H. Melville's "Moby-Dick"
ส่วนหนึ่งคงมาจากความหมั่นไส้ด้วยกระมัง Moby-Dick ถึงได้กลายเป็นนิยายคลาสสิกของชาวอเมริกันที่ถูกนำมาวาดภาพประกอบบ่อยที่สุด เนื่องด้วยเมลวิลชอบโอ่อยู่เสมอว่าไม่มีใครสามารถวาดภาพโมบีดิก วาฬเผือกเพชรฆาตได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงเพราะ Moby-Dick เป็นนิยายที่อ่านเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องจินตภาพตามไปอย่างไม่หยุดหย่อน ขณะที่นิยายส่วนใหญ่จะใช้ส่วนผสมกันระหว่างคำพูดของตัวละครและบรรยายโวหารโดยจะเน้นไปที่ส่วนแรกมากกว่า เนื่องจากมันเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกดายระหว่างนักเขียนและคนอ่าน น้ำหนักของ Moby-Dick จะทุ่มไปที่บรรยายโวหารและการสร้างภาพ
ความน่าทึ่งที่สุดของมหากาพย์เล่มนี้จึงอยู่ที่ความสามารถของเมลวิลที่จะทั้งสร้างภาพและไม่สร้างภาพ พูดถึงกรณีแรกก่อนแล้วกัน จริงๆ แล้วเนื้อหาของ Moby-Dick สมควรเป็นนิยายที่คิดภาพตามได้ยากมาก เหตุการณ์แทบทั้งหมดของนิยายเกิดบนสำเภาล่าวาฬ ซึ่งในปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่เคยโดยสารหรือเดินทางด้วยเรือ ไม่ต้องพูดถึงสำเภาแห่งศตวรรษที่ 19 เลย ยิ่งเป็นสำเภาล่าวาฬด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แล้วไอ้กิจกรรมล่าวาฬนี่มีบรรพบุรุษใครเคยสัมผัสบ้างไหม ถ้าให้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์มนุษย์อวกาศสู้กับเอเลี่ยนยังนึกภาพตามได้ไม่ยากขนาดนี้เลยกระมัง
ดังนั้นความป๋าของเมลวิลจึงอยู่ตรง Moby-Dick เป็นนิยายที่นึกภาพตามได้ง่ายมาก ตั้งแต่กิจกรรมการล่าวาฬประกอบไปด้วยขั้นตอนอะไร มีอันตรายที่ตรงไหน วาฬล่ามาได้แล้วต้องแล่อย่างไร สกัดเอาน้ำมันจากอวัยวะส่วนใหญ่ Moby-Dick สอนให้เรารู้ว่ากรรมวิธีลอกหนังวาฬแทบไม่ต่างอะไรจากการฝานเปลือกแอปเปิลเลย อีกฉากที่น่าตื่นเต้นเอามากๆ คือลูกเรือตกบ่อน้ำมันในตัววาฬ เชื่อไหมเล่าว่าคนเราสามารถจมน้ำตายในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งได้ ฉากเด็ดที่สุดซึ่งน่าจะเป็นฉากเอกของนิยายคือตอนที่ลูกเรือพีควอดหลงเข้าไปอยู่กลางฝูงวาฬคลั่งและพบกับสถานที่เลี้ยงลูกอ่อนวาฬ เมลวิลบรรยายทุกภาพที่ไม่น่าจะปรากฎในหัวคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเราได้เด่นชัด ละเอียด และงดงาม
ส่วนหนึ่งก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเมลวิล Moby-Dick เป็นนิยายที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล กว่าครึ่งหนึ่งของนิยายไม่มีตัวละครโผล่มาเลย มีแต่ผู้เล่าเรื่องมาอธิบายสารคดีวาฬแบบแฝงอารมณ์ขันหน่อยๆ จำได้ว่าอาจารย์ภาษาอังกฤษสมัยเรียนตรีเคยพูดว่าราวกับเมลวิลเขียนนิยายเล่มนี้ด้วยการ google คำว่า “whale” แล้วเอาข้อมูลกี่ร้อยกี่พันหน้าที่ผุดขึ้นมานั้น มาผสานกันเป็นนิยาย บางบทก็พูดถึงเรื่องที่เบ็ดเตล็ดมากๆ อย่าง กฎหมายการแบ่งสัดส่วนวาฬ หรือเพราะเหตุใดนักล่าวาฬชาวอังกฤษถึงได้ครื้นเครงและมีอารมณ์ขันกว่าชาติอื่นๆ
แต่อีกส่วนหนึ่งที่น่าทึ่งพอๆ กับการสร้างภาพที่ไม่อาจสร้างได้ คือการไม่สร้างภาพเลย ย้อนกลับไปที่คำโอ่ของเมลวิลว่าไม่มีใครสามารถวาดภาพโมบีดิกได้ บางทีเพราะเมลวิลไม่ต้องการให้ภาพของโมบีดิกออกมาเป็นแค่ปลายักษ์ เทคนิกที่เมลวิลใช้ในการนำเสนอ “ภาพ” ของอสูรกายแห่งท้องทะเลตัวนี้ คือวิธีแยกส่วน (segmentation) ซึ่งเป็นเทคนิกที่จะพบได้บ่อยๆ ในทางภาพยนตร์ ผู้เขียนอธิบายแต่ละส่วนอย่างละเอียดตั้งแต่หาง ใบหน้า ลำตัว ขนาด น้ำหนัก ตำนาน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่จะไม่เอาส่วนต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน
ในฐานะที่เราเป็นผู้คนแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าสมัยนั้นวาฬถือเป็นสัตว์ลึกลับที่ไม่มีใครแน่ใจว่าหน้าตาเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่รู้ว่ามันอาศัยอยู่ในน้ำ ขนาดมหึมา รูปร่างคล้ายๆ ปลาแต่มีหางแนวนอน ในตัวมันมีน้ำมันอันล้ำค่า (สัตว์พิสดารประเภทไหนกันที่แบกบ่อน้ำมันไว้ในตัว) ใครที่มีการศึกษาหน่อยอาจรู้ว่ามันไม่ใช่ปลาแต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกน้อยนมที่หายใจทางปอด ซึ่งก็จะยิ่งสับสนเข้าไปอีก ชาติหนึ่งของพระนารายณ์ก็เคยเกิดเป็นวาฬ แต่ในจารึกของศาสนาพราหมณ์ วาฬดูเหมือนครึ่งปลาครึ่งงูทะเล ดังนั้นในจินตนาการของชาวตะวันตก วาฬอาจเป็นสัตว์ที่ลึกลับพอๆ กับมังกรเลยก็ได้
การนำเสนอของเมลวิลที่เน้นเอาวาฬมาแตกย่อยเป็นส่วนๆ โดยไม่อาจเอาแต่ละส่วนมารวมกันเป็นสัตว์ตัวเดียวได้นั้น จึงเป็นวิธีการนำเสนอที่ตรงเป้าสุดในการสร้างความพิศวงให้กับอสูรกายตัวนี้
หรือบางทีโมบีดิกอาจไม่ใช่แค่วาฬก็ได้ จุดที่แตกต่างจากนิยายผจญภัยส่วนใหญ่คือ คนอ่านไม่ต้องลุ้นเลยว่ากัปตันอาฮับและลูกเรือพิควอดจะเอาชีวิตรอดจากโมบีดิกได้ไหม ถ้าปะทะกับโมบีดิกตรงๆ ก็ตายหยังเขียดสถานเดียว แล้วเหตุใดพวกเขาถึงมุ่งหน้าต่อไป นักวิจารณ์หลายคนยกให้เป็นเพราะความแค้นและความบ้าคลั่งของกัปตันอาฮับ แต่เรารู้สึกว่ามีบางอย่างลึกซึ้งกว่านั้น โมบีดิกอาจเป็นอุปสรรคและอัตตาบางอย่างที่คนเราไม่อาจก้าวพ้นหรือสลัดทิ้งได้
นอกเรื่องคือได้อ่านประวัติ “เจ้าลัทธิ” (spiritual teacher) คนหนึ่ง เขาเล่าว่าหลังจากค้นพบสัจธรรม เป็นเวลาเกือบสองปีเลยที่เขาไม่ทำอะไร เอาแต่นั่งในสวน มีชีวิตอยู่อย่างเปี่ยมสุขและหลุดพ้นไปวันๆ จะว่าน่าอิจฉาก็น่าอิจฉา เขาคือกัปตันอาฮับที่ตัดสินใจไม่เผชิญหน้าวาฬเผือก (สุดท้ายเจ้าลัทธิคนนั้นก็เขียนหนังสือและเผยแพร่คำสอนของตัวเอง ก็ถือว่าเขาได้สร้างจุดมุ่งหมายในชีวิตขึ้นมาแล้วเหมือนกัน) บางทีชีวิตที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับโมบีดิกเลยอาจเป็นชีวิตที่เปี่ยมสุขกว่าก็ได้
แต่มนุษย์เราสมควรใช้ชีวิตแบบนั้นหรือ
S. D. Levitt, S. J Dubner's "Freakonomics"
ในบทหนึ่งของหนังสือเศรษฐศาสตร์ชวนหัว Freakonomics มีปัญหาข้อหนึ่งน่าสนใจดี เลยอยากหยิบมาวิเคราะห์ต่อ เลวิตและดับเนอร์พูดถึงกรณีที่ชายคนหนึ่งมีส่วนในการทำลายเครือข่ายขององค์กรใต้ดิน KKK อันเป็นองค์กรเหยียดผิวในประเทศอเมริกา พวกนี้เป็นพวกชอบใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำ โดย KKK จะใช้รูปแบบขององค์กรลับในยุคกลาง ซึ่งเต็มไปด้วยรหัสและปริศนาในการสื่อสาร หรือแม้แต่ชื่อตำแหน่งก็จะฟังดูอลังการแบบพวกขุนนางและอัศวิน (เช่นหัวหน้าเครือข่ายมีรหัสว่า "มังกรยักษ์" อะไรทำนองนี้)
สิ่งที่ชายคนนั้นทำก็คือ นอกเหนือจากการแฝงตัวเองเข้าไปในเครือข่ายของ KKK แล้ว สเตสันยังเอาข้อมูลภายในออกมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เขียนหนังสือ The Klan Unmasked แฉความลับขององค์กร ผลก็คือจากของที่เคยเป็นความลับ เมื่อถูกเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน ความตื่นเต้นก็ลดหายลงไป ถึงแม้การกระทำของสเตสันจะไม่มีส่วนทำลาย KKK โดยตรง แต่ไม่ช้าความนิยมของกลุ่มก็ลดหายไป สมาชิกใหม่ก็น้อยลงทุกวัน จนค่อยๆ ซาไปเอง เลวิตและดับเนอร์จึงสรุปว่า อาวุธสำคัญที่สุดของ KKK (และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ) คือความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากความลับ ครั้นเมื่อความลับกลายเป็นความแจ้ง อาวุธตรงนี้ก็สูญเสียประสิทธิภาพไป
หนังสือ Freakonomics ฉบับที่เรามีนั้นเป็นฉบับพิเศษ โดยรวมเนื้อหาเพิ่มเติมภายหลังการตีพิมพ์ครั้งแรกเอาไว้ด้วย และหนึ่งในเนื้อหาเหล่านั้นคือบทความซึ่งเลวิตและดับเนอร์พูดถึงสเตสัน ปรากฎว่าเป็นไปได้มากที่เนื้อหาของ The Klan Unmasked ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สเตสันกุขึ้นมาเอง เลวิตและดับเนอร์รู้สึกผิดหวังกับสิ่งนี้มาก เนื่องจากเป้าหมายหนึ่งของ Freakonomics คือการล้มล้าง “ภูมิปัญญา” (หรือ conventional wisdom อันนี้แปลมั่วๆ นะครับ อย่าถือเป็นสาระ) หรือความรู้ความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ซะ เลวิตและดับเนอร์จบบทความนี้โดยบอกว่า แม้พวกเขาจะผิดหวังที่เรื่องของสเตสันไม่ใช่ความจริงล้วนๆ แต่เขาก็อยากเชิดชูวีรกรรมและความกล้าหาญของชายคนนี้ที่คิดจะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม
เนื่องจากอ่านมาแล้วทั้งเล่ม ผู้เขียนก็ได้ให้วิทยาทานความรู้เราว่า คิดอย่างไรจึงจะเป็นการคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ พอถึงตรงนี้ก็เลยอยากให้ความรู้คืนกลับไปบ้างว่า คิดอย่างไรจึงจะเป็นการคิดแบบนักมานุษยวิทยา เนื่องจากปัญหาที่เลวิตและดับเนอร์เจอนั้น เป็นปัญหาพื้นฐานข้อหนึ่งของมานุษยวิทยา ซึ่งก็คือ “ความจริงนั้นสำคัญไฉน” ถ้าเปรียบองค์กร KKK เหมือนกับชนเผ่าหนึ่ง ขณะที่นิทานปรัมปราและขนบความเชื่อของชนเผ่านั้นแตกต่างกันไปตามแต่ผู้เก็บข้อมูลจะไปสอบถามใคร ความลับขององค์กร KKK ก็เหมือนกันนั่นแหละ กล่าวคือคงไม่มีคู่มือที่แจกแจงอย่างละเอียดหรอกว่ารหัสของ KKK มีอะไรบ้าง ที่ใช้ๆ กันอยู่ก็เป็นการสืบทอด มุขปาฐะระหว่างสมาชิกแต่ละรุ่น เรื่องยกเมฆที่สเตสันเขียนลงใน The Klan Unmasked ขอแค่มีส่วนคล้ายคลึงอยู่บ้างกับรหัสที่พวก KKK เข้าใจกัน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าหนังสือเล่มนี้ได้แฉความลับของ KKK อย่างหมดเปลือก
Freakonomics เป็นหนังสือที่ดีนะครับ อ่านสนุก และอย่างที่บอกคือมันได้สอนให้เรารู้ว่านักเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไร สิ่งนี้มีประโยชน์ทั้งสองทาง กล่าวคือสังคมไทยจำเป็นมากๆ ที่ชาวบ้านชาวช่องจะต้องคิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น (จะได้ไม่มาตีกันแย่งกองหินชายแดน) ขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องเข้าใจว่าคนที่เขาคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วในสังคมไทย (นักธุรกิจ นักการเมือง) เขามีจุดอ่อนในวิธีคิดอย่างไร เพื่อจะได้มองคนเหล่านี้ให้ทะลุปรุโปร่ง
V (r.o.d.)
เราชอบเรื่องนี้ของคุณ Shikak มากกว่าเรื่องที่แล้ว รู้สึกว่าผู้แต่งตีโจทย์ความเหนือจริง (surrealism) แตก แทบไม่มีข้อติใหญ่ๆ เลย ถ้าจะคอมเมนต์คือคุณ Shikak น่าจะลองเปรียบเทียบ V กับเรื่อง tear of butterfly ดูว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่าเรื่องแรกประสบความสำเร็จ แต่เรื่องหลังไม่
ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากให้แก้ไขคือ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องปูเรื่องราวให้เกิดในอนาคตปี 2050 ด้วย ความเหนือจริงของเรื่องสั้นนี้ มันได้ทะลุกำแพงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไปตั้งแต่แรกแล้ว อีกจุดคือไม่น่าจะต้องอ้างถึงคอมมิวนิสต์และอังเดร เบรตง สาระเบ็ดเตล็ดแบบนี้รังแต่จะทำลายบรรยากาศชวนฝันของเรื่องสั้นไปเปล่าๆ เบื้องหลังของชีวิตนางเอกก็ดูจะไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไหร่ ตัดออกไปเลยดีกว่าไหม หรือเอากลับมาเล่นใหม่ในภายหลัง เพิ่มความสำคัญลงไปอีกหน่อยก็ได้ (คุณ Shikak เหมือนจะมีประเด็นกับเบื้องหลังตัวละคร ใน tear of butterfly เบื้องหลังของตัวเอกถูกทำให้สำคัญจนเกินไป ส่วนใน V ก็ดูจะสำคัญน้อยไปหน่อย)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ส่วนที่อยากชมคือการเปิดเรื่องด้วยละครลอยตัวและหมู่ดาว การสร้างบรรยากาศโบยบิน แบบนี้จะช่วยได้มากในการเขียนเรื่องแนวเหนือจริง ชอบวิธีการใช้ภาษา แต่ละย่อหน้าเป็นประโยคสั้นๆ อ่านแล้วได้อารมณ์เหมือนอ่านบทกวี ชอบฉากที่นางเอกตื่นขึ้นมากลางป่าเขาและพบตัวเองเต็มไปหมด ฉากนี้เหนือจริงได้ใจมากๆ (แต่จะเหนือจริงกว่านี้ถ้าเปลี่ยนป่าเขาให้เป็นทะเลทราย มันจะกลายเป็นภาพของเดลีขึ้นมาทันที)
จุดสุดท้ายที่อยากพูดถึงซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสั้นนี้เสียทีเดียวคือ ถึงแม้ V จะเป็นเรื่องสั้นที่ดีในตัวมันเอง แต่ถ้าเขียนแนวนี้ออกมาเยอะๆ จะเฝือได้ง่ายมาก ถ้ารักจะเขียนจริงๆ ต้องพยายามฉีกตัวเองอยู่ตลอดเวลา คุณ Shikak น่าจะลองเอาขนบของเหนือจริงมาผสานกับอัตถนิยมดู น่าจะช่วยให้มีความแปลกใหม่ในแต่ละผลงานได้
ภาพที่ผมประทับใจ
G. W. F. Hegel's "The Essential Writings"
หากแม้นจะมีชาวตะวันตกสักคนที่ได้ยินเสียงตบมือข้างเดียว ก็คงเป็นฟรีดริช เฮเกลผู้นี้แหละ
สารภาพว่าใช้เวลาอ่านนานมากกับ The Essential Writings เผลอๆ เกือบสองปีกระมังตั้งแต่เริ่มหยิบมันขึ้นมา ด้วยความหนักแน่นของเนื้อหา ได้แต่อ่านๆ วางๆ กว่าจะจบทั้งเล่มลงได้ก็จนป่านนี้เอง ทั้งที่ว่ากันตรงๆ The Essential Writings นี่ต้องถือว่าอ่านง่ายแล้ว เพราะมันรวบรวมบางช่วงบางตอนมาจากหนังสือดังๆ ของเฮเกล ถ้าต้องมาอ่านอย่าง The Phenomenology of Spirit คงใช้เวลาสาม สี่ปีเป็นอย่างน้อย
เพราะความยากตรงนี้ เลยทำให้ไม่ค่อยมีคนไทยได้อ่านได้ศึกษาผลงานของเฮเกล ทั้งที่แกเป็นผู้ให้กำเนิดวิภาษวิธี (Dialectic) แท้ๆ คนไทยส่วนใหญ่จะรับแนวคิดนี้มาจากมาร์คอีกทอด ซึ่งวิภาษวิธีของมาร์คและของเฮเกลก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ของมาร์คจะเน้นเรื่องการโค่นล้ม ทฤษฎีใหม่ล้มล้างด้วยทฤษฎีเก่า ในขณะที่ของเฮเกลจะเน้นเรื่องการส่งเปลี่ยนของทฤษฎีจากสภาวะหนึ่งไปยังอีกสภาวะหนึ่งมากกว่า
ตัวอย่างซึ่งเรามองว่าสวยงามมากๆ จาก The Phenomenology of Spirit คือเฮเกลเปรียบเทียบความรู้ว่าเป็นเหมือนดอกไม้ ซึ่งเวลาผ่านไป กลีบดอกก็จะร่วงเหี่ยวเฉาและกลายเป็นผลไม้ ต่อมาผลไม้ปริแตกก็จะกลายเป็นเมล็ด และถ้าเมล็ดได้มีโอกาสตกลงผืนดิน ก็จะงอกเงยขึ้นมากลายเป็นต้นกล้า และจากต้นกล้าเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านใบ และสุดท้ายก็กลายเป็นดอกไม้อีกที เฮเกลบอกว่าไม่ว่าจะสภาวะไหน ดอกไม้ ผลไม้ เมล็ด ต้นกล้า กิ่งก้านใบ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นดอกไม้ทั้งนั้น
หัวใจของวิภาษวิธีอยู่ที่การรวมของสองสิ่งซึ่งตรงข้ามกันเข้าหากัน เพื่อให้บังเกิดสิ่งใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือเริ่มต้นจากทฤษฎี (thesis) บังเกิดทฤษฎีต้าน (anti-thesis) ซึ่งเมื่อเอาสองตัวมารวมกันก็จะกลายเป็นทฤษฎีสังเคราะห์ (synthesis) แต่แท้ที่จริงทั้งสามสิ่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเดียวกัน หรือมีธรรมชาติของสิ่งเดียวกันอยู่ทั้งนั้น ขนาดทฤษฎีต้านที่สมควรจะตรงข้ามกับทฤษฎี หรือทฤษฎีสังเคราะห์ที่ใหม่กว่าทฤษฎี ก็เฉกเช่นเดียวกับเมล็ดหรือผลไม้ ซึ่งแม้จะแตกต่างจากดอกไม้ แต่ก็มีธรรมชาติของดอกไม้บรรจุอยู่ในนั้น
เพราะเชื่อในความต่างที่เหมือนกันนี่เอง ปรัชญาของเฮเกลจึงเต็มไปด้วยพาราดอกซ์ ว่ากันจริงๆ พาราดอกซ์ทางปรัชญาทั้งหมดที่เราเคยอ่านเคยรู้มา ก็ล้วนแล้วแต่ถูก The Essential Writings พูดถึงในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น เช่นพาราดอกซ์ของการเรียนรู้ ที่บอกว่าคนเราไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย เพราะสิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แล้วเราจะรับเอาสิ่งที่เราไม่เคยรู้ มาทำให้รู้ได้อย่างไร (ในที่นี้การ “รู้” แตกต่างจากการท่องจำ เก็บข้อมูล) นักปราชญ์รุ่นเดียวกับเฮเกลเช่นคานท์ถึงได้เชื่อในความรู้ a priori ซึ่งก็แปลไทยไม่ถูกเหมือนกัน (ขนาดฝรั่งยังแปลอังกฤษไม่ถูกเลย) คล้ายกับความรู้อันเกิดจากสามัญสำนึก หรือไม่ต้องอาศัยการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่จนแล้วจนรอด คานท์ก็กลับกลายเป็นเจ้าพ่อทฤษฎีประจักษนิยมที่บอกว่าการศึกษาหาความรู้ต้องเอามาจากประสบการณ์ตรง
เฮเกลไม่ศรัทธาในความรู้อันเกิดจากการประจักษ์ เพราะความรู้คือสิ่งที่เป็นสากล แต่ประสบการณ์ที่เราประจักษ์เป็นแค่ตัวอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เฮเกลจึงให้กำเนิดแนวคิด “อุดมคติ” (ซึ่งมาร์คต่อต้าน จึงดัดแปลงวิภาษวิธีของเฮเกลมาใช้กับวัตถุทางประวัติศาสตร์และกลายเป็น “วิภาษวิธีวัตถุนิยม” แทน) เช่นว่าแมวทุกตัวจะมี “อุดมคติ” ของความเป็นแมวอยู่ร่วมกัน ซึ่งเราไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากการมองแมวตัวใดตัวหนึ่ง ต้องอาศัยวิภาษวิธีเท่านั้น เราจึงจะเข้าถึงอุดมคติของความเป็นแมว
อ่านจบแล้วก็งง เขียนทวนให้ตัวเองอ่านอีกทีก็ยังงง รู้สึกว่าแนวคิดหลายอย่างของเฮเกลสัมพันธ์หรือคล้ายคลึงกับพุทธศาสนาดี วันข้างหน้าจะหาโอกาสอ่านหนังสือเต็มๆ ของแกดูแล้วกัน
นักล่าฝันสู้ๆ
วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วสำหรับ AF6 เมื่อวานฟังครูๆ และเด็กๆ ร่ำลากัน ร้องห่มร้องไห้ แล้วก็อดน้ำตาซึมนิดๆ ไม่ได้ ยอมรับว่าปีนี้ค่อนข้างอินกับ AF เป็นพิเศษ เนื่องจากเริ่มดูตั้งแต่ไปเยอรมันเมื่อสามเดือนก่อน พอกลับมาเมืองไทย แล้วต้องไปเยอรมันอีกรอบก็พอดีหมดฤดูกาล ได้ฟังเด็กๆ และ “คุนคู” ร่ำลากัน ก็รู้สึกเหมือนใจตัวเองแป้วๆ ที่ต้องจากไปอยู่แดนไกลด้วย
เอ๊ะ! อะไรนะ ไม่รู้ว่าก่อนว่ารักชวนหัวดู AF ด้วย ถูกต้องแล้วครับ ติดตามมาตั้งแต่ซีซั่นแรก และก็ไม่ใช่ประเภท “ดีใจจังตังอยู่ครบ” ด้วยนะ แม้ไม่ถึงกับขายพื้นที่การเกษตร ขายปศุสัตว์มาส่งนักล่าฝัน แต่ก็หักเงินค่าขนมตัวเองมาโหวตบ้าง
ถามว่าปีนี้เชียร์ใคร นี่เลย V 10 น้องแอน ศิริพรรณ นำเจริญสมบัติ การเชียร์น้องแอนนั้นมีเรื่องน่าสนุกและตื่นเต้นอยู่มากมาย อย่างแรกคือดีใจจริงๆ ที่น้องแอนได้ไปอิมแพคในฐานะนักล่าฝันที่ยังอยู่ในบ้าน (เพราะเอาเข้าจริงๆ ทุกคนก็ได้ไปอิมแพคหมด) ยอมรับว่าฝีมือและความนิยมของแอนอาจจะสู้ซานิ V 6 ไม่ได้ แต่ตรงนี้แหละครับที่มันสนุก เหมือนเชียร์มวยรอง ไม่รู้ว่าเธอจะหลุดออกจากบ้านเมื่อไหร่ (แต่ก็เหนียวขนาดว่าไม่เคยออกมายืนปากเหว ยกเว้นครั้งเดียวซึ่งเธอก็ได้ตุ๊กตาไปครอง ทำให้อาทิตย์นั้นไม่ต้องมีใครออกจากบ้าน)
ที่สำคัญน้องแอนเป็นนักล่าฝันที่มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด ส่วนตัวผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับพี่ไก่หรือหลายคนว่าน้องแอนไม่มีตัวตน เหมือนเข้าทรงนักร้องต้นฉบับ ซึ่งถ้าเป็นอย่างงั้นจริงก็แล้วไง มีความสามารถรอบด้าน ทำดีได้ในหลายๆ แบบไม่น่าปลื้มกว่าหรือ แต่ถ้ามองข้ามเรื่องนี้ไป เหมือนช่วงสามอาทิตย์แรกของฤดูกาล น้องแอนยังไม่ค่อยชินสนามเท่าไหร่ เวลาร้องก็มีผิดมีเพี้ยนบ้าง แต่พอผ่านอาทิตย์เพลงแดนซ์ (Barbie Girl) ศิริพรรณก็ไม่เคยทำโชว์น่าผิดหวังเลย นอกจากอาทิตย์ที่ร้องเพลงปานและ ดาวมหาลัย ซึ่งเป็นโชว์ในตำนาน ผมยังชอบ เรือนแพ ซึ่งเอาความเป็นโอเปร่ามาจับกับเพลงไทยเดิม ทำให้ฟังแล้วไม่เก่าหู กับเพลงที่ร้องคู่กับกฤษ (ซึ่งเป็นนักล่าฝันฝ่ายชายที่ผมชอบที่สุดของปีนี้ เสียดายออกไปตั้งแต่อาทิตย์แรก)
โดยรวมแล้วมีความสุขมากๆ กับ AF 6 ผมคิดว่ารายการนี้จะออกมาดีหรือไม่ดี มันขึ้นอยู่กับสามอย่างคือ ตัวทรู ผู้จัด นักล่าฝัน และที่สำคัญที่สุด ตัวแฟนคลับเอง ขอพูดถึงทรูก่อนแล้วกัน ถึงแม้จะได้รับคำด่าตลอดในพันทิพย์ แต่ก็อยากชื่นชมและให้กำลังใจว่าปีนี้คุณจัดงานได้ดีมาก เริ่มตั้งแต่การตั้งกติกาใหม่ ใช้ตุ๊กตาภูมิคุ้มกันที่ช่วยรักษาคนเก่งๆ ให้ไม่ต้องออกจากบ้านก่อนเวลาอันควร และการยึดติดกับกติกานั้นโดยไม่เสียแนวทาง ไม่สร้างเซอไพรซ์ห่วยๆ มาให้คนกังขาความบริสุทธิ์ การหาธีมสนุกๆ มาเล่นในคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต midterm คอนเสิร์ตวันแม่ (แม้จะมาตกม้าตายตอนประกาศผลที่สคริปต์ออกมามั่วซั่ว) คอนเสิร์ต battle คอนเสิร์ตจับคู่นอกบ้านในบ้าน และที่สำคัญละครเพลง บาร์หัวใจ ที่แม้จะเสี่ยวได้จัยยยยย แต่ก็เป็นคอนเสิร์ต AF ที่น่ารักสุดอีกอาทิตย์หนึ่ง
แต่สิ่งที่อยากชื่นชมทรูที่สุดคือการให้เด็กนอกบ้านได้มีส่วนรวมกับกิจกรรม AF ในปีนี้ แม้ว่ากฤษที่เราเชียร์จะออกไปเป็นคนแรก แต่ไม่รู้สึกเหมือนเขาห่างหายเราเลย ไม่ต้องพูดถึงนุกนิก (ผู้หญิงอีกคนที่เชียร์) นิวตี้ ที่แวะเวียนกลับมาขึ้นคอนเสิร์ตทำนู่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ยิ่งกุญแจซอลยิ่งแล้วใหญ่ ดูไม่ต่างอะไรจากนักล่าฝัน 4 คนสุดท้ายแม้แต่น้อย (เพราะอยู่ครบสิบสองอาทิตย์)
ส่วนหนึ่งก็เพราะเด็กปีนี้คุณภาพคับแก้วทุกคนจริงๆ แม้แต่คนที่ไม่ค่อยเข้าตาผมอย่างแท็บปี้ อิช์ค หรืออิชย์ ถ้าอยู่ปีอื่น โดยเฉพาะแท็บปี้ และอิชย์นี่เผลอๆ มีคุณสมบัติจะชิงแชมป์ AF 3 และ 5 สบายๆ ดังนั้นการที่ทรูนำคนเหล่านี้มาขึ้นคอนเสิร์ตอยู่เรื่อยๆ กลับกลายเป็นลาภหูลาภตาแก่ผู้ชมและแฟนๆ ถึงแม้ว่าตัวแม่ตัวพ่อจะไม่ได้โดดเด่น ชัดเจนแบบ AF 4 และ AF 2 (เช่นส่วนตัวคิดว่าซานิหรือกระทั่งแอนเอง ก็ยังเป็นรองพัดชา ออฟ ลูกโป่ง หรือต้อลอยู่) แต่ถ้าพูดถึงความสามารถเฉลี่ย เด็กปีนี้น่าจะสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ AF ไม่นับเรื่องนิสัยที่แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันนิด นอยกันหน่อย จิ้นกันพอเป็นน้ำยา แต่แลดูไม่เคยลืมว่านี่คือเรียลลิตี้แข่งร้องเพลง ไม่ใช่ Big Brother
สุดท้ายก็อยากพูดถึงแฟนคลับ อ้าว! แฟนคลับเกี่ยวอะไรด้วย เกี่ยวสิ เพราะผลโหวตของคุณคือผู้ตัดสินนักล่าฝัน ถ้าคุณเลือกคนเก่งๆ คนดีๆ อยู่ในบ้าน AF ก็จะเป็นรายการที่ดูสนุก ขอเทียบกับ AF 5 แล้วกัน ซึ่งตอนที่คัดเด็กเข้าบ้าน ตื่นเต้นมาก โห! เก่งดูดีมีศักยภาพกันทั้งนั้น โบว์นี่ไม่ต้องพูดถึง แต็ปก็แร็พได้เร้าใจ ว้าว! ทำไมเสียงพริ้งเพราะจังเลย โอ้ว! ว่านเขาแต่งเพลงได้ด้วยอ่ะ หนิงก็ร้องลูกทุ่งได้เพราะมั่กๆ แต่ไปๆ มาๆ อ้าว! ทำไมคนเก่งมันถึงทยอยกันออกไปหมด ไอ้ที่เหลืออยู่หรือกลับเข้ามาก็ฝีมือระดับกลางถึงล่าง (แม้ผมจะชอบบางคนก็ตาม) นิสัยก็ประหลาดๆ ดูแล้วจิตๆ
ดังนั้นที่ AF 6 ประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องขอบคุณแฟนๆ ด้วย ขอบคุณแก๊งมาเฟียที่ช่วยกันเชียร์ซานิ ช่วยดันผู้หญิงมีความสามารถคนนี้ให้มีสิทธิลุ้นแชมป์เอเอฟคนแรก เพราะพวกคุณแท้ๆ กระแสการเชียร์เอเอฟปีนี้ถึงเป็นเรื่องของความสามารถ ขอบคุณคนรักแอนทุกท่านที่ช่วยกันส่งน้องของเราไปอิมแพค ขอบคุณหนุ่มๆ ที่เชียร์นุกนิกและกุญแจซอล พวกคุณดึงเอเอฟปีนี้ออกจากวังวนของการเป็น “เกมกำจัดชะนี” ได้ ขอบคุณแฟนคลับทีและแมค ที่สนับสนุนน้องๆ ผู้ชาย ที่แม้ความสามารถจะสู้ผู้หญิงไม่ได้ แต่ในเรื่องนิสัยและพัฒนาการก็ได้พิสูจน์กันแล้วทั้งคู่
จริงๆ คือขอบคุณแฟนคลับ และผู้เกี่ยวข้องทุกคน AF ปีนี้สนุกมาก!
รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ตอนที่ 1 (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร)
(หมายเหตุ: จริงๆ แล้ว รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ของอาจารย์ไชยรัตน์ก็ไม่ได้ยาวถึงขนาดต้องแบ่งอ่านเป็นสองช่วงหรอก แต่มันอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาดีๆ จนเรากลัวว่าถ้าอ่านจนจบแล้วค่อยมาเขียนถึงรอบเดียว จะหลุดประเด็นสำคัญไปอย่างน่าใจหาย)
มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เราเริ่มรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังวิกฤติก็เมื่อประมาณปี 2548 ตอนนั้นอ่านนิตยสารสัพเพเหระฉบับหนึ่ง คอลัมน์สอนวิธีป้องกันตัวให้กับหญิงสาว จุดที่น่าขบคิดเกี่ยวกับคอลัมน์นี้คือผู้เขียนเกริ่นด้วยการชักจูงให้ผู้หญิงเห็นความจำเป็นของศิลปะการต่อสู้ โดยพูดประมาณว่า "ในสังคมทุนนิยมที่ผู้แข็งแรงคอยแต่จะรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า จำเป็นอย่างมากที่ผู้หญิงจะเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเอาไว้" กรามล่างเราแทบจะหลุดลงไปกองกับพื้น ตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ยที่อดัม สมิธสอนให้ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง
ขออีกเรื่องแล้วกัน สมัยรัฐประหารใหม่ๆ ตอนนั้นเรายังอยู่ที่อเมริกา น้องๆ ในชมรมคนไทยนัดมาเจอกันเพื่อพูดถึงสถานการณ์บ้านเมือง หนึ่งในน้องคนนั้นต้องการแสดงให้เห็นความไร้ศักยภาพของรัฐบาล สื่อวีดีทัศน์ที่เขานำมาเปิดก็คืออีเมลฉบับหนึ่งซึ่งรวมภาพตัดต่อ เอาหน้าคุณทักษิณมาใส่ในโปสเตอร์หนังดังๆ แล้วก็เปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่ (ที่จำได้แม่นยำมากคือเอาหน้าคุณทักษิณไปใส่คอมัดหมี่ แล้วเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เป็น "แม้วเหี้ย")
ที่เล่ามายาวเหยียดสองเรื่องนี้เพราะอยากบอกว่า ประเทศไทยที่เราเติบโตมา เป็นคนละประเทศเสียแล้วกับประเทศไทยของอาจารย์ไชยรัตน์ หรือพูดให้ถูกกว่านี้ เป็นคนละประเทศกับของประเทศไทยอาจารย์ไชยรัตน์ สมัยที่ท่านเขียน รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ (บทความที่อ่านมาแล้วครึ่งเล่ม ใหม่สุดจะอยู่ประมาณปีพ.ศ. 2540) นี่อาจเป็นหนังสือบทวิเคราะห์การเมืองภาษาไทยที่เราอ่านแล้วไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเกรงขามในความรู้ ความเป็นพหูสูตรของผู้เขียนซึ่งอัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยม
ก็จะไม่ให้เกรงขามได้อย่างไร ในเมื่อไม่ว่าจะเป็นฟูโกต์ อัลทูซาร์ เราเองก็อ่านมาเหมือนอาจารย์ เพียงแต่ถ้าเราอ่านฟูโกต์ 5 เล่ม อาจารย์ท่านก็อ่านไปเสีย 20 เล่ม!
หัวใจของ รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ว่าด้วยความฉ้อฉลของความรู้ อาจารย์ไชยรัตน์อิงแนวคิดของฟูโกต์ที่บอกว่าความรู้ไม่ใช่เรื่องของสัจจะ หรือความเป็นกลางทางวิชาการแบบที่นักวิทยาศาสตร์ชอบอ้างกัน แต่เป็นเพียงองค์ประกอบของวาทกรรมซึ่งเต็มไปด้วยอคติและผลประโยชน์ของผู้สร้าง ยกตัวอย่างเช่น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ไอ้หลักกงหลังการที่รัฐบาลยกมาอ้าง แท้ที่จริงก็เป็นเครื่องมือทางอำนาจประเภทหนึ่ง ซึ่งจงใจใช้กีดกันหรือบังคับให้คนในชาติดำเนินตามแผนที่ผู้นำวางไว้
เราเห็นด้วยกับอาจารย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะเดียวกัน เราก็อดคิดไม่ได้ว่าประเทศไทยแบบที่อาจารย์วิเคราะห์ในหนังสือเล่มนี้ มันไม่ "ประจักษ์" อีกต่อไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงสิบ สิบสองปีที่ผ่านมาคืออินเตอร์เนต ทำให้ปีศาจที่น่ากลัวกว่าในปัจจุบันไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นวาทกรรมต่างหาก
สังคมปัจจุบันคือสังคมที่วาทกรรมมีอิทธิพลเหนือความรู้ และนักการเมืองทั้งในและนอกสภาต่างอ่านฟูโกต์จนแตกฉาน พื้นที่ของความรู้ในปัจจุบันไม่ใช่มหาวิทยาลัยหรือหนังสือวิชาการอีกต่อไป แต่เป็นอินเตอร์เนต (ในที่นี้ "อินเตอร์เนต" รวมไปถึงสื่อหรือ "พื้นที่" อื่นๆ ซึ่งโดยขนาดและความครอบคลุมแล้ว เมื่อสิบปีก่อนเทียบไม่ติดฝุ่น) และแน่นอนว่าความรู้ในอินเตอร์เนตแท้ที่จริงก็คือวาทกรรม เป็นวาทกรรมล้วนๆ ถ้วนๆ ที่ไม่แม้แต่เสียเวลาปิดบังตัวเองว่าเป็นความรู้ (ตัวอย่างเช่นบลอครักชวนหัว และบลอคอื่นๆ ก็คือแหล่งผลิตวาทกรรมดีๆ นี่เอง)
เรื่องที่เราเล่ามาในตอนแรก เพราะต้องการบอกว่าวิกฤติของสังคมไทยเกิดจากการผลิตวาทกรรมที่มากล้นจนเกินไป และเมื่ออินเตอร์เนตเปิดโอกาสให้ใครต่อใครเข้าไปเขียน ไปอ่านความคิดของใครต่อใคร การเผยแพร่วาทกรรมในอินเตอร์เนตจึงมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่มหาวิทยาลัยหรือผู้มีอำนาจจะนึกฝันในอดีต
โปสเตอร์ "แม้วเหี้ย" ก็คือวาทกรรมอย่างหนึ่ง เป็นวาทกรรมที่ต้องการสื่อว่า "คุณทักษิณเป็นคนไม่ดี" โดยความคิดตรงนี้ไม่ต้องมีพื้นฐานจากการพิสูจน์หรือการยอมรับโดยใครทั้งนั้น เพียงแค่อาศัยนักตัดต่อภาพสักคน องค์ความรู้ที่ว่า "คุณทักษิณเป็นคนไม่ดี" ก็ได้ถูกเผยแพร่เข้าไปในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว อาจจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าองค์ความรู้กระแสหลักแบบที่อาจารย์ไชยรัตน์พูดถึงใน รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ด้วยซ้ำ เนื่องจากถ้าให้ยกวาจาอมตะของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ "ความคิดยิ่งโง่และยิ่งง่ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าถึงคนหมู่มากได้เท่านั้น" (สังเกตว่าแม้แต่ในหมู่คนที่ไม่ชอบคุณทักษิณ คงจะคุ้นเคยกับโปสเตอร์ "แม้วเหี้ย" มากกว่าข้อเขียนหรือความคิดของอาจารย์ธีรยุทธ คุณหมอประเวศ)
อีกตัวอย่างที่อยากยกขึ้นมา คือการ "ไม่เชื่อ" ปรากฎการณ์โลกร้อนในสหรัฐอเมริกา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีนักวิชาการกระแสรองบิดผันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อมาหลอกชาวอเมริกันว่าปรากฎการณ์โลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง สมัยก่อนที่อัล กอร์จะได้รางวัลโนเบล วาทกรรมตัวนี้มีอิทธิพลไม่น้อยเลย เวลาพรรครีพับลิกันจะคัดง้างกฎหมายควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหล่าผู้สนับสนุนก็จะยกวาทกรรมตัวนี้ขึ้นมาเอ่ยอ้าง (ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นการบิดผันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างน่าละอาย)
ใน รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ อาจารย์ไชยรัตน์ได้นำเสนอมุมมองน่าขบคิดว่า การเมืองใหม่หรือการต่อต้านแนวทางกระแสหลักต้องทำด้วยความระมัดระวัง เป้าหมายของการต่อต้านไม่ใช่การเข้าไปมีอำนาจในสภาหรือพื้นที่แห่งอำนาจเก่า แต่เป็นการนิยามความหมายใหม่ให้กับสังคม (พูดง่ายๆ ก็คือทำการปฏิวัตินิยามและความรู้ ไม่ใช่ปฏิวัติอำนาจ) ถ้ามองสังคมไทยในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายยิ่งว่าสิ่งที่อาจารย์ไชยรัตน์กลัวมันได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือการเมืองใหม่ที่สุดท้ายก็น้ำเน่าพอๆ กับการเมืองเก่า เพราะแม้จะอิงวาทกรรมหรือชุดความรู้ที่ต่างออกไป แต่เป้าหมายหลักก็ยังเป็นการช่วงชิงอำนาจเหมือนเดิม
ซึ่งโศกนาฏกรรมนี้ก็มีสาเหตุของมันอยู่ กล่าวคือไม่ใช่พันธมิตรหรือกลุ่มผู้จัดการหรอกที่เป็นคนคิดค้นวาทกรรมต่อต้านคุณทักษิณ และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่นปช. ด้วยที่คิดค้นวาทกรรมต่อต้านอมาตยธิปไตย วาทกรรมเหล่านี้เกิดมาจากนักวิชาการเช่นคุณหมอประเวศ อาจารย์ธีรยุทธ อาจารย์นิธิ หรืออาจารย์ธงชัย พวกท่านเพียงต้องการเสนอความคิดหักล้างองค์ความรู้ซึ่งครอบงำสังคมอยู่ในขณะนั้นๆ พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นนักต่อสู้เพื่อการเมืองใหม่ดังที่อาจารย์ไชยรัตน์นำเสนอไว้จริงๆ แต่ปัญหาคือ อย่างที่บอกไปแล้วว่านักการเมืองสมัยนี้ ทุกคนช่ำชองฟูโกต์กันหมด ทุกคนรู้ว่าวาทกรรมบริสุทธิ์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือแห่งความรุนแรงได้ วาทกรรมเหล่านี้จึงถูกนำไปเผยแพร่ ผ่านระบบการกระจายเสียงที่ต้องอาศัยเงินลงทุน เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการแลกซื้อสิ่งที่นักลงทุนเหล่านั้นปรารถนา ซึ่งก็คืออำนาจ ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากแล้วละ ที่ในปัจจุบันการปฏิวัติมันจะหยุดอยู่แค่นิยามและความรู้
สิ่งที่เราอยากแนะแนวต่อไปนี้ คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับข้อสรุปของ รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ โดยสิ้นเชิง กล่าวคือต้องเอาความเป็นวิทยาศาสตร์ ประจักษนิยม และปฏิฐานนิยมกลับเข้ามาในองค์ความรู้และวาทกรรม ตัวอย่างกรณีโลกร้อน ผู้รับสานส์ควรตรวจสอบข้อมูล เอาความเป็นวิทยาศาสตร์เข้าไปคัดง้าง ทำลายวาทกรรมชวนเชื่อดังกล่าว (ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวาทกรรมดีๆ ที่ปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อนอยู่เลย ขณะเดียวกันวาทกรรมชวนเชื่อที่ขู่ให้คนกลัวปรากฎการณ์โลกร้อนจนเกินจริงก็ใช่ว่าจะไม่เคยได้ยิน) จะต่อต้านทุนนิยมก็ต่อต้านไป แต่ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ เหมือนกับมันเป็นสัจจะที่ทุกคนในสังคมต้องเห็นด้วย และขอทีเถอะ ไอ้อีเมลตัดต่อภาพนี่ลบทิ้งไปซะ ไม่ต้องส่งต่อเลยได้ไหม
นาฏศิลป์ร่วมสมัย 4 ชิ้น
จบไปแล้วกับงาน บารมีแห่งแผ่นดิน ที่หอศิลป์กรุงเทพ ขอบคุณผู้จัดที่ช่วยให้เราได้ดูงานอะไรดีๆ วันนี้จะขอพูดถึงนาฏศิลป์ร่วมสมัย 4 ชิ้นที่เราได้มีโอกาสแวะไปดู (จริงๆ อยากดูเยอะกว่านี้)
งานชิ้นแรกคือ Unknown Landscape โดยน้องธนพล วิรุฬสหกุลและคู่หู (เข้าใจว่าคือน้องวิทุรา อัมระนันทน์จากที่ google ดู ถ้าผิดต้องขออภัยด้วย) นี่อาจเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่ดูมาตลอดงานนี้ นักเต้นเข้าใจและตีโจทย์นาฏศิลป์ร่วมสมัยแตก กล่าวคือเป็นการดึงเอานาฏศิลป์ออกจากบริบททางวัฒนธรรม ให้เหลือเพียงแค่การสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยร่างกายผู้เต้น ทิวทัศน์ที่ไม่รู้จักในที่นี้คือทิวทัศน์ที่พวกเราทุกคนคุ้นเคยดี นั่นก็คือในครรภ์ของมารดา (เป็นโจทย์ของงาน บารมีแห่งแผ่นดิน ที่งานทุกชิ้นจะต้องเกี่ยวกับธีมเรื่องแม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง)
ชอบความเป็นกันเองของผู้เต้นต่อคนดู Unknown Landscape แบ่งเป็นสามองค์ โดยเมื่อสิ้นสุดแต่ละองค์ นักเต้นทั้งสองจะมาพูดคุยกับคนดู โดยบอกว่าพวกเขายังไม่ค่อยพอใจกับผลงานที่เพิ่งแสดงนัก เลยอยากจะลองตีโจทย์ด้วยวิธีที่ต่างออกไป ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้แค่นั่งดูผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังค่อยๆ เห็นพัฒนาการของความคิดด้วย จะติข้อเดียวคือองค์สามซึ่งสมควรจะเป็นผลงานที่ดีที่สุด กลับออกมาด้อยกว่าสององค์แรก แต่นอกจากนั้นแล้ว พอใจมากๆ กับงานแสดงชุดนี้
ชิ้นที่สองคือ Desire ผลงานของครูนาย มานพ มีจำรัส ชอบลีลาการเต้นที่เน้นการสื่ออารมณ์มากกว่าเพียงท่วงท่าที่ปรากฎแก่สายตา เข้ากันได้ดีกับบุคลิกภาพของผู้เต้นมากๆ จนรู้สึกว่าฟังครูนายพูดตอนจบเผลอๆ สนุกกว่าดูครูเต้นอีก จะติก็คือพรอพมันรกเกินไป หลายชิ้นก็แทบไม่ได้ใช้ ในการแสดงที่เน้นอารมณ์ขนาดนี้ จำเป็นด้วยหรือที่ต้องใช้พรอพมากมาย (ขนาดไฟสปอตไลท์ ยังเป็นไฟเฉยๆ ไม่ได้เลย แต่ต้องตบแต่งให้กลายเป็นพรอพไปด้วย)
Desire พยายามเปรียบเทียบความรักของแม่และความรักของผีเสื้อสมุทร ชอบที่ครูนายพยายามสื่อให้เห็นถึงความทุกข์ใจของเหยื่อ "บุรุษโฉด" ในวรรณคดีที่คนไทยมักจะมองข้าม น่าสนใจคือตอนจบของโชว์พอครูนายเปิดให้ผู้ฟังซักถาม ก็มีป้าคนหนึ่งออกมาเหวี่ยงครูว่าจะเอาผีเสื้อสมุทรไปเปรียบเทียบกับแม่ได้อย่างไร ประเด็นนี้ไว้จะพูดถึงวันหลังแล้วกัน แต่อย่างไรก็อยากชื่นชมผลงานของครูนายชิ้นนี้
ชิ้นที่สามคือ Mother โดยคณะ New Dance Theatre เป็นชุดที่ไม่ชอบที่สุด เรื่องของพระแม่ธรณีและมนุษย์ที่ทำลายโลก สื่อโดยใช้รำไทยและนาฏศิลป์สมัยใหม่ประกอบวีดีทัศน์ ปัญหาคือผู้ออกแบบท่าเต้นตีโจทย์ง่ายเกินไป การร่ายรำไม่ได้สื่อสารอะไรมากมายไปกว่าที่ปรากฎแก่สายตาในตอนแรก แต่ก็ยังยืดยาวต่อไปเรื่อยๆ ราวกับกลัวคนดูคิดไม่ทันว่าต้องการบอกอะไร (ไม่ชอบอย่างมากที่ผู้แสดงชายกรีดร้องออกมาหลังจากดนตรีจบ นี่ยังมีอะไรไม่ชัดเจนเหลืออยู่อีกไหมเนี่ย) ที่เป็นข้อเสียใหญ่สุดคือความประดักประเดิดของวีดีทัศน์ที่ไม่ค่อยงาม ยิ่งการเอาผ้ามาคลุมฉากหลังให้เป็นจอ ยิ่งดูเกะกะลูกตา เข้าใจว่าคงเพื่อสร้างความยอกแย้งในการรับภาพ แต่ความลักลั่นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ พอมาอยู่รวมกันมากๆ เข้าเลยกลายเป็นช่องโหว่อย่างน่าเสียดาย
ชิ้นสุดท้ายคือ รับขวัญข้าว ของคณะไก่แก้ว สารภาพว่าลุ้นที่สุดกับชุดนี้ อยากรู้ว่าคณะไก่แก้วที่ขึ้นชื่อเรื่องผลงานอนุรักษ์นิยม เมื่อมาทำงานนาฏศิลป์ร่วมสมัยจะช่วยสร้างสะพานที่พัฒนานาฏศิลป์ไทยให้หลุดจากแอ่งได้ไหม ผลลัพท์ของความแอบลุ้นก็มีทั้งจุดที่น่าชื่นชม และจุดที่น่าเสียดาย ชื่นชมในความพยายามของน้องๆ (เข้าใจว่าน้องๆ เป็นคนออกแบบท่าเต้นเอง) ที่เล่าเรื่องราวการเก็บเกี่ยวข้าวผ่านการแสดงนาฏศิลป์ ซึ่งตีความออกมาได้อย่างสวยงามและเป็นเรื่องเป็นราวมากๆ บวกกับการใช้ดนตรีร่วมสมัย ก็ช่วยให้งานชุดนี้มี "กลิ่น" ที่เข้ากับคนยุคใหม่ได้ดีกว่า
จุดที่น่าเสียดายคือเมื่อเทียบกับ Unknown Landscape รู้สึกได้ว่าน้องๆ ยังตีโจทย์ไม่แตกทั้งความเป็นนาฏศิลป์ร่วมสมัย และความเป็นนาฏศิลป์ไทยเดิม การผสมผสานนี้เป็นแค่การเอาเปลือกนอกมายำรวมกันเท่านั้น (นาฏศิลป์ไทยคือการรำ และความร่วมสมัยอยู่ที่ดนตรียุคใหม่) จริงๆ รับขวัญข้าว น่าจะเป็นผลงานที่ดัดแปลง "คำศัพท์" ของการเต้นสมัยใหม่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ เช่นไม่เห็นจำเป็นเลยว่าทุกคนบนเวทีต้องเต้นแบบเดียวกันหมด การสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างความพร้อมเพรียง และการใช้ท่าหลากหลายมาประสาน น่าจะช่วยให้งานชิ้นนี้ดูงดงามแบบร่วมสมัยมากขึ้น
ที่สำคัญคือ รับขวัญข้าว มี "วินาทีมนตรา" ที่ออกมาเลิศลอยโดยผู้แสดงไม่ได้ตั้งใจอยู่หลายช่วง เช่นระหว่างรอการเต้นชุดที่สองที่ใช้ไฟมืดๆ ส่องนักแสดงจนเกิดแสงเงา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเห็นกันในนาฏศิลป์ไทย จนเมื่อไฟค่อยๆ สว่างขึ้นมา ความสวยงามตรงนี้ก็หดหายไปอย่างน่าเสียดาย หรืออีกช่วงหนึ่งที่ซีดีแผ่นเสีย แล้วนักแสดงต้องเต้นอยู่ในความเงียบ ทันใดนั้นเราก็เห็นความแข็งแกร่งของท่วงท่าและความงามของร่างกายผู้เต้น ที่ถูกดนตรีบดบังในตอนแรก สิ่งเหล่านี้ถ้าผู้สร้างเอากลับเข้าไปขบคิด คงจะสร้างผลงานดีๆ ออกมาให้เราเห็นได้อีกมากมายแน่ๆ เป็นกำลังใจให้ครับ
Tear of Butterfly (r.o.d.)
เราเห็นศักยภาพในเรื่องสั้น Tear of Butterfly โดยเฉพาะช่วงไคลแมกซ์ที่ “ฟรอยด์” ได้ใจ ส่วนที่อยากแนะนำให้แก้ไขคือเนื้อหาก่อนหน้านั้น คุณ Shikak น่าจะทบทวนให้กระจ่างว่าต้องการเขียนเรื่องสั้นประเภทไหนกันแน่ เรื่องที่มีเนื้อหาเหนือธรรมชาตินั้น จริงๆ แล้วมีหลากหลายหมวดหมู่ด้วยกัน Tear of Butterfly นี้เราอยากจัดให้มันเป็นเรื่องแนวเหนือจริง (surrealism) เพราะมีการเล่นกับปมทางจิตวิทยา และอ้างอิงทฤษฎีของฟรอยด์ แต่ปัญหาก็คือ วิธีการเล่าเรื่องของคุณ Shikak ยังลักลั่นอยู่ระหว่างความเหนือจริงและความไซไฟ/แฟนตาซี จุดสังเกตง่ายๆ คือ ทัศนียภาพของเรื่องแนวเหนือจริงจะเป็นภาพความฝันหรือความจริงที่มีลักษณะคล้ายความฝัน ส่วนของเรื่องแนวไซไฟ/แฟนตาซีจะเป็นความผิดธรรมชาติ (หรือโลกอนาคต) ที่ถูกสร้างและแต่งเติมรายละเอียดขึ้นมา
ช่วงแรกของเรื่องสั้น เมื่อ “ผม” ตื่นขึ้นมาในปราสาทที่อยู่ใต้การปกครองของศาสตราจารย์ผีเสื้อ ค้นพบเทพธิดาผีเสื้อ และวางแผนช่วยเธอออกมา คุณ Shikak ให้รายละเอียดของฉากและเงื่อนไขชัดเจนมากเกินไป (เช่นเรารู้กระทั่งว่าช่วงเวลาไหนที่ศาสตราจารย์ผีเสื้อจะไม่อยู่ที่ปราสาท และเป็นช่วงที่ “ผม” สามารถออกไปไหนมาไหนได้) อ่านรู้สึกเหมือนกำลังอ่านบทสรุปเกม RPG ซึ่งนี่เป็นลักษณะการเล่าเรื่องแบบแฟนตาซี/ไซไฟ เมื่อถึงช่วงปล่อยหมัดเหนือจริงตอนไคลแมกซ์ เลยฮุคอ่อนกว่าที่มันควรจะเป็น อีกจุดหนึ่งคือชาติกำเนิดของ “ผม” ซึ่งเป็นปมสำคัญที่มีผลต่อตอนท้ายของเรื่อง น่าจะเขียนให้คนอ่านสงสัยหรือขบคิดกับมันมากกว่านี้ เห็นคุณ Shikak เปรยออกมานิดหนึ่งเรื่องพ่อและแม่ แต่ดูผ่านมาผ่านไปเสียมากกว่า
อยากแนะนำให้คุณ Shikak ลองหาผลงานเรื่องสั้นยุคแรกๆ ของคุณทินกร หุตางกูรมาอ่านดู น่าจะช่วยให้เข้าใจความเป็น surreal ขึ้นครับ
สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากคือชื่อ Tear of Butterfly จริงๆ ชื่อภาษาอังกฤษไม่ได้แย่หรอก แต่น่าจะเติม “the” เข้าไปหน้าคำว่าผีเสื้อด้วย เพื่อให้ถูกไวยกรณ์ครับ และจริงๆ ทำน้ำตาให้เป็นพหูพจน์ดีกว่า (ดูตัวอย่างจากชื่อหนัง ฟ้าทะลายโจร ฉบับภาษาอังกฤษก็คือ Tears of the Black Tiger)
ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน (สุนัย จุลพงศธร)
เด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจ ทั้งชีวิตไม่เคยพานพบอุปสรรค ย่อมไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ฉันใดฉันนั้นทฤษฎีหรือวาทกรรมใดที่มีแต่คนอวยตลอด ไม่เคยหรือไม่อาจถูกนำมาโต้แย้งได้ ก็ย่อมไม่สามารถพัฒนาไปเป็นทฤษฎีที่สมบูรณ์หรือใช้ได้จริง ยิ่งกว่านั้น เด็กที่เสียคนเมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม ส่วนทฤษฎีที่เสียทฤษฎี วันเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อหรือ ร้ายยิ่งกว่านั้น เครื่องมือทางการเมือง
ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน พูดกันอย่างไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา คือหนังสือที่มีแนวคิดต่างกันอย่างสุดขั้วกับ การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ ซึ่งได้พูดถึงไปแล้ว ชนิดที่ถ้าคนขายเอาไปวางไว้บนชั้นเดียวกัน เผลอๆ จะสันดาบวายวอดกันทั้งร้าน
ความเหมือนในความต่างของหนังสือสองเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลในของ “เหตุการณ์” ทั้งคู่ ดังนั้นจะอ่านก็ต้องระมัดระวังเอาสิบเอาล้านหาร แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นส่วนบุคคลให้ออก ซึ่งส่วนนี้เองดูจะเป็นข้อด้อยของ ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน ภายใต้การนำเสนอและวิเคราะห์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มันก็ยังมีตัวตนของผู้เขียนปนเปื้อนเข้ามาด้วย รวมถึงการวิเคราะห์เชิงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งแม้เราจะเห็นด้วยกับอาจารย์สุนัยก็ตาม แต่เสียดายที่วาทกรรมเหล่านี้มาแปดเปื้อนความเป็นวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ของหนังสือ
ความคิดศูนย์กลางของอาจารย์สุนัยในการวิพากษ์เศรษฐกิจชุมชนคือ เศรษฐกิจชุมชนในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนเศรษฐกิจชุมชนเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อน กล่าวคือตั้งแต่ประเทศไทยถูกบังคับให้รับเอาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้ สังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรมก็ได้แปรผันไป (จุดหนึ่งที่น่าชื่นชมมากๆ คือ อาจารย์สุนัยไม่ได้พยายามแม้แต่น้อยที่จะปกปิดความชั่วร้ายของระบบทุนนิยม ในทางตรงกันข้าม แกกลับวิเคราะห์ ตีแผ่มันอย่างหมดเปลือกว่าทุนนิยมได้ทำฉิบหายและเปลี่ยนแปลงอะไร มากน้อยแค่ไหนในบ้านเรา) จนในปัจจุบัน เมื่อเอาเศรษฐกิจชุมชนมาปรับใช้ จึงมาในแนวดิ่ง คืออิงอยู่บนเงินช่วยเหลือของภาครัฐ แต่เมื่อภาครัฐ ยังไงเสีย ก็ไม่อาจพ้นระบบทุนนิยมโลก จึงเกิดอาการพิพักพิพ่วนแบบ “หนึ่งรัฐสองระบบ” ขึ้นมา
ตัวอย่างเรื่องโรงสีซึ่งทรงพลังอย่างมากที่อาจารย์สุนัยยกมาคือ โรงสีขนาดเล็กตามแบบเศรษฐกิจชุมชนนั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงกว่าโรงสีขนาดใหญ่ (นี่คือเรื่องสามัญสำนึกทั่วไป ผลิตอะไรมากๆ ก็ย่อมเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตน้อย ว่ากันตามตรง แนวคิดทุนนิยมมันก็เกิดมาจากการแลเล็งเห็นช่องว่างและความได้เปรียบดังกล่าว) ดังนั้นโรงสีชุมชนจึงกลายเป็นตัวดูดเงินทุนของรัฐบาล เพราะต้องคอยเอาเงินมาโปะตัวเลขแดงในบัญชี ตรงนี้เลยเกิดปฏิทรรศน์ (paradox) ขึ้นมา กล่าวคือไปๆ มาๆ ค่าใช้จ่ายแบบพอเพียงอาจจะสูงยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในระบบทุนนิยมก่อได้ (แต่ก็อย่าลืมว่าสำหรับกรณีโรงสี ค่าใช้จ่ายในระบบทุนนิยมก็ต้องบวกเอาค่าขนถ่าย ค่าน้ำมัน และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายด้วย)
ทีนี้ปัญหาที่ควรจะเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ก็เลยกลายไปเป็นปัญหาทางอุดมคติขึ้นมาว่า ฝ่ายหนึ่งถาม “จ่ายแพงกว่าทำไม” อีกฝ่ายโต้ “ฉันจ่ายแพงกว่าได้ ในเมื่อฉันไม่คิดจะเอากำไรขาดทุนมาประเมินตัวเองตั้งแต่แรก” เราในฐานะคนกลาง คงไม่มาเข้าข้างนั่งเถียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรอก แต่อยากยกตัวอย่างจาก Development as Freedom ของอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลว่า ต่อให้เรายึดหลัก “อิสรภาพ” มีคุณค่าเหนือเงินตรา สุดท้ายก็ต้องสร้างมาตรวัดทางปริมาณมาชั่งน้ำหนักไอ้สิ่งที่เรียกว่า “อิสรภาพ” อยู่ดี ดังนั้นเราไม่อาจปฏิเสธ หรือหลีกหนีการตัดสินปัญหานี้ด้วยตัวเลขได้
ส่วนที่เราไม่เห็นด้วยกับอาจารย์สุนัยนั้น คือเราอยากตั้งคำถามว่าเหตุใดอาจารย์สุนัยถึงต้องแยกเศรษฐกิจทุนนิยมและเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นน้ำและน้ำมัน เป็นขั้วตรงข้ามกันขนาดนี้ “หนึ่งรัฐสองระบบ” ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เจ้าพ่อเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างจีน (เฮะ เฮะ เฮะ) เขาก็เป็นกัน ในบางโอกาส บางสถานที่ เศรษฐกิจชุมชนนั้นมีข้อดีอยู่มากมาย และน่าจะพยายามค้นหาวิธีให้สองระบบทำงานผสานกัน มากกว่ามองอย่าง “ไม่ใช่พวกเรา ก็เป็นศัตรู” เช่นนี้
การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ (ประเวศ วะสี)
ที่จะกล่าวนี้เป็นเรื่อง “ระบบ” ไม่ได้หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ขอให้เป็นกระบวนการทางปัญญามากกว่าเอาไปเร้าอารมณ์กันเรื่องบุคคล
เอาล่ะ ในเมื่อคุณหมอประเวศกล่าวมาเช่นนี้ เราก็จะขอเขียนถึง การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ โดยเอา “ความคิด” เป็นที่ตั้งไม่พูดถึงตัวบุคคลบ้างก็แล้ว แต่ขอแซวเล็กๆ ก่อนว่าหนังสือเล่มบ๊างบางแบบนี้ เหมาะยิ่งนักจะเรียกมันขำๆ ว่า “พันธมิตรมานิเฟสโต"
อย่างไรก็ตาม “การเมืองใหม่” ของคุณหมอประเวศก็ไม่ใช่การเมืองใหม่แบบพันธมิตรเสียทีเดียว ในส่วนที่เหมือนกันคือปฏิเสธระบบประชาธิปไตยที่อิงอยู่บนการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องชื่นชมคุณหมอเพราะทางออกที่ท่านเสนอมานั้น ไม่ได้เน้นย้ำการแต่งตั้ง สูตร 70/30 อะไร มีกล่าวถึงเป็นเซคชั่นเล็กๆ ในหนังสือ แต่ก็ทิ้งไว้แค่นั้น ขนาดคุณหมอประเวศเองก็คงตระหนักว่าให้ทั้งประเทศเลือกนักการเมืองดีๆ เข้ามาทำงานยังเลือกกันไม่ได้ นับประสาอะไรกับกรรมการจัดตั้งหยิบมือเดียว
อีกส่วนหนึ่งซึ่งเราเห็นด้วยและคิดว่าเป็นหัวใจหลักของ การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ คือการสร้างระบบประชาธิปไตยโดยเน้นที่รากฐาน ให้ผู้คนระดับรากหญ้าในแต่ละชุมชนมีส่วนร่วมในการปกครองตัวเอง ประชาธิปไตยระดับชุมชนจะทำงานควบคู่ไปกับรัฐบาลกลาง แนวคิดของคุณหมอประเวศนั้นคล้ายคลึงกับประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมในอเมริกา ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลควรเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กและมีอิทธิพลที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ในขณะนี้ Ron Paul คือเจ้าพ่อของลัทธินี้)
แต่ที่เราไม่เห็นด้วยคือ คุณหมอประเวศใช้เหตุผลว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยที่มีเงิน ดังนั้นระบบที่อิงอยู่บนการเลือกตั้งจึงเป็นระบบของคนกลุ่มน้อยไม่เป็นประชาธิปไตย ขอยกคำพูดซึ่งเราเชื่อว่าเป็นหัวใจของการเมืองใหม่มาไว้ที่นี่แล้วกัน
กระบวนการทางศีลธรรมหมายถึงความถูกต้องเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในขณะที่ธนานุภาพขาดความถูกต้องเป็นธรรม และทำเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย จึงขาดพลังทางศีลธรรม
ในความเห็นเรา ปัจจุบันเงินตราก็เหมือนภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นภาษาที่คนส่วนน้อยในโลกใช้ แต่เมื่อมันมีสถานภาพเป็นภาษาสากล การปฏิเสธจะเรียนรู้หรือข้องแวะกับภาษาอังกฤษดูจะมาจากมิจฉาทิฐิเสียมากกว่า ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อการเลือกตั้งสามารถถูกซื้อได้ ก็หมายถึงเงินตราคือเรื่องของคนส่วนใหญ่ เป็นผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ การเมืองใหม่จะไม่มีหมายความใดๆ ไม่อาจเกิดขึ้น หรือเติบโตไปไหนได้ ถ้าไม่เอาแง่มุมด้านเงินตรามาขบคิด
แน่นอนว่าปัจจุบันเงินตราไม่ได้มาในรูปแบบของเงินทอง เหรียญหรือธนบัตรที่จับต้องได้อีกต่อไปแล้ว แต่มันมาในรูปแบบของนโยบาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ท้ายสุดธนาธิปไตยอาจไม่มีความแตกต่างใดๆ เลยกับการเมืองใหม่ก็ได้
ส่วนเรื่องศีลธรรม ถ้าย้อนตัวอย่างพรรคนาซีซึ่งคุณหมอประเวศหยิบยกมาใน การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ ต้องไม่ลืมว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งมาก็ไม่ใช่เพราะเงินตรา แต่เพราะ “ศีลธรรม” เพราะสิ่งที่คนเยอรมันในสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นศีลธรรม ถ้ามองความเป็นจริงในโลกและในประวัติศาสตร์ จะพบว่า “ศีลธรรม” คือต้นเหตุของสงครามและการเข่นฆ่าไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเงินตราแต่อย่างใด
"นักท่องเที่ยวคือคนสำคัญของประเทศ"
ที่จั่วหัวไว้ข้างบนนี้คือคำโปรยใหม่ของททท. ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใหม่สักแค่ไหน เพราะเราเพิ่งสังเกตมันแปะอยู่บนหลังรถเมล์ ประกอบภาพครอบครัวขยายมีพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา กำลังสนุกสนานกับการปีนเขา ชมทิวทัศน์ พร้อมทั้งอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นจากภาคต่างๆ (ออกอาการจับแพะชนแกะเล็กน้อย เหมือนแม่เพิ่งไปเที่ยวเชียวใหม่มา ส่วนพ่อไปอุดร ลูกไปปัตตานี แล้วค่อยมานัดเจอกัน)
อย่างไรก็แล้วแต่ เราชอบคำโปรยตัวนี้ไม่น้อยและคิดว่ามันมีนัยยะน่าใคร่ครวญ โดยเฉพาะเมื่อเอาไปประกอบกับสปอตโฆษณาชิ้นอื่นๆ ของททท. ในช่วงนี้ เราจะอ่านได้ถึงท่าทีและความหมายของคำว่า "การท่องเที่ยวไทย" ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน
ชัดเจนสุดก็คือกลุ่มเป้าหมาย ลองเปรียบเทียบกับโฆษณายุค Amazing Thailand หรือ Unseen Thailand ดู จะเห็นว่าโฆษณาของททท. ในยุคนี้มุ่งเป้าหมายไปที่คนไทยด้วยกันอย่างชัดเจนมากขึ้น ว่ากันว่าตั้งแต่ Amazing Thailand หรือ Unseen Thailand แล้ว จุดมุ่งหมายของสองโครงการณ์ก็ไม่ใช่ว่าชักชวนฝรั่งเข้ามาเที่ยวในประเทศเราสักเท่าไหร่หรอก แต่เป็นการชักชวนคนไทยด้วยกันเองเที่ยวประเทศเราเอง แทนที่จะเอาเงินไปถลุงนอกบ้าน (และเสริมสร้างลัทธิชาตินิยมภูมิใจไทยอยู่กลายๆ ) ดังนั้นโฆษณายุดนี้ของททท. จึงน่าชื่นชมตรงที่มีความจริงใจและเลิกเสแสร้งทำตัวเป็นทูตวัฒนธรรม แต่ให้รู้กันชัดๆ ไปเลยว่าเราตั้งใจขายคนไทย (ข้อดีของการเลิกเสแสร้งก็คือไม่ต้องประเคนวัฒนธรรมไทยอันฉาบฉวยเข้าไปในโฆษณา)
แต่ประเด็นที่น่าสนใจสุดคือคำโปรยที่จั่วหัวไว้ข้างบน "นักท่องเที่ยวคือคนสำคัญของประเทศ" สำคัญอย่างไร ถ้าจำไม่ผิดคำโปรยหลักตัวนี้ประกอบอยู่กับคำโปรยย่อยว่า "เศรษฐกิจแก้ไขได้เพียงพวกเราเที่ยวเมืองไทย" อีกนัยหนึ่ง นี่คือการพูดถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวในแง่ของการกระจายรายได้ ซึ่งมีใจความอยู่ข้างลัทธิบริโภคนิยม/ทุนนิยมนั่นเอง
ตรงนี้น่าขบคิดมาก เพราะถ้าตรึกตรองดีๆ จะพบว่าคำโปรยนี้มันแหวกแนวจากขนบคิดในบ้านเราสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการยกย่อง "นักท่องเที่ยว" อันเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้อย่างดูถูกดูแคลนโดยปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง (ในฐานะที่มันตรงข้ามกับ "นักเดินทาง") ให้กลายเป็นบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนให้ผู้ฟังออกไปท่องเที่ยว ไม่ใช่เพียงเพราะทรัพยาการการท่องเที่ยวอันสวยงาม (เหมือนกับ Amazing Thailand และ Unseen Thailand) แต่ยกสถานะการท่องเที่ยวให้เป็นหน้าที่ (ของชนชั้นกลาง) ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับกลไกบริโภค/นิยมนิยม ที่ว่าคนรวยๆ หรือพออยู่พอกินในกรุงเทพก็ต้องออกไปหว่านโปรยเม็ดเงินในต่างจังหวัดนี่แหละ
ไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสานส์แอบแฝงในโฆษณาชิ้นนี้ (ถ้าจะพูดเรื่องนี้จริงๆ คงต้องว่ากันยาว) เพียงแต่เราว่ามันน่าสนใจ (และน่าชื่นชม) อยู่ไม่น้อย กับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวกับนโยบายใหม่ของททท. (แทนที่จะขายความฉาบฉวยต่อไปเรื่อยๆ ให้มันอ้วกแตกกันทั้งคนไทยและคนต่างชาติ)
การสื่อสารความหมายใน "การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่" (วรัชญ์ วานิชวัฒนากุล)
ให้ตายสิ เราสงสัยจริงๆ และสงสัยมาโดยตลอดว่าทำไม “การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่” ถึงต้องเอาตัวละครและท้องเรื่องมาจากวรรณคดีไทยหรือนิทานพื้นบ้านด้วย การสื่อสารความหมายใน “การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่” งานวิจัยโดยวรัชญ์ วานิชวัฒนากุล นอกจากจะให้คำตอบกับพฤติกรรมตรงนี้แล้ว ยังปฏิเสธมันไปด้วยเลย
“การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่” ตามนิยามของคุณวรัชญ์คือการ์ตูนคนไทยวาดที่ใช้ลายเส้น การนำเสนอแบบการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากการ์ตูนไทยพันธุ์เดิมที่ถ้าไม่ใช่ลักษณะของภาพล้อเลียน (เช่น ขายหัวเราะ) ก็เป็นภาพ “สมจริง” (เช่น การ์ตูน "เล่มละบาท") ผู้วิจัยไม่ได้เสียเวลาตั้งคำถาม เหมือนที่เราถามว่าทำไมการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ถึงต้องอิงวรรณคดีหรือนิทานพื้นฐาน โดยคุณวรัชญ์สรุปเอาเลยว่า การใช้วัฒนธรรมไทยเดิมเป็นการสร้างความคุ้นเคยและช่วยให้ผู้อ่านเปิดรับผลงานประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น
กระนั้นก็ตามถ้ามองอย่างใช้สามัญสำนึก จะพบว่าข้อสรุปตรงนี้มีช่องโหว่เต็มไปหมด ประการแรกผลงานเหล่านี้ผลิตขึ้นมาโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าผู้บริโภคเปิดรับการ์ตูนที่มาจากต่างวัฒนธรรมได้ เหตุไฉนถึงต้องอาศัยการอุดช่องโหว่ตรงนี้ในการ์ตูนไทย ถ้าจะพยายามยัดเยียดไกรทองมาให้ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับ Death Note ผลลัพท์น่าจะเป็นในทางตรงกันข้ามเสียมากกว่า แม้แต่ในผลงานวิจัยของคุณวรัชญ์เอง ที่ไปสอบถามเด็กๆ แปดคน ก็ได้ข้อสรุปว่า การดัดแปลงรามเกียรติ์มาเป็นการ์ตูนไทยเรื่อง หนุแมน ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากเด็กที่มีพื้นความรู้ทางด้านรามเกียรติ์อยู่บ้างแล้ว
ว่ากันจริงๆ ที่การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ต้องอิงวรรณคดีไทยหรือนิทานพื้นบ้าน น่าจะเป็นการเอาอกเอาใจผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะผู้ใหญ่ชอบมองว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นพิษเป็นภัย อย่างน้อยการที่มันมาอิงอะไรไทยๆ ก็เหมือนเอาน้ำหวานมาผสมยาขมนั่นเอง
อยากจบบทความนี้ด้วยการแนะนำ Executional ผลงานของคุณภานุวัฒน์ ซึ่งสลัดความเป็นไทย (อันฉาบฉวย) ทิ้ง เพราะเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับเกมออนไลน์ (นี่ก็เป็นอีกวัฒนธรรมนำเข้า ที่ผู้ใหญ่มองมันด้วยสายตาฮึ่มฮั่ม) ต้องยอมรับความกล้าของคุณภานุวัฒน์และทีมสร้างสรรค์ที่ฉีกตัวเองออกจากกรอบวัฒนธรรมได้สำเร็จ ที่สำคัญใครไม่เคยเล่นเกมออนไลน์ไม่ต้องห่วง เราเองก็ไม่เคยเล่นเหมือนกัน แต่ก็ยังสนุกสนานไปกับการผจญภัยของกานดาและเหล่าเพื่อนพ้องได้
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ข้อสรุปของคุณวรัชญ์ใน การสื่อสารความหมายใน “การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่” และ Executional ของคุณภานุวัฒน์น่าจะเป็นบทพิสูจน์แล้วว่าการถมช่องว่างและสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยมันจำเป็นสักแค่ไหน หรือเป็นแค่วาทกรรมจอมปลอม แอบอ้างขึ้นมาเพื่อเอาอกเอาใจผู้ใหญ่ โดยลืมนึกถึงผู้บริโภคไป สุดท้ายก็กลายเป็นการเหยียบเรือสองแคมที่ไม่มีใครถูกใจเลย
Subscribe to:
Posts (Atom)