N. Frye's "The Educated Imagination"
เราได้อ่าน The Educated Imagination ช้าเกินไป น่าจะหยิบมันขึ้นมาตั้งแต่เมื่อสอง สามปีที่แล้ว เมื่อเริ่มศึกษาทฤษฎีการวิจารณ์วรรณกรรมอย่างค่อนข้างจริงจัง หนังสือเล่มนี้ถอดความจากบทบรรยายทางวิทยุของฟราย ประเด็นคือ "ทำไมเราต้องเรียนวิชาวรรณกรรม" โดยฟรายสมมติให้ผู้ฟังเป็นนักเรียนในชั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนทฤษฎีการวิจารณ์เบื้องต้น สำหรับผู้เริ่มหัดเอาดีทางนี้ ด้วยความที่มันค่อนข้างสั้น ประกอบกับภาษาอังกฤษที่ใช้ก็ไม่ได้ยากเกินไปนัก จึงอยากแนะนำมากๆ ให้ไปลองหามาอ่านกันดู
ถึงจะ "เบื้องต้น" แต่ไม่ "ตื้นเขิน" แน่ๆ หลายสิ่งที่ฟรายพูดเป็นหัวข้อทฤษฎี ที่นักปรัชญาก็ยังคงถกเถียงกันมิจบสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ฟรายเชื่อว่าวรรณกรรมไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความจริง แต่มาจากวรรณกรรมด้วยกันเอง (พูดแบบภาษาเราก็คือ ประสบการณ์ในการอ่านหนังสือสำคัญกับการทำความเข้าใจและผลิตวรรณกรรมมากกว่าประสบการณ์ตรง) ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมวรรณกรรมของทุกชาติย่อมต้องสามารถสาวไปหาหนังสือต้นตำรับเล่มใดเล่มหนึ่งได้
ฟรายเสนอว่า สำหรับโลกตะวันตก หนังสือเล่มนั้นก็คือคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าคุณอาศัยอยู่ในโลกตะวันตก คงยากที่จะหลีกเลี่ยงอิทธิพลของ "วรรณกรรม" ชิ้นนี้
แต่ทฤษฎีตัวนี้ก็ก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือ แล้วในสังคมไทยเล่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระไตรปิฎกไม่ได้มีบทบาททางวัฒนธรรมกับชาวพุทธในเมืองไทย มากเท่าคัมภีร์ไบเบิล ถ้าเช่นนั้นวรรณกรรมไทยมีหนังสือต้นตำรับหรือเปล่า หรือต่อให้คนไทยไม่คุ้นเคยกับพระไตรปิฎก เป็นไปได้หรือเปล่าว่าตำนานมุขปาฐะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะส่งอิทธิพลแบบเดียวกับคัมภีร์ไบเบิล อะไรคือบทบาทของตำนานพุทธศาสนา เมื่อเทียบกับวรรณคดีไทยชิ้นเอกทั้งสี่เรื่อง และตำนานพื้นบ้าน
คำถามข้างบนนี้ไม่มีคำตอบ แต่มันนำไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เราเคยพูดไปแล้วว่าเป็นเรื่องน่าอับอายจริงๆ ที่คนไทยแทบไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเลย ตอนนั้นเราเชื่อว่าเป็นอคติแบบชาตินิยม ผนวกกับกำแพงภาษา แต่บัดนี้ เราตระหนักแล้วว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะศาสนาพุทธหินยาน (ซึ่งเป็นศาสนาหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีป) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพระไตรปิฎกมากเท่าศาสนาคริสต์ ดังนั้นประเทศไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ก็เลยไม่สามารถแบ่งปันวัฒนธรรมร่วมกันได้เท่ากับประเทศในทวีปยุโรป
ส่วนตัวเราว่าประเด็นนี้ "เร่งด่วน" อย่างยิ่ง ที่เราจะพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมพุทธศาสนาของประเทศเพื่อนบ้าน เราเชื่อว่า เพื่อการสร้างประวัติศาสตร์ของภูมิภาค (มาแทนที่ประวัติศาสตร์ชาตินิยม) การพยายามเข้าใจพุทธศาสนาน่าจะสำคัญไ่ม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศึกษาประวัติศาสตร์ หรือการเมืองเลย
ในบทสุดท้ายของ The Educated Imagination ฟรายพูดถึงประเด็นการเมือง และข้อจำกัดของภาษา วิธีคิดแบบ "เสรีชน" และวิธีคิดแบบ "ม็อบ" หลายอย่างก็ชวนให้นึกถึงคำกล่าวของซาร์ตใน What is Literature? ฟรายนิยมชมชอบบทกวีมากกว่าซาร์ต แต่จุดร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือ กวีที่ปราศจากความเป็น "เสรีชน" ก็คือกวีที่รู้จักแต่การเอาสำนวนซ้ำๆ ซากๆ (cliche) มาต่อกันให้ไพเราะด้วยสำเนียงคล้องจ้อง cliche คือเครื่องมือชั้นดีคนที่ไม่มีความคิด เพราะมันสามารถสร้างภาพลวงตาของการใช้สติปัญญา โดยที่จริงๆ ไม่มีเซลสมองส่วนใดเลยในหัวที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนั้น
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment