S. J. Gould's "Ever Since Darwin"

Ever Since Darwin ไม่ได้พูดถึงเฉพาะเนื้อหาเชิงชีววิทยา หรือวิวัฒนาการศาสตร์เท่านั้น แต่ในช่วงท้ายๆ กูลแตะประเด็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั่วไปด้วย สารัตถะของมันคือวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่โดดๆ โดยปราศจากอคติทางการเมือง หรือสังคม นักวิทยาศาสตร์สองคนสามารถหยิบข้อมูลขึ้นมาอ่าน และหาข้อสรุปที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากข้อมูลชุดเดียวกันได้

ตัวอย่างเช่น ในยุคหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงคือสภาพของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่โตเต็มวัย (ตัวอ่อนของมนุษย์มีส่วนที่คล้ายคลึงกับเหงือกของปลา) นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เอาข้อมูลลักษณะทางกายภาพระหว่างคนขาวและคนดำมาเปรียบเทียบกันและสรุปว่า ผู้ใหญ่คนผิวดำคล้ายคลึงกับเด็กทารกคนขาว ดังนั้นคนขาวจึงเป็นอีกขั้นของวิวัฒนาการจากคนผิวดำ

กระนั้นไม่กี่ปีต่อมา ทฤษฎีตัวนี้ก็ถูกอีกทฤษฎีที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเบียดทิ้งไป นั่นคือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่การเจริญเติบโตถูกระงับเอาไว้ (มนุษย์ที่โตเต็มวัยจึงมีลักษณะทางกายภาพหลายอย่างคล้ายคลึงกับลิง) เมื่อนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ดูข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างคนขาวและคนดำ ก็กลับได้ข้อสรุปเดียวกันอีกว่า ผู้ใหญ่คนผิวขาวคล้ายคลึงกับเด็กทารกผิวดำ ดังนั้นคนขาวจึงมีวิวัฒนาการสูงกว่า!

กูลไม่ได้อ้างวาทะอมตะของไอนสไตน์ที่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" แต่อ่านจากสิ่งที่แกเขียน ก็พอเดาได้ว่า ถ้าให้กูลตีความคำพูดนี้ คงออกมาทำนอง วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ก้อนอิฐแห่งความรู้แต่ละก้อน นำมาเรียงต่อกันเป็นมหาวิหาร ขนบธรรมเนียม การเมือง และสภาพสังคม ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์อ่านข้อมูลด้วยสายตาแบบหนึ่ง และพยายามยัดเยียดความจริงทั้งหมดให้สอดคล้องกับ "อคติ" หรือ "ทฤษฎี" (นึกถึงคำพูดของเฮอคู ปัวโร "สมมติฐาน ให้สวยหรูแค่ไหน แต่ถ้าอธิบายความจริงไม่ได้แม้เพียงข้อเดียวก็ต้องรื้อทิ้งใหม่หมด"

ผู้ที่มีจินตนาการสูงส่ง คือผู้สามารถคิดนอกกรอบ มองหา "ทฤษฎี" ใหม่ๆ ที่แม้ไม่น่าเชื่อถือสักแค่ไหน ก็อาจกลายเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็ได้ (เช่นเดียวกับคำพูดของเชอร์ลอค โฮมส์ "ถ้าตัดคำอธิบายที่เป็นเท็จออกไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะไม่น่าเชื่อขนาดไหน ก็ย่อมเป็นความจริง")

ขึ้นต้นเป็นวิทยาศาสตร์ ไหงลงท้ายเป็นนักสืบไปได้นี่!

G. B. Shaw's "John Bull's Other Island"

ระหว่างที่เขียน John Bull's Other Island ชอว์ผลัดกันสวมหมวกสองใบ คือหมวกชาวไอริช และหมวกนักสังคมนิยม (อาจจะมีหมวก "ชายรักชาย" แทรกเข้ามาด้วย) เราชอบหมวกใบแรกมากกว่าใบหลังมาก

ตอนที่พูดถึงบทละครของโอเคซี เคยกล่าวแล้วว่าประเทศไอร์แลนด์นี้มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับเมืองไทย เป็นประเทศที่ผู้คนหาความสุขกันด้วยการพูด ซุบซิบนินทา ปราศรัย วิพากษ์วิจารณ์ อัตราส่วนการอ่านออกเขียนได้ต่ำ แต่ทุกคนกลับเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตัวเอง คนไอร์แลนด์รักชาติสุด และวิธีการแสดงออกถึงการรักชาติที่ดีที่สุดคือการปาฐกถาปลุกใจ หรือไม่ก็ครวญคร่ำพร่ำเพ้อ

เราชอบช่วงแรกของบทละครมาก มันเต็มไปด้วยการค้นหา ตั้งคำถามว่า "ชาวไอริชตัวจริง" เป็นอย่างไร คำถามเชิงอัตลักษณ์แบบนี้พบได้ในบทละคร และนิยายไอร์แลนด์แทบจะทุกเล่ม (ซึ่งตรงนี้ก็อีกนั่นแหละที่คล้ายๆ กับคนไทย ชาวไอร์แลนด์น่าจะเป็นชาวยุโรปประเทศเดียวเลยที่มีจิตสำนึกของชาติ สูงกว่าของทวีป/ท้องถิ่นอย่างเทียบกันไม่ติด) ชายแปลกหน้าสองคนเข้ามาเยือนหมู่บ้านเล็กๆ คนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ อีกคนเกิดในหมู่บ้านนี้แต่ไปทำงานอยู่ในลอนดอนเป็นเวลาสิบแปดปี พวกเขามาทำอะไร เป็นแค่การพักผ่อน เยือนบ้านเกิด หรือมีกิจธุระแอบแฝง

เท่าที่เคยอ่านงานเขามา ชอว์ก็เป็นชอว์จริงๆ เขาเหมาะจะเขียนบทความมากกว่าเรื่องแต่ง และก็เหมือนชอว์เองก็คงอยากให้ John Bull's Other Island เป็นปาฐกถามากกว่าละครเสียด้วยซ้ำ (ในฉบับที่เราอ่าน บทนำยาวหกสิบหน้า ยาวกว่าละครจริงๆ อีก) ชอว์เป็นคนมีไหวพริบ มีอารมณ์ขัน เขียนบทสนทนาได้สนุกสนาน แต่เหมือนไม่ค่อยมีเซนต์เรื่องการเล่าเรื่องเท่าไหร่ อย่างฉากแรกของละคร ที่ให้ตัวละครเอกมาคุยกันสองคน อ่านสนุก มีสาระก็จริง แต่กลับไม่ช่วยส่งเสริมองค์ประกอบอื่นเลย

แต่จุดอ่อนที่สุดคือไคลแมกซ์ของละคร ชอว์ถอดทิ้งทุกหมวก ยกเว้นหมวกนักสังคมนิยม ทันใดนั้นทุกอย่างก็แปรเป็นคู่ขั้วตรงข้ามง่ายๆ ระหว่าง นักธุรกิจจอมพัฒนา และชาวพื้นเมืองแสนโรแมนติก ความซับซ้อนทุกอย่างที่เหมือนปูมาแต่ต้น ก็หายสูญไปเกลี้ยง (โอเค จริงๆ มันซับซ้อนกว่านั้นนิดหนึ่ง และก็ต้องให้เครดิตว่าชอว์เขียนไว้ตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว สมัยนั้น บทโต้ตอบลักษณะนี้คงยังมีความ fresh อยู่)

J. Vanbrugh's "The Relapse and Other Plays"

เข้าใจว่าจอห์น แวนบรูกเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงพอตัว แต่อีกด้านหนึ่งที่หลายคนไม่รู้จักคือ แกเป็นนักเขียนบทละครด้วย เราไม่รู้จักแกเลยสักด้าน แต่ให้อ่านบทละครที่แกเขียน คงไม่มีทางเดาถูกเลยว่าแกเป็นสถาปนิก

ในความเห็นเรา สถาปนิกน่าจะเป็นอาชีพที่มองอะไรในมุมกว้าง มองเห็นโครงสร้างใหญ่ๆ ในงานศิลปะ ก่อนจะแยกย่อยมายังองค์ประกอบเล็กๆ แต่บทละครของแวนบรูกกลับมีจุดเด่นที่องค์ประกอบมากกว่าโครงสร้าง โครงสร้างของมันเข้าขั้นเละเทะเลย สมดุลตัวละครไม่ดีเลย บางทีก็เหมือนเขียนเส้นเรื่องมาสองเส้น โดยสุดท้ายไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน แล้วเส้นหนึ่งก็ทิ้งไว้ให้ค้างๆ คาๆ

จุดเด่นของแวนบรูกกลับอยู่ตรงรายละเอียด บทละครของแกมีหลายอย่างคล้ายคลึงกับออสกา ไวลด์ เป็นความสนุกอันเกิดจากการอ่านตัวละครจิกกันแบบเจ็บๆ แสบๆ และก็ดูเหมือนแวนบรูกจะทำอะไรไม่เป็นเลย นอกจากเขียนตัวละครซ้ำซาก ฉากเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนคำพูดจิกกัดกันเท่านั้นเอง

ละครที่ดังที่สุดของแกคือ The Relapse แต่เราอยากให้แกหันมาทำอะไรแบบ The Country House มากกว่า นี่เป็นละครสั้นๆ ว่าด้วยเจ้าของบ้านที่เหลืออดเต็มทน กับบรรดาแขกของภรรเมียและลูกบังเกิดเกล้าที่มาเกาะเขากิน สุดท้ายก็เลยละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ขายบ้าน ขายลูก ขายเมีย ไปอยู่ตัวคนเดียวสบายใจแฮ เพราะความที่ละครของแวนบรูกไม่มีโครงสร้างเจ๋งๆ ละครสั้นที่เหมือนแก๊กตลกแบบนี้เลยตอบสนองงานเขียนสไตล์นี้ได้ดีกว่า

M. Lowy's "Morning Star"

มิคาเอล เลอวูเขียน Morning Star ขึ้นมาด้วยความรัก อันนี้ไม่มีใครกล้าเถียง แต่ประเด็นหลักของหนังสือเป็นจริงหรือเปล่า อันนี้ต่างหากที่เรายังตั้งข้อสงสัย เลอวู เป็นนักคิดและเป็นศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ เขาพยายามบอกว่าภายหลังการตายของอังเดร เบรอตง ขบวนการเซอร์เรียลลิสต์ยัง alive and kicking เซอร์เรียลลิซึมไม่เหมือนขบวนการทางศิลปะอื่นๆ ไม่เหมือนกับคิวบิซึม ฟลอวิซึม ดาดาอิซึม ฯลฯ เพราะมันเป็นลัทธิปรัชญา การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ควบคู่ไปกับขบวนการทางศิลปะ ดังนั้นตราบใดที่เรายังไปไม่ถึงยุคพระศรีอาริย์ เซอร์เรียลิซึมก็จะยังคงอยู่คู่โลกเสมอ

อ่านแล้วก็แอบเถียงในใจ อยากรู้ชะมัด เลอวูจะกล้าพูดแบบนี้ต่อหน้าคิวบิส ฟลอวิส และดาดาอิสคนอื่นหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เรา ในฐานะแฟนศิลปะเซอร์เรียล รู้สึกดีว่าเซอร์เรียลิสต์ยังไม่ตายจริงๆ ด้วย Morning Star รวบรวมผลงานศิลปะแนวเซอร์เรียล ภายหลังยุคดาลี มากริตต์ ตองกี เรย์ และบิ๊กเนมคนอื่นๆ ได้เห็นรูปที่เลอวูรวบรวมมา ก็พอเชื่อได้ว่าเซอร์เรียลลิสต์น่าจะยังมีจริง (แต่ไม่แน่ใจว่าศิลปินเหล่านั้นรู้ตัวหรือเปล่าว่าถูกเหมารวมเป็นเซอร์เรียลลิสต์ไปเรียบร้อยแล้ว อย่างเดอบอร์ด นี่เราว่าไม่น่าใช่ แกเป็นมาร์กซิส และเป็นนักปฏิวัติสังคม แต่ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับเซอร์เรียลลิสต์เลย) ดังนั้นคำถามที่เราอยากขบคิดมากกว่าคือ อะไรทำให้งานศิลปะชิ้นหนึ่งเซอร์เรียลขึ้นมาได้ (โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องอะไรกับการปฏิวัติสังคม)

บทที่สนุกที่สุดว่าด้วยเคลาเดอร์ คาฮูน เธอเป็นคนยิว เป็นเลสเบี้ยน เป็นช่างภาพเซอร์เรียลลิสต์ ผู้มีชีวิตอยู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองบ้านเกิดของเธอ คาฮูนและหญิงคนรักช่วยกันพิมพ์โปสเตอร์ต่อต้านนาซี โดยสนับสนุนให้ทหารเยอรมันหนีสงคราม และถ้าถูกผู้บังคับบัญชาจับได้ ก็ให้ใช้ปืนยิงพวกนายพลเสียเลย! (สโลแกนของเธอคือ "ชาวเยอรมันปะทะนาซีเยอรมัน") สุดท้ายคาฮูนและคนรักถูกจับตัว แต่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในวินาทีสุดท้าย ช่วยให้เธอไม่ต้องถูกประหาร คาฮูนถูกจับเข้าคุก และได้พบทหารเยอรมันที่ติดคุกเพราะหนีสงคราม (เลอวู สมกับที่เป็นพวกโรแมนติก เล่าเรื่องราวตอนนี้เหมือนกับว่า ที่คนเหล่านี้หนีทหารเพราะถูกเปิดหูเปิดตาด้วยโปสเตอร์ของคาฮูน)

ฮัลโหลๆ กาย แมดดิน ณอง-ปิแอร์ ฌอเนต คาลอส ซาอูรา พวกคุณอยู่ไหน เอาชีวิตเธอคนนี้ไปสร้างเป็นหนังด่วน!

J. Lovell's "The Opium War"

มาลองสวมหมวกนักล่าอาณานิคมชั่วคราวกันดีกว่า

ในแบบเรียนประวัติศาสตร์จีน สงครามฝิ่นปี 1840 คือจุดกำเนิดของประเทศจีนยุคใหม่ อังกฤษบังคับขายฝิ่น ยาเสพติดอันตราย ให้แก่คนจีน และเมื่อรัฐบาลจีนปฏิเสธ นักล่าอาณานิคมใช้กำลังทหารเข้าบีฑา จนผู้รักชาติชาวจีนต้องสละชีวิตมากมาย สงครามฝิ่นกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของชาวจีน ภายใต้นโยบายรัฐชาติของรัฐบาลซุน ยันเซน ไล่มาจนถึงเหมา เจอต๋ง (ในแง่นี้ ก็ไม่ค่อยต่างอะไรจาก grand narrative ของเมืองไทย ว่าด้วยการถูกรังแกโดยชาติตะวันตก)

โลเวลไม่ได้พยายามโต้เถียงประเด็นความชั่วร้ายของประเทศอังกฤษ เพียงแต่เธอเชื่อว่าผลลัพท์ของสงครามอาจจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ หากรัฐบาลฮ้องเต้ "ฉลาดขึ้น" อีกสักนิด (นี่ไม่ใช่ความเชื่อใหม่ หรือของเธอคนเดียว ช่วงก่อนคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจ ปัญญาชนจีนหลายรายที่ต้องการนำพาประเทศให้เป็นแบบตะวันตก ก็พยายามยึด grand narrative ดังกล่าว และล่าสุด เมื่อประเทศจีนเริ่มทันสมัยมากขึ้น เรื่องเล่านี้ก็เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง)

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือ ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ฝิ่นยังไม่ใช่ "ยาเสพติดผิดกฏหมาย" ทั้งในเมืองจีนเอง และในประเทศอังกฤษ (สหรัฐอเมริกากำหนดให้ห้ามขายฝิ่นเป็นครั้งแรกในปี 1914) ก่อนสงครามจะเริ่มต้น ขุนนางจีนยังถกเถียงว่าควรแก้ปัญหาประชาชนติดฝิ่นด้วยวิธีไหนดี ระหว่างกำหนดห้ามขายและเสพฝิ่นภายในประเทศ และห้ามชาวตะวันตกนำฝิ่นมาขาย (ช่วงก่อนสงครามฝิ่น ชาวอังกฤษไม่ได้ขายฝิ่นให้ผู้ซื้อชาวจีนโดยตรง หากต้องการสิทธิในการปล่อยสินค้าที่ท่าเรือเท่านั้น) ก่อนลงความเห็นว่าอย่างแรกเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ทั้งตลาดบนดินและใต้ดิน ยึดโยงอยู่กับสินค้าชนิดนี้เป็นมากเกินไป

มีเรื่องเล่าที่ขำไม่ออกคือ ทหารจีนในกวางตุ้งที่ต้อสู้กับอังกฤษ ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลท้องถิ่น และกว่า 90% ของตลาดกวางตุ้งอยู่ได้ด้วยฝิ่น ดังนั้นเมื่อฝิ่นถูกห้ามซื้อขาย รัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่รู้จะเอาเงินเดือนจากไหนมาจ่ายให้ทหาร!

การทูตของเมืองจีนในสมัยนั้นอิงอยู่กับแนวคิดประเทศราช และระบบบรรณาการ ฮ้องเต้ยังเชื่อว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และประเทศอื่นๆ รวมไปถึงชาติตะวันตก เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยใต้พระบรมเดชานุภาพเท่านั้น ผลคือการประเมินคู่ต่อสู้ผิด ความพ่ายแพ้แต่ละครั้ง ถูกยกยอดให้เป็นผลมาจากของ "คนทรยศ" หรือ "คนขี้ขลาด" ประเทศจีนพลาดโอกาสสำคัญในการเจรจาต่อรองทางการทูต

ปัญหาข้อนี้หนักหน่วงยิ่งขึ้น เมื่อประเทศจีนมีขุนนางอยู่สองประเภท คือขุนนาง "กงฉิน" และ "ตงฉิน" "กงฉิน" คือขุนนางที่ยอมรับว่ายังไงก็สู้เรือปืนของอังกฤษไม่ได้แน่ และใช้วิธีตกลงกับประเทศอังกฤษ แต่เบื้องหลังโกหกกับฮ้องเต้ว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุม ส่วนพวก "ตงฉิน"​ เอะอะอะไรก็จะรบเพื่อรักษาเกียรติภูมิ สิ่งเลวร้ายที่สุด ซึ่งขุนนางทั้งสองประเภทนี้ร่วมกันทำ (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน) คือปิดบังไม่ให้ฮ้องเต้มองเห็นปัญหาที่แท้จริง ความย่อยยับจักบังเกิดเมื่อผู้มีอำนาจไม่รู้ว่าตัวเองกำลังสู้อยู่กับอะไรแน่

รักทรยศ...ยศ...ยศ...ยศ...ยศ

ไปดูละคร รักทรยศ (...ยศ...ยศ...ยศ...ยศ) ที่ Democrazy Theatre มา รักทรยศ ดัดแปลงมาจากบทละครของนักเขียนรางวัลโนเบล ฮาโรล พินเตอร์ เรื่อง Betrayal ภายใต้โครงการณ์ Demo Classic ซึ่งดัดแปลงบทละครคลาสสิคของนักเขียนต่างชาติมาเป็นภาษาไทย

รักทรยศ เปิดเรื่องด้วยการพบกันระหว่าง ยุทธ และ มล ในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ผู้ชมรับรู้ว่าสองคนนี้เคยเป็นคู่รักกันมายาวนานถึงเจ็ดปี ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็มีครอบครัวแล้ว และสามีของมลเองก็คือ ณต เพื่อนรักของยุทธ ปัจจุบันทั้งคู่เลิกติดต่อกันมาสองปี ในตอนจบของฉากแรก ยุทธทราบว่า เมื่อคืนมลสารภาพเรื่องราวระหว่างทั้งคู่ให้ณตฟัง ด้วยความตกใจ ยุทธโทรศัพท์เรียกเพื่อนรักมาเคลียร์ และได้รู้ความจริงที่น่าตื่นตระหนกเข้าไปใหญ่คือ ไม่ใช่แค่เมื่อวาน แต่ณตทราบเรื่องนี้ตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว! (สองปีก่อนยุทธและมลจะเลิกกันเสียอีก) ในอีกเจ็ดฉากที่ตามมา คือเหตุการณ์ย้อนหลัง กลับไปวันที่ยุทธเลิกกับมล วันที่ณตรู้ความจริง กลับไปกระทั่งถึงวันแรกที่ยุทธและมลเริ่มเป็นชู้กัน

พูดถึงข้อดีก่อนแล้วกัน สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดในการชมละครเวทีเมืองไทย คือ space ของกลุ่มละครที่ผุดขึ้นมาตรงนู้น ตรงนี้ เป็นโชคดีในโชคร้าย คณะละครไทยไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ไม่มีที่ทาง หรือโรงละครเป็นของตัวเอง ก็ได้แต่มาอาศัยเล่นตามหลืบตามซอก Democrazy Theatre นั้น ไม่ถึงกับเป็นหลืบเป็นซอก แต่ถ้าดูจากปากซอยสะพานคู่ จะไม่มีทางเดาได้เลยว่า ข้างในตึกแถวนี้มีโรงละครอยู่

และก็เป็นโรงละครชั้นดีเสียด้วย! น่าตบมือให้ทีมงาน Democrazy (ซึ่งจริงๆ แล้วคงเปลี่ยนทุกโปรดักชั่น แต่ก็ยังอยากตบมือให้อยู่ดี) ตั้งแต่เด็กยกฉาก จนถึงคนออกแบบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ ดูละครเวทีที่นี่มาสี่เรื่อง และทุกเรื่อง ทีมงานแสดงให้เห็นถึงการจัดสรรพื้นที่อย่างมีรสนิยมและทรงประสิทธิภาพ หากทั้งสามเรื่องที่ดูมาก่อนหน้านี้ เทียบอะไรไม่ได้เลยกับ รักทรยศ ละครมีทั้งหมดเก้าฉาก ต้องเปลี่ยนเซตติ้งใหม่ทุกฉาก และทีมงานก็ทำออกมาได้อย่างสวยงามและเป็นธรรมชาติ

ในส่วนการแปรบทละครและถ่ายทอด ยังมีความลักลั่นอยู่บ้าง การเอารายละเอียดไทยๆ เช่น ชื่อตัวละครหรือสถานที่ มาปนกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ("มันยอดเยี่ยมไปเลย!") และวัฒนธรรม (ผู้ชายไทยอายุสามสิบกว่าๆ ที่ไหนเขานัดตีเทนนิสกันบ้าง) แต่เมื่อดูโดยรวมแล้วก็อินไปกับละครพอสมควร จนอภัยให้ได้

นักแสดงทั้งสาม (รวมถึงผู้ดัดแปลงบท) ทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในฉากที่ conflict เปิดเผยโต้งๆ เช่น เมื่อยุทธและมลบอกเลิกกัน หรือตอนที่ณตรู้ความจริงว่าภรรยาตัวเองเป็นชู้กับเพื่อนสนิท แต่ยังก้ำกึ่งอยู่สำหรับฉากที่ conflict แฝงอยู่อย่างคลื่นใต้น้ำ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะเข้าใจว่าฉากเหล่านั้น เป็นกุญแจสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ในฉากสี่ซึ่งเป็นครั้งแรก (และแทบจะเป็นครั้งเดียว) ที่เราได้เห็นตัวละครทั้งสามอยู่บนเวทีพร้อมกัน ณตรู้ความจริงแล้ว และมลก็รู้แล้วว่าณตรู้ แต่ทั้งคู่ก็ยังช่วยกันปิดบังทุกอย่างต่อหน้ายุทธ เพราะอะไร ทำไมณตถึงได้ใจกว้างขนาดนั้น และทำไมมลซึ่งรู้ความจริงแล้ว ถึงไม่ยอมบอกยุทธ เพราะต่างทนเพื่อลูกๆ (ของทั้งสองครอบครัว)? เพราะณตและยุทธเป็นเพื่อนรักกัน? เพราะณตเองก็มีบ้านเล็ก? เพราะณตรู้ว่าชีวิตแต่งงานระหว่างเขาและมลไม่มีทางราบรื่น? เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ? จุดที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของละคร กลับ lost in translation ไปอย่างน่าเสียดาย

เหมือนผู้กำกับตีความว่า สาเหตุมาจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองเพื่อนสนิท คือยุทธและณต ณตจึงไม่อยากทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย รักทรยศ สื่อเป็นนัยๆ ด้วยซ้ำ ว่านี่คือความรักที่เกินเพื่อน เราลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เนตดู ไม่มีนักวิจารณ์กล่าวถึง Betrayal ในแง่นี้ ประกอบกับการที่มันมาจากชีวิตจริงของพินเตอร์ ยิ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีประเด็นเพศที่สามแฝงอยู่ในบทละคร

กระนั้นเราก็ไม่ได้มีปัญหากับการตีความ แต่น่าจะสื่อออกมาได้ละมุนและชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะฉากเจ็ด ที่ณตและยุทธเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก หลังจากณตรู้ความจริง เขาลังเลว่าจะเปิดเผยเรื่องมลต่อหน้ายุทธดีหรือไม่ แต่จนแล้วจนรอด ก็เฉไปพูดเรื่องงานการ เรื่องหนังสือแทน จุดอ่อนของ รักทรยศ คือไม่สามารถสื่อถึงชีวิตการงานของสองหนุ่มได้เลย เราพอรู้คร่าวๆ ว่า ทั้งคู่น่าจะเป็นบรรณาธิการ และคงมีปัญหากับอุดมการณ์ทางวรรณกรรม ในฉบับดั้งเดิมมีการกล่าวถึงกวี Yeat แต่ในละคร กลับใช้กวีสมมติ "ป. ร่มแก้ว" แทน ซึ่งยิ่งลดความนุ่มลึกลงไปใหญ่ การก่นด่าวรรณกรรมสมัยใหม่ของณตน่าจะสื่อถึงความในใจบางอย่าง แต่ผู้ชมจับความหมายของสัญญะตัวนี้ไม่ได้เลย

ส่วนตัว เราตีความว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สองสามีภรรยาปิดบังเรื่องราว ก็ด้วยทั้งคู่รู้ว่ากำลังติดอยู่ในชีวิตสมรสที่ไม่มีทางออก อย่างน้อยปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างหาความสุขตามยถากรรมก็ยังดีกว่า ฉากที่เราว่าทรงพลังที่สุดคือก่อนจบครึ่งแรก ยุทธเดินออกจากเวที ณตที่นั่งอยู่บนโซฟากระเถิบตัวลงไปนอนกอดและหนุนตักมลอย่างเหนื่อยล้าพร้อมกับไฟเวทีค่อยๆ ดับลง บางทีอาจเป็นความลับที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกันปกปิด ที่ยืดชีวิตสมรสของทั้งคู่ออกไป

ในส่วนของการเล่าย้อนหลัง (Reverse Chronology) ตอน Betrayal ออกมาใหม่ๆ ดูเหมือนจะได้รับคำชื่นชมมากมาย แต่เราก็ยังมองไม่เห็นว่าในเชิงโครงสร้าง มันตอบโจทย์อะไรนัก (คล้ายๆ กับที่เราไม่เก็ตภาพยนตร์ 5x2 ของโอซอง) ในเมื่อพีคของละครอยู่ที่ฉากห้าถึงเจ็ด อีกสองฉากที่เหลือเลยกลายเป็นแอนไทร์ไคลแมกไปเสียมากกว่า

Demo Classic ยังเหลือละครอีกสองเรื่องคือ A Thread in the Dark ของเฮลลา เฮสเสอะ (เดือนกันยา) และ The Misunderstanding ของกามูส์ (เดือนตุลา) ไม่น่าพลาดทั้งสองเรื่อง

H. James's "The Bostonians"

ชอบนิยาย เกลียดตัวละคร

เหตุเกิดช่วงเปลี่ยนศตวรรษ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โอลิเวอร์ แชนเซลเลอร์เป็นผู้หญิง “หัวก้าวหน้า” ที่ต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี แต่นอกจากเงินถุงเงินถัง และความปรารถนาอันแรงกล้า หล่อนไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลยสักอย่าง กระทั่งได้พบ เวอเรอนา หญิงสาวผู้เป็นอัจฉริยะด้านการปาฐกถา ทั้งสองร่วมมือกันเปิดการบรรยายพิเศษ สนับสนุนสิทธิสตรี ทุกอย่างเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี จนแบซิล แรนซัมก้าวเข้ามาในชีวิตของพวกหล่อน แบซิลเป็นชาวใต้ ผู้ นอกจากจะไม่หัวก้าวหน้าแล้ว ยังมีความคิดล้าหลังเป็นพิเศษ แบซิลตกหลุมรักเวอรานา และเหมือนเธอเองก็มีใจให้ชายหนุ่มเช่นกัน ถ้าสองคนนี้ลงเอยกัน ก็หมายถึงจุดจบของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของโอลิเวอร์

ที่บอกว่าเกลียดตัวละคร ก็ด้วยเหตุผลส่วนตัวจริงๆ เรารู้จากประสบการณ์ว่าผู้หญิงขึ้นคาน ที่อยู่ดีๆ เอาตัวเองเข้าไปผูกติดกับหญิงสาวอีกคน เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ และทรงพลังขนาดไหน ขณะเดียวกัน ถามว่าเราเอาใจช่วยแบซิลได้หรือเปล่า ก็ยากอีกนั่นแหละ ในเมื่อความคิดหมอนี่ไดโนเสาร์เต่าล้านปีเอามากๆ เขาเชื่ออย่างเต็มอกเต็มใจว่าความสุขเดียวของผู้หญิงคือการรับใช้ชายคนรัก เขาหลงใหลสุ้มเสียงของเวอรานา แต่เขาต่อต้านเนื้อหาที่อยู่ในคำปราศรัย แล้วเวอรานาเล่า? จากประสบการณ์ ผู้หญิงโลเลเหลาะแหละ ที่ปล่อยให้สาวแก่อย่างโอลิเวอร์ปั่นหัวเล่น ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่น่าชื่นชมนัก (เจมส์ปล่อยพื้นที่ให้คนอ่านคิดเอาเองว่าโอลิเวอร์อาจเป็นเลสเบี้ยน อย่างไรก็ดี “การแต่งงานแบบบอสตัน” กลายเป็นสำนวนฝรั่ง หมายความถึงผู้หญิงสองคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างน่าสงสัย)

ด้วยเหตุนี้ ตอนจบของนิยายถึงได้สาแก่ใจเรายิ่ง ไม่มีใครหัวเราะทีหลัง ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ แต่ละตัวละครแตกสลายด้วยเหตุผลที่ต่างกัน

สมัยตีพิมพ์ใหม่ๆ The Bostonians ไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีนัก เหตุผลคือนักอ่านในยุคนั้นรับไม่ได้กับภาพลักษณ์ของนักสตรีนิยมที่เจมส์นำเสนอ น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า จริงๆ แล้วเจมส์รู้สึกยังไงการกระแสสตรีนิยม ผู้เขียน (และแบซิล ตัวละครชายหลักตัวเดียวในเรื่อง) ชื่นชมคุณหมอแพรนซ์ ผู้หญิงเก่งซึ่งปฏิเสธที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเคลื่อนไหวดังกล่าว และมิสซิสเบิร์ดอาย นักสตรีนิยมยุคเก่า ที่ในสมัยสงครามกลางเมือง เคยเดินท่องไปในรัฐทางใต้ เอาคัมภีร์ไบเบิลไปจ่ายแจกให้เหล่าทาสผิวดำ แต่ความชื่นชมมิสซิสเบิร์ดอาย ก็แฝงนัยความชื่นชมในสิ่งโบราณ ที่ล้าสมัย และไม่อาจหาพบได้ในปัจจุบัน

แต่ในทางตรงข้าม เจมส์เองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแบซิล แบซิลมีจุดยืนที่แน่นอน แต่กลับไม่เคยกล้าไปถกเถียงกับใคร ลงเอยจึงกลายเป็นแค่ผู้ชายหัวแข็งไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นเพศตรงข้าม ส่วนมิสซิสลูนา น้องสาวของโอลิเวอร์ ผู้หญิงหัวโบราณ ที่เหมาะเจาะยิ่งนักกับโลกของแบซิล ก็ถูกนำเสนอในแง่ลบอย่างชัดเจน (ข้อขัดแย้งน่ารักๆ คือ แบซิลถูกดึงดูดโดยเวอรานา ผู้หญิงที่เขาไม่เคยเห็นด้วย แต่กลับรังเกียจ มิสซิสลูนา ทั้งที่ลึกๆ สองคนนี้มีหลายอย่างเหมือนกัน)

ให้เราเดาใจคนเขียน เราคงสรุปว่า เจมส์น่าจะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวสตรีนิยมนั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในโลก เพียงแต่นักสตรีนิยมบางคน น่าคบหา และน่าเชื่อถือกว่าอีกคนหนึ่งก็เท่านั่น

ที่แน่ๆ คงไม่ใช่ นักสตรีนิยมแบบเวอรานา ที่เป็นเพียงเปลือกอันกลวงโบ๋ แต่ไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลย

V. Klemperer's "Language of the Third Reich"

แคลมเปอเรอร์เริ่มต้นบันทึกของเขาด้วยคำถามชวนขนลุก Mein Kampf ถูกเขียนและตีพิมพ์ก่อนฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเสียอีก ทำไมไม่มีใครหยิบหนังสือเล่มนี้ไปอ่านแล้ว "เฉลียวใจ" บ้างเลย

นี่เป็นคำถามเดียวกับที่วนเวียนในหัวเรามาพักใหญ่แล้ว ในบันทึกปาฐกถาของปัญญาชนสยามคนหนึ่ง พูดเอาไว้ตั้งแต่ปี 47 ก่อนวิกฤติการเมืองไทยจะเริ่มต้น ปาฐกถาว่าด้วยการโลกาภิวัฒน์ เปิดฉากด้วย "โลกาภิวัฒน์คือวิถีทางที่ต่างชาติใช้เข้ามากดขี่ ยึดครองประเทศไทย..." ทั้งที่ปาฐกถาในวันนั้น ก็มีปัญญาชนสยามท่านอื่นนั่งเรียงหน้ากันสลอน มีใคร "เฉลียวใจ" บ้างหรือเปล่า ทำไมไม่มีใครลุกขึ้นมาพูดอะไรเลย ตอนที่พูดจบในวันนั้น มีคนตบมือหรือเปล่า ในประเทศที่ Mein Kampt วางจำหน่ายในวงกว้าง ในประเทศที่ผู้ทรงคุณวุฒิแอบอ้างอวิชชากันอย่างสนุกปาก มันบ่งบอกหรือเปล่าว่าหายนะกำลังจะมาเยือนประเทศแบบนั้น

LTI คือตัวย่อที่แคลปเปอเรอร์ใช้เรียก "ภาษาแห่งอาณาจักรไรซ์ที่สาม" ภาษาที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นโดยผู้นำนาซี เพื่อใช้ยึดครองประเทศและจิตวิญญาณของชาวเยอรมัน มันเป็นภาษาที่ "เขียนและคิดได้ด้วยตัวเอง" สามารถนำมาประกอบเรียงกันเป็นคำพูดสวยหรู ฟังแล้วซาบซึ้ง แต่ไม่มีเนื้อหาอันใดอยู่เบื้องหลัง

LTI อาจแบ่งได้เป็นสามชั้น ในชั้นผิวเผิน คือการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น การปลูกฝังให้เหยียดผิว แบ่งแยกเชื้อชาติ รังเกียจคนยิว รวมไปถึงตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเยอรมันเป็นประเทศรักสันติภาพ การสู้รบที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นการ "ยิงป้องกันในแนวราบ" ทั้งสิ้น

ในระดับที่ลึกลงมาหน่อย LTI ถูกใช้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แทรกอยู่ในทัศนคติทางวิชาการ และปรัชญา เช่น การปลูกฝังให้รักธรรมชาติ ใช้สมุนไพร แทนที่จะใช้ยาแคปซูล เพราะธรรมชาติช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตวิญญาณ คนเยอรมันจะได้ไม่งมงายในเหตุและผล เพราะความจริงขั้นสูงสุดมาได้แต่ศรัทธา หาใช่การใคร่ครวญวิพากษ์วิจารณ์ไม่ (ถ้าใช้คำปรามาสของแคลมเปอเรอร์เลยก็คือ ทัศนคติแบบนี้เขลาเกินกว่าจะหลุดมาจากปากมนุษย์ได้ แต่มนุษย์ชอบเอามันมาป้ายไว้รอบๆ ปาก เพื่อสร้างความดูดีให้กับตัวเอง)

ในระดับสุดท้ายซึ่งลึกซึ้งที่สุดคือ LTI แฝงอยู่ในคำพูดและไวยากรณ์ คำที่ถูกใช้บ่อยเป็นพิเศษด้วยความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม คำที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ หรือกระทั่งในโครงสร้างไวยากรณ์ แคลปเปอเรอร์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้นาซีจะหมกมุ่นกับเรื่องยิวเป็นพิเศษ แต่คำว่า "ยิว" ในฐานะคำนามจะถูกใช้น้อยมาก "ยิว" ถูกใช้บ่อยสุด โดยการแปลงให้เป็นคำคุณศัพท์ ถึงได้มีคำว่า "รัสเซียพันธุ์ยิว" "อเมริกาพันธุ์ยิว" "นายทุนพันธุ์ยิว" "นักวิทยาศาสตร์พันธุ์ยิว" ขึ้นมา นั่นเป็นเพราะพวกนาซีต้องการเอาสัญลักษณ์ของยิว มาแปะลงในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นศัตรูกับตัวเอง

สุดท้ายถ้าอยากรู้ว่าภาษานาซีแปลไทยเป็นอย่างไร เชิญแวะไปดูตัวอย่าง

ชีวิตปกติ (จารี จันทราภา)


บทวิจารณ์ชีวิตปกติ ลงในมติชน ถ้าใครสนใจ ขอเชิญแวะไปอ่านครับ

*********************

"ความตายและชีวิตหาใช่สองขั้วที่อยู่ห่างไกลกันและกันไม่ ทั้งคู่เป็นเสมือนหนึ่งขาสองข้างที่ก้าวย่างตามกันโดยพร้อมเพรียง และทั้งคู่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเธอ" - ภควัน ศรีรัชนี, คัมภีร์แห่งความเร้นลับ แปลโดย พิเชษฐ์ วนวิทย์


ความตายไม่ใช่สิ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับชีวิต เส้นที่กั้นแบ่งระหว่าง "ก่อน" และ "หลัง" มนุษย์หมดห้วงลมหายใจนั้นไม่มีอยู่จริง ตายและอยู่ ก่อนและหลัง ผสมปนเปกัน เราใช้ชีวิตและหายใจเข้าออกพร้อมๆ กับความตาย กระนั้นความตายก็ยังเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่น -- ไม่สิ -- ความตายอาจเป็นเรื่องเดียวที่น่าหวาดหวั่นเลยก็ได้ มนุษย์ผู้จำต้องสบตากับความตายอยู่ตลอดเวลา จึงต้องหาเงื่อนไข กรรมวิธีเพื่อรับมือกับความตาย เพื่อคงไว้ซึ่งชีวิตปกติ ชีวิตประจำวัน ให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น

ใน ชีวิตปกติ เรื่องสั้นโปรยปกของจารี จันทราภา ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับความตายอย่างจัง เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับช่างตัดผมประจำชุมชน วิธีที่พวกเขาใช้รับมือกับความตายคือเปลี่ยนมันให้กลายเป็นมหรสพ "ท่ามกลางสายตาผู้คนมากมายที่กรูกันออกมามุงดู อีกทั้งส่งเสียงบอกข่าวกันขรม ประหนึ่งชวนให้มาชมมรสพ [sic.] สำคัญ" บ้างก็วิพากษ์ วิจารณ์ "เหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะรู้ เหมือนจะเคย"

เช่นเดียวกับมหรสพทั่วไป ความตายกลายเป็นพิธีกรรม โดยมีนายตำรวจทำหน้าที่เป็นพิธีกร ถามไถ่ข้อมูล "ก่อนก้มหน้าก้มตาจดยิกๆ ลงในสมุด เข้าใจว่าน่าจะบันทึกข้อมูลไว้เขียนรายงาน หรือไม่ก็เพื่อแจ้งร้อยเวรตามหน้าที่" ทั้งหมดนี้เป็นบทในพิธีกรรม ที่ถูกออกแบบมาแล้วล่วงหน้า โดยนายตำรวจไม่จำเป็นต้องรู้สึกตื้นลึกหนาบางอะไรกับผู้ตายและความตาย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็พยายามผลักความตายให้พ้นไปจากตัว ลดทอนอัตลักษณ์ของช่างตัดผม ให้กลายเป็นศพไร้ชื่อ ที่ไม่มีผู้ใดจนจำชื่อเสียงเรียงนามได้ และเมื่อม่านการแสดงปิดลงพร้อมกับการมาถึงของรถพยาบาล พวกเขาก็กลับไปดำเนินชีวิตปกติกันต่อ ราวกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ "หลัง" ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้คนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ใน "ก่อน"

ความตายเป็นปฏิปักษ์กับชีวิต และวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับมันคือเพิกเฉยเสีย หรือสร้างพิธีกรรมมารายล้อม

พิธีกรรมช่วยปิดบังความตาย เปลี่ยนความตายให้กลายเป็นชีวิตปกติ จารีตัวละครเอกของ ในวัด (ชื่อเดียวกับผู้เขียน) ต้องรับมือกับความตายของแม่ ไปพร้อมๆ กับจัดงานศพ และทนรับความฉ้อฉลของลุงยงค์ เจ้าหน้าที่วัด ความตายถูกพิธีกรรมบิดเบือนไป พร้อมๆ กับที่ ลุงยงค์บิดเบือนเจตนาตัวเอง หากิน เอารัดเอาเปรียบเจ้าภาพงานศพ มิติใหม่ๆ ของชีวิตปกติ เช่น การหาซื้อดอกไม้ เชื้อเชิญแขก จัดเตรียมข้าวปลาอาหาร ถูกเพิ่มเติมเพื่อปิดบังความตาย และกว่าจะจารีจะได้มีโอกาส "หมองเศร้าหม่นซึม" หรือ "เศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก" ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดพิธีศพแล้วเท่านั้น

นอกจากจะเปลี่ยนความตายให้กลายเป็นมหรสพ มนุษย์ยังชอบแสดงมหรสพของความตาย ใน บทบาทใหม่ "คุณ" คือผู้ชมละคร นักแสดงชายผอมออกมาเล่าเรื่องความตายของตัวเอง ของน้องชาย ก่อนจะจบลงด้วยเสียงปืนที่กำลังจ่อขมับ สุดท้ายทุกอย่างถูกเปิดเผยว่า แท้จริงโรงละคร เหตุการณ์บนเวที และกระทั่งผู้ชม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของฉากในภาพยนตร์ "คุณ" รับบทบาทเป็นผู้ชม เป็นตัวประกอบ และเมื่อสิ้นสุดบทบาท ได้แต่เดินออกจากโรงละคร "ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน มากไปกว่านั้น ไม่ทราบอีกว่าจะทำตัวอย่างไรดี" ความตายซึ่งถูกจำลองบนเวทียั่วล้ออยู่กับความตายอีกแบบ คือการสิ้นสุดอัตลักษณ์ของผู้ชม (และคนอ่านเอง)

แม้ในโลกของ "ก่อน" ก็ใช่ว่ามนุษย์เราจะปลอดภัยจากความตาย อดีตคือสิ่งที่เกิดก่อน "ก่อน" คือเหตุการณ์ที่เราไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง ในแง่นี้ มันจึงมีค่าความจริง ไม่ต่างอะไรไปจาก "หลัง" มากนัก จะเห็นได้ว่าตัวตนของมนุษย์คือปัจจุบันอันบอบบาง ถูกล้อมรอบด้วยความตายทั้งก่อนและหลัง

กลิ่น เปิดเรื่องด้วยความตายของปลาทองตัวเมีย สัตว์เลี้ยงของกมล และที่มาเยือนติดๆ กันคือความตายอีกประเภท -- นั่นคืออดีต -- ในรูปแบบของหญิงสาวจากที่ทำงานเก่า หล่อนคือผู้มอบปลาทองให้แก่กมล และเป็นผู้นำมาซึ่งกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนทั้งสอง หล่อนเล่าให้เขาฟังถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดกับตัวเอง ตั้งแต่กมลลาออกจากที่ทำงาน สุดท้ายเรียกร้องให้อีกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบ "ขนาดนี้แล้ว ยังมองไม่ออกอีกหรือไง ว่าทำไมฉันต้องมาหาเธอ หัดใช้สมองคิดเสียบ้างสิ ถ้าฉันไม่ลาออกเพราะเธอ เรื่องทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร" หญิงสาวต้องการให้เขาย้อนอดีต กลับไปสู่โลกแห่งความตาย เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด กมลเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความตาย โดยใช้กลิ่นเป็นข้ออ้าง (กลิ่นคือสัญญะของศพที่เราพบได้บ่อยๆ ในงานวรรณกรรม) และสุดท้ายต้องใช้ชีวิตตามลำพัง เช่นเดียวกับปลาทองตัวผู้ สัตว์เลี้ยงของเขาที่เพิ่งสูญเสียคู่ชีวิต

ผู้เขียนไม่ได้ตัดสินว่าการกระทำของกมลเป็นสิ่งผิดหรือถูก ความในใจของตัวละครถูกเปิดพื้นที่เอาไว้ให้คลุมเครือ หญิงสาวเพียงต้องการฉกฉวยผลประโยชน์ หรือรู้สึกลึกซึ้งกับอีกฝ่าย ถ้ากมลตัดสินใจแก้ไขอดีต ยื่นมือเข้าไปหาความตาย ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จ่าเฉลิม ในเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน เป็นตัวละครซึ่งตัดสินใจในทางตรงกันข้าม วันดีคืนดี เขารับทราบปมเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งถูกปกปิดมาตลอด (ผ่านทางจดหมายของผู้หญิงที่ตายไปแล้ว) จ่าตัดสินใจย้อนกลับไปสะสางอดีต ผลสุดท้ายเขากลายเป็นคนใหม่ "เย็นเหมือนน้ำแข็ง" และ "อะลุ่มอล่วย" กว่าแต่ก่อน ซ้ำยังยั่วล้อกับความตาย ใช้ภาพถ่ายศพที่เกิดอุบัติเหตุ มาเป็นเครื่องเตือนใจวัยรุ่นที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค จ่าเฉลิมจึงเป็นหนึ่งในตัวละครไม่กี่ตัวที่กล้าสบตากับความตาย และอาจเป็นตัวละครที่ลงเอยอย่างมีความสุขที่สุดในเล่ม

ตัวละครที่น่าสงสารที่สุดคือ "ผม" จิตรกรเร่ร่อนใน สามเหลี่ยมด้านไม่เท่า "ผม" ไม่ใช่เพียงแค่เพิกเฉยกับความตาย แต่ถึงขั้นปฏิเสธมันอย่างหน้ามืดตามัว ความตายปรากฏต่อหน้าตัวละคร ในรูปแบบของขั้วตรงข้าม -- นั่นคือการร่วมประเวณี -- ตามแนวคิดของฟรอยด์ ที่เชื่อมโยงระหว่างแรงขับสู่ความตาย (death drive) และแรงขับสู่การสืบพันธ์ (sex drive) จิตรกรผูกมิตรกับเด็กหญิงผู้มีใจให้เขา อายุคนทั้งสองต่างกันเกินรอบหนึ่ง เขาตั้งใจที่จะ "ดูแลเด็กคนนี้" โดยไม่แตะต้อง เหยียบย่ำความบริสุทธิ์ของเธอ ย้ำกับตัวเองเสมอว่ารู้ "เรื่องใดไม่ควรทำก็คือไม่ควรทำ" แต่สุดท้ายอาการหลงพร่ำเพ้อศีลธรรมแบบ "นักอุดมคติหลงยุค" กลับเป็นชนวนนำไปสู่จุดจบของความสัมพันธ์ การไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักหายใจไปพร้อมๆ กับความตายและการร่วมประเวณี สร้างบาดแผลกรีดลึกแก่คนที่เขาต้องการจะปกป้อง

ในเล่มนี้ ยังมีอีกสามเรื่องสั้นคือ จนอายุห้าสิบสาม ในหมู่บ้าน และ ที่ที่เราอยู่อาศัย โดยรวมแล้ว ชีวิตปกติ รวมเรื่องสั้นลำดับสองของจารี จันทราภา เป็นอีกผลงานอันยอดเยี่ยมที่อยากฝากฝัง แนะนำให้ลองหามาอ่านดู