นอะไร อูลริช ตัวเอกของ The Man without Qualities จัดอยู่ในคนจำพวกนี้ แน่นอนเช่นเดียวกับมูซิล รวมไปถึงมิลาน กุนเดระด้วย ถ้าจำไม่ผิด เราได้ยินชื่อนิยายเล่มนี้เป็นครั้งแรกจากบทความของกุนเดระนั่นเอง ซึ่งก็ไม่แปลกที่กุนเดระจะชอบนิยายเล่มนี้ ทั้งกุนเดระและมูซิลจัดว่าเป็นคนประเภทเดียวกันคือนักเขียนบทความ (essayist) The Man without Qualities เหมือนกับรวมบทความขนาดมหึหาที่เอาความคิดหลากหลายกระแสมาตบโต้ตีกัน

หน้าปกหลังปกนิยายมีการเปรียบเทียบระหว่างพรูสต์และมูซิล (ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมกับพรูสต์เท่าไหร่) สำหรับเรา ถ้า In Search of Lost Time เอามาใช้อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบนิยายฝรั่งเศส The Man without Qualities ก็เอามาใช้อธิบายได้เช่นกันว่าทำไมเราถึงชอบนิยายเยอรมัน และพวกตระกูลยุโรปตะวันออก (มูซิลจริงๆ แล้วเป็นคนออสเตรียเชื้อสายเชค) นิยายแห่งความคิด (the novel of idea) ที่ไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง ไม่ต้องมีตัวละคร และที่สำคัญต้องไม่มีฉากเยิ่นเย้อนี่แหละเขาทางเรานัก

(ประเด็นนี้น่าถกเถียงดีเหมือนกัน การที่เราชอบนิยายโต้งๆ แต่เบื่อหน่ายนิยายที่พยายามพูดอะไรอ้อมๆ สื่อสารผ่านการบรรยายฉาก เหตุการณ์ และตัวละคร แสดงให้เห็นถึงความตื้นเขินในรสนิยมการอ่านของเราหรือเปล่า อาจจะก็ได้ แต่เราก็สงสัยยิ่งนัก บางความคิดที่ออกมาจากปลายปากกาของมูซิล ถ้าให้พรูสต์ ฟลาวแบร์ตมาช่วยกันคิด "เหตุการณ์" ใส่เข้าไป มันจะต้องอาศัยนิยายกี่บท กี่เล่ม ที่สำคัญคือการกระแทกกันของปรัชญา โดยตัวมันเอง ก็เป็น "เหตุการณ์" อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถตีความลึกลงไปได้อีกขั้น)

กลับมาที่นิยายแห่งความคิด มูซิลเขียนไว้ใน The Man without Qualities ตอนหนึ่งว่า ความเลิศไม่เลิศของไอเดียหนึ่งๆ ดูได้จากว่า ถ้าเราไม่รู้สึกว่าอีกไอเดียที่ตรงกันข้ามกับไอเดียนั้นโดยสิ้นเชิงมันก็จริงเหมือนกัน ก็แสดงว่าไอเดียแรกนั้นยังไม่เลิศเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้หลากหลายความคิดใน The Man without Qualities ถึงได้ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด บางทีก็เหมือนมูซิลโปรวิทยาศาสตร์ และเย้ยหยันคนที่ใช้หัวใจและสัญชาติญาณ แต่บางบทก็เหมือนมูซิลแย้งตัวเองในเรื่องเดิมเสียอย่างนั้น

แต่ถ้าจะมีความคิดหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดเล่่ม และน่าจะถือเป็นธีมหลักของนิยายได้ก็คือการคร่ำครวญหายุคแห่งวีรบุรุษ โลกสมัยใหม่ (เมื่อร้อยปีที่แล้ว!) เป็นโลกที่ไม่อาจสร้างสรรค์วีรบุรุษตามความคิดของนิทเช่ได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากทุกการกระทำของปัจเจกไม่ได้มีความหมายด้วยตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและการให้ความหมายของคนอื่นรอบข้าง เกอเธอร์และบีโธเฟนอาจจะเป็นประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ด้วยตัวของพวกเขา แต่ถ้าไม่มีรางวัลโนเบล เราจะมีกุนเธอร์ กลาสหรือเปล่า ถ้าไม่มีแฟนๆ เราจะมีไมเคิล แจคสันได้ไหม

เราสนุกสนานกับการอ่าน The Man without Qualities มากพอควร (ทั้งๆ ที่มันเขียนไม่จบ และหลายฉากก็ค่อนข้างน่าเบื่อ) มันมีนัยยะแสบๆ คันๆ เกี่ยวกับการเมืองและการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมถึงลัทธิชาตินิยม เป็นนิยายที่เหมาะกับการอ่านในบรรยากาศบ้านเมืองเราขณะนี้ไม่น้อย

No comments: