L. Carrington's "The Hearing Trumpet"


ตั้งแต่ตอนที่อ่าน Nadja เราก็ครุ่นคิดของเรามาตลอดว่าวรรณกรรมเซอเรียลเป็นอย่างไร มีใครเขียนแนวนี้บ้าง และจะเขียนให้ดีๆ สักเล่มได้อย่างไร (ให้เจาะจงกว่านี้คือ เขียนอย่างไรให้ออกมาดีกว่าที่เบรตัน บิดาแห่งวรรณกรรมเซอเรียลเขียน) อย่างที่เคยพูดไปแล้ว ปัญหาของวรรณกรรมเซอเรียลไม่ใช่ว่าคนอ่านรับความเหนือจริงไม่ได้ แต่มันจะแบ่งแยกตัวเองออกจากวรรณกรรมเหนือจริงแนวอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะสัจจนิยมมายา ซึ่งเหมือนจะเป็นแชมป์ ครองความเหนือจริงทางวรรณกรรมเอาไว้แทบทั้งหมด

แองเจลา คาเตอร์คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นคำตอบที่เราค้นหา ในจำนวนนักเขียนโปรดสิบกว่าคนของเรา เธอเขียนเรื่องแนวเหนือจริงอยู่คนเดียว กระนั้นก็ตาม เคยได้อ่านได้ยินมาว่านิยาย และเรื่องสั้นของคาเตอร์เป็นแนวตำนานนิยม (mythologism) มากกว่า surreal ซึ่งเราก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะ แม้จะยังไม่ชัดเจนในความแตกต่างระหว่างสอง genre นี้ พื้นฐานการเขียนของคาเตอร์อิงอยู่กับนิทาน ตำนานโบร่ำโบราณ มากกว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (ซึ่งแตกต่างจากศิลปิน surrealist อย่างมากริต หรือเดลี)

The Hearing Trumpet คือส่วนผสมของเซอเรียล และตำนาน ช่วงร้อยแปดสิบหน้าแรกเป็นนิยายเหนือจริง ว่าด้วยการผจญภัยของ "ฉัน" ในบ้านพักคนชรา (ด้วยอายุเก้าสิบสอง ตัวเอกของแคริงตันน่าจะเป็นตัวเอกที่ชราภาพสุดในนิยายเรื่องไหนๆ ) มีทั้งคดีฆาตกรรม ปริศนาลึกลับของแม่ชีในรูปวาด จิตแพทย์ที่สติแตกยิ่งกว่าคนไข้ และชมรมคนทรงเจ้า พอถึงยี่สิบหน้าสุดท้าย ใกล้จบนิยาย แคริงตันโยนความจริงทิ้ง และผัน The Hearing Trumpet ให้กลายเป็นตำนานนิยมเต็มตัว เริ่มจากเทวดาหกปีกบินหนีจากหอคอยคุมขัง แผ่นดินไหวถล่มโลกา และยุคน้ำแข็งมาเยือน

ความแตกต่างระหว่างช่วงแรก และช่วงใกล้จบของ The Hearing Trumpet รวมไปถึงความแตกต่างในสไตล์การเขียนของแคริงตัน และคาเตอร์ เป็นเรื่องน่าศึกษา สำหรับใครก็ตามที่อยากเขียน หรือเข้าใจนิยายแนวเหนือจริง โมทีฟเรื่องเพศของแคริงตันไม่ชัดเจนเท่าคาเตอร์ ขณะที่องค์ประกอบเหนือจริง และสมจริงในนิยายของคาเตอร์ปะปนกันอย่างแยกไม่ออก เราจะเห็นความสมดุล และกลศาสตร์ระหว่างสององค์ประกอบนี้ในนิยายของแคริงตัน เพราะนิยายแนวเหนือจริง ไม่ใช่การละทิ้งความจริงโดยสิ้นเชิง

ความล้มเหลวในนิยายแนวเหนือจริงของคนไทยที่เคยๆ อ่านมา คือการสร้างนิยายนามธรรม (abstract) ซึ่งหลุดจากกรอบความจริง และการเล่าเรื่องโดยสิ้นเชิง เราเชื่อว่านี่คือความคิดที่ผิดพลาด งานเขียน โดยเฉพาะนิยาย ถึงอย่างไรก็ต้องมีโครงสร้างการเล่าเรื่องปะปนอยู่ กระทั่งใน The Hearing Trumpet การเล่าเรื่องเพิ่งมาพังทลายในช่วงยี่สิบหน้าสุดท้าย จริงๆ แล้วเราชอบช่วงนี้มาก เป็นการส่งต่ออย่างเป็นธรรมชาติระหว่างแนวเหนือจริง และแนวตำนานนิยม ที่สำคัญคือมันไม่ยาวเกินไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เกิดช่วงกลางๆ เล่ม ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่า หากต้องอ่านอะไรมั่วๆ สั่วๆ ร้อยกว่าหน้า จะยังชอบมันได้อยู่หรือเปล่า

M. Kammen's "Visual Shock"


ถ้าความขัดแย้งด้านการเมืองในประเทศไทยช่วงสาม สี่ปีที่ผ่านมา จะมีข้อดีอยู่บ้าง ประการหนึ่งคือมันช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าราษฎรอาวุโสคนไหน "มีวิชา" และคนไหนเป็นแค่ "ราษฎรอาวุโส" ประเทศไทยนี่แปลกอย่างหนึ่งคือ ใครๆ ก็ชอบออกมาให้ความเห็นทางด้านการเมือง ไม่ว่าจะเต่าตุ่นสักแค่ไหน แต่พอเป็นเรื่องศิลปะ ต่อให้ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ก็ได้แต่ยิ้มๆ ผงกศีรษะ ท่องในใจว่าลางเนื้อชอบลางยา

หน้าที่ของศิลปะคือสร้างความขัดแย้ง สร้างข้อถกเถียงให้ผู้คนออกมาปะหมัดกันทางความคิด (จะได้ไม่เอาพลังงานไปปะหมัดกันในเรื่องอื่นที่คอขาดบาดตายยิ่งกว่า) พิพิทธภัณฑ์ศิลปะไม่ใช่สถานที่กล่อมเกลา หรือยกระดับจิตใจผู้ชมด้วยความสวยงาม พิพิทธภัณฑ์ต้องเป็นสนามรบ เป็นเวทีมวย เป็นหม้อต้มเดือด...เอาล่ะ ไม่เสมอไปหรอก แต่อย่างน้อย Visual Shock ก็นำเสนอแง่มุมนี้ของศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาหลักๆ ของ Visual Shock คือความขัดแย้งด้านศิลปะในประเทศอเมริกา บางอย่างก็เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ เช่นความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจมือถือสากปากถือศีล และศิลปินนักปฏิวัติ แต่บางความขัดแย้งก็แฝงแง่มุมอื่นด้วย อย่างงานศิลปะที่สร้างด้วยเงินภาษีราษฎร สมควรเป็นงานศิลปะที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงคนหมู่มากหรือเปล่า ป๊อปอาร์ต หรือศิลปะเพื่อมวลชนถือกำเนิดมาจากกระแสต่อต้านงานศิลปะยุคใหม่ (modern art) ซึ่งเข้าใจได้เฉพาะหมู่คณะ วาฮอล หรือลิคเคนสไตน์ดัดแปลงวัสดุซึ่งพบเห็น และถูกใช้ในชีวิตประจำวันมาเป็นงานศิลปะ แตขณะเดียวกันความ "เพื่อมวลชน" ก็รับใช้กลไกทางธุรกิจด้วย คำพูดของวาฮอลที่เด็ดมากคือ "การทำเงินเป็นศิลปะ การทำงานเป็นศิลปะ และการประสบความสำเร็จด้านธุรกิจคือศิลปะที่ดีที่สุด" (ไปๆ มาๆ ปัจจุบันป๊อปอาร์ตกลายเป็นงานศิลปะที่เข้าใจยากยิ่งกว่าโมเดิร์นอาร์ตเสียอีก เมื่อเอาคุณค่าทางธุรกิจมาคิดคำนวณแล้ว คนรุ่นใหม่ตั้งข้อกังขาว่าทำไมภาพกระป๋องซุปถึงราคาเป็นล้านได้)

ถึงจะอ่านไปขำไปใน "ความเฉิ่ม" ของคนอเมริกา แต่ขณะเดียวกันเราก็อดอิจฉาลึกๆ ไม่ได้ ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีการถกเถียงอะไรแบบนี้บ้าง คนไทยชอบคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของรสนิยมซึ่งไม่ควรนำมาทับเส้นกัน (ประกอบกับเราไม่มีโครงการทางศิลปะใหญ่ๆ เช่นรูปปั้นราคาเป็นล้านในสวนสาธารณะ) เท่าที่จำได้ ปมขัดแย้งในแวดวงวรรณกรรมเช่น โทษฐานที่รู้จักกัน ของอุดม แต้พาณิช กลายเป็นหนังสือขายดีสุดในประวัติศาสตร์ หรือหนังสือได้รางวัลซีไรต์ซึ่งหลายคนเห็นว่าไม่สมควรอย่าง ความน่าจะเป็น หรือ ความสุขของกะทิ ซึ่งเล่มหลัง ทีแรกเหมือนจะต้มเดือด แต่สุดท้ายไฟก็มอดลงไปเฉยๆ

ถ้าจะมีด้านหนึ่งที่ผู้คนไม่สมควรสามัคคีกัน ก็เรื่องศิลปะนี่แหละ เราควรสนับสนุนให้มีคนอย่างคุณวาณิช ที่ชอบติหนังสือดังๆ พวกผลงานซีไรต์ (แม้จะไม่ค่อยมีเหตุผลในบางทีก็ตาม) เพิ่มขึ้นในบ้านเรา ควรมีองครักษ์พิทักษ์ศิลปินออกมาโต้กับคนที่วิจารณ์นักเขียนที่พวกเขาชื่นชม ควรจะมีเวทีสำหรับให้คนสองประเภทนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน และเมื่อมีคนคนหนึ่งตะโกนออกมาว่า "??????? เป็นหนังสือที่ห่วยฉิบหาย!" คนที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ควรตบมือสรรเสริญเขา

ความขัดแย้งโด่งดังล่าสุดคือกรณีภาพยนตร์ แสงศตวรรษ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องการเซนเซอร์ ถ้าคิดแทนศิลปิน ก็เข้าใจได้ว่าทำไมผู้กำกับถึงผิดหวังที่หนังตัวเองไม่ได้ฉายในประเทศบ้านเกิด (ทั้งที่ไปคว้ารางวัลมากมายจากเมืองนอก) แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว หากประเด็นนี้ถูกสานต่อ (ไม่ใช่มอดดับไปเหมือน ความน่าจะเป็น และกระแสหลังสมัยใหม่) บางทีนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรดีๆ ก็ได้

J. Kristeva's "Desire in Language"


Desire in Language เป็นหนังสือที่หนัก และเหนื่อยมากกว่าจะอ่านจบได้ แต่ก็ยอมรับว่าคนเขียนเหนือจริงๆ จูเลีย คริสเตวาผนวกปรัชญาสัญศาสตร์ (และภาษาศาสตร์แขนงอื่นๆ ) เข้ากับจิตวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดไปยังสตรีศึกษา และศิลปะวิจารณ์ เป็นหนึ่งในหนังสือเปิดโลก ที่อ่านจบแล้วถอนหายใจเฮือก เหมือนเพิ่งท่องไปในทะเลทราย เปิดหูเปิดตา พบเห็นอะไรใหม่ๆ แต่พอกลับถึงที่พักก็อดไม่ได้จะทรุดตัวลงกับพื้น

มีสองประเด็นหลักที่เราจับได้ ประเด็นแรกต่อยอดมาจากเซอซัว เคยพูดไปแล้วว่าเซอซัวไม่เชื่อว่าคำเป็นหน่วยย่อยสุดของภาษา คริสเตวาไปไกลกว่านั้นอีก โดยเธอบอกว่าแม้แต่หนังสือก็ไม่ใช่หน่วยย่อย กล่าวคือไม่มีหนังสือเล่มไหนอยู่โดดเดี่ยวด้วยตัวเอง การอ่าน และการเขียนหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง คือการอ่าน และการเขียนหนังสือทุกเล่มที่อยู่ "ใกล้เคียง" กัน ไม่ว่า "ใกล้เคียง" ในที่นี้จะถูกนิยามในแง่ไหนก็ตาม (แนวเรื่อง ยุคสมัย คนเขียน และอื่นๆ ) มีศัพท์เฉพาะเรียกแนวคิดนี้ว่า "intertexual" หรือการผสานระหว่างตัวบทจากหนังสือหลายเล่ม ภาษาไทยเหมือนจะใช้คำว่า "วรรณกรรมล้อ" ซึ่งเป็นความหมายที่แคบชะมัด เพราะไพล่ไปแปลเอา "parody" ซึ่งเป็นซับเซทของ "intertexual" อีกที

แนวคิดนี้ไปไกลกว่าทฤษฎีวรรณกรรมไทยทั่วไปมาก กล่าวคือวรรณกรรมไม่ใช่ภาพสะท้อนทางสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการสะท้อนสังคม ที่ในขณะเดียวกันต้องสามารถบรรจุตัวเองในบริบทของความเป็นวรรณกรรมอีกด้วย หนังสือเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเปิดเปลือยความจริงทางสังคม ก็อาจกลายเป็นหนังสือที่ล้มเหลวได้ ถ้ามันไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นวรรณกรรม กล่าวคือเมื่อเอาหนังสือเล่มนั้นไปเทียบกับหนังสือเล่มอื่นที่ใกล้เคียงกัน แล้วพบว่าด้วยเหตุผลบางอย่าง มันถูกด้อยค่าลงในทันที

นี่คือสาเหตุที่ทำไมนักเขียนต้องอ่านหนังสือเยอะๆ และคือสาเหตุว่าทำไมประสบการณ์อย่างเดียวไม่อาจนำไปสู่วรรณกรรมชั้นเลิศ คุณวินทร์เคยให้สัมภาษณ์ได้ใจมาก ในยุคที่กระแสสถานการณ์ภาคใต้กำลังมาแรง คุณวินทร์เชื่อว่าแม้ตัวเขาจะไม่ได้ลงไปสัมผัสเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็สามารถเขียนหนังสือสักเล่มที่ตอบโจทย์สังคม ผ่านสายตาคนกรุงเทพ และอาจจะดีกว่าหนังสือของนักเขียนบางคนที่มาจากภาคใต้ และอยู่ในเหตุการณ์เสียด้วยซ้ำ

อีกแนวคิดหลักใน Desire in Language คือความแตกต่างระหว่างคุณค่าทางสัญญะ (semiotic) และสัญลักษณ์ (symbolic) ในงานศิลปะ สัญลักษณ์คือการอ่านเอาเรื่อง ส่วนสัญญะคือผลกระทบที่หยั่งรากลึกไปกว่านั้น อาจมาจากอิทธิพลบางอย่างในร่างกายเรา เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในดีเอนเอ คริสเตวาให้ความสำคัญกับทำนอง และจังหวะในงานเขียน บทกวีแม้ไม่มีคุณค่าทางสัญลักษณ์ แต่อย่างน้อยต้องมีคุณค่าทางสัญญะ กล่าวคือต้องมีท่วงทำนองที่ปลุกเร้าบางอย่างในตัวผู้อ่าน (ในภาพวาด รูปทรงคือคุณค่าทางสัญลักษณ์ ส่วนสีคือสัญญะ) ความคิดนี้ในแง่หนึ่งก็คือการเอาจิตใต้สำนึกของฟรอยด์มาพัฒนา โดยเชื่อมต่อกับทำนองของภาษานั่นเอง

เราไม่ใช่คนชอบอ่านกลอน เลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก แต่คริสเตวาคงนิยมความคิดนี้เอามากๆ ในบทหนึ่งเธอถึงกับเขียนกึ่งปฏิญญา กึ่งบทความที่เล่นกับจังหวะ และท่วงทำนอง อ่านแล้วก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ทำให้อยากรู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้จะเขียนนิยายประเภทไหนออกมา (นอกจากบทความแล้ว เธอเขียนนิยายออกมาสี่ห้าเล่ม เชื่อว่าคงได้อ่านในเร็ววันนี้)

C. Bukowski's "Ham on Rye"


อยากอ้างถึงบทความนี้ เพราะรู้สึกว่าเข้ากันดี กับที่นิยายกึ่งอัตชีวประวัติของบูคอฟสกี บทความดังกล่าวว่าด้วยความสวยงามทางวรรณศิลป์ และศีลธรรม โดยผู้เขียนตั้งคำถามว่าเราจะตัดสินความงามของนิยายผิลศีลธรรมเช่นเงาสีขาว ได้อย่างไร ต้องออกปากก่อนว่าเราไม่เคยอ่านเงาสีขาว หรือผลงานเรื่องใดของแดนอรัญเลย ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังจะพูดต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับนักเขียนแมวเครา

นิยายผิดศีลธรรมไม่ใช่ปรากฎการณ์แปลกใหม่ เราอาจแบ่งนิยายผิดศีลธรรมได้เป็นสามประเภท เช่นนิยายเพื่อชีวิต หรือสัจนิยมสาธารณ์ (socialist realism) การผิดศีลธรรมของผู้ร้าย นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในชีวิตพระเอก และส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกหดหู่ หรือฮึกเหิมต่อต้าน ตัวอย่างเช่น งู ของคุณวิมล ไทรนิ่มนวล หรือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ลาว คำหอม ประเภทที่สอง คล้ายๆ กัน คือนำเสนอเรื่องราวผิดศีลธรรมเพื่อสะท้อนความจริงในสังคม เป็นแนวสัจนิยม

ไม่ว่าจะแนวสัจนิยม หรือเพื่อชีวิตนิยม เป้าหมายของการผิดศีลธรรมในเรื่อง ก็เพื่อผลักดันให้คนอ่านเปลี่ยนแปลงสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ใครต้องเผชิญชะตาชีวิตยากลำบาก และความอยุติธรรมเฉกเช่นเดียวกับตัวเอก แม้ว่าเรื่องจะผิดศีลธรรม แต่เป้าหมายก็ยังคงเป็นการสร้างศีลธรรมในสังคม

ซึ่งแตกต่างจากประเภทสุดท้าย เรื่องแนวผิดศีลธรรมซึ่งถูกเขียนในยุคหลังๆ ผู้เขียนต้องการสื่อว่า ผิดศีลธรรมเพราะมันเป็นธรรมชาติ ศิลปินแนวนี้ชอบประนามผู้มีอำนาจมือถือสากปากถือศีล ว่าปฏิเสธธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องกิน ขี้ ปี้ นอน พวกเขานำเสนอพฤติกรรมผิดศีลธรรมเพื่อให้สังคมยอมรับแรงขับตามธรรมชาติ โดยพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า มันต่ำ หรือสูง สมควรที่จะแก้ไข หรือปกปิดไหม

ส่วนตัวเราคิดว่ามีความทวิมาตรฐานบางอย่างในงานศิลปะแนวนี้ กล่าวคือ พฤติกรรมผิดศีลธรรมที่พวกเขาอ้างว่าเป็นของธรรมชาติ มักเกี่ยวพันกับเพศรส สุราเมรัย หรือการพนัน สรุปสั้นๆ คือบาปคนจนทั้งหลายแหล่ ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มไหนที่บอกว่านักการเมืองโกงชาติเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือคนรวยเอารัดเอาเปรียบคนจนได้ ในคำพิพากษา เราจะรู้สึกว่าครูใหญ่เลวแสนเลว ขณะที่ฟักเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร ทั้งที่จริงๆ ต่างฝ่ายต่างผิดศีลกันคนละข้อ (ครูใหญ่ลักทรัพย์ ส่วนฟักติดสุรา) เอาความดีเลวมาชั่ง จะต่างกันสักกี่มากน้อย

จะอย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องผิดศีลธรรมสามแนวที่เอ่ยมาข้างต้นนี้ ก็ยังผิดศีลธรรมในกรอบของศีลธรรม กล่าวคือ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าศีลธรรมมีอยู่จริง คนเราถึงผิดศีลธรรมได้

เกริ่นมายาวเหยียด เพราะจะบอกว่างานเขียนของบูคอฟสกีอยู่ "นอกศีลธรรม" ใน Ham on Rye เราไม่อาจบอกได้ว่าเฮนรี ชินาสกีคือตัวละครผิดศีลธรรม (ประเด็นพระเจ้าถูกนำมาเล่นใหม่ซ้ำไปซ้ำมา เพียงเพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ว่าชินาสกีไม่เชื่อในพระเจ้า และพระเจ้าก็ไม่เชื่อในชินาสกีเช่นกัน) คนที่เข้าใจว่าบูคอฟสกี้จงใจแสดงความดิบเถื่อนในสันดานมนุษย์ (เฉกเช่นเดียวกับนิยายผิดศีลธรรมประเภทที่สาม) เป็นการอ่านที่ผิด

และชินาสกีใน Ham on Rye ก็ไม่ได้ชั่วช้าอะไรนักหนา ชินาสกีใน South of No Noth อาจข่มขืนผู้หญิง และต่อยผู้ชายจนเลือดกบปาก เก้าปีผ่านไป เมื่อบูคอฟสกีลงมือเขียนนิยายอัตชีวประวัติ เขาไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ชินาสกีเป็น "จินตนาการสมปรารถนา" (ชินาสกี้ในเล่มนี้ไม่เคยเปิดซิงตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย) Ham on Rye ไม่ใช่นิยายที่เรียกร้องให้ผู้คนยอมรับพฤติกรรมผิดศีลธรรม แต่มันบอกให้คนอ่านโยนกรอบศีลธรรมทิ้ง และใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ทำให้คนที่เรารักภาคภูมิใจ และไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นนิยายหลังสมัยใหม่ (postmodern) อย่างแท้จริง

J. E. Stiglitz's "Globalization and its Discontents"


ทุกปี ปีละเล่มสองเล่ม เราจะหาหนังสืออย่าง Globalization and its Discontents มาอ่าน หนังสือซึ่งพูดอะไรที่โดยพื้นฐานแล้วเราไม่เห็นด้วย หนังสือที่มั่นใจว่าอ่านแล้วต้องรู้สึกขัดแย้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อไม่ปิดกั้นตัวเอง และถือโอกาสออกไปสำรวจอาณาบริเวณของข้าศึกว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว

เกริ่มมาแบบนี้ ใช่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับสติกลิทซ์เอาเสียเลย (ต่อให้ไม่เห็นด้วย เขาก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ส่วนความรู้เศรษฐศาสตร์เรายิ่งกว่างูๆ ปลาๆ อีก) ตั้งแต่บทแรก สติกลิทซ์ประกาศว่า เขาไม่ปฏิเสธแนวคิดของคนที่เห็นต่างจากเขา แต่คนเหล่านั้นมักยึดมั่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา Globalization and its Discontents จึงถูกเขียนมาเพื่อตีกบาลพวกเขา ให้หัวอ่อนลงหน่อย จะได้ยอมรับความเห็นตรงข้ามบ้าง

เจาะจงกว่านี้คือสติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เขียนหนังสือเล่มนี้สำหรับชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่ศรัทธาลัทธิทุนนิยมตั้งแต่แรก ดังนั้นถ้าคนไทย ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมเป็นไม้เบื่อไม้เมากับไอ้คำสั้นๆ สามพยางค์นี้ อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ควรอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อ่านระหว่างบรรทัด อ่านสิ่งที่สติกลิทซ์ไม่ได้เขียน (เราถึงกับโทรศัพท์ไปถามเพื่อนที่เรียนเศรษฐศาสตร์เลยว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เขาเขียนหนังสือกันแบบนี้หรือ คำตอบคือใช่ นักเศรษฐศาสตร์มักจะโผงผาง พูดจาสุดโต่ง เพราะพวกเขาถือว่า เสนออะไรไป อย่างไรก็มีอีกโรงเรียนหนึ่งมาคอยคัดง้างความเชื่อของพวกเขาอยู่ดี)

ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าสติกลิทซ์จะต่อต้านทุนนิยมหรืออะไรหรอก เขาไม่ได้ต่อต้านกระทั่งโลกาภิวัฒน์เหมือนในชื่อหนังสือด้วยซ้ำ เป้าโจมตีของ Globalization and its Discontents คือองค์กรการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ IMF (สติกลิทซ์ไม่ได้พูดถึงธนาคารโลกในแง่ลบเลย เพราะตัวเขาเองก็เคยทำงานอยู่ที่นั่น ซ้ำยังแอบชื่นชมด้วย บอกแล้วว่านักเศรษฐศาสตร์ต้องสุดโต่ง) สรุปสั้นๆ คือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศตั้งแต่รัสเซีย แอฟริกา จนถึงเอเชีย มีต้นเหตุมาจาก IMF และการ "แก้ปัญหา" ของ IMF ส่งผลเสีย มากกว่าผลดี

ถ้าให้สรุปสั้นๆ ในภาษาของเราเอง ความผิดพลาดหลักของ IMF คือการสับสนระหว่าง diachronic และ synchronic rules หรือกฎที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ และกฎที่ใช้ในประเทศซึ่งพัฒนาแล้ว (ศัพท์สองตัวนี้ไม่อยู่ใน Globalization and its Discontents หรอกนะ แต่มาจาก Courses in General Linguistics บอกแล้วว่าเล่มนั้นของเขาดีจริงๆ ) ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เอกชนเข้ามาดำเนินการจัดการทรัพยากร แต่ไม่ได้หมายความว่า การทำประเทศด้อยพัฒนา ให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องโอนถ่ายทรัพยากรจากหน่วยรัฐ ไปยังหน่วยเอกชนในทันที แบบนั้นเรียกว่า shock treatment ซึ่งเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในรัสเซีย

ในฐานะที่มีรุ่นพี่ใจดีทำงานอยู่ IMF เราอยากออกตัวปกป้องสถาบันการเงินระหว่างประเทศสถาบันนี้สักเล็กน้อย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เห็นด้วยกับสติกลิทซ์หรอกนะ แต่เราเข้าใจความขัดแย้งระหว่างปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของสองโรงเรียนนี้ IMF เชื่อว่าประเทศที่ยากจน ต้องทำตัวเป็นประเทศยากจน รัดเข็มขัด ประหยัดตัง และสร้างสมดุลบัญชี ให้รายได้ มากกว่ารายจ่าย สติกลิทซ์ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขามองว่าช่วงวิกฤติเงินบาทลอยตัว IMF บังคับให้ประเทศไทยนำเข้า มากกว่าส่งออก ทำให้วิกฤติการเงินแพร่ไปยังอินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี และประเทศอื่นๆ เลยยิ่งส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมเลวร้ายลงไปใหญ่ พูดอย่างง่ายๆ โง่ๆ สติกลิทซ์เชื่อว่า ประเทศยิ่งยากจน ก็ยิ่งต้องมือเติบ (อย่างถูกวิธี) คืออัดโครงการพื้นฐานสังคม (infrastructure) เพื่อสร้างงาน ความคิดนี้ค่อนข้างขัดแย้งกับปรัชญาพอเพียงแบบไทยๆ (ซึ่งใกล้เคียงกับปรัชญา IMF มากกว่า)

ไม่ทันไรก็ทำตัวเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้วเรา ที่กล่าวไปนี้เป็น Stiglitzism ฉบับ bastardized มากๆ เพราะวิกฤติมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน จะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้หมดคงไม่ได้ จริงๆ เราสนใจเรื่องนี้มาก แอบอยากเขียนต่อว่าถ้าสติกลิทซ์ได้มีโอกาสพูดถึงนโยบายทุนนิยมสุดโต่งของคุณทักษิณ เขาจะวิจารณ์มันในแง่ไหนบ้าง แต่วันนี้ขี้เกียจคุยเรื่องการเมือง ขอจบแค่นี้แล้วกัน

F. de Saussure's "Course in General Linguistics"


ถ้าให้จัดอันดับสิบหนังสือยอดเยี่ยมที่เราอ่านประจำปีนี้ แน่นอนว่าต้องมี Course in General Linguistics แน่ๆ ไม่บ่อยนักจะได้อ่านหนังสือสักเล่มซึ่งซับซ้อน ลุ่มลึก แต่ก็อ่านง่าย และสวยงามในขณะเดียวกัน

Course in General Linguistics น่าจะเป็นต้นกำเนิดของวิชาสัญศาสตร์ (semiotics) ที่มีอุมเบโต เอโคเป็นนักวิชาการหัวหอก ใน Course in General Linguistics เซอซัวสร้างวิชาการแขนงใหม่นี้ขึ้นมา โดยแยกสัญศาสตร์ออกจากภาษาศาสตร์ และปรัชญาการสื่อสารแขนงอื่นๆ เช่นนิรุกติศาสตร์ (Philology) หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ภาษาผ่านศิลาจารึก และบันทึกชนเผ่า (นักนิรุกติศาสตร์ที่โด่งดังของไทยได้แก่จิต ภูมิศักดิ์) โดยให้เหตุผลว่าภาษาเขียนเป็นแค่รูปเงาของ "ภาษา" หรือการจับ "ภาษา" มาแช่แข็งให้หยุดนิ่งคงที่ผ่านวันเวลา "ภาษา" ของเซอซัวหมายถึงระบบโครงสร้างระหว่างสัญลักษณ์ และความหมาย

ใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะพบว่า "ภาษา" เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากๆ เพราะมันมีทั้งความสุ่มมั่ว (random) และความหยุดนิ่ง (static) ได้พร้อมกัน ไม่มีเหตุผลใดที่การผสมกันระหว่างพยัญชนะ ต เต่า และ สระอา หรือ "ตา" จะหมายถึงอวัยวะที่ใช้มองเห็น แต่ขณะเดียวกัน อยู่ดีๆ เราไม่อาจลุกขึ้นมาประกาศว่าตั้งแต่บัดนี้อวัยวะที่ใช้มองเห็นคือ "ตู" น่าทึ่งไปกว่านั้น คือภาษาหยุดนิ่งได้ เพราะมันสุ่มมั่ว ไม่มีใครสามารถยืนยันว่า "ตา" ไม่เหมาะจะเป็นอวัยวะที่ใช้มอง เพราะถ้าเราทำแบบนั้น ก็อาจมีคนตั้งคำถามว่า ทำไม "หู" ถึงเหมาะจะเป็นอวัยวะที่ใช้ฟังเสียง เมื่อนั้นก็หมายถึงการพังทลายของภาษา

ความสุ่มมั่วคือความยุติธรรมของสังคม คนเราไม่อาจถกเถียงกับความสุ่มมั่วได้ (แม้ว่านักสังคมนิยมเช่นจิตร ภูมิศักดิ์จะพยายามทำเช่นนั้นมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วก็ตาม)

จริงๆ คงมีคนตระหนักมาตั้งนานแล้วว่า "ภาษา" คือความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์ และความหมาย แต่ที่แปลกใหม่ในระบบความคิดของเซอซัวคือการจับโครงสร้างนิยาม (Structuralism) มาอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น "มานีมีตา" เวลาเราอ่านประโยคนี้ เราไม่ได้คิดว่า สัญลักษณ์ "มานี" เป็นประธานหมายถึงเด็กผู้หญิงชื่อมานี กระทำกิริยา "มี" และสิ่งที่เธอมีนั้นคือ "ตา"

การคิดแบบข้างบนคือการแยกแต่ละคำออกมาเป็นหน่วยย่อยของภาษา แต่เซอซัวเชื่อว่าภาษาคือสิ่งที่ไม่อาจแตกย่อย กล่าวคือเวลาเราอ่านประโยค "มานีมีตา" ความหมายของ "มี" และ "ตา" ได้แทรกอยู่ใน "มานี" ตั้งแต่ต้น เมื่อเราเจอสัญลักษณ์ "มานี" เราจะคิดในใจทันทีว่าประธานตัวนี้ต้องการกริยา อาจจะเป็น "มี" "บิน" "ถีบ" หรือว่า "วิ่ง" ซึ่งถ้าเป็น "มี" หรือ "ถีบ" ก็ต้องมีกรรมแทรกอยู่ในความหมายของ "มานี" ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความหมายของคำสามคำ "มานี" "มี" และ "ตา" แทรกสอด และหลั่งไหลเข้าไปยังคำอื่นๆ ที่อยู่ในประโยคเดียวกัน

ความคิดนี้เจ๋งโคตรๆ และเราเชื่อว่าจริงมากๆ ลองเปรียบเทียบสี่ประโยคนี้ดู

มานีมีตา
Manee has eyes.
Manee hat Augen.
Maneesan wa, me ka imasu.

ยิ่งภาษาที่เราอ่านไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ การหลั่งไหลของความหมายไปยังคำที่อยู่ใกล้เคียงก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น คนที่พอรู้ญี่ปุ่นงูๆ ปลาๆ อย่างเรา พอเจอประโยคที่สี่ ต้องมาค่อยๆ ตีสัญลักษณ์ทีละตัว ก่อนนำความหมายมาประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากการอ่านสองประโยคแรกอย่างชัดเจน

นอกจากความคิดจะสุดยอดแล้ว เซอซัวยังอธิบายมันได้อย่างเรียบง่าย และสง่างาม ใครที่อ่านบลอคนี้ไม่เข้าใจ แต่สนใจสัญศาสตร์ ขอให้รีบไปหา Course in General Linguistics มาอ่านโดยด่วน เพราะนอกจากเข้าใจง่ายแล้ว ยังมีรูปประกอบชัดเจน และสวยงามอีกด้วย

as the world falls down


คืนนี้เหงาจัง ทั้งที่จริงๆ วันนี้มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นกับเรา แต่ก็คงเหมือนที่เขาพูดๆ กันนั่นแหละ ว่าความเหงา คือการที่เรามีเรื่องน่ายินดี แต่ไม่มีใครแบ่งปันความสุขนั้น หรือบางทีอาจเป็นเพราะไปดูหนังเรื่อง The Wrestler มา หนังดีมาก ดูไปร้องไห้ไปเลย เรื่องของผู้ชายที่ล้มเหลวในชีวิตส่วนตัวโดยสิ้นเชิง แต่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคือกีฬามวยปล้ำที่เขารัก หรืออาจเพราะมาริสา โทเมหน้าตาคล้ายๆ ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เราอยู่ด้วยในคืนวันคริสมาสต์ปีที่แล้ว...

ขอฝากเพลงเหงาๆ สักเพลง ในคืนนี้แล้วกัน จากภาพยนตร์เรื่อง Labyrinth ขับร้องโดยเดวิด โบวี (จริงๆ เพลงเอกของ The Wrestler ที่บรูซ สปริงทีนร้องก็เพราะมากๆ เช่นกัน)
As such a sad love
Deep in your eyes, a kind of pale jewel
Open and closed within your eyes
I'll place the sky within your eyes
รักแสนโศกา ในดวงตาเธอ ประกายริบหรี่ ดุจดังมณีร้าว...ฉันขอระบายนภาในตาคู่นั้น
There's such a fooled heart
Beating so fast in search of new dreams
A love that will last within your heart
I'll place the moon within your heart
หัวใจอันโง่งม ยังตามหาความฝันใหม่ และรักที่ยืนยง...ฉันขอวางจันทราในฤทัยเธอ
As the pain sweeps through
Makes no sense for you
Every thrill has gone
Wasn't too much fun at all
But I'll be there for you
As the world falls down
แสนปวดร้าวทรมาน ไม่อาจเอ่ยบอกใคร ความตื่นเต้นละเลือนหาย ความสนุกจากมลาย แต่ฉันจะอยู่ที่นั่น ตราบวันสิ้นโลกา
I'll paint you mornings of gold
I'll spin you valentine evenings
Though were strangers till now
Were choosing the path between the stars
I'll leave my love between the stars
ฉันจะระบายอรุณรุ่งให้เป็นสีทอง สายัณต์ให้เป็นสีชมพู แม้เราเป็นแค่คนแปลกหน้า แต่เราจะท่องจักรวาลไปด้วยกัน และฝากรักไว้กับดวงดาว
As the pain sweeps through
Makes no sense for you
Every thrill has gone
Wasn't too much fun at all
แสนปวดร้าวทรมาน ไม่อาจเอ่ยบอกใคร ความตื่นเต้นละเลือนหาย ความสนุกจากมลาย
...But I'll be there for you
As the world falls down...
...แต่ฉันจะอยู่ที่นั่น อยู่กับเธอ ตราบวันสิ้นโลกา...

J. Mitchell's "Psychoanalysis and Feminism"


ก่อนที่ The Interpretation of Dreams จะได้ถูกตีพิมพ์ในปี 1899 ฟรอยด์คงคาดไว้อยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้คงก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน (นี่คือตำราต้นกำเนิดของปมออดิปุส ลูกชายฆ่าพ่อเพื่อเอาแม่มาเป็นเมีย) แต่เป็นการต่อต้านในลักษณะใด ฟรอยด์จะรู้ล่วงหน้าหรือเปล่าว่าไม่ใช่โบสถ์ หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่เป็นนักวิชาการฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และกลุ่มสิทธิสตรีที่เป็นหัวหอกโต้แย้งแนวคิดของเขา ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นทฤษฎีของฟรอยด์ถูกมองว่าเป็นเครื่องมืออุดมคติของชนชั้นปกครอง

Psychoanalysis and Feminism ถูกตีพิมพ์ประมาณปี 1970s จะมองว่ามันคือจดหมายรักของมิทเชล แด่ฟรอยด์ ศัตรูคู่อาฆาตของนักสิทธิสตรีเช่นเธอก็ได้ หลักๆ ของหนังสือเล่มนี้คือวิภาษวิธีจิตวิเคราะห์ โดยมิทเชลพูดถึงทฤษฎีของฟรอยด์ (thesis) ทฤษฎีโต้ฟรอยด์ ทั้งจากค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายเฟมินิสต์ (antithesis) ก่อนจะปิดท้ายด้วยการผูกสองทฤษฎีนี้เข้าด้วยกัน (synthesis)

มิทเชลยกตัวอย่างนักคิดโต้ฟรอยด์จากค่ายคอมมิวนิสต์มาสองคน คือวิลเฮม ไรช และอาร์ ดี แลงก์ สารภาพเลยว่าไม่ค่อยประทับใจไรชเท่าไหร่ รู้สึกหมอเป็นพวกฉลาดแบบแกนๆ รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อ่านฟรอยด์ไม่แตก แล้วยังดันทุรังไปโต้ (ว่ากันจริงๆ ก็เหมือนพวกนักวิชาการหัวเอียงซ้ายส่วนใหญ่นั่นแหละ ชี้ๆ หน้าได้เลยว่ามีสักกี่คนที่เข้าใจทุนนิยม) แลงก์น่าสนใจกว่ามาก เขากล่าวว่าพัฒนาการของเด็กชาย และเด็กหญิงตามที่ฟรอยด์เสนอ (ปมออดิปุส ความอิจฉาองคชาติ การกลัวถูกตอน และอื่นๆ ) เป็นจริงได้เฉพาะแต่ในสังคมทุนนิยมเท่านั้น ซึ่งตรงนี้คล้ายๆ กับแนวคิดของไซมอน ดี บัวเวียร์ นักสตรีวิทยา ที่บอกว่าทฤษฎีของฟรอยด์ใช้ได้เฉพาะในสังคมที่เพศผู้เป็นใหญ่

Psychoanalysis and Feminismมีประเด็นน่าสนใจเยอะ แต่เหมือนมิทเชลสรุปรวบยอดแนวคิดของคนอื่น มากกว่าจะพยายามพูดถึงอะไรแปลกใหม่ หรือที่เป็นของตัวเอง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเรียนลัดจิตวิเคราะห์ สตรีวิทยา และจิตวิเคราะห์-มาร์กซิส (ซึ่งเราเองก็อยู่ในกลุ่มนี้) จนกว่าจะถึงวันที่เราอ่าน Ecrits รู้เรื่อง Psychoanalysis and Feminism คงเป็นหนึ่งในบันไดที่ช่วยให้เราก้าวไปถึงวันนั้น

J. Rose's "Sexuality in the Field of Vision"


เราชอบ Carrie มาก ไม่ว่าจะเป็นฉบับหนังของเดอพัลมา หรือนิยายของคิงก์ Carrie เป็นหนึ่งในนิยายเล่มแรกๆ ที่เราอ่านเป็นภาษาอังกฤษ (Thinner ของคิงก์เหมือนกันคือเล่มแรก) ฉบับหนังก็ดู และหลงรัก(?)มาตั้งแต่เด็ก กระนั้นถ้าจะมีอะไรที่เราอยากเปลี่ยน ก็คือ split screen ช่วงแครีเผางานพรอม กำลังอินอยู่ดีๆ โดน split screen เข้าไปปุ๊บ รู้สึกเหมือนถูกซัดให้หลุดออกจากโลกของภาพยนตร์ทันควัน

ใน Sexuality in the Field of Vision โรสบอกว่าเธอชอบหนังเรื่องนี้เช่นกันโดยเฉพาะฉากนี้ นักจิตวิเคราะห์สตรีวิทยาผู้นี้เชื่อว่าภาพยนตร์คือศิลปะแห่งการนำเสนอ (representation) เสน่ห์ของภาพยนตร์คือผู้เสพสามารถ disavowal หรือแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ตนกำลังดู อีกนัยหนึ่งคือสะกดจิตตัวเองว่าสิ่งที่ฉันเห็นมันไม่จริง (เป็นแค่ภาพ) แต่ตอนนี้ฉันจะยอมโง่ และเชื่อว่ามันคือความจริงไปก่อน พูดง่ายๆ สำหรับโรสแล้ว หนังที่ดีต้องมีความ meta อยู่บ้าง ไม่ใช่หลอกให้คนดูเชื่อสนิทตั้งแต่ต้นจนจบ (ใน Femme Fatale ภาพยนตร์ยุคหลังของเดอพัลมาก็มี split screen เหมือนกัน แต่เหมือนใช้เป็นเครื่องมือหลอกคนดู ให้อินไปกับเรื่องมากกว่า เช่นเดียวกับ split screen ของอังลีใน The Incredible Hulk)

อะไรคือคุณค่าของหนังที่ซัดคนดูออกจากโลกแห่งภาพยนตร์? โรสอ้างลากอง ผู้กล่าวว่าภาษา อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานเชื่อมต่อปัจเจกและโลกภายนอก คือศาสตร์แห่งการนำเสนอเช่นกัน เมื่อเราพูดถึง "สุนัข" คำนาม "สุนัข" ถูกใช้แทนสิ่งที่ไม่อยู่ตรงหน้า มิเช่นนั้นก็คงใช้อวัจนภาษาชี้ไปที่สุนัขเลยจะสะดวกกว่า แต่ภาษาถูกใช้ในชีวิตประจำวันจนเราลืมคุณสมบัติความเป็นปริทรรศน์ของมันไปเสีย การชมภาพยนตร์ก็คือการถูกกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงความซับซ้อนตรงนี้

หนังอีกเรื่องที่โรสชอบคือ Coma โดยเธอให้เหตุผลว่าตัวเอกเป็นผู้หญิง สืบสวนคดีฆาตกรรมในโรงพยาบาล ซึ่งธรรมดาบทบาทนี้มักเป็นของตัวละครชาย ถึงจะไม่มีเทคนิกทางภาพยนตร์แปลกๆ (ผู้กำกับ Coma ไม่ใช่ใครอื่น ก็ไมเคิล คริชตันนี่แหละ) แต่การที่ซูซาน ซาแรนดอนแสดงนำให้ "ภาพยนตร์สไตล์ฮิชคอก" ก็บ่งบอกถึงความ meta แล้ว โรสจึงอดไม่ได้จะผิดหวังนิดๆ เมื่อสุดท้ายก็เป็นไมเคิล ดักลาสขี่ม้าขาวมาช่วยนางเอก (ไม่รู้เหมือนกันโรสจะคิดอย่างไรกับหนังซุปเปอร์ฮีโรหญิงในปัจจุบัน)

พูดเรื่องหนังมาเสียยาว จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นแค่ติ่งเดียวเองของ Sexuality in the Field of Vision หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านยากมาก โรสพูดถึงสตรีวิทยาซึ่งพัฒนามาจากจิตวิเคราะห์ โดยเธอเน้นว่าความแตกต่างระหว่างผู้หญิง และผู้ชาย คือโครงสร้างหลักของภาษา พูดกันอย่างสุดโต่ง จนกว่าเด็กจะเรียนรู้ และสำนึกในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง (ขณะเดียวกันก็แยกแยะตัวเองจากเพศตรงข้ามได้) พัฒนาการทางภาษาไม่อาจเกิดขึ้นในตัวเด็กคนนั้น

ยังมีอะไรที่เราต้องศึกษาอีกมาก ถ้าวันหลัง ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติมเมื่อไหร่ คงได้แวะเวียนมาพูดถึงมันอีก

S. Jackson's "The Melancholy of Anatomy"


เชลลี แจคสันเคยมาพูดที่มหาวิทยาลัยเราด้วย จำหัวข้อสัมนาไม่ได้แล้ว คุ้นๆ ว่านิยายเหนือจริงๆ อะไรสักอย่างแล้วตบท้ายด้วย "...ลูกสาวของแองเจลา คาเตอร์" ผู้สัมนานอกจากแจคสัน ยังมีนักเขียนหญิงอีกสามคน ต่างล้วนเขียนหนังสือในสไตล์ของแองเจลา คาเตอร์ (หนึ่งในนั้นคือเอมี เบนเดอร์ อาจารย์ที่สอนวิชาการเขียนให้กับเรา จำได้ว่าเธอยังเคยเอาเรื่องสั้น In the Company of Wolves ของคาเตอร์ มาให้เราอ่านในชั้นเรียนเลย)

The Melancholy of Anatomy ดีกว่าที่คาด บางเรื่องก็ชวนให้นึกถึง Cosmicomic ซึ่งเราถือว่าเป็นสุดยอดรวมเรื่องสั้น เรื่องที่ดีสุดในเล่มนี้พอฟัดพอเหวี่ยงกับผลงานของคาลวิโนอยู่เหมือนกัน (โดยเฉพาะ Blood ว่าด้วยผู้หญิงกลุ่มหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ขัดล้าง เช็ดถูเลือดพระแม่ธรณี ผู้หญิงเหล่านี้ต้องลงไปสำรวจโพรงใต้ดินซึ่งต่อไปยัง "จิ๋ม" ของพระแม่ธรณี และทุกๆ เดือนจะมีเลือดประจำเดือนไหลออกมา ถ้าบอกว่าคาลวิโนเขียน Blood สำหรับ Cosmicomic ภาคสาม ก็พอจะเชื่อได้ไม่ยาก) แต่ไปเสียคะแนนตรงไอ้เรื่องอื่นๆ จากสิบสามเรื่องสั้นในเล่ม ที่สุดยอดจริงๆ มีสักสอง หรือสาม และที่สอบไม่ผ่าน มีอีกครึ่งหนึ่งได้

The Melancholy of Anatomy ถูกแบ่งเป็นสี่บทตาม "ธาตุอารมณ์" ทั้งสี่ choleric, melancholic, phlegmatic และ Sanguine โดยแต่ละบทแบ่งเป็นสามเรื่องย่อย บวกกับเรื่องสั้น Heart เปิดเล่ม ธาตุอารมณ์สี่ชนิดนี้มีความหมาย แต่รู้สึกว่าไม่สัมพันธ์กับสามเรื่องสั้นในบทขนาดนั้นแฮะ เลยคิดว่าแจคสันตั้งไว้เท่ๆ มากกว่า

ชอบ "โจทย์" ของแจคสันในเล่มนี้ เธอจงใจเล่นกับ "คำ" และ "หมายความ" จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคำเรียกส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่เราคุ้นเคยดี ถูกใช้ในความหมายอื่น เช่นใน Sperm สเปิร์มคือสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่ง กึ่งๆ ซอมบี้ กึ่งๆ ม้า รสโอชา แต่ถ้าไม่ควักสมองออก จะไม่มีวันตาย สาวๆ ชอบเอามาเลี้ยงตอนยังเป็นตัวอ่อน แต่พอโตขึ้นมา ก็ดุร้ายใช่เล่น หรือ Foetus ซึ่งตัวอ่อนในเรื่องหมายถึงมนุษย์ต่างดาว (หรือสิ่งมีชีวิตไม่จำกัดนิยามอันมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมนุษย์ต่างดาว) ตอนไปฟังแจคสัน ก็คุ้นๆ ว่าเธอจะพูดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "คำ" และ "ความหมาย" และการย่อยแยกโครงสร้างของภาษา

ใน Nadja ได้พูดไปแล้วว่าปัจจุบัน ไม่ค่อยมีใครเขียนนิยายเซอร์เรียล กรณีแจคสัน เราอยากเรียกมันว่าเรื่องสั้น "ทดลองย่อยแยก" มากกว่า ยกเว้น Egg และ Hair ซึ่งได้บรรยากาศแบบเซอร์เรียล Hair เป็นเรื่องสั้นที่ไม่มีอะไรน่าจดจำเลย ยกเว้นแค่ย่อหน้าเดียว เมื่อตัวเอกหญิงบรรยายว่าหลังจากเขียนจดหมายรัก และเซนต์ชื่อเสร็จ อยู่ดีๆ ลายเซ็นของเธอมันก็ติดปากกาขึ้นมาด้วย เธอถึงเพิ่งตระหนักว่าตัวอักษรทั้งหมดที่เธอเขียน จริงๆ คือเส้นผมยาวๆ และเมื่อเธอยกปากกาขึ้น ทุกอย่างก็หายสูญไปเหลือเพียงเส้นผมติดปลายปากกา สุดยอด! นึกถึงตอนไปดูภาพของมากริต บางภาพชอบมากถึงขนาดว่า ถ้าเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง แล้วยัดภาพสวยๆ แบบนี้ลงไปให้คนจดจำได้ ก็ถือว่าสอบผ่านแล้ว

ประทับใจแจคสันจากสัมนาคราวนั้นมาก (เธอยังเล่าให้ฟังถือ Skin Project ซึ่งเป็นการสักคำแต่ละคำจากเรื่องสั้นเรื่องใหม่ของเธอ ลงบนผิวหนังอาสาสมัคร 1000 คน) จริงๆ แล้วก็ประทับใจหมดทั้งสี่คนเลย ว่ากันตรงๆ ในทะเลอันกว้างใหญ่ของวรรณกรรมอเมริกา ลูกสาวสี่คนนี้ยังจัดว่าอยู่ในขั้น "ปลายแถว" แต่พอฟังพวกหล่อนพูด ทั้งอึ้ง และทึ่งว่าทำไมถึงได้ชาญฉลาดกันขนาดนี้ พูดถึงความแน่นทางด้านทฤษฎีวรรณกรรมแล้ว นักเขียนชั้นนำของเมืองไทยชิดซ้ายกันเป็นแถว

I. Murdoch's "The Red and the Green"


ถ้าให้ตอบสั้นๆ ว่าชอบไหม คงตอบว่า "ไม่ชอบ" แต่ The Red and the Green ก็เป็นนิยายที่มีประเด็นให้หยิบยกมาพูดคุยได้ร้อยแปด ประการแรกเพราะมันต่างจากเล่มอื่นของผู้เขียนค่อนข้างมาก เมอดอชเกิดในปี 1918 นิยายส่วนใหญ่ของเธอจึงเซ็ทในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีบรรยากาศที่ "ไร้กาล" เป็นเรื่องของตัวละครในจักรวาลปิด อันไม่เกี่ยวไม่ข้องใดๆ กับประวัติศาสตร์ เว้นแต่ทฤษฎีประวัติศาสตร์ และการเมืองซึ่งตัวละครถกเถียงกันเพื่อความบันเทิงของผู้อ่าน

The Red and the Green คือนิยายที่บรรจุตัวเอง (อย่างไม่แนบเนียน) ลงไปในประวัติศาสตร์ (หรือจะพูดว่าบรรจุประวัติศาสตร์ลงไปในนิยายอย่างไม่แนบเนียนก็ได้) เหตุเกิดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ก่อนเมอดอชจะเกิดสามปี) เมื่อหน่วยกู้ชาติไอแลนด์ทำสัญญาอย่างลับๆ กับรัฐบาลเยอรมัน ว่าจะช่วยช่วยก่อศึกในบ้านให้อังกฤษ โดยแลกกับอิสรภาพบนแผ่นดินไอร์แลนด์ แน่นอนว่านี่คือนิยายเมอดอช ยังไงก็ขาดรักหลายเส้าไปไม่ได้ นอกจากประวัติศาสตร์กู้ชาติไอร์แลนด์แล้ว ยังมี "มะรุมมะตุ้มรุมรักมิลลี" ด้วย สองส่วนของนิยายนี้ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ เราถึงบอกว่าเป็นการผสานอย่างไม่ค่อยแนบเนียน

มีบางอย่างในโลกของ The Red and the Green ที่ช่างไม่เข้ากันกับนิยายเมอดอชเอาเสียเลย กระทั่งถึงบทสุดท้าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอีกยี่สิบปีให้หลัง เราถึงตระหนักว่า ประวัติศาสตร์ยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง "บริสุทธิ์" เกินไปสำหรับเมอดอช ในยุคนั้น เรายังบอกได้ว่าใครดี ใครเลว ประเด็นด้านการเมืองเลยไม่เข้มข้นเท่าที่ควร เวลาฟังตัวละครถกเถียงกัน เยอรมันปะทะอังกฤษ สังคมนิยมปะทะทุนนิยม สงครามปะทะสันติภาพ แล้วไม่เข็ดฟันได้ใจเหมือนใน The Book and the Brotherhood หรือ A Fairly Honorable Defeat

ประเด็นนิยาย "น้ำเน่า" ของมันก็ไม่ลุ่มลึกเท่าไหร่ด้วย มิลลีซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ถ้าเทียบกับ "แม่มด" คนอื่นๆ ของเมอดอชแล้วชิดซ้ายตกขอบ ถ้าใช้คำบรรยายของตัวละครในเล่ม มิลลีดูเหมือน "ผู้หญิงชั้นต่ำ" วิ่งพล่านไปนู่นมานี่ เพื่อสนองความต้องการฉับพลันของตัวเอง ทั้งที่ชะตาชีวิตของเธอน่าเห็นใจ และน่าสาสมอยู่ไม่น้อย แต่เรากลับไม่ผูกพันกับตัวละครตัวนี้ น่าผิดหวัง และน่าแปลกใจ เพราะธรรมดาตัวละครอย่างมิลลี เมอดอชหลับตาข้างเดียว ก็เขียนได้ไม่ยาก มิลลีคือแม่มดผู้ปราศจาก "เวทมนต์" อันที่จริงนี่เป็นนิยายแห้งๆ ปราศจากเวทมนต์โดยสิ้นเชิง ทั้งที่เกิดในไอร์แลนด์ดินแดนแห่งภูตแท้ๆ

ถ้าให้เราวิเคราะห์ ความล้มเหลวของนิยายเรื่องนี้อาจเป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้เขียน เมอดอชแทบไม่เคยเขียนอะไรเกี่ยวกับไอร์แลนด์อีกเลย ทั้งที่เธอก็เป็นไอริชแท้ๆ (เราเองก็เพิ่งรู้ ถ้าให้เดา จะบอกว่าเธอเป็นยิว) บางทีเมอดอชอาจมีปมบางอย่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของตัวเอง การเขียน The Red and the Green ทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับ "ปีศาจ" ของตัวเอง จึงตัดสินใจว่า คงดีกว่าหากเธอปล่อยไอร์แลนด์ให้เป็นหน้าที่ของนักเขียนคนอื่น

A. Breton's "Nadja"


เอนเดร เบรตันคือบิดาแห่งวรรณกรรมแนวเหนือจริง (surrealism) วรรณกรรมแนวเหนือจริง คือวรรณกรรมที่ปัจจุบันไม่มีใครอ่าน หรือเขียนมันอีกแล้ว Nadja ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1928 สมควรจะเป็นคัมภีร์ของวรรณกรรมแนวเหนือจริง แต่แปดสิบปีผ่านไป มันกลายเป็นตัวอย่างความล้มเหลวของวรรณกรรมแนวเหนือจริงเสียมากกว่า (ใช้คำว่า "ไม่มีใครอ่าน หรือเขียน" อาจฟังแล้วรุนแรงเกินไป แต่อย่าลืมว่าภาพวาดเซอร์เรียลเป็นที่นิยม และมีคนรู้จักมากสักแค่ไหน)

ใช่ว่าวรรณกรรม "เหนือจริง" หรือ "ไม่สมจริง" จะไม่มีให้เราอ่านเลย แต่วรรณกรรมเหล่านั้น ถูกจัดให้อยู่ภายใต้ฉลากอื่นเช่น สัจนิยมมายา หลังสมัยใหม่ แฟนตาซี วิทยาศาสตร์ กระแสสำนึก หรือ แนวไร้สาระ เป็นเรื่องตลกที่เบรตันคงขำไม่ออก ว่าสิ่งที่กลืนวรรณกรรมเซอร์เรียล ไม่ใช่วรรณกรรมสมจริง (อัตนิยม) แต่เป็นวรรณกรรมเหนือจริงแนวอื่นต่างหาก

น่าสนใจมากว่า สัจนิยมมายา หลังสมัยใหม่ และแนวไร้สาระ มันเหมือน หรือแตกต่างจากแนวเหนือจริงตรงไหน เบรตันปฏิเสธปรัชญาจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ใน Nadja เขาได้ทำนายว่าอีกไม่นาน จะไม่มีใครอ่านนิยายแนวจิตวิเคราะห์อีกต่อไปแล้ว! (ฮา) แปลว่าเซอร์เรียล ต้องปฏิเสธฟรอยด์ หรือจุงกระนั้นหรือ ในฐานะที่เราคุ้นเคยกับเดลี มากริต และเอิร์น ตอบได้เลยว่า "ไม่" มิฉะนั้นสำนักพิมพ์เพนกวินจะเอาภาพวาดของศิลปินเหล่านี้มาเป็นปกหนังสือชุดของฟรอยด์ได้อย่างไร

เบรตันต่อต้านฟรอยด์ เขาไม่เชื่อในการอ่านความฝัน ที่จริงเบรตันปฏิเสธนิยายแนวจิตวิทยาทุกประเภท Nadja ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเบรตัน หรือ "ผม" ในนิยาย และผู้หญิงลึกลับจึงมีคุณสมบัติคล้ายความฝัน แต่ขาดความลึกซึ้ง และแง่มุมทางจิตวิทยา ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกของนักอ่านในปัจจุบัน เรามักโยงอะไรที่ "เหนือจริง" หรือ "ไม่สมจริง" เข้าหาวิทยาศาสตร์ เวทมนต์คาถา หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็จิตวิทยา

Nadja จะว่าไป ก็เป็นนิยายที่น่าสงสารอยู่ไม่น้อย เมื่อปราศจาก "นิยายลูก" คัมภีร์เซอร์เรียลเล่มนี้เลยดูน่าเย้ยหยันโดยพลัน ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้านิยายของคาฟคาไม่ดลบันดาลให้เกิดนิยายลูกเรื่องอื่นๆ ตามมาเลย The Trial จะเป็นหนังสือที่น่าเย้ยหยันสักแค่ไหน Nadja เหมือนสัตว์สูญพันธุ์ ที่แม้จะไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ แต่ในความล้มเหลว มักมีแง่มุมน่าศึกษา น่าสนใจซ่อนอยู่เสมอ

S. R. Fischer's "A History of Reading"


"โอ้ย! เงียบกันหน่อยได้ไหม หนวกหูเป็นห้องสมุดเชียวนะ!"

ถ้าสมัยนี้ได้ยินแม่บ้านไหนตะโกนบอกลูกๆ อย่างนี้ คนฟังคงต้องเลิกคิ้วด้วยความกังขาว่า "หนวกหูเป็นห้องสมุด" นี่มันอย่างไรหรือ แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อสามพันปีก่อน นี่คือคำอุปมาที่เราได้ยินกันหนาหูมาก ถ้าไปเดินแถวๆ หมู่บ้านของชาวแอสซิเรียน

เพราะการอ่านอย่างที่คนปัจจุบันอ่านกัน "อ่านในใจ" (silent reading) เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ มีอายุแค่พันปีกว่าๆ เทียบกับเมื่อตัวอักษรถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในโลก การอ่านในยุคดึกดำบรรพ์หมายถึงการจารึกเสียงลงแผ่นหิน หรือแผ่นกระดาษ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานชั่วนาตาปี หรือส่งข่าวระยะไกล ดังนั้นการอ่านจึงหมายถึง "อ่านออกเสียง" เท่านั้น ตอนที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์รับสานส์กลางสนามรบ พระองค์เปิดอ่านมันเงียบๆ เล่นเอาทหารทั้งกองทัพมองด้วยความชื่นชม เมื่อหนังสือคือการจารึกเสียงพูด ดังนั้นคงไม่มีสถานที่ไหนอีกแล้วจะเอะอะมะเทิ่งไปกว่าห้องสมุด

A History of Reading พูดถึงพัฒนาการของการอ่านตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนมาเป็นการอ่านอย่างในปัจจุบัน จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ความแตกต่างระหว่างการอ่านออกเสียง และอ่านในใจ เป็นแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น เราเห็นผลกระทบของวิวัฒนาการในแต่ละด้าน เช่นเมื่อชาวอียิปต์คิดค้นกระดาษปาปิรัสขึ้นมา พวกเขาสามารถจารึกตัวหนังสือลงแผ่นกระดาษที่มีน้ำหนักเบากว่าแผ่นดินปั้น ซึ่งเอื้อต่อการอ่านคนเดียว หรืออ่านในใจ

เมื่อการอ่านกลายเป็นกิจกรรมส่วนตัว (เทียบกับการอ่านออกเสียง ซึ่งเป็นกิจกรรมของทั้งหมู่บ้าน) ก็หมายถึงการแยกกันอย่างชัดเจนมากขึ้นระหว่างพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็คือกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่ (modern man) นั่นเอง รวมไปถึงการรุนให้ผู้คนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น (เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัย "นักอ่าน" ประจำหมู่บ้านอีกต่อไป) ซึ่งนำไปสู่กำเนิดของชนชั้นกลาง

ลองคิดดูแล้วกันว่าแค่การอ่านเฉยๆ โดยยังไม่ได้เจาะจงว่าอ่านอะไร ยังมีคุณขนาดนี้ แล้ววันนี้ล่ะ คุณอ่านหนังสือจบไปกี่เล่มแล้ว

V. Havel's "The Garden Party and Other Plays"


เคยดูละคร Žebrácká Opera (อุปราการยาจก) ของฮาเวลหนหนึ่ง สิ่งที่ประทับใจคือเทคนิกละคร วิธีบลอกกิ้ง ดนตรี หรืออากัปกิริยาของนักแสดง ซึ่งจงใจให้ดูเหมือนตุ๊กตาฟันเฟือง ละครทั้งเรื่องจึงมีคุณสมบัติคล้ายนาฬิกาเรือนใหญ่ ตอนนั้นคิดว่าเป็นทางเลือกของผู้กำกับ จนได้อ่านรวมบทละครของฮาเวล ถึงรู้ว่า "มนุษย์ฟันเฟือง" คือจุดเด่นของนักเขียวชาวเชคผู้นี้

ฮาเวลเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ชีวิตมีสีสันสุด นอกจากจะเป็นนักต่อสู้ทางสังคมแล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นถึงประธานาธิบดีแห่งเชคโกสโลวาเกีย The Garden Party และ The Memorandum ต่างสืบทอดขนบมาจากแฟรงค์ คาฟคา ว่าด้วยเขาวงกตของระบบซึ่งทำลายความเป็นปัจเจค (อย่าง The Memorandum เกี่ยวกับภาษาพิเศษซึ่งถูกออกแบบเพื่อใช้เฉพาะในสถานที่ราชการ) อ่านแล้วสยองเลยว่าระบบเอกสาร ระบบราชการในเชคต้องวินาศสันตะโรมากๆ แน่ พอประธานาธิบดีฮาเวลได้ขึ้นมาบริหารประเทศ เขาจะจัดการอะไรกับปัญหานี้ได้หรือเปล่า

ฮาเวลชอบให้ตัวละครพูดจาซ้ำไปซ้ำมา ฉากหนึ่งๆ อาจถูกวนเวียนกลับมาเล่นใหม่เจ็ดแปดเที่ยว ความซ้ำซ้อนช่วยให้บทสนทนาธรรมดามีความหมายลึกซึ้งขึ้น และคนอ่านหรือคนดูจะรู้สึกเหมือนตัวเองติดอยู่ในเขาวงกตอันปราศจากทางออก The Garden Party เล่นกับความอึดอัดของคนอ่านอย่างชาญฉลาด ขณะที่เทคนิกคล้ายๆ กันนี้ กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นักใน The Increased Difficulty of Concentration

ที่เราชอบสุดในเล่มคือชุดละครสั้นสามเรื่อง Audience, Unveiling และ Protest ทั้งสามเรื่องมีตัวเอกคือเฟอร์ดินาน วาร์เนก นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อสังคม (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขามีต้นแบบมาจากใคร) ทั้งสามเรื่องเกี่ยวเนื่องกันอย่างน่าสนใจ โดยการพูดถึงวาร์เนก และคนสามชนชั้น ตั้งแต่กรรมาชีพ กระฎุมพี และปัญญาชนตามลำดับ อ่านแล้ว ขำขื่นไปกับความขัดแย้งระหว่างกรรมาชีพผู้โง่เขลา และขี้อิจฉา กระฎุมพีผู้กลวงเปล่า และเหยียดหยาม และปัญญาชนผู้ขี้ขลาดตาขาว ไม่ใช่ง่ายๆ เลยจะนำคนทั้งสามประเภทนี้มาจับมือ สานสามัคคีกัน

ตอนนี้เรากำลังสนใจวาเควฟ ฮาเวลมากๆ (ว่าจะสั่งหนังสือชีวประวัติแกมาลองอ่านดู) ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเคยเป็นประธานาธิบดีของประเทศบ้านเกิดมิดาน กุนเดระ แต่ไม่บ่อยนักที่นักเขียน จะเป็นนักปฏิบัติด้วย ใคร่รู้ยิ่งนักว่าฮาเวลนักการเมือง และฮาเวลนักเขียนจะเหมือนหรือแตกต่างกันสักแค่ไหน คนอย่างฮาเวล หรือคึกฤทธิ์ นักเขียนที่เป็นนักการเมืองด้วยนั้น มักจะมีแง่มุมบางอย่าง ซึ่งทำให้พวกเขาโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมอาชีพ (ทั้งสองอาชีพ) ทั่วไป

J. Fforde's "The Big over Easy"


หลบไปเลยเจ เค โรลลิ่ง! แจสเปอร์ ฟ์ฟอร์ดมาแล้ว!

ถ้าดูเทรนหนังฮอลลีวูดในตอนนี้ ที่กำลังมาแรงนอกจากยอดมนุษย์ (เอิ๊ก!) ก็คือหนังที่สร้างมาจากนิยายตอนๆ ตั้งแต่ Harry Potter, His Dark Material จนมาล่าสุดก็ Twilight ถ้าเทรนนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เป็นไปได้สูงว่าสักวันเราจะได้เห็นนิยายของฟ์ฟอร์ด ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ อดใจรอวันนั้นไม่ไหวแล้ว!

ฟ์ฟอร์ดเป็นนักเขียนที่ชอบเล่นกับขนบของวรรณกรรม เราอยากเรียกนิยายชุดของเขาว่า Reading Man's Serial คือเป็นนิยายชุดสำหรับผู้รักการอ่าน และมีพื้นฐานทางวรรณกรรมกว่าคนปรกติ อย่างชุดเธิสเดย์ เนค ว่าด้วยแม่สาวกระดูกเหล็กเธิสเดย์ ที่มีความสามารถพิเศษในการกระโดดเข้าไปในหนังสือ เธอต้องต่อสู้กับเหล่าร้ายที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในวรรณกรรม เช่นจับโอลิเวอร์ ทวิสเรียกค่าไถ่ หรือว่าช่วยให้โรเมโอ สมหวังกับจูเลียต

The Big over Easy คือนิยายเล่มแรกในชุดแจ็ค สแปรตต์ สแปรตต์เป็นนักสืบนิทาน ในโลกสมมติของฟ์ฟอร์ด ผู้คน และตัวละครในนิทานอาศัยอยู่ร่วมกัน (ลูกเขยของสแปรตต์คือโพรเมเทียส เทพเจ้าที่นำเปลวไฟมามอบให้กับมนุษย์) ภารกิจของสแปรตต์เช่น สืบคดีลูกหมูสามตัวสังหารหมาป่า ต้มตุ๋นปั่นด้ายเป็นทองคำ และฆาตกรโรคจิตมนุษย์ขนมปังขิง และคดีล่าสุดคือ มนุษย์ไข่ฮัมตีดัมตีตกลงมาจากกำแพงแหลกละเอียดเป็นชิ้นๆ นี่เป็นอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย หรือว่าฆาตกรรม

ยังก่อนๆ ความสนุกของมันไม่ใช่แค่นี้ ในโลกสมมติของฟ์ฟอร์ด นักสืบทุกคนจะมี "คู่หู" ซึ่งนอกจากจะช่วยสืบคดีแล้ว ยังมีหน้าที่บันทึกการสืบสวน เพื่อนำเรื่องราวไปลงในนิตยสาร หน้าที่ของตำรวจ จึงไม่ใช่แค่ "to protect and to serve" แต่ยังต้อง to entertain ควบคู่กันไปด้วย ชาม คู่แค้นคู่กัดของสแปรตต์ จงใจเต้าหลักฐาน ปล่อยให้คนร้ายหลุดรอด เพียงเพื่อสร้างสีสัน เพิ่มความสนุกให้ผู้อ่าน

โลกของฟ์ฟอร์ดยังคงเป็นโลกที่ซับซ้อน และรุ่มรวยจินตนาการ (กว่าแค่มีพ่อมด หรือแวมไพร์) บางคนอาจบอกว่าซับซ้อนเกินไป วิธีเขียนของฟ์ฟอร์ดไม่ใช่จูงมือผู้อ่านจากหนึ่ง ไปสอง ไปสาม จากโลกธรรมดา ไปยังโลกแห่งจินตนาการทีละก้าวๆ แต่ฟ์ฟอร์ดจับพวกเราโยนเข้าไปตรงกลาง และในบทแรกๆ อัดข้อมูลที่เราไม่คุ้นเคย ประหนึ่งว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ ก่อนค่อยๆ เผยไต๋ อธิบายทีละอย่างสองอย่าง

อ่านยากไหม อาจจะนะ แต่บอกแล้ว นี่คือ Reading Man's Serial ถ้าอยากอ่านง่ายกว่านี้ ก็กลับไปอ่านพ่อมดแม่มดเล่นไล่จับกันต่อก็แล้วกัน

I. Murdoch's "The Unicorn"


เกซคาสเซิล หรือคฤหาสน์ตาลอย อันเป็นฉากในนิยายเรื่อง The Unicorn ทำให้นึกถึงซีการ์ด คฤหาสน์อีกหลังของเมอดอช ทั้งสองแห่งอยู่ติดทะเล ใช้เป็นเรือนจำคุมขัง "สัตว์ประหลาด" (ในเรื่องแรกคือม้ามีเขา ส่วนเรื่องหลังคือผู้วิเศษ) The Unicorn เขียนก่อนหน้า The Good Apprentice เกือบยี่สิบสองปี ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเมอดอชมองเล่มหลังว่าเป็น อัพเกรดเวอร์ชันของเล่มแรกหรือเปล่า

The Unicorn ถูกเขียนขึ้นหลัง An Unofficial Rose ซึ่งทั้งสองเล่มนี้มีส่วนคล้ายกันมาก ต่างว่าด้วยผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่เพื่อไร้ความสุข และไม่มีพระเอก หรือผู้ร้ายตนใดจะช่วยเหลือพวกหล่อนจากชะตาชีวิตตรงนี้ได้ ความรู้สึกเราที่มีต่อสองเล่มนี้คล้ายๆ กันคือ "ดี แต่ไม่สุด อย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ยาวจนน่าเบื่อ" ในทางกลับกัน อาจพูดได้ว่าจุดด้อยสุดของ The Unicorn ก็คือมัน "สั้นเกินไป" นี่เอง

ใครที่ติดตามรักชวนหัวเป็นประจำ จะรู้ว่า "สั้นเกินไป" เป็นวลีที่เราไม่ค่อยนำมาใช้วิจารณ์หนังสือเล่มไหน โดยเฉพาะหนังสือของเมอดอช (เพราะเดมมีแนวโน้มเขียนหนังสือยาวเกินสี่สาห้าร้อยหน้า) ช่วงแรกของ The Unicorn น่าเบื่ออย่างเข้าใจได้ว่าเป็นการปูพื้นตัวละคร แต่พอถึงร้อยหน้าสุดท้าย (ทั้งเล่มยาว 269 หน้า) เหตุการณ์สำคัญถูกยิงปึกๆ ๆ เข้ามาชนิดคนอ่านไม่ทันได้เตรียมตัวว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร และส่งผลอย่างไรบ้างต่อตัวละคร ไม่เคยอ่านนิยายของเมอดอชเล่มไหนแล้วรู้สึกถูกกระชากออกจากหนังสือรุนแรงเท่านี้มาก่อน (ยกเว้น The Sacred and Profane Love Machine ซึ่งเล่มนั้นจงใจ)

ในทางกลับกัน ถ้ามันยาวกว่านี้ จะดีไหม อาจจะไม่ก็ได้ สูตรสำเร็จของเมอดอชที่จับเอาตัวละครหลายๆ ตัวมาคนรวมกันในหม้อเดียวไม่ออกมาอร่อยเท่าที่ควร ตัวเอกสองคนได้แก่เมเรียม และเอฟฟิง เปิดนิยายมา เมเรียมรับงานเป็นครูสอนพิเศษให้แฮนนา หรือม้ามีเขาแห่งคฤหาสน์ตาลอย เธอคือคนนอกที่โผล่เข้ามาในนิยาย และได้เรียนรู้เบื้องหลัง และความลับของคนที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ แต่ละคน ถ้าไม่ได้มีบทบาทเป็นพัสดี คอยลงโทษ และกุมขังแฮนนา ก็คือผู้อยู่รายล้อมเธอ เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวให้หลบหนีออกจากคฤหาสน์ ส่วนเอฟฟิงคือผู้ชายที่หลงรักแฮนนา และพยายามทำทุกวิธีทางที่จะลักพาเธอออกไปให้ได้ ศัตรูของทั้งสองคือเจอราล บุรุษปริศนา เพื่อนสนิทของปีเตอร์ สามีของแฮนนา ปีเตอร์คั่งแค้นหญิงสาว และกักขังเธอไว้ในคฤหาสน์ตาลอย โดยฝากกุญแจไว้กับเจอราล

ฟังอย่างนี้เหมือนจะสนุก จริงๆ แล้ว The Unicorn เป็นนิยายที่จะเขียนให้สนุกก็คงไม่ยาก มันคือตัวอย่างชั้นดีของ the fantastic uncanny เรื่องเหนือธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลทางสามัญสำนึก เมอดอชต้องการเขียนนิยายเรื่องนี้ให้ออกมากึ่งแฟนตาซี เป็นสงครามระหว่างสองฝ่ายที่ต่อสู้กันด้วยเวทมนต์ทางจิตวิทยา

ในอนาคตข้างหน้า เมื่อเราหวนกลับมาอ่านนิยายของเมอดอชเป็นรอบสอง The Unicorn จะเป็นผลงานที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ว่าตรงไหนกันแน่ที่ทำให้มันล้มเหลว นี่คือเล่มที่เราชอบน้อยสุดรองมาจาก Jackson's Dilemma และ The Green Knight

J. P. Sartre's "What is Literature?"


ช่วงปีที่แล้ว กูรูวรรณกรรมถกเถียงกันว่าควรเปลี่ยนกติกาการประกวดซีไรต์ดีหรือเปล่า โดยรวมเอาทั้งสามประเภทเข้าด้วยกันในแต่ละปี ได้แก่กวี นิยาย และเรื่องสั้น (ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ ก็คงต้องผนวกสารคดีเข้ามาด้วย) สาเหตุคือกูรูเชื่อว่าระบบ "ฤดูกาล" ของซีไรต์ได้ทำลายวัฒนธรรมการเขียน การอ่านในเมืองไทย โดยจำกัดให้เฉพาะแต่ละปีมีงานเขียนรุมๆ กันออกมาชนิดเดียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้นะแต่...

ไม่มีบรรทัดฐานใดในโลกนี้จะเอาร้อยกรอง หรือกวีนิพนธ์มาตัดสินรวมกับงานเขียนร้อยแก้วเช่นนิยาย หรือเรื่องสั้นได้ จบข่าว หมดเรื่องถกเถียง ใครไม่เห็นด้วยกับประโยคที่เน้นตัวหนา คุณผิด ประตูอยู่ทางโน้น!...โอเค คุณอาจจะไม่ผิด แต่อย่างน้อย ฌอง ปอล ซาร์ตก็ไม่เห็นด้วยกับคุณคนหนึ่งล่ะ

ถ้าสมซาร์ตฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงถกเถียงขอกูรู แกคงพูดว่า "ถ้าอย่างนั้นก็เอาซีไรต์ไปรวมกับสุพรรณหงส์เลยไหม แล้วก็อัดสีสันอวอร์ด กับอะแคเดมีแฟนเตเซียเข้าไปด้วยนะ" เพราะสำหรับสมซาร์ต ร้อยกรอง และร้อยแก้วอยู่ห่างไกลกันพอๆ กับร้อยกรอง และภาพยนตร์ ดนตรี หรือถ้วยชามรามไห

กวีคือผู้อยู่ "นอกภาษา" สร้างงานศิลปะด้วย "คำ" หน้าที่ของกวีคือทำให้ผู้เสพมองเห็นธรรมชาติของคำ และอภิเชษฐ์มัน ในแง่นี้ กวีจึงคล้ายกับนักดนตรี (ผู้สร้างศิลปะจาก "เสียง") หรือจิตรกร (ผู้สร้างศิลปะจาก "สีและเส้น") ส่วนนักเขียนคือผู้อยู่ "ในภาษา" สร้างศิลปะด้วย "ความหมาย" ร้อยแก้วไม่ได้เล่น "คำ" แต่เล่น "ความหมาย"

ตัวอย่าง: "ตื่นได้แล้ว!" ในรูปข้างบน ใช้วิชวลเทคนิค ทำให้ "คำ" สามคำมีคุณสมบัติเป็นศิลปะ เป็นบทกวีขึ้นมา แต่ "ตื่นได้แล้ว!" ต่อเห็นสักอยู่บนหน้าท้องสาวเอวลอย ก็ไม่อาจกลายเป็นร้อยแก้ว หรือศิลปะของ "ความหมาย" ไปได้

ดังนั้นรางวัลวรรณกรรมจึงไม่อาจเอางานเขียนสองประเภทนี้ ซึ่งใช้สื่อต่างชนิด มาตัดสินรวมกัน จบข่าว...เดี๋ยวจะพาสมซาร์ตไปเลี้ยงแชมเปญสักแก้ว

ชอบช่วงต้นของ What is Literature? มาก เพราะมันตอบโจทย์ และข้อถกเถียง ซึ่งเราได้ยินมาบ่อยๆ ในพักหลัง แต่ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมยุโรป จากมุมแบบมาร์กซิส ยอมรับว่าอ่านไปก็แอบเบื่อไปอยู่เหมือนกัน ในสายตาเรา ทฤษฎีมาร์กซิสที่เอะอะก็อ้างชนชั้น อ้างศักดินา กรรมาชีพ และกระฎุมพี ดูโบราณไม่ตามสมัยยังไงชอบกล แต่อ่านไปได้สักพัก อุทานว่า เอ้ย! ตกลงนี่มันซาร์ต หรือสมซาร์ตกันแน่วะ ทำไมประวัติศาสตร์วรรณกรรมยุโรป มันแทบไม่แตกต่างอะไรจากประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยเลย

สมซาร์ตวิเคราะห์หนังสือ ในฐานะที่มันเป็นตัวกลางระหว่างผู้เขียน และผู้อ่าน แกไม่เชื่อว่ามีงานเขียนใดที่ปราศจากผู้อ่านโดยสิ้นเชิง เพราะต่อให้เป็นหนังสือที่ขายไม่ออก แต่อย่างน้อยระหว่างที่เขียน ผู้ประพันธ์ก็ต้องคิดถึง "ผู้อ่านในอุดมคติ" ไว้บ้าง ทฤษฎีของสมซาร์ตสามารถนำมาวิเคราะห์วรรณกรรมไทย ได้ตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ จนถึงยุคสุภาพบุรุษ ยุค "หล่มเพื่อชีวิต" กระทั่งวรรณกรรมแนวเหนือจริงนิยม (หรือ "หลังสมัยใหม่") รวมถึงวรรณกรรมปัจเจกชนชั้นกลางก็ยังหนีไม่พ้นทฤษฎีที่ว่า What is Literature? แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพลังประวัติศาสตร์ที่สามารถทะลุกำแพงเวลา ระยะทาง และวัฒนธรรม

ส่วนที่น่าสนใจสุดคือซาร์ตพูดถึงวรรณกรรมฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของอุดมคติสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม หรืออำนาจนิยม และนักเขียนต้องค้นหาอุดมคติ และทางเลือกใหม่เอาเอง ซึ่งมันบังเอิญตรงกับวิกฤติการเมืองไทยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ วาทกรรมหลักของสังคมไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน และภายในปีสองปีนี้ ถ้าเราไม่เติบโตไปข้างหน้า สลัดความคิดคร่ำครึ เมื่อนั้นก็แปลว่าวรรณกรรมไทยสิ้นหวัง ตก "หล่มเพื่อชีวิต" จนต่อให้ปรับเปลี่ยนกติกาซีไรต์สักแค่ไหน ก็คงช่วยเหลืออะไรไม่ได้อีกแล้ว

โต้ "สังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร"


แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับใจความหลักของสังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร แต่คำถามว่าคนไทยจะไปไหนต่อภายหลังวิกฤติการเมืองนี้ ก็วนเวียนอยู่ในหัวเรามาตลอด จึงอยากขออนุญาตนำบทความของคุณศรีพงศ์มาย้อนแย้ง และต่อยอด พูดถึงสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ หรือบทเรียนอะไรที่เราได้รับในช่วงสามสี่ปีให้หลัง

คุณศรีพงศ์พูดถึงคุณูปการของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งก็คือการสร้างกระแส "การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนประชาชนที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากการครอบงำของผู้ใช้อำนาจรัฐ" ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ระดับรากหญ้าอื่นๆ เช่น "การลุกขึ้นทวงถามต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรดานักการเมืองของกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ " โดยสรุปก็คือพันธมิตรทำให้ "ผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่อาจจะทำอะไรตามอำเภอใจ...ได้อีกต่อไป"

คุณศรีึพงศ์คงตระหนักถึงข้อโต้แย้ง จึงเสริมไว้ด้วยว่า "หลายคนอาจบอกว่าการเรียกร้องเหล่านี้ก็มีมานานแล้ว ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดหลังจากมีขบวนการพันธมิตร แต่หากย้อนไปทบทวนการเคลื่อนไหวทั้งทางปริมาณและคุณภาพแล้วจะพบว่ามีหลายสิ่งเปลี่ยนไป" ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็เป็นเหตุและผลหลักที่เราอยากนำมาพูดถึงในบทความนี้ แน่นอนว่าอะไรคือ "ความเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ และคุณภาพ" คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักสถิติ นักสังคมศาสตร์ ไปวิเคราะห์ข้อมูลกันต่อว่าประเทศไทยก่อนและหลังปี 2550 มีการต่อสู้ของประชาชนมากขึ้น หรือน้อยลงเพียงใด เราไม่ทราบคำตอบ และเนื่องจากคุณศรีพงศ์ไม่ได้หยิบยกหลักฐานมาประกอบด้วย เราจึงขอสมมติแล้วกันว่าคุณศรีพงศ์เองก็คงไม่ทราบคำตอบแน่ชัด

ตรงข้ามกับคุณศรีพงศ์ เรากลับมองว่าการลุกฮือของประชาชนคู่กับประชาธิปไตยไทยมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว ด้วยนิสัยของคนไทยเป็นขบถเงียบ ไม่ยอมรับผู้ที่อยู่เหนือกว่า และพึงใจนิดๆ เมื่อได้ทำอะไรนอกกฎหมาย ประกอบกับการถูกปลูกฝังว่า "นักการเมือง และผู้มีอำนาจ (ในระบอบ) เลวทุกคน" เมื่อเราไม่พอใจรัฐบาล ก็จะออกมาประท้วงกัน (ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกลาง เหมือนวลีอมตะที่ว่า "ชาวชนบทเลือกรัฐบาล ชาวเมืองขับไล่รัฐบาล") ในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่ง ซึ่งภาคภูมิใจในยอดโดมโคมประทีปของความเป็นประชาธิปไตย เมื่อนักศึกษาไม่พอใจร้านค้าในโรงอาหาร สิ่งที่พวกเขาทำคือ "ลุกขึ้นมาประท้วง" (แทนที่จะปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ของมัน)

เราจึงอยากสรุปว่าพันธมิตรไม่ใช่ต้นกำเนิดของการขับไล่ผู้มีอำนาจ แต่เป็นพยาธิสภาพของความเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยคืออะไรในสังคมไทย (ด้วยเหตุนี้ขบวนการพันธมิตรจึงเป็นศูนย์รวมพยาธิสภาพของโรคอื่นๆ เช่นการใช้วาจาหยาบคายสร้างความจงเกลียดจงชัง พฤติกรรมแฉเรื่องส่วนตัว หรือการเล่นไสยศาสตร์งมงาย)

ถ้าพันธมิตรจะมีคุณูปการต่อระบอบประชาธิปไตยไทย น่าจะมาจากการตั้งคำถามมากกว่าว่า "อะไรคือการเมืองภาคประชาชน" นับแต่อดีตการเมืองภาคประชาชนถูกยกย่องให้เป็นยาวิเศษที่แก้ไขได้ทุกปัญหา แต่การเมืองภาคประชาชนคืออะไร กระทั่งใน การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ของอาจารย์เสกสรรค์ ก็เหมือนอาจารย์จะไม่ได้เจาะลึกว่าส่วนประกอบของยาวิเศษนี้มีอะไรบ้าง นอกจากใช้เหตุผลครอบจักรวาลว่า เนื่องจากประชาธิปไตยในระบอบไม่สามารถตอบสนองทุกกลุ่มชน และรับประกันความขาวสะอาดของผู้นำได้ การเมืองภาคประชาชนจึงบังเกิดขึ้นมา

น่าสนใจว่าปกหนังสือ การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นรูปฝูงชนรวมตัวกันบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าปกนี้จะเป็นความตั้งใจของอาจารย์เสกสรรค์เองหรือไม่ แต่คล้ายทางสำนักพิมพ์สื่อกลายๆ ว่าการเมืองภาคประชาชนก็คือการชุมนุมประท้วงนี่เอง

ผู้ที่นิยามการเมืองภาคประชาชนได้อย่างชัดเจนสุดคืออาจารย์สุลักษณ์ ในบทสัมภาษณ์ อาจารย์พูดถึงการเมืองภาคประชาชนว่าต้องมาจากรากหญ้า อาจารย์มองว่าความผิดพลาดของขบวนการพันธมิตร ส่วนหนึ่งก็คือการละทิ้งรากหญ้า ซึ่งเป็นความผิดพลาดเดียวกันกับของคุณทักษิณ เราขออนุญาตต่อคำอาจารย์จากตรงนี้ไปว่า การเมืองภาคประชาชนต้องมาจากรากหญ้า และควรอยู่แค่ในระดับรากหญ้าเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจพอๆ กับความสำเร็จของพันธมิตร (ในแง่การดึงดูดผู้คน ตั้งแต่ชนชั้นกลาง ถึงชาวชนบทบางภาค) คือความล้มเหลวเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 7 จนถึงสูตรการเมืองใหม่ ประการเดียวที่คนพวกนี้ทำเป็นคือต่อต้านสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย แต่ไม่อาจกำหนดนโยบาย หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มาทนแทนได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะขาด "กลุ่มมันสมอง" (เนื่องจากจากแกนนำระรานนักวิชาการไปทั่ว ถ้าไม่เห็นด้วยกับตน ก็จะลุกขึ้นมาประกาศกร้าว แฉนู่นแฉนี่) แต่ที่สำคัญกว่าคือด้วยความเป็นการเมืองภาคประชาชน (หรือเราอยากเรียกมันว่า "สุ้มเสียงของคนกลุ่มน้อย") คงไม่ยุติธรรม ถ้าจะให้คนกลุ่มนี้มากำหนดชะตาชีวิตของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ

พันธมิตรมีคุณูปการ เพราะคนเราสามารถเรียนรู้ และศึกษาได้จากตัวอย่างที่ไม่ดีพอๆ กับตัวอย่างที่ดี การเมืองภาคประชาชน และองกรณ์อิสระต้องอยู่คู่กับสังคมไทย และในอนาคตข้างหน้า ถ้าจะมีใครลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างขบวนการพันธมิตรอีก ก็หวังว่าคงเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในวันนี้

R. Sorensen's "Philosophy and the Labyrinths of the Mind"


พีธากอรัส นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะผู้ค้นพบกฎของสามเหลี่ยมมุมฉาก แกยังเป็นอาจารย์โต้วาที ใครที่อยากมีฝีปากคมกล้า ก็มาเรียนวิชาจากแก ลูกศิษย์ของพีธากอรัสคนหนึ่งอยากเป็นทนาย เขาทำสัญญากับอาจารย์ว่า เรียนจบเมื่อไหร่ ทันทีที่ว่าความชนะคดีแรก จะเอาเงินทั้งหมดที่ได้ให้พีธากอรัส ปรากฏว่าพอเรียนจบ ลูกศิษย์คนนั้นเกิดเปลี่ยนใจเอาดื้อๆ ไม่เป็นแล้วทนง ทนาย พีธากอรัสก็เลยไม่เคยได้เงินจากลูกศิษย์ นักปราชญ์ชื่อดังจึงตัดสินใจฟ้องศาล เขาบอกว่า ถ้าตัวเขาชนะคดี ลูกศิษย์ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งศาล แต่ถ้าลูกศิษย์ชนะคดี ก็ต้องจ่ายเงินให้เขาอยู่ดี เพราะได้ชนะคดีตามสัญญาที่ว่าไว้ ปรากฎว่าพีธากอรัสสอนลูกศิษย์ดีเกินไป เขาตอบอาจารย์ไปว่า ถ้าเขาชนะคดี เขาก็ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าเขาแพ้ ตามสัญญาที่ว่า เขาก็ไม่ต้องจ่ายอยู่ดี

นี่คือตัวอย่างของ "ปริทรรศน์" หรือ paradox ที่ซอเรนเซนยกมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซอเรนเซนมองปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่เพลโต อริสโตเติล ยันฮูม คาน เฮเกล จนถึงปรัชญาคณิตศาสตร์ของรัซเซล และเกมภาษาของวิกเกนสไตน์ ว่าเป็นผลพลอยได้ของการศึกษาปริทรรศน์

Philosophy and the Labyrinths of the Mind ทำให้เราได้มีโอกาสกลับมาทบทวนปริทรรศน์ของเซโนอีกรอบ (อาร์คิลิสวิ่งแข่งกับเต่า) ตอนที่อ่าน Memory and Matter ของเบิร์กสันก็เคยฟัดกับมันไปแล้วรอบหนึ่ง พอได้กลับมาอ่านทวนหนนี้ รู้สึกถ่องแท้มากขึ้น เราเข้าใจปัญหาของเซโน รวมถึงวิธีแก้ของอริสโตเติลโดยอ้าง "อนันต์ศักยภาพ" และ "อนันต์ที่แท้จริง" ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่คือตัวอย่างของ "ปริทรรศน์การเรียนรู้" หรือเปล่า การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็คือการที่เรารับเอา "ความจริง" เข้ามาไว้ในสำนึก แต่ถ้า "ความจริง" นั้นมันเป็นของใหม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นความจริง แต่ถ้าเรารู้ว่า "ความจริง" เป็นความจริง ก็แสดงว่ามันไม่ใช่ของใหม่อีกแล้ว ดังนั้นมนุษย์เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย ถึงจะฟังดูเหมือนเกมภาษา แต่ถ้าตรองดีๆ จะพบว่ามนุษย์เราเรียนรู้อะไรได้ดีขึ้น ถ้าเราอ่านทวนมันเป็นรอบที่สอง หรือมีคนพูดสิ่งที่เราเคยได้ยินมา ให้ฟังอีกรอบ ขณะที่ความรู้ซึ่งใหม่เอี่ยมถอดด้ามจริงๆ เราจะไม่สามารถรับเข้ามาได้อย่างง่ายดายนัก

เราคิดว่าปริทรรศน์ส่วนใหญ่อิงอยู่กับจิตวิทยาของมนุษย์ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็พวกภาพลวงตา เช่นในรูปข้างบน พื้นที่สีเขียวคือผ้าห่ม หรือท้องนา ปริทรรศน์นักโทษในทฤษฎีเกม อันเป็นหนึ่งในปริทรรศน์ที่มีชื่อเสียงสุด แต่ซอเรนเซนไม่ยักกล่าวถืง ก็คือตัวอย่างของกลไกทางจิตวิทยาที่ว่า แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจปฏิเสธปริทรรศน์ที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ได้ เช่น "ประโยคนี้เป็นเท็จ"

Philosophy and the Labyrinths of the Mind ยังช่วยให้เราได้ใกล้ชิดกับเบอทราน รัสเซลเข้าไปอีกนิด รัสเซลเป็นนักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ได้รางวัลโนเบล ผลงานเด่นของเขาคือเรขาคณิตปริทรรศน์ รัสเซลเป็นขวัญใจวัยเด็กของสตีเฟน ฮอว์คกิง และเป็นนักปรัชญาคนแรกๆ ที่เรารู้จักชื่อ แต่แทบไม่เคยได้อ่านผลงานของหมอ หรือได้เห็นใครเอ่ยอ้างถึงมันเลย ลูกศิษย์ของรัสเซล วิกเกนสไตน์ดูจะมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักมากกว่าเสียอีก

โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่น่าสนใจ และพลาดไม่ได้สำหรับใครก็ตามที่สนใจปรัชญาตะวันตก

D. Lessing's "The Grandmothers"


ตอนที่ดอริส เลซซิ่งได้รางวัลโนเบล เราทั้งดีใจ และแปลกใจ ดีใจเพราะเคยอ่านหนังสือของหล่อน "โดยบังเอิญ" (หยิบๆ มาจากกะบะลดราคา) และแปลกใจเพราะรู้สึกว่าเลสซิ่งมีผลงานน้อยมาก ถ้าไม่บอกมาก่อน จะไม่รู้เลยว่าเป็นนักเขียนดัง ตอนที่พยายามศึกษาอัตถิภาวนิยม เคยได้ยินคนพูดชื่อหล่อนในฐานะนักอัตถิภาวะนิยมหญิงแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ทั้ง The Grandmothers และ The Fifth Child ไม่ได้มีแนวคิดอัตถิภาวนิยมเด่นชัดอะไร กลับรู้สึกว่าเลซซิ่งสนใจนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมากกว่า (ว่ากันว่าถ้าอยากสััมผัสแง่มุมด้านอัตถิภาวนิยมของหล่อนต้องอ่าน The Golden Notebook อันเป็นผลงานที่มีชื่อเสียง และหนาสุดของเธอ)

The Grandmothers คือนิยายขนาดสั้นสี่เรื่องรวมกัน ทั้งสี่เรื่องมีจุดร่วมคร่าวๆ คือพูดถึงตัวละครที่ "ติดกับ" ค่านิยมของสังคม ว่าครอบครัวควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสองเรื่องแรกเด่นชัดมาก ตัวละครของเลซซิ่ง ในฐานะ แม่ ลูกสาว พ่อ สามี พี่ หรือน้อง ต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเหตุใดสิ่งที่ตนต้องการ กับสิ่งที่สังคมคาดหวังถึงได้ต่างกันนัก The Grandmothers พูดถึงผู้หญิงสองคนที่เป็นเพื่อนรักกัน และสุดท้ายต่างฝ่ายต่างตกหลุมรัก และมีสัมพันธ์กับลูกชายของอีกฝ่ายหนึ่ง เลซซิ่งสร้างสองครอบครัวที่เหยียบเส้นบางๆ ของศีลธรรม ถ้าลูกมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทของแม่ที่เติบโตมาด้วยกัน จะถือว่าเป็น incest หรือเปล่า ถ้าผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับลูกชายของเพื่อนที่ตนรักที่สุด จะถือว่าเป็นรักร่วมเพศได้ไหม The Grandmothers เปิดเรื่องได้งดงาม ด้วยการเล่าเรื่องเสมือนหนึ่งวาดภาพ จากมุมมองของตัวละครบุคคลที่สาม (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเนื้อเรื่องหลักเลย) เลซซิ่งระบายภาพครอบครัวชนชั้นกลางชาวอังกฤษสองครอบครัว ซึ่งเหมือนจะสมบูรณ์ แต่ก็แฝงแรงสั่นสะเทือนไว้

Victoria and the Staveneys มาได้ถูกจังหวะจริงๆ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา นี่คือเรื่องของครอบครัวผู้หญิงผิวดำ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากจน และความแตกต่างระหว่างเพศ และชนชั้น วิคตอเรียมีสัมพันธ์กับชายหนุ่มผิวขาว ลูกสาวของหล่อนจึงได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นส่วนหนึ่งในโลกที่แตกต่างจากโลกที่หล่อนถือกำเนิดมา สำหรับคนเป็นแม่ควรจะดีใจหรือไม่ ควรจะทำเช่นไร และในฐานะลูกสาวเล่า Victoria and the Staveneys เล่นประเด็นเดียวกันกับหนังฮอลลีวูด Spanglish ซึ่งตอบคำถามเดียวกันนี้ได้อย่างตอหลดตอแหลมากๆ

ระหว่างที่อ่านThe Reason for It รู้สึกว่าเชื่องช้า และร่ำๆ ว่าจะเลิกอ่านอยู่ แต่พอถึงตอนจบ ชอบขึ้นมาหน่อย ความแปลกของตัวเรื่องก็นับว่าน่าสนใจแล้ว เป็นนิยายสั้นกึ่งแฟนตาซี กึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการล่มสลายของอารยธรรมสมมติ อันมีต้นเหตุมาจากผู้นำไม่ดี ชอบตอนจบมากๆ เมื่อผู้เขียนเปิดเผย "สาเหตุของมัน" ในที่นี้คือเหตุใดผู้นำถึงได้ทำลายสิ่งสวยงามบรรพบุรุษอุตส่าห์สร้างมา เป็นคำตอบง่ายๆ ที่เล่นเอาเราอึ้งไปพักใหญ่เหมือนกัน (แต่อดคิดไม่ได้ว่านักเขียนรูปหล่อชาวไทยคนหนึ่งเคยเขียนเรื่องสั้นคล้ายๆ กันกับเรื่องนี้แล้วเขียนได้ดีกว่าอีก :P:D)

A Love Child ยาวสุด และไม่ดีสุดในเล่ม ว่าด้วยเจมส์ นายทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกส่งไปประจำการในประเทศอินเดีย เหมือนเลซซิ่งตั้งใจจะเขียนนิยายขนาดยาวมากกว่า เพราะมันมีรายละเอียด และธีมมากมายที่สุดท้ายไม่ได้พัฒนาไปไหน A Love Child พูดถึงความเบื่อหน่ายว่าเป็นศัตรูตัวร้ายในสงคราม พูดถึงลัทธิจักรวรรดินิยม และพูดถึงเรื่องชู้สาวระหว่างเจมส์ และแดฟเน ซึ่งเรื่องย่อท้ายปกพยายามชูเป็นประเด็นใหญ่ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้มีบทบาทมากมายขนาดนั้น โดยรวมเป็นนิยายจับฉ่ายที่ไม่เวิร์ค

แต่ชอบประโยคหนึ่งตอนท้าย เมื่อเจมส์ตระหนักความเปล่าดายของชีวิตตัวเอง เขาคร่่ำครวญออกมาว่า "I'm not living my own life. It's not my real life. I shouldn't be living the way I do." ซึ่งโดน โดนมั่กๆ

กลับมาที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่าเหมือนเลซซิ่งจะมีผลงานน้อย แต่จริงๆ แล้วไม่เลย พอดูประวัติ ชีเขียนนิยายออกมาเยอะมาก ก็หวังว่าการได้รางวัลโนเบล จะกระตุ้นให้สำนักพิมพ์ออกผลงานของเธอมาอีกเยอะๆ เพราะอ่านไปสองเล่มแล้ว เราชอบ

ลาก่อนไมเคิล คริชตัน (1942-2008)


มีเรื่องอยากพูดมากมาย แต่ขอเริ่มจากเรื่องที่ "ไม่สำคัญ" ที่สุดก่อนก็แล้วกัน ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวอเมริกัน (และอาจจะรวมไปถึงชาวโลกอีกหลายประเทศ) เมื่อนายโอบามาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งซึ่งสร้างความสลดใจให้เราไม่น้อย (พอๆ กับพรอพ 8 ที่ห้ามชาวรักร่วมเพศในแคลิฟอเนียร์แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย) นั่นคือการเสียชีวิตของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไมเคิล คริชตัน ด้วยโรคมะเร็งปอด

เคยพูดคร่าวๆ ไว้แล้วว่าตัวเองไม่ใช่แฟนนิยายวิทยาศาสตร์ และแม้จนบัดนี้ ก็คงพูดไม่ได้อย่างเต็มปากว่าเป็นสาวกคริชตัน (หนังสือเล่มสุดท้ายของหมอที่เราอ่านก็เกือบๆ สิบปีมาแล้ว) แต่อย่างน้อยคริชตันคือหนึ่งในสามนักเขียนในดวงใจเราสมัยเด็กๆ (อีกสองคนคือสตีเฟน คิงก์ และทอม แคลนซี) สมัยที่ยังติดนิยายสำนวนแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอดหัวปักหัวปำ หนังสือของคริชตันทำให้เรารักการอ่าน และถึงสมัยนี้เราจะเป็นนักเขียนเต็มตัว และหันมาอ่านกุนเดระ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเงาของคริชตันทาทาบอยู่บนผลงานของเรา

ในแง่หนึ่ง เราคิดว่าคริชตันเป็นนักเขียนที่น่าสงสาร ถึงจะมีชื่อเสียงในฮอลลีวูด แต่เหมือนหมอไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากแฟนๆ นักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร ถ้าจะให้จัดประเภทจริงๆ หนังสือของคริชตันคล้ายๆ ว่าจะอยู่ในหมวด popular fiction หรือนิยายอ่านเล่นในสนามบินเสียมากกว่า

อะไรคือความแตกต่างระหว่างคริชตัน และฟิลิป เค ดิก ออร์สัน สกอต คาร์ด โรเบิร์ต เอ ไฮแลนด์ หรือว่า อาร์เธอ ซี คล้าก (นอกจากว่าคนไม่ค่อยเรียกชื่อกลางหมอ) เราจะตอบว่า เพราะคริชตันเป็นคนเดียวที่จบแพทย์จากฮาวาร์ด และเป็น "วิทยาศาสตร์" อย่างแท้จริง (ไม่นับคาร์ล ซาแกน) คริชตันเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็น "วิทยาศาสตร์" มากกว่านิยายวิทยาศาสตร์ที่เน้น "ปรัชญา" เหตุการณ์ในไซไฟส่วนใหญ่มักเกิดในโลกสมมุติ หรือโลกอนาคต แต่นิยายของคริชตันยืนพื้นอยู่บนโลกในชีวิตประจำวันเสมอ ดูกันคร่าวๆ นิยายของหมอก็เลยเหมือนทริลเลอร์อ่านเพลินมากกว่า

เสน่ห์ในนิยายของคริชตันที่ใครๆ ก็เลียนแบบไม่ได้คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางด้านวิทยาศาสตร์ เราอ่าน Congo อย่างเพลิดเพลินไม่ใช่เพราะสนุกไปกับการผจญภัยในป่าลึก แต่เพราะความรู้ปลีกย่อยที่คริชตันใส่เข้ามาตรงนู้นตรงนี้ Congo คือนิยายที่สอนให้เรารู้ว่าฮิปโปเป็นสัตว์ที่ดุร้ายกว่าจระเข้ และกวางคลั่งเซ็กส์กว่าสุนัขป่า ไม่ได้อ่าน Sphere มาสิบกว่าปีแล้ว แต่จำได้ว่าสมัยที่อ่านจบใหม่ๆ ตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับเลย และพอมองย้อนกลับไป เราก็ยังรู้สึกว่านี่คือนิยายที่ผูกพล๊อต สร้างปมได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง The Andromeda Strain ให้บทเรียนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่จนบัดนี้เราก็ยังนึกถึงมันบ่อยๆ และเพียงแค่บทสั้นๆ ใน Travel หนังสืออัตชีวประวัติ คริชตันเล่าถึงตอนเขามาเที่ยวกรุงเทพ และจับความเป็นไทยได้อย่างตรงไปตรงมา และคงอีกแสนนานกว่าจะมีใครเขียนนิยายไดโนเสาร์ได้จับจินตนาการคนเท่า Jurassic Park

โอ้! นี่แหละชีวิตจริง


เห็นภาพคนเสื้อแดงนับแสนในสนามกีฬาหัวหมาก จู่ๆ ผมก็นึกถึงเจ้าหญิงไดอานาขึ้นมา เปล่าหรอก ไม่ได้นึกถึงพระองค์ แต่นึกถึงบทความที่คุณวาณิชเคยเขียน หลังเสร็จพิธีศพท่าน คุณวาณิชบอกว่าชีวิตของเจ้าหญิงไดอานาเป็นเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยาย ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และความตายของท่าน เป็นตัวละครมีสีสัน ที่นำมาผูกเป็นสุดยอดนิยายได้อย่างไม่มีอันใดเปรียบ

วันที่ 1 พฤศจิกายน คือวัน "เกิดใหม่" ของนปช. ไม่มีอีกแล้ว กลุ่มคนที่ถูกจัดตั้งโดยมือมืดในรัฐบาล นั่นคือประชาชนตัวจริงเสียงจริง (ที่อาจจะไม่ล้วนๆ แต่ก็คงเกินครึ่ง เกินกึ่งหนึ่ง) พวกเขาอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คงไม่ทุกคนหรอกที่รักใคร่ใยดีคุณทักษิณ บางคนกลัวรัฐประหารรอบสอง แต่ที่แน่ๆ นี่คือกลุ่มคนที่รังเกียจพันธมิตร โดยเฉพาะแกนนำอย่างสนธิื ถึงขนาดยอมกัดฟัน ทนมองหน้าเหลี่ยมๆ ของอดีตนายกที่พวกเขาก็ไม่ได้ชื่นชมสมประดีใด

สรุปสั้นๆ แทบไม่แตกต่างอันใดเลยกับพันธมิตรเมื่อสามปีที่แล้ว

โอ้! นี่แหละชีวีิตจริง นี่แหละเรื่องขำขื่นโคตรเสียดสี ที่สุดยอดนักเขียนก็เอามาแต่งเป็นนิยายไม่ได้ สนธิ และทักษิณคือผู้ให้กำเนิดสององค์กรภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย องค์กรหนึ่งกลายพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกองค์กรต้องจับตาดูกันต่อไป ถ้าไม่มีทักษิณ ก็ไม่มีพธม. ถ้าไม่มีสนธิ ก็ไม่มีนปช. ถ้าไม่มีสนธิ ก็ไม่มีพธม. ถ้าไม่มีทักษิณ ก็ไม่มีนปช. สุดยอด! สุดยอด! เอาตอสตอย โกวเล้ง ดิกเกนส์ และเซอวานเตมาช่วยกันแต่งนิยาย ก็คงไม่ได้อมตะเท่านี้

ถ้าผมเป็นคนเขียน ฉากจบของนิยายเรื่องนี้มีแต่เลือด และไม่ใช่เลือดกระจอกๆ แค่สิบ ยี่สิบลิตร แต่ต้องเป็นทะเลเลือดเท่านั้น แต่แน่นอนผมเป็นแค่นักเขียนปุถุชน ใครจะไปล่วงรู้ว่าตอนจบของจริงจะไคลแมกซ์ หรือแอนไทไคลแมกซ์พลิกแพลงสักแค่ไหน

ข่าวเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ในช่วงวันสองวันนี้คือความรุนแรงแบบประปราย ทั้งการโยนระเบิดใส่กลุ่มเสื้อเหลือง ศพบุรุษปริศนา (ที่่มติชนบอกว่าเป็นคนของนปช.) และการ์ดพันธมิตรที่ยิงปืนใส่วัยรุ่นอารมณ์ร้อน การที่สื่อมวลชนและสังคมไม่ให้ความสนใจข่าวพวกนี้ ผมถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เพราะมันหมายถึงทวิมาตรฐานความรุนแรงในสังคมไทย ตำรวจไม่สามารถโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างโจ่งแจ้งได้ แต่ถ้าแอบๆ โยนระเบิดใส่ก็โอเค ตำรวจไม่สามารถโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างโจ่งแจ้งได้ แต่ถ้าประชาชนด้วยกัน มาเหยียบกันเองก็โอเคเหมือนกัน

เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคมเป็นโศกนาฏกรรมครับ และเราสมควรแสดงความเสียใจกับผู้ "บริสุทธิ์" ซึ่งบาดเจ็บ และล้มตาย แต่แม้มันยากที่จะเอ่ยเช่นนี้ แต่นี่คือโศกนาฏกรรมที่อยู่ในกรอบอันเหมาะสม เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนลุกมาต่อสู้กันเอง นั่นต่างหากโศกนาฏกรรมซึ่งหลุดกรอบการยอมรับได้

(หมายเหตุ: ผมคงไม่ปฏิเสธหรอกว่ารัฐบาลสามารถเลือกที่จะเลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป สามารถเลือกที่จะปล่อยให้ฝูงชนปิดล้อมรัฐสภาต่อไป เช่นเดียวกับที่แกนนำพันธมิตรมีทางเลือกที่จะไม่นำประชาชนไปเสี่ยงอันตราย มีทางเลือกที่จะไม่พกอาวุธไปยั่วยุเจ้าหน้าที่ หรือมีทางเลือกที่จะไม่ราดน้ำมัน ตั้งยางเพื่อเตรียมเผาสถานที่ราชการ เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ มีทางเลือกที่จะให้ตำรวจยืมรถฉีดน้ำมาใช้ปราบปรามผู้ชุมนุม และที่สำคัญ เช่นเดียวกับสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และสังคมจะรับรู้ข่าวสาร และเหตุการณ์อย่างเปิดกว้าง และเป็นกลาง เช่นเดียวกับหมอมีทางเลือกที่จะรักษาทั้งตำรวจ และผู้ชุมนุมอย่างเท่าเทียม)

ไม่รู้พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มเสื้อแดง พวกเขาจะขยับเขยื้อนไปทางไหน บางทีอาจกลายเป็นอหิงสา และอารยะขัดขืนที่ไม่ได้ดีแต่ปาก แต่ถ้าไม่...ถ้าการลุกฮือของพวกเขา หมายถึงการที่ฝ่ายต่อต้านพันธมิตรเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาเป็นประชาชนด้วยกัน เปลี่ยนจากถือปืน มาเป็นถือไม้ ถือกระบอง...

ประเทศไทยยังโชคดีนะครับ ที่เราไม่เคยมีสงครามการเมือง เราเคยมีก็แต่ทรราช และบางครั้ง -- บางครั้งจริงๆ -- หน้าที่ของทรราชก็คือการเป็นกระบอกเสียงให้กับอีกหนึ่งความคิดเห็นในสังคม รัฐบาล ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กระทำรุนแรงกับประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนมากระทำรุนแรงต่อกันเอง เคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่ง เขาบอกว่าปืนเป็นอาวุธที่มีมนุษยธรรมมากกว่าไม้ หรือกระบอง เพราะปืนยิงได้แต่ไกลๆ เหมือนเป็นของที่เอาไว้ป้องกันตัวเสียมากกว่า แต่ใครที่ทุบตี หรือฟันแทงกันจนตายได้ นั่นหมายถึงการที่พวกเขามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวอีกฝ่าย และได้ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเองไปเสียแล้ว

A. Carter's "Love"


Love เป็นนิยายสั้นๆ ที่อ่านแล้วเหนื่อยมาก ซึ่งอาจตรงตามเป้าประสงค์ของผู้เขียนก็ได้ คาร์เตอร์กล่าวในบทส่งท้าย (ซึ่งถูกเขียนขึ้น เกือบยี่สิบปี ภายหลังนิยายถูกตีพิมพ์ครั้งแรก) ว่าหล่อนใช้บรรยากาศของอังกฤษในยุค 60s นำมาสร้างเป็นนิยายแห่งความทุกข์ตรม เรื่องของผู้หญิงสติไม่ดีที่ถูกสามี และน้องเขยกดดัน บีบบังคับจนหล่อนฆ่าตัวตาย โดยที่ฝ่ายชายทั้งจงใจ ทั้งไม่จงใจ และบางครั้งก็ทำไปด้วยความหวังดี

บทส่งท้ายอาจเป็นส่วนที่น่าสนใจสุดของเล่มก็ได้ คาเตอร์วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าเหตุการณ์ใน Love เกิดในโลกซึ่ง "สิทธิสตรี" ยังไม่แพร่หลาย หากมองนิยายเล่มนี้ด้วยสายตาของคนในอีกยี่สิบปีถัดมา อะไรๆ จะชัดเจน และง่ายดายขึ้นเยอะ ลี สามีของแอนนาเบล แท้ที่จริงก็คือผู้ชายเลวๆ แบบที่นักสิทธิสตรีต่อต้านมาทุกยุคทุกสมัย คาร์เตอร์ในปี 69 ตอนที่เขียน Love ยังเห็นใจลีอยู่กลายๆ แต่คาร์เตอร์ในอีกยี่สิบปีให้หลัง ไม่หลงเหลือความเห็นใจใดๆ ให้กับตัวละครตัวนี้แล้ว

ในบทส่งท้าย คาร์เตอร์เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเหล่าตัวละครหลังนิยายจบ หล่อนต้องฝืนตัวเองอย่างมากไม่ให้คืนชีพแอนนาเบลขึ้นมา ตอนจบของ Love สวยงามในแบบที่มันควรจะเป็น และหล่อนไม่ต้องการทำลายความสวยงามนั้น อย่างไรก็ดี คาร์เตอร์ได้สร้างตัวละครใหม่ตัวหนึ่ง โรซีเป็นภรรยาคนที่สองของลี เช่นเดียวกับที่บทส่งท้ายกลายเป็นส่วนที่น่าสนใจสุดโดยไม่ได้ตั้งใจ โรซีก็เป็นตัวที่กุมใจเราสุดเช่นกัน (ทั้งที่เธอโผล่มาแค่สามสี่หน้า)

โรซีเป็นกึ่งกลางระหว่างนักบำบัดอาชญากร และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ภายหลังการตายของแอนนาเบล ลีลงโทษตัวเองด้วยยาเสพติด สภาพอันน่าสมเพชของชายหนุ่มดึงดูดโรซี โรซีต้องการช่วยเหลือลีในทีแรก แต่ภายหลังจากแต่งงาน อยู่กินกัน จนมีลูกสาว โรซีถึงตระหนักในตัวตนที่แท้จริงของสามี ว่าเป็นผู้ชายซึ่งชอบเอารัดเอาเปรียบเพศตรงข้าม และกดดันภรรยาคนแรกจนหล่อนต้องฆ่าตัวตาย ตั้งแต่นั้นทั้งคู่มีปากเสียงกันแทบทุกวัน เพื่อให้ Love "จบดี" โรซี ในแง่หนึ่งคือตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมา (อย่างลวกๆ ด้วยซ้ำ) เพื่อลงโทษลีโดยเฉพาะ

ในความเป็นนิยายฮิปปี้ของมัน Love ก็ดีในแบบที่มันดีแล้วล่ะ แต่ถ้าขาดบทส่งท้ายไปเสีย สำหรับเรา หนังสือเล่มนี้คงจืดลงไปเยอะ

ทุนเก่า ทุนใหม่ กลางเก่า กลางใหม่


ตั้งแต่ปะทะกันช่วงต้นเดือนตุลา เหมือนสองสามอาทิตย์นี้ กรุงเทพยังสงบอยู่ได้ในระดับหนึ่ง ก็ไม่รู้จะเป็นความสงบก่อนพายุร้าย ดังที่โหรทำนายไว้หรือเปล่า แม้จะแค่ชั่วคราว แต่ความสงบก็เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะความสงบ มักนำมาซึ่งปัญญา อาทิตย์ที่แล้ว ได้อ่านบทความซึ่งเขียนจากมุมมองของ "ปัญญา" ไม่ใช่จากมุมมองของ "อารมณ์" ดังเช่นบทความใส่ร้ายป้ายสีกัน

บทความที่มาจากมุมมองของปัญญาได้แก่ ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ ของอาจารย์เกษียร บทสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ และการปรับระบบการเมืองของอาจารย์นิธิ อยากให้ไปอ่านเองทั้งสามลิงค์ครับ เพราะฟังผมตีความ ก็ต้องฟังหูไว้หูกันบ้าง ที่อยากหยิบมาเล่าให้ฟัง และชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญซึ่งแตกต่างกันระหว่างสามบทความนี้ เพราะมันอาจช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้อย่างจะแจ้งขึ้น

เริ่มจากบทสัมภาษณ์ก่อน อาจารย์สุลักษณ์มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือละครหุ่นซึ่งถูกเชิดโดยผู้มีอำนาจสองฝ่าย คือ "กลุ่มทุนเก่า" และ "กลุ่มทุนใหม่" กลุ่มทุนเก่านี้ พูดแบบไม่กลัวเกรงใคร ก็ต้องบอกว่าเป็นกลุ่มศักดินาที่พันธมิตรชอบเอาไปใช้แอบอ้างนั่นแหละ ซึ่งคำว่า "กลุ่ม" (แน่นอนคือไม่ใช่คนคนเดียว ดังนั้นอาจจะมีใครบางคนในกลุ่มที่ไม่ได้เห็นด้วยกับพันธมิตร ก็ยังไม่ถือว่าการตีความของอาจารย์สุลักษณ์ผิดเพี้ยนไปนะครับ) ส่วนกลุ่มทุนใหม่มีสัญลักษณ์คืออดีตนายกทักษิณ โดยไม่จำเป็นว่าคุณทักษิณต้องเป็นผู้นำกลุ่ม หรือมีอำนาจสูงสุดในกลุ่มเสมอไป คนเหล่านี้ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงอำนาจ และเพื่อการนี้ จึงจัดฉาก จัดละคร ดึงประชาชนมาเป็นหุ่น เป็นนักแสดง เป็นวีรบุรุษ วีรสตรี หรือผู้ร้ายอะไรก็ว่ากัน

ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน มีหลายส่วนคล้ายคลึงกับบทสัมภาษณ์ โดยอาจารย์เกษียรมองว่าความขัดแย้งนี้คือการปะทะกันระหว่างประชาชน และเป็นความตั้งใจของประชาชนเอง โดยไม่ใช่ว่าพวกเขาเป็นหุ่นชัก หุ่นเชิดของใคร ประชาชนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย และอีกกลุ่มอยู่ข้างสถาบันสูงสุด ถ้ามองว่าตอนนี้เสียงส่วนใหญ่ อันเป็นหลักถาวรของประชาธิปไตยอยู่ในมือกลุ่มทุนใหม่ จะตีว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนกลุ่มทุนใหม่ และทุนเก่าเหมือนกับในบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ก็ย่อมได้

แต่ต้องระวังนิดหนึ่งคือ กลุ่มขั้วตรงข้ามกับพันธมิตร ไม่ได้จำเป็นว่าต้องสนับสนุนทุนใหม่ หรือคุณทักษิณเสมอไป บางคนโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบพรรคพลังประชาชนอย่างออกนอกหน้าด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก พวกเขาเลยจำยอมต้องยืนอยู่ข้างเดียวกับกลุ่มทุนใหม่ไปโดยปริยาย (เช่นอาจารย์ใจ ที่ท่านบอกว่าไม่ได้เลือกพลังประชาชน แต่เมื่อพรรคชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องทำตามกติกา)

การปรับระบบการเมือง ของอาจารย์นิธินั้น ถือเป็นสุดขั้วอีกทางหนึ่งเลยกับบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์นิธิไม่ได้พูดถึงทุนใหม่ ทุนเก่าด้วยซ้ำ แต่มองว่านี่คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางในเมืองหลวง (ผมขอเรียกสั้นๆ แล้วกันว่า "กลุ่มกลางใหม่" และ "กลุ่มกลางเก่า") กล่าวคือเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มกลางใหม่มีจำนวนมากขึ้น อำนาจอธิปไตยเลยถูกโยกย้ายจากกลุ่มกลางเก่า เข้าไปหากลุ่มกลางใหม่ พันธมิตรก็คือกระบอกเสียงของกลุ่มกลางเก่าที่ต้องการเอาอำนาจบางส่วนโดยเฉพาะ "การถอดถอน" รัฐบาลกลับคืนมา (เหมือนดังที่เราได้ยินมาตลอดว่า คนต่างจังหวัดมีหน้าที่เลือกผู้นำ ส่วนคนกรุงเทพมีหน้าที่ขับไล่ผู้นำ)

ขออนุญาตยกกรอบปรัชญาทางประวัติศาสตร์มาสรุปความแตกต่างระหว่างราษฎรอาวุโสทั้งสามท่าน บทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์คือการติความประวัติศาสตร์แบบคลาสสิค ใช้ "ชนชั้นนำ" (ซึ่งในปัจจุบัน เศรษฐี หรือนายทุนก็มีศักยภาพเป็นชนชั้นนำพอๆ กับเจ้า) มาอธิบายปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์ ส่วนของอาจารย์นิธิ เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบจิตร ภูมิศักดิ์ (หรือแบบมาร์ก) โดยอิงปรากฎการณ์บนโครงสร้างทางสังคม ส่วนของอาจารย์เกษียรเหมือนเป็นการประนีประนอมระหว่างสองขั้วที่แตกต่างกันนี้

ไม่มีใครผิด หรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าดูจากความพรักพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ของกลุ่มพันธมิตร แน่นอนว่าต้องมีผู้ออกทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจับต้องได้กว่าผู้บริจาคเงินทีละแสนสองแสน (เคยมีคนประมาณว่าพันธมิตรเป็นม็อบที่สิ้นเปลืองที่สุดม๊อบหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก) เช่นเดียวกับที่กลุ่มเสื้อแดงสามารถขอใช้พื้นที่สนามกีฬาเมืองทองได้ เราไม่อาจมองข้ามตัวตนของผู้สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าจะเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย หรือเพราะเขาเป็นกลุ่มกลางใหม่ ที่อิงผลประโยชน์กับกลุ่มทุนใหม่นี้ คนที่ใส่เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเดินขบวนอยู่บนท้องถนน คงมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอก ถูกเชิดด้วยละครน้ำเน่า สมดังที่อาจารย์สุลักษณ์เอ่ย แต่ก็คงมีอยู่มากที่มองเห็นอนาคตของตนแขวนอยู่บนความขัดแย้งคราวนี้

การที่เราตระนักถึงความซับซ้อนตรงนี้ จะเกิดประโยชน์โภคผลใดๆ กับตัวเรา หรือประเทศชาติหรือเปล่า อาจจะไม่เลยก็ได้ครับ และผมก็เชื่อด้วยว่า ถ้าจะตีแตกมิติปัญหา ยังสามารถมองได้จากหลายมุมยิ่งกว่านี้อีก แต่อย่างน้อย ให้ตระหนักว่าคำตอบของความขัดแย้งนี้ ไปไกลกว่า "ความจงรักภักดี" หรือ "กำจัดขี้ข้าทักษิณ" แค่นี้ก็เป็นคุณอย่างเหลือเฟือแล้ว

I. Murdoch's "A Word Child"


อ่าน A Word Child ไปได้ 150 หน้า เราถึงกับต้องถามตัวเองว่า หรือนี่แหละ จุดอิ่มตัวระหว่างเราและไอริช เมอดอช จากนิยาย 23 เล่มของเธอ ที่เราตั้งใจว่าต้องอ่านให้ครบ ตอนนี้ก็เกินครึ่งทางมาได้สักสิบห้า สิบหกเล่มแล้ว A Word Child อาจจะเป็นนิยายที่ทำให้เราต้องยอมรับเสียทีว่า พอได้แล้ว ต่อให้เมอดอชเป็นสุดยอดนักเขียนยังไง ก็คงไม่ถึงขนาดเขียนเรื่องเดิมๆ ซ้ำซากไปมา แล้วเรายังอ่านสนุกได้ A word Child นี่แหละ เดทครั้งสุดท้ายแล้วระหว่างเรา และเมอดอช

ปรากฏว่าไม่แฮะ

พูดถึงความเดิมๆ ของมันก่อน ขนาดจะเขียนเรื่องย่อ ยังแอบขี้เกียจเลย พื้นหลังของตัวละครในเล่มนี้แทบไม่ต่างจากสิบหกเล่มก่อนหน้านั้น พระเอกผู้มีตราบาปจากอดีต สามีภรรยาที่ชอบเสแสร้างความเอื้ออารี อัจฉริยะที่เป็นเกย์ และตัวละครผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ จับพวกเขาโยนลงหม้อ แล้วคน คน คน แค่นี้ก็ออกมาเป็นนิยายสูตรสำเร็จ แต่ที่ทำให้ A Word Child แตกต่าง และน่าอ่านน้อยกว่าเล่มอื่นๆ คือพระเอกของเรื่อง ฮิลลารี เป็นมนุษย์ที่น่ารังเกียจสุด เท่าที่เคยปรากฎในนิยายของผู้เขียน ซึ่งเมอดอชเองก็คงตระหนักจุดนี้ ครั้งหนึ่งฮิลลารีหันมาพูดกับคนอ่านว่า "ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงตอนนี้ คุณคงรู้แล้วว่าผมเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวเพียงใด และตั้งแต่หน้านี้ไปจนจบ ผมก็ยังคงเป็นเช่นนี้" (นิยายเรื่องนี้เขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง) ส่วนโธมัส คนรักของเขา ก็เป็นผู้หญิงที่สุดแสนจะน่ารำคาญ

ว่าจะเลิกอ่านอยู่รอมร่อ จนถึงหน้า 200 อยู่ดีๆ เราก็เริ่มสนุกไปกับตัวหนังสือ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นความสนุก "แบบเดิมๆ " ที่เราชอบ และคุ้นเคย หรือมีบางอย่างพิเศษในนิยายเล่มนี้ A word Child พีคสุดๆ ช่วงประมาณสามในสี่เล่ม เมื่อเราตระหนักว่า "ผู้ร้าย" คือใคร และ "เธอ" เป็นสัญลักษณ์ของอะไร กับอีกฉากหนึ่งที่ฮามากๆ เมื่อฮิลลารีตกกระไดพลอยโจน รับบทเด่นในรักสามเส้าซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับตัวเขาเลย ที่เด็ดดวงยิ่งกว่านั้นคือตอนท้ายๆ เล่ม ฮิลลารีต้องมารับบทเดิมอีก แต่หนนี้ในรักสามเส้าของเขาเอง แค่ซีนนี้ก็เรียกได้ว่าคุ้มค่าแล้วที่จะอ่านนิยายทั้งเล่ม (โชคดีด้วยว่ามันหนาแค่ 400 หน้า)

เรื่องสนุกระหว่างเราและ A Word Child คือ เล่มที่เราซื้อมาเป็นของมือสอง โดยเจ้าของคนก่อนขีดตรงนู้นตรงนี้ไว้ (น่าจะเพื่อเอาไปเขียนรายงานในชั้นเรียน) ในฐานะที่เราเป็นแฟนไอริช เมอดอช ระหว่างที่อ่านก็อดเถียงเจ้าของคนก่อนไม่ได้ว่า ตรงนี้ขีดเผื่ออะไร! นี่ต่างหากประโยคสำคัญ ทำไมไม่ขีด! ตกสถานเดียว ถ้าเขียนรายงานแบบนี้ออกมา! (ฮา) โดยเจ้าของคนก่อนให้ความสำคัญกับชื่อเรื่องมาก ชนิดว่าเจอคำว่า "word" ในประโยคไหนเป็นต้องขีด

"ลูกคำ" ในชื่อเรื่องเป็นการเล่นคำกับ "ลูกรัก" (a love child) หมายถึงฮิลลารี เนื่องด้วยเขาและน้องสาว เป็นเด็กกำพร้าผู้เติบโตมาโดยปราศจากความรัก มีแต่ความสามารถพิเศษด้านภาษาเท่านั้น ที่ช่วยให้ฮิลลารีเป็นมนุษย์มนาขึ้นมาได้ เรารู้สึกว่าประเด็นนี้ไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ ฮิลลารีมีความเป็นตัวละครเมอดอช มากกว่าเป็นนักภาษาศาสตร์

แต่มีประโยคหนึ่งซึ่งเราเห็นตรงกันกับเจ้าของคนก่อนว่าสมควรขีดคือ "คนเราไม่ได้รู้สึกผิดจากสิ่งที่ตนกระทำ แต่จากการลงโทษ" ชวนให้นึกถึง The Sovereignty of Good การให้อภัยบางครั้งอาจไม่ได้มาจากการชดใช้ความผิด แต่มาจากความเข้าใจในสิ่งผิดที่เรากระทำเสียมากกว่า

มอง (r.o.d.)


ไม่รู้พูดแบบนี้ คุณจิรัฎฐ์จะภูมิใจ หรือใจเสียกันแน่ แต่ในสายตาเรา มอง คือเรื่องสั้นที่ประสบความสำเร็จมากๆ และสาเหตุที่มันเป็นเช่นนั้น เพราะมัน "อ่านไม่รู้เรื่อง"

มีความเชื่อผิดๆ อย่างหนึ่งในแวดวงหนังสือไทยคือ ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ถ้าไม่ใช่ว่าอยู่ในเรื่องผีแล้ว ต้องหาคำอธิบายในเชิงสัญลักษณ์ให้ได้ เช่นเป็นการเสียดสีสังคม ไอ้เปรตนั่นหมายถึงนักการเมืองสักคน หรือการที่คนมีสิบเอ็ดนิ้ว หมายถึงเขาได้รับการศึกษาสูง และหยิ่งผยอง

จริงอยู่ ให้มานั่งขบคิดดีๆ ก็อาจได้คำตอบว่า "พวกเขา" ใน มอง เป็นอุปมาของอะไร แต่เราปฏิเสธที่จะทำลายเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วยความคิดที่ว่า และขอยกย่องคุณจิรัฎฐ์ที่ไม่ยอมทำลายเรื่องสั้นของตัวเองโดยการบอก (หรือกระทั่งใบ้) ผู้อ่านว่า "พวกเขา" คืออะไร

โทโดรอฟนักโครงสร้างนิยมชาวฝรั่งเศสแบ่งประเภทเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติเป็นสามประเภทคือ marvellous เรื่องเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ uncanny เรื่องที่อธิบายได้ และ fantastic เรื่องที่อาจจะ หรืออาจจะไม่สามารถอธิบายได้ ในสามประเภทนี้ เราคิดว่าอย่างหลังมีเสน่ห์สุด และ มอง ก็น่าจะถูกจัดว่าเป็น fantastic ได้ บางประโยคเหมือนคุณจิรัฎฐ์จะบอกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความฝัน (อธิบายได้) แต่บางประโยคก็พยายามขับเรื่องให้อยู่นอกเหนือคำอธิบาย ตรงนี้จัดว่าเป็นการเล่นกับความคาดหวังของคนอ่านอย่างชาญฉลาด

ถ้าสนใจจะเขียนแนวนี้จริงๆ ลองไปหา บาโหย ของอาจารย์มนัสมาอ่านดู (เรื่องนี้ถูกอ้างถึงใน เคหะวัตถุ ด้วย) จัดว่าเป็นเรื่องสั้น fantastic ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในภาษาไทย (เพราะไม่ค่อยมีคนเขียนกัน)

ชอบ มอง มาก เป็นกำลังใจให้คนเขียน

M. Foucault's "The Use of Pleasure"

"that in his adolescence he drew away the husbands from their wives, and as a young man the wives from their husbands"
The Use of Pleasure เป็นหนังสือเล่มสองของฟูโกต์ ในชุด The History of Sexuality ซึ่งเล่มหนึ่งได้อ่าน และพูดถึงไปแล้ว เมื่อประมาณปีก่อน (ไม่น่าเชื่อว่ารอบปีหนึ่งที่ผ่านมา อ่านหนังสือฟูโกต์แค่เล่มเดียวเอง นี่เรามัวไปทำอะไรอยู่) ในเล่มสองนี้ ฟูโกต์ยังรักษาความเป็นนักปรัชญาเชิงประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าชื่นชม ต่อให้คนคนหนึ่งมีเครื่องย้อนเวลา เดินทางกลับไปสมัยกรีก แล้วถ่ายรูปกลับมาสองสามอัลบั้ม ก็คงเขียนถึงช่วงเวลานั้นได้ไม่ลึกซึ้งเท่าฟูโกต์ อ่านจบแล้ว รู้สึกประหนึ่งผู้เขียนคงย้อนเวลาไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มชาวกรีกสักเจ็ดแปดคน ถึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาได้

ธีมหลักๆ ซึ่งถูกเล่นซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละบทคือ 1) วัฒนธรรมกรีกโบราณไม่ได้เปิดกว้างเรื่องเพศ เหมือนที่เราเชื่อๆ กัน ฟูโกต์ยกตัวอย่าง ข้อห้าม ผลเสีย หรือบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดบรรทัดฐานทางเพศ แต่ 2) ขณะเดียวกัน ถ้าจะบอกว่าชาวกรีกมองเรื่องเพศเหมือนที่พวกคริสเตียนมอง ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ ฟูโกต์ตั้งใจนิยามขนบแนวคิดเรื่องเพศของชาวกรีก โดยเขายกตัวอย่างร้อยแปดจากวรรณกรรม ข้อเขียน และบันทึก ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เรารู้ว่าชาวกรีกมีหลักปฏิบัติทางเพศอย่างไร แต่เพื่อพาเราเข้าไปถึงข้างในความคิดของอริสโตเติล เพลโต โซเครติส เซโนโฟน รวมไปถึงนักปรัชญาชื่อดังคนอื่นๆ

เงื่อนไขทางเพศของชาวกรีกไม่ใช่ "อย่างไร" หรือ "กับใคร" แต่เป็น "แค่ไหน" กล่าวคือการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มไม่ถือเป็นสิ่งผิด แต่ความบ่อย และปริมาณต่างหากที่เป็นข้อถกเถียง คนที่ควบคุมกามตัณหาของตัวเองไม่ได้ (ไม่ว่าจะกับผู้ชาย ผู้หญิง หรือลูกเมีย และผัวชาวบ้านก็ตาม) เท่ากับขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง ซึ่งในสายตาของนักปรัชญา ถือเป็นความเลวร้าย เพราะมันจะส่งผลไปยังสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน และการเมืองการปกครองด้วย

ถ้าให้เราสรุป The Use of Pleasure ด้วยประโยคเดียว หากเทียบกับหลักคริสเตียน คุณธรรมสูงสุดในเรื่องเพศของชาวคริสเตียนคือ "ความบริสุทธิ์" ซึ่งก็คือไม่มีเพศสัมพันธ์เลย เว้นแต่เพื่อสืบพันธุ์ แต่ตามหลักกรีก คุณธรรมสูงสุดในเรื่องเพศคือ "ความพอดี" ไม่มาก หรือน้อยเกินไป และความสามารถในการ "ควบคุมตัวเอง"

ฟูโกต์พูดถึงประเด็นอีกมากมาย เช่นบทบาททางเพศอันเหมาะสมระหว่างเด็กหนุ่ม และชายสูงวัย ถ้ามองว่า The History of Sexuality เป็นผลงานที่โด่งดังสุดของฟูโกต์แล้ว อยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ เพราะมันค่อนข้างอ่านง่าย ต่อให้ใครที่ไม่มีพื้นฐานการอ่านหนังสือปรัชญา หรือผลงานของฟูโกต์มาก่อน ก็น่าจะเริ่มต้นจากเล่มนี้ได้ไม่ลำบากนัก

ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย



จากประชาไทครับ

คุณวิทยากร เชียงกูล
"ปัญหาของสังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่อยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ 14 ตุลาคม 2516 เทียนวรรณ หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถูกทำให้ลืม ถูกลดความสำคัญลง นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย เป็นปัญหารากเหล้าจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ก็คือวัฒนธรรมของการกล่อมเกลาทางสังคมนั้นเป็นวัฒนธรรมของสังคมเกษตร พึ่งพาตนเองอยู่ภายใต้ระบอบศักดินา สอนการท่องจำ ให้เชื่อระบบอาวุโส เชื่ออำนาจนิยม เชื่อเจ้าขุนมูลนาย สอนแต่เรื่องนี้ตลอดทั้งในบ้าน ในสังคม ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจึงไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การมองภาพแบบเชื่อมโยง องค์รวม เป็นการสอนเทคนิควิชาชีพ ไปรับใช้เศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเราจะมีคนที่เก่งด้านอื่นๆ แต่ตอบเรื่อง 6 ตุลาอย่างโง่เง่ามาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของระบบการศึกษา เป็นปัญหาร่วมกันของประเทศชาติ และนี่ก็โยงมาถึงปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ว่าความคิดแบบสองขั้วสุดโต่งนั้นใช้อารมณ์มาก

6 ตุลานั้นเป็นความรุนแรงสองขั้วโดยเฉพาะความโง่เง่าของชนชั้นปกครอง ความกลัวหนึ่งก็คือเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะความกลัวว่าคอมมิวนิสต์เป็นพวกต่างชาติ คอมมิวนิสต์เป็นพวกล้มล้างสถาบัน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เขาระมัดระวังมาก ไม่ค่อยแตะ เขาพูดเรื่องสังคมที่เป็นธรรม มองพัฒนาการของสังคมอะไรก็ว่าไป ไม่เหมือนระบอบทักษิณ ที่เขากล้าแตะ แต่ชนชั้นผู้ปกครองกลัวเกินเหตุ เพราะจริงๆ แล้วหลัง 14 ตุลา นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้า เลิกสนใจสังคมนิยมบ้าง เพราะสังคมนิยมกำลังเติบโต จีนกำลังพัฒนาประเทศ ความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมมีสูง รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็มีอยู่สูง สังคมนิยมก็เป็นคำที่มีเสน่ห์ และอธิบายได้ดีกว่าระบบรัฐสภา หรือประชาธิปไตย แต่ยังไม่ไปไกลมาก แต่ชนชั้นผู้ปกครองใจแคบ ก็เลยเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง และสังคมไทยไม่ได้พยายามเรียนรู้ที่จะหาทางออกอย่างสันติวิธี คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พยายามเสนอสันติวิธีแต่ก็โดนด่าจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักศึกษาก็ว่าอาจารย์ป๋วยไปประนีประนอมกับผู้ปกครอง ฝ่ายผู้ปกครองก็กล่าวหาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง ท่านเป็นนักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม

ปัจจุบันผมคิดว่าคนที่เชื่อทักษิณแบบด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากพอสมควร แม้แต่นักวิชาการ หรือบางคนก็มีผลประโยชน์โดยตรง บางคนก็สวิงกลับหลังจากผิดหวังกับระบบสังคมนิยม บางคนก็อยากเป็นนายทุนด้วยไปทำงานร่วมกับสมัคร สุนทรเวชได้ และลืม 6 ตุลาได้ ซึ่งการลืมนี่ก็เป็นปัญหาของคนเราที่อยากจะลืมสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง อยากจะก้าวไปข้างหน้าผมคิดว่านี่เป็นความรุนแรง

และส่วนของพันธมิตรฯ ก็ใช้อารมณ์เยอะ และเป็นความรุนแรงมาก เป็นเหมือนฝ่ายขวาที่ใช้เรื่องคอมมิวนิสต์โจมตีนักศึกษา แต่เราก็ไม่ควรมองง่ายๆ แบบเย้ยหยัน เพราะมันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แนวร่วมและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นหลักประเด็นรองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป้าหมายของเขาคือการโค่นล้มทักษิณ ซึ่งมีอำนาจครอบงำอะไรต่างๆ ซึ่งก็เป็นอันตรายจริง เพียงแต่ว่านักวิชาการซึ่งเป็นปัจเจกเสรีนิยมมากก็มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความสุดขั้ว ในวงการวิชาการ ในครอบครัวอะไรต่างๆ แตกเป็นสองขั้วหมดเลย

สิ่งที่เราน่าจะคิดถึงอนาคตของประเทศไทยต่อไป คือการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ เสนอนั้นก็น่าต้องคิดต่อ ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกผู้แทน แค่ย้อนไปถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีแล้ว ก็มาเป็น 2550 เวลานี้ก็ยังไม่พอใจเพื่อให้เป็นการเมืองใหม่ แต่ปัญหาพื้นฐานไม่ได้แก้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นฐาน การกระจายรายได้ก็ไม่ได้แก้ ที่เคยพัฒนาขึ้นมาจาก 14 ตุลา ก็ไม่ได้พัฒนาต่อไป คนรวยก็ถูกหลอกด้วยบริโภคนิยมเหมือนรวยขึ้นแต่ก็เป็นหนี้มากขึ้น ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น และเดี๋ยวนี้มันสับสนเพราะอธิบายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาอธิบาย บางคนก็บอกเราเป็นพันธมิตรชั่วคราวได้ จับมือกับทหาร เพราะถ้ามองดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ทหารไม่สามารถกลับไปมีอำนาจแบบสฤษดิ์ได้อีกต่อไป นี่คือตัวอย่างที่เราต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์

ที่สำคัญก็คือว่าทำอย่างไรให้เด็กไทยได้เรียนรู้มากขึ้น ผมคิดว่ากระบวนการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสื่อ การมองแบบเชื่อมโยง การวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นสำคัญ เพราะถ้ามองแบบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ล้วนๆ นั้นมีข้อจำกัด

ถ้าเราจะได้บทเรียนจาก 14 ตุลา และตัวอย่างที่เป็นประโยชน์เราต้องศึกษาวิเคราะห์ในบริบทเรื่องปัจจุบันด้วย"

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
"ปกติผมไม่มาร่วมงานแบบนี้เลย งานครบรอบ 6 ตุลา เพราะว่าผมเพิ่งอ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งเรื่อง The Holocaust Industry คนเขียนเป็นยิวเป็นศาสตรจารย์ที่ชิคาโก ชื่อ Norman G.Finkelstein เขาเสนอว่าบางครั้งเขารู้สึกว่าถ้าไม่มีการพูดเรื่อง Holocaust คือ การฆ่าชาวยิวเสียเลยจะดีกว่า ผมก็คิดว่าถ้าเราไม่พูดเรื่อง 6 ตุลาเลยดีกว่า ผมเสนอให้เป็นแบบกรณี 9 มิถุนายน 2489 ดีกว่า อย่างน้อยคนที่อยากจะสนใจศึกษาอย่างซีเรียสจริงๆ ก็ค่อยมาว่ากัน คนจะได้อย่างน้อยจะศึกษาก็ศึกษา แต่การจัดเสวนาแบบนี้ผมว่ามันแทบจะมีข้อไม่ดีมากกว่าดีในความเห็นของผม แต่ผมมาเพราะว่าผมสะดุดใจกับหัวข้อที่น่าสนใจ

ข้อเสนอของผม จะเรียกว่าเป็นคำนิยามหรืออะไรก็ได้ แต่ก่อนหน้าที่ผมจะพูดถึงข้อเสนอนั้น ผมอยากจะบอกว่าใครที่แคร์กับ 6 ตุลาจริงๆ แล้วยังสามารถสนับสนุนพันธมิตรฯได้ ผมเฮิร์ทมากๆ ผมอยากฝากไปบอกอาจารย์ชลธิราที่ไปเชียร์พันธมิตรฯได้นั้น ผมเฮิร์ทมากๆ และผมไม่สามารถจะเขียนวิจารณ์ได้ เพราะว่ามันเฮิร์ทจนเกินกว่าจะเขียน ผมจะพูดอย่างนี้ว่าใครที่แคร์กับเรื่อง 6 ตุลาแล้วสนับสนุนแนวทางของพันธมิตรฯ แสดงว่าไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย

6 ตุลาคืออะไร ถ้าผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาสักเล่ม ผมจะตั้งชื่อว่า The sacred and the violence แปลเป็นไทยคือ สิ่งศักดิ์สิทธ์กับความรุนแรง ความรุนแรงของ 6 ตุลานั้นคนตายน้อยกว่าเหตุการณ์ตากใบ แต่ความตายของ 6 ตุลา คือแม้คนตายแล้วยังต้องเอาศพไปทรมาน เอาศพไปแขวนไปตีซ้ำๆ เอาลิ่มไปตอก ไปเผา ทำอนาจารศพ สารพัดอย่าง คุณอะไรที่ตายไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังเอาไปฟาด นี่คือสิ่งที่...ทำไมไม่เกิดที่ตากใบ ไม่เกิดที่เขาพระวิหาร ไม่เกิดที่นปก. เพราะมันไม่เกี่ยวพันกับอีกขั้วคือความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ 6 ตุลานั้น คนคิดว่านักศึกษากำลังละเมิดความศักดิ์สิทธิ์

ทีนี้พันธมิตรฯ เข้ามาอย่างไร ผมไม่รู้ว่าใครก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า แต่มีการพูดว่าคนเข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ บางคนเป็นคนก้าวหน้า ผมไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ดูที่ทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเรียกร้องทางการเมืองคือโค่นระบอบทักษิณ แต่ถามว่าโค่นทำไม เพื่ออะไร เพราะอะไร

ผมขอเสนอว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรคือ Resacralization of Politic คือการทำให้ Politic มันศักดิ์สิทธิ์กลับมาใหม่ ผมฟันธงเลยนะ พันธมิตรฯ กำลังทำอะไร แม้แต่คำที่ใช้เองคือทุนที่สามานย์ คืออะไร ก็คือทุนที่ไม่มีคุณธรรม ทุนที่ไม่มีจริยธรรม นักการเมืองมันเลว มันก็เลวมาตลอด 70 กว่าปี แต่ทำไมครั้งนี้มันถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมทักษิณถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมพันธมิตรฯ จึงพูดซำแล้วซ้ำอีกว่าการเมืองใหม่คือทำอะไรก็ได้ แต่ประเด็นคือสิ่งที่พันธมิตรกำลังทำก็คือการพยายาม Resacralization คือการพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การเมืองมันเลวทราม ไม่มีคุณธรรม นี่คืออะไร นี่คือทิศทางของคนที่ก่อความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลานั่นแหละ ว่าไอ้พวกนี้ มึงละเมิดความศักดิ์สิทธิ์"

เพื่อความเป็นกลางเลยยกมาให้อ่านกันทั้งสองความคิดเลยครับ ส่วนตัวผมแล้ว คงไม่ต้องเอ่ยอะไรมากว่าผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมศักดิ์ สิ่งที่คุณวิทยากรเสนอมานั้น อยู่ในกรอบวาทะกรรมแบบพันธมิตรซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย ในแง่ว่าทักษิณคืออันตรายอย่างยิ่งยวดต่อสังคมไทย และอันใดก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับทักษิณ ถือว่าดีหมด รับได้หมด รวมถึงความรุนแรงด้วย

ผมอยากเรียกสิ่งนี้ว่า "นิยามเชิงลบ" หมายถึงการที่เราจำกัดความสิ่งหนึ่ง ไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ด้วยว่ามันไม่ใช่สิ่งไหน กรณีพันธมิตรนั้น เพียงแค่ว่ามันไม่ใช่ทักษิณ ก็ต้องถือว่ามันเป็นดีแล้ว โดยเราลืมไปว่า แก่นแท้ของความเป็นพันธมิตรคืออะไร จับต้องได้หรือเปล่า ยังไม่ต้องพูดถึงว่าพันธมิตรไม่เคยนำเสนอทางออก หรืออะไรดีๆ แก่สังคมไทยสักครั้ง ตั้งแต่นายกพระราชทาน จนถึงสูตรเลิอกตั้ง 70-30

ผมหวังอย่างยิ่ง สำหรับใครที่คิดจะใส่เสื้อเหลือง แล้วออกไปเดินชุมนุมประท้วง ให้เขาถามตัวเองด้วยว่า เขากำลังสู้เพื่ออะไร ไม่ใช่กำลังสู้กับอะไร (ด้วยเหตุนี้ ผมเองก็ไม่สนับสนุนให้ใครใส่เสื้อแดงออกไปเช่นกัน)